วันฮาโลวีน (Halloween)

สร้างโดย : เบญจมาศ ภัคโชค
สร้างเมื่อ พฤ, 09/10/2008 – 17:08
มีผู้อ่าน 33,177 ครั้ง (22/10/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/16894

วันฮาโลวีน

ตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี

     คำว่า “Halloween” มาจากคำของคริสตังคาทอลิกดั้งเดิม คือ เย็นวันสุกดิบก่อนฉลองนักบุญทั้งหลาย (All Hallow’s Day หรือ All Saint’s Day) เขาเขียนว่า “Hallow’s Evening” (เย็นวันสุกดิบของวันฉลองนักบุญทั้งหลาย) และก็กลายเป็น “Hallow’s e’en” จนกลายเป็น “Halloween” ในที่สุด แท้จริงในทางพิธีกรรมคาทอลิกของเรา คริสตังจะมีธรรมเนียมที่พระสงฆ์จะต้องถวายมิสซา 3 มิสซา ในวันระลึกถึงผู้ล่วงลับ นั่นคือ มิสซาเย็นก่อนวันที่ 2 พฤศจิกายน, มิสซารุ่งอรุณวันที่ 2 พฤศจิกายน และมิสซา เช้าหรือสายของวันที่ 2 พฤศจิกายน พระสงฆ์จะถวายมิสซาทั้งสามในวันที่ 2 พฤศจิกายน ทั้ง 3 มิสซาเลยก็ได้ เพียงแต่มิสซาแรกของเย็นก่อนวันที่ 2 ทำให้มีความคล้ายคลึงกับธรรมเนียมโบราณของคริสตังไอริชที่จะคิดถึงผู้ล่วงลับอื่นๆ ก่อนวันฉลองนักบุญทั้งหลายส่วนในวันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย (รวมทั้งบรรดาคริสตังผู้ล่วงลับผู้ที่ได้รับชัยชนะอยู่บนสวรรค์ทุกคน)

     วันฮาโลวีน (Halloween) จะฉลองในคืนวันที่ 31 ตุลาคม ในประเทศทางตะวันตก เด็กๆ จะแต่งกายเป็นภูตผีปีศาจพากันชักชวนเพื่อนฝูงออกไปงานฉลอง มีการประดับประดาแสงไฟ และที่สำคัญคือการแกะสลักฟักทองเป็นโคมไฟ เรียกว่า แจ๊ก-โอ’-แลนเทิร์น (jack-o’-lantern)
     การฉลองวันฮาโลวีนนิยมจัดกันในสหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร แคนาดา และยังมีในออสเตรเลีย กับนิวซีแลนด์ด้วย รวมถึงประเทศอื่นในทวีปยุโรปก็นิยมจัดงานวันฮาโลวีนเพื่อความสนุกสนาน

การปฏิบัติในคืนวัน “ฮาโลวีน”

     พวกเด็กๆ จะสนุกสนานมากในคืนวัน “ฮาโลวีน” เพราะพวกเขาจะได้แต่งตัวเลียนแบบคนตาย เช่น เป็นโจรสลัด, กัปตัน, โครงกระดูก, หญิงในสมัยโบราณ หรือสุดจะคิดค้นกันขึ้นมาอย่างในสมัยปัจจุบัน และก็เดินไปเคาะประตูตามบ้านต่างๆ เพื่อขอขนม, ลูกกวาด ฯลฯ โดยเฉพาะบ้านที่มีลูกฟักทองล้วงเนื้อออกเพื่อใส่เทียนเข้าวางไว้ และจะมีแสงสว่างออกมาจากรูจมูก, ลูกตาและปากที่เจาะไว้บนลูกฟักทอง ตั้งไว้หน้าบ้าน เด็กๆ จะเคาะประตูและเมื่อเจ้าของบ้านเปิดประตู พวกเขาก็จะร้องทักว่า “Trick or Treat” ซึ่งเด็กๆ ทั่วไปก็เป็นเพียงคำพูดไร้เดียงสา เพื่อพูดตามธรรมเนียมการขอขนม พวกเขาไม่เข้าใจความหมายแท้จริงของมัน เพราะว่าคำว่า “Trick or Treat” คำนี้ เป็นคำคล้ายคำพูดของพวกบูชาลัทธิปีศาจ ทำนองว่า ทำสนธิสัญญาตกลงกับมันหรือไม่ก็จะมีการล่อลวงเพราะพวกเด็กๆ จะแต่งตัว เป็นผู้ล่วงลับหรือผี ก็มาขู่เจ้าของบ้าน เด็กๆ ไม่เข้าใจความหมาย แท้จริง ก็เลยพูดกันมาตามธรรมเนียม และพวกเขาก็ไม่ได้รู้สึกไม่ดีอะไร เพียงแต่สนุกสนานเท่านั้น พวกเจ้าของบ้านเมื่อเอาขนม, ลูกกวาดออกมาให้แล้ว บางแห่งก็จะมีการร้องเพลงให้แก่บ้านนั้น ซึ่งบางแห่งดั้งเดิมก็จะสวดภาวนาให้แก่เจ้าของบ้าน หรืออุทิศแด่วิญญาณผู้ล่วงลับ เราไม่จำเป็นต้องทำให้เด็กเสียความรู้สึกกับคำว่า “Trick or Treat” แต่ควรสอนเด็กๆ ว่า ปีศาจซ่อนเร้นอยู่ในรูปภายนอกที่ดูสวยงามคอยหลอกลวงเรา คล้ายมันใส่หน้ากาก หลอกลวงผู้คนเพื่อปิดบังโฉมหน้าแท้จริงของมัน พระคัมภีร์กล่าวว่า “เราทั้งหลายรู้ว่า คนที่เกิดจากพระเจ้าไม่ทำบาป แต่พระบุตรของพระเจ้าได้ทรงคุ้มครองรักษาเขา และมารร้ายไม่แตะต้องเขา เราทั้งหลาย รู้ว่าเราเกิดจากพระเจ้า และโลกทั้งสิ้นอยู่ใต้อานุภาพของมารร้าย” ธรรมเนียมการขอขนมก็มาจากประเทศอังกฤษอีกธรรมเนียมหนึ่ง คือ ธรรมเนียมวัน “กี ฟอว์เก” อันเป็นวันฉลองต่อต้านพวกคาทอลิกในประเทศอังกฤษ “กี ฟอว์เก” เป็นคนไม่รอบคอบแต่มีหน้าที่ดูแลคลังดินปืน ที่วางแผนจะระเบิดรัฐสภาของอังกฤษ และกษัตริย์เจมส์ ที่ 1 ทรงรู้เข้าเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 1605, นาย “กี ฟอว์เก” ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ช่วงนี้เองที่บรรดาพวกนึกสนุกก็จะสวมหน้ากากและไปเยี่ยมเยียน บ้านชาวคาทอลิกที่กำลังถูกเบียดเบียนตอนกลางคืนและขอขนมเค้กและเบียร์มาทานกัน วัน “กี ฟอว์เก” มาถึงประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมกับการตั้งนิคมใหม่ของชาวอังกฤษพวกแรกบนทวีปอเมริกา กษัตริย์เจมส์ก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากวิถีชีวิต แต่ธรรมเนียม ปฏิบัติยังคงสนุกสนานเกินกว่าจะลืมเลือนได้ ที่สุดเพราะวัน “กี ฟอว์เก” ซึ่งตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน ใกล้กับวันฉลองนักบุญทั้งหลาย ก็เลื่อนเอาธรรมเนียมขอขนมตามบ้านตอนกลางคืนมาไว้กับวัน “ฮาโลวีน” พร้อมกับการแต่งตัวแปลกๆ ด้วยเลย
     แม้ว่า การจัดงาน วัน “ฮาโลวีน” ในปัจจุบันจะไม่บ่งถึงต้นตอของที่มาทางความคิด เรื่อง “นักบุญ”, และ “ผู้ล่วงลับ” อีกทั้งกลายเป็นงาน “ปาร์ตี้” ทางโลกเต็มตัวไปแล้ว แต่ผมเชื่อว่าหากความสนุกสนานจะมีควบคู่ไปกับชีวิตเราแล้วล่ะก้อ, วัน “ฮาโลวีน” ในฐานะเป็นงานสังสรรค์และเพิ่มสีสันให้กับชีวิตก็ไม่น่ารังเกียจอะไร โดยยังมีความหมายว่า “นรก” มีจริง และ “เราควรจะหลีกเลี่ยงให้ได้”, วัน “ฮาโลวีน” น่าจะเตรียมเราให้ระลึกถึงผู้ที่จากเราไปก่อนล่วงหน้าในความเชื่อ, พวกเขาได้อยู่บนสวรรค์ และพวกที่ยังต้องชดใช้โทษบาปในไฟชำระ หากใครบางคนหลีกเลี่ยงงาน “ฮาโลวีน” ไม่ได้จริงๆ หรือมีคนมาทักว่างานนี้จะทำให้เด็กๆ กลับไปบูชาปีศาจ ผมก็แนะนำให้บอกต้นตอการเกิดวัน “ฮาโลวีน” ที่แท้จริงแก่พวกเขา และให้พวกเขาได้รู้จัก รากความเชื่อแท้จริงของคาทอลิกอันเกี่ยวกับความตาย, นักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์ และวิญญาณในไฟชำระอันเป็นความเชื่อสำคัญอันหนึ่งของเรา

     หากเราคริสตังจะจัดงานวันฮาโลวีนการรับวัฒนธรรมจากประเทศทางตะวันตก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะแผ่มาทางภาพยนตร์, ข่าวสารทางอินเตอร์เน็ต หนังสือและบทเพลง จนกระทั่งลูกหลานรับกระแสงานวัน “ฮาโลวีน” เราผู้เป็นคริสตังและผู้ใหญ่อาจจะถือว่าเป็นการสนุกรื่นเริงในบ้าน, เพื่อนบ้าน, เพื่อนๆ ของลูกๆ ใกล้หูใกล้ตาเราภายในครอบครัว ก็อาจทำได้ ซึ่งไม่ควรปล่อยลูกหลานไปจัดกันเอง หรือไปจัดกันตามสถานที่ต่างๆ เพราะเป็น เวลากลางคืนอีกทั้งเราควบคุมความปลอดภัยไม่ได้ ส่วนครอบครัวใดที่ไม่มีกระแสตะวันตก ในบ้านก็ไม่ต้องกังวลอะไรกับการจัดงานนี้อย่าลืมว่า ชาวต่างชาติที่เป็นคาทอลิก เมื่อเขาจัดงานวัน “ฮาโลวีน” (31 ตุลาคม) อันเป็นวันสุกดิบก่อนฉลองนักบุญทั้งหลายนั้น เป็นงานรื่นเริงทางสังคม มิใช่พิธีกรรมคาทอลิก แต่ควรแฝงความคิดเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายอันเป็นความเชื่อแบบคริสตังเข้าไว้ด้วย และไม่จำเป็นที่เด็กๆ จะต้องแต่งตัวเป็นนักบุญเพียงอย่างเดียว, การแต่งตัวเป็นวิญญาณต่างๆ และตัวละครที่เกี่ยวข้องกับนรก ก็สื่อความหมายดั้งเดิม การระลึกถึงวิญญาณทุกดวงของคริสตังโบราณว่าเราไม่ลืมเขา

ทำไม วันฮาโลวีน ถึงเป็นวันที่ 31 ตุลาคม

     ประวัติความเป็นมาอีกฉบับหนึ่ง ให้คำอธิบายถึงที่มาที่ไปของวันนี้ได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว เป็นความเชื่อของชาวเซ็ลต์ (Celt) เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองในประเทศอังกฤษ โดยเชื่อว่าทุกวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี จะเป็นวันที่ประตูนรกถูกเปิดขึ้นมา บรรจบกับมิติโลกมนุษย์กันอย่างพอดี ทำให้เหล่าวิญญาณพยายามหาทางเข้าสิงมนุษย์ ซึ่งวิธีการแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้วิญญาณเข้าสิงคือ “การปลอมตัว” ทำตัวเป็นผีเสียเอง ด้วยการตกแต่งต่างๆ นานาให้ดูน่ากลัวที่สุด เทียนและระบบทำความร้อนก็จะถูกดับ เพื่อให้ร่างกายเกิดความหนาวเย็นเปรียบเสมือนร่างกายที่ไร้ซึ่งชีวิต ส่วนบ้านเรือนจะถูกตกแต่งให้ดูน่าสะพรึงกลัว และผู้คนต่างส่งเสียงเพื่อทำการขับไล่เหล่าวิญญาณชั่วร้ายอีกทีนึง ทั้งนี้ หลายคนต่างสงสัยว่าทำไมสัญลักษณ์ของวันฮัลโลวีน ถึงเป็นหัวฟักทองแกะสลักสีส้ม เจ้าฟักทองนั้นมีชื่อว่า Jack O Lanterns เป็นตำนานของชาวไอริช ที่เป็นนักมายากลขี้เมาและได้ทำข้อตกลงกับปีศาจตนหนึ่ง ในกรณีที่เขาเสียชีวิตแล้ว เขาขอเพียงแค่ไม่ไปทั้งสวรรค์หรือนรก เมื่อถึงคราวชีพจรดับปีศาจตนนั้นจึงมอบถ่านอันคุกรุ่นให้แก่ Jack เขาจึงนำไปใส่ไว้ในหัวผักกาดเพื่อคอยปัดเป่าความหนาวเย็น ต่อมาชาวไอรีชจึงแกะหัวผักกาด และนำถ่านมาใส่เช่นกันเพื่อเป็นสิริมงคลในการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายตลอดทั้งปี เมื่อกาลเวลาผ่านไปประเพณีดังกล่าวเริ่มแพร่หลายไปสู่ประเทศอเมริกา แต่หัวผักกาดเป็นสิ่งที่หายาก จึงนำลูกฟักทองมาแกะสลักแทน และนี่คือจุดเริ่มต้นของสัญลักษณ์สีส้ม และสีดำ ทั้งนี้ สีดำบ่งบอกถึงความมืดมิดช่วงเวลากลางคืน ส่วนสีส้มคือแสงสว่างที่ลุกโชติ เพื่อขับไล่ปีศาจนั่นเอง