ดนตรีเป็นศาสตร์และศิลป์
สร้างโดย : นายประสงค์ สกุลบัวบาง
สร้างเมื่อ เสาร์, 18/10/2008 – 12:07
มีผู้อ่าน 138,046 ครั้ง (26/12/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/17170
ดนตรีเป็นศาสตร์และศิลป์
บทนำ
ดนตรีเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์
ความรู้ที่มีอยู่ในโลกนี้เราอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ ความรู้ที่เป็นศาสตร์ และ ความรู้ที่เป็นศิลป์
ความรู้ที่เป็นศาสตร์ หมายถึงความรู้ที่มีพื้นฐานมาจากความเป็นจริง สามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ และเป็นจริงเสมอ ทั้งยังเป็นความรู้ที่ถาวรตลอดไป เช่น พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทาง ทิศตะวันตกเสมอ วัตถุชนิดเดียวกันมีมวลไม่เท่ากันย่อมมีน้ำหนักไม่เท่ากัน น้ำจะมีสถานะเปลี่ยนไปเมื่อ อยู่ในอุณหภูมิต่างกัน เป็นต้น ความรู้ที่เป็นศิลป์ หมายถึงความรู้ที่มีพื้นฐานมากจากการสมมุต ิและเป็นที่ยอมรับกันในหมู่ชนหรือสังคมหนึ่งๆ จะพิสูจน์ได้หรือไม่ได้ ไม่ใช่สาระสำคัญ ความรู้ประเภทนี้จะเป็นความรู้ที่ยั่งยืนมากน้อยเท่าใดขึ้นอยู่กับการยอมรับของสังคมและหมู่ชนนั้นๆ เช่นความเชื่อเรื่องวิญญาณ สีแดงคือพระอาทิตย์ วัตถุที่ไว้ตักอาหารเรียกว่าช้อน คนตายย่อมไปอยู่อีกโลกหนึ่งเรียกว่าปรโลกการจินตนาการเมื่อได้ดูภาพที่ประทับใจหรือเกิดความซาบซึ้ง สะเทือนใจเมื่อได้รับฟังบทเพลงหรือบทกวีเป็นต้น
ดนตรี เป็นเรื่องของเสียงที่มีความไพเราะ และ คือความรู้ที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในตัวเอง ที่ว่าเป็นศาสตร์ เพราะสามารถพิสูจน์และเป็นจริง เช่น กลองแขกเสียงจะสูงขึ้น ก็ต่อเมื่อเราขึงหนังให้มีความตึง ของหน้ามากขึ้น นี่เป็นความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยเสียงเกิดจากการสั่นสะเทือนของวัตถุ คือวัตถุสั่นสะเทือนช้า คลื่นเสียงจะต่ำไม่ถี่ เสียงที่ดังออกมาก็จะต่ำ วัตถุสั่นสะเทือนเร็วคลื่นเสียงจะสูงและถี่ เสียงที่ดังออกมาก็จะสูง เป็นต้นและที่ว่าเป็นศิลป์เพราะทำให้ผู้ที่ได้รับฟังหรือ ชมผลงานเกิดความประทับใจ เกิดอารมณ์สะเทือนใจ และเกิดการจินตนาการได้ เช่น เมื่อชม ภาพวาดในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกแล้วเกิดความรู้สึกว่า สวยงามมาก เกิดจินตนาการ เกิดอารมณ์สะเทือนใจ ในผลงานการเล่าเรื่องด้วยภาพ หรือชมภาพจิตกรรมฝาผนังเรื่องไตรภูมิพระร่วงแล้เกิดจินตนาการเรื่องของนรกสวรรค์ เกิดอารมณ์สะเทือนใจเกรงกลัวต่อการทำบาป เมื่อฟังเสียงเพลงธรณีกรรณแสง หรือค่าน้ำนมแล้วเกิดความซาบซึ้งและเกิดอารมณ์สะเทือนใจ จนเกิดจินตนาการทำให้น้ำตาไหล เป็นต้น
งานศิลปะที่สามารถทำให้ผู้บริโภคเกิดอารมณ์สะเทือนใจได้นั้นเราเรียกว่า “ศิลปะบริสุทธิ์” (Pure Art) และดนตรีก็ถือว่ามีความเป็นศิลปะบริสุทธิ์มากที่สุด
เครื่องดนตรีไทย
เครื่องดนตรีเมื่อกล่าวอย่างกว้างๆก็อาจแบ่งได้เป็น 4 ประเภทด้วยกันคือ
1. ประเภทเครื่องตี
2. ประเภทเครื่องเป่า
3. ประเภทเครื่องดีด
4. ประเภทเครื่องสี
ดนตรีปัจจุบันมีรากฐานมาจากความกลัวและลัทธิความเชื่อ เมื่อมีบทขับร้องและทำนองแล้ว เครื่องดนตรีจึงถือกำเนิดเกิดขึ้นมาด้วยเหตุผลเพื่อใช้บรรเลงประกอบกับบทขับร้องต่างๆ เหล่านั้น
ขั้นต้น เครื่องดนตรีที่น่าจะเกิดขึ้นมาเป็นอันดับแรกคงเป็นประเภทเครื่องตีเพราะค่อนข้างจะหาได้ง่าย เช่น การปรบมือ การเอามือตีที่ปากขณะเปล่งเสียง(แบบอินเดียนแดง) การเอาวัสดุต่างๆมาเคาะ เช่น ไม้ 1 อันมาเคาะกับไม้อีก 1 อัน (เกิดเป็น เกราะ ฯลฯ) ไม้ 2 อันมาตีกระทบกัน (เกิดเป็น กรับ ฯ) ไม้ 2 อันตีลงบนวัสดุอีกชิ้น (เกิดเป็นโปงราง ระนาด ฯ) ประเภทเครื่องเป่า คงเกิดจากการเป่าลมออกมาจากปากโดยตรงแล้วบังคับให้เป็นเสียงต่างๆด้วยการบีบริมฝีปาก (คือการผิวปาก) หรือการเป่าลมเข้าไปในวัสดุที่กลวง เช่น ไม้ไผ่ ต้นอ้อ ไม้ซาง ฯลฯ (เกิดเป็นขลุ่ย แคน ปี่ ฯลฯ) ประเภทเครื่องดีด คงเกิดจากการสังเกต เมื่อทำการล่าสัตว์ด้วยเครื่องมือที่เรียกกันว่า ธนู หรือการตวัดเชือก แสร้ แล้วเกิดเสียง จึงคิดการขึงเชือกหรือวัสดุที่เป็นเส้นแล้วดึงและปล่อย (เกิดเป็น พิณ ซึง จะเข้ กระจับปี่ ฯลฯ) ประเภทเครื่องสี คงเกิดจากการพบเห็นและสังเกตจากการดำรงชีวิตเช่นก่อไผ่เสียดสีกันเกิดเป็นเสียงต่างกัน การนำวัสดุหนึ่งไปรูดหรือถูกับวัสดุหนึ่งเกิดเสียงขึ้นเช่นการซักล้าง จึงนำเอาสิ่งที่พบเห็นมาคิดประดิษฐ์ขึ้นเป็นเครื่องดนตรี (เกิดเป็น ซอ ฯ)
เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี
ฆ้องวง ในปัจจุบันเราใช้อยู่ด้วยกัน 2 อย่างคือ
1. ฆ้องไทย
มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ฆ้องนางหงส์ และมีอยู่ด้วยกัน ๒ ชนิดคือ ฆ้องไทยวงใหญ่ และฆ้องไทยวงเล็ก นิยมบรรเลงในงานมงคล
2. ฆ้องมอญ
มีทั้งฆ้องมอญวงใหญ่และฆ้องมอญวงเล็ก ลูกฆ้องมอญนั้นวางเรียงอยู่ในร้านฆ้องที่แกะสลักเป็นตัวกินรี ปิดทองสวยงาม วางตั้งฉากกับพื้นด้วยเหตุนี้ทำให้คนทั่วไปเรียกฆ้องมอญผิดว่า “ฆ้องนางหงส์” แต่เดิมนั้นใช้ในงานทั่วไปแต่ปัจจุบันนิยมใช้เฉพาะงานศพ
ระนาด ในปัจจุบันเราใช้อยู่ด้วยกันมี 4 อย่าง คือ
ระนาดเอก
มีลูกระนาดอยู่ด้วยกัน 21 ลูก เรียงจากใหญ่ไปหาเล็ก ลูกใหญ่มีเสียงต่ำ ลูกเล็กมีเสียงสูง ลูกใหญ่อยู่ทางซ้ายมือสุด เรียกว่าลูกทวน ลูกเล็กอยู่ทางขวามือสุดเรียกว่าลูกยอด ระนาดเอกมี 2 ชนิดคือ
- ระนาดเอกไม้ ลูกระนาดทำจากไม้ เช่น ไม้ไผ่ ไม้สัก ไม้ประดู่ เจาะรูรอยด้วยเชือกและแขวนอยู่บนรางนะนาดเอกไม้
- ระนาดเอกเหล็ก ลูกระนาดทำด้วยโลหะ เช่น ทองเหลือง เหล็ก เหล็กชุบ วางเรียงอยู่บนรางระนาดเอกเหล็ก
ระนาดทุ้ม
มีลูกอยู่ด้วยกัน 16 ลูกเรียงจากใหญ่ไปหาเล็ก ลูกใหญ่มีเสียงต่ำ ลูกเล็กมีเสียงสูง ลูกใหญ่อยู่ทางซ้ายมือสุด เรียกว่าลูกทวน ลูกเล็กอยู่ทางขวามือสุดเรียกว่าลูกยอด ระนาดทุ้มมี 2 ชนิดคือ
- ระนาดทุ้มไม้ ลูกระนาดทุ้มทำจากไม้ไผ่ เจาะรูรอยด้วยเชือกและแขวนอยู่บนรางนะนาดทุ้มไม้
- ระนาดทุ้มเหล็ก ลูกทำด้วยโลหะ เช่น ทองเหลือง เหล็ก วางเรียงอยู่บนรางระนาดทุ้มเหล็ก
กลองแขก
เป็นเครื่องดนตรีที่ขึงด้วยหนังอีกชนิดหนึ่ง ใช้ตีร่วมกับวงปี่พาทย์ วิธีการตีใช้มือหรืออุปกรณ์ที่เรียกว่าไม้ตี ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ กลองแขกมีสองหน้า ใหญ่หน้าหนึ่ง และเล็กหน้าหนึ่ง และมีด้วยกัน2ใบคือ ตัวผู้ กับ ตัวเมีย เสียงปกติ ของกลองแขกเป็นดังนี้
ตัวเมีย เสียงต่ำ หน้าใหญ่ดัง “ทั่ม” หน้าเล็กดัง “จ๊ะ”
ตัวผู้ เสียงสูง หน้าใหญ่ดัง “ติง” หน้าเล็กดัง “โจ๊ะ”
เมื่อตีสลับกันดังเป็น ติงโจ๊ะทั่มจ๊ะ ในการตีมีเทคนิคมากมายหลายเสียง
กลองทัด
มีรูปทรงกระบอก กลางป่องออกเล็กน้อย ขึ้นหนังสองหน้า ตรึงด้วยหมุดที่เรียกว่า “แส้” ซึ่งทำด้วยไม้ งาช้าง กระดูกสัตว์ หรือโลหะ หน้ากลองด้านหนึ่งติดข้าวตะโพน แล้วตีอีกด้านหนึ่ง ใช้ไม้ตีสองอัน สำรับหนึ่งมีสองลูก ลูกเสียงสูงเรียกว่า “ตัวผู้”เสียงดัง”ตุ๊ม” ลูกเสียงต่ำเรียกว่า “ตัวเมีย” เสียงดัง”ต้อม” ตัวผู้อยู่ทางขวา และตัวเมียอยู่ทางซ้ายของผู้ตี กลองทัดน่าจะเป็นกลองของไทยมาแต่โบราณ ใช้บรรเลงรวมอยู่ในวงปีพาทย์ มาจนถึงปัจจุบัน
ตะโพนไทย
ตะโพนไทย เป็นเครื่องดนตรีประเภทตีที่ขึงด้วยหนัง มีขนาดไม่ใหญ่นัก รูปร่างยาว ปล่องกลาง หัวท้ายมน ไม่เท่ากัน มีสองหน้า หน้าใหญ่และหน้าเล็ก เสียงปกติ หน้าใหญ่ดัง “เท่ง” หน้าเล็กดัง “ติง” การตีใช้ ทั้งมือซ้ายและมือขวา ไม่นิยมใช้อุปกรณ์ใดๆตี ส่วนประกอบหลักมีสองส่วนคือ ตัวตะโพน (หรือหุ่น) และเท้าตะโพน เท้าตะโพนทำด้วยไม้ ซึ่งอาจแกะสลักลวดลายลงรักปิดทอง หรือแกะลวดลายแล้วฝังมุก หรือไม่แกะลวดลายก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของตะโพน ปกติจะตีคู่กับกลองทัด เป็นเสียงต่างๆเช่น ติง ถะ ตุ๋บ ติงต้อม เท่ง ถะ ตุ๋บ ติงต้อม ตุ๋บติง ตุ๋บเท่ง ติง ต้อม ( ต้อม คือเสียงของกลองทัด )
ตะโพนมอญ
ตะโพนมอญ มีลักษณะเหมือนตะโพนไทยแต่มีขนาดที่ใหญ่กว่ามาก และเสียงของแต่ละหน้าก็ต่างกัน เสียงของหน้าใหญ่ดัง “ทิ้ง” หรือ “ทึ้ง” หน้าเล็กดัง “เท่ง” เมื่อตีสลับกันจึงเป็น “เท่งทิ้งเท่งทิ้ง” หรือ “เท่งทึ้งเท่งทึ้ง” ปัจจุบันนิยมใช้กับวงปี่พาทย์มอญ ประกอบพิธีศพ และการแสดง
เครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า
เราสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ ประเภทที่มีลิ้น และไม่มีลิ้น
- ประเภทที่ไม่มีลิ้น ได้แก่ขลุ่ยชนิดต่างๆ
- ประเภทที่มีลิ้น ได้แก่ ปี่ชนิดต่างๆ
1. ประเภทไม่มีลิ้น
ขลุ่ย
ขลุ่ยเป็นเครื่องเป่าที่ไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์ใดๆเข้ามาเสริมในการให้เกิดเสียงเพราะเพียงเราเป่าลม ให้ผ่านเข้าไปในเลาขลุ่ย และเปิด – ปิดนิ้วก็สามารถมีเสียงได้แล้ว ส่วนประกอบของขลุ่ยนั้นมีไม่มากและไม่สลับซับซ้อนคือ
- ตัวขลุ่ยที่เรียกว่า”เลาขลุ่ย”ทำจากไม้ไผ่หรือไม้อื่นๆเช่นไม้ผยุง ไม้ชิงชัน หรือในปัจจุบันทำจากพลาสติก ก็มี
- ไม้เสี้ยมที่เรียกว่า”ดาก”ทำจากไม้ เสี้ยมปลายให้บางพอเหมาะเป็นตัวทำให้เกิดเสียง
- ปากนกแก้ว เป็นส่วนที่ทำให้เกิดเสียงประกอบกับดากและขลุ่ยจะกินลมมากน้อยเช่นไรขึ้นอยู่กับปากนกแก้วนี้
- รูปิดเปิดนิ้ว มีทั้งหมด 8 รู ทำให้เกิดเสียงที่แตกต่างกันโดยเรียงร้อยเป็นทำนองเพลงที่ไพเราะ
- รูแต่งเสียงสูงต่ำ มี 4 รูอยู่ที่ด้านล่างสุดของเลาขลุ่ย(ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ร้อยเชือกเอาไว้แขวน)
ขลุ่ยที่ใช้กันอยู่มี 3 ชนิดคือ
- ขลุ่ยเพียงออ มีเสียงอยู่ในระดับปานกลางนุ่มนวลนิยมใช้ในวงเครื่องสาย มโหรี ปี่พาทย์ไม้นวม
- ขลุ่ยหลิบหรือขลุ่ยหลีก มีเสียงสูงหนึ่งเท่าตัวของขลุ่ยเพียงออ นิยมใช้คู่กับขลุ่ยเพียงออ
- ขลุ่ยอู้ เป็นขลุ่ยที่มีขนาดใหญ่และมีเสียงทุ้มต่ำ ใช้ในวงเครื่องสายปี่ชวา
2. ประเภทมีลิ้น
ปี่ใน ปี่กลาง ปี่นอก
ปี่ จัดเป็นเครื่องดนตรี ประเภทเป่าลิ้นคู่ ในวงปี่พาทย์ไม้แข็งนิยมใช้ ปี่ใน ปี่กลาง และปี่นอก ทำมาจากไม้เนื้อแข็งมีรูปร่างทรงกระบอกกลมยาวและป่องตรงกลางเลา เจาะรูทะลุตลอดทั้งอัน มีลิ้นสอดไว้ทางปาก และอมขณะเป่า ลิ้นจะต้องเปียกชื้น จึงจะเป่าดัง ลิ้นทำด้วยใบตาล ที่ตัวปี่จะเจาะรู 6 รู ซึ่งปี่ที่นิยมใช้กันในภาคกลาง มี 2 ชนิด คือ ปี่นอกและปี่ใน นิยมทำกัน 2 ขนาด คือ ขนาดเล็กมีเสียงสูงดังจ้า เรียกว่า ปี่นอก ขนาดใหญ่สำเนียงต่ำลงมา เรียกว่าปี่ใน โดยทั่วไปนิยมใช้มากที่สุด คือ ปี่ใน
ปี่ชวา
จัดเป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่า มีรูปร่างคล้ายปี่ไฉนของภาคอีสานแต่ยาวกว่าและโตกว่าเล็กน้อย ทรงกระบอกรี โตตรงส่วนปลายของเลา เป็นปี่ประเภทลิ้นคู่ ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ตอนปลายบานออก เป็นลำโพงขยายเสียง ลิ้นปี่ทำจากใบตาล ใบตาลซ้อนกัน 4 ชั้นตัดให้กลมแล้วนำไปผูกติดกับท่อลมเล็กๆ ที่เรียกว่า “กำพวด” เรียวยาวประมาณ 5 ซม กำพวดนี้ทำด้วยทองเหลือง เงิน นาค หรือโลหะอย่างอื่นวิธีผูกเชือกเพื่อให้ใบตาลติดกับกำพวดนั้น ใช้วิธีผูกที่เรียกว่า “ผูกตะกรุดเบ็ด” มีรูบังคับเสียง 6 รู มีเสียงแหลม รูตอนบนเจาะเรียงลงมา 4 รู เว้นระยะห่างเล็กน้อย เจาะรูล่างอีก 2 รู ตรงกลางของเลาปี่ กลึงขวั้นเป็นเกลียวคู่ไว้เป็นจำนวน 14 คู่ เพื่อความสวยงามและกันลื่นอีกด้วย ประวัติ มีหลักฐานบ่งบอกว่า กำเนิดในสมัยอยุธยา ปัจจุบันนิยมใช้เป่า ในวงกลองแขกประกอบการชกมวย กระบี่กระบอง และวงเครื่องสายปี่ชวา
ปี่มอญ
ปี่มอญ มีเสียงที่ทุ้มต่ำ โหยหวนมาก นิยมใช้ในวงปี่พาทย์มอญ
เครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีด
เครื่องดีดมีอยู่ด้วยกันหลายอย่างเช่น พิณน้ำเต้า กระจับปี่ ซึง จะเข้ ฯลฯ ในที่นี้จะขอกล่าวเพียงจะเข้เท่านั้น
จะเข้
จะเข้ เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีดชนิดหนึ่งที่ใช้วางแล้วดีดด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า “ไม้ดีด” จะเข้มีส่วนประกอบดังนี้
– สาย มีสายอยู่ด้วยกัน 3สาย เรียกว่า สายเอก สายทุ้ม ทำจากเส้นไหมหลายเส้นนำมาควั่นเป็นเส้นเดียวสายเอกมีขนาดเล็กกว่าสายทุ้ม และสายลวด ทำจากทองเหลือง
- ตัวจะเข้ ทำจากไม้ต้นขนุนขุด และอาจตกแต่งด้วยมุก หรืองาช้างให้สวยงามตามแต่เจ้าของและฐานะ
- ลูกบิด มี3ลูกใช้บิดเพื่อขึงให้สายตึงหรือหย่อนได้เสียงตามต้องการ ทำจากไม้ หรืองาช้างกลึงกลม
- นม ทำจากไม้ไผ่วางเรียงอยู่บนตัวจะเข้ รองรับสายจะเข้เมื่อเวลากดนิ้วและดีดให้เกิดเสียงดังแตกต่างกัน
- หย่อง ทำจากไม้หรืองาช้าง ใช้เป็นตัวรองและยกสายจะเข้ให้สูงจากนมอย่างพอเหมาะ
- โต๊ะ ทำจากโลหะใช้รองสายจะเข้ตรงข้ามกับหย่องและมีผลต่อการเกิดเสียงที่ไพเราะของจะเข้
- เท้า มีด้วยกัน 5 เท้าทำจากไม้หรืองาช้างกลึงติดอยู่ที่ใต้ท้องตัวจะเข้ เพื่อยกให้ตัวจะเข้ลอยสูงขึ้นจากพื้น
เวลาดีดนั้นใช้อุปกรณ์ชนิดหนึ่งเข้าช่วยเรียกว่า “ไม้ดีด” ซึ่งอาจทำจากไม้เนื้อแข็งหรืองาช้างโดยพันด้วยเชือกไว้กับนิ้วชี้มือขวา จะเข้นิยมใช้ในวงเครื่องสายไทย วงมโหรี วงเครื่องสายปี่ชวา และการบรรเลงที่เรียกว่าการเดี่ยวและเพลงที่นิยมบรรเลงเดี่ยวก็มีหลายเพลงเช่น ลาวแพน จีนขิมใหญ่ เชิดนอก เป็นต้น
เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสี
ซอด้วง
ซอด้วง เป็นซอสองสายที่มีเสียงแหลมทำหน้าที่เป็นผู้นำวง คันทวนซอด้วงยาวประมาณ 72 ซม. คันชักยาวประมาณ 68 ซม ใช้ขนหางม้าประมาณ 120 – 150 เส้น กะโหลกของ ซอด้วงนั้น แต่เดิมใช้กระบอกไม้ไผ่มาทำ ปากกระบอกของซอด้วงกว้างประมาณ 7 ซม ตัวกระบอกยาวประมาณ 13 ซม กะโหลกของซอด้วงนี้ ในปัจจุบันใช้ไม้จริง หรือ งาช้างทำก็ได้ แต่ที่นิยมว่าเสียงดีต้องทำจากไม้ลำเจียก ส่วนหน้าซอนิยมใช้หนังงู ลักษณะของซอด้วง เหตุที่เรียกว่า ซอด้วง ก็เพราะมีรูปร่างคล้ายเครื่องดักสัตว์ ซึ่งทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ จึงเรียกชื่อตามลักษณะนั้น
สายซอด้วงนั้น มีเพียงสองสายและมีเสียงอยู่ สองเสียง คือสายเอกจะเป็นเสียง “เร” ส่วนสายทุ้มจะเป็นเสียง “ซอล” โดยใช้สายไหมฟั่นเป็นเส้น
ซอด้วง มีส่วนประกอบ ดังนี้
- กระบอก เป็นส่วนที่อุ้มเสียงให้เกิดกังวาน ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ด้านหน้าของกระบอกขึงปิดด้วยหนังงู
- คันซอ ทำด้วยไม้ ลักษณะกลมยาว แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงบนตั้งแต่ใต้ลูกปิดขึ้นไปจนถึงปลายคัน เรียกว่า “โขน” ช่วงล่างนับตั้งแต่ลูกบิดลงไปเรียกว่า “ทวนล่าง”
- ลูกบิด มีสองลูก เสียบอยู่ที่ช่วงล่างของโขน ปลายลูกบิดเจาะรูไว้สำหรับร้อยสายซอ เพื่อขึงให้ตึงตามที่ต้องการ
- รัดอก เป็นเชือกสำหรับรั้งสายซอทั้งสองสายเข้ากับทวนล่าง
- หย่อง เป็นไม้ชิ้นเล็กใช้หมุนระหว่างสายซอกับหน้าซอ
- คันชัก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งรูปโค้ง ด้ามมือจับมีหมุดสำหรับให้เส้นหางม้าคล้อง อีกด้านหนึ่งเจาะรูไว้ร้อยเส้นหางม้า ซึ่งมีประมาณ 250 เส้น สอดเส้นหางม้าให้อยู่ภายในระหว่างสายเอกกับสายทุ้ม สำหรับสี
ซออู้
เป็นซอสองสาย ตัวกะโหลกทำด้วยกะลามะพร้าว โดยตัดปาดกะลาออกเสียด้านหนึ่ง และใช้หนังลูกวัวขึงขึ้นหน้าซอ กว้างประมาณ 13 – 14 ซม เจาะกะโหลกให้ทะลุตรงกลาง เพื่อใส่คันทวนที่ทำด้วยไม้จริง ผ่านกะโหลกลงไป ออกทะลุรูตอนล่าง ใกล้กะโหลก คันทวนซออู้นี้ ยาวประมาณ 79 ซม ใช้สายซอสองสายผูกปลายทวนใต้กะโหลก แล้วพาดผ่านหน้าซอ ขึ้นไปผูกไว้กับ ลูกบิดสองอัน ลูกบิดซออู้นี้ยาวประมาณ 17 –18 ซม โดยเจาะรูคันทวนด้านบน แล้วสอดลูกบิดให้ทะลุผ่านคันทวนออกมา และใช้เชือกผูกรั้งกับทวนตรงกลางเป็นรัดอก เพื่อให้สายซอตึง และสำหรับเป็นที่กดสายใต้รัดอกเวลาสี ส่วนคันสีของซออู้นั้นทำด้วย ไม้จริงยาวประมาณ 70 ซม ใช้ขนหางม้าประมาณ 160 – 200 เส้น ตรงหน้าซอใช้ผ้าม้วนกลมๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นหมอนหนุน สายให้พ้นหน้าซอ ด้านหลังของกกะโหลกซอ แกะสลักเป็นรูปลวดลายสวยงาม และเป็นช่องทางให้เสียงออก
ซอสามสาย
ซอสามสายของไทยมีชื่อและลักษณะพ้องกับซามิเส็น (Samisen) ของญี่ปุ่น และสานเสี่ยน (San Hsien) ของจีนซึ่งมีสายสามสายเหมือนกันแต่ทั้งสานเสี่ยนของจีนและซามิเส็นของญี่ปุ่นเป็นประเภทเครื่องดีดไม่มีนม (fret) และกะโหลกซอทำเป็นรูป 4 เหลี่ยมแบน สานเสี่ยนของจีนย่อมุมมนใช้หนังงูขึงส่วนซอสามสายของเราเป็นดนตรีประเภทเครื่องสีตัวกะโหลกซอทำด้วยกะลามะพร้าวชนิดที่มีกะลานูนเป็นกระพุ้งออกมา 3 ปุ่ม คล้ายวงแหวน 3 อันวางอยู่ในรูป 3 เหลี่ยมจึงเป็น 3 เส้า ผ่ากะลาให้เหลือปุ่ม 3 เส้านั้นไว้ใช้เป็นกะโหลกซอขึงหนังแพะหรือหนังลูกวัวปิดปากกะลา ขนาดของซอเล็กใหญ่สุดแต่กะลาที่จะหาได้ที่กองการสังคีตกรมศิลปากรมีขนาดใหญ่อยู่คันหนึ่งหน้าซอยาวประมาณ 24 ซม. และกว้างประมาณ 19.5 ซม. มีคันซอหรือทวนทำด้วยไม้แก่นหรือบางอันก็ประกอบงายาวประมาณ 1.21 เมตร สอดเข้าไปในกะโหลกซอเหลือเป็นทวนตอนบนราว 71.5 ซม. และลอดลงมาเป็นทวนตอนล่าง 25.5 ซม. ทวนบนและทวนล่างเจาะเป็นโพรงร้อยสายเอ็นเข้าไปข้างในทวนล่าง 3 สาย ขึ้นสายผ่านหน้ากะโหลกซอที่ขึ้นหนังไว้ขึ้นไปเกือบปลายทวนบนแล้วร้อยเอ็นสายทั้ง 3 เข้าไปข้างในมีลูกบิดผูกสายสอดเข้าไปในทวนตอนบน 3 อัน อยู่ทางซ้ายมือของผู้บรรเลง 2 อัน และอยู่ทางขวามือ 1 อัน อันหนึ่งยาวประมาณ 14-15 ซม. สำหรับบิดขึ้นสายให้ตึงหรือหย่อนตามต้องการเวลาจะใช้บรรเลงนอกจากขึ้นสายให้ได้ที่แล้วจะต้องมีเครื่องประกอบอีก 2 อย่าง คือ (1) ต้องมี”หย่อง”ทำด้วยไม้สำหรับหนุนสายตรงหน้าที่ซอที่ขึ้นหนังให้สายตุงออกมา และ (2) ต้องมี”ถ่วงหน้า” ติดตรงหน้าซอตอนบนด้านซ้าย ถ่วงหน้านี้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากต้องเป็นของมีน้ำหนักได้ส่วนกับขนาดและความหนาของหนังจึงจะทำให้ซอเวลาสีเกิดเสียงไพเราะ แต่ก่อนทำอวดประกวดประขันกันจนถึงทำด้วยทองคำฝังเพชรก็มี แต่โดยปกติทำด้วยเงินลงยาคันชักหรือคันสีทำเป็นรูปโค้งโคนตรงมือถืองอนยาวประมาณ 86 ซม. สายคนสีใช้ขนหางม้าขึ้นสายประมาณ 200-250 เส้นเช่นเดียวกับคันสีซอฝรั่ง มีไวโอลิน เป็นต้น ซอสามสาย แต่เดิมคงจะเรียกแต่ว่า “ซอ” เฉย ๆ และไทยเราคงจะนิยมใช้กันอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยสุโขทัย เช่นมีกล่าวถึง “สีซอ” ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงของพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงสุโขทัย ต่อมาก็มีกล่าวถึงในกฎมนเทียรบาลซอสามสายเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยากแต่นิยมกันว่าไพเราะและสอดประสานเข้ากับเสียงขับร้องของนักร้องไทยได้สนิทสนมเป็นอันดี หาเสียงของเครื่องดนตรีอื่นเทียบเคียงได้ยากคงจะนิยมเล่นคลอขับร้องผสมวงคู่กับกระจับปี่ในวงมโหรีและวงเครื่องสายมาแต่โบราณ ดังจะเห็นได้จากภาพจิตรกรรม และรูปแกะสลักสมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยแรกตั้งกรุง รัตนโกสินทร์ ซอสามสายนี้ปรากฏว่า เป็นเครื่องดนตรีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดปรานมากและเนื่องจากกะโหลกซอต้องใช้กะลามะพร้าวเป็นปุ่มสามเส้าซึ่งมีรูปลักษณะพิเศษดังกล่าวแล้ว กะลาชนิดนั้นจึงเป็นของหายากเพราะมิได้มีอยู่ทั่วไปทุกสวนมะพร้าว เล่ากันว่าในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้นถ้าทรงทราบว่าสวนของผู้ใดมีกะลามะพร้าวชนิดที่ใช้ทำกะโหลกซอสามสายได้ก็ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทาน “ตราภูมิคุ้มห้าม” แก่เจ้าของสวนนั้นมิให้ต้องเสียภาษีอากรทั้งพระองค์เองก็ทรงชำนิชำนาญในการเล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้เป็นอย่างเยี่ยม ถึงกับสร้างซอสามสายขึ้นไว้เป็นคู่พระหัตถ์และมีอยู่คันหนึ่งโปรดพระราชทานนามว่า “ซอสายฟ้าฟาด” เล่ากันมาว่าในเวลาว่างพระราชกิจตอนกลางคืนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมักจะโปรดทรงซอสามสาย ถ้าไม่ร่วมวงก็มักจะทรงเดี่ยวด้วยพระองค์เองจนถึงกับมีเรื่องเล่ากันมาว่าคืนวันหนึ่งภายหลังที่ทรงสีซอสามสายอยู่จนดึกแล้วก็เสด็จเข้าที่พระบรรทมและทรงพระสุบินว่าพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปในสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งปรากฏในพระสุบินนิมิตนั้นว่า เป็นรมณียสถานสวยงามไม่มีแห่งใดในโลกนี้เสมอเหมือนขณะนั้นก็ได้ทอดพระเนตรเห็นดวงจันทร์ลอยเข้ามาใกล้พระองค์และสาดแสงสว่างไสวไปทั่วบริเวณ ทันใดนั้นก็พลันได้ทรงสดับเสียงดนตรีทิพย์อันไพเราะเสนาะพระกรรณเป็นที่ยิ่ง พระองค์จึงเสด็จประทับทอดพระเนตรทิวทัศน์อันงดงามและทรงสดับเสียงดนตรีอันไพเราะอยู่ด้วยความเพลิดเพลินเจริญพระราชหฤทัย ครั้นแล้วดวงจันทร์ก็ค่อย ๆ เลื่อนลอยถอยห่างออกไปในท้องฟ้าทั้งสำเนียงดนตรีทิพย์นั้นก็ค่อย ๆ ห่างจนหมดเสียงหายไปพลันก็เสด็จตื่นพระบรรทมแม้เสด็จตื่นแล้วเสียงดนตรีในพระสุบินนั้นยังคงกังวานอยู่ในพระโสตจึงโปรดให้ตามหาเจ้าพนักงานดนตรีเข้ามาต่อเพลงดนตรีนั้นไว้แล้วพระราชทานชื่อว่า “เพลงบุหลันลอยเลื่อน” หรือ “บุหลันเลื่อนลอยฟ้า” หรือบางทีก็เรียกว่า “เพลงสรรเสริญพระจันทร์” ซึ่งนักดนตรีจำสืบกันต่อมาจนบัดนี้แต่ที่รู้จักกันดีนั้นในชื่อว่า “เพลงทรงพระสุบิน” เคยใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีมาในสมัยหนึ่งเข้าใจว่าต่อมาเมื่อมีผู้แต่งเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นทำนองอย่างอื่น หรือเป็นทำนองอย่างเพลงฝรั่งขึ้นจึงเลยเรียกเพลงพระสุบินที่ใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นว่า “เพลงสรรเสริญพระบารมีไทย” ทำนองของเพลงทรงพระสุบินนี้เคยใช้เป็นทำนองร้องในบทละคอนเรื่องอิเหนาประกอบบทร้องว่า
“กิดาหยันหมอบกรานอยู่งานพัด
พระบรรทมโสมนัสอยู่ในที่
บุหลันเลื่อนลอยฟ้าไม่ราคี
รัศมีส่องสว่างดังกลางวัน
พระนิ่งนึกตรึกไตรไปมา
ที่จะแต่งคูหาสตาหมัน
ป่านนี้พระองค์ทรงธรรม์
จะนับวันเคร่าคอยทุกเวลา”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งกองเสือป่าขึ้นในรัชกาลที่ 6 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯกรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้ทรงนำเอาเพลงทรงพระสุบินนั้นมาดัดแปลงใช้บรรเลงเป็นเพลงสรรเสริญเสือป่า ต่อมาได้มีผู้สร้างซอสามสายขึ้นอีกขนาดหนึ่งเป็นขนาดเล็กกว่าที่กล่าวแล้วทั้งตัวซอและคันทวนยาวประมาณ 1 เมตร หน้าซอที่ขึ้นหนังยาวประมาณ 17 ซม. กว้างราว 14.5 ซม. คือทวนบนยาวประมาณ 57.5 ซม. และทวนล่างยาวประมาณ 25 ซม. ลูกบิดยาวประมาณ 13-14 ซม. คันชักยาวประมาณ 66 ซม. ซอสามสายขนาดนี้เรียกกันว่า “ซอหลีบ” เข้าใจว่าแต่เดิมคงจะสร้างขึ้นสำหรับนักดนตรีหญิงเพื่อให้เล่นได้สะดวกไม่หนักแรง
ขอขอบคุณ ภาพและข้อมูลต่างๆเพื่อการศึกษาจาก
- http://www.culture.go.th
- http://www.oknation.net
- http://surasak.ac.th