supatkul Avatar

สร้างโดย : สุพัฒน์กุล ภัคโชค
สร้างเมื่อ จันทร์, 15/09/2551 – 11:05

วันมาตรฐานโลก (World Standards Day) วันที่ 14 ตุลาคม

“มาตรฐานเป็นสิ่งที่สำคัญ และในอนาคตจะมีความสำคัญมากขึ้น”

     วันที่ 14 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันมาตรฐานโลก” เป็นวันที่ระลึกถึง การก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศ ว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization – ISO) ซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้น ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2490 โดยมีผู้แทนจาก 25 ประเทศ มาร่วมกันประชุม ณ กรุงลอนดอน ปัจจุบัน ISO มีสมาชิกทั้งสิ้น 124 ประเทศ และหนึ่งในนั้น ก็มีประเทศไทยรวมอยู่

     วันที่ 14 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญวันหนึ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นวัน “มาตรฐานโลก” ปัจจุบัน เรื่องของการมาตรฐานได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทั้งในด้านอุตสาหกรรม ธุรกิจ เศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศทั่วโลก วันมาตรฐานโลก เป็นวันที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการแสดงความชื่นชมยินดีและร่วมระลึกถึง ความร่วมมือร่วมใจกันของบรรดาผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ทั่วโลกที่ได้มาร่วมกำหนดมาตรฐานสากล (International Standards) ผ่านองค์การระหว่างประเทศที่มีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานที่สำคัญ 3 องค์กร คือ องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization – ISO) คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยสาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์ (International Electrotechnical Commission – IEC) และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union – ITU) เพื่อให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกนำไปใช้อย่างเสรี โดยทั้ง 3 องค์กรต่างก็มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการ ดังนี้

     1. ประสานงานระหว่างประเทศด้านการมาตรฐาน
     2. ทำให้มีการใช้มาตรฐานอุตสาหกรรม อย่างสอดคล้องกัน
     3. ส่งเสริมมาตรฐาน และกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ
     4. พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ
     5. ปรับปรุงคุณภาพสินค้าและบริการให้ดีขึ้น
     6. ส่งเสริมในการคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภค 

     ในการกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศแต่ละเรื่องนั้น อาศัยหลักฉันทามติของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ในรูปของเอกสารข้อกำหนดทางวิชาการ ที่สามารถปรับปรุงหรือกำหนดใหม่เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ เทคโนโลยี และความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการกำหนดมาตรฐานจึงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่หลายคนคิด เพราะจะต้องมีการหารือ การโต้แย้ง การต่อรอง เพื่อนำไปสู่ความเห็นพ้องต้องกัน แต่ท้ายที่สุดข้อตกลงที่เกิดจากฉันทามตินี้เอง ที่กลายเป็นความตกลงระหว่างประเทศในด้านวิชาการที่อยู่ในมาตรฐาน ISO, IEC และ ITU

     ในวันมาตรฐานโลกของทุกปีนั้น ทั้ง 3 องค์กร ได้ให้แนวทางแก่ประเทศสมาชิก เพื่อร่วมรณรงค์ สร้างความตระหนัก ถึงความสำคัญของการมาตรฐาน โดยเนื้อหารณรงค์ในแต่ละปี จะเปลี่ยนไป แต่ยังคงไว้ซึ่งแนวทาง ในการพัฒนางานด้านการมาตรฐานของโลก เช่นในปี 2002 หรือ ปี พ.ศ.2545 กำหนดหัวข้อเรื่อง “มาตรฐานเดียว ทดสอบครั้งเดียว ยอมรับได้ทั่วโลก” (One Standard, One test, Accepted everywhere)  

มาตรฐานคู่กับการทดสอบ : การยอมรับทั่วโลก

ทั้งนี้เนื่องจาก มาตรฐาน (standards) และการทดสอบ (tests) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กัน และเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาตลาดการค้าโลก มาตรฐาน เป็นสิ่งที่กำหนดคุณลักษณะที่เราต้องการในตัวผลิตภัณฑ์ บริการ ระบบงาน กระบวนการ และวัสดุที่ใช้ ส่วน การทดสอบ นั้น เป็นสิ่งที่ช่วยพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์ หรือบริการ เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ ดังนั้นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในระดับสากล จึงมีส่วนช่วยส่งเสริมและพัฒนาตลาดการค้าโลก ให้เป็นตลาดสำหรับสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเป็นตลาดที่อยู่ได้ด้วยความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

     “มาตรฐาน” เป็นภาษาทางวิชาการ ที่ธุรกิจทั่วโลกใช้ในการผลิตสินค้า สร้างการบริการ และสร้างระบบที่มีคุณภาพเดียวกันได้ ถึงแม้ว่าวัตถุประสงค์ในการกำหนดมาตรฐานบางเรื่องจะแตกต่างกัน เช่น ต้องการให้สินค้ามีความปลอดภัย มีสมรรถนะที่ดี หรือวัตถุประสงค์อื่นที่ต้องการ แต่วัตถุประสงค์ที่เป็นหัวใจสำคัญของมาตรฐานก็คือ เป็นสิ่งพื้นฐานทางเทคโนโลยีของการผลิตสินค้า บริการ และระบบ ที่สามารถนำไปใช้ได้ทุกหนแห่ง

บทบาทด้านการมาตรฐานระหว่างประเทศของ สมอ.

  • สมอ. กับ ISO
         ISO เป็นองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศในสาขาต่าง ๆ ยกเว้น ไฟฟ้า โทรคมนาคม และ อาหาร ให้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและเศรษฐกิจ โดยมุ่งหวังให้การค้าระหว่างประเทศขยายตัวขึ้น คุณภาพสินค้าและบริการได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น การดำเนินกิจกรรมของ ISO ไม่ได้กำหนดมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ เช่น มาตรฐานระบบการจัดการต่าง ๆ มาตรฐานเกี่ยวกับการรับรองระบบงาน ปัจจุบัน ISO มีสมาชิกทั่วโลก 143 ประเทศ สำหรับประเทศไทย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะสถาบันมาตรฐานแห่งชาติได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกประเภท Member Body ของ ISO ในการเข้าร่วม สมอ. มีบทบาทในการดำเนินงาน ดังนี้
         ด้านการบริหาร
         1. เข้าร่วมประชุมสมัชชาทั่วไป (General Assembly) เป็นการประชุมของมวลสมาชิกทั้งหมด เพื่อพิจารณาการบริหาร และวางนโยบายปฏิบติงานของ ISO
         2. เป็นสมาชิกคณะมนตรี ISO ซึ่งเป็นองค์กรบริหารระดับสูงของ ISO โดยจะเป็นผู้กำหนดนโยบายโครงสร้างของ ISO อนุมัติการกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ แต่งตั้งสมาชิกคณะกรรมการบริหาร กรรมการวิชาการ ตลอดจนแต่งตั้งประธานคณะกรรมการวิชาการ และประธานคณะกรรมการบริหารต่างๆ
         ด้านวิชาการ
         ร่วมพิจารณาออกเสียงและเสนอข้อคิดเห็นในการร่างมาตรฐานระหว่างประเทศ และพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในการจัดพิมพ์ ประกาศใช้ ทบทวน ยกเลิก และเพิกถอนมาตรฐานระหว่างประเทศ ตลอดจนคำอุทธรณ์ของสมาชิกในเรื่องปัญหาทางวิชาการ
  • สมอ. กับ IEC
         IEC เป็นองค์กรอิสระก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2449 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำมาตรฐานระหว่างประเทศทางด้านไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังดำเนินการจัดทำระบบการตรวจประเมินเพื่อการรับรองคุณภาพให้กับมาตรฐานของ IEC
         ประเทศไทย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะสถาบันมาตรฐานแห่งชาติ ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกประเภท Full Member ของ IEC ตั้งแต่ พ.ศ. 2534 โดยมีคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยมาตฐานระหว่างประเทศสาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์ ซึ่งแต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี เป็นคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเข้าร่วมกิจกรรมกับ IEC ในการเข้าร่วม สมอ. มีบทบาทในการร่วมกำหนดมาตรฐานสาขาไฟฟ้าและอิเล็กทรอเทคนิกส์ และร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมของไทย โดยในการเข้าร่วมกำหนดมาตรฐาน IEC สมอ. เป็นสมาชิกในคณะกรรมการวิชาการ และคณะอนุกรรมการวิชาการต่างๆ รวม 83 คณะ
         – สมาชิกประเภทร่วมทำงาน (P-member) 28 คณะ
         – สมาชิกประเภทสังเกตการณ์ (O-member) 55 คณะ
  • สมอ. กับ ITU
         สำหรับ ITU ซึ่งเป็นสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ มีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานด้านโทรคมนาคม โดยทั้ง ISO, IEC และ ITU ได้ร่วมมือกัน เพื่อสร้างระบบของการมาตรฐานให้มีความแข็งแกร่งและส่งเสริมงานด้านการมาตรฐานระหว่างประเทศ ให้เกิดความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยใช้หลักความเห็นพ้องต้องกัน (consencus) และใช้ชื่อองค์กรว่า “World Standards Corperation” (WSC)

การตรวจประเมินเพื่อการรับรอง

ในการค้าของโลกปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ดำเนินไปตามระบบการค้าเสรีขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization – WTO) เพื่อผลักดันการค้าของโลกให้มีความเป็นธรรม ตลอดจนเป็นกลไกในการแก้ไขข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ จากการค้าที่เน้นภาษีศุลกากร มาสู่การค้าประเภทอื่น ๆ ที่มิใช่ภาษีศุลกากร (Non – Tariff Barrier) มากขึ้น โดยหันมาให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาทางด้านคุณภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Agreement on Technical Barrier to Trade) หรือ TBT และความตกลงว่าด้วยมาตรการด้านสุขอนามัย และสุขอนามัยพืช (Agreement on the application of sanitary and phytosanitary measures) หรือความตกลง SPS จากการยอมรับในความสำคัญของการมาตรฐานระหว่างประเทศ ที่จะใช้เป็นพื้นฐานทางวิชาการสำหรับตลาดโลก จึงมีการรณรงค์ให้รัฐบาลของแต่ละประเทศ จัดโครงสร้างองค์กรต่าง ๆ ในการ “ตรวจประเมินเพื่อการรับรอง” (Conformity Assessment) เพื่อให้ประเทศสมาชิกใช้เป็นหลักประกันคุณภาพของประเทศ (Quality Assurance) ให้เป็นที่น่าเชื่อถือ และสอดคล้องกัน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในด้านการค้าระหว่างประเทศ และนำไปสู่การทำความตกลงยอมรับร่วม (Mutual Recognition Agreement – MRA) ซึ่งจะทำให้เกิดการยอมรับร่วมกันในผลการรับรอง ผลการตรวจสอบและผลการทดสอบซึ่งกันและกันของประเทศคู่ค้า องค์การระหว่างประเทศทั้ง 3 จึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้การค้าโลกบรรลุเป้าหมาย ในอันที่จะสร้างความเชื่อมั่นระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายสินค้า ว่าจะเป็นไปอย่างยุติธรรม เพราะการตรวจประเมินเพื่อการรับรองจะเป็นสิ่งยืนยันถึงสมรรถนะของสินค้าหรือบริการที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ดังนั้น สิ่งนี้เองที่จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยทำให้ตลาดการค้าทั้งระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญเหนืออื่นใดคือ ตลาดการค้าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง

ที่มา : https://www.worldstandardsday.org/