ขอบข่ายของศิลปะ

              ศิลปะมีหลายแขนงกว้างใหญ่ไพศาลมากในที่นี้เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษาจึงขอแยกศิลปะออกเป็นแขนงต่างๆ ดังต่อไปนี้

1.วิจิตรศิลป์  เป็นงานศิลปะที่เน้นความงามและทักษะฝีมือเป็นหลัก เป็นสิ่งที่สนองความต้องการทางใจ หรือเรียก พุทธิปัญญา แบ่งออกเป็น 3 แขนงใหญ่ๆตามการรับรู้ ดังนี้
          1.1 ทัศนศิลป์  (Visual  Art)  คือ  ศิลปะที่รับรู้คุณค่าความงามด้วยการสัมผัสทางการมองเห็น เช่น งานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และสถาปัตยกรรม
          1.2 จินตศิลป์ (Imagination Art)  คือ ศิลปะที่รับรู้แล้วเกิดจินตนาการอย่างต่อเนื่อง  ทำให้รับรสสุนทรีย์ได้อย่างสมบูรณ์ เช่น ดนตรี วรรณกรรม ซึ่งบางครั้งไม่ต้องมองเห็น ไม่ต้องอ่านด้วยตนเอง ฟังคนอื่นอ่านก็ได้สุนทรียรสแล้ว
          1.3 ศิลปะผสม (Mixed  Art)   คือ  ศิลปะที่ต้องใช้ประสาทสัมผัสรับรู้ร่วมกัน เช่น นาฏศิลป์ ภาพยนตร์ ซึ่งใช้ทั้งประสาทหูและตารับรู้พร้อมกัน

2.ประยุกต์ศิลป์              เป็นงานศิลปะที่มุ่งเน้นด้านประโยชน์ใช้สอยควบคู่ไปกับความงาม เพื่อสนองความต้องการทางกาย และการดำเนินชีวิตประจำวัน  ตัวอย่างเช่น  เสื้อผ้าสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการสวมใส่ห่อหุ้มร่างกาย   แต่ปัจจุบันเสื้อผ้ามีการพัฒนารูปแบบ และลายให้เป็นไปตามสมัยนิยมหรือแฟชั่น  จนบางครั้งผู้ซื้อกลับเอาความสวยงามนั้นเป็นเครื่องตัดสินใจในการเลือกซื้อก็มี
ประยุกต์ศิลป์หรือศิลปประยุกต์ แบ่งเป็นแขนงต่างๆ ได้ดังนี้

          2.1 มัณฑนศิลป์ (ศิลปะตกแต่ง)   เป็นการออกแบบตกแต่งอาคารบ้านเรือน   ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ  รวมถึงการออกแบบตกแต่งโรงแรมและอื่นๆ ผู้สร้างสรรค์หรือศิลปินที่ทำงานด้านนี้เราเรียกว่า  "มัณฑนากร"  ซึ่งจะมีการออกแบบตกแต่งใน3 ลักษณะ คือ
                   1) การออกแบบตกแต่งภายในอาคาร รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ด้วย
                   2) การออกแบบตกแต่งภายนอกอาคาร ป้ายที่ติดตั้งภายนอกอาคาร
                   3) การออกแบบตกแต่งสวนและบริเวณ ซึ่งจะช่วยให้อาคารสวยเด่น งามสง่ายิ่งขึ้น
         2.2 อุตสาหกรรมศิลป์ เป็นงานศิลปะที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอย และต้องการกำลังผลิตจำนวนมาก  จึงมีการนำเครื่องจักรกลโรงงานเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต  เพื่อให้ได้จำนวนมากตามที่ต้องการ การออกแบบผลิตภัณฑ์จึ้งต้องขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิตรวมไปถึงกระบวนการผลิตด้วย
         2.3 ศิลปะพื้นบ้าน เป็นผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านที่มุ่งเน้นความงาม ความเชื่อ มากกว่าประโยชน์ใช้สอย เป็นงานศิลปะแสดงถึงสุนทรียภาพและภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น เครื่องถม เครื่องเขิน เครื่องลงยา เป็นต้น
         2.4 หัตถกรรม เป็นงานศิลปะที่ผลิตหรือทำด้วยมือ เน้นประโยชน์ใช้สอยมีขั้นตอนการผลิตที่ไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อนสามารถหาวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น  ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้สอยกันเฉพาะในหมู่บ้านนั้น ๆ   เนื่องจากผลิตได้เป็นจำนวนน้อย  เช่น  การทำร่ม การทำตุ๊กตาชาววัง หรือการจักสานต่างๆ
         2.5 พาณิชยศิลป์   และการออกแบบนิเทศศิลป์ เป็นงานศิลปะที่เน้นหนักทางด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เป็นการออกแบบสื่อสารเพื่อนำข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชน  เช่น  การจัดหน้าร้าน   การจัดนิทรรศการ   ภาพประกอบเรื่อง   และการออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ การโฆษณาทางวิทยุโทรทัศน์

ขอบข่ายของศิลปะกว้างขวางมาก 
          ศิลปะแต่ละแขนงมีลักษณะที่ใกล้เคียงกันจนแทบจะแยกกันไม่ออก  แต่สามารถนำมาเปรียบเทียบเพื่อจำแนกให้ชัดเจนได้ โดยอาจใช้ข้อกำหนดที่ว่า ผลงานนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือไม่ เน้นความงามหรือประโยชน์ใช้สอย อีกทั้งผลงานนั้นส่งเสริมศีลธรรมและสังคมหรือไม่ เป็นต้น

ข้อมูลจาก : http://www.lasallechote.ac.th/tc/kamol/lesson1/lesson1_2.html