วันมหิดล
สร้างโดย : นางสาวสุพัฒน์กุล ภัคโชค
สร้างเมื่อ จันทร์, 18/08/2008 – 16:57
มีผู้อ่าน 13,988 ครั้ง (08/11/2022)
วันมหิดล
วันที่ 24 กันยายน ของทุกปี
ความหมาย
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวริทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชสมภพ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2434 และเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2472 มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช
ในเบื้องต้น ได้ทรงศึกษาวิชาทหารเรือ ณ ประเทศเยอรมนี จากนั้นเสด็จกลับมารับราชการทหารเรือ ต่อมาทรงมีอาการประชวรเรื้อรัง ไม่สามารถรับราชการหนักได้ ประกอบกับทรงสนพระทัยในกิจการทางด้านการแพทย์ จึงทรงอุตสาหะเสด็จไปศึกษาวิชาการสาธารณสุขและวิชาแพทย์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงสอลได้ประกาศนียบัตรการสาธารณสุข และ ปริญญาแพทย์ศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หลังจากเสด็จกลับเมืองไทย พระองค์ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างมากมาย
ด้วยความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผู้ที่เคยได้รับพระกรุณาในด้านต่างๆจากพระองค์ จึงได้รวบรวมเงินจัดสร้างพระรูปประดิษฐานไว้ ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยมอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้าง มีศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นผู้ควบคุม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2493 และ ในวันที่ 24 กันยายนปีเดียวกันนี้เอง นักศึกษาแพทย์ได้ริเริ่มจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ โดยมีพิธีวางพวงมาลา ถวายบังคมพระรูป อ่านคำสดุดีพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ และทางคณะแพทย์ศาสตร์ พร้อมด้วย ศิริราชพยาบาล ได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า ให้ยึดถือเอาวันที่ 24 กันยายนของทุกปี เป็นวันที่น้อมรำลึกถึงพระองค์ โดยให้ชื่อว่า วันมหิดล และงานวันมหิดลได้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในวันที่ 24 กันยายน 2499 โดยจัดให้มีพิธีสงฆ์ ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารเช้า และ การนำพวงมาลาไปสักการะที่พระรูป
ความเป็นมา
องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานด้านวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกต่าง ๆ ทั่วโลก ด้วยการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคล ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับ โลกในวาระครบรอบ 100 ปีขึ้นไป ประจำทุกปี
วัตถุประสงค์โดยสรุป
- เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก ให้ปรากฏแก่มวลสมาชิกทั่วโลก
- เพื่อเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองร่วมกับ ประเทศที่มีผู้ได้รับการยกย่อมเชิดชูเกียรติ
ในการนี้ รัฐบาลไทย โดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้สืบค้นบรรพบุรุษไทยผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม เพื่อให้ยูเนสโกประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติและได้ประกาศ ยกย่องสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบรอบ 100 ปี วันพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535