|
|
ค่าย..กับปัญหายาเสพติด ในยุคสมัยที่ปัญหายาบ้าทวีความรุนแรงและชุกชุมอย่างเช่นทุกวันนี้ การบำบัดรายบุคคลซึ่งต้องการทรัพยากรต่าง ๆ ค่อนข้างสูงมีแนวโน้มไม่สามารถตอบสนองต่อการรักษาได้ทันท่วงที รูปแบบการรักษาเป็นกลุ่มซึ่งสามารถประหยัดจำนวนผู้ให้การบำบัดและเวลาได้มากเมื่อเทียบกับการบำบัดรายบุคคลอาเป็นคำตอบที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจากผู้เกี่ยวข้อง นอกจากนี้การบำบัดแบบกลุ่มยังมีข้อดีอีกหลายประการเช่น การได้รับแรงจูงใจและการลดความรู้สึกต่อ"ตราบาป" ของตนจากการมีประสบการณ์ร่วมกันในปัญหายาเสพติด การให้กำลังใจแก่กันและกัน การมีต้นแบบของวิธีการแก้ปัญหาจากสมาชิกกลุ่ม ฯลฯ อย่างไรก็ตามผู้ให้การบำบัดพึงต้องระวังอยู่เสมอว่า แม้ผู้รับการบำบัดจะมีปัญหาร่วมกัน คือการเสพติดแต่ทุกคนจะมีรายละเอียดทั้งในส่วนภูมิหลังและความต้องการที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาประเมินและให้การดูแลผู้รับการบำบัดในรูปแบบรายบุคคลร่วมด้วยเป็นระยะหรือผสมผสานการดูแลดังกล่าวลงในกิจกรรมกลุ่มให้ได้ รูปแบบการบำบัดที่อาศัยหลักการของกระบวนการกลุ่มมีมากมาย นับตั้งแต่กลุ่มบำบัดผู้ป่วยนอก กลุ่มบำบัดผู้ป่วยใน นอกจากนี้ ยังมีการประยุกต์ส่วนหนึ่งของกิจกรรมกลุ่มกับจุดเด่นบางประการของชุมชนบำบัดออกมาเป็นชุมชนบำบัดระยะสั้น หรือค่ายบำบัดยาเสพติด ข้อดีจากกิจกรรมค่ายที่ผู้เสพติดได้รับมีอย่างชัดเจนในเรื่องการละลายพฤติกรรม เป้นจุดเริ่มต้นที่ดี สำหรับผู้เสพติดที่ต้องการแรงจูงใจต่อการเลิกยาเสพติดอย่างจริงจัง การใช้ชีวิตอยู่ในค่ายเป็นโอกาสให้ผู้เสพติดหลุดพ้นออกจากสิ่งแวดล้อมในชีวิตปกติซึ่งอาจเอื้อให้มี การเสพติด นอกจากนี้ กิจกรรมในค่ายยังมีการเสริมสร้างวินัยซึ่งเป็นปัญหาอีกส่วนหนึ่งของผู้เสพติดส่วนใหญ่ขณะเดียวกัน บางส่วนของกิจกรรมยังอาจให้ความรู้สึกผ่อนคลายและบันเทิงได้ด้วย เมื่อพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ ของค่ายแล้ว จะเห็นได้ว่า กิจกรรมค่ายมีข้อเด่นที่มีประโยชน์ต่อผู้เสพติดในหลายประการอย่างไรก็ตาม กิจกรรมค่ายก็มีข้อจำกัดที่พึงตระหนักถึงอยู่มิใช่น้อย ดังนี้ -ค่ายที่ไม่ได้ระบุกลุ่มเป้าหมายชัดเจน หรือมีปะปนกันของกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน อาจเกิดการเหนี่ยวนำกันไปในทิศทางที่แย่ลงได้ เช่น ผู้เริ่มเสพยาอาจถูกผู้เสพติดหรือผู้ค้าที่ปะปนในค่ายชักจูงให้มีการเสพมากขึ้นได้ -การใช้เวลาในค่าย อาจทำให้สมาชิกรู้สึกมีตราบาปในเรื่องยาเสพติด เนื่องจากเป็นภาวะที่ชุมชนยังไม่ยอมรับโดยเฉพาะในค่ายที่ควบคุมให้มีการแต่งกายหรือไว้ทรงผมเฉพาะ -ระยะเวลาการอยู่ในค่าย โดยทั่วไปมักอยู่ในช่วง 1-2 สัปดาห์ ซึ่งเพียงพอเฉพาะแค่ลดอาการอยากยาทางกายเท่านั้น ผู้รับการบำบัดส่วนหนึ่งอาจผ่านกิจกรรมค่ายออกมาด้วยความรู้สึกมั่นใจในตนเองเกินไปโดยไม่คำนึงถึงการเตรียมพร้อมต่อสิ่งแวดล้อมเดิม หรือขาดการติดตามบำบัดรักษาต่อเนื่องซึ่งมีโอกาสกลับไปเสพยาสูงมาก กิจกรรมค่ายจึงอาจเป็นการลงทุนที่สูญเปล่าได้ ข้อเสนอแนะต่อการกิจกรรมค่าย ค่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติด จำเป็นต้องมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายและวัตถุประสงค์ชัดเจน ค่าย ป้องกันยาเสพติดควรมีกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างเจตคติและทักษะที่เหมาะสมในการป้องกันยาเสพติด สำหรับวัยรุ่นที่ไม่ได้ ใช้สารเสพติด เช่น การเสริมสร้างทักษะชีวิต การให้ความรู้ถึงโทษของยา ส่วนการจัดกิจกรรมค่ายสำหรับผู้เสพติด ควรเป็นไปเพื่อสร้างแรงจูงใจในการบำบัดรักษา จึงจำเป้นต้องมีการคัดกรองและส่งต่อผู้เสพติดเข้าสู่กิจกรรมบำบัดรักษา ต่อเนื่องหลังิจกรรมค่ายสิ้นสุดหรือมีการติดตามผู้เสพติดอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาช่วงหนึ่ง ภาวะเสพติดได้รับการยกย่องอย่างเป็นสากลว่า เป้นภาวะของ "โรคเรื้อรัง" ที่ต้องอาศัยระยะเวลาและ ความมุ่งมั่นของผุ้เสพติด ครอบครัวสังคมแวดล้อมตลอดจนผู้ให้การบำบัดรักษาเองที่จะมีบทบาทร่วมกันในการเยียว ยารักษา การมีความรู้เจตคติ และการปฏิบัติที่ถูกต้องบนความร่วมมือของทุกฝ่ายเป้นหนทางเดียวที่จะนำพาไปสู่การ คลี่คลายวิกฤติแห่งปัญหายาเสพติดของสังคมไทยได้
|
คุณเข้ามาเยี่ยมชมลำดับที่
ตั้งแต่วันจันทร์ที่
7 ตุลาคม 2545 Copyright(c) 2001 Miss Thanaporn Iamsoponkul. All rights reserved. |