วัดสุทัศน์เทพวราราม
เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร
ตั้งอยู่ที่ถนนตีทอง และถนนบำรุงเมือง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
รัชกาลที่ ๑ มีพระราชประสงค์ ที่จะทำนุบำรุงกรุงรัตนโกสินทร์
ให้เจริญรุ่งเรือง เหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงสร้างวัดกลางพระนครใกล้เสาชิงช้าใน พ.ศ. ๒๓๕๐ สำหรับประดิษฐานพระโต
หรือ พระศรีศากยมุนี ซึ่งทรงตั้งพระทัยจะสร้างให้ใหญ่เท่าวัดพนัญเชิงที่กรุงเก่า จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้น และอัญเชิญพระโต
พระพุทธรูปหล่อสมัยสุโขทัย มาแต่วิหารหลวง วัดมหาธาตุ
จังหวัดสุโขทัยมาไว้ที่วัดนี้ และทรงขนานนามว่า "วัดมหาสุทธาวาส"
แต่ทรงสร้างค้างไว้เพียงรากพระวิหารหลวง ครั้นตั้งพระพุทธรูปไว้เรียบร้อยก็เสด็จสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าให้สร้างต่อ โดยสร้างพระวิหารกับบานประตูกลางจำหลัก
เริ่มด้วยฝีพระหัตถ์ ค้างอยู่ก็เสด็จสวรรคต
ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างพระวิหารจนสำเร็จ และสร้างเพิ่มเติมใหม่หมดทั้งวัด
ทรงขนานนามพระพุทธรูปในพระวิหารว่า พระศรีศากยมุนี
และพระพุทธรูปในพระอุโบสถว่า พระตรีโลกเชษฐ และพระราชทานนามวัดว่า
วัดสุทัศนเทพวราราม
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการปฏิสังขรณ์
อีกครั้งหนึ่ง วัดนี้จึงได้รับการยกย่องว่ามีการวางผังได้สัดส่วนงดงามที่สุด
ภายในวิหาร
เป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยโลหะ หน้าตักกว้าง
๓วา ๑ คืบ เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งของไทยมีพุทธลักษณะงดงาม เดิมประดิษฐานอยู่ที่พระวิหารหลวง
วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย หล่อขึ้นในสมัย พระมหาธรรมราชาลิไทย
รัชกาลที่ ๑ ทรงเห็นว่า ถ้าทิ้งไว้ที่เดิมก็จะต้องตากแดด
ตากฝน ทำให้ชำ-รุด จึงอัญเชิญมายังกรุงเทพเพื่อประดิษฐานไว้ยังพระนคร
ที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพระพุทธบัลลังก์
พระศรีศากยมุนี เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร ของสมเด็จพระปรเมนมหาอานันทมหิดล
รัชกาลที่ ๘ ซึ่งโปรดเกล้าให้อัญเชิญมาบรรจุไว้เมื่อ
วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓
|