ด้วยการเพาะแบบรวมฝูงดังนั้นในการปฏิบัติการแคะลูกปลาจึงมีโอกาสได้ลูกปลา 3 ลักษณะด้วยกันเพราะการผสมพันธุ์มีความแตกต่างของเวลา แต่การแคะลูกทำพร้อมกันทุกตัวที่อมไข่และอยู่ในบ่อเดียวกัน ดังนั้นจึงมีการอนุบาลที่แตกต่างกันดังนี้ 1. ลักษณะเป็นไข่กลมสีเหลือง มีลูกตา 2 จุด มีหางโผล่เล็กน้อย เคลื่อนไหวได้ อายุไข่ประมาณ 7 - 8 วัน เป็นระยะแรกที่สามารถแคะลูกได้ปลอดภัย เมื่อนำมาอนุบาลต่อ ในระยะนี้ จะได้ลูกปลาจำนวนมาก แต่ต้องนำมาปั่นออกซิเจนต่อประมาณ 2-3 วัน ไข่ก็จะฟักเป็นตัวที่มีถุงไข่แดงติดอยู่ที่ท้อง ตามฟาร์มปลาที่มีความอุปกรณ์พร้อม เวลา และทำเป็นอาชีพ มักแคะลูกปลาระยะนี้ เพราะเมื่อแม่ปลาปล่อยไข่แล้ว จะกินอาหารได้ ร่างกายสู่สภาพปกติ จะอมไข่ใหม่ได้เร็วขึ้น
2. ลักษณะเป็นลูกปลาที่ว่ายได้ แต่มีถุงไข่แดงกลมสีเหลืองอยู่ที่ท้อง การแคะลูกปลาระยะนี้ จำนวนลูกปลาที่ได้ยังมากอยู่ ลูกปลามีถุงไข่แดงไม่ต้องการอาหาร เพราะจะใช้อาหารจากถุงไข่แดงในการดำรงชีวิต ต้องนำมาปั่นออกซิเจนหรือให้อากาศจนกว่าถุงไข่แดงจะหมดไป ใช้เวลาประมาณ2-3 วัน เมื่อถุงไข่แดงหมดไปแล้ว นำลงบ่ออนุบาล หาอาหารที่เหมาะสมให้กิน ซึ่งที่ดีที่สุดคือ ไรแดงหรือไรฝุ่น แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่ไม่สามารถหาลูกไรได้ ให้เตรียมบ่อที่มีตะไคร่น้ำบางๆไว้รองรับลูกปลาเพราะตะไคร่น้ำก็เป็นอาหารปลาชนิดหนึ่ง พร้อมให้อาหารปลาสำเร็จรูปปั้นก้อน วางกระจายเป็นจุดเล็กๆ ควบคู่ไปได้เลย ลูกปลาที่มีถุงไข่แดงติดท้อง อย่าขังรวมกับลูกปลาที่ไม่มีถุงไข่แดง เพราะถุงไข่แดงจะถูกตอดจากปลากลุ่มที่ถุงไข่แดงหมดไปแล้วทำให้ตาย จึงต้องแยกออกจากกัน
3.ลักษณะลูกปลาที่ได้ ว่ายน้ำได้ ปราดเปรียว แข็งแรง ไม่มีถุงไข่แดงติดท้อง เป็นลูกปลาที่การอนุบาลง่ายที่สุด พร้อมให้ไรแดงได้เลยเพราะดีที่สุด แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่ไม่สะดวกในการจัดหา ให้ปล่อยลงบ่ออนุบาลที่มีตะไคร่น้ำประปราย ให้อาหารสำเร็จรูปปั้นก้อน แต่ในระยะนี้ ในบางครั้งจะได้ลูกปลา จำนวนน้อยเพราะแม่ปลาจะปล่อยลูกบางส่วนออกมาก่อนแคะซึ่งก็จะเป็นเหยื่อของปลาตัวอื่นๆในบ่อเดียวกันหรือบางครั้งแม่ตกใจ ถูกรบกวนจากสิ่งแวดล้อมอาจกลืนลงคอไปบ้างลูกปลาที่ได้ในระยะนี้ แม่ปลาจะผอมหัวโตเพราะไม่ได้กินอาหาร 14 – 15 วัน
การให้อาหารลูกปลา ไรแดงเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับการอนุบาลลูกปลาในระยะแรกเกิด - อายุ 1 เดือน ในระยะ 2-3 วันแรก ให้ไรแดงวันละ 3-4 ครั้งเป็นระยะ ทีละน้อยๆ หลังจากนั้นให้ 2 เวลา เช้าเมื่อมีแสงแดดแล้วและ เย็นก่อนหมดแสงแดด 2 ชั่วโมง แต่ถ้าในพื้นที่ที่ไม่มีไรแดง ควรเตรียมบ่อที่มีตะไคร่น้ำที่มีชีวิต(มีลักษณะสดชื่นสีเขียว) แต่ไม่หนาแน่น นำลูกปลาลงปล่อยในบ่ออนุบาลนี้ ใช้อาหารสำเร็จรูปปลาดุกวัยอ่อนที่มีโปรตีนสูงประมาณ 40 เปอร์เซนต์ขึ้นไป (ไฮเกรด ) แช่น้ำให้พออืด ปั้นเป็นก้อนเหนียว วางเป็นจุดๆเลี้ยงแทนได้แต่เมื่อปลาอายุ 1 เดือนสามารถใช้อาหารปลาดุกเล็กมีโปรตีนประมาณ 32-35 เปอร์เซนต์ขึ้นไป ปั้นก้อนในการเลี้ยงแทนอาหารปลาดุกวัยอ่อน เพื่อลดต้นทุนการผลิตเพราะราคาต่างกันเป็นเท่าตัว และเมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไป ค่อยๆโปรยอาหารเม็ดปลาดุกเล็ก ฝึกให้กินอาหารเม็ดที่ผิวน้ำ เพื่อลดขั้นตอนและความยุ่งยากในการให้อาหารลงไป การใช้อาหารสำเร็จรูปในการเลี้ยงแทนไรแดง จะใช้เวลาในการเลี้ยงนานกว่าปลาที่ได้รับไรแดงเป็นอาหารเล็กน้อย โดยเฉพาะปลาหอมขาวการให้กินไรแดงกับการให้กินอาหารสำเร็จรูปปั้นก้อนไม่มีความแตกต่างของทรงตัว และสีสัน สามารถจำหน่ายได้ทุกตัว
อาหารแช่น้ำ ปั้นก้อน ในกรณีที่สามารถหาไรแดงให้กินบ้าง บางครั้งบางคราว ควรระวังการให้ ต้องให้ทีละน้อยๆและห่างเวลากัน ไม่เช่นนั้น ปลาจะกินจนท้องแตกตาย เมื่ออนุบาลปลาไประยะหนึ่งถ้าปลามีความแตกต่างขนาดกัน ควรมีการคัดขนาดใกล้เคียงกันให้อยู่ด้วยกัน จะได้โตไปพร้อมกัน ไม่รังแกและแย่งอาหารที่ตัวเล็กกว่า ถ้ามีการอนุบาลด้วยอาหารสด ลูกปลาไม่หนาแน่นมาก และไม่ใช่ฤดูหนาวโดยเฉลี่ยปลาขนาด 1 นิ้วที่เริ่มขายได้จะใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ 60 วัน แต่การเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปปั้นก้อน ฤดูหนาวจะใช้เวลาการเลี้ยงเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย
น้ำกับการอนุบาลลูกปลา ใช้น้ำชนิดเดียวกับที่เตรียมไว้สำหรับเลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ แต่มีระดับความสูงประมาณ 15-20 ซม. เพราะปลายังเล็กอยู่ ลูกปลาที่อนุบาลจะเปลี่ยนถ่ายน้ำ 2 วันต่อครั้ง เนื่องจากการให้อาหารค่อนข้างถี่ น้ำจะเสียง่าย การถ่ายน้ำในขณะที่ลูกปลายังเล็ก ถ้าขาดการระมัดระวังลูกปลาจะถูกดูดออกมาด้วย แต่ถ้าใช้ “ตัวน้อยร้อยรู” ในการถ่ายน้ำ จะทำให้ไม่เกิดปัญหาดังกล่าว
หมายเหตุ เป็นอุปกรณ์ที่ครูและนักเรียนร่วมคิดและร่วมสร้างขึ้น เพื่อแก้ปัญหาในการทำงานและให้ชื่อว่า “ตัวน้อยร้อยรู”
BACK
|