การใช้บล็อก (Blog) ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

สร้างโดย : นายพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
สร้างเมื่อจันทร์, 30/03/2009 – 14:15

การใช้บล็อก (Blog) ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

โดยครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล

ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล

            ในการเขียนการใช้บล็อก (Blog) ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นการเขียนประกอบในการสร้าง Blog ในเว็บไซต์ www.thaigoodview.com ช่วงเริ่มแรกของเว็บ 2.0 ซึ่งเว็บไซต์ thaigoodview.com ได้ใช้ CMS ของ Drupal ในการจัดการระบบ ตั้งแต่ปี 2559-2565 ซึ่งในปัจจุบันนี้เปลี่ยนเป็น WordPress ซึ่งจะไม่เมือนกัน แต่ท่านผู้อ่านสามารถนำไปประกอบได้หากเว็บไซต์ใดใช้ CMS Drupal

            เนื้อหาแบ่งออกเป็น 5 ตอน คือ

            หากท่านศึกษาโดยละเอียด ก็จะสามารถใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างไม่ยากนัก
หากมีข้อสงสัย โปรดติดต่อที่โทร. 081-8693782
หากต้องการให้ไปช่วยอบรมครูที่โรงเรียนของท่าน ก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ

หมายเหตุ สำหรับคุณครูที่ต้องการนำไปอบรมครู สามารถดาวน์โหลดชุดอบรมได้ที่นี่

( กำลังปรับปรุงใน Google Drive ดูได้ที่นี่ )

อ่านเพิ่มเติม...

ตอนที่ 1 ใช้ Blog บอกเล่าให้ฟัง

  • Blog คืออะไร
              Blog เป็นคำรวมมาจากศัพท์คำว่า เว็บล็อก (WeBlog) สามารถอ่านได้ว่า We Blog หรือ Web Log ไม่ว่าจะอ่านได้อย่างไรทั้งสองคำนี้ก็บ่งบอกถึงความหมายเดียวกัน ว่าคือบล็อก (Blog)
              คำว่า “บล็อก” สามารถใช้เป็นคำกริยาได้ซึ่งหมายถึง การเขียนบล็อก และนอกจากนี้ผู้ที่เขียนบล็อกเป็นอาชีพก็จะถูกเรียกว่า “บล็อกเกอร์”
  • ความเป็นมาของบล็อก
นายจอร์น บาจเจอร์(Jorn Barger)

         คำว่า เว็บล็อก “Weblog” ถูกบัญญัติขึ้นครั้งแรกโดย นายจอร์น บาจเจอร์(Jorn Barger) นักเขียนชาวอเมริกา ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2540 โดยความหมายเดิมมาจากการรวมคำว่า “logging the web” เพื่อใช้อ้างอิงเว็บเพจซึ่งเขาได้รวบรวมเอาลิ๊งก์ที่เขาสนใจในแต่ละวัน ไว้ในเว็บไซต์ www.robotwisdom.com ของเขาเอง
         เริ่มแรกคนที่เขียนบล็อกนั้นยังทำกันในระบบ Manual คือเขียนเว็บเพจขึ้นเองทีละหน้า เขียนเป็นงานอดิเรกของกลุ่มสื่ออิสระต่างๆ หลายๆ แห่งกลายเป็นแหล่งข่าวสำคัญให้กับหนังสือพิมพ์หรือสำนักข่าวชั้นนำ แต่ในปัจจุบันนี้ผู้คนหลายล้านคนจากทั่วทุกมุมโลก หันมาเขียนบล็อกกันอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ นักเขียน ตลอดจนผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ อีกทั้งยังมีเครื่องมือหรือซอฟท์แวร์ให้เราใช้ในการเขียนบล็อกได้มากมาย เช่น Drupal, WordPress, Movable Type เป็นต้น
          ต่อมานาย Peter Merholz มาเรียกย่อเหลือแต่ “Blog” แทนในเดือนเมษายน ปี พ.ศ.2542 และคำคำนี้เริ่มใช้เป็นครั้งแรกๆ ผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสาร จนมาถึงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2546 ทาง Oxford English Dictionary จึงได้บรรจุคำว่า blog ในพจนานุกรม แสดงว่าได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ บล็อก (Blog) ขึ้นแท่นศัพท์ยอดฮิต อันดับหนึ่ง ซึ่งถูกเสาะแสวงหา ความหมาย ทางพจนานุกรมออนไลน์ มากที่สุด ประจำปี 2547 และคนเขียนบล็อกก็ได้รับการยอมรับจากสื่อและสำนักข่าวต่างๆ ถึงความรวดเร็วในการให้ข้อมูลตั้งแต่เรื่องการเมืองไปจนกระทั่งเรื่องราวของการประชุมระดับชาติ และจากเหตุการณ์เหล่านี้ นับได้ว่าบล็อกเป็นสื่อชนิดหนึ่งที่ไม่ต่างจาก วีดีโอ, สิ่งพิมพ์, โทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งวิทยุ เราสามารถเรียกได้ว่าบล็อกได้เข้ามาเป็นสื่อชนิดใหม่ที่สำคัญอย่างแท้จริง
          สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เว็บไซต์ ดิกชั่นนารีหรือ พจนานุกรมออนไลน์ “เมอร์เรียม-เว็บสเตอร์” ได้ประกาศรายชื่อ คำศัพท์ซึ่งถูกคลิก เข้าไปค้นหาความหมายผ่านระบบออนไลน์มากที่สุด 10 อันดับแรกประจำปีนี้ ซึ่งอันดับหนึ่งตกเป็นของคำว่า “บล็อก” (blog) ซึ่งเป็นคำย่อของ “เว็บ ล็อก” (web log) โดยนายอาเธอร์ บิคเนล โฆษกสำนักพิมพ์พจนานุกรมฉบับเมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ กล่าวว่า สำนักพิมพ์ได้เตรียมที่จะนำคำว่า “บล็อก” บรรจุลงในพจนานุกรมฉบับล่าสุดทั้งที่เป็นเล่มและฉบับออนไลน์แล้ว แต่จากความต้องการของผู้ใช้ที่หลั่งไหลเข้ามา ทำให้เมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ตัดสินใจบรรจุคำว่า “บล็อก” ลงในเว็บไซต์ในสังกัดบางแห่งไปก่อน โดยให้คำจำกัดความไว้ว่า “เว็บไซต์ที่บรรจุ เรื่องราวเกี่ยวกับบันทึกส่วนตัวประจำวัน ซึ่งสะท้อนถึงมุมมอง ความคิดเห็นของบุคคล โดยอาจรวมลิงค์เชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์อื่นๆ ตามความประสงค์ของเจ้าของเว็บล็อกเองด้วย” โดยทั่วไปคำศัพท์ที่ถูกบรรจุลงในพจนานุกรมนั้นจะต้องผ่านการใช้งาน อย่างแพร่หลาย มาไม่น้อยกว่า 20 ปี ซึ่งหมายความว่าคำคำนั้นจะต้องถูกนำมาใช้โดยทั่วไปในระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคำศัพท์ ทางเทคโนโลยีรวมไปถึงโรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆ อย่างเช่น โรคเอดส์ โรคไข้หวัดซาร์ส ถูกบรรจุลงในพจนานุกรมภายในระยะเวลาอันสั้น
           บล็อกมีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบันในวงการสื่อมวลชนในหลายประเทศ เนื่องจากระบบแก้ไขที่เรียบง่าย และสามารถตีพิมพ์เรื่องราวได้โดยไม่ต้องใช้ความรู้ในการเขียนเว็บไซต์ เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่ข้อมูล หรือแนวความคิด โดยการเขียนบล็อกสามารถเผยแพร่ข้อมูลสู่ประชาชนได้รวดเร็วและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าสื่อในด้านอื่นจากความนิยมที่มากขึ้น ทำให้หลายเว็บไซต์เปิดให้มีส่วนการใช้งานบล็อกเพิ่มขึ้นมาในเว็บของตนเอง เพื่อเรียกให้มีการเข้าสู่เว็บไซต์มากขึ้นทั้งผู้เขียนและผู้อ่าน

ความหมายของคำว่า Blog
          บล็อก คือรูปแบบหนึ่งของเว็บไซต์ เป็นการบันทึกบทความของตนเอง (Personal Journal) ลงบนเว็บไซต์ โดยเนื้อหาของบล็อกนั้นสามารถครอบคลุมได้ทุกเรื่อง มีเนื้อหาได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวส่วนตัวที่เรียกกันว่า ไดอารีออนไลน์ หรือเป็นบทความเฉพาะด้านต่างๆ สามารถใช้เป็นเครื่องมือสื่อสาร การประกาศข่าวสาร การแสดงความคิดเห็น การเผยแพร่ผลงาน ในหลายด้าน เช่น สิ่งแวดล้อม การเมือง เทคโนโลยี กีฬา ธุรกิจการค้า การศึกษา เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถแตกแขนงไปในเนื้อหาในประเภทต่างๆ อีกมากมาย ตามความถนัด ความสนใจของเจ้าของบล็อก เพราะสิ่งสำคัญที่ทำให้บล็อกเป็นที่นิยมก็คือ ผู้เขียนบล็อกนั่นเอง
          บล็อกถูกเขียนขึ้นในลำดับที่เรียงตามเวลาในการเขียน ซึ่งจะแสดงข้อมูลที่เขียนล่าสุดไว้ที่ลำดับแรกสุด (ปัจจุบันสามารถให้เรียงตามลำดับเวลาก่อนหลังอย่างที่ต้องการได้) โดยปกติบล็อกจะประกอบด้วย ข้อความ รูปภาพ ลิงค์ และสื่อชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เพลง วิดีโอ หรือสื่ออื่นๆ ที่สามารถแสดงผลผ่านเว็บไซต์ได้
          จุดเด่น และจุดแตกต่างของบล็อกกับเว็บไซต์โดยปกติคือ บล็อกเป็นเครื่องมือสื่อสารที่สามารถสื่อถึงความเป็นกันเองระหว่างผู้เขียนบล็อก และผู้อ่านบล็อกที่เป็นกลุ่มเป้าหมายผ่านทางระบบการแสดงความคิดเห็น (Comment) ของตนเองใส่ลงไปในบทความนั้นๆ ซึ่งทำให้ผู้เขียนสามารถได้ผลตอบกลับโดยทันที บล็อกบางแห่งจะมีอิทธิพลในการโน้มน้าวจิตใจผู้อ่านสูงมาก แต่ในขณะเดียวกัน บางบล็อกก็จะเขียนขึ้นมาเพื่อให้อ่านกันในกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มเพื่อนๆ หรือครอบครัว
          บล็อกในปัจจุบันถือเป็นเทคโนโลยีเว็บ 2.0

ส่วนประกอบของ Blog
          บล็อกประกอบไปด้วยส่วนประกอบ 3 ส่วนสำคัญ คือ
1. หัวข้อ (Title) หรือ ชื่อบทความ (ฺ Entry Title) คือ ชื่อเรื่องของบทความที่เขียนในบล็อก
2. เนื้อหา (Post หรือ Content) อาจเป็นตัวหนังสือ หรืออาจเป็นรูปภาพ วีดีโอ หรือ อนิเมชั่น เป็นต้น โดยส่วนประกอบเหล่านี้จะรวมเป็นส่วนเนื้อหาของบทความ
3. วันเวลาที่เขียน (Date/Time) เป็นวันที่และบางทีอาจมีเวลากำกับอยู่ด้วย ตัววันที่และเวลานี้ จะเป็นตัวบอกว่าบทความในบล็อกนั้นเขียนขึ้นมาเมื่อไหร่ แก้ไขครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ บางครั้งอาจมีวันเวลาระบุอยู่ในส่วนของ comment ด้วย ซึ่งจะเป็นการบ่งบอกว่า comment นั้นเขียนเข้ามาเมื่อไหร่เช่นกัน
           นอกจากนี้อาจจะยังมีส่วนประกอบย่อยๆอีก ซึ่งแล้วแต่ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นมา เช่น
– ชื่อผู้เขียน (Blog Author) บางบล็อก อาจมีการระบุชื่อผู้เขียนไว้ในบล็อกด้วย โดยตำแหน่งที่จะใส่ชื่อผู้เขียนนั้น สามารถไว้ที่ตำแหน่งใดก็ได้ เช่นด้านข้างของหน้าบล็อก (sidebar) หรืออยู่ในตัวบทความ
– ความคิดเห็น (Comment) เป็นลิงค์ที่ให้ผู้อ่านคลิกไปเพื่อกรอกความคิดเห็นให้กับบล็อกนั้น ๆ หรืออ่านความเห็นที่มีคนเขียนเข้ามา
– ปฎิทิน (Calendar) บล็อกบางแห่งอาจมีปฎิทินอยู่ด้วย โดยในปฎิทินนั้นสามารถคลิกตามวันที่ เพื่ออ่านบทความของวันที่นั้น ๆ ได้
– บทความย้อนหลัง (Archives) บทความเก่า หรือบทความย้อนหลัง อาจมีการจัดเตรียมไว้โดยเจ้าของบล็อก โดยบล็อกแต่ละแห่งอาจจัดเรียงบทความย้อนหลังไม่เหมือนกัน เช่นจัดเรียงรายเดือน รายสัปดาห์ รายวัน หรือจะ list บทความทั้งหมดออกมาเลยก็ได้
– ลิงค์ไปยังเว็บอื่น (Links) เป็นจุดเด่นและความสนุกของบล็อกอีกอย่างหนึ่ง โดยบล็อกแต่ละแห่ง อาจมีลิงค์ไปยังเว็บอื่นหลากหลายเว็บ บางครั้งเราสามารถเรียก link พวกนี้ว่า blogroll
– RSS หรือ XML ตัว RSS นี้อาจมีเตรียมไว้ให้เราโดยอัตโนมัติขึ้นอยู่กับ Blogware หรือ Blog Host ที่เราเลือกใช้ เช่น WordPress หรือ MovableType นั้นจะมี RSS ลิงค์ไว้ให้เราโดยอัตโนมัติ โดยเจ้า RSS Feed นี้จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าถึงบทความของเราได้ง่ายขึ้น โดยการใช้โปรแกรมช่วยอ่าน Feed ได้ด้วย บางครั้งนักเขียน Blog คนอื่น ก็อาจใช้ RSS Feed นี้เพื่อประโยชน์ในการดึงข้อมูลไปแสดงในเว็บ หรือบล็อกของตนได้

การใช้งานบล็อก
           ผู้ใช้งานบล็อกจะแก้ไขและบริหารบล็อกผ่านทางเว็บเบราว์เซอร์เหมือนการใช้งานและอ่านเว็บไซต์ทั่วไป โดยจะมีรูปแบบบริหารบล็อกที่แตกต่างกัน เช่นบางระบบที่มีบรรณาธิการของบล็อก ผู้เขียนหลายคนจะส่งเรื่องเข้าทางบล็อก และจะต้องรอให้บรรณาธิการอนุมัติให้บล็อกเผยแพร่ก่อน บล็อกถึงจะแสดงผลในเว็บไซต์นั้นได้ ซึ่งจะแตกต่างจากบล็อกส่วนตัวที่จะให้แสดงผลได้ทันที
           ผู้เขียนบล็อกในปัจจุบันจะใช้งานบล็อกในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งไม่ว่า ติดตั้งซอฟต์แวร์ของตัวเอง หรือใช้งานบล็อกผ่านทางเว็บไซต์ที่ให้บริการบล็อก ผู้เขียนบล็อกสามารถใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องมีพื้นฐานความรู้ในด้าน HTML หรือการทำเว็บไซต์แต่อย่างใด ทำให้ผู้เขียนบล็อกสามารถใช้เวลาส่วนใหญ่ในการบริหารจัดการ เพิ่มเติม ข้อมูลและสารสนเทศแทนได้ นอกจากนี้ระบบการจัดการบล็อกจะสนับสนุน ระบบ WYSIWYG ซึ่งทำให้ง่ายต่อการเขียน และอาจเพิ่มเติมการมีเทมเพลตในหลายแบบให้เลือกใช้
           สำหรับผู้อ่านบล็อกจะใช้งานได้ในลักษณะเหมือนอ่านเว็บไซต์ทั่วไป และสามารถแสดงความเห็นได้ในส่วนท้ายของแต่ละบล็อกโดยอาจจะต้องผ่านการลงทะเบียนในบางบล็อก นอกจากนี้ผู้อ่านบล็อกสามารถอ่านบล็อกได้ผ่านระบบฟีด (Feed) ซึ่งมีให้บริการในบล็อกทั่วไป ทำให้ผู้ใช้สามารถอ่านบล็อกได้โดยตรงผ่านโปรแกรมตัวอื่นโดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาสู่หน้าบล็อกนั้น

ตอนที่ 2 การสมัครสมาชิกเว็บไซต์ให้บริการ Blog 

           ขั้นตอนการใช้งานบล็อกผ่านเว็บไซต์ www.thaigoodview.com

           การใช้งานบล็อกผ่านเว็บไซต์ www.thaigoodview.com ขั้นตอนแรกคือต้องสมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซต์ก่อน ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนกันทุกเว็บไซต์ที่มีการให้บริการบล็อก เพื่อให้มีการแสดงตัวตนของผู้ที่เขียนบล็อก
  1. เข้าสู่เว็บไซต์ โดยพิมพ์ www.thaigoodview.com ที่ Address bar ดังรูปที่ 2.1

รูปที่ 2.1

2. สมัครสมาชิก
           2.1 คลิกปุ่ม “สมัครสมาชิก” ที่มุมขวาบนของหน้าต่าง ดังรูปที่ 2.2-1

รูปที่ 2.2-1

           จะได้หน้าต่างใหม่ ดังรูปที่ 2.2-2 เป็นเงื่อนไขการสมัครสมาชิก หากท่านที่ต้องการสมัครสมาชิกยอมรับเงื่อนไขการเป็นสมาชิก และสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ ก็คลิกที่ปุ่มยอมรับด้านล่าง

รูปที่ 2.2-2 

           2.2 เมื่อคลิกปุ่มยอมรับ จะได้หน้าต่างใหม่ดังรูปที่ 2.3

รูปที่ 2.3

           2.3 จากหน้าต่างในรูปที่ 2.3 ให้กรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์มที่มีให้ครบถ้วนตามคำแนะนำ
                 ช่องใดที่มีเครื่องหมาย * แสดงว่าจำเป็นต้องกรอกไม่สามารถปล่อยว่างได้

           ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของผู้ใช้

  • ชื่อผู้ใช้ (Username):* ต้องเป็นภาษาอังกฤษ หรือ ตัวเลข 0-9 หรือผสมกัน ห้ามเว้นวรรค ในกรณีที่เป็นนักเรียนเพื่อใช้ในการจัดการเรียนรู้ ขอให้คุณครูบอกให้นักเรียนใช้ชื่อผู้ใช้ดังนี้ ชื่อย่อโรงเรียนเป็นภาษาอังกฤษตัวเล็ก แล้วตามด้วยเลขประจำตัวนักเรียน เช่น sss12345 หมายถึงนักเรียนโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย(sss) เลขประจำตัว 12345 เพื่อสะดวกในการตรวจงานให้คะแนน (ดูรายละเอียดที่ http://www.thaigoodview.com/node/1101)
  • อีเมล์:* ต้องเป็นอีเมล์ที่ใช้งานจริง ระบบจะส่งข้อมูลที่จำเป็นไปยังอีเมล์นี้ เช่น ส่งรหัสผ่านให้ โดยระบบจะไม่เปิดเผยที่อยู่อีเมล์ต่อบุคคลภายนอก
  • รหัสผ่าน: *
  • ยืนยันรหัสผ่าน: *
    กรุณากรอกรหัสผ่านของบัญชีใหม่ทั้งสองช่อง (ไม่น้อยกว่า 6 ตัวอักษร)
    (ผู้สมัครจะสามารถกำหนดรหัสผ่านได้ทันที ซึ่งได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม 2552)

           ส่วนที่ 2 ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้

  • ชื่อ:* ใส่ชื่อจริงเป็นภาษาไทย
  • นามสกุล:* ใส่นามสกุลจริงเป็นภาษาไทย
  • ชื่อภาษาอังกฤษ:* ใส่ชื่อจริงเป็นภาษาอังกฤษ
  • นามสกุลภาษาอังกฤษ:* ใส่นามสกุลจริงเป็นภาษาอังกฤษ
  • เลขบัตรประจำตัวประชาชน:* ถ้าจำไม่ได้ให้ใส่ 0 แต่ต้องทำการแก้ไขในภายหลัง เนื้อหาของข้อมูลนี้ถูกรักษาเป็นความลับและไม่แสดงต่อสาธารณะ
  • สถานะ:* มีให้เลือก 3 สถานะ คือ ครู นักเรียน บุคคลทั่วไป
  • ที่อยู่:* ข้อมูลนี้จะไม่แสดงให้ผู้อื่นเห็น เนื้อหาของข้อมูลนี้ถูกรักษาเป็นความลับและไม่แสดงต่อสาธารณะ
  • เบอร์โทรศัพท์:* ข้อมูลนี้จะไม่แสดงให้ผู้อื่นเห็น เนื้อหาของข้อมูลนี้ถูกรักษาเป็นความลับและไม่แสดงต่อสาธารณะ
  • อีเมล์:* กรุณายืนยัน email อีกครั้งหนึ่ง
  • โรงเรียน: * ใส่ชื่อโรงเรียน
  • ที่อยู่โรงเรียน: * ใส่ที่อยู่โรงเรียนโดยละเอียด
  • เบอร์โทรศัพท์โรงเรียน: * ใส่เบอร์โทรศัพท์โรงเรียน
  • ระดับชั้นที่กำลังศึกษา: * มีให้เลือกคือ ป.1, ป.2, ป.3, ป.4, ป.5, ป.6, ม.1, ม.2, ม.3,    ม.4, ม.5, ม.6, ครู, บุคคลทั่วไป เลือกระดับชั้นที่ศึกษาอยู่ถ้าเป็นนักเรียน, เลือกครูหรือบุคคลทั่วไปถ้าไม่ใช่นักเรียน

           ส่วนที่ 3 CAPTCHA

คำถามนี้มีไว้เพื่อทดสอบว่าคุณเป็นมนุษย์และป้องกันการส่งข้อความขยะจากโปรแกรมอัตโนมัติ เช่น
Math Question: *  
1 + 11 =  
Solve this simple math problem and enter the result. E.g. for 1+3, enter 4.

2.3 คลิกปุ่ม “สร้างบัญชีผู้ใช้ใหม่” 
2.3.1 ถ้าพบหน้าต่างสมัครสมาชิกหน้าต่างเดิม ให้อ่านข้อผิดพลาดที่ระบบแจ้ง แล้วทำการแก้ไข และคลิกปุ่ม “สร้างบัญชีผู้ใช้ใหม่” อีกครั้ง 
2.3.2 ถ้าสมัครเรียบร้อยแล้วจะพบกับหน้าต่างแจ้งว่า “คุณสมัครสมาชิกเรียบร้อยแล้ว” และจะเข้าสู่ระบบอัตโนมัติ ดังนี้

คุณสมัครสมาชิกเรียบร้อยแล้ว

ยินดีต้อนรับด้วยความยินดียิ่ง ขณะนี้คุณเข้าสู่ระบบเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมว่า

  • เมื่อเลืกใช้งาน ให้ออกจากระบบ(logout) ทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัย
  • เข้าสู่ระบบ เพื่อใช้งานครั้งที่ 2 ภายใน 15 วัน เพื่อแสดงว่าการสมัครเป็นสมาชิกเพื่อใช้งานจริง และเป็นการป้องกันการสมัครโดยการใช้ซอฟต์แวร์สมัครเข้ามาก่อกวนครับ
  • หากมีปัญหาใดๆ ขอให้ติดต่อที่ครูพูนศักดิ์ โทร. 08-1869-3782
  • สำหรับแผ่นป้ายโฆษณาของ Google ท่านเห็นในเว็บ ก็ต้องขออภัยหากดูไม่สะอาดตา แต่มันคือรายได้หลักของเราที่เหลืออยู่ในการที่จะเป็นค่าใช้จ่ายในการทำไทยกู๊ดวิวครับ เพียงคลิกสักครั้งเหมือนต่ออายุเราให้ยืนยาว แต่ถ้าโฆษณาไม่น่าสนใจ ก็ไม่ต้องคลิกก็ได้นะครับ

ขอขอบคุณ
ทีมงานบ้านไทยกู๊ดวิว

3. การเข้าสู่ระบบ
           3.1 คลิกปุ่ม “เข้าสู่ระบบ” ที่มุมขวาบนของหน้าต่าง ดังรูปที่ 2.4 เพื่อเข้าสู่ระบบ จะพบหน้าต่างการเข้าสู่ระบบ ให้กรอกชื่อผู้ใช้งาน (Username) และรหัสผ่าน ให้ถูกต้อง คลิกปุ่มล็อกอิน

รูปที่ 2.4


           3.2 เมื่อเลิกใช้งานกรุณาคลิก “ออกจากระบบ” ด้วยทุกครั้ง  
หมายเหตุ เมื่อเข้าสู่ระบบเรียบร้อยแล้ว ถ้าผู้ใช้ไม่ทำการใช้งานใดๆ เกิน 30 นาที ระบบจะทำการ ออกจากระบบให้อัตโนมัติ

4. การแก้ไขประวัติส่วนตัว และรหัสผ่าน
           4.1 คลิกเมนู “บัญชีผู้ใช้ของฉัน” (บล็อกทางด้านขวามือ)
           4.2 คลิกเมนู “แก้ไข” จะได้หน้าต่างใหม่ดังรูปที่ 2.5

รูปที่ 2.5

           4.2.1 เมนูตั้งค่าบัญชีผู้ใช้ ใช้สำหรับ

  • แก้ไขรหัสผ่าน
  • ใส่รูปภาพของผู้ใช้ที่ขนาดไม่เกิน 85×85 pixel (50 kb.)
  • เมื่อทำการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว คลิกปุ่ม “ยืนยัน”

           4.2.2 เมนูข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ ใช้สำหรับ
                      4.2.2.1 แก้ไขประวัติส่วนตัวได้
                      4.2.2.2 เมื่อทำการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว คลิกปุ่ม “ยืนยัน”

5. ตรวจสอบสิ่งที่ฉันสร้าง
           เมื่อต้องการเข้าถึง แก้ไข หรือตรวจสอบสิ่งที่เคยสร้างไว้ ให้คลิกเมนู “สิ่งที่ฉันสร้าง” (บล็อกทางด้านขวามือ) จะได้หน้าต่างใหม่ดังรูปที่ 2.6

รูปที่ 2.6

ตอนที่ 3 การสร้างBlog และการใช้งาน

           หลังจากสมัครสมาชิกเว็บไซต์ที่ต้องการจะสร้าง Blog แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการนำข้อมูลใส่ลงไปใน Blog สิ่งที่จะใส่ลงใน Blog ได้นั้นก็ขึ้นอยู่กับเว็บที่ให้บริการว่าจะอนุญาตให้ใส่ข้อมูลอะไรได้บ้าง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้อความและภาพนิ่ง หรืออาจจะให้ใส่ภาพเคลื่อนไหว เช่น Flash หรือภาพยนตร์ เป็นต้น สำหรับในเว็บไซต์ www.thaigoodview.com สามารถใส่ข้อความ ภาพนิ่ง และ Flash ได้
           ขั้นตอนการใส่ข้อมูลลงใน Blog ที่เว็บไซต์ www.thaigoodview.com มีดังนี้

1. หลังจากสมัครสมาชิกแล้วให้เข้าสู่ระบบ

รูปที่ 3.1


           1.1. คลิกเมนู “สร้างเนื้อหา” (บล็อกทางด้านขวามือ-รูปที่ 3.1)
           1.2. สำหรับสมาชิกทั่วไปจะได้รับสิทธิ์ในการสร้างสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้ กระทู้ ข่าว บล็อก สื่อการเรียนรู้ และเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์รูปอีก 1 เมกกะไบต์ (ถ้าต้องการพื้นที่เพิ่มเติมแจ้งได้ที่ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล 081-8693782)
           1.3. เนื้อหาที่สร้างขึ้นมาแต่ละครั้งจะมี URL เป็นของตนเอง ดังนี้
           http://www.thaigoodview.com/node/หมายเลขตามลำดับการสร้าง
           1.4. คลิกเลือกเมนูสร้าง “บล็อก” ดังรูปที่ 2.1-2 จะได้หน้าต่างใหม่ดังรูปที่ 3.2

รูปที่ 3.2
รูปที่ 3.3

                       1.4.1. ใส่หัวข้อบล็อกที่ต้องการสร้างลงในฟิลด์ หัวข้อ (หมายเลข 1 รูปที่ 3.3)
จะใส่เป็นภาษาอะไรก็ได้ แต่ควรเป็นข้อความที่เป็นหัวใจของเนื้อหาในหน้านั้น เพราะมันคือส่วนที่เรียกว่าเป็น
<title>…..</title>
                      1.4.2. ใส่เนื้อหาของบล็อกลงในฟิลด์ เนื้อความ (หมายเลข 2 รูปที่ 3.3)
เป็นส่วนที่อยู่ระหว่าง <body>…</body> ซึ่งสามารถใส่ข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว Flash ภาพยนตร์ เสียง ได้ นอกจากนี้ยังสามารถใส่สัญลักษณ์พิเศษ Emotions และการสร้างตาราง และที่จะขาดเสียมิได้ในการสร้างเว็บเพจคือ การเชื่อมโยง (Link) ซึ่งวิธีการทั้งหมดโดยละเอียดจะได้กล่าวต่อไป
                      1.4.3. ท่านสามารถใช้เครื่องมือที่มีในฟิลด์เนื้อความเพื่อช่วยพิมพ์ ปรับแต่ง แทรกรูปภาพ แทรกตาราง โดยไม่ต้องมีความรู้ HTML (หมายเลข 3 รูปที่ 3.3)
                      1.4.4. ถ้าท่านมีความรู้ HTML สามารถคลิกที่เมนู ปิดใช้งานแถบเครื่องมือ(disable rich-text) ใต้ฟิลด์เนื้อความ เพื่อสร้างบล็อกด้วยคำสั่ง HTML (หมายเลข 4 รูปที่ 3.3)
                      1.4.5. คลิกปุ่ม “ยืนยัน” เพื่อให้ระบบทำการสร้างบล็อกที่ท่านสร้างขึ้นมาโดยอัตโนมัติ (หมายเลข 5 รูปที่ 3.3)
                      1.4.6. หากต้องการกลับมาแก้ไข ก็ให้เข้า URL ของเนื้อหาที่ต้องการแก้ไข แล้วคลิกเลือกเมนู แก้ไข เมื่อทำการแก้ไขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คลิกปุ่ม “ยืนยัน” เพื่อบันทึกข้อมูลที่ได้ทำการแก้ไข
    หมายเหตุ ฟิลด์ที่มีเครื่องหมายดอกจันสีเหลือง หมายความว่าฟิลด์นั้นจำเป็นต้องกรอกข้อมูล 
1.5 การใส่เนื้อหาของบล็อกลงในฟิลด์ เนื้อความ
• กรณีที่เป็นข้อความ ท่านสามารถพิมพ์ลงไปได้เลย โดยมีเครื่องมือให้ท่านสามารถตกแต่งข้อความให้น่าสนใจได้ เช่น 

           สำหรับต้องการเลือกชนิดและขนาดของ Font ระบบ CMS ได้ตั้งค่าเริ่มต้นให้เป็นชนิดและขนาด Font มาตรฐานแล้ว คือ Font Tahoma ขนาด 10 พิกเซล ซึ่งสามารถดูภาษาไทยได้ทุกบราวเซอร์
ดังนั้น ถ้าจะ Copy ข้อความจากที่ใดๆมา เช่น จาก Word PowerPoint หรือจากเว็บไซต์ต่างๆ ต้องวางลงใน Notepad ก่อน เพื่อล้างคำสั่งการจัดรูปแบบต่างๆออก แล้ว copy จาก Notepad มาวางใหม่ จะไม่เกิดปัญหา
• กรณีเป็นสัญลักษณ์พิเศษ ให้คลิกที่ปุ่ม   (Insert custom Character) จะได้หน้าต่างใหม่ดังรูปที่ 3.4 ก็สามารถเลือกสัญลักษณ์ตามที่ต้องการได้

รูปที่ 3.4

• กรณีเป็น Emotions ให้คลิกที่ปุ่ม   (Emotions) จะได้หน้าต่างใหม่ดังรูปที่ 3.5 ก็สามารถเลือกภาพ Emotions ตามที่ต้องการได้

รูปที่ 3.5

• กรณีการแทรกรูปภาพ 
           กรณีแทรกรูปภาพ ให้คลิกที่ไอคอนรูปต้นไม้ (Insert/edit image) ดังรูปที่ 3.6

รูปที่ 3.6


           จะได้หน้าต่างใหม่ขึ้นมาดังรูปที่ 3.7 ให้คลิกปุ่ม Browse ตามลูกศรชี้

รูปที่ 3.7

           จะได้หน้าต่างใหม่ขึ้นมาดังรูปที่ 3.8

รูปที่ 3.8

          บริเวณ 1 หมายถึง ไฟล์ที่ได้ Upload ไปเก็บไว้ที่ Folder ของท่านแล้ว จะมี 5 คอลัมน์ คือ
           Filename คือ ชื่อของไฟล์
           Size ขนาดของไฟล์
            Dimension ขนาดของภาพ ความกว้างและสูงของภาพ มีหน่วยเป็นพิกเซล 
                      (ไม่เกิน 500×500 พิกเซล ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถอัพโหลดขึ้นบนเว็บได้)
           Date วันเดือนปีที่ upload ไฟล์
           Operation การดำเนินการกับภาพ ได้แก่ ลบ ลบภาพทิ้ง add ใส่ภาพลงในสื่อที่สร้าง
บริเวณ 2 หมายถึง ภาพที่ถูกเลือกจะแสดงให้เห็น 
             Directory : file/u29 หมายถึงที่อยู่ของภาพที่แสดงอยู่

           ให้คลิกปุ่ม Browse ตรงตำแหน่งที่ 4 จากรูปที่ 3.8 เพื่อเลือกไฟล์ภาพจากที่เก็บในไว้เครื่องคอมพิวเตอร์ เมื่อเลือกไฟล์ภาพที่ต้องการได้แล้วให้คลิกปุ่ม Upload File ตรงตำแหน่งที่ 5 จากรูปที่ 3.8 ก็จะได้ดังรูปที่ 3.9 

รูปที่ 3.9

           จากรูปที่ 3.9 จะได้ไฟล์ 1111.jpg เก็บไว้ในห้อง file/u29 ที่เว็บ www.thaigoodview.com เรียบร้อยแล้ว สามารถเรียกมาใช้งานเมื่อใดก็ได้โดยคลิกที่ ปุ่ม add หรือจะลบทิ้งก็คลิก ลบ (แต่ถ้าภาพที่จะลบ ได้เคยเลือกไปใช้งานแล้วและยังใช้งานอยู่ ห้ามลบเด็ดขาด เพราะจะทำให้งานที่ใช้ภาพดังกล่าว ไม่มีภาพปรากฏ)
           เมื่อคลิกปุ่ม add ก็จะปรากฏไฟล์ภาพ 1111.jpg ที่ช่อง Image URL ในหน้าต่างเดิมดังรูปที่ 3.10

รูปที่ 3.10

           จากรูปที่ 3.10 ช่อง Image URL ปรากฏที่อยู่ของภาพคือ /files/u29/1111.jpg ซึ่งหมายถึง
http://www.thaigoodview.com/files/u29/1111.jpg ถ้าไม่ต้องการปรับแต่งใดๆ แล้ว ให้คลิกปุ่ม “Insert” เพื่อแทรกรูปภาพที่เลือกไว้
ในหน้าต่างตามรูปที่ 3.10 มีรายละเอียดในการปรับแต่งภาพดังนี้
          Image description คือรายละเอียดของภาพ จะใส่หรือไม่ก็ได้ (หลายคนนิยมใส่ว่านำภาพนี้มาจากที่ใด เป็นการอ้างอิง เช่น ภาพจาก http://www3.ipst.ac.th/images2/36yearsIPSTm2.jpg) 
          Alignment คือการกำหนดตำแหน่งที่จะวางรูปภาพ เช่น ถ้ามีข้อความอยู่ในบรรทัดเดียว จะให้อยู่อย่างไรกับข้อความ บน กลาง หรือล่าง และที่พิเศษคือสามารถกำหนดให้ภาพอยู่ทางซ้าย หรือทางขวา แล้วข้อความทั้งหมดอยู่ ทางขวาหรือซ้าย เช่น รูปที่ 3.11

รูปที่ 3.11 

          Dimensions คือขนาดของภาพ หน่วยเป็นพิกเซล ซึ่งภาพที่จะนำมาใช้งานนั้น
          Border คือขนาดของขอบภาพ
          Vertical space คือช่องว่างตามแนวตั้ง
          Horizontal space คือช่องว่างตามแนวนอน
          เมื่อตั้งค่าตามที่ต้องการแล้ว ก็คลิกที่ปุ่ม Insert ภาพก็จะมาปรากฏดังรูปที่ 3.12

รูปที่ 3.12

          หากต้องการแก้ไขภาพ ก็คลิกเลือกภาพที่จะแก้ไข แล้วคลิกปุ่มต้นไม้ก็จะประกฎหน้าต่างดังรูปที่ 3.10 ขึ้นมาให้แก้ไข

ข้อควรตรวจสอบ
          จากรูปที่ 3.8 บริเวณที่ 6 จะเป็นรายละเอียดว่าผู้ใช้งานได้ใช้พื้นที่ในการเก็บข้อมูลรูปภาพไว้เท่าไร เหลือเท่าไร ดังรูป
          Limits : File size = 100 KB หมายถึง ไฟล์ต้องมีขนาดไม่เกิน 100 kb.
          Dimension = 500×500 หมายถึง ภาพต้องกว้างและสูงไม่เกิน 500 พิกเซล
          Quota = 497.79 KB/15000 kb. หมายถึง ใช้พื้นที่เก็บภาพไป 497.79 kb. จากที่มีพื้นที่เก็บได้ 150000 kb.
          (กรณีที่พื้นที่เต็มสามารถแจ้งขอเพิ่มพื้นที่เก็บได้)
                Resize image หมายถึงต้องการให้ย่อภาพลงเป็นขนาดเท่าไรให้เติมลงช่อง เมื่อย่อแล้วทับไฟล์เดิมก็ไม่ต้อง                    เลือกCreate a copy แต่ถ้าต้องการเป็นไฟล์ใหม่ก็เลือก Create a copy
          ดังนั้นที่ต้องระมัดระวังคือ ขนาดของภาพ และพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูล

• กรณีแทรก flash ให้คลิกที่ไอคอน รูปฟิล์ม  (Insert/edit embedded media) 
จะได้หน้าต่างดังรูปที่ 3.13 ก็ดำเนินการแทรก flash ได้ตามต้องการ โดยมีขั้นตอนการแทรกคล้ายกันกับการแทรกรูปภาพ

รูปที่ 3.13

• การสร้างตาราง เมื่อคลิกที่ปุ่มสร้างตาราง  จะได้หน้าต่างใหม่ดังรูปที่ 3.14 เพื่อให้กำหนดค่าตารางที่ต้องการ และเมื่อได้กำหนดค่าตารางตามต้องการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คลิกปุ่ม “Insert”

รูปที่ 3.14

Columns คือ จำนวนคอลัมน์ของตารางที่ต้องการแทรก
Rows คือ จำนวนแถวของตารางที่ต้องการแทรก
Alignment คือ การจัดตำแหน่งของตาราง
Border คือ ขนาดของเส้นขอบตารางที่ต้องการแทรก มีหน่วยเป็นพิกเซล
Width คือ ความกว้างของตาราง มีหน่วยเป็นพิกเซล (ไม่ควรเกิน 500 พิกเซล)
Height คือ ความสูงของตาราง มีหน่วยเป็นพิกเซล
ข้อควรระวัง หากกำหนดความกว้างของตารางเกิน 500 พิกเซล จะมีปัญหาการนำเสนอที่ทำให้เสียรูปแบบ

• การเชื่อมโยง (Link) การเชื่อมโยง สามารถกระทำได้ 2 วิธี คือ เชื่อมโยงจากข้อความ และเชื่อมโยงจากรูปภาพ
                1. เชื่อมโยงจากข้อความ ให้เลือกข้อความที่จะเชื่อมโยง แล้วคลิกที่ปุ่มโซ่  จะได้หน้าต่างใหม่ดังรูปที่ 3.15 และเมื่อได้กำหนดค่าตามต้องการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คลิกปุ่ม “Insert”

รูปที่ 3.15

 Link URL หมายถึง ที่อยู่ของเว็บไซต์ รูปภาพ ไฟล์เอกสาร สื่อ ฯ ที่ต้องการเชื่อมโยง
Target หมายถึง ลักษณะการเปิดเมื่อผู้ใช้คลิก ต้องการให้เปิด URL นั้นแทนที่หน้าต่างเดิม หรือเปิดหน้าต่างใหม่
Title หมายถึง ข้อความที่ต้องการให้แสดงเมื่อมีผู้ใช้นำเมาส์ไปแตะ link

                2. เชื่อมโยงจากรูปภาพ ให้คลิกเลือกภาพที่ต้องการจะเชื่อมโยง แล้วคลิกที่ปุ่มโซ่  แล้วดำเนินการเหมือนเชื่อมโยงข้อความ

ในกรณีที่ต้องการยกเลิกการเชื่อมโยง ให้เลือกข้อความหรือรูปภาพที่มีการเชื่อมโยงอยู่ แล้วคลิกที่ปุ่มโซ่ขาด 

• การใช้คำสั่งขึ้นหน้าใหม่อัตโนมัติ  ด้วยคำสั่ง <!–pagebreak–>

รูปที่ 3.16

           1. กำหนดขอบเขตข้อมูลของแต่ละหน้าตามความต้องการ แล้วจดจำข้อมูลท้ายสุดที่ต้องการตัดขึ้นหน้าใหม่ไว้ หมายเลข 1 รูปที่ 3.16

           2. คลิกปิดใช้งานแถบเครื่องมือ(disable rich-text) หมายเลข 2 รูปที่ 3.16 ใต้ฟิลด์เนื้อความ จะสังเกตเห็นว่าแถบเครื่องมือจะหายไป และข้อมูลที่อยู่ในฟิลด์เนื้อความ จะกลายเป็นคำสั่งภาษา HTML ดังรูปที่ 3.17

รูปที่ 3.17

           3. หาตำแหน่งที่ต้องการให้ข้อมูลถูกตัดขึ้นหน้าใหม่ (ที่จำไว้ในข้อ 1) เมื่อพบแล้วให้ พิมพ์คำสั่ง <!–pagebreak–> ท้ายข้อมูลที่ต้องการตัดขึ้นหน้าใหม่ ดังรูปที่ 3.18

รูปที่ 3.18

           4.  เมื่อแทรกคำสั่งเรียบร้อยแล้ว คลิกปุ่ม “ยืนยัน” จะพบว่าข้อมูลถูกตัดขึ้นหน้าใหม่อัตโนมัติ โดยมี link เชื่อมโยงไปยัง
แต่ละหน้าที่ทำการแบ่งไว้ ดังรูปที่ 3.19

รูปที่ 3.18

ตอนที่ 4 ขั้นตอนการใช้บล็อกในการจัดการเรียนรู้ 

           หลังจากที่ได้รู้ว่าบล็อกคืออะไร สามารถทำอะไรได้บ้าง สมัครสมาชิกแล้ว สร้างบล็อกเป็นแล้ว คราวนี้ก็เข้าสู่วิธีการที่จะนำบล็อกไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ ว่าจะดำเนินการอย่างไร

           เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ผมจะยกตัวอย่างที่ผมได้ทดลองใช้ และเพื่อนครูที่กำลังทดลองใช้กันอยู่ ดังนี้

  • ขั้นที่ 1 เลือกเนื้อหาที่จะใช้
    การที่ครูผู้สอนจะใช้บล็อกเพื่อประกอบการจัดการเรียนการสอนนั้น มิได้หมายความว่าทั้งภาคเรียนต้องใช้ตลอด แต่ควรเลือกใช้ในบางกรณีเพื่อทำให้การจัดการเรียนการสอนที่ไปกระตุ้นให้การเรียนการสอนมีเทคนิควิธีการที่แปลกออกไป โดยมีจุดมุ่งหมายหลักๆดังนี้
    1. เพื่อให้นักเรียนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตในสิ่งที่เป็นประโยชน์ มิใช่ใช้อินเทอร์เน็ตเพียงแค่เล่นเกม หรือใช้ในสิ่งที่ไม่ค่อยจะมีสาระมากนัก เป็นการลดการใช้อินเทอร์เน็ตในทางที่ไม่เหมาะสม
    2. เพื่อให้นักเรียนได้รู้จักการค้นคว้าข้อมูลตามหัวข้อที่ครูกำหนด แล้วนำมาเรียบเรียงใหม่ ซึ่งเหมือนกับทำรายงานส่งครู มิได้มุ่งเน้นให้นักเรียนไปคัดลอกข้อมูลจากหนังสือ จากไฟล์ Word ไฟล์ PowerPoint หรือ เว็บไซต์ต่างๆ แล้วมาใส่ลงเลย
    3. เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเสียค่ากระดาษ ค่าหมึก ค่าเย็บเล่มส่งครู
    4. เพื่อให้ผลงานของนักเรียนได้ถูกตรวจสอบจากผู้อื่นด้วย ทำให้ต้องมีการอ้างอิงอย่างถูกต้อง จะละเลยเพราะคิดว่าครูผู้สอนไม่รู้ไม่ได้ เป็นการปลูกฝังให้นักเรียนเคารพสิทธิผู้อื่น
    5. เพื่อให้ครูและนักเรียนได้รู้จักกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้
    6. เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับผู้อื่นที่ได้เข้ามาศึกษาค้นคว้าต่อไป
    ดังนั้น ควรเลือกเนื้อหาที่ต้องมีการเขียนรายงานหลังจากไปค้นคว้ามา สามารถแทรกภาพได้ด้วย
  • ขั้นที่ 2 สร้างบล็อกสั่งงาน โดยสร้างขึ้นมาเพียงภาคเรียนละ 1 Node ก็เพียงพอ
    เช่น http://www.thaigoodview.com/node/21509


           ในขั้นตอนนี้มีจุดประสงค์เพื่อ ให้ครูผู้สอนสร้าง URL เพื่อไปบอกนักเรียนว่า ครูได้สั่งงานทั้งภาคเรียนไว้แล้วที่ URL ไหน ไม่ว่าครูคนนั้นจะสอนกี่ห้อง กี่วิชา ในภาคเรียน 1 ภาคเรียน ก็สร้างเพียง 1 Node เพราะครูจะได้ไม่ยุ่งยากในการจำ นักเรียนก็ไม่งง แม้จะอยู่ต่างห้องกัน พอเปลี่ยนภาคเรียนใหม่ค่อยสร้าง Node ใหม่ ลองดูตัวอย่างที่ http://www.thaigoodview.com/node/21509 
           แต่ถ้าคุณครูอยากสร้างวิชาละ 1 Node ก็ไม่เป็นไร สามารถทำได้ครับ ลองดูที่  http://www.thaigoodview.com/node/21175

  • ขั้นที่ 3 สร้างบล็อกส่งงาน ควรสร้าง 1 Node ต่อ 1 งาน เพื่อสะดวกในการส่งงานของนักเรียน และสะดวกในการตรวจงานของครู
    เช่น http://www.thaigoodview.com/node/21511
    ในขั้นตอนนี้ครูผู้สอนต้องเตรียมการล่วงหน้าเช่นเดียวกัน ซึ่งต้องสัมพันธ์กับตอนที่ 2 เช่นตอนที่ 2 สั่งงานไว้ว่า
       ชั้นม.6/1
    – งานครั้งที่ 1
    – งานครั้งที่ 2
    – งานครั้งที่ 3
    – ………….
    ต้องไปสร้าง Node งานครั้งที่ 1 ไว้ ว่าจะให้นักเรียนทำอะไร ส่งงานอย่างไร หมดเขตส่งเมื่อไร คะแนนเท่าไร
    สร้าง Node งานครั้งที่ 2 ไว้ ว่าจะให้นักเรียนทำอะไร ส่งงานอย่างไร หมดเขตส่งเมื่อไร คะแนนเท่าไร
    สร้าง Node งานครั้งที่ 3 ไว้ ว่าจะให้นักเรียนทำอะไร ส่งงานอย่างไร หมดเขตส่งเมื่อไร คะแนนเท่าไร
    เสร็จแล้ว กลับไปทำลิ้งค์หน้าที่ทำในขั้นตอนที่ 2 ให้มายังหน้าในขั้นตอนที่ 3
  • ขั้นที่ 4 ให้นักเรียนสมัครสมาชิก และอธิบายการเรียนการสอนสอนโดยใช้บล็อก ว่านักเรียนต้องทำดังนี้
    – สมัครสมาชิก อ่านวิธีการสมัคร ด้านบนตอนที่ 2
    – วิธีการใช้บล็อก ศึกษาจาก ด้านบนตอนที่ 3
  • ขั้นที่ 5 การส่งงานของนักเรียน ในการส่งงานของนักเรียนสามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น ให้นักเรียนทำลงในกระดาษแล้วส่งครูโดยตรง แต่วิธีที่ประหยัด และนักเรียนชื่นชอบ คือการให้ตอบส่งในบล็อก เมื่อทำเสร็จ ก็จะได้ URL ของแต่ละคน ก็ให้มาแจ้งส่ง โดยคลิกที่แสดงความคิดเห็น แล้วบอก URL ของบล็อกที่ตนเองสร้างไว้ ซึ่งในการแจ้งส่ง นักเรียนต้องแจ้งตรงตามห้องที่ครูกำหนดไว้ในขั้นที่ 3 เช่น http://www.thaigoodview.com/node/21511
  • ขั้นที่ 6 การตรวจงานของครูผู้สอน ครูผู้สอนเข้าไปยังห้องที่ให้นักเรียนส่งงาน แล้วคลิกที่ URL ที่นักเรียนแจ้งส่ง แล้วให้ข้อคิดเห็นที่แสดงความคิดเห็นของแต่ละชิ้นงาน เช่น http://www.thaigoodview.com/node/23185

ตอนที่ 5 ทำไมต้องใช้ บล็อกใน www.thaigoodview.com 
ในการจัดการเรียนการสอน

          ในการจัดการเรียนการสอนไม่ว่าวิชาอะไรก็ตาม ถ้าจะใช้บล็อกในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนได้ใช้บล็อกในการส่งงาน หรือครูสร้างแหล่งความรู้ให้เด็กเข้ามาค้นคว้า มีการแสดงความเห็น และอื่นๆ ซึ่งสามารถใช้บล็อกของใครก็ได้ไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่จะไม่สามารถดูแลกันได้ และอาจจะมีปัญหาอื่นตามมาอีกก็ได้ ดังนั้นขอสรุปว่า ทำไมต้องใช้ บล็อกใน www.thaigoodview.com ในการจัดการเรียนการสอน ดังนี้

  1. www.thaigoodview.com เป็นเว็บไซต์ที่มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อการศึกษาระดับชัน้อนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
  2. www.thaigoodview.com เป็นเว็บไซต์ที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์ใดๆ ทำเพื่อเป็นสาธารณะประโยชน์ทางการศึกษาสำหรับเยาวชนไทย
  3. www.thaigoodview.com เป็นเว็บไซต์ที่ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล ตำแหน่งครูชำนาญการ ยึดมั่นในอุดมการณ์มากว่า 10 ปี ไม่ใช่มาทำกันแค่ 1-2 ปี แล้วบอกว่าทำเพื่อสาธารณะประโยชน์
  4. www.thaigoodview.com เป็นเว็บไซต์ที่ต้องการให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับนักเรียนไทยโดยเฉพาะ
  5. www.thaigoodview.com เป็นเว็บไซต์ที่ต้องการให้นักเรียนได้มีแหล่งข้อมูลที่จะใช้งานในการทำการบ้าน ทำรายงาน
  6. www.thaigoodview.com เป็นเว็บไซต์ที่ต้องการให้เยาวชนรู้จักเว็บไซต์สีขาว ไม่จำเป็นต้องเข้าเว็บสีเทาหรือสีดำเสมอไป
  7. www.thaigoodview.com เป็นเว็บไซต์ที่ต้องการสร้างความเข้าใจในการคัดลอกผลงานคนอื่นมาทำรายงานเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เมื่อกระทำการใดไป ย่อมมีคนเข้ามาอ่าน เข้ามาเห็น ทำให้ต้องถูกตรวจสอบ ต่างจากการทำรายงานลงกระดาษแล้วส่งครู
  8. www.thaigoodview.com เป็นเว็บไซต์ที่ให้ใช้ในการจัดการเรียนการสอน ดังนั้นข้อมูลทั้งหมดเกิดจากกิจกรรมการเรียนการสอน เสมือนหนึ่งเป็นแหล่งรวมการบ้าน รายงาน ที่ครูมอบหมายให้นักเรียนทำ ดังนั้นจึงไม่ใช่ สารานุกรม ใดๆทั้งสิ้น เพราะมีข้อผิดพลาดเสมอ ผู้อ่านต้องช่วยกันตรวจสอบ เพื่อขัดเกลาเยาวชนไทย
  9. www.thaigoodview.com เป็นสังคมของครู นักเรียน และผู้ปกครองเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ หากเข้ามาใช้งาน ก็เข้ามาเพื่อช่วยกันสร้างสิ่งดีๆให้กับนักเรียนเท่านั้น
  10. www.thaigoodview.com จะมีครูแต่ละโรงเรียนที่เข้ากิจกรรมการเรียนการสอน คอยตรวจสอบข้อมูลของนักเรียนเสมอ และจะคอยตักเตือนหากมีการกระทำในสิ่งที่ไม่สมควร ซึ่งในปัจจุบันมามากกว่า 500 โรงเรียนทั่วประเทศไทย

           นี่แหละครับคือเหตุผล ที่อยากจะให้ครูและนักเรียน ช่วยกันเข้ามาใช้งาน และช่วยกันสอดส่องดูแลสิ่งที่ไม่เหมาะสมที่จะเกิดขึ้นจากกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดี พยายามที่จะใส่ร้ายป้ายสีต่างๆ กับเว็บไซต์ www.thaigoodview.com

 หมายเหตุ เนื้อหา QR Code กับการจัดการแหล่งเรียนรู้ออนไลน์

ยังมีต่อโดยละเอียด โปรดติดตาม

หมายเหตุ สำหรับคุณครูที่ต้องการนำไปอบรมครู สามารถดาวน์โหลดชุดอบรมได้ที่นี่

ย่อ