:: Welcome to Website *_*  ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์เรื่องโครงสร้างและหน้าที่ของพืชดอก ::

 
 
  3.3.4 ใบเกล็ด (Scale leaf) เป็นใบที่เปลี่ยนมาจากใบแท้ เพื่อทำหน้าที่ป้องกันอันตรายให้แก่ตาและยอดอ่อน ใบเกล็ดไม่มีสีเขียวเพราะไม่มีคลอโรฟิลล์ เช่นใบเกล็ดของสนทะเล ที่เป็นแผ่นเล็ก ๆ ติดอยู่รอบ ๆ ข้อ ใบเกล็ดของโปร่งฟ้า เป็นแผ่นเล็ก ๆ ติดอยู่ตรงข้อเช่นเดียวกัน ใบเกล็ด ของขิง ข่า เผือก แห้วจีน เป็นต้น นอกจากนี้ใบเกล็ดบางชนิดยังสะสมอาหารไว้ด้วย ใบเกล็ดจึงมีขนาดใหญ่ เช่น หัวหอม หัวกระเทียม
3.3.5 เกล็ดตา (Bud scale) เป็นใบที่เปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่หุ้มตาหรือคลุมตาไว้ เมื่อตาเจริญเติบโตออกมา จึงดันให้เกล็ดหุ้มตาหลุดไปพบใน
ต้นยาง จำปี สาเก เป็นต้น
3.3.6 มือเกาะ (Leaf tendrill) เป็นใบที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นมือเกาะเพื่อยึดและพยุงลำต้นให้ขึ้นสูง มือเกาะอาจเปลี่ยนมาจากใบบางส่วน หรือใบทั้งใบก็ได้ตัวอย่างมือเกาะของถั่วลันเตา ถั่วหอม บานบุรีสีม่วง มะระ ดองดึง หวายลิงกะทกรก เป็นต้น
3.3.7 หนาม (Leaf spine) เป็นใบที่เปลี่ยนแปลงเป็นหนาม เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์ที่มากัดกิน พร้อมกับป้องกันการคายน้ำ เนื่องจากปากใบลดน้อยลงกว่าปกติ หนามที่เกิดอาจมีการเปลี่ยนแปลงทั้งใบกลายเป็นหนาม หรือบางส่วนของใบกลายเป็นหนามก็ได้ ตัวอย่างเช่น หนามของต้นเหงือกปลาหมอเปลี่ยนแปลงมาจากขอบใบและหูใบ หนามของต้นกระบองเพชรเปลี่ยนแปลงมาจากใบ หนามมะขามเทศเปลี่ยนแปลงมาจากหูใบ หนามของศรนารายณ์ (หรือต้นร้อยปี) เปลี่ยนแปลงมาจากขอบใบ เป็นต้น
3.3.8 ฟิลโลด (Phyllode หรือ Phyllodium) บางส่วนของใบเปลี่ยนแปลงไปเป็นแผ่นแบนคล้ายใบแต่แข็งแรงกว่าปกติทำให้ไม่มีตัวใบที่แท้จริง
จึงลดการคายน้ำได้ด้วย เช่น ใบกระถินณรงค์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงมาจากก้านใบ
3.3.9 ทุ่นลอย (Floating leaf) พืชน้ำบางชนิดมีการเปลี่ยนแปลงก้านใบให้พองโตคล้ายทุ่น ภายในมีเนื้อเยื่อที่จัดตัวอย่างหลวม ๆ ทำให้มีช่องอากาศกว้างใหญ่ สามารถพยุงลำต้นให้ลอยน้ำมาได้ เช่น ผักตบชวา
3.3.10 ใบแพร่พันธุ์ (Vegetative reproductive organ) เป็นใบที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อช่วยแพร่พันธุ์โดยบริเวณของใบที่มีลักษณะเว้าเข้าเล็กน้อยมีตา(Aventitious bud) ที่งอกต้นเล็ก ๆ ออกมาได้ ตัวอย่างเช่น ใบของต้นตายใบเป็น(หรือคว่ำตายหงายเป็น) ต้นเศรษฐีพันล้าน ต้นโคมญี่ปุ่น เป็นต้น
3.3.11 ใบจับแมลง (Insectivorous leaf หรือ Carnivorous leaf)เป็นใบที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นกับดักแมลง หรือสัตว์ขนาดเล็ก ภายในกับดักมีต่อมสร้างเอนไซม์ประเภทโพรทีเอส (Protease) ที่ย่อยโปรตีนสัตว์ที่ติดอยู่ในกับดักได้ พืชชนิดนี้มีใบปกติที่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้เหมือนพืชทั่ว ๆ ไป แต่พืชเหล่านี้มักอยู่ในที่มีความชื้นมากกว่าปกติ อาจขาดธาตุอาหารบางชนิดจึงต้องมีส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นกับดัก เช่น ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง (หรือน้ำเต้าฤๅษี) ต้นกาบหอยแครง ต้นหยาดน้ำค้างต้นสาหร่ายข้าวเหนียวหรือสาหร่ายนา (ไม่ใช่สาหร่ายแต่เป็นพืชน้ำขนาดเล็ก) เป็นต้น
 

   
 

ก่อนหน้า | หน้าหลัก | ถัดไป