1. จะทราบได้อย่างไรว่าติดเชื้อเอดส์
ทราบได้โดยการตรวจเลือดและน้ำลาย
วัดระดับแอนติบอดีต่อเชื้อเอดส์ ซึ่งถ้าการตรวจเบื้องต้นด้วยวิธีอีไลซ่า
(Elisa: Enzyme-Linked-lmmunosorbent Assay)
ซึ่งเป็นวิธีการตรวจหาแอนติบอดีในเลือดว่ามีแอนติบอดีที่ทำปฏิกิริยากับเชื้อเอดส์เกิดขึ้นหรือไม่
ถ้ามีก็จะทำให้น้ำยาที่ใช้ทดสอบเปลี่ยนสีแดงว่าเลือดมีผลเป็นบวก
คือมีการติดเชื้อเอดส์ ซึ่งจะต้องทำการตรวจสอบด้วยวิธีเวสเทิร์นบลอท
(Western Blot) ซ้ำอีกครั้ง เพื่อยืนยันว่ามีแอนติบอดีต่อเชื้อเอดส์จริง
ถ้ามีผลเป็นบวกอีกก็แสดงว่ามีการติดเชื้อเอดส์
แต่การตรวจอาจให้ผลเป็นลบ(negative หรือไม่พบแอนติบอดี)
ในกรณีที่เพิ่งได้รับเชื้อ และร่างกายยังไม่ได้สร้างแอนติบอดี
ดังนั้นในการศึกษาวิจัยนักวิทยาศาสตร์จะใช้วิธีการหาโปรตีนชนิดp24
ซึ่งเป็นแอนติเจนของตัวเชื้อเอดส์วิธีนี้จะให้ผลการตรวจที่แม่นยำและตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะติดเชื้อใหม่ๆ
แอนติบอดี
: สารโปรตีนที่ร่างกายผลิตขึ้นเพื่อต่อสู้หรือกำจัดเชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกาย
แอนติเจน
: เชื้อโรคหรือโมเลกุลแปลกปลอม ที่เข้ามาในร่างกาย
P24
: โปรตีนในส่วนแกนกลางของไวรัส
2. เมื่อใดจึงสงสัยว่าตนเองติดเชื้อเอดส์
ควรสงสัยเมื่อตนเองมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์
เช่น เคยมีเพศสัมพันธ์กับหญิงบริการหรือคนที่สงสัยว่าจะเป็นเอดส์
หรือเคยใช้เข็มฉีดยาไม่สะอาดร่วมกับผู้อื่น
หากไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่กล่าวมาแล้ว
แต่มีอาการผิดปกติที่สงสัย ก็ไม่ควรสรุปว่าตนเองติดเชื้อเอดส์
โดยไม่ได้รับการตรวจเลือดยืนยันแน่นอนจากแพทย์ก่อน
3. หลังจากไปมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์แล้ว
ใช้เวลานานเท่าใด จึงจะตรวจเลือดหาเชื้อเอดส์ได้
โดยทั่วไปเมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะต้องใช้เวลาหลังจากนั้นประมาณ
6 สัปดาห์-3 เดือน จึงจะเริ่มตรวจพบหรือทราบได้ว่ามีการติดเชื้อเอดส์
ถ้าตรวจเลือดทันทีหลังสัมผัสโรคแล้วได้ผลเป็นลบอาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าไม่ติดโรคมาก็ได้
อย่างไรก็ตามถ้าไม่แน่ใจควรตรวจซ้ำใหม่ภายหลัง
3 เดือน
4. ถ้าผลเลือดเป็นบวกต่อเชื้อเอดส์แล้ว
มีโอกาสเปลี่ยนเป็นลบได้หรือไม่
ไม่ได้
เพราะว่าคนที่ผลเลือดเป็นบวกหลังจากการตรวจยืนยันเป็นครั้งที่
2 แล้วก็จะยังคงมีผลบวกเช่นนั้นไปตลอดชีวิต
5. ทำไมจึงไม่ตรวจเลือดทุกๆคนเพื่อจะได้ทราบว่าใครมีเชื้อเอดส์บ้าง
การตรวจเลือดทุกคนเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะมีปัญหาหลายด้านทั้งอุปกรณ์
กำลังคน งบประมาณ นอกจากนี้การบังคับตรวจ
อาจทำให้คนที่ไม่เต็มใจพยายามหลบซ่อนตัวอีกด้วยซึ่งอาจจะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว
จึงไม่เป็นผลดีต่อใคร อีกประการหนึ่งสำหรับผู้ที่ตรวจเลือดแล้วได้ผลลบ
ถ้าเขายังมีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงอยู่อีกเขาก็จะมีเลือดบวกในที่สุด
จึงไม่มีประโยชน์ในการตรวจเลือดทุกคน
6. การตรวจเลือด
ไม่ได้หยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์แต่อย่างใดใช่หรือไม่
ใช่ การตรวจเลือดหาเชื้อเอดส์ ควรใช้หลักความสมัครใจโดยเจ้าหน้าที่คอยให้ความสะดวก
มีการติดตามผล ให้คำปรึกษาแนะนำและช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ
ให้มีการป้องกันตนเอง และเลิกพฤติกรรมเสี่ยง
จะป้องการแพร่ระบาดของเชื้อได้ดีกว่า
7. จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องตรวจเลือดหาเชื้อเอดส์
ไม่จำเป็น นอกจากมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น มีคู่นอนหลายคน
ชอบเที่ยวผู้หญิงหรือเป็นหญิงบริการหรือเคยใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น
ก่อนการตรวจเลือดควรจะได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน
ถ้าผลการตรวจเลือดเป็นบวกต้องได้รับคำปรึกษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดระมัดระวังตนเองไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น
แม้จะตรวจเลือดได้ผลลบ ก็ควรเลิกพฤติกรรมเสี่ยงไม่ประพฤติปฏิบัติต่อไป
8. ถ้าต้องการตรวจเลือดแต่ไม่ต้องการให้ใครทราบจะทำอย่างไร
ไปตรวจตามสถานบริการตรวจเลือดที่เรียกว่า คลินิกนิรนาม
หมายความว่า การตรวจเลือดซึ่งไม่ต้องบอกชื่อ และที่อยู่จริงเพียงแต่แจ้งรหัสหรือหมายเลขกับคลินิก
ขณะนี้ที่สภากาชาดไทยได้เปิดให้บริการแล้ว
9. คลินิกนิรนามคืออะไร
คลินิกนิรนามในการตรวจเลือดหาเชื้อเอดส์คือ
สถานที่ที่ผู้ซึ่งอยากมีความรู้หรือมีข้อข้องใจเกี่ยวกับโรคเอดส์สามารถไปขอความรู้
คำปรึกษา และขอรับการตรวจเลือดหาเชื้อเอดส์ได้โดยไม่ต้องบอกชื่อและที่อยู่
ทางคลินิกจะใช้รหัสเลขที่แทนชื่อของผู้มาขอใช้บริการ
เมื่อตรวจพบว่าติดเชื้อเอดส์จะมีเฉพาะผู้มาขอใช้บริการเท่านั้นที่ทราบผล
และไม่มีการรายงานผลการตรวจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือนายจ้างทราบ
จึงมั่นใจได้ว่าความลับจะไม่ถูกเปิดเผย
ที่กรุงเทพฯคลินิกนิรนามตั้งอยู่ภายในบริเวณสถานเสาวภาหรือสวนงูของสภากาชาติไทย
ข้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดบริการระหว่างวันจันทร์ถึงวันศุกร์
เวลา 12.00 - 19.00 น. และวันเสาร์
เวลา 9.00 - 12.00 น.
ต่างจังหวัด
ติดต่อได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือโรงพยาบาลจังหวัดทุกแห่ง
|