กล้วยไม้สกุลกุหลาบ
เป็นกล้วยไม้ที่พบตามธรรมชาติในป่าทั่วทุกภาคของประเทศไทยและประเทศในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
โดยเกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ อาจขึ้นเป็นต้นเดียวโดดๆ หรือขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่
มีการเจริญเติบโตแบบฐานเดี่ยว บางต้นมียอดเดียว บางต้นแตกเป็นกอ มีหลายยอด
เมื่อต้นสูงหรือยาวขึ้นจะห้อยย้อยลงมา แต่ปลายยอดยังคงชี้ขึ้นข้างบน
ช่อดอกส่วนใหญ่โค้งปลายช่อห้อยลงมา รากเป็นระบบรากอากาศ ดอกมีขนาดปานกลาง
มักมีกลิ่นหอม มีเดือยดอกเรียวแหลมหรือปลายงอนออกมาทางด้านหน้าของดอก
ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างกับกล้วยไม้ชนิดอื่นๆ กลีบดอกผึ่งผายสวยงามสะดุดตา
เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่าย มีบทบาทสำคัญในการผสมพันธุ์เพื่อการปรับปรุงพันธุ์
สามารถผสมในสกุลเดียวกัน และผสมข้ามสกุลต่างๆ เช่น ผสมกับสกุลแวนด้าเป็นสกุลแอริโดแวนด้า
(Aeridovanda) ผสมกับสกุลช้างเป็นสกุลแอริโดสไตลิส (Aeridostylis)
สำหรับกล้วยไม้สกุลกุหลาบที่พบตามธรรมชาติในประเทศไทยมีดังนี้
กุหลาบกระเป๋าปิด(Aerides
odorata Lour. )
กุหลาบกระเป๋าปิดเป็นกล้วยไม้ชนิดเดียวในสกุลกุหลาบที่ส่วนปลายปากแคบกว่าหู
และทั้ง 2 ส่วนพับขึ้นมาปิดเส้าเกสรไว้ พบขึ้นอยู่ทุกภาคของประเทศไทย
นอกจากนี้ยังพบในลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย
ฟิลิปปินส์ พม่า อินเดีย เนปาล และภูฎาน
กุหลาบกระเป๋าปิดมีลำต้นบิดเป็นเกลียวเล็กน้อย
ต้นห้อยย้อยลง มักแตกแขนงเป็นหลายยอด ต้นอาจยาวถึง 1 เมตรครึ่ง
ใบยาวประประมาณ 15-25 เซนติเมตร กว้าง 2-3 เซนติเมตร เรียงสลับซ้ายขวา
ปลายใบหยักไม่เท่ากัน ใบค่อนข้างบางไม่แข็งทื่อ ขอบใบบิดเล็กน้อย
โคนใบหุ้มต้น ออกดอกประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ช่อดอกยาวประมาณ
20-30 เซนติเมตรและห้อยลง แต่ละช่อมีประมาณ 30 ดอก แต่ละดอกกว้างประมาณ
3 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นสีขาว ปลายกลีบเป็นสีม่วงอมแดงอ่อนๆ
ส่วนปลายปากเป็นสีม่วง เดือยดอกโค้งงอนขึ้นคล้ายเขาดอกมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นดอกกุหลาบและบานนานประมาณ
1-2 สัปดาห์
สำหรับกุหลาบกระเป๋าปิดที่พบทางภาคเหนือ
จะมีลักษณะแตกต่างออกไปเล็กน้อย คือต้นจะตั้งตรงและบิดน้อยกว่า
ใบสั้นกว่าและหนากว่า ก้านส่งช่อดอกแข็งทำให้ช่อดอกโค้งลงเพียงเล็กน้อย
|
กุหลาบเหลืองโคราช(Aerides
houlettiana Rchb. f )
กุหลาบเหลืองโคราชมีลักษณะดอกคล้ายกุหลาบกระเป๋าเปิด
แต่มีพื้นกลีบเป็นสีเหลืองแทนที่จะเป็นสีขาว ดอกมีกลิ่นคล้ายกลิ่นตะไคร้
ความยาวของใบและของช่อดอกจะสั้นกว่ากุหลาบกระเป๋าเปิด ในประเทศไทยพบเฉพาะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และพบใน ประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม
กุหลาบเหลืองโคราชออกดอกประมาณเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม
จุดเด่นของกุหลาบเหลืองโคราชอยู่ตรงที่มีสีเหลือง ในแต่ละต้นจะมีความผิดเพี้ยนกันไป
คือ อาจมีสีเหลืองเข้ม เหลืองอ่อน หรือบางต้นแทบไม่มีสีเหลืองเลย ในการคัดพันธุ์ควรเลือกสีเหลืองเข้มเป็นหลัก
เพราะกล้วยไม้สกุลนี้ในประเทศไทยมีชนิดนี้เพียงชนิดเดียวที่ดอกมีสีเหลือง
|
กุหลาบแดง(Aerides
crassifolia Parish ex Burbidge)
กุหลาบแดงเป็นกุหลาบที่มีเดือยดอกยาวเห็นได้ชัดเจน
เดือยงอนขึ้นและไม่ซ่อนตัวอยู่ใต้ปลายปาก ใบยาวประมาณ 10-18 เซนติเมตร
กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร ใบหนา ผิวใบอาจย่นมากหรือน้อย โดยย่นตามขวางของใบ
ในประเทศไทยพบที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งที่นครนายกและกาญจนบุรี
นอกจากนี้ยังพบในประเทศพม่า ลาว และเวียดนาม
กุหลาบแดงออกดอกในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม
มีช่อดอกสั้น ช่อหนึ่งมีประมาณ 10 ดอกเท่านั้น ดอกมีสีม่วงแดง การจัดระเบียบดอกในช่อไม่งดงามเหมือนกล้วยไม้กุหลาบชนิดอื่น
|
กุหลาบอินทจักร(Aerides
flabellata Rolfe ex Downie)
กุหลาบอินทจักรเป็นกุหลาบเดือยยาวชนิดเดียวที่ฝาครอบอับเรณูกว้างและมนซึ่งชนิดอื่นจะแหลมเป็นปากกา
ในประเทศไทยพบเฉพาะทางภาคเหนือ และพบในพม่า ลาว และมณฑลยูนานของจีน
กุหลาบอินทจักรมีก้านช่อดอกค่อนข้างแข็ง
ช่อดอกตั้ง ออกดอก 5-10 ดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีลักษณะคล้ายกัน
สีเขียวอมเหลืองและมีแต้มสีน้ำตาลอมม่วง กลีบปากเป็น 3 หยัก สีขาวมีจุดสีชมพูอมม่วง
ขอบจักเป็นฟันเลื่อย ดอกขนาด 2-3 เซนติเมตร ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤกษภาคม
จุดเด่นของกุหลาบชนิดนี้อยู่ที่เดือยยาวและงอน
จนปลายเดือยชี้กลับเข้าไปหาตัวดอก อาจเรียกว่า กล้วยไม้เดือยงาม ก็ได้
|
กุหลาบมาลัยแดง(Aerides
multiflora Roxb.)
กุหลาบมาลัยแดงมีลักษณะดอกคล้ายกุหลาบน่าน
แตกต่างกันที่ปลายปาก คือ ปากของกุหลาบน่านเป็นรูปสามเหลี่ยม แต่ปากของกุหลาบมาลัยแดงเป็นรูปหัวใจ
ปลายสุดของปากป้านและหยักกลาง ในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์แถบภาคเหนือ
อีสาน นครนายก ชลบุรี และกาญจนบุรี นอกจากนี้ยังพบใน ประเทศเนปาล สิกขิม
ภูฎาน อินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
กุหลาบมาลัยแดงมีลำต้นแข็งแรง
ใบหนาโค้ง ซ้อนกันถี่ ใบกว้างประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-25
เซนติเมตร ช่อดอกโค้งห้อยยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ก้านช่อมักมีสีคล้ำเกือบดำ
ออกดอกเบียดชิดกันแน่นช่อ โดยทั่วไปจะมีกลีบดอกสีม่วงแดง มักจะมีสีจางจนถึงขาวที่โคนกลีบ
และสีจะเข้มขึ้นจนสุดที่ปลายกลีบช่อดอกจะแตกแขนงถ้าเลี้ยงให้สมบูรณ์และอากาศเย็น
ออกดอกในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ต้นที่ดอกมีสีขาวล้วนเรียกว่า “มาลัยเผือก”
|
กุหลาบชมพูกระบี่
กุหลาบพวงชมพู(Aerides krabiense Seidenf.)
กุหลาบชมพูกระบี่หรือพวงชมพู
พบครั้งแรกที่จังหวัดกระบี่ และต่อมาได้พบที่จังหวัดใกล้เคียงกัน เช่นที่พังงา
และเกาะต่างๆ ในบริเวณนั้น รวมทั้งที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซียด้วย
โดยจะพบขึ้นอยู่ตามหน้าผาริมทะเลที่ได้รับแสงแดดเต็มที่
กุหลาบชมพูกระบี่มีขนาดเล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับกล้วยไม้ชนิดอื่นๆ
ในสกุลกุหลาบที่พบในประเทศไทย เป็นกุหลาบที่ต้นมักแตกเป็นกอ ใบแคบหนา
โค้งงอและห่อเป็นรูปตัววี ปลายใบแหลม กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร
ยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร ผิวใบมีจุดประสีม่วงแดงอยู่ทั่วไปและปรากฎมากขึ้นเมื่อถูกแดดจัดหรืออากาศแห้งแล้งเช่นเดียวกับใบเข็มแดง
กุหลาบชมพูกระบี่ออกดอกระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม
ช่อดอกยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ช่อเอนขนานไปกับใบ ปลายช่อโค้งลง
บางต้นพบช่อดอกแตกแขนงด้วย มีเดือยดอกสั้นมาก ปลายปากกว้างมน ดอกมีพื้นขาว
มีจุดประสีม่วงแดง หรือชมพูเข้มกลางแผ่นปากมีสีแดงเข้ม ดอกคล้ายกุหลาบมาลัยแดง
หรือกุหลาบน่าน จุดสังเกตที่เด่นชัดคือลักษณะของปลายปากที่แตกต่างกัน
คือ กุหลาบน่านปลายปากเป็นรูปสามเหลี่ยมชัดเจน กุหลาบมาลัยแดงปลายปากป้านและหยักกลาง
ส่วนกุหลาบชมพูกระบี่ปลายปากกว้างและมน
|
กุหลาบน่าน
กุหลาบเอราวัณ กุหลาบไอยรา(Aerides rosea Loddiges ex Lindl. &
Paxt.)
กุหลาบน่านเป็นพวกที่มีเดือยดอกสั้นมาก
เห็นเป็นตุ่มขนาดใหญ่ มีปลายปากเป็นรูปสามเหลี่ยมชัดเจน ปลายใบหยักกลางแต่หยักไม่เท่ากัน
ในประเทศไทยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเท่านั้น และพบน้อยมาก
นอกจากนี้ยังพบในภูฎาน อินเดีย พม่า ลาว เวียดนาม และมณฑลยูนนานของจีน
กุหลาบน่านช่อดอกมีก้านส่งแข็ง
ชี้เฉียงลง แต่ส่วนช่อที่ติดดอกจะโค้งห้อยลง ถ้าต้นสมบูรณ์ ช่อดอกจะแตกแขนง
ดอกเบียดกันแน่นช่อ ดอกใหญ่ประมาณ 2-3 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาว มีแต้มสีม่วงแดง
ที่ปลายกลีบมีจุม่วงแดงประปราย ปากสีม่วงแดง ออกดอกในเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน
|
กุหลาบกระเป๋าเปิด(Aerides
falcata Lindl.)
กุหลาบกระเป๋าเปิดพบขึ้นอยู่ในทุกภาคของประเทศไทยและยังพบในแคว้นอัสสัม
ประเทศอินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา และ เวียดนาม เป็นกล้วยไม้ที่มีปลายปากกว้างอ้าออก
ยื่นไปข้างหน้า มีเดือยดอกค่อนข้างตรง ซ่อนอยู่ใต้ปลายปาก อยู่ชิดขนานกับปลายปาก
ใบยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร กว้าง 2-4 เซนติเมตร
กุหลาบกระเป๋าเปิดออกดอกประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม
ช่อดอกห้อย ช่อรูปทรงกระบอก กลีบปากมี 3 แฉก เปิดกว้าง ริมแผ่นปากเป็นฝอย
มีลายสีม่วงแดงแล้วจางเป็นสีขาว พื้นกลีบดอกเป็นสีขาว มีแต้มสีม่วงอมชมพูที่ปลายกลีบ
ขนาดดอกประมาณ 2.5 เซนติเมตร ดอกมีกลิ่นหอม
|