โรคลิ้นหัวใจรั่ว


                                 สาเหตุของลิ้นหัวใจรั่ว
1.มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิดโดยอาจไม่มีอาการใดๆในวัยเด็กก็ได้
2.ลิ้นหัวใจเสื่อมตามอายุเนื่องจากเป็นอวัยวะที่เคลื่อนไหวและรับแรงจากเลือดตลอดเวลา ดังนั้นจึงเกิดการเสื่อมขึ้น ลิ้นหัวใจ จะหนาตัวขึ้นและเริ่มมีหินปูน (calcium) เข้าไปสะสมในเนื้อเยื่อ ทำให้ปิดไม่สนิท
3.โรคหัวใจรูห์มาติค ซึ่งเริ่มต้นจากการติดเชื้อ Streptococus ในคอ ซึ่งพบบ่อยในเด็ก ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา ต่อต้านหัวใจตนเอง เกิดการอักเสบของลิ้นหัวใจ ผลตามมาคือลิ้นหัวใจหนาตัวขึ้นมาก เกิดลิ้นหัวใจตีบและรั่ว โรคนี้ยังจัดเป็นปัญหา สาธารณสุขของประเทศอยู่ พบบ่อยๆ ในผู้ป่วยเศรษฐานะต่ำ หรือ อยู่ในชุมชนแออัด
4.เกิดจากการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจทำให้ลิ้นหัวใจอักเสบเป็นรู เชื้อโรคอาจมาจากช่องปาก เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด  (ในผู้ติดยา เสพติด) การเจาะตามร่างกาย(เช่น เจาะลิ้น เจาะอวัยวะเพศ) เป็นต้น

                                      วิธีการรักษา
แม้ว่าลิ้นหัวใจทำหน้าที่คล้ายประตู แต่หากเปิด-ปิดไม่สะดวกก็ไม่สามารถรักษาด้วยการหยอดน้ำมันเหมือนประตูได้ ต้องเปลี่ยน อย่างเดียว หมายความว่า ต้องแก้ไขที่ตัวลิ้นหัวใจ จะด้วยการผ่าตัดซ่อมแซม หรือ ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจก็ตาม แพทย์จะทำการผ่าตัด เฉพาะในรายที่ลิ้นหัวใจเสีย มากเท่านั้น ดังนั้น หากลิ้นหัวใจรั่วเพียงเล็กน้อยหรือปานกลาง แพทย์จะแนะนำให้ติดตามดูอาการ ไปเรื่อยๆจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมในการผ่าตัดแก้ไข ซึ่งหลายๆราย เสียชีวิตด้วยโรคอื่นก่อนที่จะเสียชีวิตจากหัวใจ

                                       การปฏิบัติตัว
         หากลิ้นหัวใจรั่วไม่มากก็สามารถมีกิจกรรมต่างๆได้ตามปกติ ส่วนถ้ารั่วมาก มักจะมีอาการหอบเหนื่อย ซึ่งก็ถูกจำกัดกิจกรรมต่างๆ ไปโดยปริยาย หัวใจท่านอ่อนแออยู่แล้ว ดังนั้นท่านต้องทะนุถนอมหัวใจท่านให้มากๆ ไม่ทำร้ายหัวใจด้วย อาหารเค็ม บุหรี่ อาหาร ไขมันสูง เหล้า-เบียร์-ไวน์ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแย่ลง
สิ่งสำคัญประการหนึ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจ คือ ต้องระวังการติดเชื้อ ดังนั้นหากจะทำฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน หรือ ทำผ่าตัดใดๆ ก็ต้องบอกแพทย์ให้ทราบด้วย เพื่อให้ยาป้องกันการติดเชื้อก่อน
หากท่านมีปัญหาสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคหัวใจ หรือ มีลิ้นหัวใจรั่ว หรือ ไม่เคยตรวจสุขภาพเลย (เพราะคิดว่าแข็งแรง ไม่มีอาการ) อยากแนะนำให้ ท่านปรึกษาอายุรแพทย์ หรือ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ใกล้บ้านท่าน ซึ่งปัจจุบันนี้มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ