วันเช็งเม้ง Qingming festival or Ching Ming Festival

สร้างโดย : นางสาวเบญจมาศ ภัคโชค
สร้างเมื่อ อังคาร, 14/10/2008 – 11:14
มีผู้อ่าน 6,722 ครั้ง (03/11/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/16984

วันเช็งเม้ง
Qingming festival or Ching Ming Festival
วันที่ 5 เมษายน ของทุกปี

     ความเชื่อของลูกหลานคนจีนได้ถือปฎิบัติมาตลอด  ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศจีนหรือต่างประเทศก็ตาม โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งมีลูกหลานคนจีนไม่น้อย ได้ปฎิบัติตามคำบอกเล่าของบรรพบุรุษว่าหลังจากที่หมดลมหายใจไปแล้วจะต้องนำศพไปฝัง หากไม่มีเงินทองสามารถจัดทำได้  ศพที่ได้นำไปเผาแล้วเหลือแต่กระดูก จะเก็บไว้ที่บ้านหรือฝากไว้ที่วัดก็ตาม  ในเมื่อฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น ลูกหลานคนจีนที่มีความเชื่อตามคำสั่งของบรรพบุรุษจะหาที่ทางและหมอฮวงจุ้ย  มาจัดการสร้างแล้วนำกระดูกไปฝังเพื่อลูกหลานรุ่นต่อไปได้กราบไว้  ซึ่งหลายต่อหลายคนเชื่อในเรื่อง”ฮวงจุ้ย” สามารถให้คุณต่อลูกหลานรุ่นต่อไปได้  ในทางตรงกันข้ามอาจให้โทษต่อลูกหลานได้เช่นกัน  การกราบไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงจุ้ย  ซึ่งสร้างไว้ตามสุสานสาธารณะหรือสุสานส่วนตัว จึงมีให้เห็นทั่วประเทศของเรา   และโดยเฉพาะภาคกลางสุสานส่วนรวม หรือสุสานสาธารณะที่ใหญ่ๆจะอยู่ในเขตจังหวัดสระบุรี ชลบุรี และราชบุรี  จึงเป็นปัญหาในเรื่องการจราจรในเขตปริมณฑลมาตลอด เพราะว่าวันเช็งเม้ง หรือวันกราบไหว้บรรพบุรุษวันเดียวกัน  วันกราบไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว  ตามที่ประเพณีของคนจีนกำหนดไว้ในแต่ละปีจะคล้ายกันจนเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าทุกปีของ

ความหมายของ “เช็งเม้ง”

     คำว่า “เช็ง” หมายถึง สะอาด บริสุทธิ์ และคำว่า “เม้ง” หมายถึง สว่าง เมื่อนำคำว่า “เช็งเม้ง” มารวมกันแล้วหมายความถึง ช่วงเวลาแห่งความแจ่มใส รื่นรมย์

อ่านเพิ่มเติม...

“เช็งเม้ง” ตรงกับวันไหน

     สำหรับวันเช็งเม้งในประเทศจีนนั้น จะเริ่มต้นช่วงวันที่ 4 – 5 เม.ย. ไปจนถึงวันที่ 19 – 20 เม.ย. ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ที่อากาศจะเริ่มเข้าสู่ความอบอุ่น มีฝนตกปรอยๆ มีบรรยากาศสดชื่น ท้องฟ้าใสสว่าง และด้วยบรรยายกาศดังกล่าวนี่เองที่เป็นที่มาของชื่อ “เช็งเม้ง”
     ขณะที่ประเทศไทยเทศกาล “เช็งเม้ง” คือ วันที่ 5 เม.ย.ของทุกปี และช่วงเวลาในเทศกาลเช็งเม้งมี 7 วัน คือ ระหว่างวันที่ 2 – 8 เมษายน โดยให้นับวันก่อนถึงเทศกาลเช็งเม้ง 3 วัน และเลยไปอีก 3 วัน แต่ในปัจจุบันเนื่องจากปัญหาการจราจรคับคั่ง จึงมีการขยายช่วงเวลาเทศกาลให้เร็วขึ้นอีก 3 สัปดาห์ (ประมาณ 15 มีนาคม – 8 เมษายน) แต่ในภาคใต้บางพื้นที่ เช่น จังหวัดตรังจะจัดเร็วกว่าที่อื่น 1 วัน ประมาณวันที่ 4 เมษายนของทุกปี
     โดยก่อนวันพิธีจะมีการทำความสะอาดหลุมฝังศพของบรรพบุรุษ หลังจากนั้นในวันพิธีจะมีการเซ่นไหว้อาหารหวานคาว ที่หลุมฝังศพ เพื่อเป็นการ รำลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษ และเป็นการส่งอาหารให้ทุกปี เพื่อมิให้อดอยาก เมื่อไปอยู่อีกภพหนึ่ง คนจีนส่วนใหญ่ จะหยุดงานมาร่วมพิธีกัน พร้อมหน้าพร้อมตา หรือถือว่าเป็น “วันรวมญาติ” ของคนจีนก็ว่าได้

เครื่องเซ่นไหว้

     สำหรับเครื่องเซ่นไหว้ย่อมเป็นไปตามฐานะ แต่ส่วนหนึ่งจะต้องมีคือเง็งเตี๋ยหรือกระดาษไหว้เจ้า กิมจั๊วหรือกระดาษไหว้วิญญาณ(ผี)เสื้อผ้าของใช้เงินทองซึ่งเป็นกระดาษเพื่อเผาส่งไปให้ เทียนธูป ส้มเกลี้ยง ไก่ ปลาหมึก หอยแครง ซาลาเปา  ขนมฟู(ขนมสาลี่) เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องเซ่นไหว้ นอกเหนือจากกระดาษไหว้เจ้าแล้ว จะต้องมีซาแซ คือไก่ต้ม พร้อมเครื่องใน ปลาหมึกแห้ง หมูหนึ่งแถบ ผลไม้ 5 อย่าง หรือ 7 อย่างก็ได้ หากไม่มีเอาส้มเกลี้ยงอย่างเดียวก็ได้ ผลไม้ที่นำมาไหว้ไม่ควรเอาผลไม้ที่มีชื่อไม่เป็นมงคล เช่น ละมุด มังคุด ฯลฯ  ในสถานที่นั้นที่มีอยู่พร้อมน้ำชา สุรา 
     ส่วนเครื่องเซ่นวิญญาณบรรพบุรุษ นอกจากเครื่องเซ่นไหว้ที่กล่าวมาแล้ว ไก่ต้มที่นำไปไหว้ไม่ควรใส่เครื่องในไก่ไปด้วย เพราะเครื่องในไก่เก็บเอาไว้ให้ลูกหลาน เว้นแต่จะนำเครื่องในไปประกอบเป็นอาหารอย่างอื่นเพื่อไหว้ไม่เป็นไร หลังจากนำไปกราบไหว้เซ่นบรรพบุรุษที่ฮวงจุ๊ยแล้ว ในวันที่ 4 เมษายน แต่ละคนหากอยู่กันคนละบ้านควรจัดทำการเซ่นไหว้อีกครั้ง ณ ที่บ้านที่อาศัยด้วย

ข้อมูลเฉพาะ

      ซาแซ ใช้สำหรับไหว้เจ้าหรือผีไม่มีญาติ
      การเซ่นไหว้ ลูกหลานควรไปพร้อมหน้ากัน
      ทุกปีควรจะต้องนำดินใส่หลังฮวงจุ๊ย
      ผลไม้ทุกชนิดที่นำไปไหว้ต้องให้มีชื่อเป็นมงคล
      ขนมสาลี่ ซาลาเปา คือความเฟื่องฟู

พิธีกรรม

     วันเช็งเม้งของแต่ละปีหากเปรียบเทียบกับประเพณีไทยในทางพุทธศาสนา ก็จะเหมือนกับวันพระซึ่งในความเชื่อก็คือวันพระเป็นวันที่ผีหรือวิญญาณจะได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ สามารถไปไหนมาไหนได้ จึงเป็นโอกาสดีของลูกหลานที่มีความเชื่อ  จะได้ทำพิธีกราบไหว้บูชาด้วยอาหารคาวหวาน ผลไม้ เสื้อผ้า กระดาษเงิน กระดาษทอง(กิมจั๊ว) น้ำชา สุรา และเงินทองของใช้ต่างๆ โดยจัดทำการเซ่นไหว้ที่แท่นบูชา ณ ที่บ้านของลูกหลานแต่ละคน ด้วยการจุดธูปบอกกล่าวเชิญกลางแจ้ง  พร้อมขออนุญาตหรือบอกธรณีประตูพาวิญญาณเข้าบ้านมาที่แท่นบูชาที่มีกระถางธูป และรูปถ่ายหรือป้ายวิญญาณก็ตาม โดยการเซ่นไหว้ทุกครั้งต้องบอกเจ้าที่หรือแป๊ะเอี้ยทุกครั้ง และต้องทำช่วงเช้าไม่เกิน 5โมงเช้า เพราะหลังจาก 5 โมงเช้าควรจุดธูปหรือกล่าวลา  พร้อม ๆ จัดการอาหารคาว ผลไม้ น้ำชา สุรา หลังจากที่ได้นำกระดาษ (กิมจั้ว) เซ่นไหว้ไปเผาเรียบร้อยแล้ว 
     การเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงจุ้ยตามสุสานต่าง ๆ เอี้ยวชุนบั๊ก ซินแส กล่าวว่า ความจริงแล้วลูกหลานจะหาวันที่ดี และสะดวกแก่ทุกฝ่าย  ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายลูกชาย หลานชาย ลูกสาว หลานสาว ที่จะมาพร้อมกันที่ฮวงจุ๊ยทั้งเครื่องเซ่นไหว้แล้ว ซึ่งจะต้องมากันแต่เช้า ๆ เซ่นไหว้ด้วยอาหารคาวหวาน น้ำชา สุรา ผลไม้ ทุกคนที่เป็นลูกหลานยังต้องเตรียมอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นจอบ  เสียม มีด บุ้งกี๋ สี แปรง น้ำสะอาด ซึ่งการนำอุปกรณ์นี้มาเพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นเอาดินขึ้นถมหลังฮวงจุ๊ย หรือล้างป้ายพร้อมทาสีให้เกิดความสวยงาม ยังจะได้ช่วยรดน้ำพรวนดินต้นไม้บริเวณฮวงจุ๊ย และใกล้เคียง มิใช่เพียงดูแลหญ้าที่ปลูกไว้หลังฮวงจุ๊ยเพียงอย่างเดียว  เพราะต้นไม้ที่อยู่รอบ ๆ บริเวณฮวงจุ๊ยบางต้นที่เกิดขึ้นมามีผลดี แต่บางต้นอาจส่งผลเสียแก่ฮวงจุ๊ยได้ ซึ่งหากท่านได้มีความเป็นคนช่างสังเกต จะเห็นได้จากแผ่นป้ายชื่อหน้าแท่นบูชา ที่บางป้ายอาจสลักตัวหนังสือไทยไว้ด้วย 
     แผ่นป้ายหินแกะสลักหรือแผ่นปูนก็ตาม ตัวหนังสือจีนตัวเล็กที่อยู่ทั้งสองข้าง ชื่อ ที่อยู่ และวันสร้าง ส่วนตัวหนังสือจีนใหญ่นั้นสุดแต่ว่า บรรพบุรุษที่ฝังอยู่หลุมซึ่งเป็นชาย ถ้าหากไม่มีครอบครัวจะสลักแถวเดี่ยว แต่ถ้ามีภรรยาก็จะสลักชื่อภรรยาลงไปด้วย โดยชื่อภรรยาจะอยู่ขวามือเมื่อหันออกตามแผ่นป้าย  ถ้าภรรยาหลายคน ภรรยาหลวงจะอยู่ซ้ายมือสามีจะอยู่กลางภรรยาคนต่อไปอยู่ขวา ตัวหนังสือเมื่อนับจากข้างบนลงล่างตัวหนังสือตัวที่  3 – 4 คือตัวชื่อสกุล ซึ่งหากใครก็ตามตายไปแล้วจะใช้สีเขียวทาตัวหนังสือ ถ้ายังไม่ตายตัวหนังสือจะต้องเป็นตัวหนังสือสีแดง เช่นเดียวกับตัวหนังสือตัวเล็กที่บอกที่อยู่ และวันสร้างฮวงจุ๊ย  ซึ่งต้องใช้สีแดงจัดการทาให้เรียบร้อย แต่ในปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงมีมาก ตัวหนังสือทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นชื่อคนเป็นหรือคนตายก็ตาม จะใช้สีทองหรือทองคำเปลวปิดหมดทุกตัวอักษร ซึ่งเป็นคนที่มีความรู้ภาษาจีนก็พอทราบได้จากตัวที่บอกวันเวลาสร้าง ว่าเจ้าของชื่อที่สลักไว้ตายไปแล้วหรือยัง แต่คนที่ไม่มีความรู้ภาษาจีนอ่านไม่ได้ก็จะไม่รู้อย่างแน่นอน

แหล่งข้อมูล

  • https://www.maedangshop.com/article/8/เช็งเม้ง-ไหว้บรรพบุรุษทั้งที-ทำยังไงให้รวย
  • https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/510189

ย่อ