สร้างโดย : นางสาวสมร นวังคสัตถุศาสน์
สร้างเมื่อ วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2549
มีผู้อ่าน 236,739 ครั้ง (23/08/2023)
ที่มา : http://old.thaigoodview.com/library/studentshow/2549/m6-5/no02/flowerinliterature/index.htm
พรรณไม้ในวรรณคดีไทย
เมืองไทยของเราเป็นเมืองร้อน มีต้นไม้ ดอกไม้มากมาย พรรณไม้ที่กวีไทยในสมัยก่อนได้นำมาพรรณากล่าวถึงในวรรณคดีก็มีมากมายเช่นกัน ดังนั้นเพื่อให้เราได้ศึกษาวรรณคดีกันอย่างสนุกและเข้าใจมากขึ้น ก็เลยรวบรวมค้นคว้าเอาพรรณไม้เหล่านี้มาลงไว้ให้อ่านกันเป็นการเสริมความรู้ค่ะ
อักษร ก
กรรณิการ์
Nyctanthes arbortristis L.
(OLEACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/night_glooming/nyctanthes_02.jpg
พระนึกคะนึงนางพลางประพาส รุกขชาติที่ในสะตาหนัน
รุกขชาติที่ในสะตาหนัน ดอกหล่นปนกันอยู่กลางทราย
วรรณคดีเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์รัชการที่ 2
ขอแนะนำดอกไม้อย่างหนึ่งมีกล่าวไว้ในกาพย์กลอนของเราบ่อยๆ คือ ดอกกรรณิการ์ บางทีเรียก “กรณิการ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า กรรณิการ์ เป็นต้นไม้ยืนต้น ชื่อภาษาละตินว่า (Nyctanthes arbortristis ) ใบคาย ดอกหอม กลีบขาว ตรงโคนเป็นหลอดสีแสด ใช้ย้อมผ้า นี่ก็แสดงว่า แต่เดิมก่อนที่จะมีสีย้อมผ้า ดอกกรรณิการ์ใช้ประโยชน์แทนสี เช่นเดียวกับแก่นขนุนที่ใช้ต้มเอาน้ำย้อมผ้าเหลืองเรียกว่ากรัก หรือต้นคำ ที่ใช้เมล็ดย้อมผ้าอย่างในบทเห่กล่อมเด็กว่า ” วัดเอยวัดนอกมีแต่ดอกแคแดง ดอกคำยิ่งแพง สาวน้อยจะห่มสีชมพู ” ต้นไม้อื่นที่ดอก เปลือก และแก่นนำมาใช้ย้อมสีได้คงมีอีกมาก
กรรณิการ์เป็นไม้พุ่มค่อนข้างโปร่ง สูง 1.5-2.5 ม. กิ่งเป็นหลี่ยมผิวหยาบและเปราะหักง่าย ใบเป็นใบเดี่ยว รูปคล้ายรูปไข่ ขนาดยาว 4-8 ซม. ปลายแหลม ขอบใบอาจจะเรียบหรือเป็นจัก ให้ดอกเกือบตลอดปี ขนาดดอก 1.5-2 ซม. กลีบเป็นแฉกสีขาว 5 แฉก ปลายบิดเวียนเล็กน้อย หลอดดอกตรงสีแสดยาวประมาณ 1 ซม. ดอกบานและมีกลิ่นหอมในเวลากลางคืน ครั้นถึงเวลาเช้า ดอกจะร่วงลงเกลื่อนใต้ต้น
คนไทยสมัยก่อนนอกจากจะใช้หลอดกลีบดอกย้อมผ้าแล้ว ยังนิยมนำมาร้อยเป็นสาย และผูกกันเป็นพวงอุบะได้สวยงามมาก พันธุ์ไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือโดยการตอนกิ่ง ปลูกเลี้ยงได้ดีในที่น้ำไม่ขัง และมีร่มเงาเล็กน้อย ถิ่นเดิมแถบเอเชียตอนใต้
กันเกรา (ตำเสา ทำเสา มันปลา)
Fagraea fragrans Roxb.
( Gentianaceae )
https://www.khaosod.co.th/wpapp/uploads/2018/10/อาทิตย์ละต้น11ตค.jpg
ที่เชิงเขาเหล่าพันธุ์มิ่งไม้ ลมพัดกวัดไกวอยู่หันเหียน
รกฟ้าขานางยางตะเคียน กันเกรากระเบียนและชิงชัน
ขุนช้างขุนแผน : พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2
ต้นกันเกรานี้ ทางภาคใต้เรียกว่า “ตำเสา” หรือ “ทำเสา” แต่ทางภาคอีสานเรียกว่า “มันปลา” เป็นไม้ต้นสูงใหญ่แข็งแรง ใบดกทึบหนาสีเขียวแก่เป็นมัน ชอบขึ้นในที่แล้ง หรือในที่ๆมีฝนชุก เวลามีดอกมักออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง มีสีเหลืองนวลอมแสดเล็กน้อย ช่อคล้ายๆ ช่อเข็มหรือดอกอโศก มีกลิ่นหอมระรื่นทั้งวัน ชวนดมมาก ไม้พันธุ์นี้โตช้า ใช้ปลูกเพาะเอาจากเมล็ดมากว่าอย่างอื่นๆ
กันเกราเป็นพันธุ์ไม้ที่ทรงต้นสวย ฤดูออกดอกทางภาคใต้อยู่ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม แต่ทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในช่วงเดือน สิงหาคม-ตุลาคม ผลกลมเล็ก ขนาดประมาณ 6 มม. เมื่อสุกสีเหลืองอมส้ม หรือแดงอมส้ม เนื้อไม้ละเอียดสีเหลืองอ่อน แข็งแรงทนทาน ใช้ทำสิ่งปลูกสร้าง ทำเครื่องเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ได้ดี แก่นและเปลือกใช้เป็นสมุนไพร จัดเป็นพันธุ์ไม้ที่มีค่าควรปลูกเป็นอย่างยิ่ง และพบขึ้นตามธรรมชาติเกือบทุกภาคของประเทศ เป็นไม้ท้องถิ่นแถบเอเชียตอนใต้
การะเวก (กระดังงาจีน สะบันงาเครือ สะบันงาจีน)
Artabotrys siamensis Miq.
https://www.teaoilcenter.org/wp-content/uploads/2019/11/50-dfgregrewgf.jpg
การะเวกเหมือนเอกองค์ พระผู้ทรงสุขสำราญ
เป็นเอกวิเวกหวาน โปรดประทานพระสัจธรรม
กาพย์เห่เรือ : นายฉันท์ ขำวิไล
การะเวกเป็นชื่อท้องถิ่นของกระดังงาจีนที่เรียกกันในภาคกลาง ทางเหนือเรียก สะบันงาเครือ สะบันงาจีน เป็นไม้เลื้อยเถาเนื้อแข็งใหญ่โตแข็งแรงมาก มีหนามแข็งยาว ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงกลีบสองด้านในระนาบเดียวกันของกิ่ง ใบรูปรีแกมขอบขนาน กว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 8-10 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบสีเขียวเข้ม เป็นมัน เนื้อใบหนา มีช่อดอกสีเหลือง ออกดอกเป็นช่อ มี 1-5 ดอก ก้านดอกแบนและโค้งคล้ายตะขอ กลีบดอกมี 6 กลีบ แต่ละกลีบรูปรีปลายแหลม กลีบชั้นนอกกว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 2.5-4.5 เซนติเมตร เนื้อกลีบหนา กลีบดอกชั้นในมีขนาดเล็กกว่า ดอกอ่อนสีเขียว มีขนปกคลุม เมื่อบานเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ผิวเรียบเป็นมันและใส มีกลิ่นหอมตั้งแต่เย็นจนถึงเช้า ออกดอกตลอดปี
ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในจีนตอนใต้ อินเดีย และศรีลังกา มีรูปร่างคล้ายการเวกของไทยมาก แต่มีดอกดก ขนาดดอกและใบใหญ่กว่า จึงเป็นที่นิยม ปลูกเลี้ยงกันทั่วไป ตามซุ้มริมถนนในกรุงเทพมหานคร คนทั่วไปมักเรียก การะเวก
กระดังงาไทย
Cananga odorata Hook.f.&Thomson var.odorata
(Annonaceae)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/ylang_tree/cananga.jpg
กระดังงาจำปาเทศ เหมือนเสด็จแดนสวรรค์
อินทรา และเทวัญ ทุกช่อชั้นมาชื่นชม
กาพย์เห่เรือ : นายฉันท์ ขำวิไล
กระดังงาไทย เป็นต้นไม้ใหญ่โตมาก บางต้นสูงเกือบ 20-30 เมตร ดอกสีเหลืองแกมเขียวอ่อนๆ ตัวกลีบเล็กยาวและมีกลิ่นหอม มาก จนนำเอามาทำเป็นเครื่องหอมใช้ในการปรุงอาหารบ้าง การปลูกคงใช้เมล็ดหรือกิ่งตอน ดอกมีเรื่อยๆ
กระดังงาเป็นไม้ในถิ่นเอเซียเขตร้อน อยู่ในวงศ์เดียวกับน้อยหน่าและการะเวก ใบเป็นใบเดี่ยว รูปรีหรือรูปไข่ ขนาดยาว 9-15 ซม. กว้าง 6-8 ซม. แผ่นใบบาง ดอกออกเป็นช่อสั้น ห้อยลง ขนาดดอก 6-8 ซม. แต่ละดอกมี 6 กลีบ กลีบเป็นแถบบาง ขอบเป็นคลื่นเล็กน้อย
กุหลาบ
Rosa spp. & Rosa hybrids.
(ROSACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/summer_damask_rose/rosada_02.jpg
ไม้เรียกผะกากุพ- ชะกะสีอรุณแสง
ปานแก้มแฉล้มแดง ดรุณี ณ ยามอาย
ดอกใหญ่และเกสร สุวคนธมากมาย
อยู่ทน บ่วางวาย มธุรสขจรไกล
อีกทั้งสะพรั่งหนาม ดุจะเข็มประดับไว้
มัธนะพาธา : พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6
กุหลาบในภาษาอังกฤษเรียกว่า Rose นั้น เป็นไม้พุ่มก็มี ไม้เลื้อยก็มี แตกกิ่งก้านสาขามาก มักมีหนามตามต้นตามกิ่ง ใบออกเป็นช่อ 3 หรือ 5 ขอบใบเป็นจักๆออกดอกเป็นช่อหรือเดี่ยวก็ได้ สุดแต่พันธุ์ เป็นดอกไม้ที่งามมาก จนเรียกกันว่าเป็นนางพญาแห่งดอกไม้ (Queen of the flower)
กุหลาบมากพันธุ์ด้วยกันที่มีกลิ่นหอมเย็น บางอย่างก็ส่งกลิ่นตอนเช้า บางพันธุ์ก็ส่งกลิ่นตอนเย็น เป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบอากาศหนาวเย็น เพราะฉะนั้นทางเหนือของประเทศไทยจึงปลูกกันได้ดีกว่าภาคอื่นๆ
แก้ว
Murraya paniculata Jack.
(RUTACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/orange_jasmine/murraya_03.jpg
ไม้แก้วกลิ่นแก้วกราย หอมบ่วายวังเวงใจ
ทุกข์ลืมปลื้มอาลัย ว่ากลิ่นแก้วแล้วเรียมหา
นิราศพระบาท : พระราชนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
ไม้พุ่มที่นับว่างามมากต้นหนึ่งหากตบแต่งให้ได้รูปทรง แต่ถ้าปล่อยให้เจริญเติบโตไปเรื่อย ก็จะกลายเป็นไม้ต้นใหญ่ ใบนั้นเล็กเป็นช่อ ใบมันขลับ ดอกออกเป็นพวงสีขาว สะอาด มีกลิ่นหอมแรงจัดทีเดียวในตอนเช้า แรงกว่ากลิ่นเวลาเย็น แก้วออกดอกเป็นพักๆ เป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูกง่าย ตอนก็ได้ หักกิ่งชำ บางทีก็เกิดจากรากงอกงามเป็นต้นใหม่
แก้วเป็นพันธุ์ไม้ที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วไป มีถิ่นกำเนิดในเอเซียเขตร้อน มีชื่ออื่นๆ ตามท้องถิ่น ได้แก่ แก้วขาว แก้วขี้ไก่ แก้วพริก ตะไหลแก้ว แก้วลาย และจ้าพริกเป็นพืชวงศ์เดียวกับมะกรูด มะนาว และส้มต่างๆ ดอกในช่อมักบานพร้อมกันเกือบหมด และร่วงภายในวันเดียวกัน ขนาดดอกประมาณ 1.5 ซม.
กลิ่นแก้วแก้วกลิ่นชัด พระพายพัดรำเพยกระพือ
นามแก้วดอกแก้วคือ แก้วเนตรพี่นี้ใช่ใคร
ดอกแก้วสีขาวผ่อง ไม่เหมือนน้องต้องติดใจ
ขาวเหลืองเรืองเรื่อใส ในแหล่งหล้าหาไหนทัน
กาพย์เห่เรือ ตอนแห่ชมสวน : พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5
กฤษณา
Aquilaria malaccensis Lam.
(THYMELAEACEAE)
https://www3.rdi.ku.ac.th/wp-contents/uploads/2022/07/กฤษณา01.jpg
เดินมาพากันชมพฤกษาสูง ยางยูงแก้วเกดกฤษณา
กระลำพักสักสนคนทา ต้นพะวาขานางยางทราย
อิเหนา : พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
กฤษณาเป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ต้นค่อนข้างคดงอ เนื้อไม้อ่อนเป็นสีขาว มีเสี้ยน ใบ สีเขียวเข้ม เรียบ เป็นมัน ใบยาวเรียวค่อนข้างแข็ง ประมาณ 15 เซนติเมตร เห็นเส้นในได้ชัด ดอกช่อสีขาวเป็นช่อใหญ่ดก ออกเต็มต้น หอมฉุน ผล รี กลม แบน เปลือกแข็ง มีขนสีเทา ผลแก่จะแตก ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
เนื้อไม้กฤษณาสามารถนำมาสกัดน้ำหอมได้ เนื้อในเป็นยาบำรุงหัวใจ กระตุ้นหัวใจ ขับลม น้ำมันจากเมล็ด รักษาโรคเรื้อน โรคผิวหนัง ถิ่นกำเนิด แถบเขตร้อนของเอเชีย เช่น มาเลเซีย จีน บอร์เนียว อินเดีย และไทย แถบจังหวัด ตราดและจันทบุรี
การะเกด
Pandanus tectorius Sol. ex Parkinson
(PANDANACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/seashore_screwpine/pandanus_02.jpg
หอมกลิ่นการะเกด วรองค์ อ่อนเอย
เนื้อสนิทนวลผจง เจิดหล้า…”
ตามเสด็จไทรโยค : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การะเกด มีชื่อท้องถิ่นมากมาย ได้แก่ ลำเจียกหนู เตยด่าง เตยทะเล การะเกดเป็นไม้ต้น สูง 5-6 เมตร ต้นสีขาวหรือน้ำตาลอ่อน มีหนามแหลมสั้นๆ กระจายทั่วไป ใบเป็นรูปขอบขนาน ยาว 2 เมตร ขอบหยัก มีหนาม ปลายหนามโค้งไปทางปลายใบ กลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกเป็นช่อ เพศผู้และเพศเมียอยู่แยกคนละต้น ดอกเพศผู้ออกตามปลายกิ่งเป็นช่อยาว เพศผู้มีกลิ่นหอมมาก ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด แยกหน่อ
การะเกดเป็นไม้ประดับที่มีกลิ่นหอม ดอกมีรสขมแก้โรคในอก ใช้ปรุงยาหอมทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ ใช้เคี่ยวน้ำมันทำน้ำมันใส่ผม เป็นไม้ถิ่นเดิมของไทย ชอบขึ้นกระจายตามริมน้ำ ริมคลอง
อักษร ข
ขจร
Telosma minor Craib.
(ASCLEPIADACEAE)
https://puechkaset.com/wp-content/uploads/2016/09/ดอกขจร.jpg
ขจรกลิ่นขจาย ธรรมบรรยายยิ่งนิยม
ปรีดาสุขารมย์ คลายระทมตรมหทัย
กาพย์เห่เรือ : นายฉันท์ ขำวิไล
ขจร หรือบางทีเรียกว่า สลิด เป็นพันธุ์ไม้เลื้อยเถาเล็กไม่ใหญ่โตอะไร ใบเล็กออกทึบตามข้อ ดอกสีเหลืองอมเขียว บานเวลาเย็น กลิ่นก็หอมเย็นๆ คนไทยเราใช้ทำแกงจืดหรือต้มกับกะทิรับประทานต่างผัก บ้างเก็บมาใช้ร้อยมาลัยและกรองเป็นดอกคล้ายดอกกุหลาบ สุดแล้วแต่โอกาส ปลูกเป็นง่าย เมล็ดก็ได้ กิ่งชำเอาก็ได้
ขจรเป็นพันธุ์ไม้วงศ์เดียวกับโมกและยี่โถ มีถิ่นกำเนิดในเอเซียเขตร้อน พบมากในภาคกลางขึ้นไปจนถึงภาคเหนือ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับและใช้ประโยชน์จากดอกและผล ดอกออกดกในฤดูร้อน เป็นช่อกระจุกสั้นๆ ห้อยลง มี 10-20 ดอกในแต่ละช่อ ขนาดดอกประมาณ 1.5 ซม.
ขึ้นลานวัดทัศนาดูอาวาส ศิลาลาดเลียบเดินเนินสังขร
พฤกษาออกดอกช่ออรชร หอมขจรจำปาสารภี
นิราศเมืองเพชร..สุนทรภู่
ข่อย
Streblus asper Lour.
(MORACEAE)
Siamese rough bush, Tooth brush tree
https://apps.phar.ubu.ac.th/phargarden/userfiles/image/images/ph014_Khoi/ph014_1.JPG
กระสังรังรักเต็งแต้ว เกล็ดแก้วกันเกราไกรกร่าง
ตะเคียนแคข่อยขานาง ขวิดขวาดปริงปรางประยงค์…”
รามเกียรติ์ : พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ข่อย หรือจะเรียกว่า กักไม้ฝอย หรือ ส้มพอ ก็ได้ เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง 5-10 เมตร เปลือกสีเทา ขรุขระ ยอดเป็นพุ่มรูปไข่ทึบ กิ่งอ่อน ยาว ขนสาก ใบเดี่ยว ออกสลับ รูปรีแกมรูปไข่กลับ คล้ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนขนาดกว้าง 4 ซม. ยาว 5 ซม. โคนและปลายสอบมน ขอบจักแบบฟันเลื่อย เนื้อใบหนา ผิวสากทั้ง 2 ด้าน ออกดอกเป็นช่อ มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ดอกเพศเมียมีสีขาว ดอกเพศผู้มีสีเขียวอ่อน ออกเป็นช่อกลมเล็กๆ เมื่อสุกมีสีเหลือง เมล็ด มีเมล็ดเดียว ออกดอกเกือบตลอดปี ขยายพันธุ์โดยการ เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง
เปลือกต้นข่อยใช้ทำกระดาษข่อย รักษาโรคผิวหนัง โรคท้องร่วง ขับลม รำมะนาด และริดสีดวงทวาร กิ่งทุบให้นิ่มใช้สีฟัน ผลสุกเป็นอาหารของนกและสัตว์ป่า ยางใช้กำจัดแมลง ใบสดปิ้งไฟ ชงน้ำดื่ม เป็นยาระบายอ่อนๆ ข่อยขึ้นตามป่าเบญจพรรณแล้ง
ขานาง
Homalium tomentosum (Vent.) Benth.
(FLACOURTIACEAE)
https://www.vichakaset.com/wp-content/uploads/ต้นขานาง.jpg
หางนกยูงกำมะหยี่หญ้าฝรั่น แจงจุหลันกุหลาบแลล้วนแต่หนาม
มะเดื่อดูกลูกมะงั่วนมงัวงาม ม่วงมะขามขานางกรวยกร่างไกร…”
นิราศลอนดอน : หม่อมราโชทัย
ขานาง หรือบางที่ก็เรียกกันว่า ช้างเผือกหลวง เปลือย เปื๋อยนาง ลิงง้อ ตามภาษาท้องถิ่นในแต่ละถิ่นนั้นๆ เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูง 5- 40 เมตร เปลือกต้นเรียบบาง สีเทาแกมขาว ใบ เดี่ยว เรียงสลับรูปไข่กลับถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ โคนใบรูปลิ่ม ปลายใบมนกลมหรือมีติ่งหนาม ดอกช่อสีเหลืองแกมเขียว ออกเป็นช่อยาวแบบช่อเชิงลด ห้อยลง กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย มีขน กลีบเลี้ยงและกลีบดอกรูปขอบขนานแกมรูปแถบ มีขนยาว ขยายพันธุ์โดยการ เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง
ขานางมีประโยชน์มากมาย ใช้ทำคาน เกวียน เครื่องเรือน คราด และกระดาน หรือแม้แต่ยาพื้นบ้าน ในจังหวัดสุรินทร์ ใช้ต้นต้มน้ำดื่ม เป็นยาแก้อัมพฤกษ์ อัมพาต มีถิ่นกำเนิด เอเซียตะวันออกเฉียงใต้
เข็มพวงขาว
Ixora finlaysoniana Wall.
(RUBIACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/siamese_white_lxora/lxora_02.jpg
ลำดวนดอกดกตกเต็ม ยี่เข่งเข็มสารภียี่โถ
รสสุคนธ์ปนมะลิผลิดอกโต ดอกส้มโอกลิ่นกล้าน่าดม
อิเหนา : พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2
เข็มพวงขาว หรือเข็มขาวเป็นพันธุ์ไม้วงศ์เดียวกับ ยอ คัดเค้า และกาแฟ ต้นสูงได้มากกว่าเข็มทั่วๆไป และมักจะสูงเกิน 2 เมตร ดอกเกิดที่ปลายกิ่งเป็นช่อแน่น เข็มชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในเอซียเขตร้อน มีกลิ่นหอมแรงกว่าเข็มชนิดอื่นๆ และให้ดอกเกือบตลอดปี แต่จะดกมากในช่วงฤดูร้อน
เข็มหอม
Ixora sp.
(RUBIACEAE)
มีดอกหอมเหมือนกัน ต้นสูงประมาณ 1 เมตร ตัวดอกออกเป็นช่อคล้ายๆ รูปกรวย มีสีขาวแกมเขียว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ไม่ฉุนเฉียว ต้นใหญ่ขยายได้โดยใช้ปักกิ่ง หรือตอน หรือเพาะเมล็ด
เขี้ยวกระแต
Psilanthus bengalensis j.Leroy.
(RUBIACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/psilanthus/psilanthus_02.jpg
กล้วยไม้ชายผ้าสีดาห้อย ช้องนางย้อยยวนอารมณ์เมื่อลมหวน
เขี้ยวกระแตกลิ่นตลบมาอบอวล ดังเชิญชวนให้สบายคลายกมล
เงาะป่า : พระราชนิพนธ์ในรัชการที่ 6
เขี้ยวกระแตเป็นไม้ต้นเล็กๆ สูงประมาณ 1-2 เมตร ใบออกทึบเป็นคู่ๆ ตลอดกิ่งออกดอกตามซอกของใบ ซอกละดอกเกือบทั่วทั้งกิ่ง สีขาวคล้ายดอกมะลิ แต่มักมี 4 หรือ5 กลีบ เวลาบานพร้อมกันหมด ทั้งต้น สีขาว หอมแรงมาก บานเวลาเย็นและชั่วคืนเดียวร่วงหมด การขยายพันธุ์มัก ใช้การตอนกิ่ง
อักษร จ
https://www.royalparkrajapruek.org/img/upload/20200915-5f60435e70a32.jpg
จำปา
Michelia champaca L.
(MAGNOLIACEAE)
https://www.royalparkrajapruek.org/img/upload/20200915-5f60435e9a991.png
จำปาหนาแน่นเนื่อง คลี่กลีบเหลืองเรืองอร่าม
คิดคนึงถึงนงราม คิดคนึงถึงนงราม
บทเห่เรือ : พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
เป็นต้นไม้สูงประมาณ 3-4 เมตร เรือนต้นเป็นพุ่มน้อยๆ แต่มักจะชะลูด มีดอกสีเหลืองอมสีส้ม กลิ่นหอมแรงมากพอใช้ และมักเริ่มหอมแต่เวลาเช้า และกลิ่นค่อยๆ ซาลงตอนเที่ยงถึงบ่าย ดอกมีเกือบตลอดปี แต่ชุกเป็นฤดู จำปาไม่ชอบที่ลุ่ม ฉะนั้นเวลาปลูกต้องเลือกที่ดอนๆ สักหน่อย แล้วมีน้ำถ่ายเทได้ตลอด ถ้าเอาไปปลูกตามที่ลุ่มน้ำขัง มักจะไม่รอด การเอาไปปลูกเขาใช้เพาะเมล็ดก็มี และใช้กิ่งตอนก็มีเหมือนกัน
จำปี
Michelia alba DC.
(MAGNOLIACEAE)
https://www.royalparkrajapruek.org/img/upload/20200915-5f60435e92f80.png
มะลิวันพันระกำแกมจาก ได้สามวันกรรมพรากไปจากห้อง
จำปีเคียงโศกระย้าผกากรอง พี่โศกเศร้าเฝ้าครองกว่าสองปี
ขุนช้างขุนแผน : พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2
เป็นต้นไม้สูงกว่าจำปาเล็กน้อย และเรือนต้นก็แตกเป็นพุ่ม ยอดบานใหญ่กว่าจำปา มีดอกเหมือนดอกจำปา แต่สีขาวและกลีบเล็กกว่า กลิ่นหอมแรง เริ่มหอมเวลาเย็นตลอดไปจนกระทั่งโรย ใช้ตอนกิ่งปลูก จำปีทนดีกว่าจำปา อยู่ใกล้ๆน้ำก็ได้
ทั้งจำปาและจำปี เป็นพันธุ์ไม้ของเอเชียเขตร้อน ในธรรมชาติเป็นไม้ต้นที่มีขนาดใหญ่ชนิดที่ปลูกเลี้ยงกันมีกลีบกว้างกว่าของป่านอกจากนั้นยังไม่เคยมีรายงานว่ามีการติด
ผลของจำปีบ้าน
จำปูน
Anaxagorea javanica BI.
(ANNONACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/anaxagorea/anaxagorea_02.jpg
ช่างกรีดก้อยร้อยมาลัย หมายใจจะไปแต่งงาน
จำปูนจำปาสารภี ล้วนมาลีกลิ่นหอมหวาน
กระตุ้งกระติ้งห้อยทิ้งพวงยาน ใครใกล้ให้เบิกบานตระการใจ
เงาะป่า : พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5
ไม้มีชื่อต้นนี้เป็นไม้ทรงพุ่ม ไม่ใหญ่โตนัก ดอกป้อมสั้นคล้ายดอกนมแมวมีกลีบหนาและแข็ง แต่ดอกสีขาวนวล หอมแรงมาก ส่งกลิ่นตอนสายๆ เป็นต้นไปตลอดวัน เป็นต้นไม้ที่มีดอกอันมี กลิ่นเป็นที่ลือชื่อในปักษ์ใต้ จำปูนเป็นพันธุ์ไม้วงศ์เดียวกับน้อยหน่า และนมแมว ชอบขึ้นในที่ร่มและความชื้นสูงกิ่งก้าน เกลี้ยง เปลือกต้นเรียบสีน้ำตาลแกมเทา ใบยาวปลายมน ดอกออกเดี่ยวๆตามซอกใบขนาดใหญ่กว่าดอกนมแมวแต่กลิ่นหอมแรงกว่ามากขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่งแต่ปลูกเลี้ยงให้ออกดอกยากในภาคกลาง ในธรรมชาติขึ้นอยู่ตามป่าดิบชื้น
อักษร ช
ชบา
Hibiscus rosa-sinensis L.
(MALVACEAE)
https://www.royalparkrajapruek.org/img/upload/20210514-609e3cb803e15.jpg
ช่อตะแบกชาตบุษย์พุทรา การะเกดกรรณิการ์นมสวรรค์
มะลุลี มะลิลา แสลงพัน อัญชันแอบช่อชบาบาน
รามเกียรติ์ : พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ร.1
ชบาเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ทรงพุ่มกว้าง สูงได้ถึง 4 เมตร ใบ เดี่ยว ออกสลับ รูปไข่ กว้างประมาณ 4 ซม. ยาว 4- 9 ซม.โคนสอบหรือมน ปลายเรียวแหลม ขอบจัก ดอกสีแดง กลางดอกสีแดงเข้ม ออกเดี่ยวตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง มีริ้วประดับที่โคนดอก 5-8 แฉก โคนเชื่อมกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอก 5 กลีบรูปไข่กลับ เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านเกสรเชื่อมกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 9 ซม. ล้อมรอบเกสรเพศเมีย ชบาพันธุ์ลูกผสม มีสีแดง ชมพู ขาว เหลือง ส้ม กลีบดอกชั้นเดียวหรือซ้อนกันหลายชั้น มีทั้งดอกขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ออกดอกตลอดปี การขยายพันธุ์ทำได้หลายวิธีทั้งการ ปักชำกิ่ง ตอนกิ่ง หรือ เสียบกิ่ง
ประโยชน์ เป็นไม้ประดับ รากสดตำพอกฝี รับประทานช่วยให้เจริญอาหาร ดอกสดใช้ขัดรองเท้าให้มัน ปลูกทั่วไปในเขตร้อน ขึ้นง่าย โตเร็ว
ช้องนาง
Bush Clockvine
Thunbergia erecta T. Anders.
(ACANTHACEAE)
https://www.wisdomking.or.th/files/treeknowledge/treeknowledge_photo_6931b1f8ec58cebaa656498886212a47.jpg
นางแย้มเหมือนแม่แย้ม ยวนสมร
ใบโบกกลกวักกร เรียกไท้
ช้องนางคลี่สร่ายขจร โบกเรียก พระฤา
เชิญราชชมไม้ไหล้ กิ่งก้ม ถวายกร
ลิลิตพระลอ : สุนทรภู่
ช้องนางเป็นไม้พุ่มเล็กเตี้ย ต้นสูง 2-3 เมตร ใบคล้ายใบแก้ว ใบมนปลายแหลม ออกเป็นคู่ตามกิ่ง ขอบใบเป็นคลื่น ดอกสีน้ำเงินปนม่วง แต่พันธุ์สีขาวหายากกว่าพันธุ์สีม่วง ดอกกลมเป็นรูปปากแตรคล้ายดอกอินทนิลแต่เล็กกว่า กลางดอกเป็นตาสีเหลือง ถ้าบานอยู่กับต้นจะอยู่ได้ 2 วัน ถ้าเด็ดออกจากต้นจะเหี่ยวเฉาเร็ว ผล เป็นรูปสามเหลี่ยม เมื่อแก่มีสีน้ำตาล แตกได้ ออกดอกตลอดปี ขยายพันธุ์ได้โดยการ ตอนกิ่ง ปักชำกิ่ง
ประโยชน์ เป็นไม้ประดับ ตัดแต่งเป็นพุ่ม หรือปลูกเป็นรั้วงามน่าชม ถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในแอฟริกาตะวันตก ปลูกง่ายในที่แจ้งและมีร่มเงา ชอบดินร่วนซุย
ช้างน้าว
Ochna integerriima Merr.
(OCHNACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/ochna/ochna_02.jpg
ยมโดยประดู่หูกวาง ไตรร่างเต็งรังกระทังหัน
กระทุ่มทองกระถินอินจันทร์ ชิงชันช้างน้าวนนทรี
รามเกียรติ์ : พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ร.1
ช้างน้าว ภาคกลางเรียก กำลังช้างสาร ระนองเรียกกระแจะ จันทบุรีเรียก ขมิ้นพระต้น ทางเหนือเรียกตาลเหลือง เป็นไม้ต้นผลัดใบขนาดเล็ก สูง 3-8 เมตร แตกกิ่งก้านจำนวนมาก ทรงพุ่มกลม ปลายกิ่งมีกาบค่อนข้างแข็งปลายแหลมหุ้มตาอยู่ ใบ เป็นใบเดี่ยว รูปหอกกลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง 4-7 เซนติเมตร ยาว 8-18 เซนติเมตร ปลายใบแหลมเหลืองมน ขอบใบหยักถี่ๆ แผ่นใบเกลี้ยง เป็นมันทั้งสองด้าน ดอก มีช่อดอกสีเหลือง ออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายยอด มีดอกย่อย 2-8 ดอก ทยอยบาน ดอกย่อยมีกลีบเลี้ยงสีเขียวนวล รูปขอบขนาน 5 กลีบ โค้งงอไปหาปลายดอกและติดอยู่จนกระทั่งเป็นผล กลีบดอกรูปหอก มีจำนวน 5-10 กลีบ เมื่อดอกย่อยบานมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร หลุดร่วงง่าย แต่ละต้นมีดอกบานอยู่ 4-7 วัน มีกลิ่นหอมอ่อน ฤดูดอกบานอยู่ในช่วงเดือน มกราคม-พฤษภาคม ส่วนใหญ่ผลัดใบก่อนแล้วออกดอกพร้อมกันทั้งต้นในช่วงปลายเดือน
มีนาคม
ขยายพันธุ์โดยเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และตัดชำราก ชอบแดดจัด ดินร่วนระบายน้ำดี ทนแล้งได้ดี
ชำมะนาด
Vallaris glabra Ktze.
(APOCYNACEAE)
http://www.qsbg.org/Database/Botanic_Book%20full%20option/Picture/jackth/DSC_5382.JPG
จรุงกลิ่นมาเลิศล้วน บุหงาหอม ระเหยฤๅ
ชะมะนาดพุทธชาดพยอม ยั่งร้อย
ไป่เพลินเท่าเพลินถนอม พจะนาค นิพนธ์พี่
ยิ่งระจิตยิ่งจิตชะม้อย มิ่งมื้อ กระหือเหิม
โคลงลิลิตมหามงกุฎราชคุณานุสรณ์ : กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
พันธุ์ไม้เลื้อยชนิดหนึ่งซึ่งมีใครต่อใครชอบนำมาปลูกให้เลื้อยขึ้นร้าน หรือทำเป็นซุ้มเพราะชอบกลิ่นดอกของมัน ดอกเป็นกลุ่มสีขาว มีกลิ่นหอมคล้ายข้าวใหม่ บางทีเรียกกันว่า ดอกข้าวใหม่ (พวกฝรั่งก็ว่า Bread flower) ใช้ทำของหอมกันมาก เช่น น้ำอบและเครื่องร่ำ
ชำมะนาดเวลาจะขยายพันธุ์มักใช้วิธีตอนมากกว่าอย่างอื่นไม้เลื้อยชนิดนี้ อยู่ในวงศ์เดียวกับโมก และลั่นทม มียางขาวทุกส่วน ดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อละ 10-15 ดอก กลีบดอกสีขาวอมเขียว เชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยสั้นๆ ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 แฉก ออกดอกเกือบตลอดปี นอกใช้ทำเครื่องหอมแล้ว ยังใช้ดอกลอยน้ำเป็นน้ำดอกไม้ในการทำข้าวแช่ด้วยชำมะนาดมีถิ่นกำเนิดในเอเซียเขตร้อนขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง หรือแยกจากไหล
อักษร ซ
ซ่อนกลิ่น
Tuberose
Polisanthes tuberosa, L.
(Amaryllidaceae)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/tuberose/polianthes_02.jpg
ซ่อนชู้ชูช่ออรชร เหมือนเราซ้อนเป็นชู้คู่แฉล้ม
ซ่อนกลิ่นส่งกลิ่นประทิ่นแกม เหมือนกลิ่นแก้มโฉมยงเมื่อส่งตัว
วรรณคดี : ขุนช้างขุนแผน
ซ่อนกลิ่น หรืออีกชื่อที่ว่าซ่อนชู้ เป็นพันธุ์ไม้ที่มีหัวอยู่ในดิน ใบสีเขียวสดเรียวยาวมีหน่อออกกลายเป็นหัว เป็นไม้ตัดดอกที่ใช้กันมากในทางศาสนา เพราะมีสีขาวบริสุทธิ์และกลิ่นหอมเย็น ไม่นิยมนำมาจัดแจกันดอกไม้ นอกจากใช้บูชาพระแล้วยังนิยมใช้ใส่แจกันหน้าแท่นบูชาศพ
ซ่อนกลิ่นขึ้นได้ดีในดินร่วนโปร่ง ระบายน้ำได้ดี มีอินทรียวัตถุมาก ถ้าดินเหนียวแข็ง หรือดินน้ำท่วม ต้นจะแคระแกรนไม่แตกกอ ใบเล็กผอมยาว ช่อดอกเล็กผอมสั้น การขยายพันธุ์ ใช้วิธีแยกหัวปลูก
อักษร ด
ดองดึง
Glory Lily, Climbing Lily, Superd Lily, Turk’s Cap
Gloriosa superba, L.
(Liliaceae)
https://www.dnp.go.th/botany/image/Plantfile/Goriosa1.jpg
………………… ต้นนางแย้มแกมดองดึง
สุพรรณิกา กระทึง ดอกราชพฤกษ์ซึกไทรไตร ฯ
กาพย์ห่อโคลง ” นิราศธารทองแดง” : เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ “เจ้าฟ้ากุ้ง”
ดองดึงมีชื่ออื่นๆมากมายไม่ว่าจะเป็น ดาวดึงส์ ว่านก้ามปู หัวขวาน พันมหา บ้องขวาน ผะขาโก้ง คมขวาน ก็เป็นชื่อหนึ่งของดองดึง ดองดึงเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นอยู่ใต้ดินมีลักษณะเดียวกับเหง้ากระชาย สีขาวครีม รูปร่างคล้ายหัวขวาน ส่วนที่เป็นหัวหรือไหลเป็นสีขาวนมสด ชอบดินร่วนปนทราย เจริญเติบโตได้ในที่มีแสงแดดจัดและแดดร่มรำไร ดองดึงเป็นพืชเถาเลื้อย ก้านใบที่โผล่ขึ้นเหนือดิน ลักษณะเป็นเถากลมขนาดเล็ก แต่เหนียวเลื้อยเกาะได้สูง 1-3 เมตร เถาเป็นข้อปล้องเห็นได้ชัด เมื่อดอกโรยจะติดผลเป็นรูปกระสวย 3 เส้า ติดกันหมด ลักษณะและขนาดคล้ายผลตะลิงปลิง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 ซ.ม. มีสีเขียว เมื่อแก่จัดเป็นสีน้ำตาล มีเมล็ดเรียงอยู่ภายใน เส้าละ 2 แถว แถวละ 5-8 เมล็ด มีขนาดและสีคล้ายเมล็ดข้าวโพด การขยายพันธุ์ ใช้วิธีเพาะเมล็ด
ดาวเรือง
Marigold
Tagetes spp.
(Compositae)
http://www3.rdi.ku.ac.th/wp-contents/uploads/2015/06/kaset8.jpg
…………………. กุหลาบกนาบทั้งสองทาง
เบงระมาดยี่สุ่นกาง กลีบบานเพราเหล่าดาวเรือง ฯ …
กาพย์ห่อโคลง ” นิราศธารทองแดง” : เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ “เจ้าฟ้ากุ้ง”
ดาวเรือง หรือ ดอกคำปู้จู้ เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นทรงพุ่มสูงประมาณ ๔ ฟุต ปลูกง่ายขึ้นในดินเกือบทุกชนิด ทนทานต่อความแห้งแล้ง ใบเป็นฝอย มีกลิ่นหอมฉุน ดาวเรืองที่พบเห็นและปลูกกันมากในปัจจุบันมี 5 ชนิด คือ
1. Tagetes erecta เป็นดาวเรืองชนิดต้นสูง ดอกใหญ่ ซ้อน ทรงดอกกลมโต พันธุ์ที่นิยมกันคือ เทตรา เบอร์พี พริมโรส เลมอนบอล
2. Tagetes patula ลำต้นเตี้ย มีทั้งดอกซ้อนและไม่ซ้อน พันธุ์ที่นิยม คือ นอติมาเรียตตา บัฟเฟิลด์เรด
3. Triploid marigolds เป็นลูกผสมระหว่าง ๒ ชนิดแรก ได้แก่พันธุ์นักเกท
4. Tagetes tenuifolia pumila เป็นดาวเรืองชนิดพุ่มเตี้ย สูงประมาณ 7-10 นิ้ว ดอกกลีบชั้นเดียว มีขนาดเล็ก นิยมปลูกตามขอบแปลง หรือสวนหิน
5. Tagets\es filifolia pumila เป็นดาวเรืองที่มีใบสวยงาม พุ่มต้นแน่นเหมาะสำหรับปลูกตามขอบแปลง
การขยายพันธุ์ ใช้วิธีเพาะเมล็ดแล้วย้ายปลูก สรรพคุณด้านสมุนไพร ใช้ดอกผสมกับข่าและสะค้าน รับประทานแก้ฝีลมที่มีอาการปวดในท้อง ต้นใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้จุดเสียดและปวดท้อง
อักษร ต
ตะแบก
Queen’s Flower
Lagerstroemia frosreginae, Retz.
(Lythraceae)
http://www.พันธุ์ไม้.com/wp-content/uploads/2018/01/ตะแบก.jpg
…………………….. ช่อตะแบกชาตบุษย์ชูก้าน
พิกุลพวกแก้วเป็นแถวบาน พุดตาลพันแต้วตำปี
รามเกียรติ์ : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ตะแบกเป็นไม้ยืนต้นเนื้อแข็งขนาดกลางถึงใหญ่ ชอบขึ้นอยู่ทั่วไปตามป่าราบ เป็นไม้กลางแจ้งออกดอกปีละครั้ง ลำต้นมีเปลือกเรียบสีขาวเป็นมัน เมื่อแก่ผิวร่อนคล้ายต้นฝรั่ง ลำต้นสูง แตกกิ่งก้านด้านบน ใบโต ปลายใบแหลมคล้ายใบลั่นทม เมื่อออกดอกจะทิ้งใบ ดอกสีชมพูอมม่วง บางพันธุ์ดอกสีขาว เวลาดอกบานจะดูสะพรั่งสวยงามมาก เมื่อดอกโรยจะติดผลเป็นช่อ ลูกคล้ายหมากดิบ การขยายพันธุ์ ใช้วิธีเพาะเมล็ด
ตะโก
Ebony
Diospyros rhodocalyx Kurz
(EBENACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/herb/ebony/diospyros_02.jpg
หมู่ไม้เพล็ดไม้พลอง หมู่ไม้ฟองไม้ไฟ
ไม้ไผ่ไพไม้โพ ไม้ตะโกตะกู
ลิลิตพระลอ : สุนทรภู่
ตะโก หรือ มะโก เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง 15 เมตร ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่กลับ หรือรูปรี กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโท หรือรูปไข่ สีขาวนวล ผลสด รูปไข่ มีขนละเอียด ออกดอกระหว่างเดือนมีนาคม- เมษายน เป็นผลระหว่างเดือน เมษายน- มิถุนายน การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ทั่วประเทศเว้นภาคใต้ พบตามป่าผลัดใบจนถึงริมทุ่งนาที่ระดับ 40- 300 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ในต่างประเทศ พบที่พม่า ลาว เวียดนาม
เปลือก ต้น และแก่นตะโก บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง ต้มกับเกลือ อมรักษารำมะนาด ผลแก้ท้องร่วง คลื่นไส้ เปลือกผล เผาเป็นถ่าน ขับปัสสาวะ ต้นเป็นไม้ประดับ ตกแต่งเป็นไม้ดัดสวยงาม ไม้ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์หรือด้ามเครื่องมือ ผลอ่อนใช้ย้อมผ้า ย้อมแห ผลสุกกินได้
ตะลิงปลิง
Averrhoa bilimbi L.
(OXALIDACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fruit/bilimbi/averrhoa_02.jpg
ส้มโอหล่นจากต้นตะลิงปลิง ลงกองกลิ้งอยู่สล้างข้างพุทรา
ตามเสด็จไทรโยค : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5
ตะลิงปลิงเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 6 เมตร ต้นสั้น แตกกิ่งก้านสาขามากมาย กิ่งปกคลุมด้วยขนนุ่มๆ เปลือกสีชมพู ผิวเรียบ หักง่าย ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อยประมาณ 11-37 ใบ เรียงจากขนาดเล็กไปหาขนาดใหญ่ ใบย่อยเป็นรูปหอก โคนมน ปลายแหลม กว้างประมาณ 1 ซม. ยาว 2-5 ซม. สีเขียวอ่อนมีขนนุ่มๆ ปกคลุมอยู่ ดอกช่อ ออกเป็นช่อๆ ตามต้นหรือกิ่ง ดอก สีแดงเข้ม กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ สีเขียวอมชมพู กลีบดอกมี 5 กลีบ กลิ่นหอมหวาน เกสรกลางดอกเป็นสีเขียวอ่อน ผลเป็นผลช่อห้อย ผลยาว 4- 6 ซม. กว้างประมาณ 2 ซม. ผิวบางเรียบสีเขียว เมื่อสุกเป็นสีเหลือง เนื้อเหลว เปรี้ยว การขยายพันธุ์ใช้การเพาะเมล็ด ถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบริมทะเลในประเทศบราซิล ขึ้นได้ดีในดินปนทราย
ประโยชน์ ดอกชงกินแก้ไอ ผล เป็นยาเจริญอาหาร ทำน้ำผลไม้ ผลไม้แห้ง และแช่อิ่ม ใบ ใช้พอกแก้คัน
ตันหยง
Divi Divi
Caesalpinia coriaria Willd.
(LEGUMINOSAE – CAESALPINIACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/divi_divi/caesalpinia_02.jpg
โกฐกระวานกานพลูดูระบัด กำจายกำจัดสารพันทั้งตันหยง
หอมระรื่นชื่นใจที่ในดง พฤกษาทรงเสาวคนธ์ดังปนปรุง
นิราศพระแท่นดงรัง : สุนทรภู่
ตันหยงเป็นไม้ต้นสูง 6- 10 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาแผ่เป็นพุ่มใบ ประกอบแบบขนนกออกสลับ ปลายมน ไม่มีก้านใบย่อย ดอกช่อสีขาวอมเขียว หรือสีเขียวอมเหลือง หอมแรง เล็ก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ผลเป็นฝักแบน บิดงอ ออกดอกเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม การขยายพันธุ์ ใช้การ เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง
ประโยชน์ ฝักตันหยงมีสารฝาด ใช้ใส่แผลเปื่อย ย้อมหนังสัตว์ ถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกาเขตร้อน
อักษร ท
ทรงบาดาล
Kalamona, Scrambled Eggs
Cassia Surattensis Burm. f
(LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE)
https://www.kasettambon.com/wp-content/uploads/2021/05/ใบทรงบาดาล-1-800×600.jpg
ชมพู่แต่ละต้นมีผลลูก ดูดั่งผูกพวงระย้านึกน่าฉัน
ทรงบาดาลบานดอกรีบออกทัน เต็มทุกวันเช้าเย็นไม่เว้นวาย
รำพันพิลาป : สุนทรภู่
ทรงบาดาลเป็นไม้พุ่ม สูง 3 – 5 เมตร ใบ ประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ใบย่อย 4 – 6 คู่ รูปไข่หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ขนาดกว้าง 1 – 2 เซนติเมตร ยาว 2.5 – 4 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ดอก สีเหลืองออกตามซอกใบ และปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 – 3 เซนติเมตร ผล เป็นฝักแบน กว้าง 1 – 1.5 เซนติเมตร ยาว 7 – 20 เซนติเมตร ถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียเขตร้อนออกดอก ตลอดปี ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ
ทองกวาว
Betea monosperma O. Ktze.
(LEGUMINOSAE – PAPILIONOIDEAE)
https://www.dnp.go.th/botany/image/Web_dict/Butea_monosperma2.jpg
ทองกวาวคราวดอกแดง เชิงจ่าแจงแคงเหียงหัน
กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง : เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
ทองกวาวเป็นไม้ต้น สูง 6-12 เมตร เปลือกต้นเป็นปม ปุ่ม ไม่เรียบเกลี้ยง ผิวสีน้ำตาลหม่น ใบสีเขียว พื้นผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน ใบอ่อนเป็นก้านยาว ก้านหนึ่งมีใบย่อย 3 ใบ ใบค่อนข้างกลม กว้าง 6-18 ซม. ยาว 7-20 ซม. ดอกออกเป็นช่อคล้ายดอกทองหลาง สีแดง ขนาดใหญ่ ผลเป็นฝักแข็ง เปลือกนอกมีสีน้ำตาลอ่อน ภายในฝักมีเมล็ดขนาดเล็ก สีน้ำตาลแก่ การขยายพันธุ์ใช้วิธีเพาะเมล็ด
ประโยชน์ ใบ ดอก ต้มกินเป็นยา แก้ปวด ถอนพิษไข้ เมล็ด ฝัก ต้มกินขับถ่ายพยาธิ ถิ่นกำเนิดอยู่ใน อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีนและอินโดนีเซีย เกิดขึ้นเองตามพื้นที่ลุ่มต่ำหรือป่าราบ มีมากทางภาคเหนือ ตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ
เทียนกิ่ง
Lawsonia inermis L.
(LYTHRACEAE)
https://sr.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/2021/09/146184301_3710768482375751_8845604997996200738_n.jpg
ที่พื้นปราบปรามรายล้วนทรายอ่อน เข้าดงดอนเลียบเดินเนินกุหนุง
เทียน*ยี่หร่าป่าฝิ่นส่งกลิ่นคลุ้ง สมส้มกุ้งโกฐจุฬาการบูร
นิราศอิเหนา : สุนทรภู่
*เทียนกิ่ง
เทียนกิ่งหรือ เทียนขาว เทียนแดง เป็นไม้พุ่ม สูง 3-5 เมตร แตกกิ่งก้านมาก ทรงพุ่มกลม ต้นแก่มีหนาม ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปไข่ โคนและปลายแหลม ดอกช่อ มี 2 สี สีนวลหรือสีแดง กลิ่นหอมอ่อนๆ ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกขนาดเล็ก ร่วงง่าย เมล็ด สีน้ำตาลเข้ม ดอกออกตลอดปี การขยายพันธุ์ใช้การเพาะเมล็ด ถิ่นกำเนิดอยู่ในแอฟริกาตะวันตกและเอเซียเขตร้อน
ประโยชน์ ใบสดใช้ฆ่าเชื้อหนอง และเชื้อราซึ่งเป็นสาเหตุของโรคกลาก ผงใบแห้ง ใช้ย้อมผม ให้สีแดงส้ม ดอกสดทำบุหงา
อักษร น
นมตำเรีย
Hoya ovalifolia Wight & Arn.
(ASCLEPIADACEAE)
https://www.facebook.com/photo/?fbid=652656611850031&set=pcb.652657158516643
กล้วยไม้ห้อยต่ำเตี้ย นมตำเรียเรี่ยทางไป
หอมหวังวังเวงใจ ว่ากิ่งแก้วแล้วเรียมเหลียว
นิราศธารทองแดง : พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
ไม้เถาจำพวกนี้งอกงามอยู่ทนกว่าไม้อื่นๆ คล้ายแบบกล้วยไม้ ลำต้นเป็นเถากลมๆ เล็กๆมีใบหนามากรูปร่างต่างๆ แบบหัวใจบ้าง รูปกระสวยบ้าง ขนาดก็ต่างๆ กัน ใบหนาแข็งเป็นมันคล้ายขี้ผึ้ง ดอกออกเป็นกระจุก คล้ายช่อผักชี ตัวดอกขนาดเล็กบ้าง ใหญ่พอประมาณบ้าง มีสีขาว สีนวล อมม่วง และสีม่วงเวลาบานมักจะส่งกลิ่นหอมมากน้อยตามแต่ชนิด และส่วนมากส่งกลิ่นในเวลากลางคืน
พันธุ์ไม้สกุลนี้ที่เรียก นมตำเรีย คือชนิด Hoya parasitica Wall. พบขึ้นทั่วไปในทุกภาคของประเทศตามป่าเกือบทุกประเภท เถาเลื้อยเกาะและพันไปตามลำต้น หรือกิ่งไม้ หรือตามหิน ทุกส่วนมียางขาวคล้ายน้ำนม ใบอวบหนาคล้ายกล้วยปิ้ง (บางชนิดมีชื่อเรียก กล้วยปิ้ง = Hoya diversifolia Bl.) ออกดอกในฤดูร้อน บางพันธุ์ดอกในช่อดกแน่นเกือบเป็นทรงกลม ขนาดดอก 1 – 1.2 ซม. กลีบดอกมักจะงอโค้งลงไปสู่ก้านดอก ดอกในช่อบานเพียงวันเดียว รุ่งขึ้นจะร่วงไป แต่ละช่อดอกจะทะยอยบานไปเรื่อยๆ นมตำเรียชนิดนี้มีกลิ่นหอมแรง และฟุ้งกระจาย เป็นพันธุ์ไม้ของถิ่นเอเซียเขตร้อน ขยายพันธุ์โดยการปักชำปลูกเลี้ยงโดยใช้กระเช้าแขวน เป็นพันธุ์ไม้ที่เลี้ยงง่าย และทนแล้งได้ดี
นมแมว
Rauwenhoffia siamensis Scheff.
(ANNONACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/nom_maeo/rauwenhoffia_02.jpg
ถึงห้วยอีร้าและระย้าล้วนสายหยุด ดอกนั้นสุดที่จะดกดูไสว
กะมองกระเม็งนมแมวเป็นแถวไป ล้วนลูกไม้กลางป่าทั้งหว้าพลอง
นิราศเมืองแกลง : สุนทรภู่
นมแมวเป็นไม้เถาแต่ไม่ค่อยเลื้อยเหมือนไม้เถาอย่างอื่น กิ่งมักพันกันเองจนทำให้แลเห็นเป็นต้นไม้พุ่มขนาดไม่สูงเท่าใดนัก มีดอกขนาดตั้งแต่ 1-2 ซม. กลีบแข็งมากสีเหลืองนวลๆ มีกลิ่นหอมเวลาเย็นๆ และเวลากลางคืน
ต้นนมแมวมีใบยาวรีคล้ายใบมะดัน ด้านบนมีสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีจางกว่า เนื้อใบแข็ง ออกดอกเดี่ยวๆตรงซอกใบ กลีบดอก 6 กลีบ เรียงเป็นสองชั้น ๆ ละ 3 กลีบ เมื่อบานเต็มที่ขนาดดอกกว้างไม่เกิน 1.5 ซม. มีดอกเกือบตลอดปี ผลเล็กๆ ออกเป็นพวง เมื่อสุกสีเหลืองอมส้ม รับประทานได้ พันธุ์ไม้ชนิดนี้เป็นไม้ไทยโดยแท้จริง มีถิ่นกำเนิดในภาคใต้และภาคกลางของไทย อยู่ในวงศ์เดียวกับ กระดังงา การเวก และสายหยุด ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่งหรือเพาะเมล็ด ปลูกเลี้ยงได้ไม่ยากนัก
นางแย้มสาวหยุดพุทธชาด พุดซ้อนซ่อนกลิ่นจำปี
เบญจมาศหลายอย่างต่างสี มะลุลีสุกรมนมแมว
บทละครเรื่อง..พระศรีเมือง
นางแย้ม
Clerodendrum chinensis Mabls.
(LAMIACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/glory_bower/clerodendrum_02.jpg
ชมดวงพวงนางแย้ม บานแสล้มแย้มเกสร
คิดความยามบังอร แย้มโอษฐ์ยิ้มพริ้มพรายงาม
กาพย์เห่เรือ : พระนิพนธ์ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
นางแย้มเป็นพันธุ์ไม้พุ่มขนาดย่อม สูงอย่างโตเต็มที่ประมาณ 1 – 1.5 เมตร ใบโตสีเขียวแก่ มีดอกออกเป็นช่อตามปลายๆกิ่ง ช่อใหญ่ ดอกในช่อแต่ละดอกก็โตปานๆกันกับดอกมะลิซ้อน สีขาว มีกลีบหุ้มข้างนอกสีม่วงแดง มีกลิ่นหอมมาก ส่งกลิ่นเวลาเย็นๆ เรื่อยไปตลอดจนกระทั่งโรย การปลูกจะใช้กิ่งชำ หรือตอน หรือใช้เมล็ด ได้ทั้งนั้น แต่เมล็ดมักไม่ค่อยมี
นางแย้มชอบที่มีแสงแดดรำไรมากว่าแดดจัด ถ้าดินชุ่มชื้นดี จะออกดอกเป็นระยะๆตลอดทั้งปี ดอกในช่อดกและแน่น เรียงตัวลดหลั่นเป็นพุ่มเตี้ยๆ สวยงามประหนึ่งช่อดอกไม้ที่จัดไว้ ผิวใบสากระคายมือ ทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิว และเป็นผื่นคันได้สำหรับบางคนที่แพ้ นางแย้มเป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์เดียวกับผีเสื้อแสนสวย พนมสวรรค์ และสัก ถิ่นกำเนิดจากเขตกึ่งร้อนของเอเซีย ในประเทศจีน และญี่ปุ่น
พระจันทร์แจ่มกระจ่างแจ้ง ส่องแสงช่อดูไสว
นางแย้ม แย้มยิ้มอยู่ริมไพร เหมือนที่ไร่นางพิมเจ้ายิ้มแย้ม
ขุนช้างขุนแผน….สุนทรภู่
นนทรี
Peltophorum pterocarpum (DC.) backer ex K. Heyne
(LEGUMINOSAE – CAESALPINIOIDEAE)
https://kps.ku.ac.th/v8/images/images_content/nontri.jpg
ยมโดยประดู่หูกวาง ไตรร่างเต็งรังกระทังหัน
กระทุ่มทองกระถินอินจันทร์ ชิงชันช้างน้าวนนทรี
รามเกียรติ์ : พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ร.1
นนทรีเป็นไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบ ยอดแผ่พุ่มกว้าง สูงได้ถึง 25 เมตร ต้นค่อนข้างตรง เปลือกสีเทา ตามกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง กิ่งแก่เกลี้ยง ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเวียนสลับถี่ตามปลายกิ่ง โคนเบี้ยว ปลายใบมน หรือเว้าตื้นๆ ดอกช่อ มี 5 กลีบ กลีบดอกเป็นคลื่น สีเหลืองสดใส กลิ่นหอม ออกเป็นช่อใหญ่แตกแขนงเป็นพุ่มตั้งที่ปลายกิ่งพรูงาม ผลเป็นฝักแบน รูปรี โคนและปลายผล สอบแหลม สีน้ำตาลอมม่วง แก่จัดสีน้ำตาลดำ ไม่แตก มีเมล็ด 1-4 เมล็ด ออกดอกเดือนมีนาคม-มิถุนายน ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่า ชายหาด ปลูกได้ทั่วไป
เปลือกให้สีน้ำตาลอมเหลือง ใช้เป็นยาขับลม แก้ท้องร่วง ใช้ย้อมผ้าบาติก ไม้ใช้ก่อสร้าง ทำเครื่องเรือน เนื้อไม้ทนทาน
นมสวรรค์
Clerodendrum paniculatum Linn.
(VERBENACEAE)
http://plant.opat.ac.th/wp-content/uploads/2012/07/062-1-วิสัย.jpg
เห็นดอกนมสวรรค์บรรจง เหมือนเต้าบุษบงกินนรี
เห็นช้องนางรำรายเรียง เหมือนเจ้ารำม่ายเมียงที่สระศรี
อุณรุท : พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ร.1
นมสวรรค์ เรียกได้อีกหลายชื่อเช่น พนมสวรรค์ ฉัตรฟ้า เป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ 2 เมตร กิ่งอ่อนเป็นรูปสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปค่อนข้างกลม โคนรูปหัวใจ ปลายแหลม ขอบใบ เว้า 3-5 แฉก และมีจัก ด้านล่างมีขนสาก ดอกออกฤดูฝน ช่อสีแดง หรือเหลือง ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง กลีบดอกเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน ผลสุกมีสีแดงคล้ำ หรือแดง การขยายพันธุ์ทำได้โดยการ เพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง ตอนกิ่ง สับราก
ประโยชน์ รากใช้เป็นยาถ่าย ใบสดตำเป็นยารักษาโรคปวดข้อและปวดประสาท ถิ่นกำเนิดอยู่ใน จีน มาเลเซียและฟิลิปปินส์ พบทั่วไปตามชายป่าเมืองไทย ชอบดินร่วนปนทราย น้ำที่มีปริมาณมาก และความชื้นสูง แดดรำไร เจริญได้ดีภายใต้ร่มไม้ใหญ่
อักษร บ
บุนนาค
Mesua ferrea L.
(CLUSIACEAE)
http://highland_plant.hrdi.or.th/images/plants/600/p987_20110412150213.JPG
พิกุลบุนนาคบาน กลิ่นหอมหวานซ่านขจร
แม้นนุชสุดสายสมร เห็นจะวอนอ้อนพี่ชาย
กาพย์เห่เรือ : พระราชนิพนธ์ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
บุนนาค (นาคบุตร) เป็นไม้ต้นใหญ่คล้ายสารภี แต่ใบเล็กเรียวกว่า ดอกสวยคล้ายกับสารภี แต่โตกว่า ขนาดกว้างประมาณ 4-5 ซม. กลิ่นหอมเย็นกว่า เจ้าของมักเก็บตากแห้งเอาไว้ และขายให้แก่ร้านเครื่องยา ดอกออกเป็นฤดู เช่นเดียวกับสารภี
บุนนาคเป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นของไทยและเอเซียเขตร้อน อยู่ในวงศ์เดียวกับสารภี และมะดัน พบตามป่าชื้น เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีคุณค่ามาก ใช้ในงานก่อสร้างได้ทุกประเภท เรือนยอดคล้ายรูปเจดีย์ ใบดกทึบ ยอดอ่อนสีแดง สวยงามมาก ดอกใหญ่สีขาว 4 กลีบ มีเกสรสีเหลือง เป็นกระจุกใหญ่อยู่ตรงกลาง ดอกบานเต็มที่มีขนาดใหญ่ 5-7 ซม. ขยายพันธุ์โดยวิธีตอนกิ่ง หรือเพาะเมล็ด เกสรดอกบุนนาคใช้ผสมทำยาหอมบำรุงหัวใจ แก้ร้อนในกระหายน้ำ เป็นยาชูกำลัง น้ำมันจากเมล็ดใช้จุดตะเกียงและทำเครื่องสำอาง
พิกุลบุนนาคมากมี ตามหว่างวิถีขาวสด
ชมพลางทางเร่งรีบรถ เลียบตามบรรพตคีรี
อิเหนา..พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2
เบญจมาศ
Chrysanthemum morifolinm Ramat. and hybrid
(COMPOSITAE)
https://static.thairath.co.th/media/dFQROr7oWzulq5FZYjXiYdEKm0qbkz2LZTYjY00UUTuOfh2bwcfa64XGsH6nKFhcmrE.webp
กิดาหยันน้องน้อยสอยสาวหยุด เบญจมาศชาตบุษย์ต่างต่าง
บ้างโน้มเหนี่ยวหักกิ่งปริงปราง มาถวายหลายอย่างให้นางชม
อิเหนา : พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ร.2
เบญจมาศเป็นไม้ล้มลุกกลางแจ้ง สูง 30-90 ซม. แตกกิ่งก้านสาขาไม่มาก ตามกิ่งก้านและต้นมีขนละเอียด ใบ เรียวรี สีเขียว ใบต่างกันแล้วแต่พันธุ์ ซึ่งมีมากมาย ดอกมีหลากสี ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ แต่ละลักษณะมีดอกกลมเหมือนกันหมด กลีบดอกซ้อนกันมากหรือน้อยแล้วแต่พันธุ์ สีต่างๆ กัน เช่น ชมพู แดง ขาว ม่วงอมน้ำเงิน ม่วงและเหลือง ต้องการแสงแดดจัด ปลูกในดินที่ร่วนผสมอินทรีย์วัตถุจะช่วยให้ดอกดก การขยายพันธุ์ใช้การเพาะเมล็ด ถิ่นกำเนิดอยู่ในจีน เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของเอเซียตะวันออก
ประโยชน์ ทั้งต้นใช้รักษาโรคตับ ปวดศีรษะ วิงเวียน บำรุงประสาท ใบและดอก กินเพื่อรักษาโรคนิ่ว วัณโรค โรคต่อมน้ำเหลือง ใบและต้น ตำเป็นยารักษาโรคผิวหนังและแผลน้ำร้อนลวก ใช้เป็นไม้ประดับ หรือไม้ตัดดอก ดอกใช้ทำดอกไม้ประดิษฐ์
บานเย็น
Four-o’clock, Marvel of Peru, False Jalap,
Mirabilis jalapa
(Nyctaginaceae)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/four_o_clock/mirabilis_02.jpg
ลางนางบ้างเก็บลูกบานเย็น มาผัดหน้าทาเล่นไม่เป็นสิว
อิเหนา : ร.2
บานเย็นเป็นพรรณไม้พุ่ม มีลำต้นเตี้ยมากประมาณ 2 ฟุต จะออกใบเป็นคู่ ๆ สลับกันไปตามลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปหอก ปลายแหลม เส้นกลางใบเป็นสีเหลืองออ่อน ๆ เห็นได้ชัดมาก ดอกจะมีอยู่หลายสีแล้วแต่พันธุ์ เช่น สีแดง เหลือง ม่วง ขาว ลักษณะของดอกนั้นเมื่อยังไม่บานจะเป็นรูปหลอด พอบานแล้วจะเป็นรูปแตร ปลายแยกเป็น 5 กลีบ เมื่อดอกบานมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-5 ซม.ดอกจะบานเฉพาะในเวลาตอนเย็น และจะหุบในเวลาตอนเข้าของอีกวัน ดอกมีกลิ่นหอม และจะออกดอกติดกันเป็นกลุ่ม การขยายพันธุ์ใช้การเพาะเมล็ด
บานเย็นนั้นเป็นไม้ที่เลี้ยงง่ายควรปลูกไว้กลางแจ้ง ดินที่ปลูกควรเป็นดินร่วนที่มีธาตุอาหารสมบูรณ์ ควรได้รับการปรับปรุงดินก่อนการปลูก บานเย็นต้องการน้ำ และความชื้นปานกลาง
อักษร ป
ประดู่ (ประดู่บ้าน ประดู่อังสนา)
Pterocarpus indicus Willd.
(FABACEAE)
ประดู่ลำดวนยมโดย ลมโชยกลิ่นชวนหอมหวาน
นางแย้มสายหยุดพุดตาล อังกาบชูก้านกระดังงา
รามเกียรติ์ : พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1
ประดู่เป็นพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งซึ่งเป็นต้นไม้ใหญ่มาก ใบมักจะร่วงในฤดูแล้ง ซึ่งตกอยู่ในราวเดือนกุมภาพันธุ์ถึงเมษายน พอฝนตกได้รับความชื้นมากเข้าก็ผลิดอกออกใบสะพรั่งเต็มต้น ดอกเล็กสีเหลืองสด ส่งกลิ่นหอมระรื่นฟุ้งไปรอบๆบริเวณ นอกจากมีดอกอันหอมเย็นแล้ว ต้นประดู่ยังเป็นไม้ร่ม เพราะแผ่ออกเป็นพุ่มงดงาม ให้ความร่มเย็นดีมาก จึงมักเห็นปลูกกันตามวัดวาอารามต่างๆ และยังจะใช้เป็นต้นไม้ปลูกข้างถนนเป็นอย่างดีอีกด้วย การปลูกจะปลูกด้วย กิ่งตอนหรือจะใช้เมล็ดเพาะก็ได้
ประดู่เป็นพรรณไม้จากอินเดีย ชอบแสงแดดจัด ความชื้นสูง ต้องการน้ำปานกลาง สามารถขึ้นได้ในดินทุกชนิด แต่จะให้ดีควรเป็นดินร่วนซุย ดังนั้นจึงเห็นปลูกกันตามริมถนนใน กทม. ทั่วไป
ประดู่ป่า
Pterocarpus macrocarpus Kurz.
(FABACEAE)
https://adeq.or.th/wp-content/uploads/2016/07/2-13-1030×686.jpg
พี่เลี้ยงเก็บได้ใส่พานทอง มาถวายพระน้องต้องประสงค์
ประดู่ดกดอกพวงร่วงลง ลมส่งกลิ่นกลบตระหลบไป
อิเหนา…พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2
ประดู่ป่าคล้ายกับประดู่ต้นชนิด P.indicus แต่ทว่าผลใหญ่กว่า ผลประดู่เป็นแผ่นเกือบกลม บริเวณกลางนูนขอบบางเป็นปีกโดยรอบ ประดู่ทั้ง 2 ชนิด เป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นของเอเซียเขตร้อน อยู่ในวงศ์เดียวกับ ถั่วพู
ประยงค์
Aglaia odorata Lour.
(MELIACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/chinese_rice/aglaia_02.jpg
พระเด็ดดอกกาหลงประยงค์แย้ม ให้ทรามวัยใส่แซมมวยผม
อัมพาระย้าย้อยลำไยยม ต้องลมหล่นกราดอยู่กลางทราย
อิเหนา : พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2
ประยงค์เป็นไม้พุ่มสูงไม่เกิน 2 เมตร ดอกกลมๆ ขนาดเล็ก คล้ายไข่ปลาหรือเม็ดสาคู สีเหลืองสด ดอกหอมมาก ส่งกลิ่นไปไกล บางทีเรียกกันว่า หอมไกล ดอกออกเป็นพักๆ ตลอดปี ต้นประยงค์นี้ทนทานมาก ใช้ตอนเอาก็ได้ หรือหักปักเอาบางทีก็เป็น ปลูกที่ไหนก็ได้ แต่ที่แจ้งสักหน่อยแล้วจะให้ดอกดกกว่าที่ร่ม
ประยงค์มีทรงพุ่มสวย ใบเขียวเป็นมัน รูปร่างคล้ายใบแก้ว ช่อดอกโปร่ง ออกตามซอกใบ ดอกกลมเล็กมาก เส้นผ่าศูนย์กลางดอกเพียง 1.5 – 2 มม. ใช้อบใบชาให้มีกลิ่นหอม เรียกว่าชาดอกประยงค์ ตำรายาไทยใช้รากเป็นยากินให้อาเจียน ถอนพิษเมื่อเมา
ปีบ
Millingtonia hortensis L.
(BIGNONIACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/cork_tree/millingtonia_02.jpg
พอเข้าป่าพาใจให้ชื่น หอมรื่นดอกดวงพวงบุปผา
สาวหยุดพุดจีบปีบจำปา กรรณิการ์มหาหงส์ชงโค
อิเหนา : พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2
พันธุ์ไม้วงศ์นี้โดยทั่วๆไป มีดอกสีสวยงดงามมาก แต่ไร้กลิ่น เว้นแต่ต้นปีบที่กล่าวนี้ ซึ่งปีบเป็นไม้ต้นสูงใหญ่พอใช้ แต่มีดอกตั้งแต่ต้นเล็กๆ ดอกมีสีขาวสะอาด ลักษณะกลีบเป็นหลอดยาวๆ บานเวลาเย็นตลอดไปจนถึงอีกเย็นหนึ่งแล้วร่วง ตามลักษณะของพันธุ์ไม้ตระกูลนี้ เวลาบานมีกลิ่นหอมไม่เลวนัก คนไทยเราบางทีเก็บเอาดอกแห้งมาปนกับยาสูบ คล้ายกับเครื่องปรุงอย่างหนึ่ง พวกปีบจะปลูกจากเมล็ดก็ได้ หรือตัดรากชำเอาก็ได้ ขึ้นง่ายโตเร็วทีเดียว
ยาตำราไทยใช้ดอกแห้งมวนบุหรี่สูบแก้หืด ปัจจุบันพบว่าดอกมีสารบางชนิด ซึ่งมีฤทธิ์ขยายหลอดลมได้ดีกว่ายาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาหืด และไม่มีความเป็นพิษ
โป๊ยเซียน
Crown of Thorns
Euphorbia millii Des Moul.
(EUPHORBIACEAE)
https://www.phanpiset.ac.th/botanic/pictures/006.jpg
ใส่กระถางโป๊ยเซียนเขียนลายดี เข็มราตรีปลูกกระถางลายมังกร
กระถางครามลายฮ่อตอส่าเหล้า จารึกเขาปลูกฝรั่งตั้งสลอน
ตามเสด็จไทรโยค : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5
โป๊ยเซียนเป็นต้นไม้ที่นิยมปลูกทั่วไป ถือว่าเป็นไม้เสี่ยงทาย เป็นไม้ที่มีต้นปกคลุมด้วยหนามแข็งแหลมออกตามพู บางชนิดหนามแหลม ปลายอ่อนนิ่ม บางชนิดต้นบิดเป็นเกลียว บ้างก็ต้นตรง บ้างก็เอนลู่หรือห้อยลง สูงประมาณ 1 เมตร ใบ เขียว ส่วนมากสีเขียวอมเทา หรือเขียวเข้ม มีหลาย ลักษณะเช่น ใบมน รูปใบพาย ใบเรียวแหลม รูปไข่ ปลายแหลม บางชนิดมีใบน้อยมาก แผ่นใบหนา เป็นใบกึ่งอวบน้ำ ใบอยู่ได้นานหลายเดือนกว่าจะร่วง ใบใหม่ออกมาส่วนเหนือขึ้นไปเรื่อยๆ ดอก ออกที่ปลายยอด ขนาดเล็กมาก รวมเป็นช่อ กลีบประดับดอกสร้างสีสันให้เด่น เช่น สีขาวนวล เหลือง เหลืองอมเขียว แดงอมชมพู ดอกออกเป็นคู่ ตั้งแต่ 4 คู่ถึง 32 หรือ 56 คู่ เรียงแถวงดงามมาก การขยายพันธุ์ ใช้มีดคม เช่นใบมีดโกนตัดยอด 7-10 ซม.แช่น้ำเพื่อให้ยางหยุดไหล ผึ่งยอดที่ตัดให้แห้งไว้ 1 วัน แล้วจึงชำในทรายผสมขี้เถ้า รากจะงอกใน 20-30 วัน ประโยชน์ เป็นไม้ประดับ ถิ่นกำเนิด พบในหลายประเทศแถบเขตร้อน ทนต่อความแห้งแล้ง ไม่ชอบน้ำ ดินไม่ควรชื้นและระบายน้ำได้ดี ชอบแสงสว่างรดน้ำเพียงเล็กน้อยเพื่อมิให้แห้ง ถ้าให้ปุ๋ยเดือนละครั้ง จะให้ดอกสม่ำเสมอ
อักษร ผ
ผกากรอง
Cloth of Gold, Hedge Flower, Weeding Lantana
Lantana camara, L.
( Verbenaceae)
http://old.thaigoodview.com/files/u93814/IMG_5499.JPG
มะลิวัลย์พันระกำขึ้นแกมจาก ได้สามวันกรรมพรากไปจากห้อง
จำปีเคียงโศกระย้า ผกากรอง พี่โศกเศร้าเฝ้าตรองกว่าสองปี
ขุนช้างขุนแผน : สุนทรภู่
ผกากรอง หรือ ก้ามกุ้ง เบญจมาศป่า ขะจาย ขี้กา คำขี้ไก่ เบ็งละมาศ ไม้จีน คือไม้ชนิดเดียวกัน เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กสูงประมาณ 2-6 ฟุต ขึ้นได้ในดินทุกชนิด ชอบแล้งมากกว่าแฉะ ชอบแสงแดดจัด นิยมปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อดูดอกเพราะผกากรองให้ดอกสวยและดกตลอดปี ใบเป็นรูปไข่ ริมใบหยักเป็นจัก ใบคายสากมือ มีกลิ่นเหม็น ดอกมีขนาดเล็กออกเป็นกระจุก ขนาดโตประมาณ 1-1.5 นิ้ว มีหลายสี เช่น เหลืองอ่อน แดง ขาว ม่วง ชมพู เหลืองเข้ม การขยายพันธุ์ ใช้วิธีเพาะเมล็ด หรือตัดกิ่งปักชำ
สรรพคุณทางสมุนไพร ใบตำพอกแผล ฝีพุพอง ใบต้มน้ำอุ่นอาบ หรือแช่แก้โรคปวดข้อ
ผักตบ (ผักตบชวา ผักบัวลอย ผักปอด ผักโป่ง สวะ)
Water Hyacinth
Eichhornia crassipes, Solms.
(Pontederiaceae)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/weed/water_hyacinth/eichornia-4.jpg
ชุมนักผักตบซ้อน บอนแซง
บอนสุพรรณหั่นแกง อร่อยแท้
บอนบางกอกดอกแสลง เหลือแล่ แม่เอย
บอนปากยากจแก้ ไม่สริ้นลิ้นบอน
โคลงนิราศสุพรรณ : สุนทรภู่
ผักตบเป็นพืชน้ำประเภทใบเลี้ยงเดี่ยว ลอยน้ำได้ งอกงามได้โดยไม่ต้องมีที่ยึดเกาะ สามารถแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมาก จัดเป็นวัชพืชน้ำที่สร้างความเสียหายให้กับการชลประทาน การประมง การเกษตร การสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ เป็นอย่างมากแต่อย่างไรก็ตามในแง่ของประโยชน์ ผักตบสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ ใช้นำมาถักเป็นเครื่องเรือน ใช้แก้ปัญหาน้ำเสีย ใช้เป็นวัสดุในการเพาะเห็ดฟาง ใช้ผลิตก๊าซชีวภาพ ใช้ผลิตปุ๋ยหมัก ใบเป็นใบเดี่ยว แผ่นใบคล้ายรูปหัวใจ เป็นมันหนา ก้านใบพองออกตรงช่วงกลาง ภายในมีลักษณะเป็นรูพรุน เนื้อฟ่าม ช่วยพยุงลำต้นให้ลอยน้ำได้ ดอกมีลักษณะเป็นช่อ ดอกย่อยแต่ละดอกมีสีฟ้าอมม่วงแกมเหลือง ไม่มีก้านช่อดอก ดอกมีกลีบ 6 กลีบ ตอนที่ดอกยังไม่บานจะมีใบธงหุ้มอยู่ เมื่อดอกออกพ้นใบธงดอกจะบานทันที การขยายพันธุ์ ใช้ “ไหล” ที่แตกมาจากลำต้นแม่ หรือเมล็ด
ด้านสมุนไพร ใช้แก้พิษภายในร่างกาย และขับลม ใช้ทาหรือพอกแก้แผลอักเสบ
อักษร พ
พะยอม
Shorea roxburghii G.Don.
(DIPTEROCARPACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/phayom/shorea_02.jpg
ระรวยรื่นชื่นหอมพะยอมสด คันธรสโรยร่วงพวงเกสร
ต้องพระพายชายช่ออรชร แมลงภู่ฟอนเฝ้าเคล้าประคองชม
นิราศพระแท่นดงรัง : สุนทรภู่
พะยอมเป็นไม้ผลัดใบใหญ่ ลำต้นสูง ดอกสีเหลืองแกมเขียวอ่อนๆ เป็นไม้ป่า เวลาออกดอกมักออกเต็มต้น และมีกลิ่นหอมตลบทั่วบริเวณ มีคนนำเอามาปลูกไว้ในบ้านเหมือนกัน พบทั่วไปในป่าเบญจพรรณเกือบทุกภาค โปร่งพุ่มโปร่งใบอ่อนสีเขียวอ่อนอมเหลือง ดอกออกเป็นช่อใหญ่ตามข้างกิ่งและปลายกิ่ง สีขาวนวล ดอก 5 กลีบ เรียงเวียนแบบกังหัน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. ผลมีปีกใหญ่ 3 ปีก และปีกเล็ก 3 ปีก ขยายพันธ์โดยการเพาะเมล็ด พันธุ์ไม้ชนิดนี้ปลูกเลี้ยงได้ง่าย เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้างทำเครื่องมือ เปลือกมีรสฝาดใช้กันบูด ฟอกหนัง และเป็นยา ยางหรือชันใช้ยาเรือ และเป็นยา ดอกใช้ประกอบอาหารและเป็นสมุนไพร
กระลุ่มพูจิกพวงชมพูเทศ สังเกตเหมือนผ้าชมพูพิสมัย
พะยอมหอมหวนมายวนใจ เหมือนกลิ่นสไบเจ้ายังติดมา
ขุนช้างขุนแผน : สุนทรภู่
พิกุล
Bullet Wood
Mimusope elengi, L.
(Sapotaceae)
http://www.st.buu.ac.th/botany/doc/2565/016พิกุล.pdf
พิกุลจะกรองอุบะ ลำดวนจะร้อยเป็นสร้อยใส่
จะทำบุหงารำไป วางไว้ข้างที่ไสยา
อิเหนา : รัชกาลที่ 2
พิกุลเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง กิ่งก้านค่อนข้างแจ้ แบน คล้ายต้นหว้า มีพุ่มใบแน่น เหมาะสำหรับปลูกไว้บังแดดตอนบ่าย ดอกมีกลิ่นหอม ใบเป็นใบเดี่ยว สีเขียวเข้ม ปลายแหลมมน มีขนาดใบกว้างประมาณ 7 ซ.ม. ยาวประมาณ 15 ซ.ม. เส้นกลางใบด้านท้องใบนูน ก้านใบยาวประมาณ 3 ซ.ม. ดอกออกเป็นช่อ เป็นกระจุก ดอกมีขนาดเล็กกว้างประมาณ 1 ซ.ม. กลีบดอกเล็กแคบยาวเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ มองดูริมดอกเป็นจักเล็ก ผลกลมโตคล้ายละมุดสีดา แต่เล็กกว่าเล็กน้อย ผลสุกสีแดงแสด ใช้รับประทานได้ รสฝาด หวานมัน การขยายพันธ์ ใช้เพาะเมล็ด หรือ ตอนกิ่ง ทางด้านสมุนไพร เปลือกใช้ต้มเอาน้ำอมเป็นยากลั้วล้างปาก แก้ปากเปื่อย ปวดฟัน ฟันโยกคลอน เหงือกบวม เป็นยาคุมธาตุ ดอกแห้งใช้ป่นทำยานัตถุ์ แก้ไข้ ปวดศรีษะ เจ็บคอ แก้ปวดตามร่างกาย แก้ร้อนใน เมล็ดตำละเอียดปั้นเป็นยาเม็ดสวนทวาร
พุดซ้อน
Gardinia angusta Merr.
(RUBIACEAE)
http://ecoforest.phsmun.go.th/wp-content/uploads/2019/04/พุดซ้อน2.jpg
ช่อตะแบกสัตตบุษย์พุดซ้อน กลิ่นขจรฟุ้งจับนาสา
จำปีมลุลีมะลิลา พิกุลกรรณิการ์สารภี
รามเกียรติ์ : พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1
ในบรรดาไม้พุ่มด้วยกันแล้วต้องนับว่าพุดซ้อน หรือพุดฝรั่งนี้งามพอใช้ พันธุ์ไม้นี้แตกกิ่งก้านมากจนเป็นพุ่มกลม ใบหนาเป็นมันสีเขียวแก่ มีดอกโตสีขาวสะอาดบริสุทธิ์ กลิ่นหอมแรงมาก มักจะบานและส่งกลิ่นตั้งแต่เวลาเย็น ไปตลอดคืนจนกระทั่งเช้าแล้วค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนกระทั่งโรย พุดชนิดนี้พื้นเพเป็นของต่างประเทศ แต่เอาเข้ามาปลูกได้งอกงามดี และปลูกง่ายมาก ตัดกิ่งชำก็เป็น และเจริญเร็วด้วย
ถิ่นเดิมของพุดซ้อนเข้าใจว่าอยู่ในประเทศจีน และเป็นพันธุ์ไม้วงศ์เดียวกับเข็มพวงขาว กระทุ่ม และกาแฟ พุดซ้อนมีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น เคตถวา พุดจีน และพุดใหญ่ ดอกออกเดี่ยวๆ ตรงซอกใบและปลายกิ่ง กลีบดอกซ้อนกันหลายชั้นคล้ายดอกกุหลาบ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-7 ซม.มีบางพันธุ์ดอกชั้นเดียว ซึ่งพันธุ์นี้มักติดผล ผลสุกสีเหลือง เมล็ดสีเหลืองทอง ใช้แต่งสีอาหารและทำสีย้อม ส่วนดอกใช้สกัดน้ำมันหอมระเหย ใช้ทำน้ำหอมและแต่งกลิ่นเครื่องสำอาง
เจ้าโมรากรีดเล็บเก็บจำปี ให้ประภาวดีศรีสมร
เจ้าวิเชียรเก็บกระถินกลิ่นขจร กับพุดซ้อนตามส่งให้จงกล
พระอภัยมณี : สุนทรภู่
พุดตาน
Cotton rose
Hibiscus mutabilis L.
(MALVACEAE)
https://pttherbgarden.pttplc.com/UploadFiles/Files/HerbGroup/Herb/25580209110649.png
สายหยุดพุทธชาดนางแย้ม สุกรมแกมพะยอมหอมหวาน
การะเกดกรรณิการ์ ชบาบาน พุดตานชงโคโยทะกา
อุณรุท : พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ร.1
พุดตานเป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ 5 เมตร ต้นและกิ่งมีขนสีเทา ใบ เดี่ยว ออกสลับ รูปไข่โคนรูปหัวใจ ปลายแหลม ขอบใบเว้าลึก มี 3- 5 แฉก ใบมีขนสาก ดอก ซ้อนใหญ่ งามมาก แรกบานมีสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูและแดง ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง มีริ้วประดับ 7- 10 อัน ผล กลม เมื่อแก่แตกเป็น 5 แฉก เมล็ด รูปไต มีขน ออกดอกตลอดปี การขยายพันธุ์ ตอนกิ่ง ปักชำกิ่ง ประโยชน์ ใบและดอกตำผสมน้ำผึ้งทาบริเวณฝี แก้ผึ้งต่อย ลดการอักเสบ ใบแห้งบดรักษาแผลไฟไหม้ ถิ่นกำเนิด จีน นำเข้าสมัยรัชกาลที่ 2, 3 ชอบดินร่วน
พุทธชาด
Jasminum auriculatum Vahl
(OLEACEAE)
http://plant.opat.ac.th/wp-content/uploads/2012/07/102-4-ดอก.jpg
ชาตบุษย์พุทธชาดขึ้น เคียงกลาง
กุหลาบกนาบส่องทาง กลิ่นฟุ้ง
………………. ………..
นิราศทองแดง : เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
พุทธชาด หรือ บุหงาประหงัน เป็นไม้เถากึ่งต้นกึ่งเลื้อย ต้นแตกกิ่งก้านสาขาเป็นออกไป สูง 1-2 เมตร ใบ ออกเป็นคู่ๆ ตามกิ่ง ใบยาวประมาณ 6 ซม. สีเขียวสด ดอกช่อ ออกเป็นช่อตรงส่วนยอดของกิ่ง สีขาวและดกมาก ช่อหนึ่งมีหลายดอกและทยอยผลิบานทุกวัน ดอกติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5- 8 แฉก ดอกบานเต็มที่ประมาณ 1 ซม. กลิ่นหอมแรง ออกดอกตลอดปี การขยายพันธุ์ ปักชำ ตอนกิ่ง ทับกิ่ง เพาะเมล็ด ประโยชน์ ดอกนำมาสกัดเอาน้ำมันหอมระเหย ถิ่นกำเนิดในจีนและอินเดีย ปลูกในดินร่วนปนทรายที่มีอินทรีย์วัตถุมากๆ น้ำพอสมควร ความชื้นสูง ปลูกในที่กลางแจ้งแสงแดดจัด
พุทธรักษา (พุทธศร บัวละวงศ)์
Canna, Indian Shoot, Bulsarana
Canna indica
(Cannaceae)
https://3.bp.blogspot.com/-HRwgdLQ1KD0/WW4k3eHjV9I/AAAAAAAAABI/ln4HcDw3htIevgmkkb0GtSWSYyzMNUccQCLcBGAs/s1600/attachment_image_14492989090.jpg
ไผ่เทศงามผาดผุด ต้นเล็บครุฑพุทธรักษา
ทองริมอย่างงามมานา เข้าตอกแตกแปลกดอกขาว ฯ “
กาพย์ห่อโคลง “นิราศธารทองแดง” : เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
พุทธรักษาเป็นไม้ขึ้นง่าย ใช้เป็นไม้ประดับตามริมรั้ว ขอบสระและปลูกลงแปลง ชอบแดดจัด ถ้าปลูกในที่รำไรจะไม่ออกดอก ขึ้นได้ในดินทุกชนิด แม้ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ แต่ต้องมีความชื้นในดินสูง เป็นพันธุ์ไม้ที่ออกดอกตลอดปี เมื่อออกดอกติดผล และผลแก่แล้วจะตายไป พุทธรักษามีขนาดลำต้นสูงประมาณ 50-200 เซนติเมตร ใบเป็นแผ่นคล้ายใบพาย สีเขียวสดรูปหอก เส้นใบเรียงกันเป็นเส้นบรรทัดอย่างใบกล้วย ขนาดยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ก้านใบเป็นกาบหุ้มลำต้น ดอกพุทธรักษาออกเป็นช่อตรงยอดของลำต้น ช่อมีขนาดยาว 15-25 เซนติเมตร เมื่อออกดอกแล้ว จะติดผลสีเขียวมีหนามตื้น ๆ เป็นพู ผลแก่มีสีดำภายในมีเมล็ดลักษณะกลมขนาดเท่าเมล็ดถั่วลันเตา การขยายพันธุ์ ใช้วิธีเพาะเมล็ด หรือแยกหน่อปลูก
พลับพลึง
Crinum asiaticum Linn.
(LILIACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/cape_lily/crinum_01.jpg
แคฝอยข่อยเข็มข้า ต้นกาลาน่าดอกบาน
งิ้วงับพลับพลึงบาน นิ้วมือเรียบเปรียบเทียนกลึง
กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง : เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
พลับพลึงเป็นไม้ล้มลุก ขึ้นเป็นกอ มีหัวอยู่ใต้ดิน ต้นสมบรูณ์จะให้ใบที่สะอาด สวยงามมาก ต้นกลม มีความกว้างประมาณ 15 ซม. และยาวประมาณ 30 ซม. มีกาบหุ้มสีขาว หุ้มต้นตั้งแต่โคนตลอดไป ใบ ออกรอบๆ ต้น ใบแคบยาวเรียว อวบน้ำ ขอบใบเป็นคลื่น ส่วนที่เป็นกาบคลี่ออกเป็นใบสีเขียว ค่อนข้างหนา ปลายใบแหลม ใบยาวประมาณ 1 เมตร และ กว้าง 10-15 ซม. ดอกช่อ พุ่งจากยอดเป็นช่อใหญ่ ตรงปลายเป็นกระจุกมี 12-40 ดอก เมื่อดอกยังอ่อนอยู่จะมีกาบเป็นสีเขียวอ่อนๆ หุ้มอยู่ 2 กาบ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 90 ซม.ดอกยาวประมาณ 15 ซม. ดอกโต กลีบดอกสีขาว บางชนิดดอกสีแดง กลิ่นหอมเย็น บานทนทาน เกสรติดอยู่ที่หลอดดอกตอนโคน ปลายเกสรเรียวแหลมยาวสีแดง โคน สีขาว ผล เขียวอ่อน ผลค่อนข้างกลม การขยายพันธุ์ แยกหน่อ แยกหัวที่เกาะกันอยู่ นำไปปลูกเป็นหัวเดี่ยว หรือเป็นกลุ่ม 2-3 หัวก็ได้ ประโยชน์ เป็นไม้ประดับ ใบ หัว เมล็ดและราก ใช้เป็นยา ใช้ใบพันรักษาอาการฟกช้ำ บวม เคล็ด ขัด ยอก แพลง รักษาอาการปวดศีรษะ อาการบวม และลดอาการไข้ ถิ่นกำเนิด เอเซียเขตร้อน ชอบน้ำ
อักษร ม
มหาหงส์
Hedychium coronarium J.Konig
( ZINGIBERACEAE )
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/butterfly_lilly/hedychium_02.jpg
พอเข้าป่าพาใจให้ชื่น หอมรื่นดอกดวงพวงบุปผา
สาวหยุดพุดจีบปีบจำปา กรรณิการ์มหาหงส์ชงโค
อิเหนา : พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2
ไม้ชนิดนี้เป็นพันธุ์ไม้จำพวกขิง ข่า มีเง่าหรือแง่งอยู่ในดิน แล้วมีต้นแบบกาบใบหุ้มงอกขึ้นมานับเป็นหน่อๆ สูงบ้าง ต่ำบ้าง บางทีสูงถึง 2 เมตร ก็มี แต่โดยมากก็ในราว 1 เมตร เป็นประมาณ ดอกออกที่ยอดเป็นช่อขาวบริสุทธิ์ ตัวดอกก็โตพอใช้ แต่เวลาบานไม่บานทั้งช่อ และมักทะยอยกันบาน เริ่มเวลาเย็น มีกลิ่นหอมจัดทีเดียว และชวนดมเสียด้วย จึงมีผู้คนนิยมหามาปลูกกันมาก ปลูกก็ง่าย ตามชายๆน้ำเป็นดีที่สุด แต่จะปลูกไว้ในกระถางหรือในที่แห้งๆ สักหน่อยก็ได้
พันธุ์ไม้จำพวกมหาหงส์มีหลายชนิดเหมือนกัน สีนวลก็มี แดงก็มี เหลืองอมแดงก็มี และมีกลิ่นหอมทั้งนั้น เป็นแต่ว่ามากหรือน้อยต่างกัน แต่อย่างไรก็ดี ไม่มีชนิดใดหอมแรงเท่ามหาหงส์ ถิ่นกำเนิดของมหาหงส์ อยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
เที่ยวชมมิ่งไม้ในสวน หอมหวนทุกพรรณบุปผา
การเกดแก้วแกมกรรณิการ์ กุหลาบสร้อยฟ้าอินทนิล
ชาตบุษป์พิกุลแกมประยงค์ มะลิลามหาหงส์ส่งกลิ่น
สารภีร่วงรสรวยริน กะถินนางแย้มมะลิวัน
รามเกียรติ์ : พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1
มณฑา (ยี่หุบ)
Magnolia
Talauma candollei Blume
MAGNOLIACEAE
http://www.qsbg.org/Database/Botanic_Book%20full%20option/Picture/jackth/DSC_7967.jpg
รสสุคนธ์ปนมะลิผลิดอกโต ดอกส้มโอกลิ่นกล้าน่าดม
มลิวันพันกิ่งมณฑาเทศ แก้วเกดดอกดกตกอยู่ถม
อิเหนา : พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ร.2
มณฑาเป็นไม้พุ่ม สูง 2-3 เมตร ต้นกลมเล็ก กิ่งยืดสูง ต้นอ่อนลักษณะคล้ายจะเลื้อย ใบ เดี่ยว ออกสลับ ใบใหญ่ไม่แตกสาขามาก รูปใบหอก กว้าง 8-12 ซม. ยาวประมาณ 16 ซม. โคนสอบ ปลายแหลม แผ่นใบเป็นคลื่นหรือเป็นลอน ดอก ใหญ่ สีเหลืองอ่อน กลิ่นหอมแรงตอนเช้า ออกเดี่ยวตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกรูประฆังห้อยลง กลีบเลี้ยง 3 กลีบ สีเขียวอ่อนอมเทา หนาและแข็ง เวลาบานไม่คลี่เต็มดอก กลิ่นหอมแรง ผล เป็นผลรวม ออกดอกตลอดปี การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ประโยชน์ เป็นไม้ประดับที่มีกลิ่นหอม ถิ่นกำเนิด เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชอบที่ร่มรำไร
หอมดอกไม้ใกล้กุฏิ สายหยุดมลิลา
ยี่หุบบุปผา แย้มผกากลิ่นขจร
เห่เรื่องพระอภัยมณี : สุนทรภู่
มะนาว
Lime
Citrus aurantifolia Swing.
(RUTACEAE)
http://www.thaischool1.in.th/_files_school/60102512/data/60102512_0_20200727-140837.jpg
ต้นมะม่วงมีลูกออกเลอะวุ่น เป็นขนุนนับถ้วนล้วนหนามหนา
อ้อยไปแอบต้นมะนาวยาวเกือบวา ข้างต้นหาได้ทุกอย่างพื้นต่างพรรณ
ตามเสด็จไทรโยค : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5
มะนาวเป็นไม้พุ่ม สูง 1.50- 8 ซม. ผิวเปลือกต้นเรียบเกลี้ยง กิ่งก้านอ่อนมีหนามยาว 0.3- 1 ซม. ใบ ออกเรียงสลับกัน รูปไข่ หรือเรียวยาว โคนใบกลมมีปีกแคบๆ ปลายใบแหลม ริมขอบใบหยัก ใบกว้าง 1.5-3.5 ซม. ยาว 2.5- 9 ซม. ดอกช่อ ออกดอกเป็นช่อสั้นๆ 3-7 ดอก หรือเป็นดอกเดียว ขาว กลีบดอก 4-5 กลีบเป็นรูปรียาว ปลายกลีบแหลมยาว 0.7-1.2 ซม. กว้าง 1-2 ซม. ตรงกลางดอกมีเกสรเพศผู้และเพศเมียเล็กๆ ผล กลม พื้นผิวเรียบเกลี้ยง เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-2 ซม. ผลอ่อน สีเขียวเข้ม เมื่อแก่ผลเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เนื้อในผลแยกเป็น 2 ซีก ภายในมีเมล็ดกลมรี สีเหลืองอ่อน ผลหนึ่งมีหลายเมล็ด การขยายพันธุ์ ตอนกิ่ง ประโยชน์ ใบต้มกินแก้ไอ ละลายเสมหะ แก้ท้องอืด ท้องเสีย ช่วยขับลม ผล คั้นน้ำกินแก้กระหาย แก้ร้อนใน บำรุงธาตุ ขับเสมหะ ชุ่มคอ เปลือกผลกินแก้ปวด จุก เสียด แน่นท้อง ขับลม รากต้มกินแก้ฟกช้ำ ถิ่นกำเนิด ปลูกที่เขตร้อนทั่วโลก ขึ้นได้ดีในดินร่วนซุย ไม่ชอบที่แฉหรือน้ำขัง
มะลิลา
Jasminum Sambac Ait.
(OLEACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/arabian_jasmine/jasminum_s_02.jpg
เช้าเย็นเที่ยวริมอาวาส ชมช่อบุปผชาติเกษมสันต์
เลือกเด็ดดอกดวงพวงพรรณ ซึ่งรายรอบอรัญกุฎีดง
ลำดวนสารภีมะลิลา แก้วกุหลาบจำปามหาหงส์
เบญจมาศชาติบุษป์ประยงค์ กาหลงยี่สุ่นพิกุลกาญจน์
อุณรุฑ : พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1
เป็นพวกไม้พุ่มเล็กใหญ่สุดแต่อายุ บางทีกิ่งก็อาจจะยืดตัวพันไปกับสิ่งพักพิงได้เหมือนกัน ออกดอกเป็นช่อเล็กๆ เกือบตลอดปี แต่หน้าร้อนดกกว่าฤดูอื่นๆ ดอกไม่เล็กนัก กลีบสีขาวบริสุทธิ์หรือบางทีจะเห็นมีสีม่วงปนบ้างเล็กน้อย ส่วนที่เป็นหลอดโคนกลีบนั้นสีเขียวอมเหลืองอ่อนๆ มีกลิ่นหอมเย็นระรื่น มักจะเริ่มขยายกลีบและส่งกลิ่นหอมในเวลาเย็นๆ ในเมืองไทยเราใช้มาก ทั้งกลิ่นและความงามอันบริสุทธิ์สะอาด พูดถึงการปลูกหรือขยายพันธุ์ก็ง่าย ใช้หักกิ่งสั้นๆ ปักก็เป็น และเจริญงอกงามอย่างรวดเร็วทีเดียว มะลิซ้อนก็เป็นพวกชนิดนี้เหมือนกัน แต่ทว่ามีกลีบซ้อนหนาและดอกโตกวา แต่มีกลิ่นหอมน้อยกว่ามะลิลา
มะลิเป็นพันธุ์ไม้ในท้องถิ่นของอาหรับ และอินเดีย อยู่ในวงศ์เดียวกับพุทธชาด ในปะเทศไทยนิยมปลูกกันมาก และมีหลายพันธุ์ พันธุ์ที่มีกลีบชั้นเดียวเรียก มะลิลา และพันธุ์ที่มีกลีบซ้อนยังมีอีกพันธุ์หนึ่งคือ มะลิถอด หรือ มะลิฉัตร
จึงให้สี่พี่เลี้ยงเก็บดอกไม้ ดอกมะลิปลูกไว้ในกระถาง
ใส่ขันทองรองพานคลานมาวาง พระนุชนางกรีดก้อยร้อยมาลัย
พระอภัยมณี : สุนทรภู่
มะลิซ้อน
Jasminum Sambac (L.) Ait. ‘ G.Duke of Tuscany ‘
(OLEACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/arabian_jasmine2/jasminums_02.jpg
ยี่สุ่นกุหลาบมะลิซ้อน ซ่อนชู้ชูกลิ่นถวิลหา
ลำดวนกวนใจให้ไคลคลา สายหยุดหยุดช้าแล้วยืนชม
ขุนช้างขุนแผน : รัชกาลที่ 2
เป็นไม้พุ่มเลื้อย สูง 1-2 เมตร แตกกิ่งตำใต้ผิวดินจำนวนมาก เป็นพุ่มแน่น ปลายกิ่งตั้งขึ้น กิ่งเปราะ ใบเป็นใบเดี่ยว มักมี 3 ใบต่อหนึ่งข้อ เรียงตรงข้ามร ใบรูปไข่กลับปลายใบแหลม สีเขียวเข้ม ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกช่อ 1-3 ดอก สีขาว ออกที่ปลายกิ่ง โคนกลีบดอกติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นกลีบจำนวนมาก ขอบกลีบเป็นคลื่น เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลาง 3- 4 เซนติเมตร ดอกบานอยู่ได้หลายวัน มีกลิ่นหอมตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ออกดอกตลอดปี
ขยายพันธุ์โดยปักชำ ทับกิ่ง และตอนกิ่ง ประโยชน์ใช้ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ มีดอกหอมสวยงาม
มะลิวัลย์
Jasminum adenophyllum Wall. ex C.B. Clarke
(OLEANACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/jasminuma/jasminuma_02.jpg
มะลิวันพันพุ่มคัดเค้า ฤดูดอกออกขาวทั้งราวป่า
บ้างเลื้อยเลี้ยวเกี้ยวกิ่งเหมือนชิงช้า ลมพาพัดแกว่งดังแกล้งไกว
อิเหนา : พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ร.2
มะลิวัลย์เป็นไม้เถาเลื้อย เกาะเกี่ยวสิ่งพักพิงหรือเรือนต้นไม้ ใบ เล็ก เนื้อใบบาง ปลายเรียวแหลม ฐานใบกว้าง ดอก ออกตามซอกก้านใบ ส่วนมากจะทยอยบาน ขนาดดอกและขาวคล้ายดอกมะลิลา แต่กลีบขาวเรียงเล็กกว่า กลิ่นหอมแรง ส่งกลิ่นไกล แต่ละดอกมี 7-8 กลีบ แยกจากปลายหลอดกลีบเรียวเล็ก การขยายพันธุ์ ตอนกิ่ง ปักชำเถา ประโยชน์ เป็นไม้ที่มีกลิ่นหอม รากมีรสเย็นจืด ใช้ถอนพิษทั้งปวง ถิ่นกำเนิด อินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย มีขึ้นทั่วไปตามป่าเขา ปลูกได้ในดินร่วนปนทรายผสมอินทรีย์วัตถุจำนวนมาก ชอบน้ำมาก ความชื้นสูง แสงแดดจัด
มะลุลี
Jasminum pubescens Willd.
(OLEACEAE)
https://www.bloggang.com/data/v/vinitsiri/picture/1301707119.jpg
มะลุลีหอมหื่นฟุ้ง มะลิวัน
ปรูประยงค์ก็หอมหรรษ์ หื่นห้า
หอมกลกลิ่นจอมขวัญ ขวัญพี่ พระเอย
หอมห่อนเห็นหน้าหน้า ใคร่กลั้นใจตาย
ลิลิตพระลอ
เป็นไม้เถาขนาดเล็ก ลำต้นมีสีเขียว กิ่งเปราะ ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงเป็นคู่ตรงข้าม ใบรูปไข่ปลายแหลม กว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 6-9 เซนติเมตร ใบสีเขียวเข้ม ก้านใบสั้น ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบอ่อนและยอดอ่อนมีขนนุ่ม ช่อดอกสีขาว ออกเป็นช่อแน่นที่ปลายอดหรือตามซอกใบใกล้ปลายยอด โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 6-9 กลีบ กลิ่นหอมทั้งกลางวันและกลางคืน ดอกบานพร้อมกันเกือบทั้งช่อ และบานทนอยู่ได้หลายวัน ออกดอกบานตลอดปี แต่จะมีดอกดกเต็มต้นในเดือนกุมภาพันธ์
ขยายพันธุ์โดยปักชำ ทับกิ่ง และตอนกิ่ง ชอบแดดและดินที่มีความชุ่มชื้น
โมก
Moke
Wrightia religiosa Benth. ex Kurz
(APOCYNACEAE)
https://adeq.or.th/wp-content/uploads/2019/10/25-โมก02.jpg
แล้วลดเลี้ยวเที่ยวไปบันไดอิฐ ต่างเพลินพิศเพิงผารุกขาเข้า
จิกจันทน์แจงแทงทวยกรวยกันเกรา โมกแมงเม่าไม้งอกซอกศิลา
นิราศเมืองเพชร : สุนทรภู่
โมกเป็นไม้พุ่ม สูง 2- 5 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลแก่ มีจุดสีขาวทั่วไป ใบ เดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงข้าม เป็นรูปไข่หรือเป็นรูปรี โคนและปลายแหลมหรือมน สีเขียวเป็นมัน ดอกช่อ เล็ก สีขาว โคนกลีบดอกเชื่อมกันเล็กน้อย กลีบดอก 5 กลีบ ออกดอกเป็นช่อสั้นๆ ตามปลายกิ่ง ช่อละ 5-7 ดอก กลิ่นหอมเวลาเย็นและกลางคืน ผล เป็นฝักคู่ ปลายโค้งเข้าหากัน เมื่อแก่แตกเป็น 2 ซีก เมล็ด จำนวนมาก มีขนสีขาวเป็นกระจุกที่ปลาย ออกดอกตลอดปี การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง ประโยชน์ รากใช้รักษาโรคผิวหนัง แก้พิษสัตว์กัดต่อย ใบ ใช้ขับน้ำเหลือง ดอก เป็นยาระบาย เปลือก เป็นยาเจริญอาหาร รักษาโรคไต ยางจากต้นแก้บิด มักปลูกเป็นไม้ประดับ ถิ่นกำเนิด พม่า เวียดนาม เขมร มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นพันธุ์ไม้ที่คนชอบแต่งเป็นรูปต่างๆ ชอบขึ้นในที่ชุ่มชื้น
อักษร ย
ยี่เข่ง
Crape myrtle
Lagerstroemia indica L.
(LYTHRACEAE)
สารภียี่เข่งเบญจมาศ บุนนาคการเกดลำดวนหอม
แถมนางแย้มแกมสุกรมต้นยมโดย พระพายโชยชื่นใจในไพรวัน
พระอภัยมณี : สุนทรภู่
https://www.khaosod.co.th/wpapp/uploads/2016/10/1-420.jpg
ยี่เข่งมีต้นแตกกอ แตกกิ่งก้านสาขาออกรอบๆ ต้น ผิวต้นสีเทาเกือบขาว เรียบ ลอกได้เป็นแผ่นบางๆ กิ่งก้านอ่อน มีปีกแคบๆ ดูเหมือนเป็นรูปสี่เหลี่ยม ต้นสูงประมาณ 7 เมตร ใบ เดี่ยว ออกตรงข้ามเรียงเป็นคู่ๆ ไปตามข้อต้น แต่ใบที่อยู่ตรงส่วนยอดของต้นจะออกสลับกัน ใบเป็นรูปไข่ โคนใบมน ปลายมนหรือแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบเรียบและมัน ท้องใบตรง เส้นกลางใบมีขนสั้นๆ ปกคลุมเล็กน้อย ใบกว้าง 2-4 ซม. ยาว 2.5- 7 ซม. สีเขียว ใบแทบจะไม่มีก้านใบเลย ดอกช่อ ออกเป็นช่ออยู่ที่ยอดของต้น ส่วนล่างของดอกเป็นเส้นกลมเล็กๆ ส่วนบนบานแผ่ออกเป็นกลีบกลมขอบหยิก มีรอยยับย่น 6 กลีบ สีม่วง หรือชมพู ขาว แดงแก่ แดงอ่อน แดงดำ เกสรกลางดอกปลายเป็นตุ้มสีเหลือง ดอกบานเต็มที่ประมาณ 4 ซม.ดอกเล็กกว่าดอกลั่นทมเล็กน้อย มีทั้งดอกซ้อนและดอกลา ดอกซ้อนกลิ่นหอมเย็น ผล เมื่อดอกร่วงโรยไปจะเป็นผลรูปทรงกลมยาวประมาณ 1 ซม. กว้างประมาณ 1 ซม. ออกดอกตลอดปี การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ตอนกิ่งปักชำ ประโยชน์ ใบ เป็นยาบำรุงหัวใจ ดอก ใช้ทาแก้ผดผื่นคัน แก้บิด รากและเปลือกเป็นพิษใช้ผสมยาแก้โรคผิวหนัง ถิ่นกำเนิด จีน เป็นผู้นำเข้าตอนปลายรัชกาลที่ 3 เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุย ทนแล้ง น้ำกร่อย น้ำเค็มได้
ยี่โถ
Nerium oleander L.
(APOCYNACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/rose_bay/nerium-2.jpg
เห็นทับทิมริมกระฎีดอกยี่โถ สะอื้นโอ้อาลัยจิตใจหาย
เห็นต้นชาหน้ากระไดใจเสียดาย เคยแก้อายหลายครั้งประทังจน
รำพันพิลาป : สุนทรภู่
พันธุ์ไม้พุ่มขนาดกลาง ลำต้นแตกออกมีแขนงเรียวเล็ก ใบแหลมรีรูปกระสวยยาว ดอกออกเป็นช่อเช่นกัน แต่ละดอกมีขนาดย่อมกว่าดอกลั่นทมเล็กน้อย ที่เป็นลาชั้นเดียวก็มี ที่เป็นชนิดดอกซ้อนก็มี กลิ่นหอมเย็นชวนดม มีมากสีด้วยกัน แต่ส่วนมากเป็นสีชมพูตามแต่คนเรียก พันธุ์ไม้นี้ปลูกง่าย ทนแล้ง และออกดอกเกือบตลอดทั้งปี ขยายพันธุ์ได้ง่าย ตอนกิ่งก็ได้ เมล็ดก็ได้
ถิ่นเดิมของยี่โถอยู่ในโปรตุเกส และแถบเปอร์เซีย มีผู้นำเข้ามาปลูกเป็นเวลานานมาก และเป็นที่นิยมกันโดยทั่วไป ยี่โถเป็นไม้วงศ์เดียวกับชำมะนาด กุมาริกา และโมก
ยี่สุ่น
Rosa damascena Mill.
(ROSACEAE)
http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/623/891/original_0dsc_0158.jpg
ยี่สุ่นแซมแถมกับชมพูเทศ การะเกดชุมแสงทั้งสร้อยสน
บ้างหล่นกลาดดาษกลางแผ่นดินดล เสาวคนธ์รื่นรสเรณู
ลักษณวงศ์ : สุนทรภู่
ยี่สุ่นหรือกุหลาบมอญ เป็นไม้พุ่ม สูง 1-2 เมตร ต้นและกิ่งมีหนาม ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 5-7 ใบ รูปไข่ ยาว 3-5 ซม. ดอกช่อ สีชมพูขาว แดง ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ฐานรองดอกรูปถ้วย กลีบดอกซ้อนหลายชั้น ไม่มีกลิ่นหอม เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 4-5 ซม. ผล เมื่อสุกมีสีแดง การขยายพันธุ์ ติดตา ปักชำกิ่ง และตอนกิ่ง ประโยชน์ เป็นไม้ประดับ ถิ่นกำเนิดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและจีน
อักษร ร
รสสุคนธ์
Tetracera loureiri Pierre.
(DILLENIACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/tetracera/tetracera_02.jpg
มะลิวันพันกอพฤกษาดาด เหมือนผ้าลาดขาวละออหนอน้องเอ๋ย
รสสุคนธ์ขึ้นเป็นดงอย่าหลงเลย กำลังเผยกลีบเกสรสลอนชู
เงาะป่า : พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6
ไม้เลื้อย ลำเถาใหญ่ ใบทึบ กิ่งและใบสากคาย ขอบใบจักเล็กน้อย ดอกออกเป็นช่อใหญ่ กลีบสีขาว และมีเกสรเป็นพู่สีขาวเช่นเดียวกัน ขนาดของดอกประมาณ 0.5-1 ซม. กลิ่นหอมแรงฉุนมาก หอมตั้งแต่เวลาเช้าตรู่จนตลอดถึงเย็น ดอกมีเสมอ ปีหนึ่งหลายครั้ง เป็นต้นไม้ที่ขึ้นได้งอกงามดี ทั้งในที่แจ้งและรำไร เวลาจะเอาไปปลูกใหม่จะตอน หรือจะสกัดรากก็ได้
รสสุคนธ์เป็นพันธุ์ไม้ในท้องถิ่นของเอเซียเขตร้อน อยู่ในวงศ์เดียวกับมะตาด และส้าน นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับกันทั่วไป จัดเป็นไม้เลื้อยที่เลี้ยงง่าย แต่ต้องหมั่นตัดแต่งเถา เพราะค่อนข้างโตเร็ว หากขึ้นอยู่ในดินอุดมสมบูรณ์
ราตรี
cestrum nocturnum L.
(SOLANACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/night_blooming/cestrum_02.jpg
ลมพระพายชายชื่นในคืนนี้ กลิ่นราตรีหอมระรื่นชื่นใจแสน
ดอกไม้อื่นดื่นไปในดินแดน จะเหมือนแม้นราตรีไม่มีเลย
อิเหนา : พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2
ไม้พุ่มขนาดกลางอย่างโตเต็มที่สูงประมาณ 2 เมตร ดอกออกเป็นช่อดกมาก เวลาเป็นดอกมักมีเต็มต้น ดอกแลดูเป็นดอกเล็กๆ สีเขียวอ่อน บานเวลากลางคืน ส่งกลิ่นฉุนแรงมากตลบฟุ้งไปทั่วทั้งบริเวณ บางทีถ้าได้สูดกลิ่นหรือดมอยู่ใกล้ๆ เสมอ อาจทำให้วิงเวียนมึนเมาได้ ฉะนั้นจึงเหมาะที่จะปลูกไว้ไกลจากที่พักพอประมาณ การปลูกใช้กิ่งปักเป็นดีกว่าอย่างอื่น
ราตรีมีถิ่นเดิมอยู่ในแถบหมู่เกาะ West Indies เป็นพันธุ์ไม้วงศ์เดียวกับพริก มะเขือ ยาสูบ และลำโพง
รัก
Crown Flower, Giant lndian Milk
weed, Gigantic Swallow-wort
Calotropis gigantea (Linn.) R.Br.exAit.
(ASCLEPIADACEAE)
https://www.scimath.org/images/stories/flexicontent/item_8627_field_65/l_2018-09-03_02.09.25.JPG
เห็นต้นรักหักโค่นโคนสะบัด เป็นรอยตัดรักขาดให้หวาดไหว
เหมือนตัดรักตัดสวาทขาดอาลัย ด้วยเห็นใจเจ้าเสียแล้วนะแก้วตา
นิราศพระประธม : สุนทรภู่
ลักษณะทั่วไป ไม้พุ่ม ขนาดเล็ก สูง 1.5-3 ม. ทุกส่วนมีน้ำยาง ขาวเหมือนน้ำนม ตามกิ่งมีขน ใบ ใบเดี่ยวออกตรงข้าม รูปรี แกมขอบขนาน ปลายแหลม โคนเว้า กว้าง 6-8 ซม. ยาว 10-14 ซม เนื้อใบหนาใต้ใบมีขนนุ่ม ก้านสั้น ดอก สีขาวหรือสีม่วง ออกเป็นช่อตามซอกใบหรือปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 5 กลีบสีเทาเงิน หรือสีม่วง กลีบดอก 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน เมื่อเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 ซม. มีรยางค์เป็นสันคล้ายมงกุฎ 5 เส้น เกสรตัวผู้ 5 อัน ผล เป็นฝักคู่ กว้าง 3-4 ซม. ยาว 6-8 ซม. เมื่อแก่แตกได้ เมล็ดแบนสีน้ำตาลจำนวนมาก มีขนสีขาวเป็นกระจุกอยู่ที่ปลายด้านหนึ่ง ถิ่นกำเนิดอยู่ใน เอเชียกลาง อินเดีย ออกดอก ตลอดปี ขยายพันธุ์ โดยใช้เมล็ด ปักชำกิ่ง
ประโยชน์ เปลือกราก รักษาบิด ทำให้อาเจียน ขับเหงื่อ ยาง มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง ถ้าถูกผิวหนังทำให้ระคายเคือง สาระสำคัญ ยางสีขาว มีสารพวก bitter principle เช่น calotropin ฯลฯ ดอกใช้ทำดอกไม้ประดิษฐ์
รำเพย
Thevetia peruviana Schum.
(APOCYNACEAE)
https://www.opsmoac.go.th/data/knowledge/l/631000000008.jpg
รวยรินกลิ่นรำเพย คิดพี่เคยเชยกลิ่นปราง
นั่งแนบแอบเอวบาง ห่อนแหห่างว่างเว้นวัน
บทเห่เรือ : เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
รำเพยเป็นไม้พุ่ม สูง 2-3 เมตร ทรงพุ่มโปร่ง ต้นมียางขาวข้น ยางเป็นพิษ ใบ เดี่ยว เรียวยาว ดอกช่อ ออกดอกเป็นช่อที่ซอกใบปลายกิ่งช่อละ 3-8 ดอก ดอกมีลักษณะเป็นหลอด ปลายกลีบแยกจากกันคล้ายรูประฆัง มีหลายสี เช่น สีขาว เหลือง ส้ม ผล เป็นรูปสี่เหลี่ยม สีเขียว เมื่อแก่จัดเป็นสีดำ เมล็ด มี 1-2 เมล็ด ออกช่วงฤดูฝนถึงฤดูหนาว ออกดอกตลอดปี การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด และตอนกิ่ง ประโยชน์ เป็นไม้ประดับ ถิ่นกำเนิด จากอเมริกาเขตใต้
อักษร ล
ลดาวัลย์
Porana volubilis Burm.f.
(CONVOLVULACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/snow_vine/porana_02.jpg
ปริงปรางลางต้นผลดก คณานกจับจิกเป็นภักษา
ลดาวัลย์พันพุ่มอัมพา สาวหยุดย้อยระย้ายมโดย
อิเหนา :พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2
ลดาวัลย์พันธุ์นี้เป็นพันธุ์ไม้เลื้อยที่ให้ดอกในฤดูหนาว นิยมปลูกเป็นซุ้มหรือตามรั้วกันมาก ดอกออกเป็นพวงเป็นช่อพรู ดอกเล็กสีขาว มีเขียวอมเหลืองอ่อนๆ แซมบ้างเล็กน้อย ดูงามมาก มักเริ่มบานเวลาเช้าและส่งกลิ่นหอมเย็นๆ ไปชั่วขณะประมาณครึ่งวันเห็นจะได้ ปลูกเป็นง่าย ตัดกิ่งชำ ทับกิ่ง หรือตัดรากชำเอาก็ได้เป็นง่ายทั้งนั้น
ถิ่นเดิมของลดาวัลย์อยู่ในเอเชียเขตร้อน เป็นพันธุ์ไม้วงศ์เดียวกับผักบุ้ง ดอกแส และมอร์นิ่งกลอรี่
ลั่นทม
Plumeria spp.
(APOCYNACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/frangipani/plumeria_02.jpg
เดินพลางทางชมพรรณไม้ พฤกษาใหญ่เรียบเรียงรื่นร่ม
ริมทางหว่างเขาล้วนลั่นทม ต้องลมดอกดวงร่วงเรี่ยทาง
อิเหนา : พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2
ไม้ต้นขนาดกลาง เนื้อไม้อ่อน แตกกิ่งก้านเป็นแฉก เป็นง่าม ทำให้แลเห็นว่าทรงพุ่มใหญ่โต มียางขาวเหนียว เป็นพันธุ์ไม้สลัดใบในฤดูแล้งก่อนที่จะผลิดอกและผลิใบรุ่นใหม่ ทั้งต้นและกิ่งนั้นก็อวบน้ำ ฉะนั้นจึงสามารถขึ้นได้ในที่แห้งแล้งเป็นอย่างดี ใบโต ดอกออกเป็นช่อ ขนาดของดอกก็โตพอใช้ มีหลายสีด้วยกัน อาจจำแนกและเรียกได้ว่าจำพวกสีนั้น สีนี้ตามถนัด ส่วนกลิ่นนั้นหอมแรงมากน้อยตามชนิด ลั่นทมปลูกง่าย ตัดกิ่งชำเอาโดยเฉพาะในระยะเวลาที่กิ่งสลัดใบแล้ว รากงอกเกิดเป็นต้นใหม่เร็วมาก แต่จะใช้เมล็ดเพาะก็ได้
ถิ่นเดิมอยู่ในอเมริกาเขตร้อน เป็นพันธุ์ไม้วงศ์เดียวกับยี่โถและโมก ชนิดที่นิยมปลูกกันมานาน มีทั้งดอกสีขาวปลายกลีบมน ใจกลางดอกสีเหลือง ทางภาคใต้เรียก ดอกไม้ขอม เป็นดอกไม้บูชาครู หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทางอีสานเรียก จำปาลาว ส่วนชื่อลั่นทมนั้นเรียกกันในภาคกลาง ต่อมามีผู้นำเข้าพันธุ์อื่นๆที่มีสีสรร รูปทรงดอก และกลีบดอก ตลอดจนช่อดอกต่างๆ กันอีกมากมายเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับ
มะลิวันพันกิ่งมณฑาเทศ แก้วเกตุดอกดกตกอยู่ถม
บนเนินเขาล้วนเหล่าลั่นทม ดอกสุกรมยมโดยโชยรส
อิเหนา : พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2
** ลั่นทม มีชื่อเรียกใหม่ว่า ” ลีลาวดี” **
ลำดวน
Melodorum fruticosum Lour.
(ANNONACEAE)
http://www.qsbg.org/Database/Botanic_Book%20full%20option/Picture/jackth/18%20ลำดวน.jpg
ลำดวนหวนหอมตระหลบ กลิ่นอายอบสบนาสา
นึกถวิลกลิ่นบุหงา รำไปเจ้าเศร้าถึงนาง
กาพย์เห่เรือ : พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
เป็นต้นไม้โตเต็มที่ไม่เกิน 5 เมตร ทรงต้นเป็นพุ่ม ดอกสีเหลืองนวลคล้ายดอกนมแมว แต่ทรงสวยกว่าและกลีบมนกว่า กลีบชั้นนอกแบนแผ่เต็มที่ แต่ชั้นในหุ้มเข้าหากันหมด หอมเวลาเย็นและเวลากลางคืน กลิ่นหอมเย็นๆ รื่นระรวยตลอดเวลา
ลำดวนเป็นไม้ท้องถิ่นของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบมากทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดศรีสะเกษ มีต้นลำดวนเหลืออยู่ค่อนข้างมาก จนมีการจัดเทศกาลดอกลำดวนในช่วงเดือน กุมภาพันธ์-พฤษภาคม ลำดวนเป็นพันธุ์ไม้วงศ์เดียวกับนมแมว สายหยุด และการะเวก พันธุ์ไม้ในวงศ์นี้มีอีกหลายชนิดที่ดอกมีกลิ่นหอม
ลำดวนเจ้าเคยร้อย กรองเป็นสร้อยลำดวนถวาย
เรียมชมดมสบาย พี่เอาสร้อยห้อยคอนาง
นิราศธารโศก : พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
เล็บมือนาง
Quisqualis indica L.
(COMBRETACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/quisqualis/quisqualis_01.jpg
เล็บมือนางกางกลีบกระทัดรัด เหมือนมือเจ้าปรนนิบัติพัดวีผัว
บานเย็นบานสะพรั่งฝั่งสระบัว เหมือนเย็นเช้าเย้ายั่วอยู่กับน้อง
ขุนช้างขุนแผน : สุนทรภู่
ไม้ชนิดนี้เป็นไม้เถาขึ้นงาม มีอยู่ทั่วๆไป เวลาเอามาปลูกประดับไว้แยกจากรากเอามาได้เป็นอย่างดี ใบค่อนข้างโต สีเขียวอมเหลืองจนกระทั่งถึงเขียวแก่ ดอกออกเป็นช่อกลุ่มโตๆ มีกลีบยาวเป็นปากแตร สีชาพูอ่อนๆ มีกลิ่นหอมเริ่มในเวลาเย็น แล้วส่งกลิ่นไปตลอดทั้งคืนทั้งวัน เสียอย่างเดียวชอบมีตัวบุ้ง ตัวหนอนมากินใบ
ดอกเล็บมือนางบานใหม่สีขาวหรือขาวอมชมพู วันต่อๆมา สีจะเข้มขึ้นจนเป็นสีแดงเมื่อใกล้โรย ดังนั้นในแต่ละช่อจึงมีดอกสีอ่อนแก่คละกันไปสวยงามมาก มีทั้งชนิดกลีบไม่ซ้อนและซ้อน แต่ที่เป็นของป่าดอกในช่อมักจะไม่แน่นเหมือนพันธุ์ปลูก ออกดอกดกในช่วงฤดูร้อน เล็บมือนางมีถิ่นกำเนินในเอเซียเขตร้อน อยู่ในวงศ์เดียวกับสะแก สมอ และหูกวาง ทุกส่วนมีคุณสมบัติเป็นสมุนไพร ใช้เป็นยาขับพยาธิ ยาเกี่ยวกับโรคท้องเสีย ท้องผูก และใช้ทาแผล
เห็นเล็บมือนางเหมือนอย่างเล็บน้อง พี่ประคองเนื้อนวลเจ้าข่วนพี่
เห็นโศกสาขาริมวารี เหมือนทรงโศกโศกีระกำใจ
อิเหนา : พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2
อักษร ศ
โศกน้ำ (โศก อโศก อโศกน้ำ ส้มสุก ชุมแสงน้ำ)
Asoka, Jonesia Asoka, Sorrowless Tree
Saraca indica L.
(Leguminosae-Caesalpinioideae)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/asoka_tree/saraca_02.jpg
เห็นโศกใหญ่ใกล้น้ำระกำแฝง ทั้งรักแซมสวาดประหลาดเหลือ
เหมือนสกพี่มี่ระกำก็ช้ำเจือ เพราะรักเรื้อแรมสวาทมาคลาดคลาย
นิราศภูเขาทอง : สุนทรภู่
โศกน้ำเป็นไม้ต้น สูง 15-24 เมตร เรือนยอดรูปทรงกระบอกหรือกลมทึบ ไม่ผลัดใบ ปลายกิ่งห้อยย้อยลง เปลือกสีดำเรียบ ใบประกอบแบบขนนก ปลายคู่ใบคู่ล่างปีกเล็กกว่าคู่อื่น แผ่นใบรูปไข่แกมรูปรีหรือรูปหอก ปลายแหลมหรือมน โคนกลมรูปหัวใจหรือสอบเป็นรูปลิ่ม ขอบเรียบผิวเกลี้ยง ใบแห้งเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ก้านใบสั้น ดอกสีเหลืองแสด กลิ่นหอม ออกดอกเดือนมกราคม-เมษายน ผลเป็นฝักแบน รูปขอบขนานมีจงอย ที่ปลายโคนมนกลม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด ชอบดินร่วนมีการระบายน้ำดี และมีความอุดมสมบูรณ์สูง ปลูกเป็นไม้ประดับ เป็นสมุนไพรช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ริดสีดวง
อักษร ส
สายหยุด
Desmos chinensis L.
(ANNONACEAE)
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/fragrant/desmos/desmos_02.jpg
สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง ยามสาย
สายบ่หยุดเสน่ห์หาย ห่างเศร้า
ลิลิตตะเลงพ่าย : กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
สายหยุดเป็นไม้เลื้อยขึ้นเป็นซุ้มใหญ่ ดอกสีเหลืองๆ มีลักษณะคล้ายกับดอกกระดังงาไทย แต่กลีบแข็งกว่า เล็กกว่า และกลีบกางโค้งคล้ายก้ามปู ส่งกลิ่นหอมแต่เช้าตรู่และจะค่อยๆ ลดน้อยลงเรื่อยๆ จนหมดกลิ่นในตอนเที่ยงวัน
สายหยุดมีถิ่นกำเนิดในเอเซีย อยู่ในวงศ์เดียวกับกระดังงา การะเวก นมแมว และลำดวน ในวรรณคดีบางครั้งใช้ชื่อ สาวหยุด พันธุ์ไม้ชนิดนี้มีใบดก ใบอ่อนสีนวลอมเขียวหรืออมแดง ใบแก่สีเขียวเข้ม ผิวใบค่อนข้างมัน ขอบเป็นคลื่นเล็กน้อย ดอกออกตามซอกใบและห้อยลง ดอกบานใหม่สีเขียวอมเหลือง วันต่อมาเป็นสีเหลืองทองจนถึงสีเหลืองอมน้ำตาล กลีบผอมยาว บิดเล็กน้อย ดอกออกตลอดปี ปลูกเลี้ยงค่อนข้างง่าย ขยายพันธุ์โดยใช้กิ่งตอน หรือเพาะจากเมล็ด
สายหยุดก็หยุดกลิ่น เพราะถวิลละอายใจ
เกรงกลิ่นพระทรามวัย วรรัตนะกานดา
สายหยุดจะหยุดไย อรไทยบ่อได้มา
จักหอมพยอมกา นนบ้างก็ช่างมัน
พระนลคำฉันท์ : พระนิพนธ์กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์
สารภี
Mammea siamensis Kosterm.
(Clusiaceae)
http://srdi.yru.ac.th/bcqy/backend/web/file-uploads/oCjgYdA-U68RLsV1uB0FOk/6a5c59b7acb1352e3fcdeef57b2c5d1b.png
โอ้บุปผาสารภีส่าหรีรื่น เป็นที่ชื่นเชยถนอมด้วยหอมหวน
เห็นมาลาอาลัยใจรัญจวน เหมือนจะชวนเชษฐาน้ำตากระเด็น
นิราศวัดเจ้าฟ้า…สุนทรภู่
สารภีเป็นต้นไม้ใหญ่มียางสีเหลืองๆ ทรงพุ่มใหญ่โต ใบเป็นมันและดกมาก ดอกออกเป็นฤดูๆ ในราวเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ ดอกสีเหลืองสวย ขนาดประมาณ 1 ซม. กลีบขาว เกสรเหลือง กลิ่นหอมร้อนๆ ชาวสวนมักเอามาเคี่ยวกับน้ำมัน เพื่อทำน้ำมันสำหรับใส่ผม การปลูกใช้เพาะเอาจากเมล็ด และต้องปลูกในที่แจ้งและใกล้น้ำ
สารภีเป็นพันธุ์ไม้วงศ์เดียวกับบุนนาค มีถิ่นกำเนิดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้ให้ร่มเงาที่ดีมาก เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง ดอกเป็นสมุนไพร
สารภีพิกุลดอกดก บานตกเต็มไปทั้งใต้ต้น
มะลิซ้อนซ่อนกลิ่นรสสุคนธ์ หอมระคนกับบุหงารำไป
อิเหนา…พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2
สัก
Tectona grandis L.f.
(LABIATAE)
https://rspg-kalasin.com/assets/images/plants/372_ต้นสัก.jpeg
ตะขบตะเคียนคูนแค สมอมีแสมม่วงโมก
ทรากทรึกโศกสนสัก รวกโรครักรังรง
ลิลิตตะเลงพ่าย : สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
สักเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 50 เมตร ผลัดใบในฤดูร้อน ต้นเปลา ตรง มีพูพอนเล็กๆ ตามยาวของต้น เปลือกสีน้ำตาลปนเทา ใบ เดี่ยว ติดตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ขนาดใหญ่ รูปรี กว้าง ดอกช่อ เล็ก สีขาวนวล ออกรวมเป็นช่อขนาดใหญ่ตามปลายกิ่งหรือง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ออกเป็นผลเดือน มิถุนายน- ตุลาคม เป็นผลแห้ง ค่อนข้างกลม เปลือกแข็ง เมล็ด มี 1-3 เมล็ด ออกดอกเดือน มิถุนายน- ตุลาคม การขยายพันธุ์ นำเมล็ดที่ผ่านกรรมวิธีเร่งความงอก เพาะในแปลงเพาะชำ แล้วนำเหง้า 1-2 ปีไปปลูก ประโยชน์ เป็นไม้ที่มีค่ามาก ทนทาน สวยงาม ใช้ก่อสร้างบ้านเรือน ต่อเรือ ทำเครื่องแกะสลัก เนื้อไม้และใบไม้ทำยาแก้เบาหวาน เปลือกใช้เข้ายาคุมธาตุ ใบอ่อนให้สีแดง ใช้ย้อมผ้าและกระดาษ สักเป็นไม้ถิ่นเดิมของไทย และพม่า มีมากตามป่าเบญจพรรณภาคเหนือและมีเป็นหย่อมๆ ทางภาคตะวันตก
สุพรรณิการ์ ฝ้ายคำ
Yellow Silk Cotton
Cochlospermum regium ( Mart.&Schrank) Pilg.
[Bixaceae (Cochlospermaceae)]
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/images/resource/ornament/yellow_silk/cochlospermum_04.jpg
………………… ต้นนางแย้มแกมดองดึง
สุพรรณิกา กระทึง ดอกราชพฤกษ์ซึกไทรไตร ฯ
กาพย์ห่อโคลง ” นิราศธารทองแดง” : เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ “เจ้าฟ้ากุ้ง”
สุพรรณิการ์เป็นไม้ต้นผลัดใบ สูง 5-10 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา ใบ เดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปฝ่ามือ มี 5 แฉก ปลายแฉกแหลม โคนเว้า ขอบเป็นคลื่น ดอก สีเหลือง ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ทยอยบาน เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-8 เซนติเมตร ผล รูปไข่กลับ กว้าง 2.5-3 เซนติเมตร ยาว 5-7 เซนติเมตร แตกเป็น 3-5 ซีก เมื่อแห้ง เมล็ด สีน้ำตาลมีปุยคล้ายฝ้ายหุ้ม
ถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ มีทั้งชนิดดอกซ้อนและดอกไม่ซ้อน ออกดอก ธันวาคม – กุมภาพันธ์ ก่อนออกดอกทิ้งใบ ขยายพันธุ์โดยเมล็ดและปักชำ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ
อักษร อ
อบเชย
Cinnamomum iners Reinw. ex Blume
(LAURACEAE)
http://ecoforest.phsmun.go.th/wp-content/uploads/2019/04/อบเชย2.jpg
อบเชยเผยกลิ่นกลั้วสุกรม วันนี้ได้เชยชมสมสุขพี่
สาวหยุดกุหลาบอาบอวลดี ขอหยุดชมจูบทีเถิดสาวน้อย
ขุนช้างขุนแผน : พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ร.2
อบเชยเป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง 4-10 เมตร เปลือกต้นและใบมีกลิ่นหอม ใบ เดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปวงรี หรือวงรีแกมขอบขนาน ใบแข็ง หนา กว้าง 3-6 ซม.ยาว 7-13 ซม. มีเส้นหลัก 3 เส้น ดอกช่อ ออกเป็นช่อที่ซอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีขนาดเล็ก สีเหลืองอ่อน ผลสด การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ประโยชน์ รากเป็นยาลดไข้หลังผ่าตัด ต้นเป็นยาถ่าย น้ำยางจากใบใช้ทาแผลถอนพิษของยางน่อง เมล็ดทุบให้แตกแล้วผสมกับน้ำผึ้ง รับประทานแก้บิดและแก้ไอ เปลือกปรุงเป็นยาหอมและยานัตถุ์ ช่วยให้สดชื่น แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง แก้บิด ไข้สันนิบาต ถิ่นกำเนิด พม่า และภูมิภาคมาเลเซีย พบทั่วไปตามชายป่า
อัญชัน
Clitoria ternatea L.
(LEGUMINOSAE – PAPILIONOIDEAE)
https://67aa0ba0-a-0812bdd2-s-sites.googlegroups.com/a/ksv.ac.th/ngan-swn-phvkssastr-khths/thabeiyn-phrrn-mi/68/
มะลิวัลย์อัญชันช่อ ทุกก้านกอสรล่มสรลอน
ชงโคยี่โถขจร รสรื่นรรวยรมย์
สรรพสิทธิ์คำฉันท์ : สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
อัญชันเป็นไม้เถา ต้นมีขนนุ่ม ใบ เป็นช่อยาว มีใบย่อยเป็นรูปไข่ ใบประกอบแบบขนนก ออกสลับ ดอก คล้ายดอกถั่ว สีครามแก่ ขาวและม่วงอ่อน กลีบคลุม รูปกลม ปลายเว้าเป็นรูปอ่าง ตรงกลางมีสีเหลือง ผล เป็นฝักแบน กว้างประมาณ 2 ซม. ยาวประมาณ 8 ซม. เมล็ดจำนวนมาก ออกดอกเกือบตลอดปี การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ ดอกนำมาคั้นได้น้ำสีฟ้าใช้เป็นสีผสมอาหารและขนม น้ำคั้นจากดอกใช้ทาผมและคิ้วให้ดก ใช้ทดสอบความเป็นกรดเป็นด่าง เมล็ดใช้เบื่อหนู ถิ่นกำเนิดในอินเดีย ปลูกได้ในเขตร้อน
อังกาบ
(ก้านชั่ง, คันชั่ง, ทองระอา, อังกาบเมือง, อังกาบก้านพลู )
Philippine Violet
Barleria cristata L.
(ACANTHACEAE)
http://ecoforest.phsmun.go.th/wp-content/uploads/2019/04/อังกาบ4-2.jpg
ประดู่ลำดวนยมโดย ลมโชยกลิ่นชวนหอมหวาน
นางแย้มสายหยุดพุดตาล อังกาบชูก้านกระดังงา
รามเกียรติ์…พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1
อังกาบมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย เป็นพรรณไม้พุ่มเตี้ย มีลำต้นเป็นข้อ สูงประมาณ 3 ฟุต ใบเป็นรูปหอก โคนและปลายเรียวแหลม ขนาดกว้างประมาณ 4 ซม. ยาวประมาณ 10 ซม. ดอกออกเป็นกระจุก ดอกมีลักษณะเป็นรูปทรงกรวย หรือรูปแตร มีหลายสี เช่น สีม่วง สีม่วงอมชมพู สีม่วงอ่อนสลับม่วงแก่ สีขาว และสีเหลืองอังกาบเป็นไม้ที่ชอบแสงปานกลาง ควรปลูกในดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย ความชื้นปานกลางถึงสูง การขยายพันธุ์ใช้การปักชำกิ่ง
ดอกอังกาบสีเหลือง-ขาว ตากแห้ง นำมาต้มเป็นยาสมุนไพร ขับเสมหะ และเป็นยาบำรุงธาตุ
ขอขอบคุณ
- http://rspg.thaigov.net
- http://web.cpss.ac.th
- http://www2.srp.ac.th
- http://th.wikipedia.org
- http://www.dnp.go.th
- http://www.runnercorner.com
- http://dev.uru.ac.th/Botanical/
- http://www.wangtakrai.com
- http://www.forest.go.th
- http://classroom.psu.ac.th
- http://www.qsbg.org
- http://www.panmai.com
- http://www.nitipat.net
- http://chm-thai.onep.go.th
- http://manager.co.th
- http://www.sarakadee.com
- สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉบับเสริมการเรียนรู้ เล่ม 1
ผู้จัดทำ
นางสาวสมร นวังคสัตถุศาสน์ เรียนอยู ม.6/5 โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัยค่ะ
e-mail : smornn@yahoo.cam