รู้จักคลื่นยักษ์ สึนามิ

HomeAbout Myselfแผ่นดินไหวคลื่นยักษ์ ประมวลข่าวPhotosเว็บที่เกี่ยวข้อง

 

รู้จักคลื่นยักษ์ สึนามิ

 

"สึนามิ"(Tsunami) หรือ คลื่นยักษ์ เกิดจากการสมาสของคำในภาษาญี่ปุ่นระหว่างคำว่า "สึ" (Tsu) ซึ่งแปลว่า ท่าเรือ และคำว่า "นามิ" (Nami) แปลว่า คลื่น รวมแล้วแปลได้ว่า คลื่นที่เข้าสู่ฝั่งหรือท่าเรือ ตรงกับความหมายในภาษาอังกฤษว่า Harbor Wave เหตุที่เรียกว่า Harbor Wave ก็เพราะเมื่อเคลื่อนตัวเข้าสู่ระดับน้ำตื้นใกล้ชายฝั่ง ความเร็วของคลื่นจะลดลง แต่พลังของคลื่นจะดันให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและก่อให้เกิดคลื่นสูงมหาศาล ยิ่งหากคลื่นเข้าปะทะชายฝั่งที่มีรูปร่างคล้ายตัววี(V) ความเร็วและความแรงของคลื่นจะยิ่งเพิ่มขึ้น และส่งให้ยอดคลื่นมีความสูงมากขึ้น จนสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินที่อยู่รอบชายฝั่ง

คลื่น "สึนามิ" ต่างจากคลื่นตามปกติทั่วไปที่เราเห็นตามชายหาด(Tidal Wave) โดยคลื่นทั่วไปจะเกิดจากการขึ้น-ลงของกระแสน้ำ บวกด้วยแรงลมที่พัดบนผิวน้ำ แต่คลื่นซูนามิ ไม่เกี่ยวกับกระแสน้ำและไม่เกี่ยวกับสภาวะอากาศเลย หากแต่เกิดจากแผ่นดินไหวใต้มหาสมุทร หรือบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเล เมื่อแผ่นดินเกิดรอยแยก น้ำทะเลจะถูกดูดเข้าไประหว่างรอยแยกที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดภาวะน้ำลงอย่างรวดเร็ว จากนั้นแรงอัดใต้เปลือกโลกจะดันน้ำทะเลขึ้นมา กลายเป็นระลอกคลื่นใหญ่

คลื่นยักษ์ยังเกิดขึ้นได้อีกจากการที่ภูเขาไฟใต้มหาสมุทรเกิดระเบิด การทดลองระเบิดปรมาณูในมหาสมุทร หรือมีวัตถุขนาดใหญ่เช่นดาวเคราะห์น้อย อุกกาบาตตกลงในมหาสมุทร ก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาในมหาสมุทร จนทำให้เกิดคลื่นยักษ์ได้ แต่กรณีหลังมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย

"สึนามิ" มีความยาวของคลื่นถึงราว 80-200 กิโลเมตร ทำให้เรือที่แล่นอยู่ในทะเลไม่รู้ว่าเกิดคลื่นยักษ์ขึ้น แต่ละลูกจะทิ้งช่วงห่างกันมากกว่า 15 นาที เคลื่อนที่ด้วยอัตราความเร็วเฉลี่ยประมาณ 700-1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 คลื่นยักษ์ชนิดนี้มักเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก เพราะเป็นแนวที่มีการเกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟใต้มหาสมุทรมาก อีกทั้งยังล้อมรอบด้วยร่องน้ำลึกก้นมหาสมุทรที่เกิดจากแผ่นดินโลกมุดตัว จุดเกิดคลื่นยักษ์ในมหาสมุทรแปซิฟิกอยู่บริเวณร่องน้ำลึกก้นมหาสมุทรนอกชายฝั่งอลาสกา หมู่เกาะคูริล ทวีปอเมริกาใต้ โดยเฉพาะแปซิฟิกตอนกลางและรัสเซีย ประมาณว่าร้อยละ 80 ของคลื่นยักษ์ที่เกิดทั้งหมดอยู่บริเวณ Pacific Seismic Belt ส่วนพื้นที่ที่เกิดคลื่นยักษ์บ่อยครั้งคือหมู่เกาะฮาวาย(เกิดขึ้นทุกปี)

จุดอื่นที่เกิดความเสี่ยงจากสึนามิ ก็อย่างเช่นหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย โอเรกอน วอชิงตัน

คลื่นยักษ์มีแรงปะทะสูงและก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือน ชีวิต และทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ความเสียหายที่เกิดจากคลื่นยักษ์ครั้งร้ายแรง เช่นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2537 แผ่นดินไหวที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย วัดได้ 7.2-7.8 ริกเตอร์ ทำให้เกิดคลื่นยักษ์ขนาดใหญ่ มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน หรือเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2541 เกิดแผ่นดินไหววัดได้ 7.1 ริกเตอร์ ที่ปาปัวนิวกินี จากนั้นได้เกิดคลื่นยักษ์ตามมาจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน

 เพื่อป้องกันความเสียหายจากคลื่นยักษ์ จึงมีการตั้งศูนย์เตือนภัยคลื่นยักษ์ขึ้นคือ ศูนย์เตือนภัยสึนามิอลาสกา(ATWC) ตั้งอยู่ที่อลาสก้า รับผิดชอบพื้นที่อลาสก้า บริติช โคลัมเบีย วอชิงตัน โอเรกอน และแคลิฟอร์เนีย และศูนย์เตือนภัยซูนามิภาคพื้นแปซิฟิก รับผิดชอบพื้นที่ฮาวายและแปซิฟิก

สำหรับกรณีของประเทศไทยนั้น นายสมิทธ ธรรมสโรช อดีตรองปลัดกระทรวงคมนาคม ได้เคยกล่าวเอาไว้เกี่ยวกับแนวโน้มที่ซูนามิจะเกิดในประเทศไทยไว้เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2541 หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิในปาปัวนิวกินีว่า จากการวิเคราะห์เบื้องต้น(ของนักวิชาการด้านแผ่นดินไหว) ซูนามิอาจเกิดขึ้นในทะเลอันดามันตอนบนและมีผลกระทบต่อชายฝั่งทะเลทิศตะวันตกของไทย โดยอาจเกิดขึ้นได้ในจุดที่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มาแล้ว 2-3 จุด ในทะเลอันดามัน ทั้งนี้ในอดีตมีประวัติการเกิดแผ่นดินไหวทิ้งระยะห่างหลายสิบปี คล้ายคลึงกับการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศปาปัวนิวกินี

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์เพิ่มเติมยังพบว่ามีรอยเลื่อนขนาดใหญ่คือรอยเลื่อนระนองและรอยเลื่อนคลองมะรุม ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่พาดผ่านแผ่นดินและเทือกเขาตะนาวศรีลงไปในทะเลอันดามันทางทิศตะวันตกของชายฝั่งทะเลไทย ซึ่งแนวรอยเลื่อนที่อยู่ในทะเลมีระยะใกล้กับฝั่งทะเลไทยเป็นอย่างมาก ถ้ามีการเกิดแผ่นดินไหวในรอยเลื่อนใหญ่สองรอยเลื่อนนี้มีขนาดรุนแรงเกิน 6.2 ริกเตอร์ ก็จะทำให้เกิดคลื่นซูนามิขนาดใหญ่พัดเข้าหาชายฝั่งทะเลทางทิศตะวันตกของไทยได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงได้

 

ที่มา หนังสือพิมพ์มติชน วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2547
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต


จัดทำโดยครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
โรงเรียสตรีศรีสุริโยทัย เขตสาทร กทม.

จำนวนผู้เข้าใช้งาน
ตั้งแต่วันพุธที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2547

thaigoodview.com Version 12.0
บริหารและจัดการโดยทีมงานชาวมัธยมศึกษา

Copyright (c) 2004 www.thaigoodview.com. All rights reserved.

webmaster@thaigoodview.com