|
ประเพณีเทศน์มหาชาติ
|
|
เทศน์มหาชาติ คือ การร่ายยาว หรือการเล่าเรื่องมหาเวสสันดรชาดกว่าด้วยพระบุพจริยาของพระพุทธองค์ในอดีตชาติ เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรบรมโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญพระบารมีเป็นพระชาติสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ
|
ทศชาติชาดก
|
|
เวสสันดรชาดก เป็นหนึ่งในสิบของทศชาติชาดก หรือที่เรียกกันว่าพระเจ้าสิบชาติ ซึ่งเป็นชาดกที่กล่าวถึงการบำเพ็ญพระบารมีที่ยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์๑๐ พระชาติด้วยกัน คือ
- เตมียชาดก ทรงบำเพ็ญ เนกขัมมบารมี
- มหาชนกชาดก ทรงบำเพ็ญ วิริยะบารมี
- สุวรรณสามชาดก ทรงบำเพ็ญ เมตตาบารมี
- เนมีราชชาดก ทรงบำเพ็ญ อธิษฐานบารมี
- มโหสถชาดก ทรงบำเพ็ญ ปัญญาบารมี
- ภูริทัตชาดก ทรงบำเพ็ญ ศีลบารมี
- จันทกุมารชาดก ทรงบำเพ็ญ ขันติบารมี
- นารทชาดก ทรงบำเพ็ญ อุเบกขาบารมี
- วิทูรชาดก ทรงบำเพ็ญ สัจจบารมี
- เวสสันดรชาดก ทรงบำเพ็ญ ทานบารมี
เวสสันดรชาดก ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่๒๘ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นคาถาภาษาบาลีนับได้๑๐๐๐พระคาถา เป็นพุทธวจนะแท้ อยู่ในรูปคาถาคือ คำร้อยกรอง ต่อมาบรรพบุรุษของเราทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักร ได้เห็นพ้องต้องกันว่า เวสสันดรชาดกเป็นเรี่องที่เหมาะสมจะเชิดชู เป็นหลัก เป็นประธานในการเสริมสร้างอัธยาศัยของคนในชาติ จึงได้มีการแปลเป็นภาษาไทยตั้งแต่ยุคสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี คนไทยนิยมฟังเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดกมาแต่ครั้งนั้นทั้งนี้ เป็นเพราะอิทธิพลของมาลัยสูตร ที่กล่าวถึงพระมาลัยเถระผู้นำข่าวสารจากพระศรีอาริยเมตไตรยมาแจ้งแก่ชาวโลกว่า
“ข้าแต่พระเถระผู้เจริญ ถ้านรชนชายหญิงตั้งปวง ปรารถนาจะพบพระศรีอาริยเมตไตรย ผู้จะบรรลุพระสัพพัญญตญาณในอนาคตกาลแล้วไซร้จงให้มนุษย์ทั้งหลายจัดแจงเครื่องสักการบูชา...นำมาสักการบูชาพระธรรมเทศนามหาชาติเวสสันดรชาดก แล้วนั่งสดับฟังให้จบในเวลาวันเดียวนั้นจะได้สำเร็จพระอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ เฉพาะพระพักตร์พระศรีอาริยเมตไตรยสัพพัญญสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาล”(ฎีกามาลัยเทวสูตร)
ครั้นมาในยุคกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้โปรดเกล้าฯให้ประชุมบรรดานักปราชน์ราชบัณฑิต แต่งเวสสันดรชาดกเป็นคำหลวง ความในพระราชพงศ์าวดารจดหมายเหตุกล่าวไว้ว่า "ได้กระทำเมื่อปีขาล จุลศักราช ๘๔๔ ตรงกับพุทธศักราช ๒๐๒๕ ทั้งนี้ ก็ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะโน้มน้าวจิตใจของประชาชนพลเมืองให้สนใจในเวสสันดรชาดกมากยิ่งขึ้น"
ต่อมาในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมระหว่างพุทธศักราช ๒๑๔๔ -๒๑๗๐ ก็ได้โปรดแต่งกาพย์มหาชาติขึ้นอีกชุดหนึ่ง ในสมัยที่อยู่ในพระราชนิยมนั้น เจ้านายต่าง ๆ ทรงสนพระทัยเชิดชูบูชามหาชาติ ผูกขาดสำนวนภาษา ยอมรับกันว่า มหาชาติคำหลวง เป็นเลิศในด้านไวยากรณ์ศาสตร์ ฉัทพฤติ... และมีการประดิษฐ์ลีลาสำเนียง การอ่าน การเทศ กันอย่างวิจิตรไพเราะ จนกลายเป็นแบบฉบับเรียกว่า ทำนองคำหลวง หรือทำนองหลวง มีการแข่งขันกันในหมู่ของเจ้านายผุ้มีวาสนาแสวงหาพระภิกษุผู้มีเสียงดีมาฝึกหัด และรับเป็นอุฎฐาก บำรุงด้วยปัจจัยไทยทาน ทำให้เกิดมีพระนักเทศน์มหาชาติดีๆ เด่นๆ กันมากรูป เมื่อถึงฤดูกาล เดือน๑๑ เดือน ๑๒ และเดือนอ้ายก็นิมนต์มาเทศน์แข่งขัน โชว์ศิลปะทางสำเนียงกันเป็นที่ครึกครื้น แต่ละกัณฑ์ก็มีท่วงทำนองไม่ซ้ำ และเป็นลีลาทำนองที่รักษาบุคลิกภาพของตัวละครและบทบาทเหตุการณ์ในท้องเรื่อง
|
|
www.thaigoodview.com
คุณเข้ามาใช้งานอันดับที่
ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2548
บริหารและจัดการโดยทีมงานชาวมัธยมศึกษา
e-mail:
webmaster@thaigoodview.com
Copyright (c) 2005 บ้านไทยกู๊ดวิว www.thaigoodview.com. All rights reserved.
|