ศิลปะหลังสมัยใหม่

หลังจากศิลปินลัทธิดาดา และศิลปินป็อปอาร์ตมีบทบาท ได้มีกระแสความคิดและการนำเสนอศิลปะแนวทางใหม่เกิดขึ้นมากมาย เป็นการสร้างสีสรรพ์ทางความคิดและการแสดงออกในยุคสมัยของลัทธิหลังสมัยใหม่ ช่วงเวลาที่แสดงพหุความคิด พหุปัญญา การยอมรับความหลากหลาย ความหลากหลายที่ไม่ต้องการข้อสรุป ไม่ต้องการทฤษฎีหรือหลักคิดตายตัว เพราะความหลากหลายและการเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นความจริง เป็นอนิจจตา ความไม่เที่ยงตรง ความไม่คงที่ ความไม่ยั่งยืน ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมสลายไป ถ้าเราหลงใหลอยู่กับข้อสรุป กฎเกณฑ์ ทฤษฎีอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมเกิดทุกขตา เพราะสรรพสิ่งและความคิดล้วนเป็นอนัตตา

ลัทธิหลังสมัยใหม่ที่ประกาศอิสรภาพทางความคิด มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่เห็นด้วยกับวิถี คิดเก่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดและแนวทางของลัทธิสมัยใหม่ ลัทธิสมัยใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับบทบาทและอำนาจของชนชั้นกลาง และระบบโรงเรียนที่มีกรอบความคิดและหลักสูตรที่ผลิตคนในลักษณะมวลผลิต ลัทธิหลังสมัยใหม่ที่ก่อตัวและแสดงตัวอย่างเป็นสากล เป็นปรากฏการณ์ร่วมในกระแสวัฒนธรรมร่วมสมัยในปัจจุบัน กระแสลัทธิหลังสมัยใหม่ลุกลามไปทางด้านสังคมศาสตร์ ความพยายามในการสร้างขบวนการประชาสังคม ประชาธิปไตยภาคพลเมือง การสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง องค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGOs (Non-Government Organizations) แสวงหาความชอบธรรม แสวงหาอัตลักษณ์ในการคิด การอยู่ร่วมกัน การสร้างวัฒนธรรม ชุมชนที่มีความหลากหลาย ภาพซ้อนและพลวัตในสังคมและชีวิตความเป็นอยู่

ศิลปะหลังสมัยใหม่ได้ดูดซับความคิด นำเสนอความคิด และการปฏิวัติทางศิลปะที่หลากหลาย แสดงบทบาทของศิลปะร่วมสมัยที่มีฐานปัญญาและทฤษฎีหรือแนวคิดเป็นด้านหลัก โดยที่มิได้คำนึงถึงกระบวนแบบดังเช่นศิลปะสมัยใหม่ ศิลปะมีความหลากหลายตั้งแต่การแสดงแนวคิดอย่างบริสุทธิ์ ไปจนถึงการแสดงภาพลักษณ์ของความคิด นอกจากนั้นแล้ว ศิลปะหลังสมัยใหม่ยังต่อต้านลัทธิสารประโยชน์นิยม (Functionalism) มองไม่เห็นความจำเป็นของศิลปะที่จะต้องนำไปใช้งานหรือเป็นประโยชน์ทางกายภาพในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการนำศิลปะไปเป็นสิ่งตกแต่งประดับประดาใดใดก็ตาม สำหรับสังคมตะวันตก นอกจากแนวคิดของลัทธิสมัยใหม่จะกระทบต่อวงการศิลปกรรมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อวงการช่างฝีมือ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเซรามิกส์ เครื่องแก้ว งานโลหะ เฟอร์นิเจอร์ และวงการออกแบบ จากงานในเชิง สารประโยชน์ได้พัฒนามาสู่งานในเชิงความคิดมากขึ้น

เมื่อเรามีอิสรภาพและเสรีภาพมากขึ้น เราย่อมสูญเสียบางสิ่งบางอย่างในอดีตไปด้วยเช่นกัน ศิลปะหลังสมัยใหม่อาจจะต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับการที่ศิลปะจะต้องเป็นสิ่งถาวร ศิลปะอาจจะเกิดขึ้นชั่วครู่ ศิลปะอาจไม่เกี่ยวข้องกับกาลเวลาในอดีต จิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะสมัยใหม่อาจเกี่ยวข้องกับพื้นฐานการปฏิบัติต่างๆ เช่น พื้นฐานการวาดภาพ หลักการ ทฤษฏี องค์ประกอบศิลป์ กระบวนการต่างๆ แต่ศิลปะหลังสมัยใหม่อาจไม่เกี่ยวข้องกับพื้นฐานเหล่านั้นเลยก็ได้ ศิลปินหลังสมัยใหม่มีแนวโน้มที่จะผลักดันศิลปะให้พ้นกรอบของแบบแผนประเพณีนิยม พิพิธภัณฑ์ บ้าน อาคารธุรกิจ ศิลปะไม่จำเป็นต้องเป็นวัตถุสะสมในพิพิธภัณฑ์หรือในห้องสะสมศิลปะ ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งนิทรรศการตามแบบแผนเดิม ไม่จำเป็นต้องเป็นวัตถุที่นำไปแขวนหรือติดตั้งเบื้องหน้า ผู้คนจะต้องไปห้อมล้อมชื่นชมอย่างเป็นกิจลักษณะ ศิลปะอาจอยู่ร่วมกับเราในธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ในสังคม มากกว่าการแยกกันอยู่ดังที่ผ่านมา

ข้อมูลจาก: http://www.wwartcol.com/articles_wi6f.html