น้ำตาล
สร้างโดย : นางภัทธิรา เลิศปฤงคพ
สร้างเมื่อ อังคาร, 02/12/2008 – 19:54
มีผู้อ่าน 141,985 ครั้ง (25/12/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/18637
น้ำตาล
ความหมายของน้ำตาล
ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 อธิบายว่า น้ำตาล หมายถึง “สารประกอบคาร์โบไฮเดรตประเภทโมโนแซ็กคาไรด์และไดแซ็กคาไรด์ ซึ่งมีรสหวาน โดยมากได้จากตาล มะพร้าว อ้อย ถ้าเป็นความหมายเฉพาะอย่างและทำด้วยอะไร ก็เติมคำนั้นๆลงไป เช่น ทำจากตาลเรียกน้ำตาลโตนด ทำจากมะพร้าวเรียกว่าน้ำตาลมะพร้าว ทำเป็นงบเรียกว่าน้ำตาลงบ ทำจากอ้อยแต่ยังไม่ได้ทำให้เป็นน้ำตาลทรายเรียกว่าน้ำตาลทรายดิบ ทำเป็นเม็ดๆเหมือนทรายเรียกว่าน้ำตาลทราย ทำเป็นก้อนแข็งๆเหมือนกรวดเรียกว่าน้ำตาลกรวด เคี่ยวให้ข้นๆเรียกว่าน้ำตาลตงุ่น หยอดใส่ใบตาลทำเป็นรูปี่เรียกว่าน้ำตาลปี่ หลอมเป็นปึกเรียกว่าน้ำตาลปึก หยอดใส่หม้อเรียกว่าน้ำตาลหม้อ รองมาใหม่ๆยังไม่ได้เคี่ยวเรียกว่าน้ำตาลสด ถ้าต้มให้เดือดเรียกว่าน้ำตาลลวก ถ้าใส่เปลือกตะเคียนหมักเกลือหรือเคี่ยม เป็นต้น หมักไว้ระยะหนึ่งจนมีแอลกอฮอล์ กินแล้วเมา เรียกว่า ”น้ำตาลเมา”
น้ำตาลในประเทศไทยผลิตได้จากพืชหลายชนิด ตั้งแต่อ้อย ตาลโตนด มะพร้าว หญ้าคาและจาก จนถึงน้ำผึ้งจากรวงผึ้ง ปัจจุบันในอุตสาหกรรมทั่วโลกผลิตน้ำตาลจากอ้อยและหัวผักกาดหวานหรือหัวบีท (Beet roots) เป็นหลัก ประเทศไทยผลิตน้ำตาลได้เป็นอันดับสองของโลกรองจากบราซิล
ประเภทของน้ำตาล
น้ำตาลอาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ แบ่งตามลักษณะโมเลกุลและแบ่งตามลักษณะการผลิตได้ดังนี้
1. น้ำตาลแบ่งตามลักษณะโมเลกุล น้ำตาลแบ่งตามลักษณะโมเลกุลได้ 3 ประเภท ได้แก่
- น้ำตาลชั้นเดียว (Monosaccharides) เป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีโมเลกุลเล็กที่สุด มีรสหวาน ละลายน้ำได้ดี ร่างกายนำไปใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องย่อย น้ำตาลชั้นเดียวที่สำคัญ ได้แก่
- ฟรุกโทส (Fructose) ในธรรมชาติพบมากในผัก ผลไม้ ธัญพืช น้ำผึ้ง และได้จากการย่อยสลายน้ำตาลซูโครส ฟรุกโทสเป็นน้ำตาลที่มีรสหวานจัด
- กลูโคส (Glucose) พบทั่วไปในส่วนต่างๆของพืช เช่น ผลไม้สุก ดอกไม้ ใบ และรากพืช กลูโคสเป็นน้ำตาลชนิดเดียวที่อยู่ในเลือดของคน
- กาแลกโทส (Galactose) เป็นน้ำตาลที่ไม่พบอิสระตามธรรมชาติ แต่ได้จากการสลายตัวของแลกโทสในน้ำนม
- น้ำตาลสองชั้น (Disaccharides) เป็นคาร์โบไฮเดรตที่ประกอบขึ้นจากน้ำตาลชั้นเดียว 2 โมเลกุล ตัวอย่างเช่น
- ซูโครส (Sucrose) หรือน้ำตาลทราย เป็นน้ำตาลที่พบอยู่ทั่วไปในพืช โดยเฉพาะอ้อยและหัวบีท ในผลไม้สุกที่มีรสหวาน ซูโครสย่อยสลายได้เป็นน้ำตาลกลูโคสและฟรุกโทส ดังสมการ
ซูโครส >>> กลูโคส + ฟรุกโทส
sucrose glucose fructose - แลกโทส (Lactose) เป็นน้ำตาลที่พบเฉพาะในน้ำนมของสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น จึงเรียกว่าน้ำตาลนม (Milk sugar) แลกโทสย่อยสลายได้เป็นน้ำตาลกลูโคสและกาแลกโทส ดังสมการ
แลกโทส >>> กลูโคส + กาแลกโทส
lactose glucose galactose - มอลโทส (Maltose) ไม่พบอิสระตามธรรมชาติ พบมากในน้ำเชื่อมข้าวโพด หรือน้ำเชื่อมกลูโคสซึ่งได้จากกระบวนการย่อยแป้งด้วยกรดหรือเอนไซม์ มอลโทสย่อยสลายได้เป็นน้ำตาลกลูโคส ดังสมการ
มอลโทส >>> กลูโคส + กลูโคส
Maltose glucose glucose
- ซูโครส (Sucrose) หรือน้ำตาลทราย เป็นน้ำตาลที่พบอยู่ทั่วไปในพืช โดยเฉพาะอ้อยและหัวบีท ในผลไม้สุกที่มีรสหวาน ซูโครสย่อยสลายได้เป็นน้ำตาลกลูโคสและฟรุกโทส ดังสมการ
- น้ำตาลหลายชั้น (Polysaccharides) หรือน้ำตาลเชิงซ้อน เป็นคาร์โบไฮเดรตที่เกิดจากน้ำตาลชั้นเดียวหลายๆโมเลกุลรวมกัน ไม่มีรสหวาน ตัวอย่างน้ำตาลหลายชั้นที่ใช้ในอาหาร ได้แก่
- แป้งสตาร์ช (Starch) พบมากตามส่วนต่างๆของพืช เช่น หัว ราก เมล็ด ลำต้น และผล โดยรวมกันอยู่เป็นเม็ดสตาร์ช (Starch granule) แป้งสตาร์ชเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตในอาหารของมนุษย์ที่มีราคาถูก ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และช่วยให้อาหารมีความหนืดข้น หรือเหนียวมากขึ้น
- เซลลูโลส (Cellulose) เป็นโครงสร้างของผัก ผลไม้ และธัญพืช ไม่ละลายน้ำ เซลลูโลสช่วยเพิ่มปริมาณของอาหาร กระตุ้นการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อในลำไส้ ช่วยในการขับถ่าย จึงนิยมนำมาเป็นส่วนผสมในอาหารเสริมสุขภาพ อาหารที่มีเซลลูโลสเป็นส่วนประกอบมากได้แก่ วุ้นน้ำมะพร้าว ถั่วแดงหลวง ถั่วเขียว มะเขือพวง สะเดา เป็นต้น
- เพกติน (Pectin) เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ของผักและผลไม้ ละลายในน้ำจะเกิดเป็นเจล (Gel) ทำให้อาหารข้น หนืด ใช้ในการทำแยม เยลลี่ ใช้เติมในน้ำผลไม้ เพื่อไม่ให้ส่วนของผลไม้ตกตะกอน ผลไม้ไทยที่มีปริมาณเพกตินสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ มะขามป้อม กระท้อน มะกอก ละมุด และฝรั่ง ในอุตสาหกรรมสกัดเพกตินจากเปลือกผลไม้ด้วยวิธีการย่อยด้วยกรด (Hydrolysis)
- วุ้น (Agar) สกัดจากสาหร่ายทะเล อยู่ในรูปผงหรือเป็นเส้น ละลายในน้ำร้อนและเกิดเป็นเจลเมื่อเย็นตัวลง ใช้ทำขนมตะโก้ ขนมประเภทวุ้น เช่น วุ้นกะทิ เป็นต้น ใช้เป็นอาหารเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์
2. น้ำตาลแบ่งตามลักษณะการผลิต น้ำตาลแบ่งตามลักษณะการผลิตได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. น้ำตาลที่ผลิตในระดับอุตสาหกรรม ในอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลจากอ้อย (ภาพที่ 2.1) เริ่มจากการหีบสกัดน้ำอ้อยโดยใช้ชุดลูกหีบ น้ำอ้อยที่ได้มีค่าพีเอชประมาณ 5.5 สีเขียวคล้ำ ขุ่น ดังนั้นจึงต้องทำน้ำอ้อยให้บริสุทธิ์ โดยกำจัดความขุ่น สี และทำให้น้ำอ้อยเป็นกลาง และกำจัดสิ่งปนเปื้อนออก ด้วยการต้มน้ำอ้อยกับปูนขาว (Defecation) น้ำอ้อยใสที่ได้มีสีน้ำตาลอ่อน จากนั้นนำน้ำอ้อยใสที่ผ่านการทำให้บริสุทธิ์มาต้มระเหยน้ำออกด้วยหม้อต้มสุญญากาศ น้ำเชื่อมที่ได้มีความเข้มข้นประมาณ 65 บริกซ์ กรณีที่ผลิตน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ น้ำเชื่อมจะถูกส่งไปเข้าถังพัก เพื่อผ่านการทำน้ำเชื่อมให้บริสุทธิ์ น้ำเชื่อมที่ผ่านการทำให้บริสุทธ์แล้วถูกส่งไปยังหม้อเคี่ยวเพื่อเคี่ยวให้เป็นเม็ดน้ำตาลทรายในระบบสุญญากาศได้เม็ดน้ำตาลทราย และกากน้ำตาล (Molassess) ทำการปั่นแยกเม็ดน้ำตาลออกมา นำไปอบแห้ง
น้ำตาลที่ใช้บริโภคกันทุกวันนี้ คือผลึกของซูโครสที่ได้จากน้ำอ้อย น้ำตาลซูโครสอาจผลิตได้จากน้ำเชื่อม หรือได้จากต้นตาล มะพร้าว ข้าวโพด เมเปิล และหัวบีท จึงทำให้น้ำตาลมีชื่อเรียกหลายอย่าง น้ำตาลที่คนไทยรู้จักทั่วไปมีดังนี้
- น้ำตาลทรายดิบ (Raw sugar) คือ ผลึกน้ำตาลซูโครสที่มีความบริสุทธิ์ต่ำ ลักษณะผลึกใส สีน้ำตาลอ่อนหรือเข้มตามสีของกากน้ำตาลที่หุ้มอยู่รอบๆ มีความชื้นปานกลาง เกล็ดน้ำตาลจับเกาะติดกัน ไม่ร่วน ผลิตจากน้ำอ้อยโดยตรง ผ่านกรรมวิธีการแยกสิ่งสกปรกออกจากน้ำอ้อยด้วยวิธีตกตะกอนโดยให้ความร้อน และฟอกสีน้ำอ้อยด้วยปูนขาว ไม่ใช้บริโภคแต่ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์
- น้ำตาลทรายขาว (Plantation or mill white sugar) คือ ผลึกน้ำตาลซูโครสที่เป็นผลึกใส สีขาวถึงเหลืองอ่อน มีกากน้ำตาลติดอยู่เป็นส่วนน้อย มีความชื้นเล็กน้อย เกล็ดน้ำตาลร่วนไม่ติดกัน มีการฟอกสีน้ำอ้อยและน้ำเชื่อมด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulfitation) หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbonation) ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสำเร็จรูป น้ำอัดลม และใช้ในครัวเรือนทั่วไป
- น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ (Refined sugar) คือ ผลึกน้ำตาลซูโครสที่มีความบริสุทธิ์สูงมาก เป็นเกล็ดใส สีขาวสะอาดปราศจากกากน้ำตาล เกือบไม่มีความชื้นเลย เป็นน้ำตาลทรายขาวที่ใช้กันทั่วไปในร้านอาหาร ในครัวเรือน หรือในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร เครื่องดื่ม ขนม บางตำราเรียกว่า Granulated sugar
- น้ำตาลทรายสีรำ (Brown sugar) หมายถึง น้ำตาลทรายขาว เป็นเกล็ดใสเล็กกว่าน้ำตาลทรายดิบเล็กน้อย มีสีน้ำตาลอ่อนเนื่องจากสีของน้ำตาลไหม้ หรือสีของกากน้ำตาล มีความชื้นน้อยกว่าน้ำตาลทรายดิบ
- น้ำตาลทรายแดง (Soft brown sugar) เป็นผงละเอียด ความชื้นสูงจึงมักจับกันเป็นก้อน สีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลค่อนข้างแดง ขึ้นอยู่กับปริมาณกากน้ำตาล ถ้ามีกากน้ำตาลมากผลึกน้ำตาลจะใหญ่และเกาะตัวกันเหนียวแน่น สีเข้มมาก รสและกลิ่นแรงมากกว่าน้ำตาลที่มีกากน้ำตาลน้อย น้ำตาลชนิดนี้บางตำราเรียกว่า Raw Sugar เพราะเป็นน้ำตาลที่ไม่ได้ผ่านการทำให้บริสุทธิ์ หรือผ่านการทำให้บริสุทธิ์บางขั้นตอน มีกลิ่นน้ำตาลไหม้ มีทั้งการผลิตแบบพื้นเมืองโดย กระบวนการเคี่ยวในกระทะเปิด (Open pan method) หรือใช้วิธีการผลิตที่ทันสมัยโดยใช้เครื่องจักร น้ำตาลทรายแดงใช้แทนน้ำตาลทรายขาวได้ เช่น ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตซีอิ๊ว ผลิตน้ำตาลมะพร้าว ใช้เป็นส่วนผสมในการทำอาหารและขนมหลายชนิด เช่น ถั่วเขียวต้มน้ำตาล เต้าฮวยและเฉาก๊วย ในตำราทำขนมต่างประเทศมีการใช้น้ำตาลทรายแดงหลายชนิด แต่ละชนิดใช้ปรุงอาหารต่างกัน
- น้ำตาลไอซิ่ง (Icing sugar) ภาษาอังกฤษมีชื่อเรียกอีกว่า Powdered Sugar, Confectioner’s sugar ได้จากการบดน้ำตาลทรายขาวจนละเอียด ร่อนผ่านตะแกรงให้ได้ขนาดเล็กตามที่ต้องการ เติมสารป้องกันการจับกันเป็นก้อน (Anti-caking agent) เช่น แป้งข้าวโพด แป้งมันสำปะหลัง หรือซิลิกอนไดออกไซด์ (Silicon dioxide) น้ำตาลชนิดนี้เหมาะสำหรับแต่งหน้าขนม และทำไส้ครีม
- น้ำตาลป่นละเอียด (Caster sugar) ได้จากการป่นน้ำตาลทรายขาวให้เป็นเม็ดละเอียด ลักษณะคล้ายน้ำตาลไอซิ่งแต่ไม่มีการเติมสารป้องกันการจับตัวเป็นก้อน ละลายในของเหลวได้ง่ายจึงนิยมใช้ในอาหารที่มีส่วนผสมเป็นของเหลว โรยหน้าขนมหรือเคลือบที่ผิวอาหาร
- น้ำตาลทรายอัดก้อน หรือน้ำตาลปอนด์ (Cube sugar) เป็นก้อนสี่เหลี่ยม ได้จากการอัดน้ำตาลทรายขาวให้เป็นก้อน แล้วอบด้วยความร้อนจากแสงอินฟาเรด เพื่อลดความชื้นให้เหลือร้อยละ 0.5 – 1.0 จากนั้นเป่าด้วยลมเย็นเพื่อให้แข็งเป็นก้อน นิยมใช้ในเครื่องดื่มประเภทน้ำชา กาแฟ
- น้ำตาลกรวด (Crystalline sugar) เป็นก้อนเหลี่ยมคล้ายสารส้ม สีขาวใส ผลิตจากน้ำเชื่อมจากอ้อย หรือใช้น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์มาละลาย โดยผ่านกระบวนการตกผลึกอย่างช้าๆ เป็นเวลาหลายวัน และไม่ฟอกสี น้ำตาลกรวดมีรสหวานกลมกล่อม แต่หวานน้อยกว่าน้ำตาลทรายชนิดอื่น ใช้ในอาหารที่ต้องการความพิถีพิถันเป็นพิเศษในการปรุงรส เช่น เชื่อมผลไม้ ตุ๋นรังนก ต้มยาจีน และทำขนมต่างๆ
การประกอบอาหารนอกจากใช้น้ำตาลในลักษณะเป็นผลึกหรืออยู่ในรูปของแข็งแล้วยังมีการใช้น้ำตาลในลักษณะที่เป็นของเหลวคือ น้ำเชื่อม กากน้ำตาล น้ำผึ้ง - น้ำเชื่อม (Syrup) คือ น้ำตาลในลักษณะของเหลว การประกอบอาหารของไทยมีการเตรียมน้ำเชื่อมจากน้ำตาลทรายขาว น้ำเชื่อมที่ได้มีการใส่ไข่ขาวหรือเปลือกไข่ลงไปในขณะเคี่ยวน้ำเชื่อมเพื่อทำให้น้ำเชื่อมใสสะอาด ในอุตสาหกรรมน้ำเชื่อมส่วนใหญ่ได้จากการย่อยแป้งด้วยกรดหรือเอนไซม์ให้เป็นน้ำตาล ทำให้ได้น้ำเชื่อมหลายชนิดขึ้นอยู่กับกรรมวิธีการผลิตและความสมบูรณ์ในการย่อยแป้ง ตัวอย่างน้ำเชื่อม ได้แก่
- น้ำเชื่อมกลูโคส (Glucose syrup) น้ำเชื่อมกลูโคสหรือกลูโคส ซีรัป ตามความหมายของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ กระทรวงอุตสาหกรรม หมายถึง “สารละลายแซ็กคาไรด์ที่ได้จากการย่อยแป้ง ผ่านกรรมวิธีทำให้บริสุทธ์และทำให้เข้มข้นแล้ว ซึ่งจะครอบคลุมน้ำเชื่อมข้าวโพดชนิดต่างๆ และแบะแซหรือน้ำเชื่อมมอลโทสสูงที่ผลิตจากแป้งอื่นด้วย”
น้ำเชื่อมกลูโคสมีลักษณะเหนียวและไม่หวานมาก ใช้ในการทำขนมหวาน น้ำเชื่อมผสม ผลไม้กวน ลูกกวาด แยม เยลลี่ ไอศกรีมและหมากฝรั่ง - น้ำเชื่อมฟรุกโทส (Fructose syrup) ปัจจุบันมีการนำน้ำเชื่อมที่มีฟรุกโทสร้อยละ42 หรือเรียกว่า ไฮฟรุกโทส ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ขนมอบ อาหารนม ขนมหวาน ทอฟฟี่สอดไส้ อาหารสำเร็จรูปประเภทเนื้อสัตว์ อาหารทะเล น้ำซอสเครื่องปรุงรส และผักดองต่างๆ และอุตสาหกรรมผลไม้กระป๋อง
- น้ำเชื่อมเมเปิล (Maple syrup) ได้จากยางของต้นเมเปิลเคี่ยวจนมีความเข้มข้นสูง มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 35 มีน้ำตาลกลูโคสเป็นส่วนใหญ่ น้ำเชื่อมเมเปิลต่างจากน้ำตาลชนิดอื่นตรงที่มีแคลเซียมและเหล็ก นิยมใช้ราดหน้าไอศกรีม หรือทาขนมปัง แครกเกอร์ เป็นต้น
- น้ำเชื่อมอื่นๆ ได้แก่ น้ำหวานต่างๆหรือที่เรียกว่าน้ำผลไม้เทียม ทำจากน้ำตาลละลายน้ำแล้วเติมกลิ่นผลไม้ต่างๆ
- น้ำเชื่อมกลูโคส (Glucose syrup) น้ำเชื่อมกลูโคสหรือกลูโคส ซีรัป ตามความหมายของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ กระทรวงอุตสาหกรรม หมายถึง “สารละลายแซ็กคาไรด์ที่ได้จากการย่อยแป้ง ผ่านกรรมวิธีทำให้บริสุทธ์และทำให้เข้มข้นแล้ว ซึ่งจะครอบคลุมน้ำเชื่อมข้าวโพดชนิดต่างๆ และแบะแซหรือน้ำเชื่อมมอลโทสสูงที่ผลิตจากแป้งอื่นด้วย”
- กากน้ำตาล สีน้ำตาลไหม้และมีกลิ่นน้ำตาลไหม้ รสหวานปนขม ต่างประเทศนิยมใช้ทำขนมหลายชนิดแต่คนไทยไม่นิยมกัน ใช้เป็นวัตถุดิบในการหมักแอลกอฮอล์ ผงชูรสหรือซีอิ๊วดำ
- น้ำผึ้ง (Honey) ส่วนใหญ่ประกอบด้วยฟรุกโทสมากกว่ากลูโคส มีซูโครสปนอยู่เล็กน้อย รสชาติและส่วนประกอบของน้ำผึ้งขึ้นอยู่กับแหล่งน้ำหวานดอกไม้ น้ำผึ้งมีความชื้นประมาณร้อยละ 18 – 20 น้ำผึ้งเดือน 5 มีความเข้มข้นมากกว่าระยะอื่นจึงเป็นที่นิยมกัน
สารบางชนิดไม่ใช่คาร์โบไฮเดรต แต่ใช้แทนน้ำตาลเฉพาะในเรื่องของความหวาน ได้ เรียกสารพวกนี้ว่า “น้ำตาลเทียม” เช่น แซ็กคาริน (Saccharin) แอสพาร์เทม (Aspartame) มีรสหวานประมาณ 500 และ 200 เท่าของน้ำตาลทราย แอสพาร์เทมเป็นที่นิยมมากกว่าแซ็กคาริน เพราะยังไม่พบว่ามีอันตรายต่อคน เครื่องดื่มหลายชนิดที่ใส่แอสพาร์เทม เช่น น้ำอัดลมบางชนิด น้ำผลไม้ผง ลูกกวาด
2. น้ำตาลที่ผลิตแบบพื้นบ้าน การผลิตน้ำตาลแบบพื้นบ้านของไทยเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ และยังคงนิยมใช้ในการปรุงอาหารไทยหลากหลายประเภท แต่ปัจจุบันน้ำตาลบางชนิดชาวบ้านเลิกผลิตแล้ว เพราะมีน้ำตาลทรายและสารให้ความหวานอื่นๆที่หาซื้อได้ง่าย น้ำตาลพื้นบ้านหลายชนิดจึงสูญหายไป ได้แก่ น้ำตาลปี่ น้ำตาลตงุ่น น้ำอ้อยงบ เป็นต้น นอกจากนี้การทำน้ำตาลพื้นบ้านเฉพาะที่จังหวัดสมุทรสาครและสมุทรสงครามซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลจากมะพร้าวที่สำคัญมาแต่โบราณนั้นลดจำนวนไปมาก เช่นเดียวกับบริเวณจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดสงขลาซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลจากตาลโตนดที่สำคัญแทบไม่มีการผลิตแล้ว
การผลิตน้ำตาลแบบพื้นบ้านของไทย (ภาพที่ 2.2) มีวิธีการที่คล้ายคลึงกัน คือ นำน้ำอ้อย น้ำตาลสดหรือน้ำหวานจากงวงตาล งวงมะพร้าวหรืองวงจาก มาเคี่ยวในกระทะใบบัว ประมาณ 3 – 4 ชั่วโมงจนงวดได้ที่ แล้วตีปั่นน้ำตาลในกระทะไล่ไอน้ำออกเพื่อทำให้น้ำตาลตกผลึกละเอียดและแห้งเป็นน้ำตาลตามต้องการ จากนั้นจึงบรรจุน้ำตาลลงในภาชนะ เช่น หม้อ ปี๊บ ทำเป็นน้ำตาลปึก หรือทำเป็นงบ ปัจจุบันมักใส่น้ำตาลทรายผสมลงไปเพื่อเพิ่มความหวานและทำให้น้ำตาลแข็งตัว บางแห่งใส่สารเคมีกลุ่มซัลไฟต์เพื่อช่วยให้น้ำตาลมีสีขาวขึ้น
น้ำตาลพื้นบ้านที่มีการผลิตในปัจจุบันและยังเป็นที่รู้จักกันทั่วไป คือ
- น้ำตาลปี๊บ นิยมทำจากน้ำตาลมะพร้าว บรรจุปี๊บน้ำหนักประมาณ 30 กิโลกรัม เป็นก้อนเหนียวมีความหนืดสูง สีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม น้ำตาลมะพร้าวที่มีคุณภาพดีควรมีสีนวลโดยไม่ใช้สารฟอกสี เนื้อละเอียด กลิ่นหอมเฉพาะตัว มีปริมาณความชื้นร้อยละ 7 – 8 ไม่เยิ้มเหลว ปริมาณน้ำตาลซูโครสมากกว่าร้อยละ 70 และมีน้ำตาลอินเวิร์ทไม่เกินร้อยละ 6 – 7 นิยมใช้กับอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนผสม เช่น พะแนง บัวลอย แกงบวด ขนมปลากริมไข่เต่า น้ำปลาหวาน
- น้ำตาลปึก มีขั้นตอนการทำเช่นเดียวกับน้ำตาลปี๊บ แต่นำน้ำตาลที่เคี่ยวได้เทในเบ้าหรือถ้วยแทน หรือหยอดลงในแม่พิมพ์ตามแบบที่ต้องการ โดยใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำปูรองที่เบ้าหรือแม่พิมพ์เพื่อให้สะดวกในการนำน้ำตาลที่แข็งตัวแล้วออกจากเบ้าหรือแม่พิมพ์ นิยมใช้กับอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนผสมเช่นเดียวกับน้ำตาลปี๊บ
- น้ำตาลแว่น หรือน้ำตาลงบ ส่วนใหญ่ทำจากน้ำตาลโตนด มีลักษณะเป็นแผ่นกลมๆ ขั้นตอนการทำคือ นำน้ำตาลที่เคี่ยวได้ตักหยอดลงในแม่พิมพ์ที่ทำจากใบตาลเป็นกรอบวงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 – 6 เซนติเมตร สูงประมาณ 1 เซนติเมตร ปล่อยทิ้งไว้จนน้ำตาลแห้งและแข็งตัว จึงบรรจุในภาชนะ
สมบัติของน้ำตาล
สมบัติทางกายภาพของน้ำตาล
ความหวาน (Sweetness) ปัจจุบันใช้ซูโครสเป็นมาตรฐานของความหวาน เพื่อเปรียบเทียบกับน้ำตาลชนิดอื่น (ตารางที่ 2.1) ความหวานของซูโครสมีค่าเท่ากับ 1 ฟรุกโทสหวานมากที่สุด ซูโครสหวานรองลงมา และหวานน้อยที่สุดคือแลกโทส
ความหวานของน้ำตาลขึ้นอยู่กับการรับรสที่ต่อมลิ้นของแต่ละคน ความเข้มข้น และอุณหภูมิของสารละลาย หากอุณหภูมิสูงขึ้นจะรู้สึกหวานขึ้นตามไปด้วย
ตารางที่ 2.1 ความหวานของน้ำตาลบางชนิดเปรียบเทียบกับซูโครส
น้ำตาล | ความหวาน |
ฟรุกโทส | 1.7 |
น้ำตาลอินเวอร์ท | 1.6 |
ซูโครส | 1.0 |
กลูโคส | 0.7 |
มอลโทส | 0.5 |
แลกโทส | 0.4 |
การละลาย (Solubility) น้ำตาลละลายน้ำได้ประมาณร้อยละ 65 ความเข้มข้นหรือปริมาณของสารที่ละลายในน้ำ (Soluble solid) สามารถวัดด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า รีแฟรกโตมิเตอร์ (Refractometer) ใช้หลักการวัดค่าการหักเหของแสง มีหน่วยวัดคือ บริกซ์ (brix) หมายถึง ร้อยละของของแข็งที่ละลายอยู่ในสารละลาย ตัวอย่างเช่น น้ำตาล 40 กรัมละลายในน้ำ 60 กรัม เป็นสารละลาย 100 กรัม วัดความเข้มข้นได้ 40 O บริกซ์
ความสามารถในการละลายน้ำของน้ำตาลแต่ละชนิดแตกต่างกัน ฟรุกโทสละลายดีกว่าน้ำตาลชนิดอื่น รองมาคือ ซูโครส ส่วนกลูโคสและมอลโทสละลายได้ดีพอกัน แลกโทส ละลายได้น้อยที่สุด สำหรับน้ำตาลหลายชั้นส่วนมากไม่ละลายในน้ำ ความสามารถในการละลายน้ำของน้ำตาลขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ เมื่ออุณหภูมิสูงการละลายของน้ำตาลเพิ่มมากขึ้น (ตารางที่ 2.2)
ตารางที่ 2.2 การละลายของซูโครสที่อุณหภูมิต่าง ๆ
% ซูโครส | % น้ำ | อุณหภูมิ (O ซ ) |
0 | 100 | 100 |
40 | 60 | 101 |
60 | 40 | 103 |
80 | 20 | 112 |
90 | 10 | 123 |
99.6 | 0.4 | 170 |
จุดเดือดของสารละลายน้ำตาล (Boiling point) เมื่อน้ำตาลละลายในน้ำเป็นสารละลาย เรียกว่า น้ำเชื่อม น้ำเชื่อมมีจุดเดือดสูงขึ้นเรื่อยๆตามปริมาณน้ำตาลที่ละลาย ปกติน้ำบริสุทธิ์มีจุดเดือดที่ 100 O ซ แต่สารละลายหรือน้ำเชื่อมมีจุดเดือดสูงกว่า 100 O ซ จุดเดือดสูงขึ้นตามความเข้มข้นของน้ำเชื่อม ดังนั้นอาจเปรียบเทียบความเข้มข้นของน้ำเชื่อมโดยการวัดจุดเดือดของน้ำเชื่อมนั้น (ตารางที่ 2.3) นอกจากนั้นน้ำเชื่อมที่จุดเดือด ณ อุณหภูมิต่างๆจะมีลักษณะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
การดูดและการเก็บรักษาความชื้น (Hygroscopicity) ผลึกน้ำตาลบริสุทธิ์มีสมบัติดูดความชื้นเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าบรรยากาศมีความชื้นสัมพัทธ์ (Relative humidity) เกินกว่าร้อยละ75 น้ำตาลทรายจะดูดความชื้นได้เร็วและจับตัวกันเป็นก้อน
น้ำตาลแต่ละชนิดมีความสามารถในการดูดและเก็บรักษาความชื้นแตกต่างกัน ฟรุกโทสดูดความชื้นได้ดีมาก รองลงมา กลูโคส ซูโครส มอลโทส และแลกโทส ตามลำดับ ฟรุกโทสเป็นส่วนประกอบในน้ำตาลอินเวอร์ท น้ำผึ้ง น้ำเชื่อมข้าวโพด และกากน้ำตาล ดังนั้นอาหารที่มีฟรุกโทสเป็นส่วนผสมจึงเก็บความชื้นได้นาน ทำให้อาหารมีลักษณะนุ่มและชุ่มฉ่ำน่ารับประทาน เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ ที่ใช้ส่วนผสมของน้ำผึ้ง หรือน้ำเชื่อมข้าวโพด
ตารางที่ 2.3 ลักษณะความเข้มข้นของน้ำเชื่อมที่จุดเดือดต่างกัน
อุณหภูมิ (°ซ) | ลักษณะ น้ำเชื่อม | ลักษณะการเดือด | ลักษณะ ในน้ำเย็นจัด | ตัวอย่างอาหารที่ใช้ น้ำเชื่อมในระยะนั้น |
105-106 | ใส | เดือดเป็นฟองใหญ่ | ตกลงก้นภาชนะแล้วละลาย | น้ำเชื่อมใส่ของหวานมีน้ำแข็งใส่น้ำผลไม้ปั่น ขนมโก๋ ทองเอก สัมปันนี |
110-112 | เป็นเส้นคล้ายเส้นด้าย (Thread) | เดือดพล่านเป็นฟองขนาดกลาง สีใส | เป็นเส้นหรือพรายยาวประมาณ 2 นิ้ว | ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง กรอบเค็มครองแครงชนิดเคลือบชื้น |
112-115 | ปั้นเป็นก้อนอ่อนไม่อยู่ตัว (Soft ball) | เดือดเป็นฟองขนาดกลาง สีเหลืองใส | หยดในน้ำเย็นเป็นก้อนอ่อนแต่ไม่อยู่ตัว เมื่อยกจากน้ำจะแบนราบ | ขนมเหนียว กรอบเค็มและครองแครงชนิดเคลือบแห้ง มะพร้าวแก้ว ฉาบ อาลัว fondant fudge |
118-120 | ปั้นเป็นก้อนอยู่ตัว (Firm ball) | เดือดเป็นฟองขนาดเล็กลง สีเข้มขึ้น แต่ใส | เป็นก้อนอยู่ตัว ยกจากน้ำไม่แบนราบ | Caramel ฉาบ ทอฟฟี่นม |
121-130 | ปั้นเป็นก้อนแข็ง (Hard ball) | เดือดเป็นฟองเล็ก สีเข้มขึ้น | เป็นก้อนแข็งแต่เมื่อยกจากน้ำยังหยุ่นได้ | ถั่วเคลือบ กระยาสาร์ท ทอฟฟี่ |
132-143 | เส้นแข็งหักได้ (Soft crack) | เดือดเป็นฟองข้น สีเข้มขึ้น | เป็นเส้นแข็งหักได้แต่ไม่เปราะ | ทอฟฟีใส ทอฟฟีเนย ตังเม |
149-154 | เส้นแข็งเปราะ (Hard crack) | เดือดเป็นฟองข้น สีเข้มขึ้น | หยดในน้ำแยกเป็นเส้นแข็งและเปราะ | ถั่วตัด ถั่วกระจก สายไหม |
160 | หลอมเหลวใส (Clear liquid) | น้ำเชื่อมยังคงใสอยู่ | เหลว | – |
170 | เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล(Caramel) | เดือดเป็นฟองเล็กๆ สีน้ำตาล มีกลิ่นไหม้ | หยดในน้ำเป็นก้อนแข็งและมีสีน้ำตาลไหม้ | ทำน้ำตาลเคี่ยวไหม้ (caramel) |
ที่มา : ศิริลักษณ์ , 2525
การตกผลึก (Crystallization)
เมื่อเคี่ยวน้ำเชื่อมให้เข้มข้นอิ่มตัวจนน้ำตาลไม่สามารถละลายได้อีก เรียกว่า สารละลายน้ำเชื่อมที่อิ่มตัว หรือน้ำเชื่อมอิ่มตัว หากปล่อยให้เย็นลงอย่างระมัดระวังโดยไม่ให้ตกผลึก น้ำเชื่อมนี้จะมีน้ำตาลละลายอยู่มากกว่าที่ควรเป็น ณ อุณหภูมินั้นจะเกิดภาวะอิ่มตัวยวดยิ่งและอาจแข็งตัวเป็นแผ่นคล้ายกระจกได้โดยไม่ตกผลึก แต่น้ำตาลส่วนเกินจะเริ่มตกผลึกเป็นผงละเอียดในภายหลัง เห็นได้จากถั่วตัด ถั่วกระจกใหม่ๆน้ำตาลอยู่ในภาวะอิ่มตัวยวดยิ่งแข็งใสไม่ตกผลึก เมื่อเก็บไว้นาน ๆ น้ำตาลบางส่วนตกผลึกเป็นผงน้ำตาลละเอียด ถั่วกระจกมีลักษณะขุ่น ไม่ใส การตกผลึกขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ
การทำอาหารที่ต้องการรสหวานจัด เช่น แยม เยลลี่ นิยมใช้ฟรุกโทสเป็นตัวให้ความหวาน ถ้าใช้ซูโครสหรือกลูโคสทำให้เกิดผลึกของน้ำตาลเมื่อใช้ในปริมาณมากๆ
สมบัติทางเคมีของน้ำตาล
- การหมัก (Fermentation) เป็นกระบวนการที่เกิดจากจุลินทรีย์ย่อยน้ำตาลภายใต้สภาพที่มีหรือไม่มีอากาศ ตัวอย่างเช่น ยีสต์ย่อยน้ำตาลแล้วได้เป็นแอลกอฮอล์ ใช้เวลาหมัก 2-4 สัปดาห์ ทำให้ได้เครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ได้แก่ เบียร์ ไวน์ กระแช่ เป็นต้น ส่วนแบคทีเรียกลุ่มแลกติกย่อยน้ำตาลแลกโทสในนมแล้วได้กรดแลกติก ทำให้ได้เป็นนมเปรี้ยว เนยแข็ง เป็นต้น
- การย่อยสลาย (Hydroysis) การย่อยสลายของน้ำตาลหลายชั้นให้เป็นน้ำตาลที่มีโมเลกุลเล็กลง เช่น การต้มเคี่ยวน้ำเชื่อมภายใต้สภาวะเป็นกรดหรือเอนไซม์ ทำให้ซูโครสถูกย่อยสลายเป็นกลูโคสและฟรุกโทส เรียกกระบวนการนี้ว่า อินเวอร์ชัน (Inversion) น้ำตาลที่ได้ เรียกว่า น้ำตาลอินเวอร์ท (Invert sugar) ปฏิกิริยาการสลายตัวเร็วขึ้นเมื่อใช้อุณหภูมิสูงเบสช่วยในการสลายตัวของน้ำตาลชั้นเดียว บางครั้งทำให้เกิดผลเสียกับอาหาร เช่น ทำให้อาหารเปลี่ยนสี รสและกลิ่นของอาหารเสียไป
- จุดหลอมตัว (Melting point) ผลึกของน้ำตาลหลอมตัว เมื่อได้รับความร้อนที่อุณหภูมิสูง ซูโครสหลอมตัวที่อุณหภูมิ 160 – 180 Oซ มอลโทสมีจุดหลอมตัวต่ำกว่าซูโครส ส่วนกลูโคสหลอมตัวที่อุณหภูมิ 86 Oซ การหลอมตัวนี้ถ้าใช้อุณหภูมิสูงทำให้น้ำตาลเปลี่ยนเป็นน้ำตาลไหม้หรือคาราเมล (Caramel) เรียกกระบวนการนี้ว่า คาราเมไลเซชัน (Caramelization) ทำให้อาหารเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล น้ำตาลไหม้ใช้แต่งสีของอาหาร เช่น ซีอิ้วดำ ซีอิ้วหวาน น้ำอัดลมประเภทโคล่า
การเก็บรักษาน้ำตาล
น้ำตาลดูดความชื้นได้ง่ายควรเก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดและไม่ให้อากาศเข้าได้ วางไว้ห่างจากความร้อน น้ำตาลทรายแดงมีความชื้นสูงจึงมักจับตัวเป็นก้อนแข็ง ก่อนนำมาใช้ให้เก็บน้ำตาลในภาชนะที่คลุมด้วยผ้าชุบน้ำบิดหมาดสักครู่ จะทำให้บดเป็นผงได้ง่ายขึ้น
ส่วนน้ำตาลปี๊บที่วางจำหน่ายบรรจุอยู่ในปี๊บมีถุงพลาสติกรองอีกชั้นหนึ่ง แบ่งขายโดยบรรจุถุงพลาสติกขนาดเล็ก น้ำตาลปี๊บแบบแบ่งขายเมื่อเก็บไว้นานๆ เกิดการแยกตัวของน้ำเหนียวๆออกจากน้ำตาลปี๊บ แสดงว่าน้ำตาลปี๊บนั้นมีคุณภาพด้อยลงก่อนที่จะเสื่อมเสียจากการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ น้ำตาลปี๊บมีอายุการเก็บ 1 ปี โดยไม่มีการใส่สารกันบูด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเทคนิคการผลิตและภาชนะบรรจุที่ช่วยยืดอายุการเก็บ ปัจจุบันมีการบรรจุน้ำตาลปี๊บในถุงพลาสติกปิดสนิทพร้อมติดฉลากแสดงวันเดือนปีผลิตและวันหมดอายุบนฉลาก
แหล่งอ้างอิง: http://www.wangkanai.com