เอกภาพ  
หมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขององค์ประกอบศิลป์ทั้งด้านรูปลักษณะ
และด้านเนื้อหาเรื่องราว  เป็นการประสานหรือจัดระเบียบของส่วนต่าง ๆ
ให้เกิดความเป็น หนึ่งเดียว เพื่อผลรวมอันไม่อาจแบ่งแยกส่วนใดส่วนหนึ่งออกไป
การสร้างงานศิลปะ คือ  การสร้างเอกภาพขึ้นจากความสับสน  ความยุ่งเหยิง  เป็นการจัดระเบียบ
และดุลยภาพ ให้แก่สิ่งที่ขัดแย้งกันเพื่อให้รวมตัวกันได้ โดยการเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆให้สัมพันธ์กัน เอกภาพของงานศิลปะ มีอยู่  2 ประการ คือ



 1. เอกภาพของการแสดงออก หมายถึง การแสดงออกทีมีจุดมุ่งหมายเดียว แน่นอน และมีความเรียบง่าย  งานชิ้นเดียวจะแสดงออกหลายความคิด หลายอารมณ์ไม่ได้ จะทำให้สับสนขาดเอกภาพ  และการแสดงออกด้วยลักษณะเฉพาตัวของศิลปินแต่ละคน ก็สามารถทำให้เกิดเอกภาพแก่ผลงานได้

 2. เอกภาพของรูปทรง คือ การรวมตัวกันอย่างมีดุลยภาพ และมีระเบียบขององค์ประกอบทางศิลปะเพื่อให้เกิดเป็นรูปทรงหนึ่ง ที่สามารถแสดงความคิดเห็นหรืออารมณ์ของศิลปิน ออกได้อย่างชัดเจน เอกภาพของรูปทรงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดต่อความงามของผลงานศิลปะ เพราะเป็นสิ่งที่ศิลปินใช้เป็นสื่อในการแสดงออกถึงเรื่องราว ความคิด และอารมณ์  ดังนั้น กฎเกณฑ์ในการสร้างเอกภาพในงานศิลปะเป็นกฎเกณฑ์เดียวกันกับธรรมชาติ  ซึ่งมีอยู่ 2  หัวข้อ  คือ
 1. กฎเกณฑ์ของการขัดแย้ง (Opposition) มีอยู่ 4 ลักษณะ คือ
          1.1 การขัดแย้งขององค์ประกอบทางศิลปะแต่ละชนิด  และรวมถึงการขัดแย้งกันของ
  องค์ประกอบต่างชนิดกันด้วย
          1.2 การขัดแย้งของขนาด
          1.3 การขัดแย้งของทิศทาง
          1.4 การขัดแย้งของที่ว่างหรือ จังหวะ
 2. กฎเกณฑ์ของการประสาน (Transition) คือ การทำให้เกิดความกลมกลืนให้สิ่งต่างๆ  เข้ากันด้อย่างสนิท     เป็นการสร้างเอกภาพจากการรวมตัวของสิ่งที่เหมือนกันเข้าด้วยกัน
การประสานมีอยู่  2   วิธี  คือ
          2.1 การเป็นตัวกลาง (Transition) คือ  การทำสิ่งที่ขัดแย้งกันให้กลมกลืนกันด้วยการใช้ตัวกลางเข้าไปประสาน  เช่น สีขาว กับสีดำ ซึ่งมีความแตกต่างขัดแย้งกันสามารถทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีเอกภาพ   ด้วยการใช้สีเทาเข้าไปประสาน ทำให้เกิดความกลมกลืนกันมากขึ้น
          2.2 การซ้ำ (Repetition)  คือ การจัดวางหน่วยที่เหมือนกันตั้งแต่ 2 หน่วยขึ้นไป  เป็น
  การสร้างเอกภาพที่ง่ายที่สุด แต่ก็ทำให้ดูจืดชืด น่าเบื่อที่สุด
      
        นอกเหนือจากกฎเกณฑ์หลักคือ การขัดแย้งและการประสานแล้ว ยังมีกฎเกณฑ์รองอีก 2 ข้อ คือ
   1. ความเป็นเด่น (Dominance)  ซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ
      1.1 ความเป็นเด่นที่เกิดจากการขัดแย้ง ด้วยการเพิ่ม หรือลดความสำคัญ   ความน่าสนใจ
  ในหน่วยใดหน่วยหนึ่งของคู่ที่ขัดแย้งกัน
      1.2 ความเป็นเด่นที่เกิดจากการประสาน

  2. การเปลี่ยนแปร (Variation) คือ การเพิ่มความขัดแย้งลงในหน่วยที่ซ้ำกัน เพื่อป้องกัน
  ความจืดชืด น่าเบื่อ ซึ่งจะช่วยให้มีความน่าสนใจมากขึ้น การเปลี่ยนแปรมี  4  ลักษณะ คือ
      2.1 การปลี่ยนแปรของรูปลักษณะ
      2.2 การปลี่ยนแปรของขนาด
      2.3 การปลี่ยนแปรของทิศทาง
      2.4 การปลี่ยนแปรของจังหวะ
                 การเปลี่ยนแปรรูปลักษณะจะต้องรักษาคุณลักษณะของการซ้ำไว้ ถ้ารูปมีการเปลี่ยนแปรไปมากการซ้ำก็จะหมดไป  กลายเป็นการขัดแย้งเข้ามาแทน และ ถ้าหน่วยหนึ่งมีการเปลี่ยนแปรอย่างรวดเร็ว   มีความแตกต่างจากหน่วยอื่น ๆ มาก  จะกลายเป็นความเป็นเด่น  เป็นการสร้างเอกภาพด้วยความขัดแย้ง

ข้อมูลจาก : http://www.prc.ac.th/newart/webart/composition05.html