ตัวอย่าง 4 จังหวะในการเต้นลีลาศที่ควรศึกษา
สร้างโดย : นางสาวศิรินทร์ ปัชชา และนางสาวสมพร ฉ่ำเอี่ยม
สร้างเมื่อ จันทร์, 30/11/2009 – 02:16
มีผู้อ่าน 922,642 ครั้ง (26/10/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/50718
จังหวะในการเต้นลีลาศที่ควรศึกษา
จังหวะลีลาศทั้ง 4 จังหวะ ได้แก่ จังหวะบีกิน จังหวะชะช่ะช่า จังหวะวอทลซ์ และจังหวะรุมบ้า ทั้ง 4 จังหวะนี้เป็นพื้นฐานของการเต้นในจังหวะอื่นๆ ถ้าสามารถเต้น 4 จังหวะนี้ได้ก็สามารถเต้นจังหวะอื่นๆได้เช่นเดียวกัน สามารถนำท่าเต้นลีลาศทั้ง 4 จังหวะนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพราะการเข้าสังคมส่วนใหญ่ การเต้นลีลาศก็จะเป็นอีกหนทางหนึ่งในการเข้าสังคมได้อย่างมีน่ามีตา แล้วนอกจากนี้ยังทำให้เกิดความสนุกสนานในการเต้นอีกด้วย
บีกิน (BEGUINE)
การเต้นรำจังหวะบีกิน
บีกินเป็นจังหวะลีลาศประเภทเบ็ดเตล็ด (POP AND SOCIAL DANCES) ที่ปัจจุบันนิยมเต้นกันเฉพาะงานสังคมลีลาศทั่ว ๆ ไปในประเทศไทย ไม่นิยมเต้นกันในต่างประเทศ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าคนไทยเรานิยมเต้นรำจังหวะบีกินมาตั้งแต่เมื่อไร เท่าที่พอจะทราบได้คือ ในช่วงเวลาที่ครูอัตถ์ พึ่งประยูร บรมครูสอนลีลาศคนหนึ่งของไทยที่เต้นรำมาตั้งแต่ พ.ศ. 2492 หรือ 2493 นั้นก็มีการเต้นรำจังหวะบีกินกันแล้ว โดยเข้าใจกันว่าชาวฟิลิปปินส์ที่มาเล่นดนตรีในเมืองไทยเป็นผู้แนะนำ
ดนตรีและการนับจังหวะ
- ดนตรีของจังหวะบีกินเป็นแบบ 4/4 คือ มี 4 จังหวะใน 1 ห้องเพลง โดยที่สามจังหวะแรกจะเป็นเสียงหนัก และจังหวะที่สี่จะเป็นเสียงเบา และทุก ๆ จังหวะจะมีความเร็วช้าเท่ากันหมด
- การนับจังหวะจะนับ 1,2,3, พัก, 1,2,3,พัก (พัก หมายถึง พักเข่าหรืองอเข่า) ต่อเนื่องกันไป และก้าวที่ 1 ตรงกับจังหวะที่ 1 ของห้องเพลง
- ความเร็วช้าของจังหวะดนตรี
ดนตรีของจังหวะบีกินบรรเลงด้วยความเร็วประมาณ 28 – 32 ห้องเพลงต่อนาที - การจับคู่
การจับคู่เป็นแบบปิดของละตินอเมริกันโดยทั่วไป
- การก้าวเท้า
การก้าวเท้าทุก ๆ ก้าวไม่ว่าจะเป็นการเดินไปข้างหน้าหรือถอยหลังก็ตามต้องให้ฝ่าเท้าถึงพื้นก่อนเสมอ แล้วจึงราบลงเต็มเท้า ในขณะที่เดินเข่าจะงอเล็กน้อยเมื่อยกเท้าก้าวไป และตึงเมื่อวางเท้าถึงพื้นและราบเท้าลง เมื่อรับน้ำหนักตัวเต็มที่ หลักการก้าวเท้า คือ เข่าจะงอข้างหนึ่ง และตั้งข้างหนึ่งสลับกันไปมา ซึ่งจะทำให้สะโพกบิดไปมาอย่างเป็นธรรมชาติและสวยงาม ส่วนลำตัวตึงแต่เอวถึงศีรษะตรงและนิ่ง อย่าแกว่งตัวไปมา เพราะจะทำให้ไม่น่าดู - ทักษะการเต้นรำจังหวะบีกิน
1. สแควร์ (Square)
2. การไขว้
3. การหมุน
สแควร์ (Square)
- สแควร์ ของฝ่ายชาย ประกอบด้วยการเดิน ดังนี้
เริ่มต้นด้วยการยืนจับคู่แบบปิด หันหน้าตามแนวเต้นรำ น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าขวา
ก้าวที่ | การก้าวเท้า | จังหวะ |
1 | ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้าตรง ๆ | 1 |
2 | ก้าวเท้าขวาผ่านเท้าซ้ายไปข้างหน้า | 2 |
3 | ก้าวเท้าซ้ายผ่านเท้าขวาไปข้างหน้า | 3 |
พัก งอเข่าขวา | พัก | |
4 | ถอยเท้าขวาไปข้างหลังตรง ๆ | 1 |
5 | ถอยเท้าซ้ายผ่านเท้าขวาไปข้างหลัง | 2 |
6 | ถอยเท้าขวาผ่านเท้าซ้ายไปข้างหลัง | 3 |
พัก งอเข่าซ้าย | พัก |
หมายเหตุ :
1) การเดินไปข้างหน้าหรือถอยหลัง 3 ก้าวนี้เรียกว่า 1 วอล์ค ส่วนจังหวะที่ 4 นั้นจะงอเข่าโดยการเปิดส้นเท้าขึ้นและจะใช้เท้าที่พักนี้เดินเป็นก้าวที่ 1 ในห้องเพลงต่อไป ดังนั้นการก้าวเท้าจะไม่ใช้เท้าซ้ำกันเลย
2) ในการฝึกอาจจะฝึกเดินไปข้างหน้าหรือถอยหลังติดต่อกันหลายๆ ห้องเพลงเพื่อหาความชำนาญในการก้าวเท้าให้ตรงกับจังหวะดนตรีก็ได้
- สแควร์ ของฝ่ายหญิง ประกอบด้วยการเดิน ดังนี้
เริ่มต้นด้วยการยืนจับคู่แบบปิด หันหน้าย้อนแนวเต้นรำ น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าซ้ายก้าวที่การก้าวเท้าจังหวะ1ก้าวเท้าขวาไปข้างหลังตรง ๆ12ถอยเท้าซ้ายผ่านเท้าขวาไปข้างหลัง23ถอยเท้าขวาผ่านเท้าซ้ายไปข้างหลัง3 พัก งอเข่าซ้ายพัก4ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้าตรง ๆ15ก้าวเท้าขวาผ่านเท้าซ้ายไปข้างหน้า26ก้าวเท้าซ้ายผ่านเท้าขวาไปข้างหน้า3 พัก งอเข่าขวาพัก
การไขว้
- การไขว้ของฝ่ายชาย ประกอบด้วยการเดิน ดังนี้
เริ่มต้นด้วยการยืนจับคู่แบบปิด หันหน้าตามแนวเต้นรำ น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าขวา
ก้าวที่ | การก้าวเท้า | จังหวะ |
1 | ก้าวเท้าซ้ายผ่านเท้าขวาไปทางขวา | 1 |
2 | ก้าวเท้าขวาตามไปทางขวา | 2 |
3 | ถอยเท้าซ้ายผ่านส้นเท้าขวาไปทางขวา อีก 1 ก้าว | 3 |
พัก งอเข่าขวา | พัก | |
4 | ยกเท้าขวาย่ำอยู่ที่เดิม | 1 |
5 | ก้าวเท้าซ้ายไปทางซ้าย | 2 |
6 | ถอยเท้าขวาผ่านส้นเท้าซ้ายไปทางซ้าย | 3 |
พัก งอเข่าซ้าย | พัก |
- การไขว้ของฝ่ายหญิง ประกอบด้วยการเดิน 3 ก้าว ดังนี้
เริ่มต้นด้วยการยืนจับคู่แบบปิด หันหน้าย้อนแนวเต้นรำ น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าซ้าย
ก้าวที่ | การก้าวเท้า | จังหวะ |
1 | ถอยเท้าขวาผ่านส้นเท้าซ้ายไปทางซ้าย | 1 |
2 | ก้าวเท้าซ้ายตามไปทางซ้าย | 2 |
3 | ก้าวเท้าขวาผ่านเท้าซ้ายไปทางซ้าย อีก 1 ก้าว | 3 |
พัก งอเข่าซ้าย | พัก | |
4 | ยกเท้าซ้ายย่ำอยู่ที่เดิม | 1 |
5 | ก้าวเท้าขวาผ่านเท้าซ้ายไปทางขวา | 2 |
6 | ก้าวเท้าซ้ายผ่านเท้าขวาไปทางขวา | 3 |
พัก งอเข่าขวา | พัก |
การหมุน
- การหมุนของฝ่ายชายประกอบด้วยการเดิน 3 ก้าวดังนี้เริ่มต้นด้วยการยืนหันหน้าไปทางเดียวกัน มือซ้ายจับมือขวาของผู้หญิง น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าขวา
ก้าวที่ | การก้าวเท้า | จังหวะ |
1 | ก้าวเท้าซ้ายหมุนตัวไปทางซ้าย 1/8 รอบ พร้อมกับยกมือซ้ายขึ้นสูงเหนือศีรษะผู้หญิง | 1 |
2 | หมุนตัวไปทางซ้ายอีก 1/8 รอบ พร้อมกับก้าวเท้าขวาไปข้างหน้ายังคงยกมือซ้ายอยู่ | 2 |
3 | หมุนตัวไปทางซ้ายอีก 1/4 รอบ พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า จบก้าวนี้แล้วลดมือซ้ายลง หันหน้าตรงกัน | 3 |
พัก | งอเข่าขวา | พัก |
**จบแล้วต่อด้วย สแควร์ ถอยหลัง 3 ก้าว (ขวา-ซ้าย-ขวา) และจับคู่แบบปิดตามเดิม**
- การหมุนของฝ่ายหญิงประกอบด้วยการเดิน 3 ก้าวดังนี้
เริ่มต้นด้วยการยืนหันหน้าไปทางเดียวกัน มือขวาจับมือซ้ายของผู้ชาย น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าซ้าย
ก้าวที่ | การก้าวเท้า | จังหวะ |
1 | ยกมือขวาขึ้นสูงเหนือศีรษะและหมุนตัวไปทางขวา 3/8 รอบ (หันหน้าเข้าหาคู่ แต่ตัวเหลื่อมกัน) พร้อมกับก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า | 1 |
2 | หมุนตัวไปทางขวาอีก 3/8 รอบ พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า | 2 |
3 | หมุนตัวไปทางขวาอีก 1/2 รอบ พร้อมกับถอยเท้าขวาไปข้างหลัง จบก้าวนี้แล้วลดมือขวาลง หันหน้าตรงกับคู่ | 3 |
พัก | งอเข่าซ้าย | พัก |
**จบแล้วต่อด้วย สแควร์ ไปข้างหน้า 3 ก้าว (ซ้าย-ขวา-ซ้าย) และจับคู่แบบปิดตามเดิม**
*****หมายเหตุ สามารถทำท่าต่อเนื่องกันได้ทั้งหมดจากท่าหนึ่งไปอีกท่าหนึ่ง*****
วอลทซ์ (WALTZ)
การเต้นรำจังหวะวอลทซ์
วอลทซ์เป็นหนึ่งในบรรดาจังหวะเต้นรำประเภทบอลรูมหรือโมเดิร์นที่มีกำเนิดจากตอนใต้ของประเทศเยอรมันนี ในราวปี ค.ศ.1780 ซึ่งโทมัส วิลสัน ( THOMAS WILSON ) ครูสอนเต้นรำชาวอังกฤษจากคิงส์เธียเตอร์ ( KING’S THEATRE ) ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับวอลทซ์ไว้ในหนังสือชื่อ “WALTZING” พิมพ์ในปี ค.ศ. 1816 ไว้ว่าวอลทซ์เป็นการเต้นรำชนิดหนึ่งซึ่งชาวเยอรมนีเป็นผู้ให้กำเนิด ได้เข้ามาเป็นครั้งแรกในแคว้นสวาเบีย ( SWABIA ) ซึ่งเป็นหนึ่งในชาวเก้าแคว้นของเยอรมนี และเริ่มแพร่หลายในแคว้นใกล้เคียงและไปทั่วทวีปยุโรป ทั้งยังไม่เคยเสื่อมความนิยมในหมู่นักลีลาศเลยนับตั้งแต่นักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่คือ โจฮัน สเตราส์ ( JOHAN STRAUSS ) แต่งเพลงจังหวะวอลทซ์ได้อย่างไพเราะจับใจ ในตอนต้นศตวรรษที่ 20 วอลทซ์ก็ได้รับความนิยมสูงสุด (เฉพาะปี ค.ศ.1910 การเต้นรำที่จัดขึ้น 24 ครั้งจะเป็นวอลทซ์ 18 ครั้ง) ลักษณะการเต้นวอลทซ์แบบเดิมซึ่งยังไม่ได้มีการปรับปรุงนั้น เฟอเรโร กล่าวว่า เป็นการเต้นโดยการกระโดดไปหน้าหรือถอยหลัง ชาวพื้นเมืองบาวาเรียนนิยมเต้นกันมากเขาจะสวมรองเท้าไม้เต้นในสนาม การก้าวไปข้างๆ และการชิดเท้าไม่จำเป็นต้องทำเลย สำหรับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการเต้นที่เกิดขึ้นภายหลังนั้นก็เพื่อที่จะให้เป็นการเต้นรำที่ทันสมัยที่สุด
การเต้นรำจังหวะวอลทซ์ในปัจจุบันนั้น การก้าวเท้าจะเต็มไปด้วยลีลาศและจังหวะที่สง่างามทั้งยังสามารถปรับการเต้นให้เข้ากับขนาดของฟลอร์ และจำนวนของคู่ลีลาศได้ง่ายด้วยการปรับระยะการก้าวเท้า ถ้าขนาดของฟลอร์เล็กและมีคู่ลีลาศมาก การก้าวเท้าก็จะเป็นการก้าวสั้นๆ และไม่มีการยกตัวขึ้น ( RISE ) แต่ถ้าฟลอร์มีขนาดใหญ่และมีคู่ลีลาศไม่มากนัก เราก็สามารถก้าวเท้าให้ยาว และยกตัวขึ้น เมื่อจบจังหวะที่ 1 และลดตัวลง (FALL) เมื่อจบจังหวะที่ 3
อย่างไรก็ตามการที่จะลีลาศจังหวะวอลทซ์ให้สวยงามนั้นผู้เรียนจะต้องใช้เวลาพอสมควรและต้องให้ความสนใจกับเทคนิคต่างๆ ได้แก่ การเคลื่อนไหวร่างกายไปในทิศทางตรงกันข้าม การยกลำตัวขึ้นและลดตัวลง การเอนลำตัว และการใช้เท้า รวมทั้งต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องแนวเต้นรำด้วยจึงจะได้ผล
ดนตรีและการนับจังหวะ
- ดนตรีของจังหวะวอลทซ์จะเป็นแบบ 3/4 คือมี 3 จังหวะใน 1 ห้องเพลง ดนตรีจะมีเสียงเน้นหนักในจังหวะแรก (พั่ม แท๊ก แท๊ก) ทุกๆ จังหวะจะมีความเร็ว-ช้า เท่ากันหมดทั้ง 3 จังหวะ นั่นคือ ในหนึ่งห้องเพลงจะเดิน 3 ก้าวต่อ 3 จังหวะ ในการฟังเพลงให้สังเกตจากเสียงของกลองและเบสเป็นหลัก
- การนับจังหวะ จะนับแบบ 1-2-3 , 1-2-3 เรื่อยๆ ไป หรือนับตามจำนวนกลุ่มของการก้าว 3 ก้าว เช่น 1-2-3-4-5-6 หรือนับตามเสียงดนตรี คือ พั่ม แท๊ก แท๊ก ก็ได้ โดยที่ก้าวแรกจะตรงกับจังหวะที่หนึ่งของห้องเพลง คือ จังหวะที่มีเสียงดนตรีเน้นหนัก ( ACCENTED BEAT )
- ความเร็วช้าของดนตรี
ดนตรีมาตรฐานของจังหวะวอลทซ์บรรเลงด้วยความเร็ว 31 ห้องเพลงต่อนาที (29-34 ห้องเพลงต่อนาที)
การจับคู่ในจังหวะวอลทซ์
เป็นการจับคู่แบบปิด อาจมีบางท่าที่มีการจับคู่แบบพรอมเมอหนาด ( PROMENADE )
การฝึกเต้นจังหวะวอลทซ์ ควรฝึกหัดท่าพื้นฐาน ( BASIC FIGURE ) หรือกลุ่มสเต็ปที่เอามารวมกันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นก่อน เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับจังหวะเพลงและชินกับสแควร์ (NATURAL SQUARE) ซึ่งเป็นการเดินในรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
ในการลีลาศจังหวะวอลทซ์ การยกตัวขึ้นและลดตัวลงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากเพราะทำให้เกิดความสวยงามและมีชีวิตชีวา ผู้เต้นจะพลิ้วลอยไปบนฟลอร์ราวกับ “ เรือน้อย ” ที่ลอยไปตามคลื่นลม การยกตัวขึ้นและลดตัวลงนี้จะต้องปฏิบัติตั้งแต่ปลายเท้า ข้อเท้า หัวเข่า ลำตัว ตลอดจนศีรษะ การยกตัวขึ้นและลดตัวลงสามารถทำได้ดังนี้
ก้าวที่ 1 จังหวะ “ พั่ม ” ให้ก้าวยาวและลงเต็มเท้า (FALL)
ก้าวที่ 2 จังหวะ “ แท๊ก ” ให้ก้าวเท้าแยกออกทางข้างเท้าทั้งสองเสมอกันและขนานกันพร้อมกับเขย่งส้นเท้าขึ้น (RISE)
ก้าวที่ 3 จังหวะ “ แท๊ก ” ให้ลากเท้าอีกข้างมาชิดพร้อมกับเขย่งส้นเท้า (RISE) ขณะนี้เท้าทั้งสองจะยืนในลักษณะเขย่งอยู่
- การชิดเท้า การชิดเท้าเป็นสิ่งที่ต้องทำบ่อยที่สุด การชิดเท้าต้องชิดด้วยขอบเท้าด้านในของเท้าทั้งสอง น้ำหนักตัวมั่นคงอยู่บนเท้าทั้งสอง ลำตัวตั้งตรงไม่เอนไปข้างหน้าหรือข้างหลัง เท้าไม่เหลื่อมกันจนเกินไป การชิดเท้าจะต้องก้าวชิดอย่างช้าๆ ไม่รีบร้อนแต่ต้องให้ทันจังหวะเสมอ
- การเอนลำตัว หมายถึง เอนลำตัวไปทางซ้ายหรือขวา ใช้ขณะหมุนตัวไปทางซ้ายหรือขวา เดินหน้าหรือถอยหลังที่เป็นเส้นโค้ง การเอนลำตัวจะต้องปฏิบัติตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นไปจนถึงศีรษะ ทั้งนี้ยกเว้นในการหมุนตัวแบบสปิน ( SPIN ) จะไม่มีการเอนลำตัว
ทักษะการเต้นรำจังหวะวอลทซ์
1. สแควร์ (Square)
2. การไขว้
3. การหมุน
สแควร์ (SQUARE)
สแควร์ เป็นแบบฝึกที่ใช้ได้ทั้งหญิงและชาย เป็นการฝึกเดินคนเดียว ยังไม่มีการเข้าคู่ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับจังหวะเพลงและเทคนิคต่างๆ ของการลีลาศในจังหวะวอลทซ์ ประกอบไปด้วยการเดิน 6 ก้าวดังนี้
เริ่มต้นด้วยการยืนหันหน้าไปตามแนวเต้นรำ เท้าชิด น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าซ้าย
ก้าวที่ | การก้าวเท้า | จังหวะ |
1 | ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าด้วยส้นเท้าแล้วจึงราบลงเต็มเท้า | 1 |
2 | แยกเท้าซ้ายไปข้างๆ ในแนวเดียวกับเท้าขวาด้วยปลายเท้า พร้อมกับเริ่มยกส้นเท้าขวาขึ้น | 2 |
3 | จากพื้นขณะนี้ส้นเท้าทั้งสองยกขึ้นจากพื้น(ยืนเขย่งเท้า) ลากปลายเท้าขวามาชิดปลายเท้าซ้าย และเขย่งยืดตัวและขาจนสุดหลังจากจบก้าวนี้แล้ว | 3 |
4 | ลดส้นเท้าลงสู่พื้นเพื่อเตรียมย่อตัวถอยเท้าซ้ายต่อไป ถอยเท้าซ้ายมาข้างหลังตรงๆ ด้วยปลายเท้าแล้วลดส้นเท้าลงเต็มเท้า | 1 |
5 | แยกเท้าขวาไปข้างๆ ในแนวเดียวกับเท้าซ้ายด้วยปลายเท้า พร้อมกับเริ่มยกส้นเท้าขวาขึ้นจากพื้น ขณะนี้ส้นเท้าทั้งสองยกขึ้นจากพื้น | 2 |
6 | ลากปลายเท้าซ้ายมาชิดปลายเท้าขวาและเขย่งยืดตัวและขาจนสุด หลังจากจบก้าวนี้แล้วลดส้นเท้าทั้งสองลงสู่พื้นเพื่อเตรียมก้าวเท้าขวาต่อไป | 3 |
การใช้เท้า : 1. ส้นเท้า–ปลายเท้า 2. ปลายเท้า 3. ปลายเท้า–ส้นเท้า 4. ปลายเท้า–ส้นเท้า 5. ปลายเท้า 6. ปลายเท้า–ส้นเท้า
การเคลื่อนไหวร่างกายไปในทิศทางตรงกันข้าม : ทำเพียงเล็กน้อยก้าวที่ 1 และ 4
การเอนลำตัว : เอนลำตัวไปทางขวาในก้าวที่ 2 และ 3 และเอนลำตัวไปทางซ้ายในก้าวที่ 5 และ6
การไขว้
- การไขว้ของฝ่ายชาย เป็นท่าที่ดัดแปลงมาจากสแควร์ โดยฝ่ายชายเริ่มตรงก้าวที่ 1 และ ฝ่ายหญิงเริ่มตรงก้าวที่ 4
การไขว้ของฝ่ายชาย ประกอบด้วยการเดิน 6 ก้าว ดังนี้ เริ่มต้นด้วยการยืนหันหน้าเฉียงเข้าฝาห้องตามแนวเต้นรำ
ก้าวที่ | การก้าวเท้า | จังหวะ |
1 | ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าตรงๆ ด้วยส้นเท้า แล้วจึงราบลงเต็มเท้า พร้อมกับเริ่มหมุนตัวไปทางขวา และเริ่มเขย่งเท้ายืดตัวและขาขึ้น | 1 |
2 | หมุนตัวต่อเนื่องไปทางขวา 1/4 รอบ พร้อมกับแยกเท้าซ้ายไปข้างๆ ด้วยปลายเท้า หันหน้าเฉียงเข้าฝาห้องย้อนแนวเต้นรำ ยังคงเขย่งเท้ายืดตัวและขาต่อเนื่อง | 2 |
3 | หมุนตัวต่อเนื่องไปทางขวา 1/8 รอบ พร้อมกับลากปลายเท้าขวามาชิดปลายเท้าซ้าย เมื่อจบ ก้าวนี้แล้วจะหันหน้าย้อนแนวเต้นรำ การเขย่งเท้า ยืดตัวและขายังคงทำต่อเนื่อง และเมื่อจบ ก้าวนี้แล้วลดส้นเท้าทั้งสองลง เพื่อเตรียมถอยเท้าซ้ายต่อไป | 3 |
4 | ถอยเท้าซ้ายไปข้างหลังตรงๆ ด้วยปลายเท้าแล้วจึงราบลงเต็มเท้า พร้อมกับเริ่มหมุนตัวไป ทางขวา และเริ่มเขย่งเท้า ยืดตัวและขาขึ้น | 1 |
5 | หมุนตัวต่อเนื่องไปทางขวา 3/8 รอบ พร้อมกับแยกเท้าขวาไปข้างๆ ด้วยปลายเท้า ให้ปลายเท้าชี้เฉียงเข้ากลางห้องตามแนวเต้นรำ ยังคงเขย่งเท้ายืดตัวและขาต่อเนื่องกัน | 2 |
6 | ลากปลายเท้าซ้ายมาชิดปลายเท้าขวา หันหน้าเฉียงเข้ากลางห้องตามแนวเต้นรำ การเขย่งเท้า ยืดตัวและขายังคงทำต่อเนื่อง และเมื่อจบก้าวนี้แล้ว ลดส้นเท้าทั้งสองลง เพื่อเตรียมก้าวเท้าขวาต่อไป | 3 |
การใช้เท้า : 1. ส้นเท้า–ปลายเท้า 2. ปลายเท้า 3. ปลายเท้า–ส้นเท้า 4. ปลายเท้า–ส้นเท้า 5. ปลายเท้า 6. ปลายเท้า–ส้นเท้า
การเคลื่อนไหวร่างกายไปในทิศทางตรงกันข้าม : ทำในก้าวที่ 1 และ 4
การเอนลำตัว : เอนลำตัวไปทางขวาในก้าวที่ 2 และ 3 และเอนลำตัวไปทางซ้ายในก้าวที่ 5 และ 6
- การไขว้ของฝ่ายหญิง
ประกอบด้วยการเดิน 6 ก้าว ดังนี้ เริ่มต้นด้วยการยืนหันหน้าเฉียงเข้ากลางห้องย้อนแนวเต้นรำ
ก้าวที่ | การก้าวเท้า | จังหวะ |
1 | ถอยเท้าซ้ายไปข้างหลังตรงๆ ด้วยปลายเท้าจึงราบลงเต็มเท้า เริ่มหมุนตัวไปทางขวา และเริ่มเขย่งเท้า ยืดตัวและขาขึ้น | 1 |
2 | หมุนตัวต่อเนื่องไปทางขวา 3/8 รอบ พร้อมกับแยกเท้าขวาไปข้างๆ เมื่อจบก้าวนี้ปลายเท้าจะชี้ไปตามแนวเต้นรำ ยังคงเขย่งเท้า ยืดตัวและขาต่อเนื่องกัน | 2 |
3 | ลากปลายเท้าซ้ายมาชิดปลายเท้าขวา หันหน้าตามแนวเต้นรำ การเขย่งเท้า ยืดตัว และขายังคงทำต่อเนื่อง และเมื่อจบก้าวนี้แล้ว ลดส้นเท้าทั้งสองลงเพื่อเตรียมก้าว เท้าขวาต่อไป | 3 |
4 | ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าตรงๆ ด้วยส้นเท้าแล้วจึงราบลงเต็มเท้า เริ่มหมุนตัวไปทางขวา และเริ่มเขย่งเท้า ยืดตัวและขาขึ้น | 1 |
5 | หมุนตัวไปทางขวา 1/4 รอบ พร้อมกับแยกเท้าซ้ายไปข้างๆ ด้วยปลายเท้า เมื่อจบก้าวนี้จะหันหน้าเข้าฝาห้อง ยังคงเขย่งเท้ายืดตัวและขาต่อเนื่องกัน | 2 |
6 | หมุนตัวไปทางขวา 1/8 รอบ พร้อมกับลากปลายเท้าขวามาชิดปลายเท้าซ้าย เมื่อจบก้าวนี้จะหันหน้าเฉียงเข้าฝาห้องย้อนแนวเต้นรำ การเขย่งเท้ายืดตัว และขายังคงทำต่อเนื่อง และเมื่อจบก้าวนี้แล้วลดส้นเท้าทั้งสองลง เพื่อเตรียมถอยเท้าซ้ายต่อไป | 3 |
การใช้เท้า : 1. ปลายเท้า–ส้นเท้า 2. ปลายเท้า 3. ปลายเท้า–ส้นเท้า 4. ปลายเท้า–ส้นเท้า 5. ปลายเท้า 6. ปลายเท้า–ส้นเท้า
การเคลื่อนไหวร่างกายไปในทิศทางตรงกันข้าม : ทำในก้าวที่ 1 และ 4
การเอนลำตัว : เอนลำตัวไปทางซ้ายในก้าวที่ 2 และ 3 และเอนลำตัวไปทางขวาในก้าวที่ 5 และ 6
การหมุน
- การหมุนของฝ่ายชาย
ประกอบด้วยการเดิน 6 ก้าว ดังนี้ เริ่มต้นด้วยการยืนหันหน้าเฉียงเข้ากลางห้องตามแนวเต้นรำ
ก้าวที่ | การก้าวเท้า | จังหวะ |
1 | ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้าด้วยส้นเท้าแล้วจึงราบลงเต็มเท้า พร้อมกับเริ่มหมุนตัวไปทางซ้าย และเริ่มเขย่งเท้า ยืดตัวและขาขึ้น | 1 |
2 | หมุนตัวต่อเนื่องไปทางซ้าย 1/4 รอบ พร้อมกับแยกเท้าขวาไปข้างๆ ด้วยปลายเท้า หันหน้าเฉียงเข้ากลางห้องย้อนแนวเต้นรำ ยังคงเขย่งเท้ายืดตัวและขาต่อเนื่องกัน | 2 |
3 | หมุนตัวต่อเนื่องไปทางซ้ายอีก 1/8 รอบ พร้อมกับลากปลายเท้าซ้ายมาชิดปลายเท้าขวา เมื่อจบก้าวนี้จะหันหน้าย้อนแนวเต้นรำ การเขย่งเท้ายืดตัวและขายังคงทำต่อเนื่องและเมื่อ จบก้าวนี้แล้วลดส้นเท้าทั้งสองลงเพื่อเตรียมถอยเท้าขวาต่อไป | 3 |
4 | ถอยเท้าขวาไปข้างหลังตรงๆ ด้วยปลายเท้าแล้วจึงราบลงเต็มเท้า พร้อมกับเริ่มหมุนตัวไปทางซ้าย และเริ่มเขย่งเท้า ยืดตัวและขาขึ้น | 1 |
5 | หมุนตัวต่อเนื่องไปทางซ้าย 3/8 รอบ พร้อมกับแยกเท้าซ้ายไปข้างๆ ด้วยปลายเท้า ให้ปลายเท้าซ้าย เฉียงเข้าหาฝาห้องตามแนวเต้นรำ ยังคงเขย่งเท้า ยืดตัวและขาต่อเนื่องกัน | 2 |
6 | ลากปลายเท้าขวามาชิดปลายเท้าซ้าย หันหน้าเฉียงเข้าฝาห้องตามแนวเต้นรำ การเขย่งเท้า ยืดตัวและขายังคงทำต่อเนื่อง และเมื่อจบก้าวนี้แล้วลดส้นเท้าทั้งสองลงเพื่อเตรียมก้าวเท้าซ้ายต่อไป | 3 |
การใช้เท้า : 1. ส้นเท้า–ปลายเท้า 2. ปลายเท้า 3. ปลายเท้า–ส้นเท้า 4. ปลายเท้า–ส้นเท้า 5. ปลายเท้า 6. ปลายเท้า–ส้นเท้า
การเคลื่อนไหวร่างกายไปในทิศทางตรงกันข้าม : ทำในก้าวที่ 1 และ 4
การเอนตัว : เอนลำตัวไปทางซ้ายในก้าวที่ 2 และ 3 และเอนลำตัวไปทางขวาในก้าวที่ 5 และ 6
- การหมุนของฝ่ายหญิง
ประกอบด้วยการเดิน 6 ก้าว ดังนี้ เริ่มต้นด้วยการยืนหันหน้าเฉียงเข้าฝาห้องย้อนแนวเต้นรำ
ก้าวที่ | การก้าวเท้า | จังหวะ |
1 | ถอยเท้าขวาไปข้างหลังตรงๆ ด้วยปลายเท้าแล้วจึงราบลงเต็มเท้า เริ่มหมุนตัวไปทางซ้าย และเริ่มเขย่งเท้ายืดตัวและขาขึ้น | 1 |
2 | หมุนตัวต่อเนื่องไปทางซ้าย 3/8 รอบ พร้อมกับแยกเท้าซ้ายไปข้างๆ เมื่อจบก้าวนี้ปลายเท้า จะชี้ไปตามแนวเต้นรำ ยังคงเขย่งเท้า ยืดตัวและขาต่อเนื่องกัน | 2 |
3 | ลากปลายเท้าขวามาชิดปลายเท้าซ้าย หันหน้าตามแนวเต้นรำ การเขย่งเท้า ยืดตัวและขา ยังคงทำต่อเนื่อง และเมื่อจบก้าวนี้แล้วลดส้นเท้าทั้งสองลงเพื่อเตรียมก้าวเท้าซ้ายต่อไป | 3 |
4 | ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้าตรงๆ ด้วยส้นเท้าแล้วจึงราบลงเต็มเท้า พร้อมกับเริ่มหมุนตัวไปทางซ้าย และเริ่มเขย่งเท้า ยืดตัวและขาขึ้น | 1 |
5 | หมุนตัวไปทางซ้าย 1/4 รอบ พร้อมกับแยกเท้าขวาไปข้างๆ ด้วยปลายเท้า เมื่อจบก้าวนี้จะหันหน้า เข้ากลางห้อง ยังคงเขย่งเท้า ยืดตัวและขาต่อเนื่องกัน | 2 |
6 | หมุนตัวไปทางซ้าย 1/8 รอบ พร้อมกับลากปลายเท้าซ้ายมาชิดปลายขวา เมื่อจบก้าวนี้จะหันหน้า เฉียงเข้ากลางห้องย้อนแนวเต้นรำ การเขย่งเท้า ยืดตัวและขายังคงทำต่อเนื่อง และเมื่อจบก้าวนี้ แล้วลดส้นเท้าทั้งสองเพื่อเตรียมถอยเท้าขวาต่อไป | 3 |
การใช้เท้า : 1. ปลายเท้า–ส้นเท้า 2. ปลายเท้า 3. ปลายเท้า–ส้นเท้า 4. ส้นเท้า–ปลายเท้า 5. ปลายเท้า 6. ปลายเท้า–ส้นเท้า
การเคลื่อนไหวร่างกายไปในทิศทางตรงกันข้าม : ทำในก้าวที่ 1 และ 4
การเอนตัว : เอนลำตัวไปทางขวาในก้าวที่ 2 และ 3 และเอนลำตัวไปทางซ้ายในก้าวที่ 5 และ 6
ช่ะ ช่ะ ช่า (CHA CHA CHA)
การเต้นรำจังหวะช่ะ ช่ะ ช่า
ในบรรดาจังหวะเต้นรำแบบละตินอเมริกันที่มีอยู่ด้วยกัน 5 จังหวะนั้น ช่ะ ช่ะ ช่า เป็นจังหวะเต้นรำที่มีกำเนิดหลังสุด กล่าวคือเป็นจังหวะที่รับการพัฒนามาจากจังหวะแมมโบ้ ( MAMBO) ซึ่งในอดีตเรียกชื่อจังหวะนี้เต็มๆ ว่า แมมโบ้ ช่ะ ช่ะ ช่า ต้นกำเนิดมาจากคิวบันการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากอิทธิพลของดนตรีที่พัฒนาไป ทำให้การเต้นรำพัฒนาตามไปด้วย
ต้นกำเนิดของ ช่ะ ช่ะ ช่า เริ่มในปี ค.ศ. 1950 ขณะที่ดนตรีของคิวบันได้รับความนิยมอยู่ในอังกฤษนั้นได้มีเพลงจังหวะสวิง ( SWING) ซึ่งเกิดใหม่และนิยมกันมากเข้ามามีบทบาทแทรกแซงผสมผสานกับดนตรีของคิวบัน ทำให้เพลงของคิวบันที่เคยมีลักษณะนุ่มนวลเปลี่ยนเป็นเร็วขึ้น เครื่องดนตรีที่ใช้เคาะจังหวะเริ่มเล่นพลิกแพลงผิดเพี้ยนออกไป เริ่มเคาะให้ไม่ลงจังหวะ ( OFF BEAT) สไตล์ของดนตรีที่พัฒนามานี้จึงได้ชื่อว่า “ แมมโบ้ ” และมีการสาธิตเต้นรำจังหวะแมมโบ้ ในการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับการเต้นรำ แบบบอลรูมที่แบลคพูลประเทศอังกฤษ ( INTERNATIONAL DANCE CONGRESS IN BLACKPOLL) รูปแบบการเต้นแมมโบ้พื้นฐานก็คือ ก้าวออกไปข้างหน้า 1 ก้าว แล้วถอยกลับ 2 ก้าว จากนั้นถอยหลัง 1 ก้าว แล้วก้าวไปข้างหน้า 2 ก้าว (ก้าวที่ 2 ย้ำอยู่กับที่) แมมโบ้ได้รับความนิยม ทั้งเพลงและการเต้นอย่างมากในอเมริกาและยุโรป ต่อมาแมมโบ้ได้พัฒนาจากที่เคยเร็วให้ช้าลงสำหรับการเต้นจากแมมโบ้ที่เคยเต้นเดินหน้า 3 ก้าวและถอยหลัง 3 ก้าวก็เพิ่มการชิดเท้าไล่กันไปข้างหน้า 2 ก้าว และชิดเท้าไล่กันไปข้างหลัง 2 ก้าว ซึ่งเป็นรูปแบบของ ช่ะ ช่ะ ช่า ในปัจจุบันที่ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก
การเต้นรำจังหวะ ช่ะ ช่ะ ช่า นี้ได้เข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2498 โดยชาวฟิลิปปินส์ ชื่อ มิสเตอร์เออร์นี่ นักดนตรีของวง “ ซีซ่า วาเลสโก ” ได้นำลีลาการเต้น ช่ะ ช่ะ ช่า และการเขย่ามาลากัส (ลูกแซ็ก) มาประกอบเพลงเข้าไปด้วย ซึ่งลีลาการเต้นนี้เป็นที่ประทับใจบรรดานักเต้นรำและครูสอนลีลาศทั้งหลาย จึงได้ขอให้มิสเตอร์เออร์นี่สอนให้ การเต้น ช่ะ ช่ะ ช่า ตามแบบของมิสเตอร์เออร์นี่จึงถูกถ่ายทอดและมีอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าในภายหลังได้มีการนำรูปแบบการเต้นที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากลเข้ามาแทนที่แล้วก็ตาม
ดนตรีและการนับจังหวะ
- ดนตรีของจังหวะ ช่ะ ช่ะ ช่า มีท่วงทำนองที่สนุกสนานเร้าใจ และมีจังหวะเน้นเด่นชัดดนตรีจะเป็นแบบ 4/4 เหมือนกับจังหวะคิวบ้ารัมบ้า คือ ใน 1 ห้องมี 4 จังหวะ
- การนับจังหวะสามารถนับได้หลายวิธี เช่น หนึ่ง- สอง – สามสี่ – ห้า หรือ หนึ่ง – สอง ช่ะ ช่ะ ช่า หรือนับก้าวจนครบตามจำนวนลวดลายพื้นฐาน หรือนับตามหลักสากลคือ นับตามจังหวะของดนตรี คือ สอง – สาม – สี่ และ – หนึ่ง โดยที่ก้าวแรกตรงกับจังหวะที่ 2 ของห้องเพลง
ความเร็วช้าของจังหวะดนตรี
ดนตรีของจังหวะ ช่ะ ช่ะ ช่า บรรเลงด้วยความเร็วมาตรฐาน 32 ห้องเพลงต่อนาที (30 – 40 ห้องเพลงต่อนาที)
การจับคู่
การจับคู่เต้นรำในจังหวะ ช่ะ ช่ะ ช่า เป็นการจับคู่แบบละตินอเมริกันโดยทั่วไปคือแบบปิด (มือขวาของชายวางบริเวณสะบักของผู้หญิง) การจับคู่นี้ไม่ได้จับอยู่เช่นนี้ตลอดเวลาแต่จะเปลี่ยนไปตามท่าเต้นซึ่งอาจจะต้องจับกันด้วยมือข้างเดียว หรืออาจปล่อยมือที่จับกันอยู่ทั้งสองข้างก็ได้
การก้าวเท้า
การก้าวเท้าในจังหวะ ช่ะ ช่ะ ช่า ไม่ว่าจะเป็นการก้าวเท้าไปข้างหน้าหรือถอยหลัง จะต้องให้ ฝ่าเท้า ( BALL OF FOOT) สัมผัสพื้นก่อนเสมอแล้วจึงราบลงเต็มเท้า การเต้นรำในจังหวะนี้จึงมีการใช้ฝ่าเท้ามากที่สุด และการใช้ตาต้องให้สัมพันธ์กับเข่า เพราะเมื่อมีการก้าวเท้าเข่าจะต้องงอเล็กน้อย หลังจากราบลงเต็มเท้าแล้วเข่าจึงตึง ส่วนเข่าอีกข้างก็จะงอเพื่อเตรียมก้าวต่อไป กล่าวได้ว่าตลอดเวลาของการใช้เท้านั้น เมื่อน้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าใดส้นเท้านั้นจะต้องลดลง ดังนั้น จึงมีการสับเปลี่ยนการตึงและงอของช่วงขา พร้อมทั้งการลดลงและยกขึ้นของส้นเท้าสลับกันตามลำดับ ซึ่งการปฏิบัติในลักษณะนี้ทำให้สะโพกบิดไปมาสวยงามตามแบบการเต้นละตินอเมริกัน แต่ต้องระวังอย่าให้เป็นการจงใจทำเกินไปเพราะจะทำให้เกิดภาพที่ไม่น่าดูได้
อย่างไรก็ตามในการฝึกระยะแรกไม่ควรกังวลเกี่ยวกับการใช้ ขา เข่า และเท้ามากนัก ควรฝึกฝนลวดลายการเต้นให้ถูกต้องตามจังหวะของดนตรีเสียก่อนจนเกิดความชำนาญ แล้วจึงค่อยกลับมาฝึกฝนการก้าวเท้าเพื่อให้เกิดความสวยงามในภายหลัง
ทักษะการเต้นรำจังหวะ ช่ะ ช่ะ ช่า
1. สแควร์ (Square)
2. การไขว้
3. การหมุน
สแควร์ (Square)
สแควร์ ของจังหวะ ช่ะ ช่ะ ช่า เป็นการเต้นพื้นฐานที่ประกอบด้วยการเดิน 10 ก้าว แบ่งเป็นเดิน หน้า 5 ก้าวและถอยหลัง 5 ก้าว ในการฝึกเดินสำหรับผู้หัดใหม่ควรเริ่มเดินแบบเดินหน้าและถอยหลังตรง ๆ ก่อน แล้วจึงเริ่มหมุนโดยการหมุนตัวไปทางซ้ายครั้งละ 1/8 รอบ หรือ 1/4 รอบใน 5 ก้าวต่อไป
- สแควร์ ของฝ่ายชายประกอบด้วยการเดิน 10 ก้าวดังนี้
ท่าเริ่มต้น : เริ่มต้นด้วยการยืนจับคู่แบบปิด น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าขวา
ก้าวที่ | การก้าวเท้า | จังหวะ |
1 | ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า | 2 |
2 | ถ่ายน้ำหนักตัวกลับมาที่เท้าขวา | 3 |
3 | ถอยเท้าซ้ายแยกออกข้างเยื้องไปข้างหลัง พร้อมกับหมุนตัวไปทางซ้ายเล็กน้อย | 4 |
4 | ถอยเท้าขวาเข้ามาใกล้เท้าซ้ายครึ่งก้าว และ | |
5 | ถอยเท้าซ้ายแยกออกข้างเยื้องไปข้างหลังครึ่งก้าว | 1 |
6 | ถอยเท้าขวาไปข้างหลังตรงๆ | 2 |
7 | ถ่ายน้ำหนักตัวกลับมาที่เท้าซ้าย | 3 |
8 | ก้าวเท้าขวาแยกออกข้างเยื้องไปข้างหน้า พร้อมกับหมุนตัวไปทางซ้ายเล็กน้อย | 4 |
9 | ก้าวเท้าซ้ายเข้ามาใกล้เท้าขวาครึ่งก้าว และ | |
10 | ก้าวเท้าขวาแยกออกข้างเยื้องไปข้างหน้าครึ่งก้าว | 1 |
- สแควร์ ของฝ่ายหญิงประกอบด้วยการเดิน 10 ก้าว ดังนี้
ท่าเริ่มต้น : เริ่มต้นด้วยการยืนจับคู่แบบปิด และน้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าซ้าย
ก้าวที่ | การก้าวเท้า | จังหวะ |
1 | ถอยเท้าขวาไปข้างหลังตรง | 2 |
2 | ถ่ายน้ำหนักตัวกลับมาที่เท้าซ้าย | 3 |
3 | ก้าวเท้าขวาแยกออกข้างเยื้องไปข้างหน้า พร้อมกับหมุนตัวไปทางซ้ายเล็กน้อย | 4 |
4 | ก้าวเท้าซ้ายเข้ามาใกล้เท้าขวาครึ่งก้าว และ | |
5 | ก้าวเท้าขวาแยกออกข้างเยื้องไปข้างหน้าครึ่งก้าว | 1 |
6 | ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้าตรง ๆ | 2 |
7 | ถ่ายน้ำหนักตัวกลับมาที่เท้าขวา | 3 |
8 | ถอยเท้าซ้ายแยกออกข้างเยื้องไปข้างหลังพร้อมกับหมุนตัวไปทางซ้ายเล็กน้อย | 4 |
9 | ถอยเท้าขวาเข้ามาใกล้เท้าซ้ายครึ่งก้าว และ | |
10 | ถอยเท้าซ้ายออกข้างเยื้องไปข้างหลังครึ่งก้าว | 1 |
การไขว้
- การไขว้ ของฝ่ายชายประกอบด้วยการเดิน 10 ก้าว ดังนี้
ท่าเริ่มต้น : เริ่มต้นด้วยการยืนจับคู่แบบปิด
ก้าวที่ | การก้าวเท้า | จังหวะ |
1 | ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้าตรง ๆ พร้อมกับเหยียดแขนซ้ายออกไปเพื่อนำให้ผู้หญิงถอยเท้าขวา | 2 |
2 | ถ่ายน้ำหนักตัวกลับมาที่เท้าขวา พร้อมกับนำผู้หญิงเดินหน้าด้วยการงอแขนซ้ายทีละน้อยจนจบก้าวที่ 5 | 3 |
3 | ถอยเท้าซ้ายมาวางข้าง ๆ เท้าขวา ยังคงนำผู้หญิงเดินเข้าหาด้านข้างตัว | 4 |
4 | ก้าวเท้าขวามาชิดซ้าย ยังคงนำผู้หญิงเดินเข้าหาด้านข้างตัว และ | |
5 | ก้าวเท้าซ้ายแยกออกข้าง ๆ เตรียมยกมือซ้ายขึ้น เพื่อนำให้ผู้หญิงหมุนตัวไปทางขวา | 1 |
6 | ถอยเท้าขวามาข้างหลังตรง ๆ ยกมือซ้ายขึ้น เพื่อนำให้ผู้หญิงหมุนตัวไปทางขวา | 2 |
7 | ถ่ายน้ำหนักตัวกลับมาที่เท้าซ้าย ยังคงนำผู้หญิงให้หมุนอยู่ | 3 |
8 | ก้าวเท้าขวามาวางข้าง ๆ เท้าซ้าย ยังคงนำผู้หญิงให้หมุนอยู่ | 4 |
9 | ก้าวเท้าซ้ายเข้ามาใกล้เท้าขวาครึ่งก้าว และ | |
10 | ก้าวเท้าขวาแยกออกข้าง ๆ ครึ่งก้าว | 1 |
- การไขว้ ของฝ่ายหญิง ประกอบด้วยการเดิน 10 ก้าว ดังนี้
ท่าเริ่มต้น : เริ่มต้นด้วยการยืนจับคู่แบบปิดแล้วเต้นสแควร์ 5 ก้าว แล้วทำท่าไขว้
ก้าวที่ | การก้าวเท้า | จังหวะ |
1 | ถอยเท้าขวาไปข้างหลังตรงๆ | 2 |
2 | ถ่ายน้ำหนักตัวกลับมาที่เท้าซ้าย | 3 |
3 | ก้าวเท้าขวามาวางข้างๆ เท้าซ้าย | 4 |
4 | ก้าวเท้าซ้ายเข้ามาใกล้เท้าขวาครึ่งก้าว และ | |
5 | ก้าวเท้าขวาแยกออกข้างๆ ครึ่งก้าว | 1 |
6 | ก้าวเท้าซ้ายผ่านหน้าเท้าขวาพร้อม กับหมุนตัวไปทางขวา 1/4 รอบ | 2 |
7 | ถ่ายน้ำหนักตัวกลับมาที่เท้าขวาพร้อมกับหมุนตัวมาทางขวา 1/2 รอบ | 3 |
8 | ก้าวเท้าซ้ายไปทางซ้ายแยกออกข้างๆ พร้อมกับหมุนตัวไปทางขวาอีก 1/4 รอบ | 4 |
9 | ก้าวเท้าขวาเข้ามาใกล้เท้าซ้ายครึ่งก้าว และ | |
10 | ก้าวเท้าซ้ายแยกออกข้างๆ ครึ่งก้าว | 1 |
การหมุน
การหมุนเป็นการเต้นรำที่มีการปล่อยมือออกจากคู่หมุนตัวอยู่กับที่ 1 รอบ ไปทางซ้ายหรือขวาก็ได้ โดยใช้การหมุนตัว 2 ก้าวแล้วชิดเท้าไล่กันอีก 3 ก้าว (แชสเซ่) ไปทางข้างๆ การหมุนจึงมีการเต้นอยู่ 2 แบบ คือ
หมุนตัวไปทางซ้าย ( SPOT TURN TO LEFT) หมุนตัวไปทางขวา ( SPOT TURN TO RIGHT) การหมุนนี้จะเต้นพร้อมกันทั้งคู่ คือถ้าผู้ชายหมุนตัวไปทางซ้าย ผู้หญิงก็คือหมุนตัวไปทางขวา(หมุนตัวตรงข้ามกัน) หรือผลัดกันทำคนละครั้งก็ได้ คือถ้าผู้ชายหมุนตัวไปทางขวาในก้าวที่ 1 – 5 ผู้หญิงจะเต้นไทม์ สเต็ป โดยถอยเท้าขวาไปข้างหลังและผู้ชายเต้นไทม์ สเต็ป ในก้าวที่ 6 – 10 ผู้หญิงจะต้องหมุนตัวไปทางขวาสลับกันไป การหมุนตัวไปทางซ้ายก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน
รุมบ้า (RUMBA)
การเต้นรำจังหวะรุมบ้า
รุมบ้าเป็นจังหวะที่จัดอยู่ในพวกลาตินอเมริกัน (Latin American) กำเนิดขึ้นในชนชาติหมู่เกาะคิวบา จังหวะนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่แพร่ออกสู่โลกลีลาศหลังแทงโก้ (Tango) และวอลทซ์ (Waltz) ปัจจุบันนี้จังหวะรุมบ้า (Rumba) เป็นที่รู้จักกับคนทั่วโลกมาเป็นเวลานานแล้ว ลักษณะการลีลาศจังหวะรุมบ้าเป็นการลีลาศคล้ายๆ จังหวะวอลทซ์ แต่จังหวะค่อนข้างเร็วกว่า การก้าวเท้าก็สั้นกว่า และนอกจากนี้รุมบ้ายังต้องใช้สะโพกเคลื่อนไหวให้สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของเท้าด้วย คือนับตั้งแต่เอวลงไปให้โยกหรือส่ายสะโพกได้เล็กน้อยให้ดูแต่พองาม ถ้าโยกหรือส่ายมากจะดูเป็นเรื่องน่าเกลียดไป และไม่สวยงามด้วย
การใช้สะโพกเคลื่อนไหวให้สัมพันธ์กับการก้าวเท้านั้น เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องฝึก ผู้ฝึกใหม่อาจจะฝืนตัวเองเล็กน้อย เพราะผู้ฝึกใหม่ส่วนมากใจมักจะมุ่งอยู่ที่การก้าวเท้าให้ถูกสเต็ปเท่านั้น ความสวยงามของรุมบ้านั้นอยู่ที่การก้าวเท้า การถ่ายเทน้ำหนักตัว และการใช้สะโพก ทั้งสามอย่างนี้ต้องให้สัมพันธ์กันและเป็นไปตามหลักธรรมชาติ ส่วนลำตัวตั้งแต่เอวขึ้นไปให้อยู่ในลักษณะตรงแบบสบายๆ ไม่เกร็ง ไม่ยืดคอ ไม่แอ่นอก ไม่ทำหลังค่อม และไม่เอียงตัวไปมา
การนับจังหวะ
จังหวะนับ นับ ช้า ช้า เร็ว หรือนับ 1 2 3
ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการลีลาศจังหวะรุมบ้าก็คือ การใช้เท้า โดยเฉพาะการใช้สปริง ข้อเท้าและที่หัวเข่า ซึ่งมีทั้งเหยียดตึงและงอ การใช้สปริงข้อเท้าจะเกิดบ่อยขณะที่ก้าวเท้า เมื่อเท้าใดก้าวไปแตะพื้น น้ำหนักตัวก็ต้องเทไปที่เท้านั้นทุกครั้งไปพร้อมกับใช้สปริงที่ข้อเท้าด้วย
การจับคู่
ทักษะการเต้นรำจังหวะรุมบ้า
1. สแควร์ (Square)
2. การไขว้
3. การหมุน
สแควร์ (Square)
การก้าวเท้าขั้นต้น (Basic Walk) ในท่าสแควร์ของฝ่ายชาย
การก้าวเท้าขั้นต้น (Basic Walk) เป็นทักษะขั้นแรกของรุมบ้า และเป็นวิธีฝึกที่ง่าย เพราะลักษณะการก้าวเท้าเดินนั้นเหมือนจังหวะวอลทซ์ ผิดกันก็ตรงที่จังหวะการก้าวเท้าเร็วกว่ากัน และการใช้สะโพกโยกเล็กน้อยเท่านั้น
การจับคู่ จับแบบปิด หันหน้าตามแนวลีลาศ
- จังหวะนับมี 3 ก้าว คือ 1 2 3 หรือ ช้า ช้า เร็ว
ก้าวที่ 1 ก้าวเท้าซ้ายออกไปข้างหน้า นับ 1 ช้า
ก้าวที่ 2 ก้าวเท้าขวาเยื้องขวาไปข้างหน้า ให้ปลายเท้าอยู่ระดับเดียวกับ
ปลายเท้าซ้าย นับ 2 ช้า
ก้าวที่ 3 ลากเท้าซ้ายไปชิดเท้าขวาเร็วๆ นับ 3 เร็ว
- *เมื่อจบแล้วให้รีบก้าวเท้าขวาออกไปแล้วนับ 1 ใหม่ *
ก้าวที่ 1 ก้าวเท้าขวาออกไปข้างหน้า นับ 1 ช้า
ก้าวที่ 2 ก้าวเท้าซ้ายเยื้องซ้ายไปข้างหน้า ให้ปลายเท้าซ้ายเสมอระดับ
ปลายเท้าขวา นับ 2 ช้า
ก้าวที่ 3 ลากเท้าขวามาชิดเร็วๆ นับ 3 เร็ว
เมื่อทำการก้าวขั้นต้น เดินหน้าได้แล้ว ก็ลองทำการก้าวเท้าขั้นต้นเดินถอยหลังดูบ้าง ซึ่งลักษณะการเดินก็เหมือนกันกับเดินหน้า เป็นแต่เพียงถอยหลังเท่านั้น หรือจะไปดูการก้าวเท้าขั้นต้นของหญิงก็ได้ ซึ่งเป็นการก้าวเท้าขั้นต้นถอยหลัง
การก้าวเท้าขั้นต้น (Basic Walk) ในท่าสแควร์ของฝ่ายหญิง
เป็นทักษะขั้นแรกของรุมบ้าซึ่งมีลักษณะการเดินและแบบ (Figure) เหมือนจังหวะวอลทซ์เสียส่วนมาก จะแตกต่างกันก็ตรงที่จังหวะการก้าวเท้าเร็วกว่ากัน และการใช้สะโพกส่ายให้สัมพันธ์กับการก้าวของเท้าเท่านั้น
การจับคู่ จับแบบปิด หันหน้าเข้าหาคู่
- จังหวะนับมี 3 จังหวะ คือ 1 2 3 หรือ ช้า ช้า เร็ว
ก้าวที่ 1 ก้าวเท้าขวาถอยหลัง นับ 1 ช้า
ก้าวที่ 2 ก้าวเท้าซ้ายถอยหลังเยื้องซ้าย ให้ปลายเท้าซ้ายเสมอระดับ
ปลายเท้าขวา นับ 2 ช้า
ก้าวที่ 3 ลากเท้าขวามาชิดเท้าซ้ายเร็วๆ นับ 3 เร็ว
- *เมื่อจบแล้วให้เริ่มก้าวเท้าซ้ายถอยหลังไปโดยเร็ว นับ 1 ใหม่ *
ก้าวที่ 1 ถอยเท้าซ้ายไปข้างหลัง นับ 1 ช้า
ก้าวที่ 2 ถอยเท้าขวาไปข้างหลังเยื้องขวา นับ 2 ช้า
ก้าวที่ 3 ลากเท้าซ้ายมาชิดเท้าขวาเร็วๆ นับ 3 เร็ว
เมื่อทำการก้าวขั้นต้น ถอยหลังได้แล้ว ก็ลองทำการก้าวเท้าขั้นต้นเดินหน้าดูบ้าง ซึ่งลักษณะการเดินก็เหมือนกันกับการก้าวเท้าขั้นต้นถอยหลัง ผิดกันแต่เพียงเดินหน้ากับถอยหลังเท่านั้น หรือจะไปดูการก้าวเท้าขั้นต้นเดินหน้าของชายก็ได้
- การก้าวเท้าเป็นรูปสี่เหลี่ยมขั้นต้น (Basic Square) ของฝ่ายชาย
การลีลาศเป็นรูปสี่เหลี่ยม คือ ลักษณะการลีลาศจะเป็นเดินหน้าหนึ่งครั้ง และถอยหลังหนึ่งครั้งสลับกันไป
จังหวะนับ จะนับทั้งเดินหน้าและถอยหลังรวมกัน มี 6 ก้าว
การจับคู่และการยืน จับคู่แบบปิด หันหน้าตามแนวลีลาศ เท้าชิด ตัวตรง
ก้าวที่ 1 ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า นับ 1 ช้า
ก้าวที่ 2 ก้าวเท้าขวาเฉียงขวาไปข้างหน้า นับ 2 ช้า
ก้าวที่ 3 ลากเท้าซ้ายมาชิดเท้าขวา นับ 3 เร็ว
ก้าวที่ 4 ถอยเท้าขวาไปวางข้างหลัง นับ 4 ช้า
ก้าวที่ 5 ถอยเท้าซ้ายเฉียงซ้ายไปข้างหลัง นับ 5 ช้า
ก้าวที่ 6 ลากเท้าขวามาชิดเท้าซ้าย นับ 6 เร็ว
- การก้าวเท้าเป็นรูปสี่เหลี่ยมขั้นต้น (Basic Square) ของฝ่ายหญิง
เป็นการเต้นรูปสี่เหลี่ยม ลักษณะการเต้นจะมีทั้งเดินหน้า และถอยหลังสลับกันไป
จังหวะนับ จะนับทั้งเดินหน้าและถอยหลังรวมกัน คือมี 6 จังหวะ
การจับคู่และการยืน ยืนหันหน้าเข้าหาคู่ คือหน้าย้อนแนวลีลาศ การจับคู่ให้จับแบบปิด
ก้าวที่ 1 ถอยเท้าขวาไปข้างหลัง นับ 1 ช้า
ก้าวที่ 2 ถอยเท้าซ้ายเยื้องไปทางซ้าย นับ 2 ช้า
ก้าวที่ 3 ลากเท้าขวามาชิดเท้าซ้าย นับ 3 เร็ว
ก้าวที่ 4 ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า นับ 4 ช้า
ก้าวที่ 5 ก้าวเท้าขวาเยื้องไปทางขวา นับ 5 ช้า
ก้าวที่ 6 ลากเท้าซ้ายมาชิดเท้าขวา นับ 6 เร็ว
การไขว้
- การไขว้ของฝ่ายชาย
การไขว้ ก็คือ การทำการก้าวเท้าขั้นต้น มี 3 ก้าว
การไขว้ เป็นการทำคั่นระหว่างหันทางซ้าย (Reverse Square) กับหันทางขวา (Natural Square) หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เป็นตัวเชื่อมระหว่างหันทางซ้ายกับหันทางขวา หรือระหว่างหันทางขวากับหันทางซ้ายนั่นเอง
สมมติว่าทำหันทางซ้ายมาแล้ว ต่อไปจะหันทางขวา ให้เริ่มทำการไขว้ ดังนี้ ยืนหันหน้าเฉียงฝาตามแนวลีลาศ
การจับคู่ จับแบบปิด
จังหวะนับมี 3 จังหวะ
ก้าวที่ 1 ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า นับ 1 ช้า
ก้าวที่ 2 ก้าวเท้าขวาเฉียงไปทางขวา นับ 2 ช้า
ก้าวที่ 3 ลากเท้าซ้ายมาชิดเท้าขวา นับ 3 เร็ว
*เมื่อทำครบ 3 ก้าวแล้ว ก็เริ่มทำหันทางขวาได้ โดยการก้าวเท้าขวาบิดไปทางขวา *
- การไขว้ของฝ่ายหญิง
การไขว้ ก็คือ การทำการก้าวเท้าขั้นต้น มี 3 ก้าว
การไขว้ เป็นการทำ 3 ก้าวก่อนที่จะทำหันทางขวา และก่อนที่จะทำหันทางซ้าย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เป็นตัวเชื่อมระหว่างหันทางขวากับหันทางซ้าย หรือระหว่างหันทางขวากับหันทางซ้ายนั่นเอง
*สมมติว่าทำหันทางซ้ายมาแล้ว ต่อไปจะหันทางขวา ให้เริ่มทำการไขว้ คั่นก่อน 3 ก้าวดังนี้ยืนหันหน้ากลางห้องย้อนแนวลีลาศ*
การจับคู่ จับแบบปิด
ก้าวที่ 1 ถอยเท้าขวาไปข้างหลัง นับ 1 ช้า
ก้าวที่ 2 ถอยเท้าซ้ายเยื้องไปทางซ้าย นับ 2 ช้า
ก้าวที่ 3 ลากเท้าขวามาชิดเท้าซ้าย นับ 3 เร็ว
*เมื่อทำครบ 3 ก้าวแล้ว ต่อไปก็ทำหันทางขวาได้ โดยการถอยเท้าซ้ายเฉียงซ้ายไปข้างหลัง*
การหมุน
- การหมุนของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง
ฝ่ายชายยืนหันหน้าทวนเข็มนาฬิกาตามทิศทางของฟลอร์เต้นรำ - การจับคู่ จับแบบปิด
ชาย ก้าวเท้าซ้ายเฉียงไปข้างหน้า 45 องศา
หญิง ถอยเท้าขวาเฉียงลงไปด้านล่าง 45 องศา
ชาย ก้าวเท้าขวา บิดตัวกลับหลังหัน ลากเท้าซ้ายมาชิดเท้าขวา และแยกเท้าขวาเฉียงลงด้านล่าง 45 องศา
หญิง ก้าวเท้าซ้าย บิดตัวกลับหลังหัน ลากเท้าขวามาชิดเท้าซ้าย และแยกเท้าซ้ายเฉียงขึ้นไปข้างหน้า 45 องศา
**ทำเช่นนี้อีก 1 ครั้ง จบการหมุน 1 รอบ**
ฝ่ายชายกลับมายืนหันหน้าทวนเข็มนาฬิกาตามทิศทางของฟลอร์เต้นรำ