พระประธานในพระอุโบสถ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายพระนามว่า
"พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" หล่อในรัชกาลที่๒ กล่าวกันว่า
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ทรงปั้นหุ่นพระพักตร์ด้วยพระองค์เอง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓ ศอกคืบ
ประดิษฐานเหนือแท่นไพทีบนฐานชุกชี ที่พระพุทธอาสน์พระประธาน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้อัญเชิญพระบรมอัฐิรัชกาลที่ ๒ มาบรรจุได้
เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๓๘เวลา ๑๖.๐๐ น. เกิดอัคคีภัยไหม้พระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รีบเสด็จพระราชดำเนินมาอำนวยการดับเพลงด้วยพระองค์เอง
และอัญเชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชออกไปได้ทัน
เพลิงไหม้หลังคาพระอุโบสถหมด
จึงโปรดให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์พระอุโบสถให้คือดีดังเดิม และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระบานริศรานุวัดติวงศ์ก็ประทานความเห็นในการซ่อมภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ ให้รักษาของเก่าไว้อย่างดีที่สุดและภาพที่จะเขียนซ่อมใหม่ก็ให้กลมกลืนกับภาพเดิม
โดยรอบพระอุโบสถมีซุ้มใบเสมา ๘ ซุ้ม ในเสมาเป็นใบคู่ทำด้วยหินสลักลวดลายงดงามประดิษฐานอยู่ในซุ้มหินอ่อนทำเป็นรูปบุษบกยอดเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง สูง ๒ วา ๑ ศอกระหว่างซุ้มใบเสมามีสิงโตหินแบบจีนตัวเล็ก ๑๑๒ ตัว ตั้งอยู่บนแท่น มีเหล็กยึดแท่นให้ติดกันโดยตลอด
เว้นแต่ช่องตรงกับบันไดพระอุโบสถ ริมช่องว่างนั้นมีตุ๊กตาหินรูปคนจีนนั่งบนเก้าอี้หน้าสิงโตจีนอีกช่องละ๒ ตัว ๘ ช่องรวมเป็น ๑๖ ตัว หน้าพระระเบียงโดยรอบ
มีตุ๊กตาหินรูปทหารจีนตั้งเรียงเป็นแถวจำนวน
๑๔๔ ตัว และมุมพระอุโบสถทั้ง ๔ มีพระเจดีย์จีนทำด้วยหิน มีซุ้มคูหาตั้งรูปผู้วิเศษ ๘ คน หรือ ที่เรียกว่าโป๊ยเซียนพระเจดีย์มียอดเป็นปล้อง ๆ เรียวเล็กขึ้นไปตามลำดับ คล้ายปล้อง ไฉนแบบพระเจดีย์ไทย มุมละองค์ นอกจากนั้นยังมีช้างหล่อด้วยโลหะ ๘ ตัว
สูงขนาด๑ เมตรเศษ ตั้งอยู่บนแท่นตรง ประตูเข้าออกหน้าพระระเบียง แนวเดียวกับตุ๊กตาทหารจีน ด้านละ ๒ ตัว หันหน้าเข้าพระอุโบสถ ช้างโลหะทั้ง ๘ ตัวนี้มีอิริยาบถไม่เหมือนกัน บางตัวชูงวงบางตัวปล่อยงวง ลง เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้หล่อขึ้น
เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๙ โดยรอบพระอุโบสถมีพระระเบียงหรือพระวิหารคด
มีประตูเข้าออกอยู่กึ่งกลาง พระระเบียงทั้ง ๔ ทิศ
หน้าบัน ประตูทำเป็นรูปนารายณ์ ทรงครุฑ ประดับด้วยลาย
กระหนกลงรักปิดทองงามมาก พระระเบียงเป็นของสร้าง ในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระบานริศรานุวัดติวงศ์ศิลปินเอกของชาติไทยทรงชมเชยไว้ว่า
"พระระเบียงมีอยู่ให้ดูได้บริบูรณ์
ทรวดทรงงามกว่าพระระเบียงที่ไหนหมด เป็นศรีแห่งฝีมือในรัชกาลที่ ๒ ควรชมอย่างยิ่ง
แต่ลายเขียนผนังนั้นเป็นฝีมือในรัชกาลที่ ๓ ทำเพิ่มเติม"
ลายเขียนที่ผนังที่ทรงกล่าวถึงนั้น เขียนเป็นรูปซุ้มเรือนแก้วลายดอกไม้ใบไม้ มีนกยูงแบบจีนคาบอยู่ตรงกลาง พระพุทธรูปในพระระเบียงทั้งหมด เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีรวม ๑๒๐ องค์
ตรงด้านหลังทิศตะวันออกทางที่จะเข้าสู่
พระอุโบสถ มีประตูซุ้มยอดมงกุฎสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นประตูจตุรมุข หลังคา ๓ ชั้น เฉลียงรอบมียอดเป็นทรงมงกุฎ
ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยสลับสี หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ
ช่อฟ้า ใบระกา หัวนาคและหางหงส์ เป็นปูนประดับกระเบื้องถ้วย หน้าบันเป็นปูนประดับกระเบื้องถ้วย
มีลวดลายเป็นใบไม้ดอกไม้ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘
ประตูซุ้มยอดมงกุฎนี้ชำรุดทรุดโทรมมาก
พระยาราชสงคราม ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ถ้าจะโปรดเกล้าฯ
ให้ซ่อมใหม่ก็ต้องใช้เงินถึง ๑๖,๐๐๐ บาท หรือไม่ก็ต้องรื้อเพราะเกรงจะเป็นอันตรายเมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนิน
พระราชทานผ้าพระกฐินวัดนี้ มีพระราชกระแสตอบว่า
"ซุ้มประตูนี้อยากจะให้คงรูปเดิม เพราะปรากฏแก่คนว่า เป็นหลักของบางกอกมาช้านานแล้ว"
อีกตอนหนึ่งทรงว่า "ขอให้ถ่ายรูปเดิมไว้ให้ มั่นคง เวลาทำอย่าให้แปลกกว่าเก่าเลยเป็นอันขาด
อย่าเพ่อให้รื้อจะไปถ่ายรูปไว้เป็นพยาน…" เพราะพระมหากรุณาธิคุณในการทรงอนุรักษ์ศิลปกรรมชิ้นยอดเยี่ยมของชาติชิ้นนี้ไว้ ลูกหลานไทยจึงได้ชื่นชมต่ออัจฉริยะของช่างรุ่นก่อนมาจนทุกวันนี้
ทางรัฐบาลก็เคยนำภาพซุ้มประตูยอดมงกุฎ
มีรูปยักษ์ยืนเฝ้าอยู่ด้านหน้า
๒ ตน ลงพิมพ์ในธนบัตรอยู่สมัยหนึ่ง ที่หน้าประตูซุ้มยอดมงกุฏดังกล่าว มีพญสยักษ์ยืนอยู่
๒ คน มือทั้งสองกุมกระบองยืนอยู่บนแท่น ยักษ์ด้านเหนือสีขาวชื่อ สหัสเดชะ ด้านใต้สีเขียวชื่อทศกัณฐ์
ปั้นด้วยปูน ประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลวดลาย
รูปลักษณะและเครื่องแต่งตัว
สร้างแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ตรัศว่าเป็นฝีมือปั้นของหลวงเทพรจนา
(กัน) และเป็นเหตุให้เกิดการปั้นรูปยักษ์ยืนในวัดพระศรีรัตนศาสดารามในเวลาต่อมา
|