เป็นพืชพื้นเมืองของไทยมักขึ้นในที่ชื้น
ลำต้นมีลายขาว ๆ มีหนามเล็ก ๆ มียางซึ่งหากถูกแล้วจะคัน
หัวบุกมีขนาดใหญ่ เนื้อมีสีขาวอมเหลือง ละเอียดเป็นเมือกลื่น
เรากินบุกกันทั้งใบและหัว หัวบุกมีแป้งประมาณร้อยละ
67 มีโปรตีนร้อยละ 5-6 สารแป้งที่อยู่ในหัวบุกเรียกว่า
แมนแนน (mannan) เมื่อสารนี้ถูกทำให้แตกตัว จะได้กลูโคสกับแมนโนส
หรือที่เรียกกันว่า กลูโคแมนแนน (glucomannan) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดการดูดซึมของน้ำตาลกลูโคสในระบบทางเดินอาหาร
และยังช่วยลดระดับโคเลสเตอรอล และน้ำตาลในเลือด
จากการวิจัยพบว่า
แมนโนสที่ผ่านกระบวนการย่อยในร่างกาย จะถูกดูดซึมช้ากว่ากลูโคส
ทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นช้าจึงนิยมให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานรับประทานบุก
นอกจากนี้ยังมีการนำหัวบุกไปทำเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับลดน้ำหนักอีกด้วย
คนไทยนำหัวบุกมาทำอาหารหลายอย่างทั้งของคาว
และของหวาน แต่ต้องต้มในน้ำเดือดเสียก่อน เพื่อไม่ให้เป็นเมือก
ก้านของใบอ่อนที่ยังไม่คลี่ เมื่อลอกเอาเยื่อออกแล้วใช้ต้มจิ้มน้ำพริก
หรือนำมาแกงได้ เส้นชิราตากิที่ใส่ในสุกี้ยากี้ญี่ปุ่นก็ทำมาจากแป้งหัวบุก
แต่ญี่ปุ่นเรียกแป้งนี้ว่า คอนนิยักกุ (konnyaku)
|