วันประถมศึกษาแห่งชาติ

สร้างโดย : นางสาวเบญจมาศ ภัคโชค
สร้างเมื่อ ศุกร์, 10/10/2008 – 14:55

     วันประถมศึกษาแห่งชาติ 25 พฤศจิกายน  เป็นวันที่รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อการศึกษาของไทย เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงวางรากฐานให้กับการศึกษาของชาติ เนื่องจากทั้งสองพระองค์ทรงเป็นผู้ให้การสนับสนุนการประถมศึกษา และพระราชทานตราพระราชบัญญัติด้านการประถมศึกษาเอาไว้ ทำให้เกิดเสรีภาพทางการศึกษา และเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย จวบจนกระทั่งทุกวันนี้

ประวัติความเป็นมาของวันประถมศึกษาแห่งชาติ

     การประถมศึกษาของไทยอาศัย บ้าน วัด วัง เป็นสถานศึกษามาตั้งแต่ในสมัยสุโขทัย จนถึงรัตนโกสินทร์ ประเทศไทยนับเป็นประเทศหนึ่งที่เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาเห็นได้จาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎร์ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ วัดมหรรณพาราม และขยายการศึกษาไปตามหัวเมืองต่างๆ


     เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ขึ้นเสวยราชสมบัติ พระองค์ได้ทรงรับภารกิจเกี่ยวกับการจัดการศึกษา สืบเนื่องจากพระราชบิดา ทรงยกฐานะโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงสร้างในปี พ.ศ.2453 ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงให้จัดสร้างโรงเรียนเพาะช่างขึ้นในปี พ.ศ.2456 ทรงจัดตั้งโรงเรียนเบญจมราชาลัยเพื่อฝึกหัดครูในปี พ.ศ.2456 ทรงตั้งโรงเรียนพาณิชยการ เมื่อปีพ.ศ.2465

     พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ขึ้นเพื่อบังคับให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และเพื่อให้เด็กทุกคนรู้หนังสือจึงทรงตราพระราฃบัญญัติประถมศึกษาออกบังคับเป็นเขต ๆ ไป เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2464 เพื่อกำหนดให้เด็กที่มีอายุ 7 ปี บริบูรณ์ทุกคนต้องเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนจนอายุครบ 14 ปี บริบูรณ์ โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน นับเป็นการเริ่มต้นการศึกษาภาคบังคับในระดับประถมศึกษา โดยพระราชบัญญัติประถมศึกษานี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2464

     ด้วยเหตุนี้กระทรวงศึกษาจึงได้กำหนดให้วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันประถมศึกษาแห่งชาติ และได้จัดงานวันประถมศึกษาแห่งชาติเป็นประจำมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2491-2509 ต่อมาโรงเรียนประถมศึกษาได้ถูกโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่นั้นมางานวันประถมศึกษาแห่งชาติจึงเปลี่ยนชื่อเป็น วันศึกษาประชาบาล
     ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2523 ได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาขึ้น จึงได้โอนโรงเรียนประชาบาลกลับมาสังกัดคณะกรรมการการศึกษา การจัดงานวันศึกษาประชาบาลจึงสิ้นสุดลง และกลับมาจัดวันประถมศึกษาแห่งชาติขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้เปลี่ยนจากวันที่ 1 ตุลาคม มาเป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แทน เป็นวันจัดงานวันประถมศึกษาแห่งชาติ

     ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของทั้งสองพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว การศึกษาไทยจึงเจริญรุดหน้าทัดเทียมกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์โปรดให้มีการสร้างโรงเรียน ขึ้นแทนการสร้างวัด ทำให้มีโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ หลายโรงเรียน เช่น โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ โรงเรียนราชวิทยาลัย โรงเรียนพระนครหลวง โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม...

สาระสำคัญของพระราชบัญญัตินี้ มีดังนี้

  1. บังคับให้เด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ เรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนจนอายุ 14 ปีบริบูรณ์ โดยไม่ต้องเสียเงินค่าเล่าเรียน เขตอายุ 7 ปี อาจเขยิบเป็น 8 หรือ 9 หรือ 10 ปีก็ได้ หากมีความจำเป็นและได้รับความเห็นชอบของกระทรวงธรรมการ
  2. เวลาเรียนปีหนึ่งต้องไม่น้อยกว่า 320 เวลา หรือ 800 ชั่วโมง
  3. จะขาดเรียนปีหนึ่งต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน ติดต่อกันไม่ได้
  4. เด็กอาจได้รับข้อยกเว้นตามมาตร 10 ที่กล่าวถึงเด็กที่บิดามารดาหรือผู้ปกครอง ร้องว่า เด็กนั้นได้ศึกษาอยู่กับครอบครัวแล้ว แต่ต้องส่งเด็กไปให้ศึกษาธิการอำเภอสอบไล่ปีละครั้ง เป็นต้น

พระราชบัญญัติฉบับนี้มีบทลงโทษบิดามารดาหรือผู้ปกครองที่ฝ่าฝืน นับแต่การ ตักเตือนจนถึงปรับไหม

     นับแต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศให้ พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2464 เป็นครั้งแรก และมีผลบังคับให้เด็กไทยทั้งชายและหญิงต้องเข้าศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษาในการศึกษาภาคบังคับ พระราชบัญญัติประถมศึกษาฉบับแรกและฉบับ ต่อๆ มา ก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ทันกับยุคสมัยอีกหลายครั้ง

     ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยเป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการประถมศึกษา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2523”

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2523 เป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิก
(1) พระราชบัญญัติประถมศึกษา พุทธศักราช 2478
(2) พระราชบัญญัติประถมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2483
(3) พระราชบัญญัติประถมศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2505
(4) พระราชบัญญัติประถมศึกษา (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2509
(5) พระราชบัญญัติประถมศึกษา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2521

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ “โรงเรียนประถมศึกษา” หมายความว่า โรงเรียนที่จัดการศึกษา ระดับประถมศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ “ผู้ปกครอง” หมายความว่า บิดามารดา หรือบิดา หรือมารดา ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ผู้ปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และหมายความรวมถึงบุคคลที่เด็กอยู่ด้วยเป็นประจำ หรือที่เด็กอยู่รับใช้ การงาน

มาตรา 5 การจัดตั้ง การบริหาร การรวม การปรับปรุง และ การเลิกล้มโรงเรียนประถมศึกษา รวมทั้งการกำหนดเกี่ยวกับเวลาเรียน ภาคเรียน หลักสูตร แบบเรียน อุปกรณ์ทางการศึกษา และการวัดผลการศึกษา ของโรงเรียนประถมศึกษา ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประถมศึกษา แห่งชาติ ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะเป็นอย่างอื่น

มาตรา 6 ให้ผู้ปกครองของเด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่แปด ส่งเด็กนั้น เข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาจนกว่าจะมีอายุย่างเข้าปีที่สิบห้า เว้นแต่เป็นผู้สอบได้ชั้นประถมศึกษาปีที่หกตามหลักสูตรตามมาตรา 5 หรือหลักสูตรอื่น ที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่า

มาตรา 7 ในเดือนธันวาคมของทุกปี ให้คณะกรรมการการประถม ศึกษาอำเภอหรือคณะกรรมการการประถมศึกษากิ่งอำเภอ แล้วแต่กรณี ประกาศ รายละเอียดเกี่ยวกับการส่งเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาให้ผู้ปกครอง ของเด็กซึ่งมีอายุที่กำหนดตามมาตรา 6 ทราบ ประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ปิดไว้ ณ สำนักงานเทศบาล ที่ว่าการอำเภอ ที่ว่าการกิ่งอำเภอ ที่ทำการตำบลและหมู่บ้านและที่โรงเรียนประถมศึกษา ในท้องที่นั้น

มาตรา 8 เมื่อผู้ปกครองร้องขอ คณะกรรมการการประถมศึกษา อำเภอ และคณะกรรมการการประถมศึกษากิ่งอำเภอ มีอำนาจยกเว้นให้เด็ก ซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้ ไม่ต้องเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาได้

(1) มีความบกพร่องในทางร่างกายหรือจิตใจ
(2) เป็นโรคติดต่อตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(3) ต้องหาเลี้ยงผู้ปกครองซึ่งทุพพลภาพ ไม่มีหนทางหาเลี้ยงชีพ และไม่มีผู้อื่นเลี้ยงดูแทน
(4) มีความจำเป็นอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีตาม (3)

     ถ้าผู้ปกครองซึ่งทุพพลภาพมีเด็กซึ่งต้องส่งเข้าเรียน ในโรงเรียนประถมศึกษาพร้อมกันหลายคน ให้ยกเว้นเพียงหนึ่งคน เมื่อปรากฏว่าเด็กพ้นจากลักษณะที่ได้รับการยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการการประถมศึกษาอำเภอหรือคณะกรรมการการประถมศึกษา กิ่งอำเภอ แล้วแต่กรณี สั่งถอนการยกเว้นนั้น

มาตรา 9 บรรดาอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการประถมศึกษา จังหวัดและคณะกรรมการการประถมศึกษาอำเภอตามพระราชบัญญัตินี้ สำหรับ กรุงเทพมหานคร เทศบาล และองค์การปกครองท้องถิ่นอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า เทศบาล ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการประถมศึกษากรุงเทพมหานคร เทศบาล และองค์การปกครองท้องถิ่นนั้น แล้วแต่กรณี

มาตรา 10 ผู้ปกครองผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 6 ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

มาตรา 11 ถ้าในท้องที่ใดยังไม่พร้อมที่จะจัดการศึกษาภาคบังคับ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่หกตามหลักสูตรประถมศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ให้คณะกรรมการการประถมศึกษาจังหวัดประกาศผ่อนผันเป็นปี ๆ ไป และ ให้ถือว่าเด็กซึ่งเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่สี่ในท้องที่นั้นพ้นเกณฑ์การศึกษา ภาคบังคับ แต่จะผ่อนผันหลังจากเวลาที่กำหนดไว้เพื่อการจัดการศึกษา ภาคบังคับของแผนการศึกษาแห่งชาติ ตามประกาศให้ใช้แผนการศึกษา แห่งชาติ พุทธศักราช 2520 ไม่ได้

มาตรา 12 ให้บรรดากฎกระทรวง ข้อบังคับ ประกาศ และระเบียบ ที่ออกตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา พุทธศักราช 2478 และใช้บังคับอยู่ในวัน ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้ง กับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้จนกว่าจะได้มีกฎกระทรวง ประกาศ หรือ ระเบียบตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแทน

มาตรา 13 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตาม พระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงและระเบียบเพื่อปฏิบัติตาม พระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้ บังคับได้

จุดประสงค์ของวันประถมศึกษาแห่งชาติ

  • เพื่อเทิดพระเกียรติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงวางรากฐานการศึกษาของไทย
  • เพื่อเผยแพร่และให้ความรู้งานด้านประถมศึกษา แก่ผู้ที่สนใจ จนนำไปสู่การพัฒนาด้านการเรียนการสอน
  • เพื่อปลูกฝัง และให้เกิดความร่วมมือจากประชาชนตลอดจนส่วนที่เกี่ยวข้องให้ร่วมกันเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการประถมศึกษา
  • เพื่อส่งเสริมความรู้และทักษะของนักเรียนระดับประถมศึกษา
  • เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียน การสอนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

แหล่งที่มา :

  • บ้านจอมยุทธ. (2543). พระราชบัญญัติ ประถมศึกษา พ.ศ. 2523. เข้าถึงได้จาก https://www.baanjomyut.com/library/law/105.html
  • วันประถมศึกษาแห่งชาติ. (2556). เข้าถึงได้จาก http://www.todayth.com/วันประถมศึกษาแห่งชาติ.html
  • อุดม เชยกีวงศ์. (2547). ประเพณี 12 เดือน. กรุงเทพฯ: ภูมิปัญญา.
  • https://e-library.siam.edu/national-primary-education-day

ย่อ