|
[Home][ประวัติผู้จัดทำ][ประวัติกล้วยไม้ไทย][ลักษณะทั่วไป][การจำแนกกล้วยไม้][กล้วยไม้สกุลต่าง ๆ][วิธีการปลูกกล้วยไม้][การให้น้ำและปุ๋ย][การขยายพันธ์][โรคและแมลง]
|
|
สำรวจกล้วยไม้ป่ากับนักวิจัยในแม่ฮ่องสอน "... ความสวยงามของดอกเอื้องยังได้ถูกนำมาใช้เปรียบเปรยกับผู้หญิงทางเหนือที่มีลักษณะที่สวยงามอ่อนช้อย นุ่มนวลและเป็นที่ปรารถนาของชายต่างถิ่น ในระยะหลังชื่อเสียงของกล้วยไม้ได้แพร่หลายและเป็นที่ต้องการของนักสะสมกล้วยไม้ จึงทำให้มีการเข้าป่าไปเก็บกล้วยไม้เพื่อนำมาขายเป็นจำนวนมาก ผนวกกับพื้นที่ป่าที่เคยสมบูรณ์ชุ่มชื้นก็ถูกบุกรกทำลาย ต้นกล้วยไม้ป่าบางชนิดสูญพันธุ์ไปพร้อมกับต้นไม้ที่ถูกโค่น" ประเทศไทยเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของกล้วยไม้ป่าเขตร้อน เคยมีนักสำรวจค้นพบพันธุ์กล้วยไม้ป่าทั่วประเทศได้ถึง 999 ชนิดใน 145 สกุล ในจำนวนนั้นเป็นกล้วยไม้ป่าที่พบในภาคเหนือถึง 597 ชนิด และในปีพ.ศ. 2540 มีรายงานว่าได้พบเพิ่มมากขึ้นอีกเป็น 1,140 ชนิดใน 167 สกุล การที่นักสำรวจค้นพบกล้วยไม้ป่าทางภาคเหนือเป็นจำนวนมากนั้น เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศและอากาศเหมาะแก่การเจริญเติบโตของต้นกล้วยไม้ป่า ในขณะที่คนทางภาคเหนือมีความผูกพันกับกล้วยไม้ป่ามานาน มีการใช้ดอกกล้วยไม้มาประดับในงานพิธีต่างๆ เช่น งานแต่งงาน ,งานต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ฯลฯ จนกระทั่งกล้วยไม้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมพื้นบ้านของคนเหนือไปเสียแล้ว ซึ่งเมื่อเวลาที่เดินทางไปภาคเหนือเราจะสามารถพบเห็นต้นกล้วยไม้เกาะกิ่งอยู่กับต้นไม้ใหญ่ในแทบทุกที่ คนทางภาคเหนือนิยมเรียกชื่อของกล้วยไม้ว่า ดอกเอื้อง ความสวยงามของดอกเอื้องยังได้ถูกนำมาใช้เปรียบเปรยกับผู้หญิงทางเหนือที่มีลักษณะที่สวยงามอ่อนช้อย นุ่มนวลและเป็นที่ปรารถนาของชายต่างถิ่น ในระยะหลังชื่อเสียงของกล้วยไม้ได้แพร่หลายและเป็นที่ต้องการของนักสะสมกล้วยไม้ จึงทำให้มีการเข้าป่าไปเก็บกล้วยไม้เพื่อนำมาขายเป็นจำนวนมาก ผนวกกับพื้นที่ป่าที่เคยสมบูรณ์ชุ่มชื้นก็ถูกบุกรกทำลาย ต้นกล้วยไม้ป่าบางชนิดสูญพันธุ์ไปพร้อมกับต้นไม้ที่ถูกโค่น แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดหนึ่งที่อยู่ติดชายแดนประเทศพม่า ถนนหนทางที่เข้าสู่จังหวัดนี้คดเคี้ยวไปตามไหล่เขา ใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นผลที่สามารถซ่อนป่าไม้ไว้ไม่ให้ถูกทำลายลง สมญานามของแม่ฮ่องสอนนอกจากจะเป็นเมืองสามหมอก ที่ถูกปกคลุมไปด้วยหมอกสามฤดูคือ หมอกควันจากไฟป่าในหน้าร้อน หมอกฝนในหน้าฝนและไอหมอกในหน้าหนาวแล้ว แม่ฮ่องสอนยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองกลางป่าที่มีเทือกเขาสลับซับซ้อนล้อมรอบ มีความงดงามทางธรรมชาติ ผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาวเขาที่ผูกพันอยู่กับป่า แม่ฮ่องสอนจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนใครจะเป็นที่ประทับสำหรับนักท่องเที่ยวทุกครั้งที่มาเยือน แม่ฮ่องสอนนอกจากจะได้ชื่อมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอยู่มากมายแล้ว พันธุ์ไม้ป่าหายากที่ไม่เคยพบที่ใดมาก่อนก็สามารถพบที่นี้ ดังนั้นตลอดเวลาที่ผ่านจึงมีนักสำรวจเดินทางเข้าออกเพื่อสำรวจพันธุ์ไม้ป่า โดยเฉพาะชื่อเสียงของกล้วยไม้ป่าที่นี่ไม่อาจทำให้นักวิจัยพันธุ์กล้วยไม้ป่าอย่าง ผศ.จิตราพรรณ พิลึก อาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อดรนทนนิ่งได้ จึงเดินทางเข้ามาสำรวจและทำวิจัยเรื่อง การอนุรักษ์กล้วยไม้ป่าเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา การวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานภาค (สกว.ภาค) โดยเลือกบ้านห้วยฮี้ซึ่งเป็นหมู่บ้านของปกาเกอะญอ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ใกล้กับดอยปุยหลวง เป็นพื้นที่ในการสำรวจ อาจารย์จิตราพรรณ กล่าวว่า กล้วยไม้ป่าที่พบในบริเวณดอยปุยหลวง จากการสำรวจพบถึง 150 ชนิดใน 56 สกุลและยังจำแนกไม่ได้อีก 22 ชนิด ส่วนที่บ้านห้วยฮี้พบกล้วยไม้ถึง 92 ชนิด และยังพบกล้วยไท้ชนิดต่างๆในบางหมู่บ้าน เช่นที่บ้านห้วยเสือเฒ่า 31 ชนิด บ้านถ้ำลอด 62 ชนิด นอกจากนี้คณะสำรวจยังได้พบกล้วยไม้รองเท้านารีอีก 2 ชนิด การสำรวจกล้วยไม้ป่าของกลุ่มดังกล่าวมีแผนการทำงานออกเป็น 5 ขั้นตอนคือ เริ่มจากทำการสำรวจและจำแนกชนิดของกล้วยไม้ป่าร่วมกับชาวบ้าน เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิจัยกับชาวบ้าน นอกจากนั้นยังมีการจัดเส้นทางเดินป่าสำหรับนักท่องเที่ยวตามเส้นทางแต่ละหมู่บ้าน ส่วนกล้วยไม้ป่าหายากที่สำรวจพบระหว่างเส้นทางก็จะนำมาให้ชาวบ้านเพาะพันธุ์และทดลองเลี้ยง ทั้งนี้เพื่อให้ชาวบ้านได้เข้าใจในกระบวนการขยายพันธุ์ เกิดความรักและหวงแหนและช่วยกันดูแลไม่ให้ใครมาเก็บออกไปจากป่า โดยเฉพาะดอกเอื้องคำ ซึ่งเป็นกล้วยไม้ป่าของแม่ฮ่องสอนที่ชาวบ้านนิยมปลูกเลี้ยง ดอกจะบานในเดือนมกราคมจนถึงเดือนเมษายน ชาวแม่ฮ่องสอนนิยมใช้ดอกเอื้องคำมาประดับในงานบุญปอยส่างลอง ปัจจุบันจำนวนของเอื้องคำในป่าลดน้อยลงมาก ในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของบ้านห้วยฮี้ มีการจัดเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติขึ้นสู่ยอดดอยปุยหลวง ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,645 เมตร ในช่วงฤดูหนาวจะมีอากาศหนาวเย็น นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางขึ้นไปค้างแรมบนยอดดอยได้ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่สามารถเดินขึ้นไปถึงยอด ทางหมู่บ้านยังมีเส้นทางตามแนวถนนที่ผ่านป่า มีพันธุ์ไม้ กล้วยไม้ป่าและเฟินหลากหลายชนิดไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษา นอกจากนั้นที่บ้านห้วยฮี้ยังมีบ้านพักสำหรับผู้ที่ต้องการจะสัมผัสวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอในแบบ โฮมสเตย์ ราคาค่าที่พักเพียงคืนละ 100 บาทเท่านั้น. ขอขอบคุณ.....
ผู้เรียบเรียง....จักรพงษ์ คำบุญเรือง 22/1/45
|
จัดทำโดยครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย
กรุงเทพมหานคร
Copyright(c) 2005
Mr.Poonsak Sakkatatiyakul. All rights reserved.