สร้างโดย : นางสาวมณฑญา กนกวิจิตรศิลป์ และนางสาวรัตนา สถิตานนท์
สร้างเมื่อ อังคาร, 02/11/2010 – 12:40
มีผู้อ่าน 459,461 ครั้ง (23/07/2023)
ที่มา : http://old.thaigoodview.com/node/82051

        วรรณคดี หมายถึง วรรณกรรมหรืองานเขียนที่ยกย่องกันว่าดี มีสาระ และมีคุณค่าทางวรรณศิลป์ การใช้คำว่าวรรณคดีเพื่อประเมินค่าของวรรณกรรมเกิดขึ้นในพระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสรในสมัยรัชกาลที่ 6

        วรรณคดี เป็นวรรณกรรมที่ถูกยกย่องว่าเขียนดี มีคุณค่า สามารถทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์สะเทือนใจ มีความคิดเป็นแบบแผน ใช้ภาษาที่ไพเราะ เหมาะแก่การให้ประชาชนได้รับรู้ เพราะ สามารถ ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร

        เนื้อหาของวรรณคดีในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีดังนี้

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4

  • อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง
  • นมัสการมาตาปิตุคุณและนมัสการอาจริยคุณ
  • นิทานเวตาลเรื่องที่ 10
  • หัวใจชายหนุ่ม
  • ทุกข์ของชาวนาในบทกวี
  • มงคลสูตรคำฉันท์
  • มหาชาติหรือมหาเวสสันดรชาดก
  • นิราศนริทร์คำโคลง

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5

  • มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี
  • ลิลิตตะเลงพ่าย
  • บทพูดคำฉันท์ มัทนะพาธา
  • โคลนติดล้อ ตอน ความนิยมเป็นเสมียน
  • อิเหนา ตอน บุษบาเสี่ยงเทียน
  • รามเกียรติ์ ตอน หนุมานเผากรุงลงกา

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

  • เสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา
  • สามก๊ก ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ
  • กาพย์เห่เรือ
  • สามัคคีเภทคำฉันท์
  • ไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิ

อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง

อิเหนา  ตอน  ศึกกะหมังกุหนิง
        อิเหนา  เป็นบทละครพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  เป็นบทละครที่วรรณคดีสโมสรยกย่องให้เป็นยอดของบทละครรำ  เพราะเป็นหนังสือซึ่งแต่งดีพร้อมทั้งเนื้อหา  ทั้งความไพเราะ  ทั้งกระบวนที่จะเล่นละครประกอบกัน  และยังเป็นหนังสือดีในทางที่จะศึกษาประเพณีไทยสมัยโบราณ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์ตรงตามตำราทุกอย่าง  แม้บทละครเรื่องอิเหนาจะมีเค้าเรื่องมาจากนิทานพื้นเมืองชวา  แต่ทรงดัดแปลงแก้ไขให้เข้ากับธรรมเนียมของบ้านเมือง  อัธยาศัยและรสนิยมของคนไทย
ผู้แต่ง
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ลักษณะคำประพันธ์
กลอนบทละคร
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
เพื่อใช้ในการแสดงละครใน
ความเป็นมา
อิเหนา  เป็นวรรณคดีที่มีมาแต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี  มีที่มาจากนิทานปันหยี  ซึ่งเป็นคำสามัญที่ชาวชวาใช้เรียกวรรณคดีที่มีความสำคัญมากเรื่องหนึ่ง คือ  เรื่องอิหนา  ปันหยี  กรัต ปาตี วรรณคดีเรื่องนี้มีเนื้อเรื่องเป็นพงศาวดารแต่งขึ้นเพื่อการเฉลิมพระเกียรติกษัตริย์ชวาพระองค์หนึ่งซึ่งทรงเป็นนักรบ นักปกครอง  และทรงสร้างความเจริญให้แก่ชวาเป็นอย่างมาก ชาวชวาถือว่าอิหนาเป็นวีรบุรุษ  เป็นผู้มีฤทธิ์  เรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาจนกลายเป็นนิทานจึงเต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์

ว่าพลางทางชมคณานก                          โผนผกจับไม้อึงมี่
เบญจวรรณจับวัลย์ชาลี                          เหมือนวันพี่ไกลสามสุดามา
นางนวลจับนางนวลนอน                         เหมือนพี่แนบนวลสมรจินตะหรา
จากพรากจับจากจำนรรจา                       เหมือนจากนางสการะวาตี
แขกเต้าจับเต่าร้างร้อง                           เหมือนร้างท้องมาหยารัศมี
นกแก้วจับแก้วพาที                               เหมือนแก้วพี่ทั้งสามสั่งความมา
ตระเวนไพรร่อนร้องตระเวนไพร                  เหมือนเวรใดให้นิราศเสน่หา
เค้าโมงจับโมงอยู่เอกา                          เหมือนพี่นับโมงมาเมื่อไกลนาง
คับแคจับแคสันโดษเดี่ยว                        เหมือนเปล่าเปลี่ยวคับใจในไพรกว้าง
ชมวิหคนกไม้ไปตามทาง                        คะนึงนางพลางรีบโยธี

เรื่องย่อ

        ดินแดนชวาโบราณมีกษัตริย์วงศ์หนึ่งเรียกว่า  วงศ์สัญแดหวาหรือวงศ์เทวา  เพราะว่าสืบเชื้อสายมาจากเทวดา  คือ  องค์ปะตาระกาหลา  กล่าวกันว่าวงศ์นี้มีพี่น้องสี่องค์  องค์พี่ครองเมืองกุเรปัน  องค์ที่สองครองเมืองดาหา  องค์ที่สามครองเมืองกาหลัง  และองค์ที่สี่ครองเมืองสิงหัดส่าหรี  กษัตริย์วงศ์เทวามีอานุภาพยิ่งใหญ่ด้วยยศศักดิ์  ถือตัวว่าเป็นชนชั้นสูงจึงอภิเษกกันเฉพาะในวงศ์พี่น้อง  นอกจากนี้ทั้งสี่เมืองเท่านั้นที่สามารถแต่งตั้งมเหสีได้ 5 องค์  ตามลำดับตำแหน่ง  คือ  ประไหมสุหรี  มะเดหวี  มะโต  ลิกู  เหมาหราหงี  แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมืองหมันหยาซึ่งเป็นเมืองเล็กกว่า  กล่าวคือ  เจ้าเมืองนี้มีราชธิดาสามองค์  องค์โตชื่อนิหลาอระตา  ได้ไปเป็นประไหมสุหรีเมืองกุเรปัน  องค์ที่สองชื่อ  ดาหราวาตี  ได้ไปเป็นประไหมสุหรีเมืองดาหา  ส่วนองค์สุดท้องชื่อ  จินดาส่าหรี  ได้อภิเษกกับโอรสท้าวมังกัน  และได้ครองเมืองหมันหยา
        ท้าวกุเรปันมีโอรสองค์แรกกับลิกู  ชื่อว่า  กะหรัดตะปาตี  ต่อมามีโอรสกับประไหมสุหรีเป็นหนุ่มรูปงามและเก่งกล้าสามารถมาก  ชื่อ  อิเหนา  หรือ  ระเด่นมนตรี  และมีราชธิดาชื่อวิยะดา  ส่วนท้าวดาหามีราชธิดากับประไหมสุหรีชื่อ  บุษบา  และมีโอรสชื่อ  สียะตรา  บุษบามีอายุไล่เลี่ยกับอิเหนา  ท้าวกุเรปันจึงหมั้นบุษบาให้กับอิเหนา  และสียะตราก็หมั้นหมายกันไว้กับวิยะดา
ส่วนระตูหมันหยากับประไหมสุหรีก็มีราชธิดาชื่อระเด่นจินตะหรา  อายุรุ่นราวคราวเดียวกับอิเหนา  ท้าวสิงหัดส่าหรีกับประไหมสุหรีมีโอรสชื่อระเด่นสุหรานากง  ราชธิดาชื่อระเด่นจินดาส่าหรี  ท้าวกาหลังมีราชธิดาชื่อ  ระเด่นสกาหนึ่งรัด  ซึ่งเป็นคู่ตุนาหงันของสุหรานากง
        เมื่อพระอัยยิกาที่เมืองหมันหยาสิ้นพระชนม์  ท้าวกุเรปันมอบหมายให้อิเหนาไปร่วมพิธีถวายพระเพลิงพร้อมกับกะหรัดตะปาตี  อิเหนาพบจินตะหราก็หลงรัก  จนพิธีถวายพระเพลิงเสร็จแล้วก็ยังไม่ยอมกลับกุเรปัน  ท้าวกุเรปันจึงต้องอ้างว่าประไหมสุหรีจะมีพระประสูติกาลให้กลับมาเป็นกำลัง ใจให้พระราชมารดา  อิเหนาจำใจต้องกลับมาประจวบกับพระราชมารดาประสูติ  พระราชธิดาหน้าตาน่ารัก  นามว่า  ระเด่นวิยะดา
        อย่างไรก็ตามอิเหนายังหาทางกลับไปเมืองหมันหยาอีก  โดยอ้างว่าจะไปประพาสป่า  แล้วปลอมตัวเป็นโจรป่าชื่อ  มิสารปันหยี  ระหว่างทางได้รบกับระตูบุศิหนา  น้องชายสุดท้องของระตูปันจะรากันและระตูปักมาหงัน  ปรากฏว่าระตูบุศสิหนาตายในที่รบ  นางดรสาซึ่งเพิ่งเข้าพิธีอภิเษกกับระตูบุศสิหนาจึงกระโดดเข้ากองไฟตายตามพระ สวามี  ส่วนระตูจะรากันและระตูปักมาหงันยอมแพ้และถวายพระธิดาและพระโอรสให้อิเหนา  คือ  นางสะการะวาตี  นางมาหยารัศมี  และสังคามาระตา  เมื่ออิเหนาเข้าเมืองหมันหยาได้ก็ลักลอบเข้าหานางจินตะหรา  แล้วได้สองนางคือ  นางสะการะวาตีและนางมาหยารัศมีเป็นชายา  และรับสังคามาระตาเป็นน้องชาย
        ท้าวกุเรปันเรียกอิเหนากลับเมืองถึงสองครั้ง  พร้อมทั้งนัดวันอภิเษกระหว่างอิเหนากับบุษบา  แต่อิเหนาไม่ยอมกลับ  สั่งความตัดรอดนางบุษบา  ท้าวกุเรปันและท้าดาหาทราบเรื่องก็ขัดเคืองพระทัย  ท้าวดาหาถึงกับหลุดปากว่าถ้าใครมาขอบุษบาก็จะยกให้
        ฝ่ายจรกา  ระตูเมืองเล็กเมืองหนึ่ง  และเป็นอนุชาของท้าวล่าส่ำ (ท้าล่าส่ำผู้นี้มีธิดา  คือ  ระเด่นกุสุมา  เป็นคู่หมั้นของสังคามาระตา)  จรกาเป็นชายรูปชั่วตัวดำ  แต่อยากได้ชายารูปงาม  จึงให้ช่วงวาดไปแอบวาดภาพราชธิดาของเมืองสิงหัดส่าหร  คือ  นางจินดาส่าหรี  ครั้นทราบข่าวว่านางบุษบาสวยงามมากจึงให้ช่างวาดแอบวาดภาพนางบุษบาอีก  ช่างวาดแอบวาดภาพได้ 2 ภาพ  คือ  ตอนนางบุษบาเพิ่งตื่นบรรทบและภาพที่แต่งองค์เต็มที่  ขณะเดินทางกลับองค์ปะตาระกาหลาบันดาลให้รูปนางบุษบาที่ทรงเครื่องตกหายไป  จรกาได้เห็นภาพที่เพิ่งตื่นบรรทมเท่านั้นก็หลงใหลถึงกับสลบลงทันที
        เมื่อจรกาได้ข่าวจากช่างวาดภาพว่าบุษบาร้างคู่ตุนาหงัน  จึงรีบให้ระตูล่าส่ำ  พี่ชายมาสู่ขอบุษบา  ท้าวดาหากำลังโกรธอิเหนาอยู่แม้จะรู้ว่าจรการูปชั่ว  ต่ำศักดิ์  แต่เมื่อพลั้งปากว่าใครมาขอก็จะยกให้  จึงจำใจยากนางบุษบาให้จรกาและกำหนดการวิวาห์ภายในสามเดือน
        กล่าวถึงกษัตริย์อีกวงศ์หนึ่ง  องค์พี่ครองเมืองกะหมังกุหนิงมีพระโอรสชื่อวิหยาสะกำ  องค์รองครองเมืองปาหยัง  องค์สุดท้องครองเมืองปะหมันสลัด
        อยู่มาวิหยาสะกำโอรสท้าวกะหมังกุหนิง  เสด็จประพาสป่าแล้วพบภาพวาดของนางบุษบาทรงเครื่องที่หายไปก็คลั่งไคล้หลงถึง กับสลบเช่นกัน  ท้าวกะหมันกุหนิงรักและเห็นใจโอรสมาก  จึงให้คนไปสืบว่านางในภาพนั้นเป็นใครแล้วให้แต่งทูตไปขอ  แต่ท้าวดาหามอบนางบุษบาให้จรกาแล้วจึงปฏิเสธไป  เมื่อไม่สมหวังท้าวกะหมังกุหนิงจึงยกทัพมาชิงนางบุษบา  โดยแจ้งระตูปาหยังและระตูปะหมันน้องชายและหัวเมืองทั้งหลายยกทัพมาช่วยรบ ด้วย
        ท้าวกุเรปันจึงเรียกตัวอิเหนาจากเมืองหมันหยามาช่วยท้าวดาหาทำศึกกับท้าวกะ หมังกุหนิง  อิเหนาเป็นฝ่ายมีชัยในศึกครั้งนี้  อิเหนาสังหารกะหมังกุหนิง  สังคามาระตาสังหารวิหยาสะกำ  ระตูปาหยังกับปะหมันยอมแพ้ขอเป็นเมืองขึ้น  เมื่อเสด็จศึกอิเหนาเข้าเฝ้าท้าวดาหา  เมื่อได้พบกับนางบุษบาก็หลงรักทันที  จึงหาทางขัดขวางพิธีอภิเษกโดยการลักพาตัวบุษบาไปซ่อนไว้ในถ้ำ  องปะตาระกาหลากริ้วที่อิเหนาทำไม่ถูกต้อง  จึงบันดาลให้เกิดลมหอบนางบุษบาไปจากอิเหนา  อิเหนาและนางบุษบาต่างต้องเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นเวลาหลายปีจึงได้กลับมาพบกัน

วิเคราะห์คุณค่าวรรณคดี
คุณค่าด้านเนื้อหา
        แนวคิด  เรื่องอิเหนา  ตอนศึกกะหมังกุหนิง  เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความรักของพ่อที่มีต่อลูก  รักและตามใจทุกอย่าง  แม้นกระทั่วตัวตายก็ยอม
        ฉาก ตอนศึกกะหมังกุหนิงจะปรากฎฉากรบที่ชัดเจน  มีการตั้งค่าย  การใช้อาวุธ  และการต่อสู้ของตัวละครสำคัญ
ปมขัดแย้ง  ตอนศึกกะหมังกุหนิง  มีหลายข้อแย้ง  แต่ละปมปัญหาเป็นเรื่องที่อาจเกิดได้ในชีวิตจริง  และสมเหตุสมผล  เช่น
        ปมแรก  คือ  ท้าวกุเรปันให้อิเหนาอภิเษกกับบุษบา  แต่อิเหนาหลงรักจินตะหราไม่ยอมอภิเษกกับบุษบา
        ปมที่สอง  คือ  ท้าวดาหาขัดเคืองอิเหนา  ยกบุษบาให้จรกา  ทำให้ท้าวกุเรปันและพระญาติทั้งหลายไม่พอพระทัย
        ปมที่สาม  ท้าวกะหมังกุหนิงมาสู่ขอบุษบาให้วิหยาสะกำ  แต่ท้าวดาหายกให้จรกาไปแล้ว  จึงเกิดศึกชิงนางขึ้น
        ปมที่สี่  อิเหนาจำเป็นต้องไปช่วยดาหา  จินตะหราคิดว่าอิเหนาจะไปอภิเษกกับบุษบา  จินตะหราขัดแย้งในใจตนเอง  หวั่นใจกับสถานภาพของตนเอง
        ปมที่สามเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด  เมื่อท้าวกะหมังกุหนิงคิดจะทำสงครามกับกรุงดาหาเพื่อชิงนางบุษบามาให้วิหยา สะกำโอรสองพระองค์  ท้าวกะหมังกุหนิงหารือกับระตูปาหยังและท้าวปะหมันผู้เป็นอนุชา  ทั้งสองทัดทานว่าดาหาเป็นเมืองใหญ่ของกษัตริย์วงศ์อสัญแดหวาผู้มีฝีมือ เลื่องลือในการสงคราม  ส่วนกะหมังกุหนิงเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ คงจะสู้ศึกไม่ได้  แต่ท้าวกะหมังกุหนิงก็ไม่ฟังคำทัดทานเพราะรักลูกมากจนไม่อาจทนเห็นลูกทุกข์ ทรมารได้  แม้จะรู้ว่าอาจสู้ศึกไม่ได้  แต่ก็ตัดสินใจทำสงครามด้วยเหตุผลที่บอกแก่อนุชาทั้งสองว่า

แม้วิหยาสะกำมอดม้วย               พี่ก็คงตายด้วยโอรสา
ไหนไหนจะตายวายชีวา              ถึงเร็วถึงช้าก็เหมือนกัน
ผิดก็ทำสงครามดูตามที               เคราะห์ดีก็จะได้ดังใฝ่ฝัน
พี่ดังพฤกษาพนาวัน                    จะอาสัญเพราะลูกเหมือนกล่าวมา

ตัวละคร  อิเหนา  ตอนศึกกะหมังกุหนิง  มีตัวละครที่มีบทบาทสำคัญปรากฏอยู่มาก  ตัวละครมีบุคลิกลักษณะนิสัยที่โดดเด่นและแตกต่างกัน  เช่น
        ท้าวกุเรปัน
        ถือยศศักดิ์ไม่ไว้หน้าใคร  ไม่เกรงใจใคร  เช่น  ในราชสาส์นถึงระตูหมันหยา  กล่าวตำหนิระตูหมันหยาอย่างไม่ไว้หน้าว่า  เป็นใจให้จินตะหราแย่งคู่หมั้นบุษบา  สอนลูกให้ยั่วยวนอิเหนา  เป็นต้นเหตุให้บุษบาร้างคู่ตุนาหงัน
ในลักษณ์อักษรสารา               ว่าระตูหมันหยาเป็นผู้ใหญ่
มีราชธิดายาใจ                           แกล้งให้แต่งตัวไว้ยั่วชาย
จนลูกเราร้างคู่ตุนาหงัน                  ไปหลงรักผูกพันมั่นหมาย
จะให้ชิงผัวเขาเอาเด็ดดาย              ช่างไม่อายไพร่ฟ้าประชาชน
บัดนี้ศึกประชิดติดดาหา                  กิจจาลือแจ้งทุกแห่งหน
เสียงงานการวิวาห์จราจล                ต่างคนต่างข้องหมองใจ
การสงครามครั้งนี้มีไปช่วย               ยังเห็นชอบด้วยหรือไฉน
จะตัดวงศ์ตัดญาติให้ขาดไป              ก็ตามแต่น้ำใจจะเห็นดี
ในพระราชสาส์นของท้าวกุเรปันถึงอิเหนาได้ยกความผิดให้จินตะหรา  จึงมีลักษณะเป็นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ  แต่ไม่มีเมตตา  ถือยศศักดิ์  และที่ต้องช่วยดาหานั้น  เพราะถ้าดาหาแพ้หมายถึงกษัตริย์วงศ์เทวาพ่ายแพ้ด้วย  ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าอายอย่างยิ่ง
ถึงไม่เลี้ยงบุษบาเห็นว่าชั่ว               แต่เขาก็รู้อยู่ว่าตัวนั้นเป็นพี่
อันองค์ท้าวดาหาธิบดี                     นั้นมิใช่อาหรือว่าไร
มาตรแม้นเสียเมืองดาหา                  จะพลอยอายขายหน้าหรือหาไม่

        ท้าวดาหา
        หยิ่งในศักดิ์สรี  ใจร้อน  เช่น  ตัดสินใจรับศึกกะหมังกุหนิงโดยไม่สนใจว่าจะมีใครมาช่วยหรือไม่  ดังคำประพันธ์
คิดพลางทางสั่งเสนาใน                    เร่งให้เกณฑ์คนขึ้นหน้าที่
รักษามั่นไว้ในบุรี                            จะดูทีข้าศึกซึ่งยกมา
อนึ่งจะคอยท่าม้าใช้                         ที่ให้ไปแจ้งเหตุพระเชษฐา
กับสองศรีราชอนุชา                         ยังจะมาช่วยหรือประการใด
แม้จะเคืองขัดตัดรอน                        ทั้งสามพระนครหาช่วยไม่
แต่ผู้เดียวจะเคี่ยวสงครามไป               จะยากเย็นเป็นกระไรก็ตามที

        เป็นคนรักษาสัจจะ  รักษาเกียรติยศชื่อเสียงเป็นอย่างยิ่ง  เมื่อได้ยกนางบุษบาให้จรกาไปแล้ว  เมื่อกะหมังกุหนิงมาสู่ขออีกจึงปฏิเสธ  ดังที่ว่า
อันอะหนะบุษบาบังอร                  ครั้งก่อนจรกาตุนาหงัน
ได้ปลดปลงลงใจให้มั่น                      นัดกันจะแต่งการวิวาห์
ซึ่งจะรับของสู่ระตูนี้                           เห็นผิดประเพณีหนักหนา
ฝูงคนทั้งแผ่นดินจะนินทา                    สิ่งของที่เอามาจงคืนไป

        อิเหนา
        รอบคอบ  มองการณ์ไกล  ตอนที่สังคามาระตารบกับวิหยาสะกำ  อิเหนาได้เตือน  สังคามาระตาว่าไม่ชำนาญกระบี่  อย่าลงจากหลังม้า  เพราะเพลงทวนนั้นชำนาญอยู่แล้วจะเอาชนะได้ง่ายกว่า
เมื่อนั้น                                           ระเด่นมนตรีใจหาญ
จึงตอบอนุชาชัยชาญ                          เจ้าจะต้านต่อฤทธิ์ก็ตามใจ
แต่อย่าลงจากพาชี                             เพลงกระบี่ยังหาชำนาญไม่
เพลงทวนสันทัดจัดเจนใจ                     เห็นจะมีชัยแก่ไพรี

        มีอารมณ์ละเอียดอ่อน เมื่อจากสามนางมาเห็นสิ่งใดก็คิดถึงนางทั้งสาม  คำประพันธ์ความตอนนี้มีความไพเราะมาก
ว่าพลางทางชมคณานก                         โผนผกจับไม้อึงมี่
เบญจวรรณจับวัลย์ชาลี                         เหมือนวันพี่ไกลสามสุดามา
นางนวลจับนางนวลนอน                        เหมือนพี่แนบนวลสมรจินตะหรา
จากพรากจับจากจำนรรจา                      เหมือนจากนางสการะวาตี

นมัสการมาตาปิตุคุณและนมัสการอาจริยคุณ

        นมัสการมาตาปิตุคุณและนมัสการอาจริยคุณเป็นบทกล่าวบรรยายเกี่ยวกับพระคุณของมารดา บิดา ครูบาอาจารย์ โดยแต่งเป็นร้อยกรองแบบ อินทรวิเชียรฉันท์ 11

        อินทรวิเชียรฉันท์ 11 บทหนึ่งมี 4 วรรค วรรคหน้า 5 คำ วรรคหลัง 6 คำ และมีคำรับส่งสัมผัสเพียงแห่งเดียว คือระหว่างคำสุดท้ายในวรรคที่ 2 กับคำสุดท้ายในวรรคที่ 3 ในอินทรวิเชียรฉันท์นั้นต้องกำหนดคำครุและลหุ โดยการกำหนดคำครุและคำลหุในคำประพันธ์นั้นไม่ได้เป็นคำบังคับสำหรับผู้แต่ง เท่านั้น แต่รวมถึงผู้อ่านก็ต้องใช้เป็นแนวทางในการอ่านด้วยเช่นกัน   โดยถ้าคำใดอยู่ในตำแหน่งของคำครุ ผู้อ่านจะต้องลงเสียงหนัก   ส่วนคำใดที่อยู่ในตำแหน่งของคำลหุก็จะอ่านโดยไม่ลงน้ำเสียงหนักเสมอ (แม้ว่าคำนั้นจะสะกดแบบคำครุก็ตาม)

นมัสการมาตาปิตุคุณ

ข้าขอนบ ชนกคุณ                             ชนนีเป็นเค้า มูล
ผู้กอบนุกูลพูน                                   ผดุงจวบเจริญวัย
ฟูมฟักถนุถนอม                             บ บำราศนิราไกล
แสนยากเท่าไร ๆ                               บ คิดยากลำบากกาย
ตรากทนระคนทุกข์                         ถนอมเลี้ยงฤดูวาย
ปกป้องซึ่งอันตราย                             จนได้ รอดเป็นกายา
เปรียบหนักชนกคุณ                        ชนนีคือ ภูผา
ใหญ่พื้นพสุธรา                                  ก็ บ เทียบ บ เทียมทัน
เหลือที่จะแทน ทด                        จะสนองคุ ณานันต์
แท้บูชไนยอัน                                   อุดม เลิศประเสริฐคุณ

คำแปล
        อันคุณของบิดามารดานั้นยิ่งใหญ่นัก ตั้งแต่เราได้ถือกำเนิดเกิดมาบนโลกใบนี้ บุคคลแรกที่เราจำความได้สองท่านนี้ ก็คอยฟูมฟัก ทะนุถนอมเลี้ยงดูเราจนเติบใหญ่ แม้บางครั้งจะมีอุปสรรคที่ร้ายแรงเพียงใดท่านก็ไม่เคยหวาดหวั่น ต่อสู้ และฝ่าฟันเพื่อบุตรทุกประการ หากจะเปรียบคุณของบิดามารดานั้นดูยิ่งใหญ่เกินกว่าที่จะยกภูเขาทั้งลูก แผ่นดินทั้งแผ่นมาเทียมได้ มากมายมหาศาลเหลือเกิน แม้การที่เราจะทดแทนบุญคุณทั้งหมดคงจะเป็นไปไม่ได้ แต่เพียงแค่เรากระทำตนเป็นคนดีของสังคม กตัญญูรู้คุณต่อท่านเท่านี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว

นมัสการอาจาริยคุณ

อนึ่งข้าคำนับน้อม                               ต่อพระครูผู้การุณ
โอบเอื้อและเจือจุน                                  อนุ สาสน์ทุกสิ่งสรรพ์
ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ                          ทั้งบุญบาปทุก สิ่งอัน
ชี้แจงและแบ่งปัน                                    ขยาย อัตถ์ให้ชัดเจน
จิตมากด้วยเมตตา                              และ กรุณา บ เอนเอียง
เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์                        ให้ฉลาดและแหลมคม
ขจัดเขลาบรรเทา โม-                         หะจิตมืดที่งุนงม
กังขา ณ อารมณ์                                     ก็สว่าง กระจ่างใจ
คุณส่วนนี้ควรนับ                                ถือ ว่าเลิศ ณ แดนไตร
ควรนึกและตรึกใน                                   จิตน้อมนิยมชม

คำแปล
        ขอความเคารพนอบน้อมต่อครู ผู้มีความกรุณา เผื่อแผ่อบรมสั่งสอนศิษย์ทุกสิ่ง ให้มีความรู้ ทั้งความดี ความชั่ว ชั่วขยายความให้เข้าใจแจ่มแจ้ง มีเมตตากรุณา กรุณาเที่ยงตรง เคี่ยวเข็ญให้ฉลาดหลักแหลม ช่วยกำจัดความโง่เขลา ให้มีความเข้าใจแจ่มชัด พระคุณดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นเลิศในสามโลกนี้ ควรระลึกและน้อมใจชื่นชมยกย่อง

นิทานเวตาลเรื่องที่ 10

เรื่องย่อ นิทานเวตาลเรื่องที่ 10
        มีเมืองหนึ่งชื่อกรุงธรรมปุระ พระราชาทรงนามว่าท้าวมหาพล พระมเหสีเป็นผู้หญิงที่งามมาก แม้พระธิดาจะเป็นสาวที่งามมากแล้ว  พระมเหสีก็งามไม่แพ้กัน  ต่อมาเกิดศึกสงครามขึ้น ท้าวมหาพลสู้รบไม่ได้ จึงพาพระมเหสีและพระธิดาหนี รอนแรมไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง  ท้าวมหาพลให้หญิงทั้งสองซ่อนตัวในป่า  พระองค์เองเสด็จไปในหมู่บ้านเพื่อหาอาหาร  แต่หมู่บ้านนั้นเป็นหมู่บ้านโจรจับพระองค์ฆ่าเสียแล้วชิงเอาทรัพย์อันมีค่ามากมายไป  หญิงทั้งสองเห็นด้วยความกลัวจึงพากันเตลิดหนีไป
        เผอิญท้าวจันทรเสนกับพระโอรสพากันเสด็จมาล่าสัตว์ในป่าตามลำพัง  ทอดพระเนตรเห็นรอยเท้าของหญิงทั้งสอง จึงต่างสัญญากันว่าพระราชาจะเลือกหญิงเจ้าของเท้าใหญ่เป็นภรรยา  และพระโอรสก็รับหญิงเท้าเล็กเป็นภรรยา  ซึ่งปรากฏว่ากลายเป็นการกลับคู่กัน คือ พระราชาวิวาห์กับพระธิดา และพระโอรสวิวาห์กับพระมารดาของพระธิดา  ในกาลเวลาต่อมาหญิงทั้งสองต่างก็ให้กำเนิดบุตรต่อๆกันไป
        เมื่อเล่าจบ  เวตาลถามปัญหาว่าบุตรธิดาของธิดาท้าวมหาพล  และบุตรของพระมเหสีนั้นจะนับญาติกันอย่างไร
        พระวิกรมาทิตย์ไม่ตรัสตอบ  แม้ว่าเวตาลจะกล่าวยั่วเย้าอย่างไรพระองค์ก็กุมพระสติมั่นไม่ตรัสตอบ

หัวใจชายหนุ่ม

ฉบับที่ 1
        ประพันธ์เขียนจดหมายถึงนายประเสริฐขณะที่กำลังนั่งเรือกลับบ้าน เขียนอาลัยอาวรณ์ต่อการจากลอนดอน จะไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำอีกแล้วชอบทำ เคยทำ เมื่อมาอยู่เมืองไทย และนอกจากนั้นนายประพันธ์ยังได้ฝากความรักถึงหญิงคนรักอีกด้วยฉบับที่ 4
        ประพันธ์เมื่อถึงเมืองไทยต้องไปพบปะผู้คนมากมาย เพื่อหางานทำ พ่อของประพันธ์ต้องการให้ประพันธ์เข้ารับราชการในพระราชสำนัก แต่ตำแหน่งว่างหายาก ประพันธ์จึงคิดประกอบอาชีพทางการค้า แต่พ่อของประพันธ์ขัดข้อง เพราะอาชีพค้าขายนั้นเป็นใหญ่เป็นโตยาก พอประพันธ์กลับถึงบ้านได้ 7 วัน พ่อของประพันธ์ก็บอกว่า หาเมียไว้ให้คนหนึ่งแล้ว ประพันธ์ไม่ยอมแต่งงานแบบคลุมถุงชน จึงเกิดการทะเละขึ้นระหว่างพ่อลูก แม่ของประพันธ์จึงบอกให้รอดูตัวก่อน จึงค่อยสู่ขอ ประพันธ์คิดว่ากรุงเทพหาที่เที่ยวยาก และเขาก็ยังไม่พบผู้หญิงที่ถูกใจ จนกระทั่งประพันธ์ได้ไปดูภาพยนตร์ จึงได้พบผู้หญิงที่เข้าตาคนหนึ่งฉบับที่ 5
        ประพันธ์ได้เข้ารับราชการ พ่อของประพันธ์ได้พาประพันธ์ไปดูตัวกิมเน้ย ประพันธ์คิดว่า หน้าตาแม่กิมเน้ย เหมือน ซุน ฮู หยิน (ตัวละครในเรื่องสามก๊ก) และแต่งเครื่องเพชรมากเกินไป ส่วนผู้หญิงที่เข้าตาประพันธ์นั้น ชื่อ อุไร พรรณโสภณ และที่ถูกใจประพันธ์มากคือ แม่อุไร ได้หัดเต้นรำแล้ว
ฉบับที่ 6
        ประไพน้องส่าวของประพันธ์ ได้เชิญแม่อุไรให้ไปดูการแต่งไฟทางลำน้ำ ประพันธ์กับแม่อุไรจึงได้ทำความรู้จักสนิทสนมกัน ในงานฤดูหนาว ประพันธ์ได้มีโอกาสพาแม่อุไรเที่ยวทุกคืน ประพันธ์ได้เล่าให้ประเสริฐฟังถึงความงามของแม่อุไร และได้กล่าวถึงแม่กิมเน้ย ที่ไม่ยอมพูดด้วย เมื่อเห็นประพันธ์ไปกับแม่อุไร
ฉบับที่ 9
        ประพันธ์ได้แต่งงานกับแม่อุไรแล้ว หลังจากประพันธ์ได้กลับจากหัวหิน ประพันธ์ก็บอกพ่อว่า มีความรักกับแม่อุไร แต่พ่อของประพันธ์ไม่อยากได้แม่อุไรมาเป็นลูกสะใภ้ จึงขอให้รอดูอีก 1 ปี แต่ประพันธ์บอกว่าถ้าอยู่รออาจได้หลานก่อน พ่อของประพันธ์จึงขัดข้องไม่ได้ จึงจัดการสู่ขอให้ เมื่อทั้งคู่แต่งงานกันแล้ว จึงได้ไปฮันนี่มูนกันที่หัวหิน
ฉบับที่ 11
         ประพันธ์เขียนจดหมายหลังจากกลับมาจากการ ฮันนี่มูนที่หัวหิน ประพันธ์เล่าถึงการทะเลาะเบาะแว้งกับแม่อุไร ซึ่งเป็นการทะเลาะกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง ประพันธ์จะทำอะไรก็ขัดใจแม่อุไรไปหมด และเล่าว่าแม่อุไรชอบทำตัวเหนือตนเอง
ฉบับที่ 12
        หลังจากแม่อุไรแท้งลูก ก็มีกิริยาเปลี่ยนไป ออกเที่ยวกลางคืนคนเดียวทุกวัน สร้างหนี้สินมากมาย และไปสนิทสนมกับพระยาตระเวนนคร ถึงขั้นไปค้างคืนที่บ้าน ประพันธ์จึงทำการหย่าขาดกับแม่อุไรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ฉบับที่ 13
        หลังจากหย่าขาดกับแม่อุไร แม่อุไรก็ได้ย้ายไปอยู่กับพระยาตระเวนนครอย่างเปิดเผย และเล่าถึงประวัติของพระยาตระเวน ว่ามีเมียอยู่แล้วถึง 7 คน ประพันธ์ยังเล่าถึงความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตนเองอีกด้วย
ฉบับที่ 15
        ประพันธ์เล่าว่าช่วงงานฤดุหนาวเห็นพระยาตระเวนไปเที่ยวกับแม่สร้อย ซึ่งเป็นเพื่อนของลูกสาวพระยาตระเวนนครอยู่ตลอด แต่แม่อุไรก็ไม่ได้ทำอะไร อาจเพราะกลัวว่าจะไม่มีที่อยู่ เพราะแม่อุไรก็ได้ตัดขาดกับพ่อของตนเองแล้ว
ฉบับที่ 17
        แม่อุไรไปหาประพันธ์ที่บ้าน มาอ้อนวอนขอให้ประพันธ์ช่วยรับเลี้ยงดู เนื่องจากแม่อุไรโดนไล่ออกจากบ้านของพระยาตระเวนนครแล้ว ประพันธ์จึงแนะนำให้แม่อุไรกลับไปง้อพ่อ และกลับไปอยู่กับพ่อดังเดิม
ฉบับที่ 18
        ประพันธ์เล่าว่าแม่อุไรได้แต่งงานใหม่กับหลวงพิเศษผลพานิช พ่อค้าร่ำรวย และประพันธ์เองก็กำลังจะแต่งงานกับแม่ศรีสมาน ลูกสาวพระยาพิสิฐเสวก และให้ประเสริฐเตรียมตัวมาเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวได้เลย

ทุกข์ของชาวนาในบทกวี

        ทุกข์ของชาวนาในบทกวี  เป็นบทความพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ที่แสดงให้เห็นถึงการเอาพระทัยใส่ความเข้าพระทัยในปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนพระเมตตาของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวนา  เนื่องด้วยชาวนาแต่ละท้องที่ล้วนมีสภาพชีวิตและความทุกข์ยากที่ไม่แตกต่างกันเลย  แม้ว่ากาลเวลาจะผันผ่านไปอย่างไรก็ตาม
ผู้แต่ง
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ลักษณะคำประพันธ์
ร้อยแก้ว  ประเภทบทความ
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
เพื่อแสดงพระราชดำริเกี่ยวกับบทกวีของไทยและบทกวีจีน ซึ่งกล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ของชาวนา
ความเป็นมา
        ทุกข์ของชาวนาในบทกวี  มีที่มาจากหนังสือรวมบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  เรื่อง  มณีพลอยร้อยแสง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533  ในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ  โดยนิสิตคณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  รุ่นที่ 41 พระราชนิพนธ์นั้นแสดงให้เห็นแนวพระราชดำริเกี่ยวกับบทกวีของไทยและจีนที่กล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ของชาวนาที่มีสภาพชีวิตไม่ได้แตกต่างกันนัก

        เนื้อความในตอนแรกของบทความเรื่อง  ทุกข์ของชาวนาในบทกวี  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้ทรงยกบทกวีของจิตร  ภูมิศักดิ์  ซึ่งได้กล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ยากของชาวนา ต่อมาทรงแปลบทกวีจีนของหลี่เชินเป็นภาษาไทยทำให้มองเห็นภาพของชาวนาจีน  เมื่อเปรียบเทียบกับชาวนาไทยว่า  มิได้มีความแตกต่างกัน  แม้ในฤดูกาลเพาะปลูก  ภูมิอากาศจะเอื้ออำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี  แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นของผู้ผลิต  คือ  ชาวนาเท่าที่ควร  ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ  ทรงชี้ให้เห็นว่าแม้จิตร  ภูมิศักดิ์และหลี่เชินจะมีกลวิธีการนำเสนอความทุกข์ยากของชาวนา  และทำให้เห็นว่าชาวนาในทุกแห่งและทุกยุคทุกสมัยล้วนประสบแต่ความทุกข์ยากไม่ แตกต่างกันเลย

เนื้อเรื่อง
ทุกข์ของชาวนาในบทกวี
        เมื่อครั้งเป็นนิสิต  ข้าพเจ้าได้เคยอ่านผลงานของจิตร  ภูมิศักดิ์  อยู่บ้าง  แต่ก็ไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด  หรือวิเคราะห์อะไร  เพียงแต่ได้ยินคำเล่าลือว่าเขาเป็นคนที่ค้นคว้าวิชาการได้กว้างขวางและลึก ซึ้งถี่ถ้วน  ในสมัยที่เราเรียนหนังสือกัน  ได้มีผู้นำบทกวีของจิตรมาใส่ทำนองร้องกัน  ฟังติดหูมาจนถึงวันนี้
เปิบข้าวทุกคราวคำ                      จงสูจำเป็นอาชีพ
เหงื่อกูที่สูกิน                                      จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้น่ะมีรส                                   ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน                            และขมขื่นจนเขียวคาว
จากแรงมาเป็นรวง                          ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากกรวงเป็นเม็ดพราว                        ส่วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็ญ
เหงื่อหยดสักกี่หยาด                       ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น                                 จึงแปรรวงมาเปิบกิน
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง                            และน้ำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูท้งสิ้น                                ที่สูชดกำชาบฟัน
        ดูสรรพนามที่ใช้ว่า  “กู”  ในบทกวีนี้  แสดงว่าผู้ที่พูดคือชาวนา  ชวนให้คิดว่าเรื่องจริง ๆ นั้น  ชาวนาจะมีโอกาสไหมที่จะ “ลำเลิก”  กับใคร ๆ ว่า  ถ้าไม่มีคนที่คอยเหนื่อยยากตรากตรำอย่างพวกเขา  คนอื่น ๆ จะเอาอะไรกิน  อย่าว่าแต่การลำเลิกทวงบุญคุณเลย  ความช่วยเหลือที่สังคมมีต่อคนกลุ่มนี้ในด้ายของปัจจัยในการผลิต  การพยุงหรือประกันราคา  และการรักษาความยุติธรรมทั้งปวงก็ยังแทบจะเป็นไปไม่ได้  ทำให้ในหลาย ๆ ประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ  ชาวนาต่างก็ละทิ้งอาชีพเกษตรกรรมไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคบริการ  ซึ่งทำให้ตนมีรายได้สูงกว่าหรือได้เงินเร็วกว่า  แน่นอนกว่า  มีสวัสดิการดีกว่าและไม่ต้องเสี่ยงมากเท่าการเป็นชาวนา  บางคนที่ยังคงอยู่ในภาคเกษตรกรรมก็มักจะนิยมเปลี่ยนพืชที่ปลูกจากธัญพืชซึ่ง มักจะได้ราคาต่ำ  เพราะรัฐบาลก็มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมราคามาเป็นพืชเศรษฐกิจประเภทอื่น ที่ราคาสูงกว่า  แต่ก็ยังมีชาวนาอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีทางที่จะขยับขยายตัวให้อยู่ในสถานะ ที่ดีขึ้นได้  อาจแย่ลงด้วยซ้ำ  แล้วก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะอิธรณ์ฎีกากับใคร  ถึงจะมีคนแบบจิตรที่พยายามใช้จินตนาการสะท้อนความในใจออกมาสะกิดใจคนอื่น บ้าง  แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป
        หลายปีมาแล้วข้าพเจ้าอ่านพบบทกวีจีนบทหนึ่ง  ผู้แต่งชื่อหลี่เชิน  ชาวเมืองอู่ซี  มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี ค.ศ. 772 ถึง 846  สมัยราชวงศ์ถัง  ท่านหลี่เชินได้บรรยายความในใจไว้เป็นบทกวีภาษาจีน  ข้าพเจ้าจะพยายามแปลด้วยภาษาที่ขรุขระไม่เป็นวรรณศิลป์เหมือนบทกวีของ  จิตร ภูมิศักดิ์
หว่านข้าวในฤดูใบไม้ผลิ  ข้าวเมล็ดหนึ่ง
จะกลายเป็นหมื่นเมล็ดในฤดูใบไม้ร่วง
รอบข้างไม่มีนาที่ไหนทิ้งว่าง
แต่ชาวนาก็ยังอดตาย
ตอนอาทิตย์เที่ยงวัน  ชาวนายังพรวนดิน
เหงื่อหยดบนดินภายใต้ต้นข้าว
ใครจะรู้บ้างว่าในจานใบนั้น
ข้าวแต่ละเม็ดคือความยากแค้นแสนสาหัส
        กวีผู้นี้รับราชการมีตำแหน่งเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นอยู่ในชนบท  ฉะนั้นเป็นไปได้ที่เขาจะได้เห็นความเป็นอยู่ของราษฎรชาวไร่ชาวนาในยุคนั้น  และเกิดความสะเทือนใจจึงได้บรรยายความรู้สึกออกเป็นบทกวีที่เขาให้ชื่อว่า  “ประเพณีดั้งเดิม”  บทกวีของหลี่เชินเรียบ ๆ ง่าย ๆ แต่ก็แสดงความขัดแย้งชัดเจน  แม้ว่าในฤดูกาลนั้นภูมิอากาศจะอำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี  แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นประโยชน์ของผู้ผลิตเท่าที่ควร
        เทคนิคในการเขียนของหลี่เชินกับจิตรต่างกัน  คือ  หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็นเหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม  ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับนำชาวนามาบรรยายเรื่องของตนให้ผู้อ่านฟังด้วยตนเอง
        เวลานี้สภาพบ้านเมืองก็เปลี่ยนไป  ตั้งแต่สมัยหลี่เชินเมื่อพันปีกว่า  สมัยจิตร  ภูมิศักดิ์เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว  สมัยที่ข้าพเจ้าได้เห็นเองก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันนัก  ฉะนั้นก่อนที่ทุกคนจะหันไปกินอาหารเม็ดเหมือนนักบินอวกาศ  เรื่องความทุกข์ของชาวนาก็ยังคงจะเป็นแรงสร้างความสะเทือนใจให้แก่กวียุค คอมพิวเตอร์สืบต่อไป 

วิเคราะห์คุณค่าวรรณคดี

          คุณค่าด้านเนื้อหา
กลวิธีการแต่ง  ทุกข์ของชาวนาในบทกวี  นับเป็นตัวอย่างอันดีของบทความที่สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างได้  ด้วยแสดงให้เห็นแนวความคิดชัดเจน  ลำดับเรื่องราวเข้าใจง่าย  และมีส่วนประกอบของงานเขียนประเภทบทความอย่างครบถ้วน  คือ
ส่วนนำ  กล่าวถึงบทกวีของจิตร  ภูมิศักดิ์  ที่ทรงได้ยินได้ฟังมาในอดีตมาประกอบในการเขียนบทความ
เนื้อเรื่อง  วิจารณ์เกี่ยวกับกลวิธีการนำเสนอบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์  และองหลี่เชิน  โดยทรงยกเหตุผลต่าง ๆ และทรงแสดงทัศนะประกอบ  เช่น
“…ชวนให้คิดว่าเรื่องจริง ๆ นั้น  ชาวนาจะมีโอกาสไหมที่จะ “ลำเลิก”  กับใคร ๆ ว่าถ้าไม่มีคนที่คอยเหนื่อยยากตรากตรำอย่างพวกเขา  คนอื่น ๆ จะเอาอะไรกิน…”
ส่วนสรุป  สรุปความเพียงสั้น ๆ แต่ลึกซึ้ง  ด้วยการตอกย้ำเรื่องความทุกข์ยากของชาวนา  ไม่ว่ายุคสมัยใดก็เกิดปัญหาเช่นนี้  ดังความที่ว่า
“ฉะนั้นก่อนที่ทุกคนจะหันไปกินอาหารเม็ดเหมือนนักบินอวกาศ  เรื่องความทุกข์ของชาวนาก็คงยังจะเป็นแรงสร้างความสะเทือนใจให้แก่กวียุคคอมพิวเตอร์สืบต่อไป…”
สำหรับกลวิธีการอธิบายนั้นให้ความรู้เชิงวรรณคดีเปรียบเทียบแก่ผู้อ่าน  โดยทรงใช้การเปรียบเทียบการนำเสนอของบทกวีไทยและบทกวีจีน  ว่า
“เทคนิคในการเขียนของหลี่เชินกับของจิตรต่างกัน  คือ  หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็นเหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม  ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับนำชาวนามาบรรยายเรื่องของตนให้ผู้อ่านฟังด้วยตนเอง”

หว่านข้าวในฤดูใบไม้ผลิ  ข้าวเมล็ดหนึ่ง
จะกลายเป็นหมื่นเมล็ดในฤดูใบไม้ร่วง
รอบข้างไม่มีนาที่ไหนทิ้งว่าง
แต่ชาวนาก็ยังอดตาย
ตอนอาทิตย์เที่ยงวัน  ชาวนายังพรวนดิน
เหงื่อหยดบนดินภายใต้ต้นข้าว
ใครจะรู้บ้างว่าในจานใบนั้น
ข้าวแต่ละเม็ดคือความยากแค้นแสนสาหัส
เปิบข้าวทุกคราวคำ                          จงสูจำเป็นอาชีพ
เหงื่อกูที่สูกิน                                      จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้น่ะมีรส                                   ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน                            และขมขื่นจนเขียวคาว
จากแรงมาเป็นรวง                          ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากกรวงเป็นเม็ดพราว                        ส่วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็ญ
เหงื่อหยดสักกี่หยาด                       ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น                                 จึงแปรรวงมาเปิบกิน
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง                            และน้ำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูท้งสิ้น                                ที่สูชดกำชาบฟัน
        บทกวีของหลี่เชินเป็นบทกวีที่เรียบง่าย  แต่แสดงความขัดแย้งอย่างชัดเจน  คือ  แม้ว่าในฤดูกาลเพาะปลูก  ภูมิอากาศจะเอื้ออำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี  แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นของผู้ผลิต  คือ  ชาวนาหรือเกษตรกรเท่าที่ควร  หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็นเหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม  ส่วนจิตร ภูมิศักดิ์  ใช้กลวิธีการบรรยายเสมือนว่าชาวนาเป็นผู้บรรยายเรื่องราวให้ผู้อ่านฟังด้วยตนเอง  อย่างไรก็ตามแนวคิดของกวีทั้งสองคนคล้ายคลึงกัน  คือ  ต้องการสื่อให้ผู้อ่านได้เห็นว่าสภาพชีวิตชาวนาในทุกแห่งและทุกสมัยต้องประสบกับความทุกข์ยากไม่แตกต่างกัน

        สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้ทรงเริ่มต้นด้วยการยกบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์  ซึ่งแต่งด้วยกาพย์ยานี 11 จำนวน 5 บท  มีเนื้อหาเกี่ยวกับความยากลำบากของชาวนาที่ปลูกข้าวซึ่งเป็นอาหารสำคัญของคนทุกชนชั้น  พระองค์ทรงเห็นด้วยกับบทกวีนี้และยังทรงกล่าวอีกว่าเนื้อหาบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์  สอดคล้องกับบทวีของหลี่เชิน กวีชาวจีนที่แต่งไว้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง  แสดงให้เห็นว่าสภาพชีวิตองชาวนาไม่ว่าที่แห่งใดในโลกจะเป็นไทยหรือจีน  จะเป็นสมัยใดก็ตาม  ล้วนแล้วแต่มีความยากแค้นลำเค็ญเช่นเดียวกัน
        ดังนั้นแนวคิดสำคัญของบทความพระราชนิพนธ์เรื่อง  ทุกข์ของชาวนาในบทกวี  จึงอยู่ที่ความทุกข์ยากของชาวนา  และสภาพชีวิตของชาวนาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอดังความที่ว่า

        “…แม้ว่าในฤดูกาลนั้นภูมิอากาศจะอำนวยให้ให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี  แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นประโยชน์ของผู้ผลิตเท่าที่ควร…”

        แม้ว่าในบทความนี้จะไม่ได้มีการเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา  แต่แนวคิดของเรื่องที่แจ่มแจ้งและชัดเจนดังที่กล่าวมาจะมีผลให้สังคมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประจักษ์และตระหนักถึงความสำคัญของชาวนา  และเล็งเห็นปัญหาต่าง ๆ อันอาจจะนำไปสู่การแสวงหาหนทางแก้ไขในท้ายที่สุด
        พระราชนิพนธ์  เรื่อง  ทุกข์ของชาวนาในบทกวี  แสดงให้เห็นถึงความเข้าพระทัยและเอาพระทัยใส่ในปัญหาการดำรงชีวิตของชาวนาไทย  ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงพระเมตตา  อันเปี่ยมล้นของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวนาผู้มีอาชีพปลูกข้าวเป็นหลัก  เริ่มชีวิตและการทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ  ทำงานแบบหลังสู้ฟ้า  หน้าสู้ดิน  ตลอดทั้งปี  ดังนั้นในฐานะผู้บริโภค  จึงควรสำนึกในคุณค่าและความหมายของชาวนาที่ปลูก “ข้าว” อันเป็นอาหารหลักเพื่อการมีชีวิตอยู่รอดของคนไทย

มงคลสูตรคำฉันท์

มงคลสูตรคำฉันท์
ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อพ.ศ.2466
ลักษณะคำประพันธ์ กาพย์ฉบังและอินทรวิเชียรฉันท์ แทรกคาถาบาลี

เนื้อเรื่องย่อ
        พระอานนท์ เป็นผู้เล่าว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเชตวันวิหาร ซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย ตอนประถมยาม มีเทวดารัศมีเจิดจ้ามาเข้าเผ้าพระพุทธองค์ ทูลถามถึงเรื่องมงคลพระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาถึงมงคล 38 ประการ เทวดาและมนุษย์ผู้ปฎิบัติตาม จะเป็นผู้ประเสริฐ ไม่แพ้ในที่ใดๆ ได้รับความเจริญสวัสดีทุกประการ

มงคล 38 ประการเทียบกับคำฉันท์

1. ไม่คบคนพาล 1. หนึ่งคือ บ่ คบคนพาล จะพาประพฤติผิด
2. คบบัณฑิต 2. หนึ่งคบกะบัณฑิต เพราะจะพาประสบผล
3. บูชาผู้ที่ควรบูชา 3. หนึ่งกราบก่อนบูชา อภิปูชนีย์ชน
4. อยู่ในประเทศอันสมควร 4. ความอยู่ประเทศซึ่ง เหมาะและควรจะสุขี
5. เคยทำบุญไว้กาลก่อน 5. อีกบุญญะการที่ ณ อดีตะมาดล
6. ตั้งตนไว้ชอบ 6. อีกหมั่นประพฤติควร ณ สภาวะแห่งตน
7. สดับตรับฟังมาก 7. ความได้สดับมาก และกำหนดสุวาที
8. มีศิลปะ 8. อีกศิลปศาสตร์มี จะประกอบมนุญการ
9. มีวินัย 9. อีกหนึ่งวินัยอัน นรเรียนและเชี่ยวชาญ
10. มีวาจาเป็นสุภาษิต 10.อีกคำเพราะบรรสาน ฤดิแห่งประชาชน
11. บำรุงมารดาบิดา 11.บำรุงบิดามา- ตุระด้วยหทัยปรีย์
12. สงเคราะห์บุตร 12.หากลูกและเมียมี ก็ถนอมประหนึ่งตน
13. สงเคราะห์ภรรยา 13.หากลูกและเมียมี ก็ถนอมประหนึ่งตน
14. การงานไม่คั่งค้างอากูล 14.การงานกระทำไป บ่มิยุ่งและสับสน
15. ให้ทาน 15.ให้ทาน ณ กาลควร
16. ประพฤติธรรม 16.และประพฤติสุธรรมศรี
17. สงเคราะห์ญาติ 17.อีกสงเคราะห์ญาติที่ ปฏิบัติบำเรอตน
18. ประกอบการงานไม่มีโทษ 18.กอบกรรมะอันไร้ ทุษกลั้วและมัวมล
19. เว้นจากบาป 19.ความงดประพฤติบาป อกุศลบ่ให้มี
20. สำรวมจากการดื่มน้ำเมา 20.สำรวมวรินทรีย์ และสุราบ่เมามล
21. ไม่ประมาทในธรรม 21.ความไม่ประมาทใน พหุธรรมะโกศล
22. เคารพ 22.เคารพ ณ ผู้ควร จะประณตและนอบศีร์
23. สงบเสงี่ยมเจียมตัว 23.อีกหนึ่งมิได้มี จะกระด้างและจองหอง
24. ยินดีด้วยของของตน(สันโดษ) 24.ยินดี ณ ของตน บ่มิโลภทะยานปอง
25. รู้คุณท่าน 25.อีกรู้คุณาของ นรผู้ประคองตน
26. ฟังธรรมตามกาล 26.ฟังธรรมะโดยกา- ละเจริญคุณานนท์
27. อดทน 27.มีจิตตะอดทน และสถิต ณ ขันตี
28. ว่าง่าย 28.อีกนัยหนึ่งบ่พึงมี ฤดิดื้อทะนงหาญ
29. เห็นสมณะ 29.หนึ่งเห็นคณาเลิศ สมณาวราจารย์
30. สนทนาธรรมตามกาล 30.กล่าวธรรมะโดยกาล วรกิจจะโกศล
31. บำเพ็ญตบะ (ความเพียร) 31.เพียรเผากิเลสล้าง มละโทษะยายี
32. ประพฤติพรหมจรรย์ 32.อีกหนึ่งประพฤติดี ดุจะพรหมพิสุทธิ์สรรพ์
33. เห็นอริยสัจ 33.เห็นแจ้ง ณ สี่องค์ พระอรียสัจอัน
34. ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน 34.อีกทำพระนิพพา- นะประจักษะแก่ตน
35. จิตไม่หวั่นไหวเมื่อต้องโลกธรรม 35.จิตใครผิได้ต้อง วรโลกะธรรมศรี
36. จิตไม่เศร้าโศก 36.ไร้โศกธุลีสูญ
37. จิตปราศจากธุลี 37. ไร้โศกธุลีสูญ
38. จิตเกษม(ปลอดโปร่งจากกิเลส) 38.และสบายบ่มัวมล

แนวคิดสำคัญ
        ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต เกิดจากการประพฤติปฏิบัติของตนเองทั้งสิ้น หาได้เกิดจากผู้อื่น สิ่งอื่น หรือวัตถุโชคลางใดๆ จากภายนอก
       มงคล หมายถึง เหตุทั้งหลายอันจะทำให้บรรลุถึงความเจริญแห่งสมบัติทั้งปวง เหตุแห่งความเจริญหรือทางก้าวหน้า มีทั้งหมด 38 ประการ
       มงคลสูตร เป็นพระสูตรในขุททกนิกาย หมวดขุททกปาฐ พระธรรมเล็กๆน้อยๆ
       คุณค่าที่ได้รับจากการอ่าน
1. ได้ทราบวิธีปฏิบัติตนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต
2. มีคุณค่าทางด้านสังคม เพราะข้อปฏิบัติทุกข้อในมงคลสูตรล้วนมีค่าควรประพฤติปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้บุคคลและสังคมเจริญก้าวหน้า
3. ได้ศึกษาภาษากวีนิพนธ์ที่สละสลวย ไพเราะทั้งถ้อยคำและเนื้อความ
ค่านิยม
       มงคลทั้ง 38 ประการ ล้วนเป็นค่านิยมทางพระพุทธศาสนา ค่านิยมสูงสุดทางพระพุทธศาสนาก็คือ นิพพาน การดับพร้อมไม่เกิด แก่ เจ็บ ตาย อีกต่อไป

มหาชาติหรือมหาเวสสันดรชาดก

มหาชาติ

1. กัณฑ์ทศพร
ความย่อ
       กล่าวถึงเหตุที่จะมีเรื่องเวสสันดรชาดกขึ้น กับเล่าเรื่องพระนางผุสดีในอดีตจนถึงทูลขอพร ๑๐ ประการ จากท้าวมัฆวารผู้ภัสดา พระนางผุสดีได้รับพรทิพย์ 10 ประการ ในวันจะเกิดมาเป็นมารดาของพระเวสสันดร ณ เมืองสีพีราษฎร์
เนื้อเรื่อง
       เมื่อครั้งอดีตกาลที่ล่วงมา นครสีพีรัฐบุรีนั้นมีพระราชาพระนามสีพีราช ทรงครองเมืองโดยทศพิธราชธรรม พระราชาทรงยกบัลลังก์ให้พระโอรสขึ้นเสวยราชย์แทน เมื่อเจริญวัยสมควรแล้ว พระราชโอรสมีพระนามว่า “สัญชัย” และได้อภิเษกกับพระนางผุสดี พระธิดาแห่งราชากรุงมัททราช
พรจากภพสวรรค์
       แต่ปางก่อนนั้นผุสดีเทวีเสวยชาติเป็นอัครมเหสีของพระอินทร์ เมื่อจะสิ้นพระชนมายุจึงขอกัณฑ์ทศพรจากพระอินทร์ได้ ๑๐ ข้อ ทั้งยังเคยโปรยผงจันทร์แดงถวายพระวิปัสสีพุทธเจ้า และอธิฐานให้ได้เกิดเป็นมาร ดาพระพุทธเจ้าด้วย พร 10 ข้อนั้นมีดังนี้
1. ขอให้เกิดในกรุงมัททราช แคว้นสีพี
2. ขอให้มีดวงเนตรคมงามและดำขลับดั่งลูกเนื้อทราย
3. ขอให้คิ้วคมขำดั่งสร้อยคอนกยูง
4. ขอให้ได้นาม “ผุสดี” ดังภพเดิม
5. ขอให้มีพระโอรสเกริกเกียรติที่สุดในชมพูทวีป
6. ขอให้พระครรภ์งาม ไม่ป่องนูนดั่งสตรีสามัญ
7. ขอให้พระถันเปล่งปลั่งงดงามไม่ยานคล้อยลง
8. ขอให้เส้นพระเกศาดำขลับตลอดชาติ
9. ขอให้ผิดพรรณละเอียดบริสุทธิ์ดุจทองคำธรรมชาติ
10. ขอให้ได้ปลดปล่อยนักโทษที่ต้องอาญาประหารได้

อานิสงส์
       ผู้ใดบูชากัณฑ์ทศพร ผู้นั้นจะได้รับทรัพย์สมบัติดังปรารถนา ถ้าเป็นสตรีจะได้สามีเป็นที่ชอบเนื้อเจริญใจ บุรุษจะได้ภรรยาเป็นที่ต้องประสงค์อีกเช่นเดียวกัน จะได้บุตรหญิงชายเป็นคนว่านอนสอนง่ายมีรูปกายงดงาม มีความประพฤติดีกิริยาเรียบร้อยทุกประการฯ
ข้อคิดประจำกัณฑ์
       การทำบุญจักให้สำเร็จสมประสงค์ต้องอธิษฐานจิต ตั้งเป้าหมายชีวิตที่ตนปรารถนาไว้ ความปรารถนาที่จะสำเร็จสมดังตั้งใจ ผู้นั้นต้องมีศีลบริบูรณ์ กล่าวคือ
1. ต้องกระทำความดี
2. ต้องรักษาความดีนั้นไว้
3. หมั่นเพิ่มพูนความดีให้มากยิ่งขึ้น 

2. กัณฑ์หิมพานต์
ความย่อ
       กล่าวถึงปฏิสนธิพระนางผุสดี พระเวสสันดร และพระชาลี-กันหา ไปจนถึงพราหมณ์เมืองกลิงครัฐ ๘ คน มาทูลขอพญาช้างปัจจัยนาคจากพระเวสสันดร พระเวสสันดรพระราชทานให้ ทำให้ชาเมืองแค้นเคืองใจ พากันเดินขบวนประท้วงทูลพระราชบิดาให้เนรเทศพระเวสสันดรไปอยู่เขาวงกตหรือประหารด้วยท่อนจันทน์
เนื้อเรื่อง
       ได้มาเกิดเป็นอัครชายา ของพระราชาแคว้นสีพีรัฐสมดั่งคำพระอินทร์นั้น พระนางยังมีพระสิริโฉมงดงามตามคำพรอีกด้วย ครั้งเมื่อทรงพระครรภ์ครบ ๑๐ เดือน พระอินทร์ก็ทูลอาราธนาพระโพธิสัตว์มาจุติในครรภ์พระนาง
ประสูติพระกุมาร
       วันหนึ่งพระนางผุสดีทรงทูลขอพระราชาประพาสพระนคร เมื่อขึ้นสีวิกาเสลี่ยงทองเสด็จสัญจร ไปถึงตรอกทางของเหล่าพ่อค้าก็เกิดปวดพระครรภ์ และทรงประสูติพระราชาโอรสกลางตรอกนั้น พระราชกุมารจึงได้พระนามว่า “เวสสันดร”
       ในวันที่พระราชกุมารทรงประสูติ พญาช้างฉัททันต์ได้นำลูกช้างเผือกเข้ามาในโรงช้างต้น ช้างเผือกคู่เผือกคู่บารมีนั้นมีนามว่า “ปัจจัยนาเคนทร์”
       พระราชกุมารเวสสันดร ทรงบริจาคทานตั้งแต่ 4-5 ชันษา ทรงปลดปิ่นทองคำ และเครื่องประดับเงินทองแก้วเพชรให้แก่นางสนมกำนัลทั่วทุกคนถึง 9 ครั้ง เพื่อมุ่งหวังพระโพธิญาณภายภาคหน้า
       เมื่อทรงเจริญชันษาได้ 9 ปี ก็ทรงตั้งจิตอธิษฐานว่าจะบริจาคเลือดเนื้อ และดวงหทัยเพื่อมุ่งพระโพธิญาณในกาลข้างหน้าอย่างแน่วแน่
       ครั้นถึงวัย 16 พรรษา ก็แตกฉานในศิลปวิทยา 18 แขนง ทรงได้ขึ้นครองราชย์และอภิเษกกับพระนางมัทรี และมีพระโอรสกับพระธิดาพระนามว่า “ชาลีกุมาร” และ “กัณหากุมารี” อันหมายถึงห่วงทองบริสุทธิ์
       เวลาต่อมาเมืองกลิงครัฐเกิดกลียุค ฝนแล้งผิดฤดูกาลข้าวยากหมากแพงเป็นที่ยากเข็ญทุกข์ร้อนไปทั่ว ชาวนครมาชุมนุมร้องทุกข์หน้าวังกันแน่นขนัด พระเจ้ากลิงคราชจึงทรงถือศีล 7 วัน เพื่อขอบุญกุศลช่วย ทว่าฝนฟ้าก็ยังแล้งหนัก อำมาตย์จึงทูลให้ทรงขอช้างเผือกแก้วปัจจัยนาเคนทร์ของพระเวสสันดร ด้วยว่าพระเวสสันดรกษัตริย์สีพีรัฐนั้นขี่ช้างคู่บารมีไปหนใด ก็มีฝนโปรยปรายชุ่มชื้นไปทั่วแคว้น
       พระเจ้ากลิงคราชจึงส่ง 8 พราหมณ์ไปทูลขอช้างแก้วจากพระเวสสันดร เมื่อได้ช้างแก้วจากพระเวสสันดรแล้ว พราหมณ์ก็ขี่ช้างออกจากกรุง บรรดาชาวนครเห็นช้างพระราชาก็กรูกันเข้าล้อม และตะโกนด่าทอจะทำร้ายพราหมณ์ทั้ง 8 คน แต่พราหมณ์ตวาดตอบว่า พระเวสสันดรพระราชทานช้างให้พวกตนแล้ว
       เมื่อพราหมณ์นำช้างแก้วไปถึงเมือง ฝนฟ้าก็โปรยปรายลงมาเป็นที่ยินดีทั้งแคว้น แต่ในกรุงสีพีนั้นกลับอลหม่าน มหาชนต่างมาชุมนุมที่หน้าพระลานร้องทุกข์พระเจ้ากรุงสัญชัยว่า พระเวสสันดรยกพระยาคชสารคู่บ้านเมืองให้คนอื่น ผิดราชประเพณี เกรงว่าอีกต่อไปภายหน้าอาจยกเมืองให้คนอื่นก็ได้ ขอให้เนรเทศพระเวสสันดรออกจากนครเถิด
อานิสงส์
       ผู้ใดบูชากัณฑ์หิมพานต์ย่อมได้สิ่งปรารถนาทุกประการ ครั้นตายแล้วได้ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เสวยสมบัติอันมโหฬาร มีบริวารแวดล้อมบำรุงบำเรออยู่เป็นนิตย์ จุติจากสวรรค์แล้วจะลงมาเกิดในตระกูลขัตติยะมหาศาล หรือตระกูลพราหมณ์มหาศาล อันบริบูรณ์ด้วยทรัพย์ศฤงคาร บริวารมากมายนานาประการ เช่น โค กระบือ ช้าง ม้า รถ ยานพาหนะจะนับจะประมาณมิได้ ประกอบด้วยสุขกายสบายใจทุกอิริยาบถฯ

ข้อคิดประจำกัณฑ์
1. คนดีเกิดมานำพาโลกให้ร่มเย็น
2. โลกต้องการผู้เสียสละ มิฉะนั้นหายนะจะบังเกิด
3. การทำดีย่อมมีอุปสรรค “มารไม่มีบารมีไม่มา มารยิ่งมาบารมียิ่งแก่กล้า”
4. จุดหมายแห่งการเสียสละ อยู่ที่พระโพธิญาณมิหวั่นไหวแม้จะได้รับทุกข์

3. กัณฑ์ทานกัณฑ์
ความย่อ
       กล่าวถึงพระราชมารดา รับอาสาไปทูลวิงวอนขอโทษพระเจ้ากรุงสัญชัย ให้ทรงลดหย่อนผ่อนโทษแต่ไม่สำเร็จ จากนั้นพระเวสสันดรทรงบำเพ็ญมหาทาน เรียกว่า “สัตตสดกมหาทาน” แล้วทูลลาพระชนกชนนี ทรงขึ้นราชรถเวียนรอบเมือง มีพราหมณ์ 4 คนมาทูลขอม้าและราชรถพระองค์ก็เปลื้องปลดพระราชทานให้
เนื้อเรื่อง
       พระเจ้ากรุงสัญชัยจำต้องเนรเทศพระราชโอรสด้วยเสียพระทัยนัก พระนางผุสดีทูลขออภัยโทษก็มิเป็นผลสำเร็จ พระเวสสันดรทูลลาพระมารดาพระบิดา และขอบริจาคทานให้พิธีสัตตสตกมหาทาน คือ ช้าง ม้า โคนม รถม้า ทาสและทาสี อย่างละ 700 บริจาคให้คนทั่วไป
       สัตตสตกมหาทานนั้น คือ ช้าง 700 เชือก ม้า 700 ตัว โคนม 700 ตัว รถม้า 700 คัน นารี 700 นาง ทาส 700 คน ทาสี 700 คน ผ้าอาภรณ์ 700 ชิ้น
เสด็จออกจากนคร
       พระนางมัทรีพาพระโอรสและพระธิดาตามเสด็จออกป่าด้วย มิทรงยอมอยู่ในวังแม้พระเวสสันดรจะยับยั้งห้ามปราม มิให้มาตกระกำลำบากด้วยกันในป่า ระหว่างทางที่เสด็จขึ้นราชรถทองไปนั้น มีพราหมณ์วิ่งมาทูลขอม้าบ้าง ขอราชรถบ้าง พระเวสสันดรก็ยกให้ทั้งสิ้น ในที่สุดจึงต้องทรงอุ้มพระโอรสและพระธิดาเสด็จเข้าป่าไป
อานิสงส์
       ผู้ใดบูชากัณฑ์ทานกัณฑ์ จะบริบูรณ์ด้วยแก้วแหวนเงินทอง ทาส ทาสี และสัตว์สองเท้าสี่เท้า ครั้นตายแล้วจะได้ไปเกิดในฉกามาพจรสวรรค์ มีนางเทพอัปสรแวดล้อมมากมาย เสวยสุขอยู่ในปราสาทสร้างด้วยแก้ว ๗ ประการ

ข้อคิดประจำกัณฑ์
1. ความรักของแม่ ความห่วงของเมีย
2. โทษทัณฑ์ของการเป็นหม้าย คือ ถูกประนามหยามหมิ่นอาจถึงจบชีวิตด้วยการก่อกองไฟให้รุ่งโรจน์แล้วโดดฆ่าตัวตาย
3. เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม พึงยอมเสียสละประโยชน์สุขส่วนตัว
4. ยามบุญมีเขาก็ยก ยามตกต่ำเขาก็หยาม ชีวิตมีทั้งชื่นบานและขื่นขม

4. กัณฑ์วนประเวศน์
ความย่อ
       กล่าวถึงพระเวสสันดร มัทรี ชาลี กัณหา เสด็จมุ่งสู่ป่าเขาคีรีวงกต โดยอาศัยไมตรีจิตมิตรกษัตริย์ เมืองเจตราชทูลระยะทาง จนกระทั่งถึง ทั้งสี่พระองค์ทรงบำเพ็ญพรตอยู่ในนั้นเป็นเวลา ๗ เดือน กษัตริย์เจตราชแต่งตั้งพรานเจตบุตรเป็นผู้อยู่คอยพิทักษ์รักษาสวัสดิภาพของพระเวสสันดร
เนื้อเรื่อง
       เมื่อเสด็จด้วยพระบาทถึงเมืองเจตรัฐ พระราชาเสด็จมาต้อนรับและทูลเชิญให้ครองเมืองเจตรัฐนั้น แต่พระเวสสันดรขอไปบำเพ็ญเพียรในป่า กษัตริย์เจตรัฐจึงรับสั่งให้เจตบุตรคอยอารักขาในป่า และถวายน้ำผึ้งและเนื้อให้พระเวสสันดรด้วย
       เมื่อพระเวสสันดรเดินทางมาถึงเขาวงกต พระนางมัทรีและชาลีกุมาร กัณหากุมารีต่างก็เหน็ดเหนื่อยสะอื้นไห้ด้วยความลำบากยากเข็ญ พระเวสสันดรจึงทรงเปลี่ยนเครื่องทรงเป็นนุ่งห่มของนักบวช พระนางมัทรีก็ทรงบวชเป็นดาบสินี บำเพ็ญศีลกันในป่าอยู่ที่อาศรม พระนางมัทรีต้องปัดกวาดอาศรมทุกวันแล้วก็หาผลไม้ในป่า ตักน้ำมาเตรียมไว้
       ในป่านั้นอุดมด้วยผลไม้นานาชาติ มีสระโบกขรณีน้ำสะอาดใสไหลเย็น มีพฤกษาร่มรื่นและมีดอกไม้หอมหวลทั่วทั้งป่าราวกับวิมานทิพย์
อานิสงส์
       ผู้ใดบูชากัณฑ์เทศน์วนประเวศน์จะได้รับความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า จะได้เป็นบรมกษัตริย์ในชมพูทวีปเป็นผู้ทรงปรีชา เฉลียวฉลาด สามารถปราบอริราชศัตรูให้ย่อยยับไปฯ

ข้อคิดประจำกัณฑ์
1. ยามเห็นใจ ยามจน ยามเจ็บ ยามจากเป็นยามที่ควรจะได้รับความเหลียวแล
2. ผลดีของมิตรแท้ คือ ไม่ทอดทิ้งในยามเพื่อนทุกข์ ช่วยอุ้มชูยามเพื่อนอ่อนล้า ช่วยฉุดดึงยามเพื่อนตกต่ำ
4. น้ำใจของคนดี หากรู้ชัดว่าปกติสุขของคนส่วนมากจะตั้งอยู่ได้ เพราะการเสียสละของตน ก็สมัครสลัดโอกาสและโชคลาภอันจะพึงได้ ด้วยความชื่นชม

5. กัณฑ์ชูชก
ความย่อ
       กล่าวถึงเฒ่าชราตาชูชก ได้เร่ร่อนขอทาบแล้วนำเงินไปฝากเพื่อนไว้ แต่เพื่อนก็นำเงินไปใช้จนหมด เมื่อชูชกไปทวงจึงไม่มีจะให้ จึงยกนางอมิตตดาธิดาสาวให้แทน นางปฏิบัติต่อสามีดี จนเป็นเหตุให้พราหมณีเพื่อนบ้านพากันอิจฉาด่าว่าตบตี เลยไม่ยอมทำงานนอก และแนะให้เฒ่าชูชกไปทูลขอสองกุมารมาเป็นข้าทาสรับใช้
เนื้อเรื่อง
       ชูชก ขอทานเฒ่า อีกด้านหนึ่งนั้น พราหมณ์นาม “ชูชก” ได้เที่ยวขอทานเก็บเงินได้ถึง ๑๐๐ กษาปณ์ จึงนำเงินไปฝากเพื่อนไว้พลางคุยอวดเศรษฐีอย่างปีตินัก จากนั้นก็ออกเดินทางตระเวนขอเงินสืบไป
       ส่วนพราหมณ์ผัวเมียเก็บเงินไว้นานแล้ว เห็นว่าชูชกไม่มาเอาสักที คิดว่าชูชกคงจะตายไปแล้ว จึงชวนกันนำเงินนั้นออกมาใช้จ่ายเสียจนหมดทั้งสิ้น
       ครั้นชูชกหวนกลับมาทวงเอาเงิน สองผัวเมียก็ตกใจงันงกมิรู้จะทำประการใด ด้วยความที่กลัวชูชกจะเอาความ จึงตกลงจะยกนางอมิตดาลูกสาวให้แก่ชูชกแทนเงินที่ใช้หมดไป
       นางอมิตดามีรูปงามและวัยสาว ส่วนชูชกนั้นเฒ่าชราและมีรูปลักษณ์อุบาทว์อัปลักษณ์ยิ่งนัก เมื่อชูชกพานางอมิตดาไปอยู่กินด้วยกันที่หมู่บ้านทุนวิฐ พวกเมียพราหมณ์บ้านอื่นต่างพากันริษยาอิจฉานางอมิตดา พราหมณ์ทั้งหมู่บ้านก็ชื่นชมนางอมิตดาจนมาทุบตีเมียตนกันทุกวัน ด้วยเพราะนางอมิตดานั้นเป็นบุตรกตัญญู เมื่อมาอยู่กับชูชกก็ปรนนิบัติรับใช้ทุกประการ
อานิสงส์
       ผู้ใดบูชากัณฑ์ชูชก จะเป็นผู้ที่มีทรัพย์สินมาก และเป็นผู้ที่เป็นที่รักของคนในชุมชน มีอาชีพหน้าที่การงานสมบูรณ์  และสุจริต

ข้อคิดประจำกัณฑ์
1. รักษาทรัพย์ที่มีคนมาฝากไว้  ไม่ควรที่จะนำมาใช้จ่าย  เพราะทรัพย์มีเจ้าของ
2. ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนทำ ไม่โยนทุกข์ หรือความผิดใส่คนอื่น
3. หน้าที่ของภรรยาต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนต่อสามี      
4. การอยู่ร่วมกันในสังคมต้องอยู่ร่วมกันด้วยความรักและสามัคคี
5. สามีหรือผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวต้องรู้จัก  เอาใจซึ่งกันและกันในครอบครัว

6. กัณฑ์จุลพน
ความย่อ
       กล่าวถึงชูชกเดินทางไปเขาวงกต พบพรานเจตบุตร ชุชกใช้กลอุบายหลอกว่าเป็นราชทูตของพระเจ้ากรุงสัญชัย พร้อมชูกลักพริก กลักขิงเสบียงกรังที่นางอมิตตดาจัดหาให้ ว่าเป็นพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงสัญชัย จนพรานเจตบุตรหลงเชื่อ จึงชี้บอกทางให้ไปจนถึงอาศรมบทของพระอัจจุตฤาษี
เนื้อเรื่อง
       พรานเจตบุตรผู้มีรูปร่างกำยำไว้หนวดแดงหน้าตาถมึงทึง ก็ถือหน้าไม้อาบยาพิษมาหาชูชกหมายจะฆ่าให้ตาย ตามคำสั่งกษัตริย์เจตรัฐ เฒ่าชูชกเจ้าเล่ห์คิดอุบายเอาตัวรอดจึงตัวสั่นงันงกรีบร้องว่า ตนเองเป็นราชทูตของพระราชา มาทูลเชิญเสด็จพระเวสสันดรกลับวัง เพราะพระราชาทรงอภัยโทษแล้ว พรานเจตบุตรได้ยินก็ดีใจจึงเชื่อคำเท็จนั้น จึงจัดเสบียงเพิ่มให้ชูชกและชี้ทางให้อีกด้วย
อานิสงส์
       ผู้ใดบูชากัณฑ์จุลพน แม้จะบังเกิดในปรภพใด ๆ จะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติบริวาร จะมีอุทยานอันดารดาษด้วยดอกไม้หอมตลบไป แล้วจะมีสระโบกขรณีอันเต็มไปด้วยปทุมชาติ ครั้นตายไปแล้วก็ได้เสวยทิพยสมบัติในโลกหน้าสืบไปฯ

ข้อคิดประจำกัณฑ์
1. มีอำนาจหากขาดปัญญาย่อมถูกหลอกได้ง่าย
2. คนโง่ย่อมเป็นเหยื่อของคนฉลาด
3. ไว้ใจทาง วางใจคน จะจนใจตัว

7. กัณฑ์มหาพน
ความย่อ
       กล่าวถึงชูชกเดินทางไปพบพระอัจจุตฤาษี ได้หลอกลวงพระฤาษีให้หลงกลว่าเป็นกัลยาณมิตรของพระเวสสันดร จนได้พักค้างคืนกับพระฤาษี รุ่งขึ้นพระฤาษีได้ให้กินผลไม้ และชี้ให้ชมเขาลำเนาไพรพร้อมบอกระยะทางสภาพป่า และหนทางที่จะไปสู่เขาวงกตให้แก่ชูชก ซึ่งประกอบไปด้วย เขาใหญ่ สระน้ำ และสัตว์ป่านานาชนิด
เนื้อเรื่อง
       เฒ่าชูชกเดินทางไปกลางป่า พบฤาษีอัตจุตก็เล่าความเท็จอีก ฤาษีจึงยอมชี้ทางไปอาศรมของพระเวสสันดร เมื่อไปถึงเป็นเวลาพลบค่ำ เฒ่าชูชกก็ซ่อนตัวบนชะง่อนเขาด้วยคิดว่า ต้องรอรุ่งเช้าให้พระนางมัทรีออกไปหาผลไม้ เพราะนางคงไม่ยอมยกลูกให้ใครแน่
อานิสงส์
       ผู้ใดบูชากัณฑ์มหาพน จะได้เสวยสมบัติในดาวดึงส์เทวโลกนั้น แล้วจะได้ลงมาเกิดเป็นกษัตริย์มหาศาล มีทรัพย์ศฤงคารบริวารมาก มีอุทยานและสนระโบกขรณีเป็นที่ประพาส เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยศักดานุภาพเฟื่องฟุ้งไปทั่วชมพูทวีป อีกทั้งจักได้เสวยอาหารทิพย์เป็นนิจนิรันดรฯ

ข้อคิดประจำกัณฑ์
1. ฉลาดแต่ขาดเฉลียว มีปัญญาแต่ขาดสติก็เสียทีพลาดท่าได้
2. สงสารฉิบหาย เชื่อง่ายเป็นทุกข์
3. คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ ซื้อเสื่อให้ดูลาย

8. กัณฑ์กุมาร
ความย่อ
       กล่าวถึงชูชกเดินทางถึงอาศรมของพระเวสสันดร ได้หยุดพักผ่อนที่คาคบไม้ ๑ ราตรี รุ่งขึ้นเมื่อนางมัทรีเข้าป่าหาผลไม้แล้ว ชูชกจึงเข้าเฝ้าทูลขอพระชาลีและกัณหา ก็ทรงประทานให้ สองกุมารได้ยิน จึงตกใจกลัวหนีไปซ่อนตัวอยู่ในสระ พระเวสสันดรได้ขอร้องให้ทั้งสองพระองค์ออกมา แล้วชูชกก็นำทั้งสองพระองค์ไป
เนื้อเรื่อง
       เคราะห์ร้ายมาถึง และในคืนนั้นเอง พระนางมัทรีทรงสุบินร้ายว่า มีบุรุษผิวดำร่างสูงใหญ่นุ่งผ้าย้อมฝาด สองหูทัดดอกไม้แดง มือถือดาบใหญ่ ตรงเข้าจิกพระเกศาแล้วแทงดาบใส่ดวงพระเนตร ควักดวงตาออกไปทั้งสองข้าง จากนั้นกรีดพระอุระควักเอาพระทัยไปทั้งดวง
       พระนางร้องลั่นสะดุ้งตื่นบรรทมพระวรกายสั่นสะท้าย รีบไปหาพระเวสสันดรเพื่อจะให้ทำนายฝัน แต่เมื่อเข้าไปในอาศรมพระเวสสันดรก็ตรงตรัสว่า
       “น้องหญิงจงเล่าความอยู่ที่ข้างนอกเถิด”
       พระนางมัทรีทรงทูลเล่าพระสุบินนั้นพระทัยสั่น พระเวสสันดรทรงทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นในรุ่งเช้า แต่ทรงตรัสแก่พระนางว่าเป็นความตรากตรำลำบาก จึงทำให้เกิดธาตุวิปริตดังนี้
       เมื่อรุ่งเช้าพระนางมัทรีมีลางสังหรณ์ไม่อยากเสด็จเข้าป่า จึงตรัสสั่งพระโอรสและธิดาให้อยู่ใกล้ ๆ เสด็จพ่อ ครั้นพระนางมัทรีไปแล้ว เฒ่าชูชกจึงรีบเข้าไปยังบริเวณอาศรมทันที เมื่อพระกุมารชาลีเข้าไปถามต้อนรับ ชูชกสังเกตรู้ว่าพระกุมารเป็นเด็กฉลาด จึงทรงร้องตวาดไล่ไปด้วยหวังจะข่มให้กลัวแล้วหนีไป แล้วเฒ่าชูชกก็เข้าเฝ้าพระเวสสันดร พยายามอ้างถึงความลำบากยากเข็ญนานาประการ ในการเดินทางฝ่าอันตรายมาถึงป่านี้ ก็เพื่อขอปิยบุตรไปช่วยงานที่บ้าน เนื่องจากตนจนยากไม่มีเงินซื้อทาสได้
       พระเวสสันดรทรงตรัสอนุญาต ชาลีกุมารแอบได้ยินจึงพาน้องสาวไปซ่อนที่ใต้ใบบัวข้างสระน้ำ เฒ่าชูชกเห็นเด็กทั้งสองหายไป ก็แกล้งติเตียนตัดพ้อพระเวสสันดรด้วยคำบริภาษว่า
       “ไหนล่ะที่พระองค์บริจาคทาน ปากยกให้แต่ไหนละเด็กร้ายทั้งสองคงจะคิดหนีไปแล้ว พระองค์มิได้มีจิตบริจาคทานตามที่ลั่นสัจจะไว้เลย”
       เมื่อสดับดังนั้น พระเวสสันดรจึงทรงเสด็จออกตามหาทั่วบริเวณ ชาลีราชกุมารมิอยากให้พระราชบิดาออกร้องเรียกนานไป จึงจูงน้องออกมา พระเวสสันดรขอให้กัณหา ชาลี ติดตามเฒ่าชูชกไปเถิด แต่ให้รอร่ำลาพระนางมัทรีก่อน เฒ่าชูชกไม่ยอมฟัง รีบหาเชือกเถาวัลย์มาผูกมัดพระโอรสพระธิดา แล้วเอาหวายเฆี่ยนตีต่อหน้าพระเวสสันดร พลางฉุดกระชากลากไปอย่างโหดเหี้ยม
       กัณหา ชาลี ถูกตีรุนแรงก็ร่ำไห้หาพระบิดาพระมารดา พระเวสสันดรทรงกันแสง แต่ก็ตั้งมั่นในสัจจะที่พระองค์ตั้งจิตไว้ ก่อนไปนั้นชูชกว่า ถ้าจะไถ่ตัวกันหาชาลีได้ต้องให้ ทาส ทาสี ช้าง ม้า โคนม ทองคำ สิ่งละ 100 แก่ชูชก
       ครั้นเมื่อเฒ่าร้ายนำตัวพระกุมารและกุมารีไปแล้ว ก็ให้เกิดอัศจรรย์ดินฟ้าวิปโยคครืนครั่น ฟ้าผ่าน่าสะพรึงกลัวไปทั่วป่าหิมพานต์
อานิสงส์
       ผู้ใดบูชากัณฑ์กุมาร ย่อมประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา ครั้นตายไปได้เกิดในฉกามาพจรสวรรค์ในสมัยพระศรีอาริยเมตไตรยมาอุบัติ ก็จะได้พบศาสนาของพระองค์จะได้ถือปฏิสนธิในตระกูลกษัตริย์ ตลอดจนได้สดับฟังพระสัทธรรมเทศนาของพระองค์ แล้วบรรลุพระอรหันตผล พร้อมปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ด้วยบุญราศีที่ได้อบรมไว้ฯ

ข้อคิดประจำกัณฑ์
1. ความเป็นผู้รู้จักกาลเทศะ ไม่ผลีผลามเข้าไปขอรอจนพระมัทรีเข้าป่าจึงเข้าเฝ้า เพื่อของสองกุมาร เป็นเหตุให้ชูชกประสบผลสำเร็จใจสิ่งที่ตนปรารถนา ดังภาษิตโบราณว่า “ช้า ๆ จะได้พร้าเล่มงาม ด่วนได้สามผลามมักพลิกแพลง” ช้าเป็นการนานเป็นคุณ ผู้รู้จักโอกาส มีมารยาท กล้าหาญ ใจเย็น เป็นสำเร็จ
2. พ่อแม่ทุกคนรักลูกเหมือนกัน แต่เป็นห่วงไม่เท่ากัน ห่วงหญิงมากกว่าห่วงชาย เพราะท่านเปรียบไว้ว่า “ลูกหญิงเหมือนข้าวสาร ลูกชายเหมือนข้าวเปลือก”
3. สติ เตสัง นิวารณัง สติเป็นเครื่องป้องกันอันตรายทั้งปวงได้ ขันติ สาหสวารณา ขันติป้องกันความหุนหันพลันแล่นได้ เป็นเหตุให้พระเวสสันดรไม่ประหารชูชกด้วยพระขรรค์ เมื่อถูกชูชกประนาม
4. วิสัยหญิงนั้น แม้จะมากอยู่ด้วยเมตตากรุณา ชอบปลดเปลื้องทุกข์แก่ผู้อื่นก็จริงอยู่ แต่เว้นอย่างเดียว ที่ผู้หญิงนั้นไม่มีวันจะสละสิ่งนั้น คือ “ลูก”

9. กัณฑ์มัทรี
ความย่อ
       กล่าวถึงพระนางมัทรีเข้าป่าหาผลไม้ แล้วเจอเหตุการณ์มหัศจรรย์ต่าง ๆ จึงเดินทางกลับอาศรม ก็เกิดพายุใหญ่ มืดครึ้มไปทั่วบริเวณ อีกทั้งยังมีสิงห์สาราสัตว์ร้าย มาขวางทางไว้ เมื่อมาถึงอาศรมได้ทราบความ ทำให้พระองค์เสียพระทัยมาก จนสลบไป หลังจากฟื้นคืนสติกลับมา พระนางก็อนุโมทนากับพระเวสสันดรด้วย
เนื้อเรื่อง
       รุ่งเช้าพระนางมัทรี เข้าป่าหาผลไม้ “เกิดเหตุแปลกประหลาดมหัศจรรย์ ผลไม้เผือกมันช่างหายากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นมะม่วงมัน ลูกจันทน์ ลิ้นจี่ น้อยหน่า สาลี่ ละมุด พุทรา ไม่มีให้เก็บเหมือนดังกับวันก่อน นางรีบย้อนกลับเคหา ก็เกิดพายุใหญ่ จนมืดครึ้มไปทั่วทั้งป่า ท้องฟ้าสีแดงปานเลือดละเลง ทั้งแปดทิศปรากฎมืดมนไปหมดอย่างไม่เคยมี พระนางทรงห่วงหน้าพะวงหลัง เกรงจะมีภัยแต่พระเวสสันดรา กัณหาและชาลี
       พระนางมัทรีรีบยกหาบใส่บ่ารีบเดินทาง พอถึงช่องแคบระหว่างเขาคีรี เป็นตรอกน้อยรอยวิถีทางที่เฉพาะจะต้องเสด็จผ่าน ก็พบกับสองเสือสามสัตว์มานอนสกัดหน้า เทวดาสามองค์แปลงร่างเป็นราชสีห์ เสือเหลือง เสือโคร่งสกัดทางนางไว้เพื่อมิให้พระนางมัทรีติดตามกัณหา ชาลีได้ทัน แต่ถึงกระนั้น เมื่อยามทุกข์เข้าบีบคั้น ความรักลูก ความห่วงพระภัสดา พระนางจึงก้มกราบวิงวอน ขอหนทางต่อพญาสัตว์ทั้งสาม เมื่อได้หนทางแล้ว พระนางก็รีบเสด็จกลับอาศรม
       เมื่อมาถึงอาศรม ไม่พบกัณหา ชาลี พระนางก็ร้องเรียกหาว่า
       “ชาลี กัณหา แม่มาถึงแล้ว เหตุไฉนไยพระลูกแก้ว จึงไม่มารับเล่าหลากแก่ใจ แต่ก่อนร่อนชะไรสิพร้อมเพรียง เจ้าเคยวิ่งระรี่เรียงเคียงแข่งกันมารับพระมารดา เคยแย้มสรวลสำรวจร่า ระรื่นเริงรีบรับเอาขอคาน แล้วก็พากันกราบกรานพระชนนี พ่อชาลี ก็จะรับเอาผลไม้ แม่กัณหาก็จะอ้อนวอนไหว้จะเสวยนม ผทมเหนือพระเพลาพลาง เจ้าเคยฉอเลาะแม่ต่าง ๆ ตามประสาทารกเจริญใจฯ”
       บัดนี้ลูกรักทั้งคู่ไปไหนเสีย จึงมิมารับแม่เล่า ครั้นเข้าไปถามพระเวสสันดรก็ถูกตัดพ้อต่อว่าต่าง ๆ จนพระนางมัทรีถึงวิสัญญีภาพสลบลง พระเวสสันดรทรงปฐมพยาบาลจนพระนางมัทรีฟื้น แล้วจึงแจ้งความจริงว่า พระองค์ได้ทรงยกลูกรักชายหญิงทั้งสอง มอบให้แก่ชูชกไปแล้วตั้งแต่เมื่อวาน พระนางก็อนุโมทนาซึ่งทานนั้นด้วย
อานิสงส์
       ผู้ใดบูชากัณฑ์มัทรี เกิดในโลกหน้าจะเป็นผู้มั่งคั่ง สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ เป็นผู้มีอายุยืนยาว ทั้งประกอบด้วยรูปโฉมงดงามกว่าคนทั้งหลาย จะไปในที่แห่งใด ก็จะมีแต่ความสุขความเจริญทุกหนแห่ง

ข้อคิดประจำกัณฑ์
       ลูกคือแก้วตาดวงใจของผู้เป็นพ่อแม่ “ลูกดีเป็นที่ชื่นใจของพ่อแม่ ลูกแย่พ่อแม่ช้ำใจ” รักใครเล่าจะเท่าพ่อแม่รัก ห่วงใดเล่าจะเท่าพ่อแม่ห่วง หวงใดเล่าจะเท่าพ่อแม่หวง ให้ใครเล่าจะเท่าพ่อแม่ให้ เพราะฉะนั้นพึงเป็นลูกแก้ว ลูกขวัญ ลูกกตัญญู ที่ชาวโลกชื่นชม พรหมก็สรรเสริญฯ

10. กัณฑ์สักกบรรพ
ความย่อ
       กล่าวถึงพระอินทร์ เกรงว่าจะมีผู้มาขอพระนางมัทรีไปอีก จักไม่มีผู้ปรนนิบัติพรเวสสันดร พระโพธิญาณจักเป็นอันตราย จึงได้แปลงเป็นพราหมณ์ชราลงมาขอ เมื่อได้แล้วไม่เอาไป กลับถวายคืนแก่พระเวสสันดร โดยห้ามประทานนางแก่ผู้ใดอีก พร้อมทั้งประสาทพร 8 ประการ ให้แก่พระเวสสันดร แล้วจึงเสด็จกลับสู่สวรรค์

เนื้อเรื่อง
       ขณะนั้นท้าวสหัสนัยบนสวรรค์ เกรงว่าจะมีชายโฉดมาทูลขอพระนางมัทรี จึงจำแลงกายเป็นนักบวชชรามาทูลขอพระนาง พระเวสสันดรทรงยินดีบริจาคทานให้ แต่นักบวชชราเมื่อได้รับแล้วก็ไม่เอาไป กลับถวายคืนแก่พระเวสสันดร โดยห้ามพระองค์ประทานนางแก่ผู้ใดอีก
องค์อินทร์ประสาทพร ก่อนกลับได้ประสาทพรให้พระเวสสันดร 8 ประการ คือ
1. ให้ทรงได้รับอภัยโทษ
2. ให้ทรงช่วยคนถูกฆ่าได้
3. ให้ไพร่ฟ้าได้พึ่งพา
4. ให้มั่นคงในมเหสี ไม่ลุ่มหลงสตรีอื่น
5. ให้ได้สืบสันติวงศ์
6. ให้มีสิ่งของบริจาคทานมิสิ้น
7. ให้มีอาหารทิพย์พอเพียงทุกรุ่งเช้า
8. ให้ได้สำเร็จพระโพธิญาณ
แล้วท้าวสหัสนัยก็เนรมิตรร่างเป็นพระอินทร์เหาะขึ้นฟ้าไปทันที
อานิสงส์
       ผู้ใดบูชากัณฑ์สักกบรรพ จะได้เป็นผู้เจริญด้วยลาภยศ ตลอดจนจตุรพิธพรทั้ง ๔ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดกาลฯ

ข้อคิดประจำกัณฑ์
การทำดีแม้ไม่มีคนเห็น ก็เป็นความดีอยู่วันยังค่ำ ดุจทองคำแม้จะอยู่ในตู้โชว์ หรือในกำปั่นก็เป็นทองคำอยู่นั่นเอง เข้าลักษณะว่า ความ(ของ)ดีดีเด็ดเหมือนเพชรเหมือนทอง ถึงไร้เจ้าของก็เหมือนตัวยัง ถึงใส่ตู้อุด ถึงขุดหลุมฝัง ก็มีวันปลั่งอะหลั่งฉั่งชู การทำความดีแม้ไม่มีคนเห็น แต่เทพยดาอารักษ์เบื้องบนท่านย่อมรู้

11. กัณฑ์มหาราช
ความย่อ
       กล่าวถึงชูชกได้พาสองกุมารหลงทางไปจนถึงเมืองสีพี จนกระทั่งได้พบกับพระเจ้าปู่พระเจ้าย่า จึงรับสั่งให้ไถ่ถอนตัวทั้งสองพระองค์ และพระราชทานเลี้ยงอาหารชั้นดีแก่ชูชก ชูชกไม่มีวาสนาเพราะบริโภคมากเกินไป เป็นเหตุให้ไฟธาตุพิการอาหารไม่ย่อยจนถึงแก่ความตาย พระเจ้าสญชัยรับสั่งให้เตรียมกองทัพไปรับสองพระองค์
เนื้อเรื่อง
       ด้านชูชกเฒ่านั้นฉุดลากสองกุมารน้อยไปพลางทุบตีไปพลาง ด้วยหวังจะกลับไปหาภรรยาโดยเร็ว เมื่อถึงทางแยกเข้าเมืองกลิงคราฐ เทพยดาก็ดลบันดาลให้ชูชกเดินเข้ามาในเมืองสีพีรัฐ
       พระเจ้ากรุงสัญชัยก็ได้ทรงสุบินประหลาดว่า มีชายอัปลักษณ์นำดอกบัวตูมและดอกบัวบานมาถวายให้ พระองค์รับมาทัดที่พระกรรณแล้วก็ทรงตื่นบรรทม เหล่าโหรก็ถวายคำทำนายว่า พระราชวงศ์ที่จากพลัดไปจะเสด็จคืนวัง
       วันรุ่งขึ้นนั้นเฒ่าชูชกจูงกุมารน้อยผ่านหน้าพระลาน พระราชาทรงเฉลียวพระทัย จึงให้เรียกตัวเฒ่าอัปลักษณ์และกุมารน้อย มอมแมมแต่ผิวพรรณเปล่งปลั่งนั้นเข้ามาเฝ้า เมื่อพระราชาสอบถาม ชูชกก็กราบทูลว่าได้รับบริจาคมามิได้ไปฉุดคร่ามาที่ใด
พระราชาจึงทรงรู้ว่า 2 กุมารน้อยนั้นเป็นหลานของพระองค์ จึงทรงไถ่ตัวหลานและพระราชทานรางวัลให้แก่ชูชกมากมาย ทั้งยังจัดอาหารคาวหวานชั้นเลิศมาให้แก่ชูชกอีกด้วย
       ขอทานเฒ่าไม่เคยเห็นอาหารชั้นดี มีความโลภจะกินให้หมด จึงกินเข้าไปไม่หยุดจนกระทั่งท้องแตกตายไป
       พระราชาเจ้ากรุงสัญชัยทรงจัดพิธีเวียนเทียนบายศรี สมโภชรับขวัญหลานเป็นที่ยิ่งใหญ่สมเกียรติ ครั้นแล้วก็ทรงถามถึงพระนางมัทรีและพระเวสสันดร ที่จากไปนานเป็นเวลา 1 ปี 15 วันแล้ว
“พระมารดาทรงลำบากเหลือแสนพระเจ้าข้า”
ชาลีราชกุมารทูลพระราชาด้วยสุระเสียงกำสรดยิ่งนัก
       เสด็จคืนเวียงวัง พระราชาจึงทรงให้จัดขบวนแต่งกองเกียรติยศ ยกออกนครไปรับพระเวสสันดร กลับสู่เวียงวังด้วยทรงคิดถึงราชบุตรและสำนึกผิดแล้ว
อานิสงส์
       ผู้ใดบูชากัณฑ์มหาราชจะได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ เมื่อเกิดเป็นมนุษย์จะได้เป็นพระราชา เมื่อจากโลกมนุษย์ไป ก็จะได้ไปเสวยทิพยสมบัติในฉกามาพจรสวรรค์ มีนางเทพอัปสรเป็นบริวาร ครั้นบารมีแก่กล้าก็จะได้นิพพานสมบัติ อันตัดเสียซึ่งชาติ ชรา พยาธิ มรณะ พ้นจากโอฆะทั้งสามมีกาโมฆะเป็นต้นฯ

ข้อคิดประจำกัณฑ์
คนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ย่อมได้รับความปกป้องคุ้มครองภัยในที่ทุกสถาน

12. กัณฑ์ฉกษัตริย์
ความย่อ
       กล่าวถึงพระเจ้ากรุงสัญชัยและจตุรงคเสนา เดินทางไปถึงเขาวงกต กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ได้มาพบกันในกลางป่า โดยมิได้คาดฝัน ก็ทรงวิปโยคโศกศัลย์จนถึงวิสัญญีภาพสลบลง ฝนโบกขรพรรษบันดาลตกลงมาให้ทรงฟื้น แล้วพากันขอลุโทษและทูลอาราธนาให้ลาผนวช
เนื้อเรื่อง
       การเสด็จพระราชดำเนินของพระเจ้ากรุงสัญชัยและจตุรงคเสนาเป็นขบวนเสด็จ จากรุงเชตุดรนครหลวง ถึงเขาวงกตเป็นระยะทาง ๖๐ โยชน์ เท่ากับ ๙๖๐ กิโลเมตร กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ได้มาพบกันด้วยในกลางป่า โดยมิได้คาดฝัน จึงได้ร่วมเดินทางไปยังเขาวงกตพร้อมกัน
       กองขบวนเกียรติยศ พร้อมมโหรีและไพร่พล ก็เคลื่อนสู่ป่าด้วยเสียงอันกึกก้องลั่นป่า พระเวสสันดรเข้าพระทัยว่า กองในพระราชวังคงจะมาประหารพระองค์ จึงทรงพาพระนางมัทรีไปหลบซ่อนในพุ่มไม้
       ครั้นพระเจ้ากรุงสัญชัยบอกความให้ทราบ พระนางมัทรีก็ออกมาถวายบังคม ต่างก็ร่ำไห้ด้วยสลดใจกันถ้วนทั่วในเคราะห์กรรมนี้ แม้บรรดาเสนาอำมาตย์และนางกำนัลต่างก็ร้องไห้กันทั่ว
       พระราชาตรัสให้พระเวสสันดรลาผนวชกลับคืนสู่เวียงวัง พระนางผุสดีก็ขอให้พระนางมัทรีคืนสู่พระราชวังเถิด พระนางมัทรีได้แต่กันแสงสวมกอดกัณหาพระธิดา และพระโอรสชาลีไว้แนบอกด้วยทรงคิดถึงยิ่ง บริเวณป่าเต็มไปด้วยเสียงคร่ำครวญระงมจนหมดสติไปทั้งสิ้น
       พระอินทร์บนสรวงสวรรค์เล็งทิพยเนตรเห็นดังนั้น จึงทรงบันดาลสายฝนให้โปรยปรายเป็นอัศจรรย์ ในป่าชุ่มชื้นด้วยในโบกขรพรรษที่มิสาดให้ผู้ใดเปียกปอน บรรดาพระราชวงศ์ก็ทรงฟื้นขึ้นมาด้วยความแช่มชื่นปราโมทย์ หลังจากนั้นได้ขอลุแก่โทษและทูลอาราธนาให้พระเวสสันดรทรงลาผนวช
อานิสงส์
       ผู้ใดบูชากัณฑ์ฉกษัตริย์ จะได้เป็นผู้เจริญด้วยพร ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ทุก ๆ ชาติแลฯ

ข้อคิดประจำกัณฑ์
1. พรากมีวันพบ จากมีวันเจอ จากกันยามเป็นได้เห็นน้ำใจจากกันยามตายได้เห็นน้ำตา
2. การให้อภัยเป็นเพราะได้สำนึกเป็นเหตุให้ลบรอยร้าวฉานบันดาลสันติสุขแก่ส่วนรวม
3. สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้ผิด บรรพชิตยังรู้เผลอ ความผิดพลาดเป็นเรื่องของมนุษย์ แต่การให้อภัยเป็นวิสัยของเทวดา

13. กัณฑ์นครกัณฑ์
ความย่อ

       กล่าวถึงพระเวสสันดรเมื่อลาผนวชแล้ว ทรงสั่งลาพระอาศรม รับพระราชทานเครื่องทรงกษัตริย์ แล้วเสด็จกลับไปครองเมืองสีพี ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขจนพระชนมายุ ๑๒๐ พรรษา จึงสวรรคตแล้วไปปรากฏอุบัติเป็นท้าวสันดุสิตเทพบุตร บนสวรรค์ชั้นดุสิต
เนื้อเรื่อง
       เมื่อทรงลาผนวชแล้ว ทรงสั่งลาพระอาศรม รับเครื่องทรงกษัตริย์ แล้วเสด็จกลับไปครองเมืองสีพี พระเวสสันดรเสด็จขึ้นครองราชย์ครองแผ่นดิน ทำให้ไพร่ฟ้าเสนาอำมาตย์มีสุขสงบกันทั่วทั้งแคว้น ชาวเมืองต่างก็หมั่นถือศีลบำเพ็ญกุศลตามสัตย์อธิษฐานของพระเวสสันดร กษัตริย์เมืองกลิงคราฐก็นำช้างปัจจัยนาเคนทร์มาถวายคืน เพราะบ้านเมืองมีฝนตกต้องตามฤดูกาลแล้ว พระเวสสันดรก็ทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม และยังคงทรงบริจาคทาน จนพระชนมายุได้ 120 พรรษา จึงสวรรคตแล้วไปปรากฎอุบัติเป็นท้าวสันดุสิตเทพบุตร บนสวรรค์ชั้นดุสิต รวมระยะเวลาที่พระเวสสันดร มัทรี ชาลี กัณหา ต้องนิราศจากพระนครไปอยู่ป่า เป็นเวลา 1 ปี 15 วัน
อานิสงส์
       ผู้ใดบูชากัณฑ์นครกัณฑ์ จะได้เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยวงศาคณาญาติ ข้าทาสชายหญิง ธิดาสามี หรือบิดามารดาเป็นต้น อยู่พร้อมหน้ากันโดยความผาสุก ปราศจากโรคาพาธทั้งปวง จะทำการใด ๆ ก็พร้อมเพรียงกัน ยังการงานนั้น ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ข้อคิดประจำกัณฑ์
การทำความดี ย่อมได้รับผลดีตอบแทน การใช้ธรรมะในการปกครองย่อมทำให้เกิดความสงบร่มเย็น

ข้อคิดประจำชาดก
       ชาดกเรื่องนี้มีคติธรรม สั่งสอนให้คนเราเพียรประกอบคุณงามความดีโดยมิท้อถอย หากรู้จักสละทรัพย์บริจาคทานเนื่องนิจก็จะเป็นที่สรรเสริญทั่วไป คนโลภคนจิตบาปหยาบร้ายก็ต้องได้ภัยเพราะตัวเอง ดั่งชูชกนั้นเอง
วิจารณ์ตัวละคร
พระเจ้าสญชัย-พระนางผุสดี
       พระเจ้ากรุงสัญชัย-พระนางผุสดี เป็นแบบอย่างของนักปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ รู้จักผ่อนผันเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ไม่เว้นแก่พวกพ้อง แม้จะเป็นพระโอรสก็ตาม
พระเวสสันดร
       เป็นแบบอย่างของผู้เสียสละประโยชน์ส่วนตัว เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม มุ่งบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง ยอมเสียสละความสุขส่วนพระองค์ แม้จะทุกข์ก็ไม่หวั่น เป็นแบบอย่างของบุคคลผู้ไม่ยึดติดอำนาจวาสนา รู้ซึ้งถึงโลกธรรมที่ว่า “ยามมียศ เขาก็ยก ยามต่ำตกเขาก็หยาม” หาได้หวั่นไหวหรือล้มเลิกบำเพ็ญบารมีไม่
พระนางมัทรี
       เป็นแม่แบบของภรรยาผู้มีลักษณะเป็นกัลยาณมิตรของสามี สนับสนุนเป้าหมายชีวิตอันประเสริฐที่สามีได้ตั้งไว้ และยังเป็นแบบอย่างของภรรยาตามทัศนะของคนตะวันออก เช่น ปฏิบัติดูแลเรื่องข้าวปลาอาหาร เป็นต้น ทรงคุณธรรมสำคัญ คือ “ซื่อตรง จงรัก หนักแน่น”
พระชาลี-พระนางกัณหา
       เป็นแบบอย่างของลูกที่เชื่อฟังพ่อแม่ เข้าใจในเจตนาแห่งการประพฤติธรรม เพื่อประโยชน์ของคนหมู่มากของพ่อคือพระเวสสันดร
นางอมิตตดา
       เป็นแบบอย่างของลูกที่เชื่อฟังตั้งอยู่ในโอวาทของพ่อแม่ตามคติของคนยุคนั้น และของภรรยาที่ปฏิบัติต่อสามีตามคตินิยม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นตัวอย่างของคนที่ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามกระแสของสังคมจนเกินควร

พ่อแม่ของนางอมิตตดา
       เป็นแบบอย่างของคนสุรุ่ยสุร่าย ไม่ประมาณตนเอง ประมาทในการใช้จ่าย สร้างหนี้สินก่อเวรก่อกรรมไว้ให้ลูก
ชูชก
       เป็นตัวอย่างของคนที่ติดอยู่ในกามคุณเข้าลักษณะว่า “วัวแก่กินหญ้าอ่อน” ต้องตกระกำลำบากในยามชรา เพราะ “รักสนุก จึงต้องทุกข์ถนัด” ตำราหิโตปเทศว่า ” ความรู้เป็นพิษเพราะเหตุไม่ใช้ปราสาทเป็นพิษเพราะคนเข็ญใจ อาหารเป็นพิษเพราะไฟธาตุไม่ย่อย เมียสาวเป็นพิษเพราะผัวแก่”
นางพราหมณี
       เป็นตัวอย่างของชาวบ้านที่อิจฉาริษยาผู้อื่น โดยไม่คิดที่จะพิจารณาหาทางปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น
พรานเจตบุตร
       เป็นแบบอย่างของคนดี แต่ขาดความเฉลียว จึงต้องตกเป็นเยื่อของเฒ่าชูชก
พระอัจุตฤาษี
       เป็นแบบอย่างของนักธรรมผู้ฉลาด แต่ขาดเฉลียว หูเบาเชื่อคนง่าย ดังโบราณว่า “สงสารฉิบหาย เชื่อง่ายเป็นทุกข์”
กษัตริย์เจตราช
       เป็นแบบอย่างของมิตรแท้ที่พร้อมที่จะช่วยเหลือมิตรในยามยาก มีน้ำใจไม่ทอดทิ้งแม่ในยามที่มิตรสิ้นทรัพย์อับวาสนา เข้าลักษณะว่า “ยามปกติก็อุปัฏฐาก ยามตกยากก็อุปถัมภ์”
ชาวเมืองกลิงครัฐ
       เป็นแบบอย่างของผู้คลั่งไคล้ในกระแสค่านิยม ซึ่งไม่จำเป็นต้องถูกต้องงเสมอไป ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล เป็นต้นเหตุของการเดินขบวน และปลุก “ม็อบ” แสดงความเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยชนิด “บาทาธิปไตย” คือแก้ปัญหาด้วยเท้า นิยมความรุนแรง ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล

นิราศนริทร์คำโคลง

       นิราศนริทร์คำโคลง  เป็นนิราศที่มีชื่อเสียงเรื่องหนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์  มีเนื้อหาสำคัญอยู่ที่การกล่าวคร่ำครวญถึงนางอันเป็นที่รัก  ด้วยสำนวนโวหารอันไพเราะและมีคุณค่าในด้านวรรณศิลป์  นิราศนริทร์จึงได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของนิราศคำโคลง
ผู้แต่ง
นรินทรธิเบศร์ (อิน)
ลักษณะคำประพันธ์
ร่ายสุภาพ  จำนวน 1 บท  และโคลงสี่สุภาพ  143 บท
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
คร่ำครวญถึงนางอันเป็นที่รัก
ความเป็นมา
       นิราศ  เป็นงานประพันธ์ประเภทหนึ่งของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เท่าที่ปรากฏหลักฐานในปัจจุบัน  นิราศเรื่องแรกของไทยนั้น  ได้แก่ โคลงนิราศหริภุญชัย  ซึ่งแต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา  เนื้อหานิราศโดยทั่วไปมักเป็นการคร่ำครวญของกวี (ชาย) ต่อสตรีอันเป็นที่รัก  เนื่องจากต้องพลัดพรากจากนางมาไกลไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุใดก็ตาม  สำหรับนิราศนรินทร์คำโคลง  มีลักษณะเป็นนิราศแท้ คือ  มีเนื้อหาสำคัญอยู่ที่การคร่ำครวญถึงนางอันเป็นที่รักที่กวีจากมา ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ เป็นเพียงส่วนประกอบและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า นิราศนรินทร์คำโคลงเป็นนิราศที่มีความไพเราะมากเรื่องหนึ่งของไทย

อยุธยายศล่มแล้ว               ลอยสวรรค์ ลงฤา
สิงหาสน์ปรางค์รัตน์บรร-         เจิดหล้า
บุญเพรงพระหากสรรค์             ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ
บุญเพรงพระหากสรรค์             ฝึกฟื้นใจเมือง
เรืองเรืองไตรรัตน์พ้น               พันแสง
รินรสพระธรรมแสดง                ค่ำเช้า
เจดีย์ระดะแซง                       เสียดยอด
ยลยิ่งแสงแก้วเก้า                  แก่นหล้าหลากสวรรค์
เอียงอกเทออกอ้าง                อวดองค์ อรเอย
เมรุชุบสมุทรดินลง                 เลยแต้ม
อากาศจักจารผจง                  จารึก พอฤา
โฉมแม่หยาดฟ้าแย้ม              อยู่ร้อนฤาเห็น

เรื่องย่อ
       นายนรินทรธิเบศร์ (อิน)  แต่งนิราศเรื่องนี้ขึ้นเมื่อตามเสด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จยก ทัพหลวงไปปราบพม่าซึ่งยกลงมาที่เมืองถลางและชุมพร  โดยเริ่มเรื่องด้วยร่ายสุภาพยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์  แล้วกล่าวถึง  ความเจริญของบ้านเมือง  จากนั้นจึงรำพันถึงการจากนางอันเป็นที่รักและพรรณนาสถานที่ที่ผ่านไป
       นายนรินทรธิเบศร์ (อิน)  ได้ออกเดินทางเริ่มต้นจากคลองขุดผ่านวัดแจ้ง  คลองบางกอก (ใหญ่)  วัดหงส์  วัดสังข์กระจาย  บางยี่เรือ (คลอง) ด่านนางนอง บางขุนเทียน บางบอน บางหัวกระบือ โคกขาม คลองโคกเต่า มหาชัย ท่าจีน บ้านบ่อ นาขวาง คลองสามสิบสองคด คลองย่านซื่อ แม่กลองปากน้ำ (ออกทะเล) บ้านแหลม คุ้งคดอ้อย เพชรบุรี ชะอำ ห้วยขมิ้น ท่าข้าม เมืองปราณ (บุรี) สามร้อยยอด ทุ่งโคแดง (ทุ่งวัดแดง) อ่าวนางรม (อ่าวประจวบ) บางสะพาน ขามสาวบ่าว อู่แห้ง เขาหมอนเจ้า โพสลับ ลับยักษ์ เมืองแม่น้ำ อู่สะเภา หนองบัว แก่งตุ่ม แก่งคุลาตีอก แก่งแก้ว (แก่งแก้วสงสาร) แก่งนางครวญ ปากน้ำ (ร่วม) เขาเพชร จนถึงตระนาว (ตะนาวศรี) เป็นที่หมายปลายทาง

มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี

ความย่อ
       กล่าวถึงพระนางมัทรีเข้าป่าหาผลไม้ แล้วเจอเหตุการณ์มหัศจรรย์ต่าง ๆ จึงเดินทางกลับอาศรม ก็เกิดพายุใหญ่ มืดครึ้มไปทั่วบริเวณ อีกทั้งยังมีสิงห์สาราสัตว์ร้าย มาขวางทางไว้ เมื่อมาถึงอาศรมได้ทราบความ ทำให้พระองค์เสียพระทัยมาก จนสลบไป หลังจากฟื้นคืนสติกลับมา พระนางก็อนุโมทนากับพระเวสสันดรด้วย
เนื้อเรื่อง
       รุ่งเช้าพระนางมัทรี เข้าป่าหาผลไม้ “เกิดเหตุแปลกประหลาดมหัศจรรย์ ผลไม้เผือกมันช่างหายากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นมะม่วงมัน ลูกจันทน์ ลิ้นจี่ น้อยหน่า สาลี่ ละมุด พุทรา ไม่มีให้เก็บเหมือนดังกับวันก่อน นางรีบย้อนกลับเคหา ก็เกิดพายุใหญ่ จนมืดครึ้มไปทั่วทั้งป่า ท้องฟ้าสีแดงปานเลือดละเลง ทั้งแปดทิศปรากฎมืดมนไปหมดอย่างไม่เคยมี พระนางทรงห่วงหน้าพะวงหลัง เกรงจะมีภัยแต่พระเวสสันดรา กัณหาและชาลี
       พระนางมัทรีรีบยกหาบใส่บ่ารีบเดินทาง พอถึงช่องแคบระหว่างเขาคีรี เป็นตรอกน้อยรอยวิถีทางที่เฉพาะจะต้องเสด็จผ่าน ก็พบกับสองเสือสามสัตว์มานอนสกัดหน้า เทวดาสามองค์แปลงร่างเป็นราชสีห์ เสือเหลือง เสือโคร่งสกัดทางนางไว้เพื่อมิให้พระนางมัทรีติดตามกัณหา ชาลีได้ทัน แต่ถึงกระนั้น เมื่อยามทุกข์เข้าบีบคั้น ความรักลูก ความห่วงพระภัสดา พระนางจึงก้มกราบวิงวอน ขอหนทางต่อพญาสัตว์ทั้งสาม เมื่อได้หนทางแล้ว พระนางก็รีบเสด็จกลับอาศรม
       เมื่อมาถึงอาศรม ไม่พบกัณหา ชาลี พระนางก็ร้องเรียกหาว่า
       “ชาลี กัณหา แม่มาถึงแล้ว เหตุไฉนไยพระลูกแก้ว จึงไม่มารับเล่าหลากแก่ใจ แต่ก่อนร่อนชะไรสิพร้อมเพรียง เจ้าเคยวิ่งระรี่เรียงเคียงแข่งกันมารับพระมารดา เคยแย้มสรวลสำรวจร่า ระรื่นเริงรีบรับเอาขอคาน แล้วก็พากันกราบกรานพระชนนี พ่อชาลี ก็จะรับเอาผลไม้ แม่กัณหาก็จะอ้อนวอนไหว้จะเสวยนม ผทมเหนือพระเพลาพลาง เจ้าเคยฉอเลาะแม่ต่าง ๆ ตามประสาทารกเจริญใจฯ”
       บัดนี้ลูกรักทั้งคู่ไปไหนเสีย จึงมิมารับแม่เล่า ครั้นเข้าไปถามพระเวสสันดรก็ถูกตัดพ้อต่อว่าต่าง ๆ จนพระนางมัทรีถึงวิสัญญีภาพสลบลง พระเวสสันดรทรงปฐมพยาบาลจนพระนางมัทรีฟื้น แล้วจึงแจ้งความจริงว่า พระองค์ได้ทรงยกลูกรักชายหญิงทั้งสอง มอบให้แก่ชูชกไปแล้วตั้งแต่เมื่อวาน พระนางก็อนุโมทนาซึ่งทานนั้นด้วย
อานิสงส์
       ผู้ใดบูชากัณฑ์มัทรี เกิดในโลกหน้าจะเป็นผู้มั่งคั่ง สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ เป็นผู้มีอายุยืนยาว ทั้งประกอบด้วยรูปโฉมงดงามกว่าคนทั้งหลาย จะไปในที่แห่งใด ก็จะมีแต่ความสุขความเจริญทุกหนแห่ง
ข้อคิดประจำกัณฑ์
       ลูกคือแก้วตาดวงใจของผู้เป็นพ่อแม่ “ลูกดีเป็นที่ชื่นใจของพ่อแม่ ลูกแย่พ่อแม่ช้ำใจ” รักใครเล่าจะเท่าพ่อแม่รัก ห่วงใดเล่าจะเท่าพ่อแม่ห่วง หวงใดเล่าจะเท่าพ่อแม่หวง ให้ใครเล่าจะเท่าพ่อแม่ให้ เพราะฉะนั้นพึงเป็นลูกแก้ว ลูกขวัญ ลูกกตัญญู ที่ชาวโลกชื่นชม พรหมก็สรรเสริญฯ

ลิลิตตะเลงพ่าย

ผู้แต่ง
       สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์ร่วมกับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ (พระองค์เจ้ากปิษฐาขัตติยกุมาร)
ลักษณะการแต่ง
       แต่งด้วยลิลิตสุภาพ ซึ่งประกอบด้วยร่ายสุภาพ โคลงสองสุภาพ โคลงสามสุภาพ และโคลงสี่สุภาพ แต่งสลับกันไป จำนวน ๔๓๙ บท โดยได้แบบอย่างการแต่งมาจากลิลิตยวนพ่าย ที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น
       ลิลิตเปรียบได้กับงานเขียนมหากาพย์ จัดเป็นวรรณคดีประเภทเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์
จุดมุ่งหมายการแต่ง
       เพื่อสดุดีวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในสงครามยุทธหัตถีตะเลง=มอญ
ที่มาในการนิพนธ์
       นิพนธ์ขึ้นเพื่องานพระราชพิธีฉลองตึกวัดพระเชตุพนฯในรัชกาลที่ 3
เนื้อเรื่องย่อ
       เริ่มต้นชมบุญบารมีและพระบรมเดชานุภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แล้วดำเนินความตามประวัติศาสตร์ว่า พระเจ้าหงสาวดีนันทบุรงทรงทราบว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชา เสด็จสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรได้ครองราชย์สมบัติ พระองค์จึงตรัสปรึกษาขุนนางทั้งปวงว่ากรุงศรีอยุธยาผลัดเปลี่ยนกษัตริย์ สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จเอกาทศรถพระพี่น้องทั้งสองอาจรบพุ่งชิงความเป็นใหญ่กัน ยังไม่รู้เหตุผลประการใด ควรส่งทัพไปเหยียบดินแดนไทย เป็นการเตือนสงครามไว้ก่อนถ้าเหตุการณ์เมืองไทยไม่ปกติสุขก็ให้โจมตีทันที
       ขุนนางทั้งหลายก็เห็นชอบตามพระราชดารีนั้นพระจ้าหงสาวดีจึงตรัสให้ พระมหาอุปราชเตรียมทัพร่วมกับพระมหาราชเจ้านครเชียงใหม่ แต่พระมหาอุปราชกราบทูลพระบิดาว่าโหรทายว่าชันษาของพระองค์ร้ายนัก สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีตรัสว่าพระมหาธรรมราชาไม่เสียแรงมีโอรสล้วนแต่เชี่ยวชาญกล้าหาญ ในศึกมิเคยย่อท้อการสงคราม ไม่เคยพักให้พระราชบิดาใช้เลยต้องห้ามเสียอีก และ หวาดกลัวพระราชอาญาของพระบิดายิ่งนัก จึงเตรียมจัดทัพหลวงและทัพหัวเมืองต่างๆ เพื่อยกมาตีไทย
       ขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรเตรียมทัพจะไป ตีกัมพูชา เป็นการแก้แค้นที่ถือโอกาสรุกรานไทยหลายครั้งระหว่างที่ไทยติดศึกกับพม่า พอสมเด็จพระนเรศวรทรงทราบข่าวศึกก็ทรงถอนกำลังไปสู้รบกับพม่าทันที ทัพหน้ายกล่วงหน้าไปตั้งที่ตำบลหนองสาหร่าย ฝ่ายพระมาหาอุปราชาทรงคุมทัพมากับพระเจ้าเชียงใหม่รี้พล 5 แสน เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ทรงชมไม้ ชมนก ชมเขา และคร่ำครวญถึงพระสนมกำนัลมาตลอดจนผ่านไทรโยคลำกระเพิน และเข้ายึดเมืองกาญจนบุรีได้โดยสะดวก ต่อจากนั้นก็เคลื่อนพลผ่านพนมทวนเกิดลางร้ายลมเวรัมภาพัดฉัตรหัก ทรงตั้งค่ายหลวงที่ตำบลตระพังตรุ ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเคลื่อนพยุหยาตราทางชลมารค ไปขึ้นบกที่ปากโมก บังเกิดศุภนิมิต ต่อจากนั้นทรงกรีฑาทัพทางบกไปตั้งค่ายที่ตำบลหนองสาหร่ายเมื่อทรงทราบว่าพม่า ส่งทหารมาลาดตะเวน ทรงแน่พระทัยว่าพม่าจะต้องโจมตีประเทศไทยจึงรับสั่งให้ทัพหน้าเข้าปะทะข้าศึกแล้ว ล่าถอยเพื่อลวงข้าศึกให้ประมาท แล้วสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงนำทัพหลวงออกมาช่วย ช้างพระที่นั่งลองเชือกตกมันกลับเขาไปในหมู่ข้าศึกแม่ทัพนายกองตามไม่ทัน สมเด็จพระนเรศวรมหาราชตรัสท้าพระมหาอุปราชากรำยุทธหัตถีจนมีชัยชนะ พระมหาอุปราชาขาดคอช้าง สมเด็จพระเอกาทศรถกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะแก่มังจาชโร เมื่อกองทัพพม่าแตกพ่ายไปแล้วสมเด็จพระนเรศวรมาหาราชรับสั่งให้สร้างสถูปเจดีย์เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระมหาอุปราชา เสด็จแล้วจึงเลิกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา
เป็นอับดับจบเนื้อเรื่อง

บทพูดคำฉันท์ มัทนะพาธา

บทพูดคำฉันท์ มัทนะพาธา
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2467
พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
(พ.ศ. 2424 – 2468)
       มัทนะพาธา เป็นบทละครพูดคำฉันท์ 5 องก์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ.2466 วรรณคดีสโมสรยกย่องว่า เป็นหนังสือแต่งดี เพราะละครพูดคำฉันท์เป็นของแปลกในกระบวนวรรณคดี แต่งได้ยาก และยังไม่เคยมีกวีคนใดแต่งมาก่อน อีกประการหนึ่ง คือ การปรุงชื่อตัวละคร และภูมิประเทศ ถูกต้องตามยุคแห่งภารตวรรษ อันเป็นตัวเรื่อง นับว่ารูปเรื่องปรุงดี เรื่องสำเร็จได้ด้วยพระปรีชาสามารถ และสุตาญาณ อันกว้างขวาง
       บทละครคำฉันท์เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่สมมุติว่าเป็นกำเนิดของต้นกุหลาบ แสดงให้เห็นถึงพิษร้ายจากความรัก ตามความหมายของชื่อเรื่อง กล่าวคือ สุเทษณ์เทพ ผู้ทรงฤทธิ์ หลงรักมัทนาเทพธิดา แต่มัทนาไม่รักตอบ สุเทษณ์โกรธ จึงสาปมัทนาให้ไปเป็นดอกไม้ในโลกมนุษย์ เมื่อถึงวันเพ็ญจึงจะกลายเป็นมนุษย์ ที่สาวและสวยได้หนึ่งวัน จนกว่าเมื่อใดได้สุขสมหวังในความรักจึงจะเป็นมนุษย์ตลอดไป
       ต่อมา มัทนาพบรักกับชัยเสน แต่ความรักก็ไม่ราบรื่นเพราะมีอุปสรรคคือนางจันฑี มัทนาต้องถูกพรากไปจากชัยเสน และได้พบสุเทษณ์อีกครั้งหนึ่ง แต่มัทนาก็ยังไม่เปลี่ยนใจมารักสุเทษณ์ เรื่องจึงจบด้วยความสูญเสีย สุเทษณ์ไม่สมหวังในความรัก ชัยเสนสูญเสียคนรัก และมัทนาต้องเปลี่ยนสภาพมาเป็นเพียงดอกกุหลาบ

โคลนติดล้อ ตอน ความนิยมเป็นเสมียน

โคลนติดล้อ ตอน ความนิยมเป็นเสมียน
ผู้แต่ง : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงใช้พระนามแฝงว่า “ อัศวพาหุ ”
รูปแบบ : บทความ
ที่มาของเรื่อง
       พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เรื่องโคลนติดล้อซึ่งมีทั้งหมด 12 ตอน ลงพิมพ์ในหนังสือไทย พ.ศ. 2458 ตอนความนิยมเป็นเสมียนเป็นตอนที่ 4 ลงพิมพ์ในหนังสือสยาม(สยามออบเซอร์เวอร์) ฉบับวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2458
เนื้อเรื่อง
       เสมียนเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับหนังสือ ผู้ที่มีการศึกษานั้นนิยมเป็นเสมียน คือ นิยมเข้ารับราชการ ไม่สนใจกลับไปทำการเกษตรในภูมิลำเนาของตน ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ให้ประเทศได้มาก ทั้งนิยมใช้ชีวิตอยู่ในเมือง
       บุคคลเหล่านี้เห็นว่า กิจการอย่างอื่นไม่สมเกียรติยศ คนที่ได้รับการศึกษาไม่ควรเสียเวลาไปทำงานให้ที่คนไม่รู้หนังสือก็ทำได้ และเพราะไม่อยากลืมวิชาความรู้ที่ได้เล่าเรียนมา คนจำพวกนี้ยอมทนใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพ ฯ ทั้งที่เงินเดือนไม่มาก แต่ก็จับจ่ายทรัพย์เพื่อการต่างๆได้ เช่น นุ่งผ้าม่วงสี ดูหนัง กินข้าวตามกุ๊กช้อป บุคคลเหล่านี้ไม่เข้าใจว่าการทำงานอื่นๆนั้นก็มีเกียรติเท่ากับผู้ที่ทำงานด้วยปากกาเหมือนกัน
       การที่เป็นเช่นนี้ถือเป็นความผิดของเราทั้งหลายด้วย ถ้ายังเห็นว่าการเป็นเสมียนสูงกว่าชาวนาชาวสวนก็จะทะเยอทะยานอยากเป็น ทางกระทรวงทบวงการคัดเลือกเสมียนที่มีมากเกินความจำเป็นออก บุคคลเหล่านี้ก็ไม่อาจเป็นชาวนาได้ ดังนั้นจึงต้องอยู่แต่ในเมือง อายุมากขึ้น โอกาสก็น้อยลง ดังคำกล่าวว่า การทำงานอื่นๆก็สามารถทำประโยชน์ได้ดีกว่าการเป็นเสมียน จึงเห็นว่าการทำงานอื่นก็มีเกียรติยศเหมือนเสมียนเช่นกัน

คุณค่าของเรื่อง
1. เป็นตัวอย่างบทความที่ดี
2. เสนอข้อคิดเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมืองในเรื่องค่านิยมที่เป็นอุปสรรคทำให้ประเทศเจริญได้ช้า
3. ให้แนวคิดว่าอาชีพอื่นก็สามารถทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้

อิเหนา ตอน บุษบาเสี่ยงเทียน

อิเหนา ตอน บุษบาเสี่ยงเทียน
       บุษบาเสี่ยงเทียนนี้เป็นตอนหนึ่งในเรื่องอิเหนา เมื่อบุษบาไปไหว้พระในวิหารบนเขา แล้วเสี่ยงเทียนดูว่าดวงชะตาของนางจะคู่กับอิเหนาหรือจรกาแน่  อิเหนาลอบไปแอบอยู่หลังองค์พระ แล้วปลอมเสียงตอบคำอธิษฐานของบุษบา 

บุษบา
เรืองรองอร่ามประทีปเทียนถวาย
เรียงร้อยบุษบามาลาราย
นอบกายกราบเกล้ากมลกราน
อ่าองค์พระพุทธปฏิมา
โปรดสดับวาจาอธิษฐาน
เทพประจำเปลวประทีปเรืองตระการ
ช่วยบันดาลโดยผลประจักษ์ตา
จะจุดเทียนเปลวทองทั้งสองข้าง
เป็นอย่างดวงฤทัยของข้า
ข้างนี้นั้นเทียนพี่ยา
ข้างนั้นจรกาวงศ์ไกล
แม้นว่าจะได้ภิรมย์รัก
สานสมัครสมสมรพิสมัย
ได้ครอบครองเคียงคู่ด้วยผู้ใด
ตราบชีพิตักษัยวายปราณ
ขอเทียนข้างนั้นจงเรืองรุ่ง
โรจน์จรุงแจ่มจิตพิษฐาน
เปลวเพลิงอีกข้างจงร้างลาญ
อันธการดับสูญสิ้นไป เอย

อิเหนา
พระปฏิมายินคำชะอ้อนขอ
พร้องพจนีย์ไม่รีรอ
ไม่พอที่จะกล่าวข้างจรกา
รูปชั่วตัวดำต่ำศักดิ์
เหลือใจจะจำรักหนักหนา
อิเหนาสุริย์วงศ์พงศ์โสภา
จึงควรคู่บุษบาเยาวมาลย์
จงประจักษ์แจ้งจิตคิดสงสัย
ดังฤทัยที่ตั้งอธิษฐาน
พะนอรักพี่ยากว่าวายปราณ
แม่นมั่นพจมานที่ขาน  เอย

บุษบา
ขัดเขินเคืองข้องคำขาน
ไม่เคยพบองค์พระปฏิภาณ
จะประทานคำทายให้ได้ฟัง
รอยว่าบุญข้านี้แน่หนัก
ฉงนนักนึกความเมื่อยามหลัง
พระพี่ยาขึ้งเคียดเกลียดชัง
ไปอยู่ยังหมันหยาธานี
รักเลี้ยงเคียงคู่จินตหรา
ส่งสารตัดวิวาห์มาถึงนี่
อับอายไพร่ฟ้าทั่วธานี
จึ่งมีมากเหตุเภทภัย
ครั้งนี้กลับมาว่ารักเล่า
ใช่เขลาจึงวางจิตพิสมัย
พระปฏิมาข้านี้แสนข้องใจ
จงปราศรัยให้แจ้งใจบัดนี้  เอย

อิเหนา
ฉงนใจไปไยไม่ควรฉงน
อันองค์จินตหรานฤมล
แปลกปนใช่วงศ์เทวัญ
ตัวเจ้ากับอิเหนาพี่ยา
วาสนาเคยครองทั้งสองสรร
ห่างไกลยังดลให้มาผูกพัน
คู่กันแต่ปางบรรพ์มั่นฤทัย
ที่พี่ยาจะมิรักน้องรัก
สุดฝืนใจหักห้ามรักได้
สู้ต้อยติดตามทรามวัย
ถึงในบรรพตศิขริน
เพราะหฤทัยแสนเสน่หา
กัลยาอย่าข้องใจถวิล
ว่าพลางทางต้อนค้างคาวบิน
ดับประทีปเสียสิ้นทันใด
ยุรยาตรจากหลังพระปฏิมา
นั่งแนบนงพะงาชิดใกล้
กอดประคองเชยน้องทรามวัย
ต้ององค์ต้องใจพี่จริง  เอย

บุษบา
น้อยใจเป็นพ้นนักมาหักหาญ
ผู้ใดไยจึงอหังการ
เกินทานเกินทนเป็นพ้นไป
ผินผันกันพักตร์ผลักกร
จะผันจะผ่อนก็หาไม่
เห็นทีมิใช่อื่นไกล
ภูวนัยใส่กลปลอมมา
สุดแค้นเคืองขัดอัชฌาสัย
น้องไม่ใช่อนงค์จินตหรา
จะลวงลมโลมเล่นเห็นระอา
เชิญคืนหมันหยาเวียงชัย
มาบอกว่ารักไม่เห็นรัก
หาญหักฉะนี้ไยไม่ทนได้
เรียกหาพระมารดาทรามวัย
ดวงฤทัยโปรดช่วยลูกด้วย  เอย

อิเหนา
ไม่ควรคิดข้องหมองหมาง
หมายมั่นมุ่งจิตมิจืดจาง
จะระคางเคืองขุ่นพี่ยาไย
พี่รักเจ้าเท่าเทียมชีวา
จะคืนเมืองหมันหยาได้ไฉน
เมื่อมีเอกดาหาเป็นจอมใจ
ไม่อาลัยผู้ใดในธาตรี
พี่มาช่วยรบก็พบรัก
ที่หาญหักก็เพราะรักน้องของพี่
ดวงฤทัยโปรดได้ปรานี
ภูมียุดกรไม่วาง เอย

เนื้อเพลง บุษบาเสี่ยงเทียน
อรวี สัจจานนท์
..เทียนจุดเวียนพระพุท-ธา
ตัว ข้า บุษบาขออธิษฐาน
…เทียนที่เวียนนมัสการ
บันดาลให้ หทัยสมปรารถนา
ดลจิตอิเหนา ให้เขามารักข้า
ขอองค์พระปฏิมา เมตตาช่วยคิดอุ้มชู
ขอเทียนที่เวียนวน ดลฤทัยสิงสู่
ให้องค์ระเด่นเอ็นดู อย่าได้รู้คลายคลอน
…อ้า องค์พระพุท-ธา
ตัวข้า บุษบาขอกราบวิงวอน
…ข้าสวดมนต์ขอพระพร
วิงวอนให้ หทัยระเด่นปรานี
รักอย่าเคลือบแฝง ดังแสงเทียนริบหรี่
ขอองค์ระเด่นมนตรี โปรดมีจิตนึกเมตตา
ขอเทียนที่เสี่ยงทาย ดลให้คนรักข้า
รักเพียงแต่บุษบา ดั่งข้านี้ ตั้งใจ
อ้า องค์พระพุทธา
ตัวข้า บุษบาขอกราบวิงวอน
ข้าสวดมนต์ ขอพระพร
วิงวอนให้ หทัยระเด่นปรานี
รัก อย่าเคลือบแฝง ดังแสงเทียนริบหรี่
ขอองค์ระเด่นมนตรี โปรดมีจิตนึกเมตตา
ขอเทียนที่เสี่ยงทาย ดลให้คนรักข้า
รักเพียงแต่บุษบา ดั่งข้านี้ตั้งใจ..

รามเกียรติ์ ตอน หนุมานเผากรุงลงกา

รามเกียรติ์ ตอน หนุมานเผากรุงลงกา
. . . ทศกรรฐ์รู้เรื่องก็ให้อินทร์ชิตมาปราบ อินทรชิตแผลงศรนาคบาศ เป็นพญานาคมัดหนุมาน หนุมานทำแกล้งดิ้นไม่หลุดเพื่อดูน้ำใจยักษ์อินทรชิตเอาโซ่เหล็กใหญ่มามัดซ้ำพาไปเฝ้าทศกรรฐ์ ท้าวเธอให้ประหาร และฆ่าวิธีใด ๆ หนุมานก็ไม่ตาย
. . . หนุมานจึงแกล้งบอกว่า ให้ใช้นุ่นพันตัวให้เต็มแล้วจุดไฟเผาตนจึงจะตาย ทศกรรฐ์ก็ทำตาม หนุมานจึงวิ่งพานุ่นที่ติดตัวไปติดทั่ววังเลยเกิดไฟไหม้ลงกา จนทศกรรฐ์ต้องพาครอบครัวขึ้นบุษบกแก้ว เหาะไปอยู่ภูเขาสัตนาก่อนแล้วหนุมานก็สลัดไฟจากตัวหมด นอกจากไฟที่ปลายหางไม่ยอมดับ หนุมานจึงเหาะไปถามพระนารทฤาษี ท่านจึงบอกให้ใช้ น้ำบ่อน้อยดับไฟนั้น หนุมานจึงเอาหางใส่ปากอม ไฟที่หางก็ดับ เหตุที่ไฟนี้ไม่ดับเพราะไม่ใช่ไฟจุดตามธรรมดา แต่ทศกรรฐ์ใช้จุดไฟด้วยหอกแก้วสุรกานต์เป็นไฟอาถรรพ์ จากนั้นทศกรรฐ์ก็สร้างเมืองลงกาใหม่ โดยอัญเชิญพระอินทร์กับเทวดามาเนรมิตให้
. . . ฝ่ายพระรามเมื่อรู้เรื่องจากหนุมานว่า ทำงานนอกเหนือคำสั่ง โดยไปเผาลงกาแถมด้วย ก็กริ้ว
“ทำแบบนี้ถ้ายักษ์โกรธ แล้วพาลฆ่าสีดาจะว่าอย่างไร “
. . พระรามจึงทำเป็นจะลงโทษเป็นตัวอย่าง แต่พวกพระยาวานร ก็ทูลขอชีวิตหนุมานไว้ ซึ่งตรงกับใจของพระรามอยู่แล้ว ที่จะยกโทษให้ จากนั้นก็ยกทัพไปตั้ง ที่เชิงเขาคันธกาลาริมฝั่งมหาสมุทร ตรงข้ามลงกา

เสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา

เสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา
       ฝ่ายพลายงาม เมื่อชนะความขุนช้างแล้ว ก็อยู่มาด้วยความสุข แต่มาคิดว่ายังขาดแต่มารดา เห็นว่าไม่ควรคู่กับขุนช้าง แล้วคิดว่าจะรับแม่กลับมาอยู่กับขุนแผน  พอตกค่ำจึงออกเดินทางไปบ้านขุนช้าง สะกดผู้คน ภูตพราย และแก้อาถรรพณ์ แล้วสะเดาะกลอน เข้าไปถึงชั้นสามห้องนอน ถอนสะกดนางวันทอง แล้วเจรจากัน พระไวยแจ้งว่าจะมารับนางวันทองกลับไปบ้าน นางวันทองแนะนำให้นำเรื่องขึ้นกราบทูลพระพันวษา

…จงเร่งกลับไปคิดกับบิดา
 ฟ้องหากราบทูลพระทรงธรรม์
พระองค์คงจะโปรดประทานให้
 จะปรากฎยศไกรเฉิดฉัน 
อันจะมาลักพาไม่ว่ากัน
 เช่นนั้นใจแม่มิเต็มใจ ฯ

พระไวยพานางวันทองมาบ้าน
       พลายงามไม่เห็นด้วยและจะพาไปให้ได้ นางวันทองจนใจจึงยอมไปกับพระไวย  ขุนช้างตื่นขึ้นไม่พบนางวันทอง ให้บ่าวไพร่ค้นหาไม่พบ
       ฝ่ายพลายงามได้คิดว่า ถ้าขุนช้างรู้ว่าลักนางวันทองมา ก็คงจะนำความขึ้นกราบทูลสมเด็จพระพันวษา มารดาก็จะต้องโทษ คิดแล้วจึงให้หมื่นวิเศษผล ไปหาขุนช้างที่บ้าน ช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องราว อย่าให้ขุนช้างโกรธ ด้วยเป็นคนที่เคยชอบพอกัน โดยให้บอกขุนช้างว่า ตนจับไข้อยู่หลายวัน เกรงว่าแม่ไม่ทันจะเห็นหน้า จึงให้คนไปพาแม่มา พอให้ตนหายไข้แล้ว จะส่งมารดาคืนกลับไป    หมื่นวิเศษรับคำแล้วก็รีบไปบ้านขุนช้าง แจ้งเรื่องตามที่พระไวยสั่งมาทุกประการ ขุนช้างได้ฟังก็ทั้งโกรธและแค้น เมื่อข่มความโกรธแล้วก็ตอบไปว่า ไม่เป็นไรเรื่องการเจ็บไข้ ถ้าขัดสนสิ่งไรก็ขอให้มาเอาที่ตนได้ ว่าแล้วก็ปิดหน้าต่างใส่ ด้วยความเดือดดาลและแค้นใจ

…ยิ่งคิดเดือดดาลทะยานใจ
 ฉวยได้กระดานชะนวนมา 
ร่างฟ้องท่องเทียบให้เรียบร้อย
 ถ้อยคำถี่ถ้วนเป็นหนักหนา… 

ขุนช้างถวายฎีกา
       ฝ่ายขุนช้างร่างฟ้องเสร็จแล้ว ก็มาที่วังใน รออยู่ที่ใต้ตำหนักน้ำ พอสมเด็จพระพันวษาเสด็จกลับวังทางเรือตอนจวนค่ำ ขุนช้างก็ลงลอยคอเข้าถวายฎีกา  สมเด็จพระพันวษาเห็นเข้า ก็ทรงพระพิโรธ ให้รับฎีกาไว้ แล้วเอาตัวไปเฆี่ยนสามสิบที จากนั้นให้ตั้งกฤษฎีกาว่า ตั้งแต่นี้ไป ถ้าใครปล่อยให้ใครเข้ามาในล้อมวง ต้องระวางโทษเจ็ดสถาน ถึงประหารชีวิต
       ฝ่ายขุนแผนได้อยู่กับนางแก้วกิริยา และนางลาวทองมาด้วยความผาสุข ตกกลางคืนคิดถึงนางวันทอง จึงออกเดินมาที่ห้องนางวันทอง ที่เรือนพระไวย ปลุกนางขึ้นมาสนทนาด้วย ได้พร่ำรำพันถึงความหลัง ที่ตกทุกข์ได้ยากด้วยกันมา นางวันทองแนะนำขุนแผน ให้นำความขึ้นเพ็ดทูลพระพันวษา และไม่ยอมตกเป็นของขุนแผน พอตกดึกก็ฝันไปว่า ถูกพยัคฆ์ตะครุบ คาบตัวไปในป่า ตกใจตื่น แก้ฝันให้ขุนแผนฟัง ขุนแผนได้ฟังก็ใจหาย รู้ว่าฝันร้ายมีอันตราย

…ครั้งนี้น่าจะมีอันตราย
 ฝันร้ายสาหัสตัดตำรา 
พิเคราะห์ดูทั้งยามอัฐกาล
 ก็บันดาลฤกษ์แรงเป็นหนักหนา 
มิรู้ที่จะแถลงแจ้งกิจจา
 กอดเมียเมินหน้าน้ำตากระเด็น…

แต่ก็ปลอบใจนางวันทองว่า เป็นเพราะความวิตก  พรุ่งนี้จะแก้เสนียดฝันให้
สมเด็จพระพันวษาชำระความเรื่องนางวันทอง
       วันรุ่งขึ้น สมเด็จพระพันวษาเสด็จออกว่าราชการ เห็นขุนช้างเข้าเฝ้าอยู่ จึงตรัสว่า เรื่องนางวันทองไม่รู้จบ เมื่อครั้งก่อน เรื่องตกหนักที่นางศรีประจัน ก็ตัดสินไปอยู่กับขุนแผน แต่ทำไมกลับมาอยู่กับขุนช้าง แล้วให้หมื่นศรีไปเอาตัวนางวันทอง ขุนแผนและพระไวยมาเฝ้า ทั้งสามคนได้ฟังความก็ตกใจ ขุนแผนจึงจัดการช่วยเหลือนางวันทองด้วยเวทมนตร์ แล้วจึงพากันไปเข้าเฝ้า 

…ขุนแผนเรียกวันทองเข้าห้องใน
 ไม่ไว้ใจจึงเสกด้วยเวทย์มนตร์ 
สีขี้ผึ้งสีปากกินหมากเวทย์
 ซึ่งวิเศษสารพัดแก้ขัดสน 
น้ำมันพรายน้ำมันจันทน์สรรเสกปน
 เคยคุ้มขลังบังตนแต่ไรมา 
แล้วทำผงอิทธิเจเข้าเจิมพักตร์
 คนเห็นคนทักรักทุกหน้า 
เสกกระแจะจวงจันทน์น้ำมันทา
 เสร็จแล้วก็พาวันทองไป ฯ

       สมเด็จพระพันวษาจึงตรัสถามนางวันทอง ถึงเรื่องราวแต่หนหลัง นางวันทองก็กราบทูลให้ทรงทราบ เมื่อทรงทราบแล้ว ก็กริ้วขุนช้างเป็นกำลัง แล้วตรัสถามนางวันทองต่อไปว่า เวลาล่วงไปแล้วถึงสิบแปดปี แต่ทำไมวันนี้จึงมาได้ นางวันทองก็กราบทูลว่า พระไวยไปรับเมื่อตอนกลางคืน สมเด็จพระพันวษาได้ฟัง ก็ทรงขุ่นเคืองพระไวย ที่ทำตามอำเภอใจ และว่าขุนแผนก็คงเป็นใจ ทรงตรัสว่า

…ถ้าอ้ายไวยจะอยากใคร่ได้แม่มา
 ชวนพ่อฟ้องหาเอาเป็นไร 
อัยการศาลโรงก็มีอยู่
 ฤๅว่ากูตัดสินให้ไม่ได้

       แล้วตรัสต่อไปว่าเหตุทั้งหมดนี้ เพราะแย่งชิงนางวันทองกัน จึงให้นางวันทองตัดสินใจว่า จะอยู่กับใคร หรือถ้าไม่อยากอยู่กับทั้งสองคน จะเลือกอยู่กับลูกก็ได้ นางวันทองเมื่อถึงคราวจะสิ้นอายุ ไม่สามารถตัดสินใจได้ จึงกราบทูลเป็นกลางไป หวังจะให้สมเด็จพนะพันวษาตัดสินให้

…ความรักขุนแผนก็แสนรัก
 ด้วยร่วมยากมานักไม่เดียดฉัน 
สู้ลำบากบุกป่ามาด้วยกัน
 สารพันอดออมถนอมใจ 
ขุนช้างแต่อยู่ด้วยกันมา
 คำหนักหาได้ว่าให้เคืองไม่ 
เงินทองกองไว้มิให้ใคร
 ข้าไทใช้สอยเหมือนของตัว 
จมื่นไวยเล่าก็เลือดที่ในอก
 ก็หยิบยกรักเท่ากันกับผัว…
 

สมเด็จพระพันวษาให้ประหารวันทอง
       สมเด็จพระพันวษาได้ทรงฟังแล้ว ก็พิโรธยิ่งนัก ตรัสประนามนางวันทองว่าเป็นหญิงหลายใจ อย่าอยู่ให้หนักแผ่นดิน ให้เอาตัวไปฆ่าเสีย

…เร่งเร็วเหวยพระยายมราช
 ไปฟันฟาดเสียให้มันเป็นผี 
อกเอาขวานผ่าอย่าปรานี
 อย่าให้มีโลหิตติดดินกู 
เอาใบตองรองไว้ให้หมากิน
 ตกดินจะอัปรีย์กาลีอยู่…

สามก๊ก ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ

สามก๊ก ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ
เนื้อเรื่องย่อ
       โจโฉระดมพลเตรียมล้างเล่าปี่ ฝ่ายเตียนห้องแนะนำอ้วนเสี้ยวให้ตีฮูโต๋เวลานี้ด้วยเมืองยังว่างอยู่ แต่อ้วนเสี้ยวมิเชื่อมัวแต่กังวลบุตรที่ยังป่วยอยู่ มิมีใจออกรบพุ่งจึงตั้งมั่นอยู่ในเมือง
       ฝ่ายเล่าปี่ เตียวหุยคิดอุบายแอบปล้นค่ายโจโฉ แต่ทำการมิสำเร็จถูกโจโฉตีแตกพ่ายกระจัดกระจายไป เล่าปี่หนีไปตัวคนเดียวเข้าพึ่งอ้วนเสี้ยว โจโฉจับตัวกวนอูที่อยู่รักษาครอบครัวเล่าปี่ที่เมืองแห้ฝือได้ เข้าเกลี้ยกล่อม กวนอูยอมปลงใจอยู่ด้วยโจโฉโดยมีข้อแม้สามประการ ประการหนึ่งจะอยู่รับใช้พระเจ้าเหี้ยนเต้มิใช่โจโฉ อีกประการหนึ่ง ขออยู่รับใช้พี่สะใภ้ทั้งสองเองห้ามมิให้ใครกล้ำกลาย ประการสุดท้ายหากรู้ว่าเล่าปี่อยู่ที่ไหนจะรีบไปหาอย่างไม่รีรอ โจโฉตกลงยินยอมรับกวนอู
       ตั้งแต่กวนอูมาอยู่โจโฉเอาใจทุกวันมิได้ขาด สามวันแต่งโต๊ะเลี้ยงทีหนึ่ง แต่กวนอูยังมีใจอยู่กับเล่าปี่ โจโฉจึงนึกเสียใจยิ่ง วันหนึ่งโจโฉยกม้าเซ็กเธาว์ให้กวนอู กวนอูปลาบปลื้มใจยิ่งนักว่าจะได้กลับไปหาเล่าปี่ได้เร็วขึ้น โจโฉจึงมีความวิตกยิ่งนัก ฝั่งหนึ่งชื่มชมกวนอูว่ามีความกตัญญูหาผู้ใดเสมอมิได้

กาพย์เห่เรือ

กาพย์เห่เรือ
       กาพย์เห่เรือเป็นกาพย์สำหรับฝีพายขับเห่ในกระบวนเรือเสด็จ ไม่นับว่าไปในงานพิธี ลำนำสำหรับเห่เรือมี 3 อย่าง คือ
       1. ช้าลวะเห่ ทำนองเห่ช้า สำหรับตอนเรือเริ่มออก หรือเรือตามน้ำ
       2. มูลลวะเห่ ทำนองเห่เร็ว  สำหรับตอนนำเรือพายทวนน้ำ หรือเกือบถึงจุดหมายปลายทาง
       3. ลวะเห่ เป็นการเห่เรือที่จะถึงจุดหมายปลายทาง
ลักษณะคำประพันธ์
       แต่งโคลงสี่สุภาพก่อนแล้วจึงแต่งกาพย์ยานีเลียนแบบ และแต่งกาพย์ยานีพรรณนาเพิ่มเติม ซึ่งเรียกว่า กาพย์ห่อโคลง
       วิธีแต่งกาพย์ห่อโคลง มีอยู่ 3 แบบ คือ
        1. แต่งกาพย์ยานีก่อนแล้วแต่งโคลงสี่สุภาพเลียนแบบ
        2. แต่งโคลงสี่สุภาพก่อนแล้วแต่งกาพย์ยานีเลียนแบบต่อมา
        3. แต่งโคลงสี่สุภาพก่อนแล้วแต่งกาพย์ยานีเลียนแบบ    และแต่งกาพย์ยานีพรรณนา เพิ่มเติม
ผู้ประพันธ์
       เจ้าพระยาธิเบศร์ ไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ (2258-2298) เป็นโอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยกรุงศรีอยุธยา
เนื้อเรื่อง แบ่งออกเป็น 5 ตอน ซึ่งกล่าวพรรณนาถึง
1. กระบวนเรือ
2. พันธุ์ปลา
3. พันธุ์ไม้
4. พันธุ์นก
5. คร่ำครวญรำพึงรำพันถึงนางคนที่รัก
ลักษณะพิเศษของกาพย์เห่เรือ      
        1. ลักษณะของสำนวนและความหมาย  ใช้สำนวนกะทัดรัด มีความหมายเด่นชัดเข้าใจง่ายและมีน้ำหนักอย่างเหมาะสม เช่น
                        พระเสด็จโดยแดนชล                ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย
                กิ่งแก้วแพรวพรรณราย                     พายอ่อนหยับวับงามงอน
        2. ลักษณะถ้อยคำ ใช้ถ้อยคำเกลี้ยงเกลาสละสลวย ไพเราะด้วยการสัมผัสและทำให้เกิดภาพพจน์ เช่น
                        เนื้ออ่อนอ่อนแต่ชื่อ                    เนื้อน้องหรืออ่อนทั้งกาย
                ใครต้องข้องจิตชาย                           ไม่วายนึกตรึกตรึงทรวง
        3. ลักษณะการพรรณนา การพรรณนาความรู้สึกลึกซึ้งและแยบคายมาก เช่น
                        แก้มช้ำช้ำใครต้อง                       อันแก้มน้องช้ำเพราะชม
                ปลาทุกทุกข์อกตรม                        เหมือนทุกข์ที่พี่จากนาง
        4. ลักษณะอารมณ์ เกิดอารมณ์สะเทือนใจ เช่น
                        เพรางายวายเสพรส                  แสนกำสรดอดโอชา
                 อิ่มทุกข์อิ่มชลนา                             อิ่มโศกาหน้านองชล
        5. ลักษณะการแต่ง แต่งถูกต้อง มีการเล่นอักษร มีสำนวนอุปมาอุปไมย เช่น
                        รอนรอนสุริยโอ้                          อัสดง
                เรื่อยเรื่อยลับเมรุลง                           ค่ำแล้ว
                        รอนรอนจิตจำนง                   นุชพี่ เพียงแม่
                เรื่อยเรื่อยเรียมคอบแก้ว                คลับคล้ายเรียมเหลียว

การพิจารณาคุณค่าด้านวรรณศิลป์ เรื่องกาพย์เห่เรือ    
        1. เนื้อหา แบ่งออกเป็น 5 ตอน คือ
                1.1 การชมขบวนเรือในเวลาเช้า  ได้พรรณนาไว้อย่างละเอียด พิสดาร
                1.2 การชมฝูงปลาในเวลาสายอุปมาอุปไมยอย่างแจ่มชัดและกินใจอย่างยิ่ง
                1.3 การชมพรรณนาดอกไม้ในเวลากลางวัน สอดใส่ความรู้สึก   และอารมณ์ให้ผู้อ่านคล้อยตาม
                1.4 การชมฝูงนกในเวลาเย็น อุปมาอุปไมยแจ่มชัด เด่นชัด
                1.5 การคร่ำครวญถึงนาง ในเวลากลางคืน สร้างบรรยากาศเชิงอรรถรสและวังเวง
        2. รูปแบบ ลักษณะคำประพันธ์ ใช้กาพย์ห่อโคลง คือ แต่งโคลงสี่สุภาพแล้วแต่งกาพย์เลียนแบบพรรณนาเพิ่มเติม
        ศิลปการประพันธ์ทำให้เกิดภาพพจน์ และความรู้สึกทางสุนทรียะอันได้แก่ ความ ชื่นชมในสิ่งสวยงามตามธรรมชาติ ความไพเราะของดนตรี
        ความรู้สึกแยบคายทาง อารมณ์สะเทือนใจ
การพิจารณาคุณค่าด้านสังคม เรื่องกาพย์เห่เรือ
        1. สะท้อนภาพชีวิตคนไทยด้านการคมนาคม  แสดงการสัญจรทางน้ำให้เห็นว่าเมืองไทยมีแม่น้ำลำคลองมาก
        2. แสดงถึงขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น
                ประเพณีการแต่งกาย ผู้หญิงห่มผ้าสไบคลุมไหล่ เป็นต้น
                การไว้ทรงผม  ผู้หญิงนิยมไว้ผมยาวประบ่า   แล้วเก็บไรที่ถอนผมออกเป็นวงกลม
                การบอกเวลา นิยมใช้กลอง ฆ้องเป็นเครื่องบอกเปลี่ยนเวลา
ความรู้ที่ได้จากเรื่อง
        1. ได้รับรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีและสภาพสังคม เช่น  ประเพณีเห่เรือและประเภทของเรือ ประเพณีการแต่งกาย ผู้หญิงห่มผ้าสไบคลุมไหล่ ถ้าผู้หญิงชั้นสูง ๆ หรือมีฐานะ ห่มสไบทำด้วยตาด การไว้ทรงผม ผู้หญิงไว้ผมยาวประลงมาถึงบ่าแล้วเก็บไรถอนผมออกเป็นวงกลม การบอกเวลา นิยมใช้กลอง ฆ้องเป็นเครื่องบอกเปลี่ยนเวลา
        2. ได้รู้จักชื่อสัตว์ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำและชื่อต้นไม้
        3. ได้รับความรู้เกี่ยวกับการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค และชนิดของเรือ
        4. ได้รู้เทพนิยายระหว่างครุฑกับนาค เรื่องมีว่า ครุฑกับนาคเกิดจากบิดาเดียวกัน แต่ต่างมารดา มารดาครุฑถูกมารดาของนาคกลั่นแกล้งข่มเหง จนตกเป็นทาสของมารดานาค ครุฑเจ็บใจมากขึงผู้ใจเจ็บ ต่อมาครุฑได้พรจากพระนารายณ์ให้จับนาคกินได้ ครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์
        5. ได้ความรู้เกี่ยวกับคำและวิธีการใช้คำ เช่น ชดช้อย  พรหมินทร์  เสด็จ สำอาง อร่าม
ความดีของเรื่อง
        1. ลักษณะการแต่ง แต่งได้ถูกต้องตามแบบแผนบังคับ เช่น
                        ปางเสด็จประเวศดาว           ชลาลัย
                ทรงรัตนพิมานชัย                         กิ่งแก้ว
                พรั่งพร้อมพวกพลไกร                  แหนเห่
                เรือกระบวนต้นแพร้ว                   เพริศพริ้ง พายทอง
                       พระเสด็จโดยแดนชล            ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย
                กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย              พายอ่อนหยับจีบงามงอน
        2. การใช้คำ  รู้จักสรรคำที่มีความหมายเด่นชัด คำทุกคำมีความหมายไพเราะรื่นหู สัมผัสใน สัมผัสนอกและมีทั้งสัมผัสสระ พยัญชนะ เช่น
                        จำปาหนาแน่นเนือง                        คลี่กลีบเหลืองอร่าม
                คิดคะนึงถึงนงราม                        ผิวเหลืองกว่าจำปาทอง
        3. การใช้สำนวนกะทัดรัด ใช้คำแต่น้อยความหมายมาก เช่น
                        เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง                นกบินเฉียงไปทั้งหมู่
                ตัวเดียวมาพลัดคู่                               เหมือนพี่อยู่ผู้เดียวดาย
        4. ทรงพรรณนาอารมณ์ต่าง ๆ ได้ใกล้เคียงกับความจริง เช่น
                        เวนามาทันแล้ว                           จึงจำแคล้วแก้วโกมล
                ให้แค้นแสนสุดทน                         ทุกข์ถึงเจ้าเศร้าเสียดาย
        5. ผู้อ่านได้รับความรู้หลายเรื่อง เช่น ประเพณีต่าง ๆ  เทพนิยาย ความรู้ทางภาษาศาสตร์สัตว์และพฤกษ์ เป็นต้น
        6. พรรณนาให้เกิดจินตนาการและมโนภาพ เช่น
                        น้ำเงินคือเงินยวง                       ขาวพรายช่างสีสำอาง
                ไม่เทียบเปรียบโฉมนาง                    งามเรืองเรื่อเนื้อสองสี
อารมณ์สะเทือนใจของกาพย์ยานี
        1. อารมณ์เศร้า เช่น
                        เพรางายวายเสพรส                          แสนกำสรดอดโอชา
                 อิ่มทุกข์อิ่มชลนา                               อิ่มโศกาหน้านองชล
        2. อารมณ์คล้อยตามธรรมชาติ เช่น
                        ล่วงสามยามปลายแล้ว              จนไก่แก้วแว่วขันขาน
                ม่อยหลับหลับบันดาล                      ฝันเห็นน้องต้องติดตา
        3. อารมณ์แห่งภาพพจน์ เช่น
                        สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย               งามชดช้อยถอยหลังสินธุ์
                เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์                   ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม
        4. อารมณ์แห่งการคร่ำครวญ เช่น
                        ยามสองฆ้องยามย่ำ             ทุกคืนค่ำย่ำอกเอง
                เสียงปี่มีครวญเครง                      เหมือนเรียมคร่ำร่ำครวญนาน

เรือในขบวนพยุหยาตรา 
ครุฑจับนาค ไกรสรมุข ศรีสมรรถชัย ศรีสุพรรณหงส์
ชัย คชสีห์ ราชสีห์ ม้า
สิงห์ นาควาสุกรี มังกร เลียงผาและอินทรี

ครุฑจับนาค 

 ศรีสุพรรณหงส์

พันธุ์ไม้ที่ปรากฏในเรื่องมี 17 ชนิด

  1. จำปา เป็นต้นไม้คล้ายต้นจำปี ดอกเป็นกลีบสีขาว เหลือง มีกลิ่นหอม
  2. ประยงค์ เป็นดอกไม้ ใบคล้ายดอกแก้ว ดอกเล็ก ๆ เป็นช่อสีเหลือง ใช้เป็นยาทำให้อาเจียน
  3. พุดจีบ ไม้ดอกจำพวกหนึ่ง ดอกเล็ก ใบคล้ายดอกพุด แต่กลับมีลักษณะเป็นจีบ
  4. พิกุล ไม้ดอกจำพวกหนึ่ง ดอกเป็นจัก ๆ มีกลิ่นหอมเย็น ใช้ทำยาได้
  5. สุกรม เป็นต้นไม้ใหญ่ ใบรี ผลเนื้อสุกสีแดง ใช้ทำยาได้
  6. สาวหยุด หรือสายหยุด คล้ายดอกกระดังงา  แต่เป็นไม้เลื้อย ดอกหอม พอสายก็หมดกลิ่น
  7. พุทธชาด เป็นไม้ล้มลุก ดอกคล้ายดอกพุด
  8. บุนนาค เป็นต้นไม้ขนาดกลาง ดอกคล้ายดอกสารภีแต่โตกว่า ใบคล้ายใบกระทิง
  9. แต้ว  ต้นขนาดย่อม แกนแข็ง ใช้ยางเป็นเครื่องฉาบทา ดอกขาวหรือชมพูอ่อน มีกลิ่นหอม
  10. แก้ว เป็นพันธุ์ไม้ในตระกูลส้ม  ดอกขาวหอม มักขึ้นตามป่าที่ร่มเย็น บางต้นมีหลายง่าม ใช้ทำด้ามมีดและไม้ถือ อีกชนิดหนึ่งเนื้อแข็งเหนียวมีลาย
  11. เต็ง ไม้ขนาดใหญ่ ใช้ทำเสาเรือน
  12. มะลิวัลย์ เป็นพันธุ์ไม้เลื้อย ดอกสีขาวหอม
  13. จิก มีหลายชนิด  ดอกสีขาว ๆ หรือแดง ๆ มักออกเป็นช่อยาวห้อยเป็นระย้าขึ้นในที่ชุ่มชื้น
  14. จวง ต้นเทพทาโร บางแห่งเรียกจวงหอม
  15. ลำดวน เป็นไม้ดอก ดอกคล้ายดอกนมแมว มีกลิ่นหอม
  16. นางแย้ม ดอกเป็นช่อเล็ก ๆ สีขาว คล้ายใบพิมเสน
  17. กาหลง ดอกสีชมพูอ่อนบ้าง ขาวบ้างแต่ไม่มีกลิ่น ใบคล้ายใบชงโคหรือใบเลี้ยว

นกที่ปรากฏในเรื่องมี 10 ชนิด

  1. นกยูง นกขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ขนงามเป็นสีเลื่อม ขนเป็นแวว
  2. สร้อยทอง นกที่มีคอเป็นสีต่าง ๆ 
  3. สาลิกา นกจำพวกนกเอี้ยง หัวสีดำ ตัวสีน้ำตาลแกมดำ หนังของตาจัดเหลือง
  4. นางนวล ชื่อนกกินปลาชนิดหนึ่ง อยู่ตามชายหาด
  5. แก้ว ชื่อนกขนเขียว ปากแดงและงุ้ม มีหลายชนิด
  6. ไก่ฟ้า เป็นนกสีสวยงามชอบอยู่เป็นฝูงอย่างไก่บ้าน ตัวขนาดไก่แจ้ บินเก่งมาก
  7. แขกเต้า เป็นนกในตระกูลนกแก้ว แต่ตัวเล็กกว่า
  8. ดุเหว่า ตัวสีดำ เล็กกว่ากาเล็กน้อย ร้องไพเราะ มักจะเรียกกันว่า กาเหว่า
  9. โนรี เป็นนกจำพวกนกแก้ว โดยมากมีขนเป็นสีแดงล้วน  บางชนิดมีสีอื่นแซม เรียกเบญจพรรณ
  10. สัตวนกใน เป็นนกจำพวกนกแก้ว ตัวโต สีเขียวเกือบเป็นสีคราม

สามัคคีเภทคำฉันท์

สามัคคีเภทคำฉันท์
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2450
ชิต บุรทัต
(พ.ศ.2435 – 2485)
       สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นกวีนิทานสุภาษิต ว่าด้วย “โทษแห่งการแตกสามัคคี” ภายหลังได้รับการยกย่องเป็นตำราเรียนวรรณกรรมไทยที่สำคัญเล่มหนึ่งทั้งในอดีตและปัจจุบัน ลักษณะเด่นของ สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นกวีที่มีความงดงาม ใช้ถ้อยคำอย่างละเมียดละไม โอ่อ่าอลังการในการใช้แบบแผนฉันทลักษณ์ของกาพย์และฉันท์เช่น การใช้สัททุลลวิกกีฬิตฉันท์แต่งบทไหว้ครู หรือการใช้มาลินีฉันท์  และสัทธราฉันท์แต่งบทขรึมขลัง  การใช้กาพย์และฉันท์ลักษณะอื่นๆ  ที่ให้อารมณ์ความรู้สึกสอดคล้องกับเนื้อหา อารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน่าหวาดกลัว เกรี้ยวกราด ตกใจ ผาดโผน  ลีลาอ่อนไหวโน้มน้ำใจ หรือเศร้าสังเวช  จนกล่าวได้ว่า เอกภาพของเนื้อหาและรูปแบบฉันทลักษณ์ในสามัคคีเภทคำฉันท์นั้นแต่งได้ดียิ่ง  ควรเป็นแบบอย่าง
ในการศึกษาเรียนรู้หลักธรรมสำคัญของ สามัคคีเภทคำฉันท์ สะท้อนให้เห็นถึงการแตกความสามัคคีกันระหว่างเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี  เป็นสาเหตุนำไปสู่การเสียแคว้นวัชชีแก่พระเจ้าอชาตศัตรู ผู้ครองแคว้นมคธ  ทั้งที่แต่เดิมนั้น  กษัตริย์ลิจฉวีทุกองค์ล้วนตั้งมั่น อยู่ในธรรมที่เรียกว่า “อปริหานิยธรรม” คือ ธรรมอันเป็นไปเพื่อเหตุแห่งความเจริญฝ่ายเดียว  ผู้ปฏิบัติจักไม่เป็นไปในทางเสื่อม อันได้แก่
1.  เมื่อมีกิจใดเกิดขึ้น ก็ประชุมกันปรึกษาในกิจนั้น
2.  เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกก็พร้อมเพรียงกันเลิก และพร้อมเพรียงกันกระทำกิจอันควรทำ
3.  ถือมั่นตามขนบธรรมเนียมหรือประเพณีอันดีอันชอบที่มีอยู่  ไม่เลิกถอน หรือดัดแปลงเสียใหม่
4.  มีความเคารพยำเกรงผู้ที่อยู่ในฐานะเป็นผู้ใหญ่  ทั้งเชื่อถือกระทำตามถ้อยคำบัญชาและคำแนะนำสั่งสอนของผู้เป็นใหญ่นั้น
5.  ไม่ประทุษร้ายข่มเหงบุตรและภริยาของกันและกันด้วยประการใดๆ
6.  ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นต่อเจดียสถาน หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์  และการกระทำพลีกรรมบวงสรวงก็กระทำตามควร
7.  อำนวยความคุ้มครองป้องกันแก่พระอรหันต์  บรรดาที่มีอยู่ในแว่นแคว้นวัชชีให้เป็นสุขและปราศจากภัย

เนื้อเรื่องโดยย่อของ สามัคคีเภทคำฉันท์  มีว่า
       สมัยก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานไม่นานนัก  พระเจ้าอชาตศัตรูทรงครองราชสมบัติที่นครราชคฤห์ แคว้นมคธ  พระองค์ทรงมีวัสสการพราหมณ์  ผู้ฉลาดและรอบรู้ศิลปศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาราชกิจทั่วไป  ขณะนั้นทรงปรารภจะแผ่พระราชอาณาเขตเข้าไปถึงแคว้นวัชชี  แต่กริ่งเกรงว่ามิอาจเอาชนะได้ด้วยการส่งกองทัพเข้ารุกราน  เนื่องจากบรรดากษัตริย์ลิจฉวีมีความสามัคคีสูง และการปกครองอาณาประชาราษฎร์ด้วยธรรม อันนำความเจริญเข้มแข็งมาสู่แว่นแคว้น  พระเจ้าอชาตศัตรูทรงหารือเรื่องนี้เป็นการเฉพาะกับวัสสการพราหมณ์  จึงเห็นแจ้งในอุบายจะเอาชนะด้วยปัญญา
       วันหนึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จออกว่าราชการ พร้อมพรั่งด้วยเสนาอำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่ เมื่อเสร็จวาระเรื่องอื่นๆ ลงแล้ว  จึงตรัสในเชิงหารือว่า หากพระองค์จะยกทัพไปปราบแคว้นวัชชีใครจะเห็นคัดค้านประการใด วัสสการพราหมณ์ฉวยโอกาสเหมาะกับอุบายตนที่วางไว้ ก็กราบทูลท้วงว่าเห็นทีจะเอาชนะไม่ได้เลย  เพราะกษัตริย์ลิจฉวีทุกองค์ล้วนผูกพันเป็นกัลยาณมิตรอย่างมั่นคง มีความสามารถในการศึกและกล้าหาญ  อีกทั้งโลกจะติเตียน หากฝ่ายมคธจงใจประทุษร้ายรุกรานเมืองอื่น  ขอให้ยับยั้งการทำศึกเอาไว้เพื่อความสงบของประชาราษฎร์
       พระเจ้าอชาตศัตรูทรงแสร้งแสดงพระอาการพิโรธหนัก  ถึงขั้นรับสั่งจะให้ประหารชีวิตเสีย  แต่ทรงเห็นว่าวัสสการพราหมณ์รับราชการมานาน  จึงลดโทษการดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ครั้งนั้น  เพียงแค่ลงพระราชอาญาเฆี่ยนตีอย่างแสนสาหัสจนสลบไสล  ถูกโกนหัวประจานและ เนรเทศออกไปจากแคว้นมคธ
       ข่าววัสสการพราหมณ์เดินทางไปถึงนครเวสาลี เมืองหลวงของแคว้นวัชชี ทราบไปถึงพระกรรณของหมู่กษัตริย์ลิจฉวี  จึงรับสั่งให้เจ้าพนักงานตีกลองสำคัญเรียกประชุมราชสภาว่า ควรจะขับไล่หรือเลี้ยงเอาไว้ดี  ในที่สุดที่ประชุมราชสภาลงมติให้นำเข้าเฝ้าเพื่อหยั่งท่าทีและฟังคารมก่อน แต่หลังจากกษัตริย์ลิจฉวีทรงซักไซ้ไล่เลียงด้วยประการต่างๆ ก็หลงกลวัสสการพราหมณ์  ทรงรับไว้ทำราชการในตำแหน่งอำมาตย์ผู้พิจารณาพิพากษาคดีและตั้งเป็นครูฝึกสอนศิลปวิทยาแก่ ราชกุมารของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีด้วย  จากนั้นต่อมา  พราหมณ์เฒ่าก็ทำที่ปฎิบัติงานในหน้าที่อย่างดี ไม่มีสิ่งใดบกพร่อง จนหมู่กษัตริย์ลิจฉวีไว้วางพระทัย
       แผนการทำลายความสามัคคีได้เริ่มจากวัสสการพราหมณ์ใช้กลอุบายให้บรรดาราชโอรสกษัตริย์ลิจฉวีระแวงกัน  โดยแกล้งเชิญแต่ละองค์ไปพบเป็นการส่วนตัว  แล้วถามปัญหาธรรมดาที่รู้ๆ  กันอยู่  เมื่อองค์อื่นซักเรื่องราวว่าสนทนาอะไรกับอาจารย์บ้าง  แม้ราชกุมารองค์นั้นจะตอบความจริง แต่ก็ไม่มีใครเชื่อถือ ก่อให้เกิดความระแวงและแตกร้าวในบรรดาราชกุมาร กระทั่งลุกลามไปสู่กษัตริย์ลิจฉวี ผู้เป้นพระราชบิดาทุกองค์  ทำให้ความสามัคคีค่อยๆ เสื่อมลง จนกระทั่งไม่เข้าร่วมประชุมราชสภา  หรือได้ยินเสียงกลองก็ไม่สนใจประชุม  เมื่อมาถึงขั้นนี้วัสสการพราหรณ์จึงลอบส่งข่าวไปให้พระเจ้าอชาตศัตรูยกทัพมาตีแคว้นวัชชีได้เป็นผลสำเร็จ
       สามัคคีเภทคำฉันท์ แต่งขึ้นเพื่อมุ่งสรรเสริญธรรมแห่งความสามัคคีเป็นแก่นของเรื่อง และหลักธรรมข้อนี้ไม่ล้าสมัย  สามารถยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่หมู่ชนที่มีความพร้อมเพรียงกันพัฒนาสังคม  หากนำมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

ไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิ

ไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิ
ผู้แต่ง
       พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไทย)เป็นกษัตริย์องค์ที่ 5 ของสุโขทัย
ชื่อเดิม
       เตภูมิกถา หรือ ไตรภูมิกถา
ความหมาย
       เรื่องราวของสามโลก คือ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ
 จุดมุ่งหมาย 

       – ชี้ให้เห็นคุณและโทษของโลกทั้งสาม ที่มีแต่การแปรเปลี่ยน ไม่แน่นอน มีแต่อนิจจลักษณะ
       – ชี้ให้มนุษย์หาทางหลุดพ้นไปจากโลกทั้งสามเพื่อไปอยู่ในโลกุตรภูมิ หรือนิพพาน
       – เน้นเรื่องกฎแห่งกรรม โดยเริ่มเนื้อหาจากนรกภูมิ
ผลจากการฟัง 
       – ทำให้บรรลุนิพพาน
       – ได้เกิดเป็นเทพยดาในสวรรค์อันเป็นโลกทิพย์
       –  มีโอกาสเกิดมาพบพระศรีอาริย์ผู้จะมาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
คุณค่า
       ด้านวรรณคดี – เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าคนไทยรู้จักแต่งวรรณคดีตั้งแต่สมัยสุโขทัย
       ด้านศาสนา – เป็นการนำเสนอปรัชญาทางพุทธศาสนา
       ด้านจริยธรรม – กำหนดกรอบการปฏิบัติตนให้คนในสังคมทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ทำให้สังคมสงบสุข
       ด้านประเพณีและวัฒนธรรม
       – แสดงให้เห็นความเชื่อที่ตกทอดมาสู่ประเพณีและวัฒนธรรมในปัจจุบัน เช่น การจัดดอกไม้ธูปเทียนให้คนตายก่อนปิดฝาโลง เพื่อให้ผู้ตายนำดอกไม้นั้นไปสักการะพระจุฬามณีเจดีย์ในสวรรค์
       – การเผาศพในเมรุเปรียบเสมือนการเดินทางขึ้นเขาพระสุเมรุไปสู่สวรรค์
        ด้านศิลปะ – ก่อให้เกิดงานจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมตามแผนภูมิจักรวาลในเรื่องไตรภูมิพระร่วง
แนวคิด
       – การเกิดในท้องมารดาเป็นทุกข์แบบหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเลย
       – กวีมีความรู้เรื่องการกำเนิดมนุษย์ตามแบบวิทยาศาสตร์
การใช้ภาษา
       – มีการใช้คำเป็นจังหวะน่าฟัง
       – มีการใช้คำสัมผัสคล้องจอง
        – มีการใช้โวหารภาพพจน์ โดยเฉพาะอุปมาโวหาร

ไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิ
การเกิดมนุษย์
ปฏิสนธิ -> กัลละ (ขนาด เศษ 1 ส่วน256 ของเส้นผม)
7 วัน       -> อัมพุทะ (น้ำล้างเนื้อ)
14 วัน     -> เปสิ (ชิ้นเนื้อ)
21 วัน     -> ฆนะ (ก้อนเนื้อ, แท่งเนื้อ ขนาดเท่าไข่ไก่)
28 วัน     -> เบญจสาขาหูด (มีหัว แขน2 ขา2) ครบ 1 เดือน
35 วัน     -> มีฝ่ามือ นิ้วมือ ลายนิ้วมือ
42 วัน     -> มีขน เล็บมือ เล็บเท้า (เป็นมนุษย์ครบสมบูรณ์)
50 วัน     -> ท่อนล่างสมบูรณ์
84 วัน     -> ท่อนบนสมบูรณ์
184 วัน  -> เป็นเด็กสมบูรณ์ นั่งกลางท้องแม่ (6เดือน)
การคลอด
ท้อง 6 เดือนคลอด – >ไม่รอด (บ่ห่อนได้สักคาบ)
ท้อง 7 เดือนคลอด ->ไม่แข็งแรง (บ่มิได้กล้าแข็ง)
การเกิด
มาจากสวรรค์  -> ตัวเย็น ออกมาแล้วหัวเราะ
มาจากนรก -> ตัวร้อน ออกมาแล้วร้องไห้
*** ลมกรรมชวาต = ลมเกิดแต่กรรม ดันให้เด็กคลอดออกมา

กาลทั้ง 3 ได้แก่
กาล 1 -> แรกเกิดในท้องแม่
กาล 2 -> อยู่ในท้องแม่
กาล 3 -> ออกจากในท้องแม่
* คนธรรมดา -> ไม่รู้ตัว จำไม่ได้ทั้ง 3 กาล
* พระปัจเจกโพธิเจ้า/ พระอรหันตาขีณาสพเจ้า / พระอัครสาวกเจ้า -> 2 กาลแรกรู้ตัว จำได้ แต่ลืมกาลที่ 3
*** ควรอิ่มสงสารแล =  เกิดเป็นคนควรใช้ชีวิตให้คุ้มค่า (ประโยคสุดท้ายบท)

อุปมาโวหาร แสดงให้เห็นความทุกข์ของการเกิด
–    เลือดแลน้ำเหลืองย้อยลงเต็มตนทุกเมื่อแล ดุจดั่งลิงเมื่อฝนตก แลนั่งกำมือเซาเจ่าอยู่ในโพรงไม้นั้นแล
–    ในท้องแม่ร้อนนักหนา ดุจดังเราเอาใบตองเข้าจ่อตน แลต้มในหม้อนั้นไซร้
–    กุมารนั้นเจ็บเนื้อเจ็บตน ดั่งคนอันท่านขังไว้ในไหอันคับแคบหนักหนา
–    กุมารอยู่ในท้องแม่นั้นให้เจ็บเพียงจะตายแล ดุจดั่งลูกทรายอันเพิ่งออกแล อยู่ธรห้อยผิบ่มิดุจดั่งคนอันเมาเหล้า(เหมือนลูกทรายโดนคนเมาเอาไปโยนเล่น) ผิบ่มิดุจดั่งลูกงูอันหมองูเอาไปเล่นนั้นแล
–    เมื่อถึงจักคลอด ดุจดั่งฝูงนรกอันยมบาลกุมตีนแลหย่อนหัวลงในขุมนรก อันลึกได้แลร้อยวา
–    เมื่อกุมารคลอดออกจากท้องแม่ ออกแลไปบ่มิพ้นตน ตนเย็น(แม่)นั้นแลเจ็บเนื้อเจ็บตนนักหนา ดั่งช้างสารท่านชักท่านเข็นออกจากประตูลักษ(รูกุญแจ)อันน้อยนั้น
–    แลคับตัวออกยากลำบากนั้นแล ผิบ่มิดั่งนั้น ดั่งคนผู้อยู่ในนรกแล แล ภูเขาอันชื่อคังไคยบรรพตหีบ(บีบ)แลเหง(ทับ) และบดบี้นั้นแล

แหล่งอ้างอิง

ขอขอบคุณแหล่งอ้างอิง
http://www.krutee.com/bbs/viewthread.php?tid=87
http://www.trueplookpanya.com/true/knowledge_detail.php?mul_content_id=2212
http://m4344a1.20m.com/p17.html
http://siamclassview.edu.chula.ac.th/cudsthai47/view.php?Page=1251440938269629&AD=1&msite=cudsthai47
http://www.trueplookpanya.com/true/knowledge_detail.php?mul_content_id=2297
http://nileiiwarissara.blogspot.com/2009/01/blog-post.html
http://www.tourthai.com/picture/general/pic05127.shtml , http://www.b.yimwhan.com/board/show.php?user=kobkob&topic=6&Cate=7
http://www.trueplookpanya.com/true/knowledge_detail.php?mul_content_id=2269
http://www.tourthai.com/picture/general/pic05127.shtml , http://www.b.yimwhan.com/board/show.php?user=kobkob&topic=6&Cate=7
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=vinitsiri&month=09-2009&date=05&group=4&gblog=4
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=253440
http://phiradet.blogspot.com/2007/09/blog-post.html
http://aphroditeishtar.spaces.live.com/blog/cns!6EB17353891D40E0!1326.entry
http://student.nu.ac.th/Ramakian/123/story13.htm
http://writer.dek-d.com/somjeed_naa/story/viewlongc.php?id=336820&chapter=32
http://www.makkasan.com/mss1/rp63index_files/Page496.htm
http://www2.srp.ac.th/~anurat/boat.htm , http://www.thaigoodview.com/library/studentshow/2549/m6-4/no35-47/kab_hea_rer/sec09p02.html
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=306690
http://www.dektriam.net/TopicRead.aspx?topicID=101505

แบบฝึกหัด

  1. อิเหนา  ตอน  ศึกกะหมังกุหนิง เป็นบทประพันธ์ของ 
    ก.พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
    ข.พระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
    ค.สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
    ง.นายนรินทรธิเบศ (อิน)
  2. นมัสการมาตาปิตุคุณใช้การแต่งเป็นร้อยกรองแบบ
    ก.กลอนสุภาพ
    ข.กาพย์สุรางคนาง
    ค.อินทรวิเชียรฉันท์ 11
    ง.ร่ายสุภาพ
  3. ทุกข์ของชาวนาในบทกวีเป็นบทความพระราชนิพนธ์ใน
    ก.พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
    ข.สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
    ค.พระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
    ง.นายนรินทรธิเบศ (อิน)
  4. ลักษณะคำประพันธ์มงคลสูตรคำฉันท์
    ก.กาพย์มหาชาติ
    ข.โครงสี่สุภาพ
    ค.กาพย์ฉบัง 16
    ง.กาพย์ฉบังและอินทรวิเชียรฉันท์ แทรกคาถาบาลี
  5. จุดมุ่งหมายในการแต่งนิราศนริทร์คำโคลง
    ก.เพื่อใช้ในการออกศึก
    ข.คร่ำครวญถึงนางอันเป็นที่รัก
    ค.เล่นในราชสำนัก
    ง.เพื่อใช้ในงานราชพิธีต่างๆ
  6. บทพูดคำฉันท์ มัทนะพาธา เป็นบทประพันธ์ของ 
    ก.พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ข.พระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
    ค.พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ง. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  7. เพราเหตุใดสมเด็จพระพันวษาจึงประหารนางวันทอง
    ก.คิดว่าขุนแผนตายและไปอยู่กับขุนช้าง
    ข.ละทิ้งหน้าที่ของตน
    ค.คิดว่านางวันทองเป็นหญิงหลายใจไม่สามารถตัดสินใจได้
    ง.นางหมิ่นพระเกียรติ์ของตน 
  8. ผู้ประพันธ์กาพย์เห่เรือ คือ
    ก.เจ้าพระยาธิเบศร์ ไชยเชษฐ์สุริยวงศ์
    ข.สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
    ค.นายนรินทรธิเบศ (อิน)
    ง.พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
  9. หลักการแต่งสามัคคีเภทคำฉันท์ คือ
    ก.สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นกวีนิทานสุภาษิต ว่าด้วย “กฎแห่งความสามัคคี”
    ข.สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นกวีนิทานสุภาษิต ว่าด้วย “โทษแห่งการแตกสามัคคี”
    ค.สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นกวีนิทานสุภาษิต ว่าด้วย “พลังแห่งสามัคคี”
    ง. สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นกวีนิทานสุภาษิต ว่าด้วย “นิยามของความสามัคคี”
  10. ไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิ เป็นบทประพันธ์ของ 
    ก.พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ข.พระมหาธรรมราชาที่ 1
    ค.สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
    ง.พระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

เฉลย  

 1. ก. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
อิเหนา  ตอน  ศึกกะหมังกุหนิง
อิเหนา  เป็นบทละครพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  เป็นบทละครที่วรรณคดีสโมสรยกย่องให้เป็นยอดของบทละครรำ  เพราะเป็นหนังสือซึ่งแต่งดีพร้อมทั้งเนื้อหา  ทั้งความไพเราะ  ทั้งกระบวนที่จะเล่นละครประกอบกัน  และยังเป็นหนังสือดีในทางที่จะศึกษาประเพณีไทยสมัยโบราณ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์ตรงตามตำราทุกอย่าง  แม้บทละครเรื่องอิเหนาจะมีเค้าเรื่องมาจากนิทานพื้นเมืองชวา  แต่ทรงดัดแปลงแก้ไขให้เข้ากับธรรมเนียมของบ้านเมือง  อัธยาศัยและรสนิยมของคนไทย

2. ค. อินทรวิเชียรฉันท์ 11
นมัสการมาตาปิตุคุณ
อินทรวิเชียรฉันท์ 11 บทหนึ่งมี 4 วรรค วรรคหน้า 5 คำ วรรคหลัง 6 คำ
และมีคำรับส่งสัมผัสเพียงแห่งเดียว คือระหว่างคำสุดท้ายในวรรคที่ 2 กับคำสุดท้ายในวรรคที่ 3
ในอินทรวิเชียรฉันท์นั้นต้องกำหนดคำครุและลหุ โดยการกำหนดคำครุและคำลหุในคำประพันธ์นั้นไม่ได้เป็นคำบังคับสำหรับผู้แต่ง เท่านั้น แต่รวมถึงผู้อ่านก็ต้องใช้เป็นแนวทางในการอ่านด้วยเช่นกัน   โดยถ้าคำใดอยู่ในตำแหน่งของคำครุ ผู้อ่านจะต้องลงเสียงหนัก   ส่วนคำใดที่อยู่ในตำแหน่งของคำลหุก็จะอ่านโดยไม่ลงน้ำเสียงหนักเสมอ (แม้ว่าคำนั้นจะสะกดแบบคำครุก็ตาม)

3. ข. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ทุกข์ของชาวนาในบทกวี
ทุกข์ของชาวนาในบทกวี  เป็นบทความพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ที่แสดงให้เห็นถึงการเอาพระทัยใส่ความเข้าพระทัยในปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนพระเมตตาของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวนา  เนื่องด้วยชาวนาแต่ละท้องที่ล้วนมีสภาพชีวิตและความทุกข์ยากที่ไม่แตกต่างกันเลย  แม้ว่ากาลเวลาจะผันผ่านไปอย่างไรก็ตาม

4. ง. กาพย์ฉบังและอินทรวิเชียรฉันท์ แทรกคาถาบาลี
ลักษณะคำประพันธ์มงคลสูตรคำฉันท์
กาพย์ฉบังและอินทรวิเชียรฉันท์ แทรกคาถาบาลี

5. ข. คร่ำครวญถึงนางอันเป็นที่รัก
จุดมุ่งหมายในการแต่งนิราศนริทร์คำโคลง
คร่ำครวญถึงนางอันเป็นที่รัก

6. ก. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
มัทนะพาธา เป็นบทละครพูดคำฉันท์ 5 องก์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ.2466 วรรณคดีสโมสรยกย่องว่า เป็นหนังสือแต่งดี เพราะละครพูดคำฉันท์เป็นของแปลกในกระบวนวรรณคดี แต่งได้ยาก และยังไม่เคยมีกวีคนใดแต่งมาก่อน อีกประการหนึ่ง คือ การปรุงชื่อตัวละคร และภูมิประเทศ ถูกต้องตามยุคแห่งภารตวรรษ อันเป็นตัวเรื่อง นับว่ารูปเรื่องปรุงดี เรื่องสำเร็จได้ด้วยพระปรีชาสามารถ และสุตาญาณ อันกว้างขวาง

7. ค. คิดว่านางวันทองเป็นหญิงหลายใจไม่สามารถตัดสินใจได้
สมเด็จพระพันวษาจึงตรัสถามนางวันทอง ถึงเรื่องราวแต่หนหลัง นางวันทองก็กราบทูลให้ทรงทราบ เมื่อทรงทราบแล้ว ก็กริ้วขุนช้างเป็นกำลัง แล้วตรัสถามนางวันทองต่อไปว่า เวลาล่วงไปแล้วถึงสิบแปดปี แต่ทำไมวันนี้จึงมาได้ นางวันทองก็กราบทูลว่า พระไวยไปรับเมื่อตอนกลางคืน สมเด็จพระพันวษาได้ฟัง ก็ทรงขุ่นเคืองพระไวย ที่ทำตามอำเภอใจ และว่าขุนแผนก็คงเป็นใจ ทรงตรัสว่า
…ถ้าอ้ายไวยจะอยากใคร่ได้แม่มา
 ชวนพ่อฟ้องหาเอาเป็นไร 
อัยการศาลโรงก็มีอยู่
 ฤๅว่ากูตัดสินให้ไม่ได้ 
แล้วตรัสต่อไปว่าเหตุทั้งหมดนี้ เพราะแย่งชิงนางวันทองกัน จึงให้นางวันทองตัดสินใจว่า จะอยู่กับใคร หรือถ้าไม่อยากอยู่กับทั้งสองคน จะเลือกอยู่กับลูกก็ได้ นางวันทองเมื่อถึงคราวจะสิ้นอายุ ไม่สามารถตัดสินใจได้ จึงกราบทูลเป็นกลางไป หวังจะให้สมเด็จพนะพันวษาตัดสินให้…ความรักขุนแผนก็แสนรัก
 ด้วยร่วมยากมานักไม่เดียดฉัน 
สู้ลำบากบุกป่ามาด้วยกัน
 สารพันอดออมถนอมใจ 
ขุนช้างแต่อยู่ด้วยกันมา
 คำหนักหาได้ว่าให้เคืองไม่ 
เงินทองกองไว้มิให้ใคร
 ข้าไทใช้สอยเหมือนของตัว 
จมื่นไวยเล่าก็เลือดที่ในอก
 ก็หยิบยกรักเท่ากันกับผัว… 
สมเด็จพระพันวษาให้ประหารวันทอง
สมเด็จพระพันวษาได้ทรงฟังแล้ว ก็พิโรธยิ่งนัก ตรัสประนามนางวันทองว่าเป็นหญิงหลายใจ อย่าอยู่ให้หนักแผ่นดิน ให้เอาตัวไปฆ่าเสีย

8. ก. เจ้าพระยาธิเบศร์ ไชยเชษฐ์สุริยวงศ์
ผู้ประพันธ์     
เจ้าพระยาธิเบศร์ ไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ (2258-2298) เป็นโอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยกรุงศรีอยุธยา

9. ข. สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นกวีนิทานสุภาษิต ว่าด้วย “โทษแห่งการแตกสามัคคี”
สามัคคีเภทคำฉันท์
ชิต บุรทัต
(พ.ศ.๒๔๓๕ – ๒๔๘๕)
  สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นกวีนิทานสุภาษิต ว่าด้วย “โทษแห่งการแตกสามัคคี”
ภายหลังได้รับการยกย่องเป็นตำราเรียนวรรณกรรมไทยที่สำคัญเล่มหนึ่งทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ลักษณะเด่นของ สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นกวีที่มีความงดงาม ใช้ถ้อยคำอย่างละเมียด
ละไม โอ่อ่าอลังการในการใช้แบบแผนฉันทลักษณ์ของกาพย์และฉันท์เช่น การใช้สัททุลลวิกกีฬิต
ฉันท์แต่งบทไหว้ครู หรือการใช้มาลินีฉันท์  และสัทธราฉันท์แต่งบทขรึมขลัง  การใช้กาพย์และ
ฉันท์ลักษณะอื่นๆ  ที่ให้อารมณ์ความรู้สึกสอดคล้องกับเนื้อหา อารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน่าหวาด
กลัว เกรี้ยวกราด ตกใจ ผาดโผน  ลีลาอ่อนไหวโน้มน้ำใจ หรือเศร้าสังเวช  จนกล่าวได้ว่า เอก
ภาพของเนื้อหาและรูปแบบฉันทลักษณ์ในสามัคคีเภทคำฉันท์นั้นแต่งได้ดียิ่ง  ควรเป้นแบบอย่าง
ในการศึกษาเรียนรู้

10.  ข. พระมหาธรรมราชาที่ 1
ไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิ
ผู้แต่ง
พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไทย)เป็นกษัตริย์องค์ที่ 5 ของสุโขทัย