มงคลสูตรคำฉันท์
สร้างโดย : นางสาวฤทัยชนก และนายสรไกร สัตย์เพริศพราย
สร้างเมื่อ พฤ, 08/03/2012 – 23:00
มีผู้อ่าน 123878 ครั้ง (11/01/2023)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/131366
มงคลสูตรคำฉันท์
ผู้ทรงพระ ราชนิพนธ์ คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อ พ.ศ.2466
ลักษณะคำประพันธ์ กาพย์ฉบังและอินทรวิเชียรฉันท์ แทรกคาถาบาลี
เนื้อเรื่องย่อ พระอานนท์ เป็นผู้เล่าว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเชตวันวิหาร ซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย ตอนประถมยาม มีเทวดารัศมีเจิดจ้ามาเข้าเผ้าพระพุทธองค์ ทูลถามถึงเรื่องมงคลพระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาถึงมงคล 38 ประการ เทวดาและมนุษย์ผู้ปฎิบัติตาม จะเป็นผู้ประเสริฐ ไม่แพ้ในที่ใดๆ ได้รับความเจริญสวัสดีทุกประการ
มงคลสูตรคำฉันท์ เป็นวรรณคดี คำสอน ผลงานพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงนำหลักธรรมที่เป็นพระคาถาบาลีจากพระไตรปิฏกตั้งแล้วแปลถอดความเป็นคำประพันธ์ที่ไพเราะ มีความงดงามทั้งด้านเสียงและความหมาย สามารถจดจำได้ง่าย มงคลสูตรคำฉันท์นี้จะเกิดแต่ตัวเราเองได้ก็ต้องเป็นผลมาจากการประพฤติปฏิบัติดีของตนเองเท่านั้น หาได้มาจากปัจจัยอื่นเลย
ผู้แต่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าองค์ที่ 2 ในจำนวน 9 พระองค์ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง พระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 ณ พระที่นั่งในพระบรมมหาราชวังชั้นใน มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชาร่วมพระมารดา คือ
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ (พ.ศ. 2421-2430)
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2423-2468)
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง (พ.ศ. 2424-2430)
- จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (พ.ศ. 2425-2463)
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ (พ.ศ. 2428-2430)
- พลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา (พ.ศ. 2432-2467)
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย (พ.ศ. 2435-2466) และ
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2436-2484)
เสวยราชสมบัติเมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม ปีจอ พุทธศักราช 2453 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 รวมพระชนมพรรษา 46 พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม 16 ปี ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ไม่มีวัดประจำรัชกาลในเรื่อง “หัวใจชายหนุ่ม” นี้ พระองค์ได้ใช้พระนามแฝงว่า “รามจิตติ” ได้ลงพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตรายเดือนเมื่อ พ.ศ. 246
ลักษณะคำประพันธ์
กาพย์ฉบัง 16 และอินทรวิเชียรฉันท์ 11 แทรกคาถาบาลี
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
เพื่อให้ตระหนักว่าสิริมงคลจะเกิดแก่ผู้ใดก็เพียงผลมาจากการปฏิบัติของตนทั้งสิ้น
ไม่มีผู้ใดหรือสิ่งใดจะทำให้เกิดสิริมงคลแก่เราได้ นอกจากตัวเราเอง
แนวคิดสำคัญ
ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต เกิดจากการประพฤติปฏิบัติของตนเองทั้งสิ้น หาได้เกิดจากผู้อื่น สิ่งอื่น หรือวัตถุโชคลางใดๆ จากภายนอก
มงคล หมายถึง เหตุทั้งหลายอันจะทำให้บรรลุถึงความเจริญแห่งสมบัติทั้งปวง เหตุแห่งความเจริญหรือทางก้าวหน้า มีทั้งหมด 38 ประการ
มงคลสูตร เป็นพระสูตรในขุททกนิกาย หมวดขุททกปาฐ พระธรรมเล็กๆน้อยๆ
คุณค่าที่ได้รับจากการอ่าน
- ได้ทราบวิธีปฏิบัติตนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต
- มีคุณค่าทางด้านสังคม เพราะข้อปฏิบัติทุกข้อในมงคลสูตรล้วนมีค่าควรประพฤติปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้บุคคลและสังคมเจริญก้าวหน้า
- ได้ศึกษาภาษากวีนิพนธ์ที่สละสลวย ไพเราะทั้งถ้อยคำและเนื้อความ
ค่านิยม
มงคลทั้ง 38 ประการ ล้วนเป็นค่านิยมทางพระพุทธศาสนา ค่านิยมสูงสุดทางพระพุทธศาสนาก็คือ นิพพาน การดับพร้อมไม่เกิด แก่ เจ็บ ตาย อีกต่อไป
ความเป็นมา
เมื่อ พ.ศ. 2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำมงคลสูตร มาทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทร้อยกรองประเภทคำฉันท์ โดยใช้คำประพันธ์ 2 ชนิด คือ กาพย์ฉบัง 16 และอินทรวิเชียรฉันท์ 11 ทรงนำคาถาภาษาบาลีจากพระไตรปิฏกตั้ง แล้วแปลถอดความเป็นร้อยกรองภาษาไทย ได้ถูกต้องตรงตามบังคับในฉันทลักษณ์ โดยไม่เสียเนื้อความจากพระคาถาบาลี การจัดวางลำดับของมงคลแต่ละข้อก็เป็นไปตามที่ปรากฏอยู่ในพระคาถาเดิม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านภาษาได้อย่างดียิ่ง
“อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา
ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
หนึ่งคือบ่คบพาล เพราะจะพาประพฤติผิด
หนึ่งคบกะบัณฑิต เพราะจะพาประสบผล
หนึ่งกราบและบูชา อภิบูชนีย์ชน
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี”
เรื่องย่อ
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงมงคลอันสูงสุด 38 ประการ ไว้ในมงคลสูตร ซึ่งเป็นพระสุตรสำคัญบทหนึ่งในพระพุทธศาสนา มงคลสูตรปรากฏในพระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย หมวดขุททกปาฐะ
พระอานนทเถระได้กล่าวถึงที่มาของมงคลสูตรว่า ท่านได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ณ เชตวันวิหาร กรุงสาวัตถี มงคลสูตรนี้เกิดขึ้นด้วยอำนาจคำถาม คือ พระพุทธเจ้าทรงเล่าให้พระอานนท์ฟังว่า มีเทวดาเข้ามาทูลถามพระองค์เรื่องมงคล เพราะเกิดความโกลาหลวุ่นวายขึ้นทั้งในหมู่เทวดาและมนุษย์ ที่มีลัทธิเรื่องมงคลแตกต่างกันเป็นเวลานานถึง 12 ปี ท้าวสักกเทวราชจึงทรงมอบหมายให้ตนมาทูลถาม พระพุทธองค์จึงตรัสตอบเรื่องมงคล 38 ประการ ต่อจากราตรีนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเรื่องมงคลนี้แก่พระอานนท์อีกครั้งหนึ่ง
คาถาบทที่ 1
หนึ่งคือบ่คบพาล
เพราะจะพาประพฤติผิด
หนึ่งคบกะบัณฑิต
เพราะจะพาประสพผล
หนึ่งกราบและบูชา
อภิบูชะนีย์ชน
ข้อนี้แหละมงคล
อดิเรกอุดมดี
คือ ไม่ควรคบคนชั่วเพราะจะพาให้เราประพฤติชั่วไปด้วย ควรคบคนดีมีความรู้เพราะจะนำเราไปสู่ความสำเร็จ และควรบูชาคนดี
คาถาบทที่ 2
ความอยู่ประเทศซึ่ง
เหมาะและควรจะสุขี
อีกบุญญะการที่
ณอดีตะมาดล
อีกหมั่นประพฤติ์ควร
ณสะภาวะแห่งตน
ข้อนี้แหละมงคล
อดิเรกอุดมดี
คือ ควรปฏิบัติตนและอยู่ในที่ที่เหมาะที่ควรแห่งตน ทำบุญไว้แต่ปางก่อน
คาถาบทที่ 3
ความได้สดับมาก
และกำหนดสุวาที
อีกศิลปะศาสตร์มี
จะประกอบมนุญการ
อีกหนึ่งวินัยอัน
นรเรียนและเชี่ยวชาญ
อีกคำเพราะบรรสาน
ฤดิแห่งประชาชน
ทั้งสี่ประการล้วน
จะประสิทธิ์มนุญผล
ข้อนี้แหละมงคล
อดิเรกอุดมดี
คือ รู้จักฟัง รู้จักพูด มีวินัย ใฝ่ศึกษาหาความรู้
คาถาบทที่ 4
บำรุงบิดามา-
ตุระด้วยหทัยปรีย์
หากลูกและเมียมี
ก็ถนอมประหนึ่งตน
การงานกระทำไป
บ่มิยุ่งและสับสน
ข้อนี้แหละมงคล
อดิเรกอุดมดี
คือ ดูแลบิดามารดา บุตร ภรรยาเป็นอย่างดี ทำงานด้วยความตั้งใจ
คาถาบทที่ 5
ให้ทานณกาลควร
และประพฤติ์สุธรรมศรี
อีกสงเคราะห์ญาติ์ที่
ปฏิบัติบำเรอตน
กอบกรรมะอันไร้
ทุษะกลั้วและมัวมล
ข้อนี้แหละมงคล
อดิเรกอุดมดี
คือ รู้จักให้ทาน ช่วยเหลือญาติพี่น้อง ทำแต่ความดี มีสัมมาอาชีพ
คาถาบทที่ 6
ความงดประพฤติ์บาป
อกุศลบ่ให้มี
สำรวมวรินทรีย์
และสุราบ่เมามล
ความไม่ประมาทใน
พหุธรรมะโกศล
ข้อนี้แหละมงคล
อดิเรกอุดมดี
คือ ไม่ประพฤติชั่ว ไม่ละเลยในการประพฤติ เว้นการดื่มน้ำเมา
คาถาบทที่ 7
เคารพณผู้ควร
จะประณตและนอบศีร์
อีกหนึ่งมิได้มี
จะกระด้างและจองหอง
ยินดีณของตน
บ่มิโลภทยานปอง
อีกรู้คุณาของ
นรผู้ประคองตน
ฟังธรรมะโดยกา
ละเจริญคุณานนท์
ข้อนี้แหละมงคล
อดิเรกอุดมดี
คือ ให้ความเคารพผู้ควรเคารพ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความพอใจในสิ่งที่ตนมี มีความกตัญญูรู้คุณ และรู้จักฟังธรรมในโอกาสอันควร
คาถาบทที่ 8
มีจิตตะอดทน
และสถิตณขันตี
อีกหนึ่งบ่พึงมี
ฤดิดื้อทนงหาญ
หนึ่งเห็นคณาเลิด
สมณาวราจารย์
กล่าวธรรมะโดยกาล
วรกิจจะโกศล
ทั้งสี่ประการล้วน
จะประสิทธิ์มนุญผล
ข้อนี้แหละมงคล
อดิเรกอุดมดี
คือ มีความอดทน ว่านอนสอนง่าย หาโอกาสพบผู้ดำรงคุณธรรมเพื่อสนทนาธรรม
คาถาบทที่ 9
เพียรเผากิเลสล้าง
มละโทษะยายี
อีกหนึ่งประพฤติดี
ดุจะพรหมพิสุทธิ์สรรพ์
เห็นแจ้งณสี่องค์
พระอะรียสัจอัน
อาจนำมนุษผัน
ติระข้ามทเลวน
อีกทำพระนิพพา-
นะประจักษะแก่ชน
ข้อนี้แหละมงคล
อดิเรกอุดมดี
คือ พยายามกำจัดกิเลส ประพฤติพรหมจรรย์ เข้าใจในความเป็นจริงของชีวิตเพื่อจิตสงบถึงซึ่งนิพพาน
คาถาบทที่ 10
จิตใครผิได้ต้อง
วรโลกะธรรมศรี
แล้วย่อมบ่พึงมี
จะประหวั่นฤกังวล
ไร้โศกธุลีสูญ
และสบายบ่มัวมล
ข้อนี้แหละมงคล
อดิเรกอุดมดี
คือ มีจิตอันสงบ รู้จักปล่อยวางไม่หวั่นไหวกับสิ่งที่มากระทบ
คาถาบทที่ 11
เทวามนุษทำ
วรมงคะลาฉนี้
เปนผู้ประเสริฐที่
บ่มิแพ้ณแห่งหน
ย่อมถึงสวัสดี
สิริทุกประเทศดล
ข้อนี้แหละมงคล
อดิเรกอุดมดีฯ
คือ เทวดาและมนุษย์ปฏิบัติสิ่งที่เป็นมงคลเหล่านี้แล้วจะไม่พ่ายแพ้ให้แก่ข้าศึกทั้งปวง มีแต่ความสุขความเจริญทุกเมื่อ
มงคล 38 ประการ เทียบกับคำฉันท์ ได้ดังนี้
- ไม่คบคนพาล/1. หนึ่งคือ บ่ คบคนพาล จะพาประพฤติผิด
- คบบัณฑิต/2. หนึ่งคบกะบัณฑิต เพราะจะพาประสบผล
- บูชาผู้ที่ควรบูชา/3. หนึ่งกราบก่อนบูชา อภิปูชนีย์ชน
- อยู่ในประเทศอันสมควร/4. ความอยู่ประเทศซึ่ง เหมาะและควรจะสุขี
- เคยทำบุญไว้กาลก่อน/5. อีกบุญญะการที่ ณ อดีตะมาดล
- ตั้งตนไว้ชอบ/6. อีกหมั่นประพฤติควร ณ สภาวะแห่งตน
- สดับตรับฟังมาก/7. ความได้สดับมาก และกำหนดสุวาที
- มีศิลปะ/8. อีกศิลปศาสตร์มี จะประกอบมนุญการ
- มีวินัย/9.ย อีกหนึ่งวินัยอัน นรเรียนและเชี่ยวชาญ
- มีวาจาเป็นสุภาษิต/10. อีกคำเพราะบรรสาน ฤดิแห่งประชาชน
- บำรุงมารดาบิดา/11. บำรุงบิดามา-ตุระด้วยหทัยปรีย์
- สงเคราะห์บุตร/12. หากลูกและเมียมี ก็ถนอมประหนึ่งตน
- สงเคราะห์ภรรยา/13. หากลูกและเมียมี ก็ถนอมประหนึ่งตน
- การงานไม่คั่งค้างอากูล/14. การงานกระทำไป บ่มิยุ่งและสับสน
- ให้ทาน/15. ให้ทาน ณ กาลควร
- ประพฤติธรรม/16. และประพฤติ สุธรรมศรี
- สงเคราะห์ญาติ/17. อีกสงเคราะห์ญาติ ที่ปฏิบัติบำเรอตน
- ประกอบการงานไม่มีโทษ/18. กอบกรรมะอันไร้ ทุษกลั้วและมัวมล
- เว้นจากบาป/19. ความงดประพฤติบาป อกุศลบ่ให้มี
- สำรวมจากการดื่มน้ำเมา/20. สำรวมวรินทรีย์ และสุราบ่เมามล
- ไม่ประมาทในธรรม/21. ความไม่ประมาท ในพหุธรรมะโกศล
- เคารพ/22.เคารพ ณ ผู้ควร จะประณตและนอบศีร์
- สงบเสงี่ยมเจียมตัว/23. อีกหนึ่งมิได้มี จะกระด้างและจองหอง
- ยินดีด้วยของของตน(สันโดษ) /24. ยินดี ณ ของตน บ่มิโลภทะยานปอง
- รู้คุณท่าน/25. อีกรู้คุณาของ นรผู้ประคองตน
- ฟังธรรมตามกาล/26. ฟังธรรมะโดยกา-ละเจริญคุณานนท์
- อดทน /27. มีจิตตะอดทน และสถิต ณ ขันตี
- ว่าง่าย/28. อีกนัยหนึ่งบ่พึงมี ฤดิดื้อทะนงหาญ
- เห็นสมณะ/29. หนึ่งเห็นคณาเลิศ สมณาวราจารย์
- สนทนาธรรมตามกาล/30. กล่าวธรรมะโดยกาล วรกิจจะโกศล
- บำเพ็ญตบะ (ความเพียร)/31. เพียรเผากิเลสล้าง มละโทษะยายี
- ประพฤติพรหมจรรย์/32. อีกหนึ่งประพฤติดี ดุจะพรหมพิสุทธิ์สรรพ์
- เห็นอริยสัจ/33. เห็นแจ้ง ณ สี่องค์ พระอรียสัจอัน
- ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน/34. อีกทำพระนิพพา- นะประจักษะแก่ตน
- จิตไม่หวั่นไหวเมื่อต้องโลกธรรม/35. จิตใครผิได้ต้อง วรโลกะธรรมศรี
- จิตไม่เศร้าโศก/36. ไร้โศกธุลีสูญ
- จิตปราศจากธุลี/37. ไร้โศกธุลีสูญ
- จิตเกษม(ปลอดโปร่งจากกิเลส) /38. และสบายบ่มัวมล
มงคลสูตรคำฉันท์ – กรมศิลปากร
https://www.finearts.go.th/nakhonsithammaratlibrary/view/31815-มงคลสูตรคำฉันท์