:: Welcome to Website *_*  ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์เรื่องโครงสร้างและหน้าที่ของพืชดอก ::

 
 
  ลักษณะทั่ว ๆ ไปของใบด้านบนและด้านล่างมีคิวทินเคลือบอยู่ เพื่อป้องกันความชื้นภายในใบไม่ให้กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม แต่เนื่องจากมีปากใบเป็นช่องทางติดต่อกับภายนอก จึงไม่สามารถป้องกันความชื้นออกจากใบได้เต็มที่ อากาศและความชื้นจึงผ่านเข้าออกได้ โดยทั่วไปพืชบกปากใบจะมีอยู่ทั้งทางด้านบนและด้านล่างของใบ แต่จะมีปริมาณปากใบด้านล่างมากกว่าการที่ปากใบปิดหรือเปิดมีผลกับอัตราการคายน้ำของพืช ปากใบจึงเปรียบเสมือนประตูน้ำของพืชนั่นเอง มีการทดลองปลูกพืชชนิดเดียวกันขนาดต้นเท่ากันรูปร่างต้นคล้ายคลึงกัน จำนวนใบเท่ากัน ปลูกในกระถางที่เหมือนกัน ขนาดกระถางเท่า ๆ กัน ใส่ดินชนิดเดียวกัน ในปริมาณเท่า ๆ กัน วางทั้งสองกระถางไว้ในที่ใกล้ ๆ กันต้นหนึ่งรดน้ำตลอดเวลา อีกต้นหนึ่งไม่รดน้ำเลยตลอดเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นจึงนำใบของทั้งสองต้นมาตรวจดูปากใบด้วยกล้องจุลทรรศน์ปรากฏผล
 

  ผลที่ได้จากการทดลอง จะเห็นได้ว่า ปากใบเปิดเมื่อเซลล์คุมเต่ง และปิดเมื่อเซลล์คุมสูญเสียความเต่ง ที่เป็นเช่นนี้เพราะความเข้มข้นของสารละลายภายในเซลล์กำหนดความเต่งของเซลล์คุม เมื่อมีแสง ปริมาณโพแทสเซียมไอออน ในเซลล์คุมเพิ่มขึ้นทำให้ความเข้มข้นของสารละลายเพิ่มขึ้น น้ำจากเซลล์ข้างเคียงจึงแพร่เข้าสู่เซลล์คุม ทำให้เซลล์เต่งมากขึ้นและเปลี่ยนรูปไปทำให้ปากใบเปิด ในทางตรงกันข้ามการลดปริมาณโพแทสเซียมไอออน ในเซลล์คุม ทำให้ความเข้มข้นของสารละลายภายในเซลล์คุมลดลงน้ำจะแพร่ออกจากเซลล์คุม ทำให้เซลล์คุมเปลี่ยนรูปไปเป็นผลให้ปากใบปิดการปิดเปิดปากใบของพืช จะเกิดได้มาก น้อย ช้า หรือเร็ว ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยของสภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในหลายประการ ตัวอย่างปัจจัยของสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการปิดเปิดของปากใบได้แก่ แสงสว่าง อุณหภูมิแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ลม สภาพความชุ่มชื้นของดิน เป็นต้น

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการคายน้ำของพืช
อัตราการคายน้ำของพืชจะเกิดมากหรือน้อยนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับการปิดเปิดของปากใบแล้ว ยังขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมอื่น ๆ อีกหลายประการ เช่น
1. รังสีความร้อนของดวงอาทิตย์ เมื่อใบได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอัตราการคายน้ำจะเพิ่มขึ้นทุก 10 องศาเซลเซียส ที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอัตราการคายน้ำจะเพิ่มขึ้นสองเท่า เพราะเมื่ออุณหภูมิใบสูงขึ้น ไอน้ำในใบและไอน้ำในบรรยากาศมีความแตกต่างกันมากขึ้น การคายน้ำก็จะเพิ่มมากตามไปด้วย ในพืชทั่ว ๆไปเมื่ออุณหภูมิเกิน 30 องศาเซลเซียสปากใบจะปิด
2. ความชื้นในอากาศ ถ้าหากในบรรยากาศมีความชื้นน้อย เช่น หน้าแล้งหรือตอนกลางวัน ทำให้การคายน้ำเกิดได้มากและรวดเร็ว
3. ลม ลมที่พัดผ่านใบไม้จะทำให้ความกดอากาศที่บริเวณผิวใบลดลง ไอน้ำบริเวณปากใบจะแพร่ออกสู่อากาศได้มากขึ้น และขณะที่ลมเคลื่อนผ่านผิวใบจะนำความชื้นไปกับอากาศด้วย ไอน้ำจากปากใบก็จะแพร่ได้มากขึ้นเช่นกัน แต่ถ้าลมพัดแรงเกินไปปากใบจะปิด
4. ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ โดยทั่วไปปากใบเปิดเมื่อปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ภายในช่องว่างของใบลดลงกว่าจุดวิกฤต แต่เมื่อใบขาดความชื้นปากใบจะปิดไม่ว่าปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จะเป็นเช่นใด หมายความว่าพืชทนต่อการขาดคาร์บอนไดออกไซด์ได้นานกว่าการขาดน้ำ
นอกจากนี้พืชบางชนิดยังมีการปรับโครงสร้างให้มีประสิทธิภาพในการดูดน้ำโดยมีรากแผ่ขยายเป็นบริเวณกว้าง หรือมีรากยาวหยั่งลึกลงไปในดิน เช่น หญ้าแฝก พืชบางชนิดลำต้นและใบอวบน้ำ (Succunlent) เพื่อสะสมนํ้า เช่น ต้นกุหลาบหิน การปิดเปิดของปากใบจะแตกต่างจากพืชชนิดอื่น คือปากใบจะเปิดเวลากลางคืนและปิดในตอนกลางวันเพื่อลดการคายน้ำ

   
   
 

ก่อนหน้า | หน้าหลัก | ถัดไป