สร้างโดย : นางสาวชนม์ชนก สุทธิจักรี
สร้างเมื่อ จันทร์, 09/08/2010 – 14:23
มีผู้อ่าน 274,895 ครั้ง (19/07/2023)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/71668
สวัสดิท่านผู้อ่านทุกท่าน
ยินดีตอนรับสู่ Blog ของข้าพเจ้าค่ะ
จุดประสงค์ ข้าพเจ้าเลือกที่จะทำเรื่อง “กิจการสหกรณ์” เพราะว่าในปัจจุบันมีกิจการสหกรณ์ร้านค้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งข้าพเจ้าประทับใจในหลายๆอย่างของอาชีพนี้ ไม่ว่าจะเป็น การประกอบอาชีพที่สุจริต มีรายได้พอประมาณ การบริการลูกค้า ข้าพเจ้าจึงจัดทำขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้สนใจและต้องการศึกษา
ขอขอบคุณนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา 5/5 โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัยที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจการสหกรณ์ และขอบคุณอาจารย์จงลักษณ์ วรรณเวชที่แนะนำในเรื่องต่างๆ
- คุณรู้จักคำว่ากิจการสหกรณ์หรือเปล่า ?
- คุณรู้จักคำว่ากิจการสหกรณ์ดีพอหรือยัง ?
- คุณรู้จักคำว่ากิจการสหกรณ์มากแค่ไหน ?
- คุณรู้ประวัติของกิจการสหกรณ์มั้ย ?
- คุณรู้วิธีการจัดตั้งกิจการสหกรณ์หรือไม่
- คุณรู้ข้อดี-ข้อเสียของกิจการสหกรณ์หรือเปล่า ?
แล้วคุณต้องการคำแนะนำมั้ย ?
ถ้าคุณต้องการคำแนะนำ…ที่นี่มีคำตอบ !!
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชม หากมีข้อสงสัยหรือข้อผิดพลาดใดๆ กรุณาแสดงความคิดเห็นไว้ด้านล่างนะคะ
ประวัติสหกรณ์ในประเทศไทย
การสหกรณ์ในประเทศไทย มีมูลเหตุสืบเนื่องมาจาก เมื่อประเทศไทยได้เริ่มมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ มากขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ระบบเศรษฐกิจของชนบทก็ค่อยๆ เปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบเพื่อเลี้ยงตัวเองมาสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเพื่อการค้า ความต้องการเงินทุนในการขยายการผลิตและการครองชีพจึงมีเพิ่มขึ้น ชาวนาที่ไม่มีทุนรอนของตนเองก็หันไปกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่นทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูง และยังถูกเอาเปรียบจากพ่อค้านายทุนทุกวิถีทางอีกด้วย ชาวนาจึงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา ทำนาได้ข้าวเท่าใด ก็ต้องขายใช้หนี้เกือบหมด นอกจากนี้การทำนายังคงมีผลผลิตที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ถ้าปีไหนผลผลิตเสียหายก็จะทำให้หนี้สินพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆจนลูกหนี้บางรายต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่นาให้แก่เจ้าหนี้ และกลายเป็นผู้เช่านา หรือเร่ร่อนไม่มีที่ดินทำกินไปในที่สุด
จากสภาพปัญหาความยากจนของชาวนาในสมัยนั้น ทำให้ทางราชการคิดหาวิธีช่วยเหลือ ด้วยการจัดหาเงินทุน มาให้กู้และคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำความคิดนี้ได้เริ่มขึ้นในปลายรัชการที่ 5 โดยกำหนดวิธีการที่จะช่วยชาวนาในด้านเงินทุนไว้ 2 วิธี คือ
วิธีที่ 1 จัดตั้งธนาคารเกษตรเพื่อให้เงินกู้แก่ชาวนา แต่ขัดข้องในเรื่องเงินทุนและหลักประกันเงินกู้ ความคิดนี้จึงระงับไป
วิธีที่ 2 วิธีการสหกรณ์ประเภทหาทุน วิธีนี้เกิดจากรัฐบาลโดยกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในปัจจุบันคือ กระทรวงการคลังได้เชิญเซอร์เบอร์นาร์ด ฮันเตอร์ หัวหน้าธนาคารแห่งมัดราช ประเทศอินเดียเข้ามาสำรวจหาลู่ทางช่วยเหลือชาวนาได้เสนอว่าควรจัดตั้ง “ธนาคารให้กู้ยืมแห่งชาติ” ดำเนินการให้กู้ยืมแก่ราษฎร โดยมีที่ดินและหลักทรัพย์อื่นเป็นหลักประกันเพื่อป้องกันมิให้ชาวนาที่กู้ยืมเงินทอดทิ้งที่นาหลบหนี้สิน
ส่วนการควบคุมเงินกู้และการเรียกเก็บเงินกู้ ท่านได้แนะนำให้จัดตั้งเป็นสมาคมที่เรียกว่า “โคออเปอราทีฟ โซไซตี้”(Cooperative Society) โดยมีหลักการร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันซึ่งคำนี้พระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณได้ทรงบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยว่า “สมาคมสหกรณ์”จึงกล่าวได้ว่า ประเทศไทยเริ่มศึกษาวิธีการสหกรณ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2457 แต่ก็ยังมิได้ดำเนินการอย่างไร จนกระทั่งในปี 2458 ได้มีการเปลี่ยนกรมสถิติพยากรณ์เป็นกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ ประกอบด้วยส่วนราชการ 3 ส่วน คือ การพาณิชย์ การสถิติพยากรณ์ และการสหกรณ์ หาทุนขึ้น ณ ท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลกเป็นแห่งแรกใช้ชื่อว่า “สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้” โดยจดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 มีพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เป็นนายทะเบียนสหกรณ์ พระองค์แรก นับเป็นการเริ่มต้นแห่งการสหกรณ์ในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์
ในระยะแรกตั้งสหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้มีสมาชิกจำนวน 16 คน ทุนดำเนินงาน 3,080 บาท ซึ่งเป็นเงิค่าธรรมเนียมแรกเข้า 80 บาท และเงินทุนจำนวน 3,000 บาท ได้อาศัยเงินกู้จากแบงค์สยามกัมมาจล จำกัด ซึ่งก็คือธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน โดยมีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเป็นผู้ค้ำประกัน และเสียดอกเบี้ยให้ธนาคารในอัตราร้อยละ 6 ต่อปี คิดดอกเบี้ยจากสมาชิกในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี กำหนดให้สมาชิกส่งคืนเงินต้นในปีแรกจำนวน1,300 บาท แต่เมื่อครบกำหนดสมาชิกส่งคืนเงินต้นได้ถึง 1,500 บาท ทั้งส่งดอกเบี้ยได้ครบทุกราย แสดงให้เห็นว่าการนำวิธีการสหกรณ์เข้ามาช่วยแก้ไขความเดือดร้อนของชาวนาได้ผล และจากความสำเร็จของสหกรณ์วัดจันทร์ดังกล่าว รัฐบาลจึงได้คิดขยายกิจการสหกรณ์ไปยังจังหวัดอื่นๆแต่การจัดตั้ง
สหกรณ์ในระยะแรกนั้น นอกจากจะมีข้อจำกัดเรื่องเงินทุนแล้วยังมีข้อจำกัดในทางกฎหมายด้วย เพราะพระราชบัญญัติเพิ่มเติมสมาคม พ.ศ. 2459 ทำให้การจัดตั้งสหกรณ์ไม่กว้างขวางพอที่จะขยายสหกรณ์ออกไปหากจะให้การจัดตั้งสหกรณ์เจริญก้าวหน้าและมีความมั่นคงจะต้องออกกฎหมายควบคุมให้มีขอบเขตกว้าง ดังนั้นในเวลาต่อมาทางราชการจึงได้ประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติเพิ่มเติมสมาคม พ.ศ. 2459 แล้วประกาศใช้พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471นับเป็นกฎหมายสหกรณ์ฉบับแรก
พระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้เปิดโอกาสให้มีการรับจดทะเบียนสหกรณ์ประเภทอื่นๆ จากนั้นได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471อีก 3 ครั้ง นับว่าการประกาศให้พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471 ช่วยให้การจัดตั้งสหกรณ์ได้ขยายออกไปอีกมาก
ปี พ.ศ. 2478 มีการริเริ่มจัดตั้งสหกรณ์เช่าซื้อที่ดินที่จังหวัดปทุมธานีและได้จัดตั้งสหกรณ์ประเภทใหม่ๆ ขึ้นอีกหลายประเภท เช่น สหกรณ์บำรุงที่ดินสหกรณ์ค้าขาย สหกรณ์นิคมฝ้าย สหกรณ์หาทุนและบำรุงที่ดิน ในปี พ.ศ. 2480 ร้านสหกรณ์ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกที่อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชื่อว่าร้านสหกรณ์บ้านเกาะ จำกัดสินใช้ มีสมาชิกแรกตั้ง279 คน และได้มีการจัดตั้งร้านสหกรณ์ในลักษณะนี้อีกหลายแห่งเพื่อช่วยเหลือประชาชนเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพ โดยจัดตั้งขึ้น ทั้งในส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และส่วนของประชาชน
วิธีการจัดตั้งสหกรณ์
มีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 รวมกลุ่มบุคคล บุคคลที่จะรวมกลุ่มกันตั้งสหกรณ์ต้องมีลักษณะดังนี้
1.1 เป็นบุคคลธรรมดาบรรลุนิติภาวะแล้ว
1.2 มีจำนวนบุคคลมากกว่า 10 คนขึ้นไป
1.3 บุคคลที่มารวมกัน ควรมีอาชีพอย่างเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน หรือมีปัญหาความเดือดร้อนทางงเศรษฐกิจหรือสังคม และต้องการร่วมมือกันแก้ไขปัญหานั้น โดยทำกิจการเพื่อมุ่งให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน
1.4 ทุกคนต้องสมัครใจรวมกันลงทุนด้วยวิธีการถือหุ้นอย่างน้อยหนึ่งหุ้น
1.5 ยินยอมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของกฎหมาย และกติกา (ข้อบังคับ) ที่พวกตนกำหนดขึ้นอย่างเคร่งครัด ด้วยความเสียสละ มีวินัย และซื่อสัตย์สุจริต
ขั้นตอนที่ 2 เตรียมการจัดตั้งสหกรณ์ เมื่อเกิดกลุ่มบุคคลแล้ว ให้ดำเนินการดังนี้
2.1 กลุ่มประชุมกันเพื่อเลือกบุคคลจากที่ประชุมนั้น จำนวนไม่น้อยกว่า 10 คน เป็นผู้แทนกลุ่ม เรียกว่า “คณะผู้จัดตั้งสหกรณ์”
2.2 คณะผู้จัดตั้งสหกรณ์ ต้องไปดำเนินการ คือ
(1) พิจารณากำหนดวัตถุประสงค์ว่าสหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกบ้าง และสหกรณ์ประเภทใดจะทำสหกรณ์ให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์นั้น
(2) จัดทำแผนดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจหรือกิจกรรมของสหกรณ์อันแสดงให้เห้นว่าเป็นประโยชน์แก่สมาชิกตามที่กำหนดในวัตถุประสงค์
(3) จัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลที่ประสงค์จะเป็นสมาชิกสหกรณ์ซึ่งต้องประกอบด้วยชื่อ ที่อยู่ ลายมือชื่อ และจำนวนหุ้นที่จะถือ
(4) จัดทำร่างข้อบังคับสหกรณ์ (ข้อบังคับสหกรณ์ คือข้อตกลงร่วมกันอันเป็นสัญญาว่าสมาชิกทุกคน ต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด สมาชิกคนหนึ่งคนใดกระทำหรือละเว้นกระทำโดยมิชอบไม่ได้ ข้อบังคับฉบับตัวอย่างขอได้ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดทุกแห่ง)
2.3 คณะผู้จัดตั้งสหกรณ์จัดการประชุมบุคคลที่มีรายชื่อในบัญชีเพื่อให้รับทราบการกำหนดวัตถุประสงค์ ประเภทของสหกรณ์ แผนการประกอบกิจการ และร่วมกันพิจารณาแก้ไขปรับปรุงรข้อบังคับ เพื่อตกลงกันกำหนดให้เป็นข้อบังคับสหกรณ์
ขั้นตอนที่ 3 ขอจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์ เมื่อคณะผู้จัดตั้งสหกรณ์ดำเนินการเตรียมการจัดตั้งสหกรณ์แล้ว ต้องจัดทำเอกสารเพื่อยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งต่อนายทะเบียนสหกรณ์ โดยยื่นเอกสารที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดแห่งท้องที่ เอกสารประกอบขอจดทะเบียนมีดังนี้
3.1 คำขอจดทะเบียน ซึ่งต้องมีลายมือชื่อของคณะผู้จัดตั้งสหกรณ์ครบทุกคนจำนวน 1 ฉบับ
3.2 สำเนารายงานการประชุมกลุ่ม บุคคลที่ประสงค์จะจัดตั้งสหกรณ์ที่มีเรื่องการเลือกบุคคลเป็นคณะผู้จัดตั้งสหกรณ์ จำนวน 2 ชุด (การประชุมใน 2.1 )
3.3 แผนดำเนินการธุรกิจเพื่อกิจกรรมของสหกรณ์ จำนวน 2 ชุด
3.4 บัญชีรายชื่อบุคคลซึ่งประธานจะเป็นสมาชิกสหกรณ์ ที่ประกอบด้วย ชื่อ ที่อยู่ลายมือชื่อและจำนวนหุ้นที่จะถือ จำนวน 2 ชุด
3.5 ข้อบังคับที่จัดทำเป็นเล่มแล้ว จำนวน 4 ฉบับ
3.6 สำเนารายงานการประชุมบุคคลผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิก ที่มีเรื่องรับทราบการกำหนดวัตถุประสงค์และประเภทของสหกรณ์ การกำหนดแผนดำเนินธุรกิจหรือกิจการของสหกรณ์ และการพิจารณากำหนดข้อบังคับของสหกรณ์ (การประชุมใน 2.3)
ขั้นตอนที่ 4 ดำเนินการหลังจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์
4.1 สหกรณ์ที่จดทะเบียนแล้วมีสถานภาพเป็นนิติบุคคล
4.2 บุคคลตามบัญชีรายชื่อผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิก มีสถานภาพเป็นสมาชิกที่ได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นและต้องชำระค่าหุ้นเต็มจำนวนที่จะถือตามบัญชีให้แก่สหกรณ์
4.3 คณะผู้จัดตั้งสหกรณ์ต้องมีอำนาจหน้าที่เสมือนเป็นคณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์ตามที่กำหนดในข้อบังคับ
4.4 คณะผู้จัดตั้งสหกรณ์ ดำเนินกิจการสหกรณ์ได้ตามที่กำหนดในข้อบังคับ
4.5 คณะผู้จัดตั้งสหกรณ์ต้องจัดประชุมสมาชิกสหกรณ์เป็นการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกภายใน 90 วันนับแต่วันจดทะเบียน เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์
4.6 คณะผู้จัดตั้งสหกรณ์มอบหมายการปฏิบัติหน้าที่ให้กับคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์
4.7 สหกรณ์ที่ได้รับจดทะเบียนแล้วต้องเริ่มดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกับสหกรณ์ ภายใน 1 ปี นับแต่วันจดทะเบียน หากไม่เริ่มดำเนินการภายในเวลาดังกล่าว นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจสั่งเลิกสหกรณ์ได้
ประเภทของสหกรณ์
สหกรณ์มี 6 ประเภท คือ
- สหกรณ์การเกษตร
สหกรณ์การเกษตร คือ องค์การที่ผู้ประกอบอาชีพทางการเกษตรรวมกันจัดตั้งขึ้น และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ต่อนายทะเบียนสหกรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สมาชิกดำเนินกิจการร่วมกันและช่วยเหลือ ซึ่งกันและกัน เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพของสมาชิก และช่วยยกฐานะความเป็นอยู่ของสมาชิกให้ดีขึ้น
ประวัติสหกรณ์การเกษตรได้มีการจัดตั้งสหกรณ์หาทุนขึ้นที่อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ชื่อว่า “สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้”ได้รับจดทะเบียนเป็นสหกรณ์แรก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 หลังจากนั้นได้มีการจัดตั้งสหกรณ์หาทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 จึงได้ทำการควบสหกรณ์หาทุนหลายๆ สหกรณ์เข้าเป็นสหกรณ์การเกษตรระดับอำเภอ เพื่อให้มีขนาดธุรกิจใหญ่ขึ้น สามารถบริการแก่สมาชิกได้มากขึ้น
วัตถุประสงค์ของสหกรณ์การเกษตร- ให้สินเชื่อเพื่อการเกษตร
- จัดหาวัสดุการเกษตร และสิ่งของที่จำเป็นมาจำหน่าย
- จัดหาตลาดจำหน่ายผลิตผล และผลิตภัณฑ์ของสมาชิก
- รับฝากเงิน
- จัดบริการและบำรุงที่ดิน
- ส่งเสริมความรู้ทางเกษตรแผนใหม่
- ให้การศึกษาอบรมทางสหกรณ์
- สหกรณ์ประมง
สหกรณ์ประมง คือ สหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นในหมู่ชาวประมง เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการประกอบอาชีพ ซึ่งชาวประมงแต่ละคนไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ตามลำพัง บุคคลเหล่านี้จึงรวมกันโดยยึดหลักการช่วยตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ประวัติสหกรณ์ประมง ทางราชการได้รวบรวมชาวประมงจำนวน 54 คน จัดตั้งสหกรณ์ประมงขึ้นในปี พ.ศ. 2492 ชื่อว่า”สหกรณ์ประมงพิษณุโลกจำกัด” ในท้องที่อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เป็นสหกรณ์ประมง ประเภทน้ำจืด ดำเนินการจัดสรรที่ทำกินให้สมาชิก ช่วยเหลือในด้านการจำหน่ายและแปรรูปสัตว์น้ำ ดำเนินการขออนุญาตจับสัตว์น้ำในท้องที่บางแห่งกำหนดเขตสัมปทานให้สมาชิกจับสัตว์น้ำได้โดยสะดวก ตลอดจนละเว้นการจับสัตว์น้ำที่ยังไม่ได้ขนาดเพื่อสงวนพันธุ์สัตว์น้ำ
วัคถุประสงคของสหกรณ์ประมง- ให้ความรู้ทางด้านวิชาการและธุรกิจการประมง เช่น การเก็บรักษา คุณภาพ สัตว์น้ำ การแปรรูป การเพาะเลี้ยง ฯลฯ
- จัดหาวัสดุอุปกรณ์การประมง หรือสิ่งของที่จำเป็นมาจำหน่ายแก่สมาชิก
- จัดจำหน่ายสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในราคายุติธรรม
- จัดหาเงินกู้ให้สมาชิกกู้ไปลงทุนประกอบอาชีพ
- รับฝากเงิน
- ให้การสงเคราะห์แก่สมาชิกและครอบครัวที่ประสบภัยพิบัติ
- สหกรณ์นิคม
สหกรณ์นิคม คือ สหกรณ์การเกษตรในรูปแบบหนึ่ง ที่มีการดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินให้ราษฎร การจัด สร้างปัจจัยพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการดำเนินการจัดหาสินเชื่อปัจจัยการผลิต และสิ่งของที่จำเป็น การแปรรูปการเกษตร การส่งเสริมอาชีพ รวมทั้งกิจการให้บริการสาธารณูปโภคแก่สมาชิก
ประวัติสหกรณ์นิคม ได้เริ่มดำเนินงานเป็นแห่งแรกที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เมื่อปี พ.ศ. 2478 โดยดำเนินการจัดซื้อที่นาราชพัสดุจากกระทรวงการคลัง เนื้อที่ 4,109 ไร่เศษ มาจัดสรรให้สมาชิก 69 ครอบครัวในรูปของสหกรณ์การเช่าซื้อที่ดิน ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 ได้จัดตั้งนิคมสหกรณ์ในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 7,913 ไร่ และได้จัดสหกรณ์การเช่าที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมสภาพแล้วที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2518
วัตถุประสงค์ของสหกรณ์นิคม- เพื่อการจัดนิคม คือ การจัดหาที่ดินมาจัดสรรให้แก่ราษฎรประกอบอาชีพทางการเกษตร ตลอดจนจัดบริการด้านสาธารณูปโภคแก่สมาชิก
- เพื่อการจัดสหกรณ์ คือ การรวบรวมราษฎรที่ได้รับจัดสรรที่ดินไว้นั้นจัดตั้งขึ้นเป็นสหกรณ์
- สหกรณ์ร้านค้า
สหกรณ์ร้านค้า คือ สหกรณ์ที่มีผู้บริโภครวมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดหาสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคมาจำหน่ายแก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป โดยจดทะเบียนตามกฎหมายสหกรณ์ในประเภท สหกรณ์ร้านค้า มีสภาพเป็นนิติบุคคลซึ่งสมาชิกผู้ถือหุ้นทุกคน เป็นเจ้าของสมาชิกลงทุนร่วมกันในสหกรณ์ด้วยความสมัครใจเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนในการซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคและเพื่อผดุงฐานะทางเศรษฐกิจของตนและหมู่คณะ
ประวัติสหกรณ์ร้านค้า ประเทศไทยได้เริ่มจัดตั้งร้านสหกรณ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2480 โดยตั้งขึ้นในหมู่ชาวชนบท อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ร้านสหกรณ์แห่งนี้ต้องเลิกล้มไป ต่อมารัฐบาลมีนโยบายที่จะช่วยเหลือ ประชาชนเกี่ยวกับการครองชีพ จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งร้านสหกรณ์ ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก จนในปัจจุบันมีร้านค้าสหกรณ์เกิดขึ้นทุกจังหวัดในประเทศไทย
วัตถุประสงค์ของสหกรณ์ร้านค้า- จัดหาสิ่งของและบริการที่สมาชิกต้องการมาจำหน่าย
- ช่วยจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของสมาชิก
- ส่งเสริมความรู้ทางการค้าและการสหกรณ์แก่สมาชิก
- ส่งเสริมให้รู้จักการประหยัด การช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
- ร่วมมือกับสหกรณ์และสถาบันอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
- สหกรณ์ออมทรัพย์
สหกรณ์ออมทรัพย์ คือ สถาบันการเงินแบบหนึ่งที่มีสมาชิกเป็นบุคคลซึ่งมีอาชีพอย่างเดียวกันหรือที่อาศัย อยู่ในชุมชนเดียวกัน มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักการออมทรัพย์ และให้กู้ยืมเมื่อเกิดความจำเป็น หรือเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์งอกเงยและได้รับการจดทะเบียนตาม พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 สามารถกู้ยืมเงินได้เมื่อเกิดความจำเป็นตามหลักการช่วยตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ประวัติสหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ออมทรัพย์แห่งแรก คือ สหกรณ์ข้าราชการสหกรณ์ จำกัด จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2492โดยข้าราชการในกรมสหกรณ์ (เดิม) และพนักงานในธนาคารเพื่อการสหกรณ์ (เดิม) ต่อมาก็ได้มีการ จัดตั้งขึ้นในกลุ่มครูในจังหวัดนครสวรรค์ และได้แพร่หลายไปในหมู่ข้าราชการ และพนักงานต่างๆ ทั้งในภาครัฐบาล และเอกชนทั่วประเทศ
วัตถุประสงค์ของสหกรณ์ออมทรัพย์- ส่งเสริมการออมทรัพย์ในรูปการซื้อหุ้น สมาชิกจะต้องถือหุ้นแรกเข้าอย่างน้อยคนละ 1 หุ้น และจะต้องถือหุ้น ต่อไปตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ แต่จะถือหุ้นเกินกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดไม่ได้
- รับฝากเงินจากสมาชิกทั้งประเภทเงินฝากประจำและเงินฝากออมทรัพย์ โดยให้ดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์
- ให้บริการด้านเงินกู้ มี 3 ประเภท คือ
3.1 เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน กู้ได้โดยไม่ต้องมีหลักประกัน
3.2 เงินกู้สามัญ มีสมาชิกอื่นหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน
3.3 เงินกู้พิเศษ มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
- สหกรณ์บริการ
สหกรณ์บริการ คือ สหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 โดยมีประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่า 10 คนขึ้นไป ที่มีอาชีพอย่างเดียวกัน หรือที่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องเดียวกันรวมตัวกันโดยยึดหลักการประหยัด การช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ รวมทั้งการส่งเสริมอาชีพเพื่อให้เกิดความมั่นคง และรักษาอาชีพดั้งเดิมที่ดีให้คงอยู่ต่อไป
ประวัติสหกรณ์บริการ เริ่มจัดตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ. 2484 คือ สหกรณ์ผู้ทำร่มบ่อสร้าง จำกัด ต่อมาได้มีการจัดตั้งสหกรณ์บริการในรูปแบบอื่นๆได้แก่ สหกรณ์บริการไฟฟ้าหนองแขม สหกรณ์เคหะสถาน สหกรณ์แท็กซี่ สหกรณ์ผู้ผลิตและค้าน้ำแข็ง และชุมนุมสหกรณ์เพื่อการพิมพ์แห่งประเทศไทย จำกัด ฯลฯ
วัตถุประสงค์ของสหกรณ์บริการ- ประกอบธุรกิจด้านการบริการ ตามประเภทที่ได้มุ่งหมายจัดตั้งขึ้น
- จัดหาอุปกรณ์ และสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นในการให้บริการ
- รับฝากเงิน และให้เงินกู้แก่สมาชิก
- จัดหาเครื่องอุปโภคบริโภค มาจำหน่ายแก่สมาชิก
- ช่วยเหลือสมาชิกด้านกฎหมาย คดีความต่างๆ
- ส่งเสริมสวัสดิการ แก่สมาชิกและครอบครัว
- ร่วมมือกับส่วนราชการต่างๆ เพื่อส่งเสริมกิจการสหกรณ์
ความหมายของคำว่าสหกรณ์
ความหมายโดยทั่วไปของคำว่าสหกรณ์
คำว่า สหกรณ์ มาจากคำ 2 คำรวมกัน
สห = รวมกัน
กรณ์ = การกระทำ
ความหมายโดยทั่วไป = การทำงานร่วมกัน หรือ การร่วมมือกัน
ความหมายทางวิชาการของคำว่าสหกรณ์
Charles Jide นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า “สหกรณ์ คือ สมาคมที่มุ่งหวังกำจัดเสียซึ่งกำไร”
ILO (International Labor Organization)
“สหกรณ์ คือ สมาคมของคนที่มีฐานะยากจนต่างสมัครใจที่จะมาร่วมกันบรรลุวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจ โดยการก่อตั้งองค์การธุรกิจที่มีการควบคุมแบบประชาธิปไตย ร่วมลงทุนกันอย่างเสมอภาคและยอมรับการเสี่ยงภัยและผลประโยชน์ทางธุรกิจอย่างยุติธรรม”
องค์การ : หน่วยงานใหญ่
องค์กร : หน่วยย่อยขององค์การ
Alexander ได้ให้คำนิยามของสหกรณ์ โดยเน้นถึงธรรมชาติและลักษณะสำคัญขององค์การสหกรณ์ในฐานะที่เป็นวิสาหกิจ โดยศึกษาเชื่อมโยงระหว่าง
1. การเป็นเจ้าของ
2. การควบคุม
3. การใช้บริการ
ความหมายทางICAของคำว่าสหกรณ์
องค์การสัมพันธภาพสหกรณ์ระหว่างประเทศ (ICA)เมื่อ พ.ศ.2538 ได้อธิบายความหมายของสหกรณ์ดังนี้
“สหกรณ์ คือ องค์การปกครองตนเองของบรรดาบุคคลซึ่งรวมกลุ่มกันโดยความสมัครใจเพื่อสนองความต้องการอันจำเป็นและความหวังร่วมกันทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมโดยการดำเนินวิสาหกิจที่พวกเขาเป็นเจ้าของร่วมกัน และควบคุมตามหลักประชาธิปไตย”
ลักษณะมูลฐานของสหกรณ์
- กลุ่มบุคคลที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเดียวกัน
- เจตนารมณ์ที่จะช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
- จัดตั้งองค์กรทางธุรกิจขึ้น และร่วมกันดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
- วัตถุประสงค์ขององค์การธุรกิจนี้คือ ส่งเสริมผลประโยชน์ของ สมาชิกและครอบครัว
ลักษณะเฉพาะที่สำคัญของสหกรณ์
สหกรณ์ประกอบด้วยลักษณะเฉพาะที่สำคัญดังนี้ คือ
- สหกรณ์ คือ ธุรกิจรูปหนึ่งที่มีการประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับธุรกิจรูปอื่นๆ โดยใช้ปัจจัย4 คือ คน เงิน ทรัพยากร และการจัดการ
- เกิดขึ้นจากการรวมคนและรวมทุนด้วยความสมัครใจ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม
- มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจที่แน่นอน เพื่อช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
- มีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคล
- สมาชิกทุกคนมีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกัน
- มีกฎหมายสหกรณ์และข้อบังคับสหกรณ์ เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ
สิทธิของสมาชิกสหกรณ์
สิทธิ คือ อำนาจของบุคคลที่กฎหมายคุ้มครองสำหรับในสหกรณ์นั้น สิทธิ คือ อำนาจของสมาชิกที่จะกระทำการใดๆ ได้ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ข้อบังคับหรือระเบียบของสหกรณ์ ดังเช่น
- เข้า ร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น และความต้องการของตนต่อที่ประชุมใหญ่ ตลอดจนสามารถซักถามข้อข้องใจสงสัย ข้อเสนอแนะ และออกเสียงในที่ประชุมใหญ่ได้เท่าเทียมกัน คือ หนึ่งคนต่อหนึ่งเสียง จะมอบให้คนอื่นออกเสียงแทนไม่ได้
- ออกเสียงเลือกตั้งกรรมการดำเนินการ และมีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการดำเนินการ ในที่ประชุมใหญ่ได้
- สอบ ถามการดำเนินงานของสหกรณ์ จากคณะกรรมการดำเนินการหรือจากเจ้าหน้าที่ ของสหกรณ์ได้ เสมอ รวมทั้งมีสิทธิที่จะขอตรวจดูเอกสารและรายงานการประชุมต่างๆ ที่เกี่ยวกับสหกรณ์ได้ ตามที่ข้อบังคับกำหนด
จะเห็นได้ว่า สมาชิกสหกรณ์มีความสำคัญต่อความสำเร็จ หรือความล้มเหลวของสหกรณ์เป็นอย่างมาก สมาชิกเป็นทั้งเจ้าของและลูกค้าของสหกรณ์ จึงต้องควบคุมดูแลกิจการของสหกรณ์ด้วย สมาชิกต้องสนใจใช้สิทธิของตนอย่างเต็มที่ ทั้งในด้านเข้าไปมีส่วนในการดำเนินงานของสหกรณ์ และทำธุรกิจ กับสหกรณ์อย่างแข็งขันด้วยความสามัคคีสหกรณ์จึงจะเจริญก้าวหน้า มิฉะนั้นแล้ว สหกรณ์จะประสบความ ล้มเหลวในที่สุด
ข้อดีข้อเสียของกิจการสหกรณ์
ข้อดี
- สมาชิกได้รับผลกำไรเฉลี่ยคืนตามยอดเงินที่ซื้อสินค้า
- เป็นแหล่งรวมเงินทุนให้สามารถขยายได้อย่างกว้างขวาง
- สหกรณ์ได้รับยกเว้นการเสียภาษี
- การจัดการร้านค้าของสหกรณ์มีลักษณะคล้ายกับห้างสรรพสินค้า โดยแบ่งสินค้าเป็นแผนกต่างๆ ทำให้สะดวกและประหยัดเวลา
- สหกรณ์ผู้บริโภคมีร้านค้าสาขาอยู่ในทำเลที่ดี
ข้อเสีย
- สหกรณ์บางแห่งระบบการจัดการและบริหารงานไม่ดีพอ
- ฝ่ายจัดการ คือ กลุ่มผู้ปฏิบัติงานมีประสบการณ์ทางด้านธุรกิจน้อยเกินไป
- ขาดงบประมาณในเรื่องการโฆษณาและประชาสัมพันธ์
- มีค้าน้อย โอกาสที่จะเลือกก็มีน้อย
- พนักงานบริการไม่เป็นที่ประทับใจ เพราะไม่มีสวัสดีการ
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสหกรณ์
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดของขบวนการสหกรณ์ในประเทศไทย ก็คือการควบสหกรณ์หาทุนเข้าด้วยกัน โดยทางราชการได้ออกพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 เปิดโอกาสให้สหกรณ์หาทุนขนาดเล็กที่ดำเนินธุรกิจเพียงอย่างเดียวควบเข้ากันเป็นขนาดใหญ่ สามารถขยายการดำเนินธุรกิจเป็นแบบอเนกประสงค์ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สมาชิก ได้มากกว่า ด้วยเหตุนี้สหกรณ์หาทุนจึงแปรสภาพเป็นสหกรณ์การเกษตรมาจนปัจจุบัน และในปี 2511 สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยได้ถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อเป็นสถาบันสำหรับให้การศึกษาแก่สมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศมีหน้าที่ติดต่อประสานงานกับสถาบันสหกรณ์ต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์และความช่วยเหลือร่วมมือกันระหว่างสหกรณ์สากลในด้านอื่นๆ ที่มิใช่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจโดยมีสหกรณ์ทุกประเภทป็นสมาชิก ซึ่งประเทศไทยได้กำหนดประเภทสหกรณ์ไว้ 6 ประเภทตามประกาศกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2516 ประกอบด้วยสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ร้านค้า และสหกรณ์บริการ ซึ่งนับแต่สหกรณ์ได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทยจวบจนปัจจุบัน
ปัจจัยที่จำเป็นสำหรับสหกรณ์
- ผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกสหกรณ์และกรรมการดำเนินการ ต้องมีความรู้ความเข้าใจ ในหลักการสหกรณ์สหกรณ์เป็นการรวมคน ดังนั้นคนที่มารวมกันจำเป็นต้องเข้าใจถึงความมุ่งหมาย ในการรวมกัน รู้ถึงสิทธิและหน้าที่ รวมทั้งหลักและวิธีการสหกรณ์จึงจะทำให้ดำเนินกิจการได้โดยราบรื่น มีความมั่นคงและเข้มแข็ง สามารถอำนวยประโยชน์ให้สมาชิกได้สมความมุ่งหมาย ดังนั้น ควรอบรมให้บุคคลที่จะมารวมกันตั้งสหกรณ์รู้เรื่องดังกล่าวด้วย
- ทุน ดำเนินงานสหกรณ์ ทุนดำเนินงานได้มาจากค่าหุ้น เงินรับฝาก เงินกู้ยืม เงินช่วย เหลือจากบุคคลอื่นๆ และกำไรที่สะสมไว้ ผู้ริเริ่มตั้งสหกรณ์จึงควรประมาณการไว้ว่าจะได้เงินทุนเป็นจำนวนเท่าใด จะได้มาจากไหน และถ้าไม่เพียงพอจะหาเพิ่มเติมได้โดยวิธีใด
- ปริมาณ ธุรกิจที่เพียงพอ สหกรณ์ต้องมีรายจ่ายจากการดำเนินธุรกิจ รายจ่ายบาง ประเภทคงที่ไม่ว่าจะทำธุรกิจมากน้อยเท่าใด เช่น เงินเดือน ค่าสึกหรอ เป็นต้น ดังนั้น สหกรณ์จะต้องทำธุรกิจให้มาก พอจนมีรายได้คุ้มกับรายจ่าย ผู้ริเริ่มตั้งสหกรณ์จึงต้องประมาณดูว่าสหกรณ์สมควรทำธุรกิจกับสมาชิกในด้าน ไหนมากน้อยเพียงใด ตลอดจนการโฆษณาเชิญชวนหรือชักชวนให้สมาชิกมาทำธุรกิจกับสหกรณ์ให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้
- ผู้จัดการสหกรณ์ สหกรณ์ต้องทำธุรกิจ ต้องมีผู้รับผิดชอบการดำเนินงานและควบคุม กิจการของสหกรณ์อย่างใกล้ชิด ผู้จัดการสหกรณ์ต้องทำงานให้สหกรณ์เต็มเวลา ควรมีประสบการณ์ ในการดำเนินธุรกิจ มีความสามารถซื่อสัตย์ ขยันขันแข็ง และมีความรู้ในหลักการวิธีการสหกรณ์ ผู้ริเริ่มตั้งสหกรณ์จึงจำเป็นต้องพิจารณาคัดเลือกหาคนที่มีคุณสมบัติที่ เหมาะสมมาปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการสหกรณ์
- ความต้องการของกลุ่มบุคคลที่จะรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ จะต้องเป็นความต้องการที่แท้จริง ของกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันเป็นสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เขาเหล่านั้นไม่สามารถแก้ไขได้โดยลำพัง
สหกรณ์ที่ตั้งขึ้นโดยมีปัจจัยต่างๆ ดังที่กล่าวแล้ว จะสามารถดำเนินกิจการต่อไป ได้ถูกต้อง และตั้งอยู่บนพื้นฐานอันมั่นคงสืบไป
คำแนะนำในการจัดตั้งสหกรณ์
- คณะบุคคลซึ่งประสงค์จะจัดตั้งสหกรณ์ควรประสานงานหรือปรึกษาหารือกับสหกรณ์จังหวัด หรือเจ้าหน้าที่ผู้ส่งเสริมสหกรณ์ ณ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดแห่งท้องที่ เพื่อให้ทราบวิธีการดำเนินการแบบสหกรณ์ สิทธิและหน้าที่ของสหกรณ์ในเบื้องต้น ตลอดจนเอกสารต่าง ๆ ในการขอจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์
- ในคราวประชุมเพื่อคัดเลือกคณะผู้จัดตั้งสหกรณ์ ควรให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการสหกรณ์ วิธีดำเนินการสหกรณ์แก่บุคคลที่ประสงค์จะรวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ๋ให้ถูกต้อง นอกจากจะให้ความรู้ด้านประโยชน์ของสหกรณ์แล้ว ควรต้องให้เข้าใจถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ของสหกรณ์ด้วย หากไม่มีผู้ใดให้ความรู้ในเรื่องเหล่านี้ได้ ขอให้แจ้งสำนักงานสหกรณ์จังหวัด ขอเจ้าหน้าที่ไปให้การศึกษาอบรม
- เนื่องจากการดำเนินกิจการสหกรณ์ต้องจัดทำบัญชีและบัญชีระบบสากลสหกรณ์ต้องเตรียมคนสำหรับดำเนินการในเรื่องนี้ เมื่อสหกรณ์ได้รับจดทะเบียนสหกรณ์ต้องจัดทำบัญชีทันที เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในเรื่องการลงบัญชีและหลักฐานทางบัญชี ควรต้องปรึกษาหารือ หรือขอคำแนะนำจากสำนักงานตรวจบัญชีในท้องที่ และควรเชิญเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้ทางบัญชีแก่ผู้จัดตั้งสหกรณ์ด้วย
- ข้อบังคับสหกรณ์จะตกลงกันอย่างไรก็ได้แต่ต้องอยู่ในข้อจำกัด 2 ประการ
4.1 ข้อบังคับสหกรณ์ต้องมีข้อความที่ไม่ขัดต่อกฎหมายใด ๆ และต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน
4.2 ข้อบังคับของสหกรณ์อย่างน้อยต้องกำหนดในเรื่องเหล่านี้ไว้
(1) ชื่อสหกรณ์ ซึ่งต้องมีคำว่า “จำกัด” อยู่ท้ายชื่อ
(2) ประเภทของสหกรณ์
(3) วัตถุประสงค์
(4) ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ และที่ตั้งสำนักงานสาขา
(5) ทุน ซึ่งแบ่งเป็นหุ้น มูลค่าของหุ้น การชำระค่าหุ้นด้วยเงินหรือทรัพย์สินอื่น การขาย และการโอนหุ้น ตลอดจนการจ่ายถือค่าหุ้น
(6) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินงาน การบัญชี และการเงินของสหกรณ์
(7) คุณสมบัติของสมาชิก วิธีรับสมาชิก การขาดจากสมาชิกภาพ ตลอดจนสิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
(8) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการประชุมใหญ่
(9) การเลือกตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการประชุมของคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์
(10) การแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้จัดการ
4.3 ข้อบังคับสหกรณ์ที่ใช้ในการขอจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์ ไม่ต้องทำรายการเปรียบเทียบ (ท.ข.2) - การจดทะเบียนสหกรณ์อาจกำหนดได้ 6 ประเภท คือ
5.1 ประเภทการเกษตร คือ การรวมบุคคลที่ประกอบอาชีพทางการเกษตร
5.2 ประเภทประมง คือ การรวมบุคคลที่ประกอบอาชีพทางการประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย
5.3 ประเภทนิคม คือ การรวมบุคคลที่ประสงค์จะได้สิทธิหรือกรรมสิทธิในที่ดินเพื่อทำการเกษตร
5.4 ประเภทร้านสหกรณ์ คือ การรวมบุคคลเพื่อการจัดหา จัดจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวกับเครื่องอุปโภค บริโภค
5.5 ประเภทออมทรัพย์ คือ การรวมบุคคลเพื่อการให้บริการทางการเงินลักษณะต่าง ๆ อาจจัดตั้งได้ในกลุ่มบุคคลที่รับราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในสถานประกอบการเอกชน หรือประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นแบบเครดิตยูเนี่ยน
5.6 ประเภทบริการ คือ การรวมบุคคลที่ต้องการรับบริการในสาขาต่าง ๆ เช่น การเดินรถ การขนส่ง การเคหะ การหัตถกรรม เป็นต้น