|
|
[ประเภทการรักษา][การบำบัดทางการแพทย์]
การบำบัดรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีทางการแพทย์
การรักษาแบบผู้ป่วยนอก เป็นรูปแบบที่ไม่มีการค้างคืนในสถานบำบัดใช้กับผู้ป่วยที่เสพสารไม่มากนักและ ไม่มีปัญหาจากอาการขาดยารุนแรงในบางกรณี ใช้การรักษาประเภทนี้หลังจากผู้ป่วยผ่านการบำบัดแบบผู้ป่วยใน โรงพยาบาลกลางวัน (Day Treatment or Partial Hospitalization) คือการรักษาที่ผุ้เสพยามารับบำบัดในช่วงกลางวันใช้เวลาเกินกว่า 20 ชั่วโมงในแต่ละสัปดาห์ และสามารถกลับบ้านได้ในแต่ละวันของการบำบัด จึงเป็นรูปแบบที่กำกึ่งระหว่างการรักษาแบบผู้ป่วยนอกกับการนอนพักในโรงพยาบาล เหมาะสำหรับวัยรุ่นที่มีปัญหาพฤติกรรมรุนแรง หรือมีอาการขาดยาทางกายที่ไม่รุนแรงมากนักและไม่ถึงขั้นต้องบำบัดในโรงพยาบาล การรักษาแบบผู้ป่วยใน การรักษาแบบนี้จะรวมการรักษาซึ่งประกอบด้วยการดูแลรักษาทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด ทั้งในแง่การเจ็บป่วยทางกาย ทางจิตใจและการปรับตัวทางสังคม โดยใช้เวลาตลอด 24 ชั่วโมงแต่ละวันภายในสถานบำบัดเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เสพสารปริมาณมาก ๆ และยังมีการใช้ต่อเนื่องอยู่ หรือผู้มีอาการเป็นพิษจากสารเสพติด หรือกรณีต้องการสภาพแวดล้อมที่ช่วยในกระบวนการถอนพิษ นอกจากนี้ ยังจำเป็นสำหรับผู้เสพติดที่ต้องการรักษาด้วยยาการบำบัดภาวะเกลือแร่ไม่สมดุลย์ของร่างกาย หรือการที่ผู้ป่วยต้องอย่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อการทำร้ายผู้อื่น บ้านกึ่งวิถี( Half way house) เป็นรูปแบบการรักษาที่เสมือนรอยต่อระหว่างการกลับคืนสู่สภาพครอบครัวและสังคมที่แท้จริงกับการบำบัดในสถานบำบัด โดยผู้ป่วยใช้ชีวิตอยู่ในบ้านกึ่งวิถีแต่สามารถมีโอกาสทางการศึกษา การทำงานตลอดจนการรักษาจากหน่วยงานภายนอกบ้านกึ่งวิถี โดยต้องเคารพกฏเกณฑ์ของบ้านซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยกำกับดูแลด้วย ระยะเวลาการบำบัดในบ้านกึ่งวิถีขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ชุมชนบำบัด (Therapeutic Communities)
การบำบัดชนิดนี้ เป็นรูปแบบที่ให้ความสำคัญในเรื่องจิตใจและสังคมอย่างยิ่ง จึงเป็นรูปแบบที่ได้รับความสำคัญอย่างสูงในบางประเทศ ในการรักษาปัญหาเสพติดที่มีความรุนแรงสูงมากในวัยรุ่นซึ่งจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาการรักษานาน ชุมชนบำบัดมีลักษณะเด่นที่สำคัญอยู่ 2 ประการ คือ 1.การใช้สภาพความเป็นอยู่ของชุมชนเป็นเครื่องบำบัดในกระบวนการรักษา 2.การมีโครงสร้างที่ชัดเจน จำแนกรายละเอียดอย่างรัดกุม และมีกระบวนการต่อเนื่องในการส่งเสริมความมั่นคง ทางอารมณ์ของผู้เสพติด ชุมชนจะประกอบด้วยสังคม กลุ่มเพื่อน และบุคลากรผู้รับบทบาทเป็นตัวอย่างทางสังคม (role models) การจัดสรรหน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ ในชุมชนเปรียบเสมือนกลไกที่จะช่วยพัฒนาตนเองสำหรับสมาชิกทุกราย การจัดตั้งตารางเวลาในแต่ละวันจึงเป็นไปอย่างรัดกุมมีโครงสร้างชัดเจนทั้งในเรื่องการทำงาน กิจกรรมกลุ่ม การสัมมนา มื้ออาหาร ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเพื่อนและบุคลากรทั้งที่เป็นแบบมีโครงสร้างชัดเจนและแบบส่วนตัว ผลดีอีกประการหนึ่งที่เด่นชัดชุมชนบำบัดโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น คือการที่ชุมชนมีโอกาสทำหน้าที่เสมือนครอบครัวทดแทนเนื่องจากวัยรุ่นส่วนใหญ่ที่มีปัญหายาเสพติดนั้น มักมีสภาพครอบครัวเดิมที่มีปัญหามากมาย อย่างไรก็ตามระยะเวลาในชุมชนควรสั้นกว่าในกรณีผู้ใหญ่ คือ อยู่ในช่วง 12-18 เดือนและบุคคลากรต้องมีการสอดส่องดูแลและประเมินสมาชิกอย่างใกล้ชิดกว่าในกรณีของผู้ใหญ่ ความหลากหลายของรูปแบบการรักษาเป็นโอกาสให็ผู้เสพติดมีทางเลือกมากขึ้น วิธีการแต่ละแบบอาจะเหมาะกับแต่ละคน จึงต้องพิจารณาเลือกรักษาเป็นราย ๆ ไปเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด |
คุณเข้ามาเยี่ยมชมลำดับที่
ตั้งแต่วันจันทร์ที่
7 ตุลาคม 2545 Copyright(c) 2001 Miss Thanaporn Iamsoponkul. All rights reserved. |