ที่มาของชื่อวัดอรุณราชวราราม

     

Homeคำว่ารายชื่อวัดแหล่งข้อมูล

nonkkwank@yahoo.com,chsorange@yahoo.com

 

 

 

ที่มาของชื่อวัดอรุณราชวราราม

 

        วัดอรุณราชวราราม   เดิมเรียกว่า "วัดมะกอก" ภายหลังเปลี่ยนเป็น  "วัดมะกอกนอก" แล้วเปลี่ยนเป็น "วัดแจ้ง","วัดอรุณราชธาราม" และ "วัดอรุณราชวราราม"    โดยลำดับ ปัจจุบันเรียก "วัดอรุณราชวราราม  "มูลเหตุที่เรียกชื่อวัดนี้มาแต่เดิมว่า "วัดมะกอก" นั้น สันนิษฐานว่า คงจะเรียกคล้าย ตามชื่อตำบลที่ตั้งวัด ซึ่งสมัยก่อนมี ชื่อเรียกว่า  "บางมะกอก" เมื่อนำมาเรียกรวมกับคำว่า "วัด" ในตอนแรก ๆ คงเรียกว่า "วัดบางมะกอก"  ภายหลังเสียงหดลง คงเรียกสั้น ๆ ว่า "วัดมะกอก" ตามคติเรียก ชื่อวัดไทยในสมัยโบราณ เพราะชื่อวัดที่แท้จริงมักจะไม่มี จึงเรียกชื่อวัดตามตำบลที่ตั้ง เช่น วัดบางลำพู, วัดปากน้ำ เป็นต้น ต่อมาเมื่อได้สร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกันนี้ แต่อยู่ลึก เข้าไปในคลองบางกอกใหญ่  ชาวบ้านเรียกชื่อวัดที่สร้างใหม่ว่า "วัดมะกอกใน" แล้วเลยเรียก วัดมะกอกเดิม ซึ่งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ว่า    "วัดมะกอกนอก" เพื่อให้ทราบว่าเป็นคนละวัดกัน

        ส่วนที่เปลี่ยนเป็นเรียกว่า    "วัดแจ้ง" นั้น เล่ากันว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยาสำเร็จเรียบร้อยในปี    พ.ศ. ๒๓๑๐ แล้ว มีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงธนบุรีจึงเสด็จกรีฑาพลล่องมาทางชลมารคพอถึงหน้าวัดนี้ก็ได้เวลาอรุณ หรือรุ่งแจ้งพอดี ทรงพระราชดำริเห็นเป็นอุดมมหามงคลฤกษ์ จึงโปรดให้เทียบเรือพระที่นั่งที่ท่าน้ำ เสด็จขึ้นไปทรงสักการะบูชาพระมหาธาตุ ขณะนั้นสูงประมาณ ๘ วา ซึ่งประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหน้าวัด แล้วเลยเสด็จประทับแรมที่ศาลาการเปรียญใกล้ร่มโพธิ์ ต่อมาได้โปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัด แล้วเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็น"วัดแจ้ง" เพื่อให้เหมาะสมกับเหตุการณ์

        ชื่อ "วัดแจ้ง" นี้ มีเรื่องสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทูลสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ไว้ว่า  "หม่อมฉันเคยเห็นแผนที่เมืองธนบุรีที่ฝรั่งเศสทำเมื่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ในแผนที่นั้นมีแต่วัดเลียบกับวัดแจ้ง  เวลานั้นยังเป็นชานป้อมใหญ่ ซึ่งอยู่ราวโรงเรียนราชินี เพราะฉะนั้นวัดโพธิ์เป็นวัดสร้างเมื่อล่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มาแล้ว

        จากหลักฐานนี้ อาจสันนิษฐานได้ว่า วัดแจ้งมีมาก่อนที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะทรงย้ายราชธานีมายังกรุงธนบุรี ตามเรื่องที่ได้กล่าวมาแล้วและชาวฝรั่งเศสผู้ได้ทำแผนที่เมืองธนบุรี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชคือ เรือเอก เดอ ฟอร์ปัง กับนายช่าง เดอ ลามาร์

         การปฏิสังขรณ์วัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงกระทำมาตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร  และยังทรงประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมนั้น ได้สำเร็จลงไปต้นปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๖๓ สมัยรัชกาลที่  ๒ จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการฉลองแล้วพระราชทานชื่อวัดใหม่    ว่า "วัดอรุณราชธาราม"

        ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้บูรณะปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีก  แล้วทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดอรุณราชวราราม" ดังที่เรียกกันจนถึงปัจจุบัน

 

คุณเข้ามาเยี่ยมชมลำดับที่

ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2545
www.thaigoodview.com
บริหารและจัดการโดยทีมงานชาวมัธยมศึกษา
e-mail :
thaigoodview@hotmail.com
ICQ : 82032264

Copyright(c) 2001 Waleerat Thaweebanchongsin,Chanokporn Sathaporncharearnchai. All rights reserved.