ลักษณะของภาวะมลพิษทางน้ำ 1.
น้ำที่มีสารอินทรีย์ปนอยู่มาก
จุลินทรีย์ที่มีอยู่ก็จะมีการเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วโดยมีการใช้ออกซิเจน
จึงมีผลทำให้ปริมาณออกซิเจนละลายอยู่ในน้ำเหลือน้อย ในบางครั้งจะเห็นน้ำมีสีดำคล้ำ
และส่งกลิ่นเหม็น
เนื่องจากการย่อยสลายของแบคทีเรียชนิดที่ไม่ใช้ออกซิเจนมีการปล่อยก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์
หรือก๊าซไข่เน่าออกมา 2. น้ำที่มีเชื้อโรคหรือจุลินทรีย์ ได้แก่
เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ โปรโตซัว เชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ เช่น
โรคทางเดินอาหาร โรคตับ โรคพยาธิและโรคผิวหนัง เป็นต้น 3.
น้ำที่มีคราบน้ำมันหรือไขมันเจือปนในปริมาณมากจะเป็นอุปสรรคต่อการถ่ายเทออกซิเจนลงสู่แหล่งน้ำ
หรือการดำรงชีวิตของสัตว์และพืชน้ำ 4. น้ำที่มีเกลือละลาย
ซึ่งอาจละลายจากดินลงมาหรือน้ำทะเลไหลซึมเข้ามาเจือปนจนน้ำเสื่อมคุณภาพไม่เหมาะในการใช้อุปโภค
บริโภคหรือการเกษตรกรรม 5. น้ำที่มีสารพิษเจือปน เช่น สารประกอบของปรอท
ตะกั่ว แคดเมียม สารหนู
เมื่ออยู่ในระดับอันตรายจะส่งผลต่อสัตว์น้ำและคนได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น
บริโภคพืชผัก สัตว์น้ำ 6. น้ำที่มีสารกัมมันตภาพรังสีเจือปน
อาจเกิดขึ้นได้จากธรรมชาติจากการสลายตัวของแร่หินหรือเกิดจากโรงงานนิวเคลียร์ปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ 7.
น้ำที่มีสารแขวนลอย ได้แก่ น้ำที่มีสิ่งต่างๆ แขวนลอยอยู่จำนวนมาก
ทำให้น้ำมีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เกี่ยวกับความโปร่งแสง สี เป็นต้น 8.
น้ำที่มีอุณหภูมิสูง
ส่วนใหญ่เกิดจากการระบายน้ำหล่อเย็นจากโรงงานอุตสาหกรรมลงสู่แหล่งน้ำ
ซึ่งอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต
และการแพร่พันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในน้ำ
|