วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ
สร้างโดย : เบญจมาศ ภัคโชค
สร้างเมื่อ จันทร์, 20/10/2008 – 09:56
มีผู้อ่าน 13,779 ครั้ง (21/10/2022)
วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ
ตรงกับวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี
พระมารดาแห่งการทันตแพทย์ไทย -“เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2510 พวกหมอฟันได้ออกไปทำกิจกรรม เพื่อช่วยดูแลผู้คนที่เจ็บไข้ทางฟัน ฉันก็ขอชื่นชมยินดีมาก ที่ได้ไปทำ เพราะว่าโรคฟันนั้น เป็นของที่สำคัญมากพอใช้อยู่ ถ้าใครเจ็บฟัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาพยาบาล ก็จะทำให้ได้รับความลำบากมาก ถึงกับกินไม่ได้ เคี้ยวไม่ออก ก็ยังมีเชื้อโรคเข้าไปในปาก แล้วทำให้เป็นโรคอื่นได้อีก การที่ท่านไปช่วยพวกนี้ ก็ได้ทำประโยชน์มาก ฉันก็มีความชื่นชมยินดี และขอขอบใจทุกคนแทนพวกที่ได้รับการรักษาพยาบาล จากท่านในทางฟันเป็นพิเศษ และโรคอื่นๆ ด้วยทุกคน ขอให้ท่านทุกคน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ พอ.สว.นี้ จงได้รับการอวยพรจากฉัน คือ ให้มีความสุข ความเจริญ ทั้งกายและใจ โดยทั่วหน้ากัน และเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองต่อไป”
ในปี พ.ศ.2532 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ วันที่ 21 ตุลาคม เป็น “วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ” ส่วนในปี พ.ศ.2533 อันเป็นปีเฉลิมพระเกียรติ 90 พรรษา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มูลนิธิ พอ.สว. ได้ขยายกิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุข 21 ตุลาคม ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั้ง 73 จังหวัด ทั่วประเทศ มีจุดปฏิบัติงาน 308 จุด อาสาสมัครทันตบุคลากรทุกประเภท และเจ้าหน้าที่อื่นๆ รวม 6,804 คน ประชาชนได้รับบริการทันตสุขศึกษา และทันตกรรมบำบัดรวม 152,634 คน ดังนั้น เพื่อเน้นคุณภาพของกิจกรรม โดยเฉพาะการควบคุมการติดเชื้อ และได้ปรับปรุงส่งเสริมงานทันตกรรมป้องกัน และทันตสุขศึกษา ที่เป็นรูปธรรมแก่ประชาชนที่มารับบริการ เป็นผลให้อุบัติการของโรคเหงือกอักเสบ และโรคฟันผุลดลงเป็นที่น่าพอใจ ในปีต่อๆ มา สมดังคำขวัญที่ทันตแพทย์สมนึก พูนทรัพย์ อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้คิดถวายว่า “สมเด็จย่าทรงพระเมตตา ให้ปวงประชา มีฟันดี”
สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงเอาพระราชหฤทัย ใส่กิจการแพทย์อาสาเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ กำลังพระราชหฤทัย และกำลังพระปัญญา เพื่อพัฒนาปรับปรุงงานแพทย์อาสา โดยไม่เคยทรงคำนึงถึงความยากลำบาก และความเหน็ดเหนื่อยแต่ประการใด ทรงคิดประดิษฐ์เก้าอี้ทำฟันที่สะดวกแก่คนไข้ และมีน้ำหนักเบา เหมาะกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ อีกทั้งยังทรงพระเมตตา ช่วยกับคนไข้ขณะที่ทันตแพทย์กำลังถอนฟัน ดังที่ปรากฎอยู้ในพระฉายาลักษณ์ ซึ่งนำความปลาบปลื้มปิติในพระมหากรุณาธิคุณ มาสู่ทันตบุคลากรทุกคนที่ได้ชม และจะมีสักกี่คนที่ทราบว่า เจ้าของมือที่สวมแหวนนิ้วนางซ้าย คือ ทันตแพทย์หญิงอาภรณ์ รวิอำพัน อาสาสมัครทันตแพทย์ดีเด่น ของหน่วยแพทย์อาสา จังหวัดสตูล ผู้มีความตั้งใจอุตสาหะ และเสียสละในการปฏิบัติงาน พอ.สว. มาอย่างสม่ำเสมอ ตลอดเวลา 29 ปี ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ได้ถวายความจงรักภักดีอย่างสูงสุด โดยแสดงเจตจำนง ขอสวมเสื้อ พอ.สว. ในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
อันพระเมตตา และพระมหากรุณาธิคุณ ที่สมเด็จพระบรมราชชนนีได้พระราชทาน แก่วิชาชีพทันตแพทยศาสตร์ และทันตบุคลากรทั้งปวง ได้ประจักษ์ชัดแจ้ง ถึงน้ำพระทัยอันเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา และซาบซึ้งถึงพระกรณียกิจของพระองค์ท่านเป็นอย่างดี ทุกคนต่างมีความจงรักภักดี ต่อพระองค์ท่านอย่างสุดซึ้ง และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น จึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญา แก่พระองค์เป็น “พระมารดาแห่งการทันตแพทย์ไทย” เมื่อปลายปี พ.ศ.2535
วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2538 เป็นวันที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จสวรรคต ยังความโศกเศร้า และการสูญเสียอย่างใหญ่หลวง มาสู่พสกนิกรชาวไทยทุกคน อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุขฯ 21 ตุลาคม ของมูลนิธิ พอ.สว. ยังคงได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากทันตบุคลากรอาสาสมัคร ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ด้วยความปรารถนาดีอย่างแรงกล้า ที่จะอุทิศตน เพื่อสนองพระราชประสงค์ จะสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่านต่อไป ด้วยความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
ในปี พ.ศ.2539 มูลนิธิ พอ.สว. จัดกิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุขฯ 21 ตุลาคม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นปีสุดท้าย และปีต่อๆ มา กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบ จัดกิจกรรมนี้ รวมอยู่ในโครงการ “รณรงค์วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ 21 ตุลาคม” โดยมูลนิธิ พอ.สว. ให้การสนับสนุนอาสาสมัครทันตแพทย์เอกชน จากส่วนกลางไปร่วมดำเนินงาน
วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ จุดเริ่มต้นมาจาก พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่าที่ทรงมีพระเมตตาต่อราษฎรทุกคนที่เจ็บป่วย ทรงก่อตั้งหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีขึ้น ซึ่งเรียกกันย่อๆ ว่า “พอ.สว.” ก็เพื่อให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร โดยพระองค์เป็นนายิกากิตติมศักดิ์ พระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่องบริการทันตกรรมเป็นพิเศษ ได้ทรงกำชับไว้ว่า “ต้องมีทันตแพทย์ไปช่วยชาวบ้านทุกครั้ง เนื่องจากคนไข้ในท้องถิ่นทุรกันดาร เมื่อมีโรคฟันจะต้องทนทุกข์ทรมานและไม่สามารถช่วยตนเองได้ ดังนั้นต้องให้มีทันตแพทย์ไปช่วยโดยด่วน” ทันตบุคลากรจึงเป็นส่วนหนึ่งของทีมอาสาสมัครของหน่วยแพทย์พอ.สว. ตั้งแต่ปี 2512 เป็นต้นมา
ในปี พ.ศ.2529 มูลนิธิ พอ.สว. ได้ประสานงานกับ กระทรวงสาธารณสุข คณะทันตแพทยศาสตร์ ทุกมหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร และทันตแพทยสมาคมฯ เริ่มจัด “กิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุข” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันพระราชสมภพ 21 ตุลาคม โดยระดมทันตบุคลากรอาสาสมัคร ทั้งภาครัฐ และเอกชนทั่วประเทศ ออกให้บริการตรวจรักษาโรคในช่องปาก โดยไม่คิดมูลค่าแก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร 48 จังหวัด พอ.สว. และได้จัดกิจกรรมนี้ต่อเนื่องทุกปี จนถึงปี พ.ศ.2532 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้วันที่ 21 ตุลาคมเป็น “วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ”
จึงถือได้ว่า วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ มีที่มาจากพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ต่อราษฎรผู้ทุกข์ทรมานด้วยโรคฟัน ซึ่งหลังจากพระองค์ท่านเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานกิตติมศักดิ์สืบต่อมา
ขอบคุณข้อมูลจาก