คลื่นยักษ์

HomeAbout Myselfแผ่นดินไหวคลื่นยักษ์ ประมวลข่าวPhotosเว็บที่เกี่ยวข้อง
[คลื่นยักษ์ "สึนามิ" คืออะไร?] 
[รู้จักคลื่นยักษ์ สึนามิ
[รายงานพิเศษจาก Nectec] 

 

คลื่นยักษ์ "สึนามิ" คืออะไร?

 

 "สึนามิ" (Tsunami) เป็นคลื่นใต้น้ำขนาดใหญ่มาก เกิดจากเหตุแผ่นดินไหวหรือการเคลื่อนตัวของผิวโลกใต้น้ำ ซึ่งจากจุดเริ่มต้นอาจจะมีขนาดของคลื่นเพียงไม่กี่นิ้ว

แต่เมื่อถึงชายฝั่งจะมีขนาดสูงขึ้นหลายสิบเมตร และจะพุ่งเข้าทำลายบ้านเรือนและสิ่งกีดขวาง ให้ราบเป็นหน้ากลองเพียงไม่กี่นาที ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือตรวจสอบการเกิดสึนามิที่แม่นยำ เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ คลื่นยักษ์สึนามิ ประกอบด้วย ชุดของคลื่นที่มีความยาวค่อนข้างมาก และช่วงระยะห่างของเวลาแต่ละคลื่นยาวนาน ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนตัวของพื้นทะเลในแนวดิ่งจมลงตรงแนวรอยเลื่อน หรือการเกิดมวลน้ำถูกกระตุ้นหรือรบกวน การแทนที่ทางแนวดิ่งของมวลวัตถุ สัมพันธ์กับการเกิดแผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม การระเบิด และการปะทุของภูเขาไฟหรือการกระทบของอนุภาคขนาดใหญ่ เช่น อุกกาบาต ก็สามารถก่อเป็นคลื่นสึนามิได้

นายเศวตฉัตร ศรีสุรัตน์ ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเกิดคลื่นสึนามิ ระบุว่า "สึนามิ" เป็นคำมาจากภาษาญี่ปุ่น และแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า "harbor wave" หรือคลื่นที่เข้าสู่อ่าว ฝั่งหรือท่าเรือ ซึ่งถ้ามีสาเหตุเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในมหาสมุทร หรือใกล้ชายฝั่งแผ่นดินไหวจะสร้างคลื่นขนาดมหึมาเกิดขึ้นใต้น้ำ และพลังงานจะแผ่ออกทุกทิศทุกทางจากแหล่งกำเนิด นั่นคือแผ่ออกจากรอบศูนย์กลางบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวนั่นเอง คลื่นจะค่อนข้างใหญ่มาก เมื่อเข้าสู่ฝั่งสภาพที่เป็นจริงในทะเลเปิดน้ำลึก จะเห็นคล้ายลูกคลื่นพองวิ่งเลียบไปกับผิวน้ำ ซึ่งเรือยังสามารถแล่นอยู่บนลูกคลื่นนี้ได้ แต่เมื่อคลื่นนี้เคลื่อนมาถึงบริเวณน้ำตื้นใกล้ชายฝั่ง มันจะเคลื่อนโถมเข้าสู่ชายฝั่ง บางครั้งสูงถึง 35 เมตร ซึ่งคลื่นสึนามินี้เคลื่อนตัวได้เร็วมาก โดยมีความเร็วประมาณ 1,000 กม.ต่อ ชม. และการเตือนภัยไม่สามารถทำได้ทันเวลา และการตรวจจับคลื่นสึนามินั้นทำได้ยากมาก

สาเหตุของการเกิดคลื่นสึนามิ มีสาเหตุหลายประการ ได้แก่ การเกิดระเบิดอย่างรุนแรงของภูเขาไฟ เช่น เหตุการณ์ที่การากาตัว เมื่อ ค.ศ.1883 การเกิดแผ่นดินถล่ม เช่น เหตุการณ์ที่อ่าวซากามิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ ค.ศ.1933 การเกิดจากก้อนหินตกลงในอ่าวหรือมหาสมุทร เช่น เหตุการณ์ที่อ่าวลิทูยาอลาสกา เมื่อ ค.ศ.1933 การเกิดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกด้วยแรงเทคโทนิคจากแผ่นดินไหว เช่น เหตุการณ์อลาสกันซูนาม บริเวณอลาสกา ใน ค.ศ.1964 หรือแม้แต่สาเหตุจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้น้ำ ก็ทำให้เกิดคลื่นสึนามิได้

อย่างไรก็ตาม คลื่นสึนามิจะเคลื่อนตัวด้วยความเร็ว จากบริเวณน้ำลึกเข้าสู่บริเวณฝั่ง เมื่อใกล้ฝั่งความเร็วของคลื่นสึนามิจะลดลง ความสูงของคลื่นจะก่อตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคลื่นสึนามิขึ้นฝั่ง คลื่นสึนามิจะโถมขึ้นสู่ฝั่งอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้ความสูงของยอดคลื่นสูงมากยิ่งขึ้น เมื่อคลื่นสึนามิเข้าปะทะแผ่นดิน พลังงานของมันจะสูญเสียไป เนื่องจากการสะท้อนกลับของคลื่นที่ปะทะชายฝั่ง ในขณะที่พลังงานของคลื่นที่แผ่เข้าสู่ฝั่งจะถูกทำให้กระจาย พลังงานสู่ด้านล่างและเกิดกระแสหมุนวน

ทั้งนี้ การสูญเสียพลังงานนี้ มิได้ทำให้คลื่นสึนามิลดความรุนแรงลง มันจะยังคงเคลื่อนเข้าปะทะฝั่งด้วยพลังงานอย่างมหาศาล คลื่นสึนามิมีพลังงานมหาศาลในการกัดเซาะ พังทลาย โดยเฉพาะชายฝั่งหาดทรายที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ และพืชพันธุ์จะถูกน้ำท่วมปกคลุม ระดับน้ำจะสูงขึ้น และการเคลื่อนตัวของน้ำที่รวดเร็วจะปะทะกับบ้านเรือน และสิ่งก่อสร้างต่างๆ คลื่นสึนามินั้น บางครั้งสามารถปะทะฝั่งที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 10 เมตร 20 เมตร และบางครั้งอาจสูงถึง 30 เมตรได้

"เหตุการณ์คลื่นสึนามิที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบ คาดว่า อาจเกิดจากแนวภูเขาไฟใต้น้ำบริเวณเกาะสุมาตรา อาจเกิดระเบิดขึ้นก็ได้ และการที่วัดแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ถึง 8.1 ริคเตอร์ ถือว่าสูงมาก ควรมีการอพยพผู้คนออกนอกพื้นที่เพื่อความปลอดภัย เพราะอาจจะเกิดเหตุการณ์อาฟเตอร์ช็อกก็ได้" นายเศวตฉัตร กล่าว

ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547


จัดทำโดยครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
โรงเรียสตรีศรีสุริโยทัย เขตสาทร กทม.

จำนวนผู้เข้าใช้งาน
ตั้งแต่วันพุธที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2547

thaigoodview.com Version 12.0
บริหารและจัดการโดยทีมงานชาวมัธยมศึกษา

Copyright (c) 2004 www.thaigoodview.com. All rights reserved.

webmaster@thaigoodview.com