สร้างเมื่อ พฤ, 06/10/2561 – 09:30

วันนวมินทรมหาราช วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ 13 ตุลาคม

     สืบเนื่องจากวันที่ 13 ตุลาคม 2566 เป็นวันแห่งการสวรรคตครบ 7 ปี หรือเรียกว่า “สัตตมวรรษ” เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า “วันนวมินทรมหาราช” ตามที่รัฐบาลได้ขอพระราชทานพระมหากรุณา และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 รับทราบการกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันนวมินทรมหาราช” ซึ่งแปลว่า วันที่ระลึกถึงพระมหาราชรัชกาลที่ 9 ผู้ยิ่งใหญ่

พระราชประวัติ

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชสมภพ วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม 2470 ที่โรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น ณ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ระหว่างที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ทรงศึกษาอยู่ที่ Harvard Medical School และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งขณะนั้นทรงศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยการพยาบาล Simmons ที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเชตส์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์สุดท้องในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

     ปี ๒๕๑๐ เมื่อครั้นเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสหรัฐฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมายังโรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น และพบกับ ดร. ดับเบิลยู สจ๊วต วิทท์มอร์ รวมทั้งคณะพยาบาลที่ถวายพระประสูติกาล ปัจจุบันโรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น จัดข้อมูลร่วมรำลึกถึงการพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กษัตริย์แต่เพียงพระองค์เดียวในดินแดนของสหรัฐอเมริกาบนแผ่นป้ายใต้พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่บริเวณชั้น 5 ของโรงพยาบาลฯ ขณะเดียวกัน จตุรัสภูมิพลที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ก็มีข้อความรำลึกถึงการพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่โรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์นด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า ในรัชกาลปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐ มีความพิเศษยิ่งกว่าในทุกรัชกาล

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงศึกษาในโรงเรียนโนแวล เดอ ลา สวิส โรมอนด์ ชัยยี ซูร์ โลซานน์ และได้ทรงศึกษาต่อ ณ โรงเรียนจิมนาส คลาสซิค คองโตนาล แห่งโลซานน์จนจบ ทรงได้รับประกาศนียบัตรชั้นมัธยม และทรงศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโลซานน์ สาขาวิทยาศาสตร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 รัฐบาลในนามของประชาชนทั้งประเทศได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานอัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสืบราชสมบัติ แต่เนื่องจากยังทรงศึกษาไม่จบ จึงเสด็จฯ กลับไปยังสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาต่อในวิชากฎหมายและการเมือง เพื่อให้เหมาะสมกับการที่ต้องทรงดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ต่อไป

     ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระบรมนามาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม และในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

     สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชธิดาและพระราชโอรส 4 พระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฏราชกุมาร  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี  และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

พระราชอัจฉริยภาพ

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพทางด้านต่าง ๆ มากมาย เป็นแบบอย่างการเรียนรู้ การศึกษา อันเป็นแรงบันดาลใจและแบบอย่างที่ดีในการเรียนรู้ให้แก่ชาวไทยทุกคน ได้แก่ พระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรี ทรงดนตรีเชี่ยวชาญในหลายประเภท ทรงแต่งเพลงพระราชนิพนธ์หลายเพลง และสนับสนุนอนุรักษ์เครื่องดนตรีไทยให้คงอยู่คู่กับประเทศสืบไป พระอัจฉริยภาพทางด้านถ่ายภาพ ชำนาญการใช้ถ่ายภาพ การอัดขยายภาพ ทรงประดิษฐ์แผ่นกรองแสง และทรงถ่ายภาพด้วยพระองค์เองเมื่อเสด็จเยือนพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร พระอัจฉริยภาพทางด้านกีฬา ทรงโปรดเล่นกี่ฬาหลายอย่าง เช่น ฮอกกี้น้ำแข็ง การยิงปืน ว่ายน้ำ สกีหิมะ สกีน้ำ แบดมินตัน และเรือกรรเชียง ทรงศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดและฝึกจนเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะกีฬาเรือใบ และลงเแข่งขันในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 อีกด้วย พระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะ ทรงปรีชาในด้านงานจิตรกรรม ทรงศึกษาขั้นตอนการเขียน เทคนิค ทั้งภาพเสมือนจริง ภาพนามธรรม ทรงงานวาดภาพเมื่อว่างจากพระราชภารกิจ พระอัจฉริยภาพทางด้านภาษาและวรรณกรรม ทรงสื่อสารภาษาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังทรงสนพระราชหฤทัยในการใช้ภาษาและภาษาสันสกฤตอย่างละเอียด พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือไว้หลายเรื่อง พระอัจฉริยภาพทางด้านการเกษตรและชลประทาน ทรงศึกษาเรื่องการกั้นน้ำและสร้างเขื่อน และมีพระราชดำริมากมายเพื่อช่วยแก้ปัญหาป่าไม้ แหล่งน้ำและดิน รวมถึงพระราชทาน ราชดำริอันเนื่องมาจากพระอัจฉริยภาพของพระองค์อย่าง “ทฤษฎีใหม่” แนวทางเกษตรที่ยั่งยืนรวมถึง แนวทางการดำรงชีวิตที่มั่นคงและพึ่งพาตัวเองได้อย่าง “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ได้มีการนำไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายประเทศและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

ที่มา : https://thaiembdc.org/2021/09/29/hmkingbhumiboladulyadejthegreatmemorialday/