ไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ทั้งที่ใช้ทั่วไปตามบ้านเรือน หรือสถานที่ต่างๆ นั้น แทบทั้งหมดจะถูกผลิตขึ้นจากหลักการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยวิธีการเหนี่ยวนำ ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าแบบนี้ เรามักจะคุ้นกับชื่อของ ไดนาโม
คำถาม ไดนาโมคืออะไร มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร แล้วมันทำงานได้อย่างไร
คำตอบ ต้องตอบคำถามแยกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ไดนาโม คือ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยวิธีการเหนี่ยวนำทางไฟฟ้า ซึ่งอาศัยหลักการที่ว่าเมื่อขดลวดเคลื่อนที่ตัดผ่านสนามแม่เหล็กจะเกิดกระแสไฟฟ้าเหนี่ยวนำขึ้นในขดลวดนั้น (เราสามารถกลับไปดูเรื่องราวการค้นพบทางไฟฟ้าของ ไมเคิล ฟาราเดย์ ที่หน้า ประวัติการค้นพบทางไฟฟ้า)
ประเด็นที่ 2 และ 3 รูปร่างหน้าตาของไดนาโมมีหลายแบบ แต่มีหลักการเดียวกันคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ขดลวดเคลื่อนที่ตัดผ่านสนามแม่เหล็ก (ซึ่งเป็นไปตามกฏการเหนี่ยวนำของไมเคิล ฟาราเดย์) ดังรูป
ข้อสรุป ไดนาโมประกอบด้วยส่วนที่สำคัญ 2 ส่วน คือ แม่เหล็ก และขดลวดเหนี่ยวนำ โดยเมื่อขดลวดเคลื่อนที่ตัดผ่านสนามแม่เหล็ก จะทำให้เกิดการไหลของประจุไฟฟ้าในขดลวดเหนี่ยวนำ ซึ่งก็คือ กระแสไฟฟ้านั่นเอง ทั้งนี้กระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้น จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนขดลวดที่พันรอบ ความแรงของสนามแม่เหล็ก และความเร็วรอบในการเคลื่อนที่ของขดลวด
|