ความเป็นมาของคำว่า “มหาชาติ” และเทศน์มหาชาติ (ต่อ)
|
|
เวสสันดรชาดกนี้ เป็นเรื่องใหญ่ยืดยาว ท่านจึงจัดรวมไว้ ในมหานิบาตชาดกรวมเรื่องใหญ่๑๐เรื่อง ที่เรียกกันว่า ทศชาติ แต่อีก ๙ เรื่อง เหตุใดจึงไม่เรียกว่ามหาชาติ คงเรียกแต่เวสสันดรชาดกเรื่องเดี่ยวว่า มหาชาติ ข้อนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดประทานอธิบายว่า พุทธศาสนิกชนชาวไทยตลอดจนประเทศใกล้เคียงนับถือกันมาแต่โบราณว่า เรื่องมหาเวสสันดรชาดก สำคัญกว่าชาดกอื่นๆ ด้วยปรากฏบารมีของพระโพธิสัตว์บริบูรณ์ในเรื่องมหาเวสสันดรชาดกทั้ง๑๐อย่างคือ
|
|
|
๑) นบารมี ทรงบริจาคทรัพย์สิน ช้าง ม้า ราชรถ พระกุมารทั้งสองและพระมเหสี ๒) ศีลทาบารมี ทรงรักษาศีลอย่างเคร่งครัด ระหว่างทรงผนวชอยู่ ณ เขาวงกต ๓) เนกขัมมบารมี ทรงครองเพศบรรพชิตตลอดเวลาที่ประทับ ณ เขาวงกต ๔) ปัญญาบารมี ทรงบำเพ็ญภาวนามัยปัญญาตลอดเวลาที่ทรงผนวช ๕) วิริยบารมี ทรงปฏิบัติธรรมมิได้ย่อหย่อน ๖) สัจจบารมี ทรงลั่นพระวาจายกกุมารให้ชูชก เมื่อพระกุมารหลบหนีก็ทรงติดตามมาให้ ๗) ขันติบารมี ทรงอดทนต่อความยากลำบากต่างๆ ขณะที่เดินทางมายังเขาวงกต และตลอดเวลาที่ประทับ ณ ที่นั่น แม้เมื่อทอดพระเนตรเห็นชูชกเฆี่ยนตีพระกุมารอย่างทารุน พระองค์ก็ทรงข่มพระทัยไว้ได้ ๘) เมตตาบารมี เมื่อพราหมณ์เมืองกลิงคราษฎร์ มาทูลขอช้างปัจจัยนาเคนทร์ เพราะเมืองกลิงคราษฏ์ฝนแล้ง ก็ทรงพระเมตตาประทานให้ และเมื่อชูชกมาทูลขอสองกุมาร โดยอ้างว่าตนได้รับความลำบากต่างๆ พระองค์ก็มีเมตตาประทานให้ด้วย ๙) อุเบกขาบารมี เมื่อทรงเห็นสองกุมารถูกชูชกเฆี่ยนตี วิงวอนให้พระองค์ช่วยเหลือพระองค์ก็ทรงบำเพ็ญอุเบกขา คือทรงวางเฉย เพราะทรงเห็นว่าได้ประทานเป็นสิทธิ์ขาดแก่ชูชกไปแล้ว ๑๐) อธิษฐานบารมี คือทรงตั้งมั่นที่จะบำเพ็ญบารมีเพื่อให้สำเร็จโพธิญาณเบื้องหน้า แม้จะมีอุปสรรคก็มิได้ทรงย่อท้อ จนพระอินทร์ต้องประทานความช่วยเหลือต่างๆ เพราะตระหนักในน้ำพระทัยอันแน่วแน่ของพระองค์
จึงเรียกกันว่ามหาชาติ และพันเอกพระสารสาสน์พลขันธ์ (เยรินี) กล่าวไว้ว่าพระโพธิสัตว์ในกำเนิดพระเวสสันดรได้สร้างแบบของมนุษย์ผู้ก้าวถึงขั้นสูงสุดแห่งการดำเนินในทางวิวัฒนาการ อันนำไปสู่ความเต็มเปี่ยมทางจริยธรรมและความรู้เหมาะแก่การข้ามพ้นโอฆะห้วงสุดท้าย ซึ่งจะแยกออกเสียได้จากการเกิดเป็นเทวดาเพราะเหตุนี้กำเนิดสุดท้ายจึงได้นามว่า “มหาชาติ”
การที่เรียก มหาเวสสันดรชาดกว่า “มหาชาติ” นี้ พุทธศาสนิกชนชาวไทยของเรานิยมเรียก และเป็นที่หมายรู้กันมาแต่สมัยกรุงสุโขทัยราชธานี เพราะปรากฏตามศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลักที่๓ ที่เรียกว่าจารึก “นครชุม” ซึ่งจารึกไว้เมื่อพ.ศ.๑๙๐๐ ในสมัยพญาลิไท (พระมหาธรรมราชาที่๑) มีกล่าวไว้ว่า “ธรรมเทศนาอันเป็นต้นว่า พระพระมหาชาติหาคนสวดแลมิได้เลย” เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า การมีเทศน์มหาชาตินี้ พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมมีเทศน์กันมานานแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี
|