
วันสิ้นปี : วันปีใหม่
สร้างโดย : นางสาวเบญจมาศ ภัคโชค
New Year’s Eve : New Year’s Day
สร้างเมื่อ ศุกร์, 27/06/2008 – 21:09
มีผู้อ่าน 23,295 ครั้ง (29/10/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/20864
http://www.thaigoodview.com/node/5164
วันสิ้นปี
ความหมายของวันสิ้นปี
วันสิ้นปี หรือ วันส่งท้ายปีเก่า คือ วันสุดท้ายของปี ซึ่งตรงกับวันที่ 31 ธันวาคม ตามปฏิทินเกรโกเรียน (Gregorian Calendar) ซึ่งดัดแปลงมาจากปฏิทินจูเลียน ใช้กันแพร่หลายในประเทศตะวันตก มีระยะเวลา 1 ปียาวนาน 365.25 วัน โดยประกาศใช้ครั้งแรกโดยสมเด็จพระสันตะปาปาเกรโกรีที่ 13 เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2125 (ค.ศ. 1582) โดย วันสิ้นปี 2563 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม
ปัจจุบันนิยมใช้วันสิ้นปีกันทั่วโลก ทางการกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ คืนวันนี้จะมีการจัดงานนับถอยหลัง (countdown) เพื่อเข้าสู่วันขึ้นปีใหม่ในเวลาเที่ยงคืนตามเมืองใหญ่ทั่วโลกซึ่งเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน โดยมักมีการจุดพลุเฉลิมฉลอง สำหรับวันสิ้นปีของประเทศไทย นอกจากจะเป็นวันหยุดของหน่วยงานราชการ ธนาคาร บริษัทต่าง ๆ แล้ว ก็ยังมีการจัดกิจกรรม สวดมนต์ข้ามปี เพื่อเป็นสิริมงคล และถือเป็นนิมิตหมายของการตั้งใจทำความดีของผู้ร่วมกิจกรรมอีกด้วย
เมืองที่ส่งท้ายวันสิ้นปีเข้าสู่ปีใหม่เรียงตามลำดับเวลา
** ในวงเล็บเป็นเวลาประเทศไทยซึ่งตรงกับเวลาเที่ยงคืนของแต่ละเมือง
– ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย (วันที่ 31 ธันวาคม เวลา 20.00 น.)
– โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (วันที่ 31 ธันวาคม เวลา 22.00 น.)
– ฮ่องกง (วันที่ 31 ธันวาคม เวลา 23.00 น.)
– กรุงเทพฯ ประเทศไทย (วันที่ 1 มกราคม เวลา 00.00 น.)
– ปารีส ประเทศฝรั่งเศส/เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี (วันที่ 1 มกราคม เวลา 06.00 น.)
– ลอนดอน สหราชอาณาจักร (วันที่ 1 มกราคม เวลา 07.00 น.)
– ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล (วันที่ 1 มกราคม เวลา 09.00 น.)
– นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา/โทรอนโต ประเทศแคนาดา (วันที่ 1 มกราคม เวลา 12.00 น.)
วันขึ้นปีใหม่
ความหมายของวันขึ้นปีใหม่
ตามพจนานุกรม ฉบับราชตบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า ” ปี” ไว้ดังนี้ ปี หมายถึง เวลา ชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน : เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ
ความเป็นมาของวันขึ้นปีใหม่
ในอดีต วันขึ้นปีใหม่ของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 4 ครั้งคือ ครั้งแรกถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่ง ตรงกับเดือนมกราคม ครั้งที่ 2 กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน
การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน 2 ครั้งนี้ ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก ต่อมาได้ถือเอาทางสุริยคติแทน โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.2432 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็น วันขึ้นปีใหม่อยู่ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ไม่สู้จะมีการรื่นเริงอะไรมากนัก สมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นใน กรุงเทพฯเป็นครั้งแรก
การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายน ได้แพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆมา และในปี พ.ศ.2479 ก็ได้มีการ จัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด วันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ในสมัยนั้นทางราชการเรียกว่า วันตรุษสงกรานต์
ต่อมาได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็น วันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไป
เหตุผลที่ทางราชการได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม ก็คือ
- ไม่ขัดกับพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ
- เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา
- ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก
- เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย
กิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ได้แก่
- การทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้าน หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ
- การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร
- การจัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่างๆ
วันขึ้นปีใหม่นับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้ทบทวนถึงการดำเนินชีวิตในอดีต เพื่อจะได้แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในอดีตให้ดีขึ้น
วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ ปล่อยปลา ปล่อยนก อวยพรซึ่งกันและกัน หรืออาจจะส่งการ์ดบัตรอวยพร ของขัวญไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรับพร และสรงน้ำพระพุทธรูป ประดับธงชาติ และจะเตรียมทำความสะอาดบ้าน และที่พักอาศัย
เวียนบรรจบครบศักราชตั้งปีใหม่ ขออวยชัยอวยพรอักษรศรี
ขอทุกท่านพบพานแต่สิ่งดี มีชีวีสุขสดใสชีพชื่นบาน
ให้สุขภาพสมบูรณ์ทั้งกายใจ ให้ปลอดภัยแคล้วคลาดประสาทประสาน
งานรุ่งเรื่องเงินรุ่งโรจน์ชัชวาล สนุกสนานอภิรมย์สมใจปอง
ปีผ่านไปให้ผ่านพ้นตั้งต้นเริ่ม ที่ดีเพิ่มที่ร้ายลืมไม่มัวหมอง
ปรุงแต่งจิตพิชิตใจไร้ขุ่นข้อง เปิดสมองรับสิ่งใหม่สดใสพลัน
คิดสิ่งใดลุล่วงสำเร็จได้ ขอเทพไทสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นมิ่งขวัญ
เกิดปัญหาได้ปัญญาเป็นที่มั่น ให้สร้างสรรค์รับสิ่งดีปีใหม่เอย..