สร้างโดย : นางสุดารักษ์ สุวรรณทอง
สร้างเมื่อ ศุกร์, 14/11/2551 – 14:03

         อิศรญาณภาษิตเรียกอีกอย่างว่า “เพลงยาวอิศรญาณ” เป็นพระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าอิศรญาณ ซึ่งเล่ากันว่าเป็นผู้มีพระจริตไม่ปกติ ครั้งหนึ่งพระองค์ได้ทำสิ่งวิปริตไปแล้วพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรับริภาษว่าเป็นบ้า ทำให้ใครๆ ก็พากันเห็นด้วยกับพระราชดำรัสนั้น ด้วยความน้อยพระทัยของหม่อมเจ้าอิศรญาณจึงทรงนิพนธ์เพลงยาวฉบับนี้ขึ้น

         มีผู้สันนิษฐานว่าอิศรญาณภาษิตนี้ ไม่ใช่พระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าอิศรญาณแต่เพียงผู้เดียว หากแต่ทรงนิพนธ์ไว้เพียงตอนแรกเท่านั้น กล่าวคือ สันนิษฐานว่าทรงนิพนธ์ถึงวรรคว่า “ปุถุชนรักกับชังไม่ยั่งยืน” ซึ่งมีลีลาการแต่งไว้ด้วยน้ำเสียงเหน็บแนมประชดประชันอย่างรุนแรง ชัดเจนส่วนที่เหลือเป็นของผู้อื่นแต่งต่อ โดยเป็นการสอนเรื่องทั่วๆ ไป มีลีลาหรือท่วงทำนองแบบเรียบๆ มุ่งสั่งสอนตามปกติของผู้มีประสบการณ์ในเรื่องต่างๆ ซึง่งได้นำมาเรียบเรียงไว้ทั้งหมด

ประวัติผู้แต่ง

         หม่อมเจ้าอิศรญาณ(ไม่ทราบพระนามเดิม)เป็นโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงมหิศวรินทรามเรศ พระองค์ทรงผนวชที่วัดบวรนิเวศ ได้พระนามฉายาว่า อิสสรญาโณ มีพระชนม์ชีพอยู่ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลักษณะคำประพันธ์

         กลอนเพลงยาว ซึ่งขึ้นต้นด้วยวรรคสดับ(มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเพลงยาวอิศรญาณหรือภาษิตอิศรญาณ)

จุดประสงค์

๑. เพื่อสั่งสอน
๒. เพื่อเตือนใจให้คิดก่อนที่จะทำสิ่งใด
๓. สอนเกี่ยวกับการปฏิบัติตนต่อผู้อื่นในสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

เนื้อเรื่อง

         อิศรญาณภาษิตมีเนื้อหาที่เป็นคำสั่งสอนแบบเตือนสติ และแนะนำเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติให้เป็นที่พอใจของผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจมากกว่า สอนว่าควรจะทำอย่างไรจึงจะอยู่ในสังคมได้โดยปราศจากภัยแก่ตน ทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จสมหวังบางตอนก็เน้นเรื่องการเห็นคุณค่าและความสำคัญของผู้อื่นโดยไม่สบประมาทหรือดูแคลนกัน โดยทั้งนี้การสอนบางครั้งอาจเป็นการบอกตรงๆ หรือบางครั้งก็สอนโดยคำประชดประชันเหน็บแนม เนื้อหาส่วนใหญ่จะสั่งสอนให้คนมีปัญญา ไม่หลงใหลกับคำเยินยอ สอนให้รู้จักคิดไตร่ตรองก่อนพูด รู้จักเคารพผู้อาวุโส รู้จักทำตามที่ผู้ใหญ่แนะนำรู้จักกตัญญูผู้ใหญ่

คุณค่างานประพันธ์

คุณค่าด้านวรรณศิลป์ ใช้ถ้อยคำง่าย ๆ มาเรียงร้อยได้เหมาะเจาะและมีความหมายลึกซึ้ง
คุณค่าด้านสังคม ให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตเพื่อดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ศึกษาบทที่ ๑ – ๒๖ พร้อม คำศัพท์ ความหมายและสุภาษิตในหน้า ๒-๒๗

บทที่ ๑

อิศรญาณชาญกลอนอักษรสาร
เทศนาคำไทยให้เป็นทาน โดยตำนานศุภอรรถสวัสดี

คำศัพท์ สำนวน
ตำนาน หมายถึง คำโบราณ
ศุภอรรถ หมายถึง ถ้อยคำและความหมายที่ดี
สวัสดี หมายถึง ความดี ความงาม

ถอดความได้ว่า
หม่อมเจ้าอิศรญาณผู้ทรงเชี่ยวชาญในเชิงกลอนทรงนิพนธ์คำกลอนสุภาษิตโบราณ สั่งสอนเตือนใจไว้เพื่อเป็นทาน

บทที่ ๒

สำหรับคนเจือจิตจริตเขลา ด้วยมัวเมาโมห์มากในซากผี
ต้องหาม้ามโนมัยใหญ่ยาวรี สำหรับขี่เป็นม้าอาชาไนย

คำศัพท์ สำนวน
เจือ หมายถึง เอาส่วนที่มีน้อยไปประสมลงไปในส่วนมาก
จริต หมายถึง กิริยาอาการ หรือแสดงความประพฤติ
โมห์ หมายถึง ความลุ่มหลง
ซากผี หมายถึง ร่างกายของคนที่ตายแล้ว
อาชาไนย หมายถึง กำเนิดดี พันธุ์ หรือตระกูลดี ฝึกหัดมาดีแล้ว
ม้ามโนมัย หมายถึง ในบทนี้หมายถึงใจที่รู้เท่าทันกิเลสจะได้เป็นพาหนะไปสู่ความสำเร็จ

ถอดความได้ว่า
สำหรับคนที่โง่เขลาเบาปัญญาที่ไปลุ่มหลงในความชั่วต้องฝึกใจให้รู้เท่าทันกิเลส คือ เอาใจเป็นนายบังคับใจตัวเองให้อยู่เหนือกิเลส เพื่อจะ ได้เป็นพาหนะไปสู่ความสุข

บทที่ ๓

ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสารโบราณว่า น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย
เราก็จิตดูเล่าเขาก็ใจ รักกันไว้ดีกว่าชังระวังการ

คำศัพท์ สำนวน
อัชฌาสัย หมายถึง กิริยาดี นิสัยใจคอ ความรู้จักผ่อนปรน

ถอดความได้ว่า
ผู้ชายกับผู้หญิงนั้นต่างกันดังข้าวเปลือกกับข้าวสาร(โบราณเขาเปรียบเทียบว่า ผู้ชายเปรียบเสมือoข้าวเปลือกตกที่ไหนก็เจริญงอกงามที่นั่น ส่วน ผู้หญิงก็เปรียบเสมือนข้าวสาร ตกที่ไหนมันไม่สามารถเจริญงอกงามได้ข้าวสาร ก็เน่า แต่เมื่ออยู่ในสังคมเดียวกันก็ย่อมต้องพึ่งพาอาศัยกันเป็นธรรมดา เราก็มีมิตรจิตเขาก็มีมิตรใจฉะนั้นเรารักกันดีกว่าเกลียดกัน

สุภาษิตที่เกี่ยวข้อง
ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสาร
น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า
รักกันดีกว่าชังกัน
มิตรจิตรมิตรใจ

บทที่ ๔

ผู้ใดดีดีต่ออย่าก่อกิจ ผู้ใดผิดผ่อนพักอย่าหักหาญ
สิบดีก็ไม่ถึงกับกึ่งพาล เป็นชายชาญอย่าเพ่อคาดประมาทชาย

คำศัพท์ สำนวน
ผู้ใดดีดีต่ออย่าก่อกิจ หมายถึง อย่าก่อเรื่อง
ผู้ใดผิดผ่อนพักอย่าหักหาญ หมายถึง ผู้ที่ทำไม่ถูกต้องก็ไม่ควรโกรธหรือตัดรอนจนแตกหัก
สิบดีก็ไม่ถึงกับกึ่งพาล หมายถึง ทำดีสิบหนไม่เท่ากับทำชั่วเพียงครึ่งหนความดีก็จะหมดไป

ถอดความได้ว่า
ผู้ใดทำดีต่อเราเราก็ควรทำดีต่อเขาตอบ ผู้ใดที่ทำไม่ดีต่อเราหรือทำไม่ถูกต้องก็ไม่ควรโกรธหรือตัดรอน
จนแตกหัก ทำความดีสิบครั้ง ก็ไม่เท่าทำความชั่วครึ่งครั้ง คือ ความชั่วจะทำลายความดีลงจนหมดสิ้น เป็นชายนั้น ไม่ควรดูถูกชายด้วยกัน

สุภาษิตที่เกี่ยวข้อง
คนล้มอย่าข้าม หมายถึง คนที่ตกต่ำไม่ควรลบหลู่ดูถูก เพราะอาจจะกลับาเฟื่องฟูได้อีก

บทที่ ๕

รักสั้นนั้นให้รู้อยู่เพียงสั้น รักยาวนั้นอย่าให้เยิ่นเกินกฎหมาย
มิใช่ตายแต่เขาเราก็ตาย แหงนดูฟ้าอย่าให้อายเทวดา

คำศัพท์ สำนวน
เยิ่น หมายถึง ยาวนานออกไป

ถอดความได้ว่า
รักจะอยู่ด้วยกันสั้น ๆ ก็จงทำสิ่งไม่ดีต่อไป แต่ถ้าเราจะอยู่ด้วยกันนาน ๆ จงทำความดี อย่าทำในสิ่งที่ผิด
กฎหมายหรือทำชั่ว ทุกคนต้องตาย ด้วยกันทั้งนั้น จงทำความดีไว้เถิด เวลาที่แหงนดูฟ้าจะได้ไม่อายเทวดา

สุภาษิตที่เกี่ยวข้อง
รักยาวให้บั่นรักสั้นให้ต่อ หมายถึง รักที่จะมีมิตรไมตรีต่อกันต้องตัดสิ่งที่ไม่ดีออก อย่าไปพูดถึง แต่ถ้า จะคบกันในเวลาสั้น ๆ ให้พูดต่อปากต่อคำ ในที่นี้ต้องการเฉพาะส่วนแรกคือตัดสิ่งที่ไม่ดีออกไป รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ ..เป็นสำนวนเก่าที่ประกอบด้วยคำชวนให้สงสัย คือคำที่มีความหมายขัดกันอยู่ ด้วยวรรคแรกสื่อความหมายว่า ชอบทางยาวแต่ให้บั่น คือตัดหรือทอนออกเสีย วรรคหลังบ่งว่า ชอบทางสั้น แต่กลับ ให้ต่อคือเพิ่มออกไป การเรียบเรียงข้อความโดยใช้คำที่มีความหมายขัดกันนั้น ในทางภาษาถือเป็นกลวิธีอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ประโยคมีน้ำหนัก ช่วยให้เกิดรสสะดุดใจน่าฟัง
รักยาว คือต้องการให้เรื่องเป็นไปโดยราบรื่น ไม่ติดขัด ไม่สะดุดจะเป็นการดำเนินธุรกิจ การคบเพื่อน การปฏิบัติงาน หรือเรื่องอะไรก็ตาม
ให้บั่น คือให้ตัดหรือทอนส่วนที่ขัดข้อง ความกินแหนงแคลงใจเรื่อเล็กน้อยนั้นเสีย ไม่ต้องถือ เป็นอารมณ์
รักสั้น คือต้องการให้เรื่องสิ้นสุดแค่นั้น แตกหักหรือดำเนินต่อไม่ได้
ให้ต่อ คือให้ต่อความยาวสาวความยืดต่อไป ให้นำมาพิจารณาให้ถกเถียง ให้ถือเอา ให้ว่ากันต่อไป
หากรักจะคบกันต่อไป ก็ให้ตัดเรื่องราวนั้นเสีย โดยไม่ถือโทษโกรธเคืองไม่โต้เถียงเป็นต้น ลักษณะนี้คือ รักยาวให้บั่น แต่หากรักทางสั้น ไม่ต้องการคบกันอีก ต้องการให้แตกหักกันเลยก็ให้ต่อเรื่องออกไป ลักษณะนี้คือ รักสั้นให้ต่อ

บทที่ ๖

อย่าดูถูกบุญกรรมว่าทำน้อย น้ำตาลย้อยหยดเท่าไรได้หนักหนา
อย่านอนเปล่าเอากระจกยกออกมา ส่องดูหน้าเสียทีหนึ่งแล้วจึงนอน

คำศัพท์ สำนวน
อย่านอนเปล่า หมายถึง อย่าเข้านอนเฉยๆ ในที่นี้หมายถึงให้คิดการกระทำของตน
น้ำตาลย้อยหยดเท่าไรได้หนักหนา หมายถึง การสะสมความดีทีละน้อย

ถอดความได้ว่า
อย่าดูถูกความดีหรือความชั่ว ว่าทำเพียงเล็กน้อยเพราะมันจะสะสมไปเรื่อย ๆ และมากขึ้นทุกที
เวลาก่อนจะนอนให้ส่องกระจกดูหน้าตนเอง ว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ เหมือนเป็นการให้สำรวจจิตใจตนเองอยู่เป็นนิจ
ว่าคิดใฝ่ดีอยู่หรือเปล่า เพื่อจะได้เตือนตนไว้ได้ทัน (เป็นการเตือนให้เรารู้จักคิด พิจารณา สำรวจตัวเองทุกๆวัน)

สุภาษิตที่เกี่ยวข้อง
จงเตือนตนด้วยตนเอง

บทที่ ๗

เห็นตอหลักปักขวางหนทางอยู่ พิเคราะห์ดูควรทึ้งแล้วจึงถอน
เห็นเต็มตาแล้วอย่าอยากทำปากบอน ตรองเสียก่อนแล้วจึงทำกรรมทั้งมวล

คำศัพท์ สำนวน
ปากบอน หมายถึง นำความลับหรือเรื่องที่ไม่ควรพูดไปบอกผู้อื่น
ทึ้ง หมายถึง ดึง ถอน

ถอดความได้ว่า
เห็นสิ่งใดกีดขวางทางอยู่ จงพิจารณาให้รอบคอบก่อนที่จะเก็บ เพราะอาจเป็นอันตรายได้ และเมื่อไป
เห็นการกระทำของใคร อย่าเที่ยวทำปากบอนไปบอกแก่คนอื่น อาจนำผลร้ายมาสู่ตนเองได้
(สอนว่า ให้รู้จักคิดใคร่ครวญ ไตรตรองก่อนจะพูดหรือทำสิ่งใด )

สุภาษิต สำนวน ที่เกี่ยวข้อง
คิดก่อนพูด แต่อย่าพูดก่อนคิด

บทที่ ๘

ค่อยดำเนินตามไต่ผู้ไปหน้า ใจความว่าผู้มีคุณอย่าหุนหวน
เอาหลังตากแดดเป็นนิจคิดคำนวณ รู้ถี่ถ้วนจึงสบายเมื่อปลายมือ

คำศัพท์ สำนวน
ผู้ไปหน้า หมายถึง คนที่เกิดก่อนย่อมมีความรู้และประสบการณ์มากกว่า
หุนหวน หมายถึง หวน เวียนกลับ
คิดคำนวณ หมายถึง คิดไตร่ตรอง
หลังตากแดด หมายถึง ก้มหน้าก้มตาทำงานหนักอย่างชาวนา ทำให้หลังถูกแดด
เมื่อปลายมือ หมายถึง ในภายหลัง

ถอดความได้ว่า
ให้ประพฤติปฏิบัติตนตามผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ที่เกิดก่อน ย่อมมีความรู้และประสบการณ์มากกว่า และอย่าเป็นคนอกตัญญู จงมีความขยันหมั่นเพียรทำงานอยู่เสมอแล้วจะมีความสุขสบายในภายหลัง

สุภาษิตที่เกี่ยวข้อง
เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด หมายถึง ประพฤติตามอย่างผู้ใหญ่ย่อมปลอดภัย
หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน หมายถึง ที่ต้องตรากตรำทำงานหนัก มักหมายถึงชาวไร่ชาวนาซึ่งในเวลาทำไร่ทำนาหลังต้องสู้กับแดด และหน้าต้องก้มลงดิน

บทที่ ๙

เพชรอย่างดีมีค่าราคายิ่ง ส่งให้ลิงจะรู้ค่าราคาหรือ
ต่อผู้ดีมีปัญญาจึงหารือ ให้เขาลือเสียว่าชายนี้ขายเพชร

คำศัพท์ สำนวน
หารือ หมายถึง ขอความเห็น ปรึกษา
ให้เขาลือว่าชายนี้ขายเพชร หมายถึง ให้เขาลือว่าตนเองมีปัญญามากพอที่จะอวดได้

ถอดความได้ว่า
เพชรเป็นของที่มีค่ามีราคา อย่านำสิ่งที่มีค่าไปให้แก่ผู้ไม่รู้ค่าย่อมไร้ประโยชน์ ฉะนั้นควรไปปรึกษาหารือ
กับนักปราชญ์ หรือผู้รู้ เท่านั้น เพื่อให้คนเขาร่ำลือว่า ตนเองมีปัญญาราวกับมีเพชรมากพอที่จะอวดได้

สุภาษิตที่เกี่ยวข้อง
ยื่นแก้วให้วานร หมายถึง เอาของมีค่าให้กับผูที่ไมรูคุณค่าของ ของสิ่งนั้น
ลิงได้แก้ว หมายถึง ผู้ที่ไม่รู้คุณค่าของสิ่งมีค่าที่ได้มาหรือที่มีอยู่ มีความหมายเดียวกับ คำว่า ไก่ได้พลอย และ หัวล้านได้หวี

บทที่ ๑๐

ของสิ่งใดเจ้าว่างามต้องตามเจ้า ใครใดเล่าจะไม่งามตามเสด็จ
จำไว้ทุกสิ่งจริงหรือเท็จ พริกไทยเม็ดนิดเดียวเดี๋ยวก็ร้อน

คำศัพท์ สำนวน
เจ้า หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน หรือผู้เป็นใหญ่

ถอดความได้ว่า
ของสิ่งใดก็ตามที่พระเจ้าแผ่นดินเห็นว่าเป็นสิ่งดีหรือสิ่งที่สวยงาม เราก็ต้องว่างามตามไปด้วย ไม่ว่าจะ จริงหรือไม่จริง เราไม่ควรไปคัดค้านเพราะท่าน เป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดอาจกริ้วได้

สุภาษิตที่เกี่ยวข้อง
เห็นดีเห็นงาม หมายถึง คิดหรือรู้สึกคล้อยตาม
ลูกขุนพลอยพยัก หมายถึง ผู้ที่คอยว่าตามหรือเห็นด้วยกับผู้ใหญ่เป็นเชิงประจบสอพลอเป็นต้น
น้ำท่วมปาก หมายถึง พูดไม่ออกเพราะอาจจะมีภัยแก่ตนเองและผู้อื่น

บทที่ ๑๑

เกิดเป็นคนเชิงดูให้รู้เท่า ใจของเราไม่สอนใจใครจะสอน
อยากใช้เขาเราต้องก้มประนมกร ใครเลยห่อนจะว่าตัวเป็นวัวมอ

คำศัพท์ สำนวน
ห่อน หมายถึง ไม่ ไม่เคย
มอ หมายถึง สีมัว ๆ อย่างสีดำเจือเทา
วัวมอ หมายถึง วัวตัวผู้
ใครเลยห่อนจะว่าตัวเป็นวัวมอ หมายถึง ไม่มีใครว่าตนเป็นวัวให้คนอื่นเขาใช้งาน

ถอดความได้ว่า
เกิดเป็นคนต้องรู้เท่าทันใจของตนเอง คือต้องสอนใจตนเองหรือเตือนตนเองได้ และถ้าจะขอความช่วยเหลือจากผู้ใด เราต้องอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะไม่มีใครที่จะคิดว่าตนเป็นวัวให้คนอื่นใช้งาน

สุภาษิต สำนวน ที่เกี่ยวข้อง
จงเตือนตนด้วยตนเอง

บทที่ ๑๒

เป็นบ้าจี้นิยมชมว่าเอก คนโหยกเหยกรักษายากลำบากหมอ
อันยศศักดิ์มิใช่เหล้าเมาแต่พอ ถ้าเขายอเหมือนอย่างเกาให้เราคัน

คำศัพท์ สำนวน
บ้าจี้ หมายถึง บ้ายอ
โหยกเหยก หมายถึง ไม่อยู่กับร่องรอย ไม่แน่นอน

ถอดความได้ว่า
คนบ้ายอชอบให้คนเขานิยมยกย่องเปรียบเหมือนคนไม่อยู่กับร่องกับรอย ซึ่งแก้ไขได้ยาก อันว่ายศ หรือตำแหน่ง นั้น มันไม่ใช่เหล้าจงเมาแต่พอควร อย่าไป ยึดติด หลงยศหลงตำแหน่ง คำป้อยอต่าง ๆ นั้น ถ้าเรา
หลงเชื่อ อาจทำให้เราเดือดร้อนได้

บทที่ ๑๓

บ้างโลดเล่นเต้นรำทำเป็นเจ้า เป็นไรเขาไม่จับผิดคิดดูขัน
ผีมันหลอกช่างผีตามทีมัน คนเหมือนกันหลอกกันเองกลัวเกรงนัก

คำศัพท์ สำนวน
ทำเป็นเจ้า หมายถึง ทำทีว่าถูกเจ้าเข้าสิง

ถอดความได้ว่า
บางคนทำทีว่าถูกผีเข้าสิง คือพวกทรงเจ้าเข้าผี ทำไมไม่มีใครจับ ดูไปก็น่าหัวเราะถ้าเป็นผีจริงมันหลอกก็ช่างมันเถิด แต่นี่คนมาหลอกกันเองมันน่ากลัวที่สุด ฉะนั้นจึงควรแยกแยะให้ดี อย่าเชื่อในสิ่งที่ตาไม่เห็น เพราะทีเห็นนั้นอาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด

สุภาษิต สำนวน ที่เกี่ยวข้อง
ผีหลอกก็ยังพอทน แต่คนหลอกคนมันช้ำใจจนหลายเท่า
ดู”กาลามสูตร”

บทที่ ๑๔

สูงอย่าให้สูงกว่าฐานนานไปล้ม จะเรียนคมเรียนไปเถิดอย่าเปิดฝัก
คนสามขามีปัญญาหาไว้ทัก ที่ไหนหลักแหลมคำจงจำเอา

คำศัพท์ สำนวน
คนสามขา หมายถึง คนแก่ที่ถือไม้เท้า
เรียนคม หมายถึง เรียนเพื่อหาวิชาความรู้
อย่าเปิดฝัก หมายถึง อย่าโอ้อวด

ถอดความได้ว่า
จะสร้างสิ่งใดให้สูงก็อย่าสร้างเกินว่าฐานที่จะรับน้ำหนักไว้ได้ เพราะจะทำให้ล้มง่าย
(สอนให้รู้จักประมาณ ตน ไม่ให้ทำอะไรเกินฐานะของตนเอง)
จะเรียนวิชาอะไรให้มีสติปัญญา เฉียบแหลม ก็เรียนเถิด แต่ให้เก็บความรู้ไว้ใช้เมื่อถึงเวลาอันสมควร
(สอนให้เป็นคนใฝ่รู้แต่อย่าอวดรู้)
คนแก่มีประสบการณ์มากเราควรเชื่อฟังคำทักท้วง
(สอนให้เห็นความสำคัญของผู้มีอาวุโส)

สุภาษิตที่เกี่ยวข้อง
คมในฝัก หมายถึง คนที่เขาฉลาดจริงๆ เขาไม่โอ้อวด

บทที่ ๑๕

เดินตามรอยผู้ใหญ่หมาไม่กัด ไปพูดขัดเขาทำไมขัดใจเขา
ใครทำตึงแล้วหย่อนผ่อนลงเอา นักเลงเก่าเขาไม่หาญพาลนักเลง

คำศัพท์ สำนวน
นักเลงเก่า หายถึง ผู้ที่เป็นนักเลง

ถอดความได้ว่า
ประพฤติตนตามแนวทางที่ผู้ใหญ่เคยทำมาก่อนแล้วย่อมปลอดภัย ไม่ควรไปพูดขัดคอคน เพราะจะทำ
ให้เขาโกรธไม่พอใจ ให้รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา นักเลงเก่าเขาไม่รังแกหรือทำร้ายนักเลงด้วยกัน

สุภาษิตที่เกี่ยวข้อง
เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด หมายถึง ประพฤติตามอย่างผู้ใหญ่ย่อมปลอดภัย
รู้ยาวรู้สั้น หมายถึง รู้จักผ่อนปรน รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว

บทที่ ๑๖

เป็นผู้หญิงแม่หม้ายที่ไร้ผัว ชายมักยั่วทำเลียบเทียบข่มเหง
ไฟไหม้ยังไม่เหมือนคนที่จนเอง ทำอวดเบ่งกับขื่อคาว่ากระไร

คำศัพท์ สำนวน
ทำเป็นเลียบ หมายถึง พูดจาแทะโลม
คนที่จนเอง หมายถึง คนที่ทำตัวให้จนเอง
ขื่อคา หมายถึง เครื่องจองจำนักโทษ ทำด้วยไม้ มีช่องสำหรับสอดมือเท้าแล้วมีลิ่มตอกกำกับกันขื่อหลุด

ถอดความได้ว่า
ผู้ที่เป็นหญิงหม้ายมักถูกผู้ชายพูดจาแทะโลม เหมือนกับถูกข่มเหง คนที่จนเพราะถูกไฟไหม้ ยังน่าสงสาร หรือดีกว่าตนเองที่ทำตัวเองให้จน (จนเพราะเล่นการพนัน) และอย่าอวดเก่งกับขื่อคาที่เป็นเครื่องจองจำ (อย่า แสดงอำนาจโอ้อวดทำสิ่งที่ท้าทายกับบทลงโทษ)

สุภาษิต สำนวน ที่เกี่ยวข้อง
เล่นกับคุกกับตาราง

บทที่ ๑๗

อันเสาหินแปดศอกตอกเป็นหลัก ไปมาผลักย่อยเข้าเสายังไหว
จงฟังหูไว้หูคอยดูไป เชื่อน้ำใจดีกว่าอย่าเชื่อยุ

คำศัพท์ สำนวน
ฟังหูไว้หู หมายถึง รับฟังไว้แต่ไม่เชื่อทั้งหมด
เชื่อน้ำใจดีกว่าอย่าเชื่อยุ หมายถึง เป็นคนหนักแน่นไม่ฟังคำยุแหย่

ถอดความได้ว่า
แม้จะมั่นคงดังเสาหินใหญ่สูงแปดศอก แต่เมื่อถูกผลักบ่อย ๆ เข้า เสานั้นก็อาจคลอนแคลนได้ เปรียบ
เหมือนใจคนย่อมอ่อนไหวไปตามคำพูด ของผู้อื่นได้ ฉะนั้น จึงควรฟังหูไว้หู และคิดให้รอบคอบก่อนที่จะเชื่อใคร (สอนให้มีใจคอหนักแน่นไม่หลงเชื่อยุยงโดยง่าย ให้รู้จักไตร่ตรองให้ดีเสียก่อนที่ จะคล้อยตามคำพูดของผู้อื่น)

สุภาษิตที่เกี่ยวข้อง
ฟังหูไว้หู หมายถึง รับฟังไว้แต่ไม่เชื่อทั้งหมด

บทที่ ๑๘

หญิงเรียกแม่ชายเรียกพ่อยอไว้ใช้ มันชอบใจข้างปลอบไม่ชอบดุ
ที่ปิดที่ชิดไขให้ทะลุ คนจักษุเหล่หลิ่วไพล่พลิ้วพลิก

คำศัพท์ สำนวน
ไพล่พลิ้วพลิก หมายถึง ให้รู้จักหลีกเลี่ยง พูดตรงทำให้เสียน้ำใจ
หลิ่ว หมายถึง เดี่ยว หนึ่ง

ถอดความได้ว่า
เมื่อเวลาจะใช้ใครให้รู้จักพูดจาโดยใช้ถ้อยคำที่อ่อนหวาน ซึ่งใคร ๆ ก็ชอบ ไม่ควรใช้คำดุด่าว่ากล่าว สิ่งใดที่ปล่อยปละละเลย หรือฟุ่มเฟือยก็ต้องเข้มงวดกวดขันหรือประหยัดถี่ถ้วนขึ้นสิ่งใดที่เข้มงวดตระหนี่ถี่เหนียวจนเกินไป จะต้องแก้ไขทำให้สะดวก หรือคล่องตัวขึ้น และจงประพฤติตน ตาม ที่คนส่วนใหญ่เขาประพฤติกัน

สุภาษิตที่เกี่ยวข้อง
น้ำร้อนปลาเป็นน้ำเย็นปลาตาย

บทที่ ๑๙

เอาปลาหมอเป็นครูดูปลาหมอ บนบกหนออุตส่าห์เสือกกระเดือกกระดิก
เขาย่อมว่าฆ่าควายเสียดายพริก รักหยอกหยิกยับทั้งตัวอย่ากลัวเล็บ

คำศัพท์ สำนวน
เอาปลาหมอเป็นครูดูปลาหมอ หมายถึง มีความอดทนต่อความยากลำบาก

ถอดความได้ว่า
จงดูปลาหมอไว้เป็นครูสอนใจเรา แม้ปลาหมอจะถูกปล่อยไว้บนบก มันก็ยังกระเสือกกระสนเพื่อจะเอา
ชีวิตรอด ฉะนั้นคนเราจึงไม่ควรพ่ายแพ้แก่อุปสรรค ต้องดิ้นรนขวนขวายต่อสู้ชีวิตต่อไป

สุภาษิตที่เกี่ยวข้อง
ฆ่าควายเสียดายพริก หมายถึง ทำการใหญ่ไม่ควรตระหนี่
ปลาหมอแตกเหงือก หมายถึง กระเสือกกระสนดิ้นรน

บทที่ ๒๐

มิใช่เนื้อเอาเป็นเนื้อก็เหลือปล้ำ แต่หนามคำเข้าสักนิดกรีดยังเจ็บ
อันโลภลาภบาปหนาตัณหาเย็บ เมียรู้เก็บผัวรู้กำพาจำเริญ

คำศัพท์ สำนวน
เนื้อ(ในที่นี้) หมายถึง เนื้อคู่
ตัณหา หมายถึง ความทะยานอยาก ความใคร่ในกาม

ถอดความได้ว่า
คนเราถ้าไม่ใช่เนื้อคู่กัน อยู่ไปก็เปล่าประโยชน์อาจจะมีเรื่องราวกัน ไม่ผิดอะไรกับถูกหนามตำเข้านิดเดียว ก็เกิดอาการเจ็บปวด ความโลภเป็นบาปทำให้เกิดความอยาก สามีภรรยาคู่ใดถ้าภรรยารู้จักออมรู้จักเก็บ สามี
รู้จักทำหากินก็จะทำให้ชีวิตที่สมบูรณ์

สุภาษิตที่เกี่ยวข้อง
ผัวหาบเมียคอน
ชายหาบหญิงคอน

บทที่ ๒๑

ถึงรู้จริงจำไว้อย่าไขรู้ เต็มที่ครู่เดียวเท่านั้นเขาสรรเสริญ
ไม่ควรก้ำเกินหน้าก็อย่าเกิน อย่าเพลิดเพลินคนชังนักคนรักน้อย

คำศัพท์ สำนวน
ก้ำเกิน หมายถึง ล่วงเกิน เกินเลย
ก้ำเกินหน้า หมายถึง เด่นกว่าคนอื่น ดีกว่าคนอื่น

ถอดความได้ว่า
แม้ว่าเราจะรู้จริง เราก็ไม่ต้องอวดว่าเรารู้ เดี๋ยวเขาก็จะสรรเสริญเอง ไม่ควรทำอะไรเกินหน้าเกินตาคนอื่น
เพราะคนเกลียดเรามีมากกว่าคนรักเรา

สุภาษิตที่เกี่ยวข้อง
เกินหน้าเกินตา
คนรักเท่าผืนหนังคนชังเท่าผืนเสื่อ
คนชังมีนัก คนรักมีน้อย

บทที่ ๒๒

วาสนาไม่คู่เคียงเถียงเขายาก ถึงมีปากมีเสียเปล่าเหมือนเต่าหอย
ผีเรือนตัวไม่ดีผีอื่นพลอย พูดพล่อย ๆ ไม่ดีปากขี้ริ้ว

คำศัพท์ สำนวน
ผีเรือน หมายถึง ผีที่อยู่ประจำเรือน
พูดพล่อย ๆ หมายถึง อาการที่พูดง่าย ๆ โดยไม่ตริตรอง
ปากขี้ริ้ว หมายถึง คำพูดที่ไม่สุภาพ

ถอดความได้ว่า
ถ้าไม่มียศถาบรรดาศักดิ์เสมอเขา ไปโต้เถียงกับเขาก็ไม่มีประโยชน์เพราะไม่มีใครเชื่อ คนในบ้านนั่นแหละเป็นใจช่วยให้คนนอกบ้านเข้า มาทำความเสียหาย การพูดพล่อย ๆ โดยไม่คิดเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

สุภาษิตที่เกี่ยวข้อง
ผีบ้านไม่ดีผีป่าก็พลอย
ปลาหมอตายเพราะปาก

บทที่ ๒๓

แต่ไม้ไผ่อันหนึ่งตันอันหนึ่งแขวะ สีแหยะแหยะตอกตะบันเป็นควันฉิว
ช้างถีบอย่าว่าเล่นกระเด็นปลิว แรงหรือหิวชั่งใจดูจะสู้ช้าง

คำศัพท์ สำนวน
แขวะ หมายถึง เอาของมีคมแขวะคว้านให้กว้าง
แหยะแหยะ หมายถึง ช้า ๆ
ตะบัน หมายถึง ทิ่ม หรือแทง หรือกดลงไป
แรง หมายถึง มีกำลัง
หิว หมายถึง อ่อนแรง หมดแรง

ถอดความได้ว่า
แม้ไม้ไผ่อันหนึ่งตัน กับอีกอันหนึ่งผ่าครึ่งออก เมื่อนำมาสีกันเบา ๆ อาจเกิดควันได้ ฉะนั้นจงอย่าได้
ประมาทการกระทำที่ดูเหมือนจะไม่ เป็นพิษเป็นภัย ช้างเป็นสัตว์ที่มีพลังเมื่อมันถีบเรารับรองว่ากระเด็นแน่นอน
ฉะนั้นหากจะสู้กับช้างก็ควรประเมินกำลังของเราเสียก่อนว่าอยู่ในภาวะใดมีกำลัง หรือ อ่อนแรง จะเตรียมสู้ หรือหนี
ดูให้เหมาะแก่สถานการณ์

สุภาษิตที่เกี่ยวข้อง
ไม้ซีกงัดไม้ซุง

บทที่ ๒๔

ล้องูเห่าก็ได้ใจกล้ากล้า แต่ว่าอย่ายักเยื้องเข้าเบื้องหาง
ต้องว่องไวในทำนองคล่องท่าทาง ตบหัวผางเดียวม้วนจึงควรล้อ

คำศัพท์ สำนวน
ยักเยื้อง หมายถึง เลี่ยงไป ไม่ตรงไปตรงมา

ถอดความได้ว่า
การล้อเล่นกับงูเห่าซึ่งเป็นสัตว์ที่มีอันตรายมาก ทำได้ แต่ต้องเป็นคนใจกล้า แต่อย่าไปเข้าข้างหาง
เพราะอาจเกิดอันตรายได้ และต้องทำด้วยความว่องไวอย่างเด็ดขาดทันที จึงจะไม่ตกอยู่ในฐานะที่เพลี่ยงพล้ำ

สุภาษิตที่เกี่ยวข้อง
จับงูข้างหาง คือ ทําสิ่งที่เสี่ยงต่ออันตราย

บทที่ ๒๕

ถึงเพื่อนฝูงที่ชอบพอขอกันได้ ถ้าแม้ให้ทุกคนกลัวคนขอ
พ่อแม่เลี้ยงปิดปกเป็นกกกอ จนแล้วหนอเหมือนเปรตด้วยเหตุจน

คำศัพท์ สำนวน
ปิดปกเป็นกกกอ หมายถึง โอบอุ้มทะนุถนอมไว้
เปรต หมายถึง อมนุษย์จำพวกหนึ่ง

ถอดความได้ว่า
การจะขออะไรกับเพื่อนฝูงที่ชอบพอกันก็สามารถขอกันได้ แต่จะให้ทุกคนที่ขอคงไม่ได้พ่อแม่เลี้ยงดู
ทะนุถนอมมาเป็นอย่างดี ถ้าหากเป็นคนจนก็จะเหมือนเปรตที่เที่ยวขอส่วนบุญ

สุภาษิตที่เกี่ยวข้อง
เปรตขอส่วนบุญ
ตนเป็นที่พึ่งของตน
พึ่งลำแข้งตัวเอง

บทที่ ๒๖

ถึงบุญมีไม่ประกอบชอบไม่ได้ ต้องอาศัยคิดดีจึงมีผล
บุญหาไม่แล้วอย่าได้ทะนงตน ปุถุชนรักกับชังไม่ยั่งยืน

คำศัพท์ สำนวน
ปุถุชน หมายถึง สามัญชน คนที่ยังมีกิเลส

ถอดความได้ว่า
ถึงมีบุญวาสนา ไม่ทำการงานใด ๆ ก็ไม่ดีต้องเป็นผู้ที่คิดดี ทำดีบุญจึงส่งผล เมื่อหมดบุญลงแล้วอย่า
ทะนงตนว่าเป็นผู้มีบุญบารมี ขอให้คนเราคิดว่าความรักความชังนั้นเป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืนเท่าการทำความดี

สุภาษิตที่เกี่ยวข้อง
ทำดีได้ดี