จุดเด่น(Emphasis/Dominance)หรือจุดสนใจ (Point of Interest)

          หมายถึง  การสร้างจุดที่น่าสนใจที่สุดในภาพขึ้นมานั่นเอง  เพราะในการจัดภาพนั้น  ถ้าหากไม่มีการเน้นจุดเด่นเลยหรือสร้างจุดเด่นหลายจุดเกินไปหมด     ดังนั้นการสร้างจุดเด่นที่ว่านี้  ควรสร้างให้มีเพียงจุดเดียว  ไม่ควรให้อยู่บริเวณขอบภาพด้านใดด้านหนึ่งจนเกินไป  และไม่จำเป็นต้องอยู่บริเวณจุดกึ่งกลางภาพเสมอไปด้วย  ทั้งนี้การสร้างจุดเด่นอาจจะทำได้หลายลักษณะเช่นเน้นให้เด่นด้วยขนาด  รูปร่างแสง  เงา  สี  หรือเรื่องราว  เป็นต้น
          เป็นสิ่งที่พบเห็น ได้จากชีวิตประจำวันทั่ว ๆ ไป เช่น การพูด เมื่อถึงตอนสำคัญที่ต้องการเน้น ก็พูดเน้นให้ดังขึ้น หรือลดระดับเสียงลง หรือหยุดเว้นระยะ เพื่อให้เป็นที่น่าสนใจ การเขียนก็เช่นกัน เมื่อถึงข้อความสำคัญที่ต้องการเน้น ก็ทำ ตัวอักษรให้หนาหรือใหญ่ หรือขีดเส้นใต้ ให้แตกต่างกว่าข้อความอื่น ๆ ตัวอย่างเหล่านี้ เป็นการสร้างจุดเด่นโดยทั่วไป
          
การเน้น เป็นการกระทำให้เด่นเป็นพิเศษกว่าธรรมดา ในงานศิลปะจะต้องมี ส่วนใดส่วนหนึ่ง  หรือจุดใดจุดหนึ่ง ที่มีความสำคัญกว่าส่วนอื่น ๆ   เป็นประธานอยู่ ถ้าส่วนนั้นๆ อยู่ปะปนกับส่วนอื่น ๆ  และมีลักษณะเหมือน ๆ กัน  ก็อาจถูกกลืนหรือถูกส่วนอื่นๆที่มีความสำคัญน้อยกว่าบดบัง หรือแย่งความสำคัญ ความน่าสนใจไปเสียงานที่ไม่มีจุดสนใจ หรือประธาน  จะทำให้ดูน่าเบื่อ เหมือนกับลวดลายที่ถูกจัดวางซ้ำกันโดยปราศจากความหมาย หรือเรื่องราวที่น่าสนใจ       ดังนั้น  ส่วนนั้นจึงต้องถูกเน้น ให้เห็นเด่นชัดขึ้นมา เป็นพิเศษกว่าส่วนอื่น ๆ 

          ต่อไปนี้เป็นแนวทางของการสร้างจุดเด่น ในงานทัศนศิลป์ ผ่านตัวอย่าง ผลงาน ของจิตรกรรม และงานออกแบบ ซึ่งผู้เรียนสามารถ พิจารณาได้ว่า บางภาพอาจมีจุดเด่นที่เกิดจาก ส่วนประกอบมูลฐานหลายส่วน แต่จะมีจุดเด่น หรือจุดสนใจ ที่เห็นได้ชัด เพียงจุดเดียวเท่านั้น แนวทางเหล่านี้ สามารถปรับเปลี่ยนได้และแต่ละแนวทาง สามารถใช้ผสมกันเป็น แนวทางใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมายไม่มีที่สิ้นสุด ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมาย และประสบการณ์ ของศิลปิน และนักออกแบบ
          
จุดเด่นในความหมายของทัศนศิลป์ ก็คือบริเวณหรือส่วนสำคัญของงานทัศนศิลป์ ที่ปรากฎขึ้น จากการเน้น (Emphasis) ของส่วนประกอบมูลฐาน และองค์ประกอบทัศนศิลป์ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างผสมกัน ซึ่งเมื่อสัมผัสด้วยสายตาแล้ว มีความชัดเจน เด่นสะดุดตาเป็น แห่งแรก เป็นจุดทีมีพลัง มีอำนาจดึงดูดสายตามากกว่าส่วนอื่น ๆ การเน้น ให้เกิดจุดเด่นในงาน ทัศนศิลป์เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะเป็นเครื่องเรียกร้อง ความสนใจ เพื่อชักจุงให้เข้าไปสัมผัส ในส่วนละเอียดต่อไป และเป็นการเพิ่ม ความน่าดู สมบูรณ์ ลงตัวขึ้นให้กับงานออกแบบนั้น

          แต่การสร้าง จุดเด่นไม่ว่าโดยวิธีใดก็ตาม ต้องไม่ สร้างหลายจุดเพราะถ้ามีหลายจุด ก็จะแย่งความเด่นกัน ไม่รู้ว่าจุดเด่นที่แท้จริงอยู่ที่ใหน นอกจากนี้ ก็จะเป็นการ ทำให้เอกภาพในงานนั้นหมดไป การสร้างจุดเด่น เป็นองค์ประกอบหนึ่ง ของการสร้าง ความแตกต่าง
          
หลักเบื้องต้นในการพิจารณาสร้างจุดเด่น ในงานศิลปะ ก็คือ ศิลปิน หรือนักออกแบบ จะต้องกำหนดแนวทาง ของ การสร้างจุดเด่น ไว้ล่วงหน้า ก็คือ ตำแหน่ง ปริมาณ และที่สำคัญที่สุดก็คือ วิธีการสร้างจุดเด่น โดยใช้ส่วนประกอบ มูลฐาน และองค์ประกอบของทัศนศิลป์

แนวทางสร้างจุดเด่นในการออกแบบทัศนศิลป์

          
การสร้างจุดเด่น ในทางทัศนศิลป์ ก็คือการสร้างจาก ส่วนประกอบมูลฐาน (Elements) และหลักการทัศนศิลป์ (Principles) อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ หลายอย่างผสมกัน ซึ่งจุดเด่นที่เกิดขึ้นนี้ ควรมีจุดเดียว แต่บางครั้ง อาจมีมากกว่าจุดเดียวก็ได้ แต่จุดเด่นที่เพิ่มขึ้นนี้ ต้องไม่แข่งกับจุดเด่นหลัก โดยเรียกว่า จุดเด่นรอง (Sub Dominance) เพราะมิฉะนั้น การมีจุดเด่นแข่งกันหลายจุด จะเป็นการทำลายเอกภาพของงานออกแบบนั้น แนวทางสร้างจุดเด่น มีดังต่อไปนี้

การสร้างจุดเด่นด้วยขนาด (Size)
          วัตถุ หรือรูปร่าง รูปทรง ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจะเป็นสิ่งสดุดตา ก่อให้เกิด จุดสนใจได้ทันที ในเบื้องแรก

การสร้างจุดเด่นด้วยสี (Color)
          สีที่มีความเข้ม สดใส (Color Intensity) ที่แตกต่างกว่าสีส่วนรวม ในภาพ ก็จะสร้างจุดสนใจได้ดี หรือสีและน้ำหนักที่แตกต่าง ก็สร้างจุดเด่น ได้เช่นกัน

การสร้างจุดเด่นด้วยตำแหน่ง (Location)
          โดยธรรมชาติการมองของมนุษย์เราจะเริ่มจากบริเวณกลางภาพ ถัดขึ้นบน เล็กน้อย จึงมี กฎของการจัดองค์ประกอบภาพ ให้เกิด ความน่าสนใจ หรือ ที่เรียกว่า กฎ 3 ส่วน (Rule of Third)

กฎ 3 ส่วน (Rule of Third)
          คือ การแบ่งพื้นที่ตามแนวนอน และแนวตั้ง ออกเป็น 3 ส่วนเท่ากัน ๆ จุด 4 จุดซึ่งเป็นจุดตัดของเส้นที่แบ่งนี้ จะเป็นจุดแห่งความสนใจ ในการวางตำแหน่ง องค์ประกอบที่ต้องการสร้าง จุดเด่นไว้ในตำแหน่งใด ตำแหน่งหนึ่งของ จุดตัดทั้ง 4 นี้
          
การสร้างจุดเด่นด้วยตำแหน่งอีกวิธีหนึ่งก็คือ นำองค์ประกอบที่ต้องการ สร้างจุดเด่นนั้น ใหแยกจากองค์ประกอบโดยรวม จะทำให้สายตาผู้ชมพุ่ง ไปยังตำแหน่งที่โดดเด่นนั้น




การสร้างจุดเด่นด้วยบริเวณว่าง (Space)  
          
งานออกแบบที่มีจังหวะของการซ้ำ (Repetition) มากไป จะทำให้ น่าเบื่อหน่าย เหมือน ไม่มีจุดจบ ถ้าปรับจังหวะนั้นให้มีช่องว่าง ที่แตกต่างกันบ้าง ที่เรียกว่า จังหวะก้าวหน้า (Progressive) หรือการแยกตัว ให้เกิดพื้นที่ว่าง ก็สามารถสร้างจุดสนใจ ในบริเวณที่ต้องการได้

การสร้างจุดเด่นด้วยความแตกต่าง (Exception)  
          
รูปร่าง รูปทรง หรือองค์ประกอบใด มีความแตกต่างจากส่วนรวม ย่อมเป็น จุดเด่นที่สุดในภาพนั้น

การสร้างจุดเด่นด้วยการแปรเปลี่ยน (Gradation) 
          
การแปรเปลี่ยน หรือการลดหลั่นด้วยขนาด รูปร่าง สี น้ำหนัก โดยองค์ประกอบอื่น ยังคงเดิมนั้นเป็นการสร้างจุดเด่น ได้ง่ายที่สุดวิธีหนึ่ง

การสร้างจุดเด่นด้วยทิศทางของสายตา (Eye Direction)             ทิศทางขององค์ประกอบที่ไปในทิศทางเดี่ยวกัน จะนำสายตาให้ มองติดตามไปในทิศทางนั้น และเมื่อองค์ประกอบนั้น มีการกลับทิศทาง ในทันที จะทำให้สายตานั้นหยุดการเคลื่อนไหวทันที จุดที่สายตาที่หยุดนิ่งนั้น เป็นจุดที่สร้างจุดเด่นให้เกิดขึ้นได้

การสร้างจุดเด่นด้วยทิศทางของเส้น (Converence of Line)             เส้นนำสายตาไม่ว่าจะเกิดจากเส้นลักษณะใด เช่นแท้จริง (Actual Line)หรือ เส้นโดยนัย (Implied Line) จะนำไปสู่จุดสนใจ ตามที่ต้องการได้ เส้นนำสายตา ที่เกิดจากขนาดที่แปรเปลี่ยน (Gradation) แม้ปลาย ของเส้น นำสายตานั้นจะมีรูปร่างขนาดเล็ก แต่สามารถเป็นจุดดึงดูดสายตาได้ มากกว่า รูปร่างขนาดใหญ่

การสร้างจุดเด่นด้วยการเพิ่มองค์ประกอบอื่นเข้าไป (Composition)             คือการเพิ่มส่วนประกอบมูลฐาน (Elements) ซึ่งได้แก่ จุด เส้น รูปร่าง พื้นผิว น้ำหนัก เข้าไปเป็นองค์ประกอบเสริม ให้จุดที่ต้องการเน้นให้เป็น จุดเด่น ซึ่งบางครั้ง วิธีนี้มีความจำเป็น เป็นการแก้ปัญหา ที่ไม่สามารถใช้วิธีอื่นใดได้

          พึงเข้าใจว่า การเน้น ไม่จำเป็นจะต้องชี้แนะให้เห็นเด่นชัดจนเกินไป สิ่งที่จะต้องระลึกถึงอยู่เสมอ คือ เมื่อจัดวางจุดสนใจแล้ว จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สิ่งอื่นมาดึงความสนใจออกไป จนทำให้เกิดความสับสน  การเน้น สามารถกระทำได้ด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ของศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น เส้น  สี แสง-เงา  รูปร่าง รูปทรง หรือ พื้นผิว  ทั้งนี้ขึ้นอยู่ความต้องการในการนำเสนอของศิลปินผู้สร้างสรรค์

ข้อมูลจาก : http://www.project.cmru.ac.th/ruth/lesson/unit3.htm