:: Welcome to Website *_*  ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์เรื่องโครงสร้างและหน้าที่ของพืชดอก ::

 
 
  พืชนำน้ำเพียงส่วนน้อยจากที่ดูดขึ้นมาจากดินไปใช้ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่เรียกว่า เมแทบอลิซึม (Metabolism) เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำทั้งหมดที่นำเข้าสู่พืช เช่น ข้าวโพดต้นหนึ่งเมื่อเจริญจนครบวงชีวิต ต้องใช้น้ำทั้งสิ้นประมาณ 243 ลิตร ส่วนใหญ่พืชสูญเสียน้ำไปมากถึง 98 % ออกไปในรูปของไอน้ำสู่บรรยากาศ โดยการคายน้ำ (Transpiration) ผ่านทาง ปากใบ (Stomata) เป็นส่วนใหญ่และผ่านผิวใบได้เล็กน้อย
 

  หลังจากฝนตกหนักใหม่ ๆ ความชื้นของอากาศอยู่ในสภาพเกือบอิ่มตัวอุณหภูมิลดลง หากไม่มีแสงสว่างด้วยแล้ว พืชไม่สามารถคายน้ำได้อย่างปกติ แต่ภายในพืชมีแรงดันรากที่สามารถดันน้ำจากรากไปยังส่วนอื่น ๆ ของพืชได้เสมอ แต่ใบไม่สามารถปล่อยน้ำออกทางปากใบได้ด้วยการคายน้ำ น้ำจึงถูกปล่อยออกทางรูเล็ก ๆ ที่ผิวใบที่เรียกว่า ไฮดาโทด (Hydathode) ซึ่งอยู่บริเวณปลายสุดของเส้นใบ การเสียน้ำในรูปของหยดน้ำเช่นนี้ เรียกว่า กัตเตชัน (Guttation) การเกิดเหตุการณ์เช่นนี้เกิดไม่บ่อยนัก เนื่องจากที่ผิวใบมีสารคิวทินเคลือบ ทำให้การระเหยของน้ำออกทางผิวใบเกิดได้น้อยแต่ก็ยังมีการเสียน้ำออกทาง เลนทิเซล (Lenticel) ซึ่งเป็นรอยแตกที่ผิวลำต้นซึ่งพบในพืชบางชนิดเท่านั้น การสูญเสียน้ำทางเลนทิเซลมีเพียง 10 % เท่านั้น ส่วนใหญ่
น้ำในพืชจะระเหยออกทางปากใบ โดยวิธีการคายน้ำถึง 80-90 % โดยเฉพาะพบมากที่สุดที่ผิวใบด้านล่าง พืชจะคายน้ำออกทางปากใบมากที่สุด เนื่องจากมีทางออกสะดวกพืชต่างชนิดกันมีความสามารถในการคายน้ำได้ไม่เท่ากันถึงแม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน เนื่องจากมีความแตกต่างของโครงสร้างและส่วนประกอบของพืช เช่น ลักษณะและขนาดของใบ สารเคลือบผิวใบ

การปิดเปิดของปากใบ
การปิดเปิดของปากใบขึ้นกับเซลล์คุมที่อยู่ข้าง ๆ ปากใบ ซึ่งมีผนังด้านที่ติดกับปากใบหนากว่าด้านอื่น ๆ เมื่อมีแสงสว่าง โพแทสเซียมไอออนในเซลล์คุมเพิ่มขึ้น จึงมีความเข้มข้นของสารละลายมากขึ้น น้ำจากเซลล์ที่อยู่ติด ๆ กันจึงออสโมซิส เข้าสู่เซลล์คุม ทำให้เซลล์คุมเต่งมากขึ้น พร้อม ๆ กับมีแรงดันเต่งไปดันผนังเซลล์ด้านบางให้โป่งออกไปพร้อม ๆ กับดึงผนังเซลล์ด้านหนาให้โค้งตาม เกิดช่องว่างทำให้ปากใบเปิดยิ่งเซลล์คุมมีแรงดันเต่งมาก ปากใบยิ่งเปิดกว้าง การปิดเปิดของปากใบขึ้นอยู่กับแสงสว่างและปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายประการ คือ
1. แสงสว่าง เนื่องจากเซลล์คุมมี คลอโรพลาสต์ ทำให้เกิดการสังเคราะห์ด้วยแสง ปริมาณน้ำตาลในเซลล์คุมเพิ่มความเข้มข้นของไซโทพลาซึมเพิ่ม น้ำจากเซลล์ข้างเคียงจึงเกิดการออสโมซิสเข้ามา ทำให้เซลล์คุมเต่ง ปากใบจึงเปิด สำหรับเวลากลางคืนหรือเวลาไม่มีแสงไม่มีการสังเคราะห์ด้วยแสง น้ำตาลในเซลล์คุมถูกส่งออกไปนอกเซลล์คุมแล้ว หรือถ้ามีอยู่ในเซลล์คุมบางส่วนจะเปลี่ยนเป็นแป้งซึ่งไม่ละลายน้ำความเข้มข้นของเซลล์คุมลดลง น้ำจึงออสโมซิสออกสู่เซลล์ข้างเคียง แรงดันเต่งของเซลล์คุมลดลง ปากใบจึงปิด
2. ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ พบว่าปากใบจะปิดเมื่อปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น เช่น ในอากาศปกติมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์
300 ส่วนในล้านส่วน ปากใบจะเปิด แต่ถ้าปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มเป็น1000 ส่วนในล้านส่วน ปากใบจะปิด อาจอธิบายการปิดปากใบตอนกลางคืนได้ว่าเนื่องจากปริมาณการสะสมคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากการหายใจของเซลล์ในใบมาก
3. อุณหภูมิที่เหมาะสม อุณหภูมิไม่ต่ำและไม่สูงจนเกินไป(25- 30 องศาเซลเซียส) ทำให้ปากใบเปิด ถ้าอุณหภูมิสูงกว่านี้ปากใบจะปิดแคบลง และ
ถ้าอุณหภูมิต่ำมาก ๆ ปากใบก็จะปิดด้วย
4. ปริมาณน้ำภายในใบ หากใบคายน้ำออกมาก เช่น ในเวลาบ่ายทำให้เซลล์ในใบขาดน้ำ แรงดันเต่งในเซลล์ของใบลดลงทำให้ปากใบปิด
5. ฮอร์โมนบางชนิด ฮอร์โมนบางชนิดของพืชช่วยให้ปากใบปิดได้เช่น กรดแอบไซซิก (Abscisic acid) ซึ่งพบว่ามีมากในใบแก่ หรือในใบที่ขาดแคลนน้ำจึงทำให้การคายน้ำลดลงพืชทะเลทรายประเภทกระบองเพชร ปากใบจะอยู่บริเวณลำต้น พืชบกหลายชนิดมีเลนทิเซล (Lenticel) ซึ่งมีลักษณะคล้ายรอยแตกของลำต้นมีกระจายอยู่ทั่วไปอากาศจะผ่านเข้าออกทางเลนทิเซลได้เช่นเดียวกับไอน้ำ

 

   
 

ก่อนหน้า | หน้าหลัก | ถัดไป