:: Welcome to Website *_*  ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์เรื่องโครงสร้างและหน้าที่ของพืชดอก ::

 
 
  น้ำเป็นสารที่มีความสำคัญต่อการลำเลียงในพืช การลำเลียงน้ำเป็นการลำเลียงหลักในพืชบก สารต่าง ๆ ที่จะลำเลียงไปยังเซลล์ของพืชต้องละลายน้ำ ดังนั้นน้ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดการแพร่ของสาร (Diffusion) พืชแต่ละชนิดจะมีท่อลำเลียงต่างกันไป เช่นพืชบกขนาดเล็กที่ไม่มีท่อลำเลียง จะเจริญได้เฉพาะบริเวณที่มีความชื้นสูงและมีร่มเงา พืชที่มีขนาดใหญ่มีท่อลำเลียงเจริญได้ดีในที่ที่มีความชื้นน้อยกว่า เนื่องจากพืชเหล่านี้มีรากที่สามารถไชชอนลงไปหาน้ำในดินในระดับที่ลึกลงไป ทำให้มีขนาดใหญ่และสูงมาก บางต้นอาจสูงนับร้อยเมตรหากเทียบกับตึกสูงในระดับเดียวกัน คนที่อยู่บนตึกต้องใช้เครื่องสูบน้ำจึงสามารถส่งน้ำไปใช้ได้ แต่สำหรับพืชแล้วไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องสูบน้ำ แต่พืชมีความสามารถส่งน้ำจากรากขึ้นไปจนถึงใบที่อยู่บนยอดนั้นได้การลำเลียงน้ำของพืชมีปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 ประการ คือ การดูดน้ำ และการคายน้ำ
 

ความสำคัญของน้ำต่อพืช
1. น้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในเซลล์พืช ใบพืชล้มลุกจะมีน้ำประกอบอยู่มากกว่าพืชยืนต้น นอกจากนี้ปริมาณน้ำในพืชขึ้นอยู่กับชนิดของพืช อายุ ชนิดของเนื้อเยื่อ และอวัยวะของพืช (เนื้อเยื่ออ่อนจะมีน้ำมากกว่าเนื้อเยื่อแก่)
2. น้ำช่วยให้เซลล์พืชเต่ง ทำให้เซลล์มีรูปร่างคงตัว เมื่อพืชขาดน้ำทำให้เหี่ยวเฉาในพืชยังช่วยให้เกิดการเปิดปิดของปากใบ และการเคลื่อนไหวของ
พืชด้วย
3. น้ำเป็นตัวทำละลาย เช่น ละลายแร่ธาตุต่าง ๆ เกิดการลำเลียงแร่ธาตุของพืช น้ำละลายสารอาหารเช่นกลูโคส ซูโครส ทำให้เกิดการลำเลียงสา
รอาหารในพืช
4. น้ำเป็นตัวร่วมในปฏิกิริยาเคมีในเซลล์ ซึ่งมีความสำคัญในกระบวนการเมแทบอลิซึม เช่น การย่อยแป้งเป็นน้ำตาล การสังเคราะห์ด้วยแสง ซึ่งต้องใช้น้ำเป็นวัตถุดิบร่วมกับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์
5. น้ำทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของเซลล์ และลำต้นพืช โดยทั่วไปพืชอยู่กลางแจ้งตลอดเวลา ดังนั้นจึงได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์จำนวนมาก
 

การคายน้ำของพืช
ช่วยในการระบายความร้อนให้พืช เนื่องจากน้ำมีความร้อนจำเพาะสูง การระเหยของน้ำออกจากพืชต้องมีการเปลี่ยนสถานะจากน้ำในรูปของเหลวให้เป็นไอน้ำ ซึ่งต้องใช้ปริมาณความร้อนถึง 540 แคลอรี่ต่อกรัม จึงทำให้อุณหภูมิภายในต้นพืชไม่เปลี่ยนแปลงมากนักไม่ว่าอุณหภูมิภายนอกจะร้อนหรือเย็น
1. การดูดน้ำของราก
สำหรับพืชทั่ว ๆ ไปที่เจริญเติบโตอยู่บนบกนั้นได้น้ำจากดิน โดยใช้รากดูดน้ำและแร่ธาตุจากดิน รากมีการแตกแขนงชอนไชไปในอนุภาคของดินได้มาก การที่น้ำและแร่ธาตุที่รากดูดซึมจากดินที่บริเวณส่วนปลายของรากที่เรียกว่า บริเวณขนราก(Root hair zone) จะมีขนรากจำนวนมาก ทำให้เพิ่มพื้นที่ผิวที่สัมผัสกับน้ำซึ่งแทรกตัวอยู่ในช่องว่างภายในดินได้เป็นจำนวนมาก ขนรากดูดน้ำโดยกระบวนการ ออสโมซิส(Osmosis) ขนรากเป็นส่วนของเซลล์ เอพิเดอร์มิส ที่ยื่นออกมาและเป็นส่วนของเซลล์ที่ติดต่อกันตลอดเพราะเป็นเซลล์เดียวกัน เซลล์ เอพิเดอร์มิส ที่มีขนรากยังอ่อนอยู่ จะมีแวคิวโอ ขนาดเล็ก ๆ หลายอัน แต่เมื่อเซลล์มีอายุมากขึ้น แวคิวโอขนาดเล็กหลาย ๆ อันจะรวมกันเป็น แวคิวโอขนาดใหญ่เกือบเต็มเซลล์ เอพิเดอร์มิส ภายในมีสารละลายบรรจุอยู่เต็ม สารละลายนี้มีความเข้มข้นค่อนข้างสูงเพราะมีแร่ธาตุต่าง ๆ ละลายอยู่มาก ในสภาวะปกติสารละลายที่อยู่รอบ ๆ รากที่แทรกอยู่ในช่องว่างของดินจะมีความเข้มข้นน้อยกว่าสารละลายภายในราก น้ำจากดินจึงแพร่เข้าสู่ขนรากของเซลล์ เอพิเดอร์มิสได้ตลอดเวลาความแตกต่างของความเข้มข้นของสารละลายภายในรากและภายในดินจะเป็นปัจจัยสำคัญในการดูดน้ำของพืช ถ้าหากความเข้มข้นของสารละลายในดินสูง พืชจะดูดน้ำได้ยาก และยิ่งสารละลายมีความเข้มข้นสูงมาก ๆ พืชยิ่งดูดน้ำไม่ได้ และเป็นอันตรายต่อพืชมาก การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่ดินในปริมาณที่มากจะมีผลต่อความเข้มข้น
ของสารลายในดินไม่มากนัก เนื่องจากสารอินทรีย์มีการสลายตัวทีละน้อย ๆ และพืชก็นำไปใช้ได้เรื่อย ๆความเข้มข้นของสารละลายภายในดิน จึงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ถ้าหากใส่ปุ๋ยอนินทรีย์หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ในปริมาณที่มาก จะทำให้สารละลายรอบ ๆ ราก มีความเข้มข้นมาก เพราะปุ๋ยวิทยาศาสตร์ละลายน้ำได้ดีจะไหลซึมไปบริเวณอื่น ๆ ทำให้สูญเสียปุ๋ยและค่าใช้จ่ายไปมากแต่ได้ประโยชน์น้อยและยังอาจเป็นโทษอีกด้วย ดังนั้นการใส่ปุ๋ย
วิทยาศาสตร์แต่น้อย ๆ แต่บ่อยครั้งจึงดีกว่า
2. โครงสร้างที่ทำหน้าที่ในการลำเลียงน้ำ
การที่น้ำและแร่ธาตุที่รากดูดซึมจากดินจะผ่านเซลล์ชั้นนอกคือ เอพิเดอร์มิสเข้าสู่เซลล์ชั้นใน คือคอร์เทกซ์ เอนโดเดอร์มิส และไซเลมของราก โดยอาศัยการลำเลียงทางด้านข้าง (Lateral transport) ซึ่งอยู่ในแนวรัศมีของต้นพืช และเป็นระยะทางสั้น ๆ น้ำและแร่ธาตุจากดินจะถูกดูดซึม โดยขนรากผ่านชั้น คอร์เทกซ์ จนถึง เอนโดเดอร์มิสโดย มี 2 วิธี
2.1 อะโพพลาสต์ (Apoplast) คือการที่น้ำและแร่ธาตุผ่านจากเซลล์หนึ่งไปยังเซลล์หนึ่ง โดยผ่านช่องว่างระหว่างผนังเซลล์ในชั้น คอร์เทกซ์และผ่านเซลล์ที่ไม่มีชีวิต (ยกเว้นเอนโดเดอร์มิส) คือเทรคีด และเวสเซล
2.2 ซิมพลาสต์ (Simplast) คือการที่น้ำและแร่ธาตุผ่านจากเซลล์หนึ่งไปยังอีกเซลล์หนึ่ง โดยผ่านทางไซโทพลาซึมที่เชื่อมต่อกันและทะลุไปอีกเซลล์หนึ่งโดยผ่านทางพลาสโมเดสมาตา (Plasmodesmata) ดังนั้นการที่น้ำและแร่ธาตุสามารถผ่านไปจึงเป็นการผ่านชั้นเยื่อหุ้มเซลล์เท่านั้น เมื่อน้ำและแร่ธาตุเคลื่อนมาถึง เอนโดเดอร์มิสซึ่งมีแคสพาเรียนสตริป (Casparian strip) กั้นอยู่ที่ผนังเซลล์ น้ำและแร่ธาตุจะผ่านไปตามผนังเซลล์ไม่ได้ ดังนั้นน้ำและแร่ธาตุจึงต้องผ่านไปทางไซโทพลาซึม ของเซลล์เอนโดเดอร์มิส นั่นคือ วิธี อะโพพลาสต์ น้ำและแร่ธาตุจะผ่านชั้นเอนโดเดอร์มิสไปไม่ได้ จึงต้องใช้วิธีซิมพลาสต์ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ของ เอนโดเดอร์มิส เข้าสู่ไซโทพลาซึมของเอนโดเดอร์มิส แล้วจึงเข้าสู่ สตีล จนถึงไซเลม แร่ธาตุที่ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์จึงถูก
คัดเลือก (Select) โดยเยื่อหุ้มเซลล์

 

   
   
   
 

ก่อนหน้า | หน้าหลัก | ถัดไป