วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก World Wetlands Day

สร้างโดย : นางสาวเบญจมาศ ภัคโชค
สร้างเมื่อ อาทิตย์, 12/10/2008 – 14:50

วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก
ตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี

     วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี  เนื่องจาก ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2514  นานาชาติได้ร่วมยกร่างและลงนามในการรับรอง  “อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศโดยเฉพาะเป็นแหล่งที่อยู่ของนกน้ำ”  ขึ้น ณ เมือง Ramser ประเทศอิหร่าน อนุสัญญาเป็นรู้จักในนามอนุสัญญาแรมซาร์
     พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) คือ    คำจำกัดความตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ กล่าวว่า “พื้นที่ชุ่มน้ำ” หมายความถึง ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ลุ่มชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขังหรือท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม รวมไปถึง ที่ชายฝั่งทะเลและที่ในทะเล ในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด มีความลึกขอระดับน้ำ ไม่เกิน 6 เมตร  พื้นที่ซึ่งมีลักษณะจัดได้ว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ จึงรวมถึง ห้วย หนอง คลอง บึง บ่อ กระพัง (ตระพัง) บาราย แม่น้ำ ลำธาร แคว ละหาน ชานคลอง ฝั่งน้ำ สบธาร สระ ทะเลสาบ แอ่ง ลุ่ม กุด ทุ่ง กว๊าน มาบ บุ่ง ทาม พรุ สนุ่น แก่ง น้ำตก หาดหิน หาดกรวดหาดทราย หาดโคลน หาดเลน  ชายทะเล ชายฝั่งทะเล พืดหินปะการัง แหล่งหญ้าทะเล แหล่งสาหร่ายทะเล คุ้ง อ่าวดินดอนสามเหลี่ยม ช่องแคบ ชะวากทะเล ตะกาด หนองน้ำกร่อย ป่าพรุ ป่าเลน ป่าชายเลน ป่าโกงกาง ป่าจาก ป่าแสม รวมทั้งนาข้าว นากุ้ง นาเกลือ บ่อปลา อ่างเก็บน้ำ เป็นต้น
     โดยปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้รับการจำแนกรวมกับพื้นที่ที่ไม่ได้รับการจำแนกและคุ้มครองในรูปพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ ที่รวมถึงป่าชายเลน ป่าพรุ ทะเล หนองและบึง ต่างๆ ฯลฯ คิดเป็นพื้นที่รวมทั้งสิ้น 15.7 ล้านไร่ หรือประมาณร้อยละ 5 ของพื้นที่ประเทศ จากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาการคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำใน ประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากการขาดความเข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำโดยรวมประชาชนทั่วไป และองค์กรที่เกี่ยวข้องก็ยังขาดความเข้าใจต่อความสำคัญทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำให้มีการบุกรุกทำลายและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่หลากหลาย
     ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐเอกชน ชุมชนท้องถิ่น ก็ได้ส่งผลคุกคามต่อความเสื่อมโทรม การลดลงและสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงเกิดอนุสัญญาพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือ อนุสัญญาแรมซาร์ เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้น เพื่อมีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ ในพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืนเท่าที่จะเป็นไปได้   ภายใต้เงื่อนไขการจัดการในแต่ละประเทศนั้นๆ  เพื่อเป็นการอนุรักษ์ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ  นานาชาติได้ร่วมยกร่างและลงนามในการรับรอง  “อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเป็นแหล่งที่อยู่ของนกน้ำ”  ขึ้นใน วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2514 ณ เมือง Ramser ประเทศอิหร่าน อนุสัญญาเป็นรู้จักใน นามอนุสัญญาแรมซาร์

ความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นระบบนิเวศที่มีบทบาทหน้าที่ ตลอดจนคุณค่าและความสำคัญต่อวิถีชีวิต ทั้งมนุษย์ พืช และสัตว์ ทั้งทางนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ

อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention)
     อนุสัญญานี้มีชื่อตามชื่อของสถานที่ที่จัดให้มีการประชุมเพื่อรับรองอนุสัญญาในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2514 คือ เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน อนุสัญญานี้เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาล ซึ่งกำหนดกรอบการทำงานสำหรับ ความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำในโลกซึ่งจะต้องมีการจัดการเพื่อใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด
อนุสัญญาแรมซาร์ มีผลบังคับใช้เมื่อปี พ.ศ. 2518 ตามเงื่อนไขว่าอนุสัญญาฯ จะมีผลบังคับใช้เมื่อประเทศต่างๆ เข้าร่วมเป็นภาคี 7 ประเทศ ในขณะนี้มีประเทศต่างๆจากทั่วโลกเข้าร่วมเป็นภาคี รวมทั้งสิ้น ประเทศ
ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาแรมซาร์เป็นลำดับที่ 110 ซึ่งพันธกรณีของอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ วันที่ 13 กันยายน 2541
ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับประเทศ ( Ramsar Site ) ดังนี้

  1. พรุควนขี้เสี้ยน บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง มีพื้นที่ประมาณ 3,085 ไร่ (ประกาศเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2541)
  2. ดอนหอยหลอด จ.สมุทรสงคราม (ประกาศเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2544)
  3. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จ.หนองคาย (ประกาศเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2544)
  4. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย บริเวณแอ่งเชียงแสน จ.เชียงราย (ประกาศเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2544)
  5. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกีรยติพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (พรุโต๊ะแดง) จ.นราธิวาส (ประกาศเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2544)
  6. ปากแม่น้ำกระบี่ จ.กระบี่ (ประกาศเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2544)

คุณประโยชน์ที่พึงมีพึงได้รับจากพื้นที่ชุ่มน้ำ

  1. เป็นแหล่งน้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ที่คน พืช และสัตว์ เข้าไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรงหรือนำมาใช้ในกิจกรรมต่างๆเช่น การอุปโภคบริโภค การเกษตร การเลี้ยงสัตว์ อุตสาหกรรม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นันทนาการ ฯลฯ นอกจากนั้น พื้นที่ชุ่มน้ำยังช่วยรักษาสมดุลของระดับน้ำใต้ดิน โดยน้ำภายในพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นน้ำผิวดินจะค่อยๆ ไหลถ่ายเทลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน กลายเป็นน้ำใต้ดินที่ใสสะอาด หากจัดการควบคุมอัตราการนำน้ำขึ้นมาใช้ให้เหมาะสมและดูแลรักษาคุณภาพน้ำให้ดี จะสามารถนำกลับขึ้นมาใช้ได้อย่างยั่งยืน ในทางกลับกัน น้ำในชั้นน้ำใต้ดินก็อาจไหลกลับขึ้นมาเป็นน้ำผิวดินอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นแหล่งน้ำใช้ของชุมชนที่อยู่โดยรอบได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูแล้ง
  2. เป็นแหล่งเก็บกักน้ำฝนและน้ำท่า ที่ไหลบ่าลงมาจากะพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำ แทนที่จะไหลออกไปสู่ทะเล อย่างรวดเร็วทั้งหมด ช่วยลดและป้องกันปัญหาน้ำท่วมฉับพลันที่จะเกิดกับพื้นที่โดยรอบ หากพื้นที่ชุ่มน้ำถูกถมหรือเปลี่ยนแปลงไป จะเกิดปัญหาน้ำท่วมขังบ่อยครั้งขึ้น
  3. มีบทบาทช่วยป้องกันมิให้น้ำเค็ม รุกเข้ามาในแผ่นดิน น้ำจืดที่ไหลมาตามทางน้ำต่างๆ จะไหลผ่านพื้นที่ชุ่มน้ำแล้วไหลลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินในพื้นที่ชุ่มน้ำ และช่วยผลักดันน้ำทะเลมิให้รุกเข้ามาในแผ่นดิน การถมทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งทะเล การสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้มากเกินขนาด การผันน้ำจากทางน้ำมาใช้มากเกินไป รวมทั้งการเปลี่ยนเส้นทางน้ำ การขุดขยายทางน้ำและถากถางพืชพรรณชายคลองชายฝั่ง ล้วนมีผลทำให้น้ำเค็มรุกเข้ามาในแผ่นดินได้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงน้ำขึ้นสูงสุด
  4. ช่วยป้องกันรักษาชายฝั่งทะเลและลดการพังทลายของชายคลองชายฝั่ง พืชพรรณในพื้นที่ชุ่มน้ำ พืชริมตลิ่ง ชายฝั่งคลองและชายฝั่งทะเล ที่โดดเด่นเห็นได้ชัดที่สุด คือ ป่าชายเลนจะช่วยยึดดิน ปะทะแรงลมพายุ กระแสน้ำ และคลื่น ทั้งยังช่วยป้องกันพื้นที่ กิจกรรมและทรัพย์สินต่างๆ บริเวณพื้นที่หลังชายฝั่งทะเลด้วย
  5. ช่วยชะลอการไหลของน้ำ ดักจับตะกอนที่พัดพามาจากพื้นที่ตอนบน  พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล คือ ปราการด่านสุดท้ายของพื้นที่ลุ่มน้ำ ก่อนที่น้ำภายในลุ่มน้ำจะไหลออกสู่ทะเล พืชพรรณที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น อ้อ แขม กก และหญ้า ช่วยชะลอความเร็วของน้ำ กักเก็บตะกอน จึงช่วยลดการตื้นเขินของอ่าวและรักษาคุณภาพของพื้นที่ชายฝั่งทะเลและน้ำในทะเล
  6. ช่วยดักจับกักเก็บธาตุอาหาร ที่ถูกพัดพามากับน้ำและตะกอนไว ้ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยส่วนเกินจากพื้นที่เกษตรกรรม น้ำทิ้งจากชุมชนและอุตสาหกรรม รวมทั้งน้ำทิ้งจากแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พืชพรรณและสัตว์ ภายในพื้นที่ชุ่มน้ำ สามารถดึงธาตุอาหารเหล่านั้นไปใช้ เพื่อการเจริญเติบโต หากจัดการอย่างเหมาะสม เก็บเกี่ยวผลผลิตพืชและสัตว์ จากพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ มีการหมุนเวียนใช้ธาตุอาหารที่ถูกเก็บกักไว้อย่างสมดุล นอกจากจะเกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ยังช่วยให้คุณภาพน้ำดีขึ้น ช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดต่อสภาพแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง
  7. ช่วยดักจับกักเก็บสารพิษหลายชนิด ที่ยึดเกาะอยู่กับอนุภาคของดิน ที่พัดพามากับน้ำและตะกอนไว้ ช่วยลดอันตราย ที่เกิดกับระบบนิเวศโดยรอบ
  8. มีทรัพยากรธรรมชาติ ที่คนสามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวนำมาใช้ประโยชน์ได้ มากมายหลายชนิด ซึ่งล้วนเป็นทรัพยากร ที่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวัน ความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ชุ่มน้ำ และมีความสำคัญต่อสภาพเศรษฐกิจสังคมโดยส่วนรวมของชาติ

แหล่งข้อมูล :

  • ru.ac.th
  • guru.sanook.com
  • https://www.worldwetlandsday.org/