ชนชาติไทย
สร้างโดย : นายชาญชัย เปี่ยมชาคร
สร้างเมื่อ อาทิตย์, 23/11/2008 – 18:38
มีผู้อ่าน 153,744 ครั้ง (16/12/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/18300
ชนชาติไทย
การแบ่งสมัยของประวัติศาสตร์
ในปัจจุบันนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีได้แบ่งช่วงสมัยของประวัติศาสตร์ออกอย่างกว้าง ๆ เป็น 2 สมัย คือ
- สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ ช่วงระยะเวลาตั้งแต่มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมาและดำรงชีพโดยยึดถือหลักฐานที่เป็นตามธรรมชาติเช่นเดียวกับ สัตว์โลกอื่นๆต่อมามนุษย์บางกลุ่มสามารถปรับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นโดยการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ไฟ น้ำ หิน โลหะ ไม้ เป็นต้น มาใช้ประโยชน์ สร้างสมความเจริญและถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง จนสามารถพัฒนาเป็นสังคมเมือง การเรียนรู้เรื่องราวในยุคนี้ได้จากหลักฐานทางโบราณคดี เช่น โครงกระดูก เครื่องมือเครื่องใช้ และภาพศิลปะถ้ำต่าง ๆ
- ยุคหินเก่า – พบเครื่องมือหินกรวดกะเทาะหน้าเดียว ที่บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี
- ยุคหินกลาง – พบภาชนะดินเผาผิวเกลี้ยง ลายเชือกทาบ ที่ถ้ำผี จ.แม่ฮ่องสอน ถ้ำไทรโยค จ.กาญจนบุรี
- ยุคหินใหม่ – พบเครื่องมือหินขัด เครื่องปั้นดินเผาชนิด 3 ขา ที่บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี
- ยุคสำริด – พบเครื่องประดับสำริด กลองมโหระทึก ภาชนะดินเผาวาดลวดลายด้วยสีแดง ที่บ้านเชียง จ.อุดรธานี
- ยุคเหล็ก – พบเครื่องมือที่ทำจากเหล็ก ที่บ้านดอนตาเพชร จ.กาญจนบุรี บ้านก้านเหลือง จ.อุบลราชธานี
- สมัยประวัติศาสตร์ หมายถึง สมัยที่มีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้บันทึกบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงยุคสมัยนี้ชัดเจนมากขึ้นโดยอาศัยหลักฐานทางโบราณคดีสนับสนุน ช่วงสมัยนี้สามารถแบ่งย่อยได้ เช่น การตั้งเมืองหลวง การเปลี่ยนราชวงศ์ เป็นต้น
- สุโขทัย
- อยุธยา
- ธนบุรี
- รัตนโกสิทร์
หลักฐานที่ใช้ในการศึกษาเรื่องราวของชนชาติไทย
- หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร บันทึกเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับคนไทยในสมัยโบราณไว้ อาจจะปรากฏอยู่ตามฐานเจดีย์ กำแพงโบสถ ผนังถ้ำ แผ่นไม้ ใบลาน สมุดข่อย เช่น จารึกสุโขทัย จารึกมอญ เป็นต้น
- หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น โครงกระดูกมนุษย์ พระพุทธรูป ร่องรอย การตั้งถิ่นฐานของชุมชนเป็นต้น
ประเภทของหลักฐาน
- หลักฐานชั้นต้นหรือปฐมภูมิ หมายถึง บันทึกหรือคำบอกเล่าของผู้พบเห็นเหตุการณ์หรือผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ หรือผู้ร่วมสมัยกับเหตุการณ์ เช่น บันทึก จดหมายเหตุ เป็นต้น
- หลักฐานชั้นรองหรือทุติยภูมิ หมายถึง ผลงานการค้นคว้าที่เขียนขึ้นหรือเรียบเรียงขึ้นภายหลังจากเกิดเหตุการณ์นั้นแล้ว โดยอาศัยหลักฐานชั้นต้นและเพิ่มเติมด้วย ความคิดเห็น คำวินิจฉัย ตลอดจนเหตุผลอื่น ๆ ประกอบ เช่น พงศาวดาร ตำนาน คำให้การ เป็นต้น
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทย
- จารึก – พบครั้งแรกที่ปราสาทเขาน้อย อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว จารึกนี้ทำขึ้นเมื่อ พ.ศ.1180 บันทึกด้วยอักษรปัลลาวะ
- ตำนาน – เล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของบุคคล โบราณสถาน โบราณวัตถุ เน้นเรื่องศาสนา เช่น ตำนานจามเทวีวงศ์
- พงศารดาร – บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และอาณาจักร เช่น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (เป็นฉบับที่เก่าแกที่สุดที่เหลืออยู่)
- จดหมายเหตุ – บันทึกครั้งละเหตุการณ์เดียว ระบุวัน-เวลา
- อื่นๆ – เช่น หนังสือราชการ กฎหมาย วรรณกรรม หนังสือพิมพ์
ขั้นตอนของวิธีการทางประวัติศาสตร์
- กำหนดหัวเรื่อง
- รวบรวมข้อมูลหลักฐาน
- ประเมินคุณค่าของหลักฐานทั้งภายนอกและภายใน
- ตีความหลักฐาน
- วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล
อาณาจักรโบราณ
1. อาณาจักรฟูนัน สันนิษฐานว่าเป็นอาณาจักรของชาวขอม มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอู่ทองหรือเมืองออกแก้วไม่ทราบแน่ชัด แต่มีชื่อเรียกในสมัยโบราณว่า วยาธปุระ มีอาณาเขตครอบคลุมประเทศกัมพูชาทั้งหมด และบริเวณภาคกลางของไทย ฟูนันเจริญรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 7-10 เมื่อฟูนันเสื่อมอำนาจทวารวดีจึงมีอำนาจในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ฟูนันมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนและอินเดีย วัฒนธรรมประเพณีของฟูนันคล้ายกับอินเดียมาก ซึ่งได้รับอิทธิพลจากความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักร
2. อาณาจักรทวารวดี ในพุทธศตวรรษที่ 11-12 มีเมืองสำคัญ 2 เมือง คือ เมืองละโว้ และเมืองนครชัยศรี อยู่บริเวณสองฝั่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และยังมีเมืองโบราณอื่นๆกระจายอยู่ตามลุ่มแม่น้ำอีก เช่น เมืองคูบัว เมืองอู่ทอง เมืองศรีเทพ อาณาจักรทวารวดีเกิดขึ้นหลังจากฟูนันเสื่อมอำนาจ วัฒนธรรมประเพณีคล้ายกับอาณาจักรฟูนัน เป็นลักษณะเมืองโบราณที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบเมืองเป็นรูปวงกลมหรือวงรี ประมาณ ๑-๓ ชั้น แต่ละเมืองจะมีกษัตริย์ปกครองตนเอง ชุมชนทวารวดีเจริญรุ่งเรืองมาก
หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญที่ค้นพบ ได้แก่ วงล้อธรรมจักร เสมาสลักเรื่องราวพุทธประวัติ และพระพุทธรูปศิลปะทวาราวดี
3. อาณาจักรละโว้ แต่เดิมสันนิษฐานว่าเป็นอาณาจักรของขอม แต่จากหลักฐานในปัจจุบัน น่าเชื่อว่าเป็นอาณาจักรโบราณของไทย ลพบุรีหรือละโว้อาจเป็นถิ่นกำเนิดของพระเจ้าอู่ทอง ผู้ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา ละโว้ตกเป็นเมืองขึ้นของขอมในช่วงที่ขอมเจริญรุ่งเรือง วัฒนธรรมคล้ายขอม มีอายุในพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๘ พร้อมๆ กับอาณาจักรทวารวดีและศรีวิชัย มีพัฒนาการต่อเนื่องมาจากอาณาจักรทวารวดี บางเมืองเกิดขึ้นซ้อนทับเมืองทวารวดี บางเมืองย้ายไปสร้างใหม่ในที่ไม่ไกลนัก
หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญที่ค้นพบ ได้แก่ พระปรางค์สามยอด เทวรูปพระโพธิสัตว์ พระพุทธรูปปางนาคปรก
4. อาณาจักรตามพรลิงค์ เป็นชุมชนสำคัญแถบชายทะเลในดินแดนภาคใต้ของประเทศไทย มีหัวเมืองสำคัญได้แก่ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองไชยา เมืองปัตตานี เมืองสงขลา เมืองตะกั่วป่า เริ่มราวปลายพุทธศตวรรษที่ 13 ต้นพุทธศตวรรษที่ 14 นับเป็นเมืองโบราณเก่าแก่ในแหลมมลายู มีชื่อเรียกในศิลาจารึกว่า ตามพรลิงค์ และยังมีชื่อในตำนานต่างๆว่า นครดอนพระ ศรีธรรมราช ศิริธรรมราช เป็นต้น เคยเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย แต่ได้กลับมาตั้งตัวเป็นอิสระและมีความเจริญถึงขีดสุดทั้งด้านอาณาจักรและศาสนจักร ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ได้มีเมืองขึ้นถึง 12 หัวเมือง โดยใช้ตรารูปสัตว์ประจำปีนักษัตรเป็นตราประจำเมืองขึ้นนั้นๆ
สายบุรี – หนู ปัตตานี – วัว กลันตัน – เสือ
ปาหัง – กระต่าย ไทรบุรี – งูใหญ่ พัทลุง – งูเล็ก
ตรัง – ม้า ชุมพร – แพะ บันไทยสมอ – ลิง
สงขลา – ไก่ ตะกั่วป่า (ถลาง) – หมา กระบุรี – หมู
เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองขึ้นของกรุงสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง และถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาในพุทธศตวรรษที่ 20
หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ คือ พระบรมธาตุเจดีย์
5. อาณาจักรศรีวิชัย เป็นอาณาจักรใหญ่ในภาคใต้ของไทย ตั้งอยู่บนเกาะชวา เกาะสุมาตรา คาบสมุทรมลายู และดินแดนบางส่วนของไทย มีความเจริญรุ่งเรืองราวพุทธศตวรรษที่ 13-16 เสื่อมอำนาจราวพุทธศตวรรษที่ 18 เสียอำนาจให้กับอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยา มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองไชยา และนครศรีธรรมราช
หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ คือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เจดีย์พระบรมธาตุไชยา จ.สุราษฎร์ธานี และพระบรมธาตุเจดีย์ จ.นครศรีธรรมราช
6. อาณาจักรโคตรบูร ตั้งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 13 บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย มีศูนย์กลางอยู่ที่นครพนม ครอบคลุมดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่เมืองอุดรธานี หนองคาย เวียงจันทน์ นครพนม จนถึงอุบลราชธานี มีความสัมพันธ์กับอาณาจักรล้านช้าง
หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ คือ พระธาตุพนม จ.นครพนม ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา ปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์
7. อาณาจักรหริภุญชัย ตั้งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 ตรงกับปี พ.ศ.1206 บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงตอนบน หรือบริเวณลุ่มแม่น้ำวัง มีเมืองสำคัญคือ เมืองลำปาง (เมืองเขลางค์นคร) เมืองลำพูน (เมืองหริภุญชัย) มีปฐมกษัตริย์คือ นางจามเทวี ธิดากษัตริย์แห่งกรุงละโว้ จนถึงพญายีบา รวมทั้งสิ้น 49 พระองค์ ต่อมาถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนาของพระยามังรายมหาราช ประมาณปี พ.ศ.1824
หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ คือ วัดจามเทวี วัดพระธาตุหริภุญชัย
8. อาณาจักรล้านนา เป็นอาณาจักรโบราณอยู่ทางภาคเหนือของไทย ตั้งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 บริเวณดินแดนแม่น้ำปิง แม่น้ำกก และแม่น้ำโขง แบ่งเป็น 2 แคว้น คือ แคว้นโยนกเชียงแสน พระเจ้าสิงหนวัติ ผู้สร้างเมือง “โยนกนาคพันธุ์” ณ บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ที่ราบเชียงราย มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาจนถึงพระเจ้าพรหมมหาราช แต่ต่อมาในตำนานสิงหนวัติกล่าวไว้ว่า อาณาจักรแห่งนี้ถูกรุกรานจากภายนอก และเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมจนเมืองล่มกลายเป็นหนองน้ำ และแคว้นเงินยางเชียงแสน ต่อมาได้รวมกับอาณาจักรหริภุญชัย
หลังจากนั้นอาณาจักรล้านนาได้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง ในราวพุทธศตวรรษที่ 19 และได้ตั้งราชธานีใหม่ขึ้นที่เมืองเชียงใหม่ บริเวณลุ่มแม่น้ำปิง
9. อาณาจักรสุโขทัย ตั้งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองสุโขทัย ปฐมกษัตริย์คือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แห่งราชวงศ์พระร่วง และเสื่อมอำนาจลงในสมัยพระธรรมราชาที่ 4
10. อาณาจักรอโยธยา มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอโยธยา ทางตะวันออกของเมืองพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน ในระยะหลังผู้ปกครองแคว้นอโยธยาและแคว้นสุพรรณภูมิมีความเกี่ยวข้องกันทางเชื้อพระวงศ์ และต่อมาในปี พ.ศ.1893 พระเจ้าอู่ทองได้ตั้งอาณาจักรอยุธยาขึ้น
11. อาณาจักรสุพรรณภูมิ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอู่ทอง เจริญรุ่งเรืองในระยะเดียวกับอาณาจักรอโยธยา
งานค้นคว้าเกี่ยวกับชนชาติไทย
การศึกษาเกี่ยวกับที่มาของชนชาติไทยยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่และหาข้อยุติแน่นอนไม่ได้ แต่ข้อสันนิษฐานหรือแนวคิดต่าง ๆ ที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือมีผลให้การศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชนชาติไทยมีความชัดเจนมากขึ้น
1. ชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนเหนือของจีน แถบภูเขาอัลไต
ไทยอพยพจากภูเขาอัลไตในใจกลางทวีปเอเชียลงมายังน่านเจ้า แล้วอพยพต่อลงมายังประเทศไทย
ดร.วิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน พบว่าหมู่ชนที่เชื่อกันว่าเป็นชนชาติไทยนั้น ได้ตั้งถิ่นฐานเป็นรัฐอยู่แว่นแคว้นอยู่ในประเทศจีนแล้ว ก่อนที่จีนจะอพยพลงมา เนื่องจากประวัติศาสตร์ของจีนเริ่มต้นที่พระเจ้าวั่งตี่ เมื่อ 2094 ปี ก่อนพุทธศักราช ขณะนั้นจีนยังอยู่ทางทะเลแคสเบี้ยน หรืออยู่ระหว่างการเคลื่อนย้ายมุ่งสู่ตะวันออก ยังไม่ได้ตั้งอาณาจักรลงในดินแดนที่เป็นประเทศจีนเวลานี้ และประวัติศาสตร์ที่ขงจื้อ เขียนเอง เริ่มต้นที่พระเจ้าเย้า เมื่อ 1814 ปี ก่อนพุทธศักราช ก็ยังเป็นระยะเวลาที่อาณาจักรจีนยังไม่ได้ตั้งถิ่นฐานมั่นคง การสำรวจดินแดนซึ่งกระทำในรัชสมัย พระเจ้ายู้ เมื่อประมาณ 150 ปี พบว่าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลเสฉวนปัจจุบัน เขตแดนจีนในครั้งนั้นไปจดอาณาเขตของอาณาจักรใหญ่อาณาจักรหนึ่งชื่อว่าต้ามุง ซึ่งเป็นพวกเดียวกับพวกที่มาตั้งอาณาจักรน่านเจ้า เมื่อปี พ.ศ. 1172 และพวกต้ามุงนี้เรียกตัวเองว่าอ้ายลาว
จากหลักฐานพบว่า ก่อนนี้มีอาณาจักรของคนไทยเราเรียกตนเองว่า “อ้ายลาว” ต่อมาจึงใช้คำว่า “ไท” หลังอ้ายลาว นอกจากอ้ายลาวแล้วเรายังมีชื่อเรียกกันหลายอย่าง เช่น มุง ลุง ปา ตามหลักฐานกล่าวว่าถิ่นฐานของไทยอยู่ระหว่างแม่น้ำฮวงโหและแม่น้ำยั่งจื้อหรือแยงซี และในจดหมายเหตุจีนเรียกชื่อคนไทยครั้งแรกว่า “ต้ามุง” ซึ่งก็คือ “อ้ายลาว” ที่ไว้เรียกตัวเองนั่นเอง
จีนเขียนจดหมายเหตุไว้ว่า ชนชาติอ้ายลาวเป็นเจ้าของถิ่นมาก่อนจีน ซึ่งเป็นระยะสองพันปีก่อนคริสต์กาล จีนได้มาพบไทย มุง ลุง ปา ปัง ปละลาว บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำยั่งจื้อ(แม่น้ำแยงซี) ครอบครองเสฉวนตะวันตกไปจนเกือบจดทะเล
ในปี ค.ศ.1901 หมอดอดด์ได้เดินทางไปในในดินแดนนี้ยังได้พบคนไทยที่เรียกตนเองว่า ลุง และ ปา แต่จีนเรียกว่า “ลุงเชน” แปลว่าประชาชนชาวลุง และพวก “ปา” เรียกว่า “ปายี่” แปลว่า “คนป่าเถื่อน”และพบว่าพวกต้ามุงที่เรียกตนเองว่าอ้ายลาวนั้นเป็นพวกเก่าแก่โบราณกว่า พวกบาบิโลน อัสสิเรีย และอียิปต์
หมอดอดด์ได้นำความเชื่อนี้ไปกล่าวไว้ในงานเขียนที่ชื่อว่า The Tai Race มีชื่อเพิ่มเติมว่า Elder brother of the chinese ว่าพวกต้ามุงซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบรรพบุรุษของคนไทยได้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาจากถิ่นกำเนิดของตนในเอเชียกลางมายังชายแดนด้านตะวันตกของจีน
ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ได้แสดงความคิดเห็นไว้ในหนังสือหลักไท (พ.ศ. 2471) เชื่อว่าแหล่งกำเนิดของชนชาติไทยอยู่บริเวณเทือกเขาอัลไตของเอเชียกลาง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพวกมองโกลด้วยกัน ภายหลังจึงได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานแถบบริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง และแม่น้ำแยงซีต่อมาเมื่อถูกรุกราน จึงค่อย อพยพลงมาสู่สุวรรณภูมิต่อมาภายหลัง
*** หมายเหตุ มีการศึกษาทางด้านโบราณคดีและด้านภูมิศาสตร์ ทำให้แนวความคิดนี้ไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไปเพราะทางแถบบริเวณเทือกเขาอัลไตของเอเชียกลางนั้นเป็นเขตแห้งแล้ง อากาศมีความหนาวเย็น และถ้าอพยพโยกย้ายลงมาก็ต้องผ่านทะเลทรายที่กว้างใหญ่และทุรกันดารมาก จึงไม่เหมาะสำหรับจะเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์
2. ชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ตอนกลางของจีน แถบมณฑลเสฉวน
ถิ่นฐานเดิมของไทยอยู่ทางภาคตะวันตกของมณฑลเสฉวน ต่อมาได้ถอยร่นลงมาทางใต้ และตั้งอาณาจักรน่านเจ้า ขึ้นตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นอาณาจักรสุดท้ายที่ตั้งในดินแดนจีน เมื่อถูกจีนรุกรานอีก ชนชาติไทยจึงค่อยๆ เคลื่อนย้ายลงมาทางใต้ มาตั้งถิ่นฐานในคาบสมุทรอินโดจีน
ศาสตราจารย์ แตร์รีออง เดอ ลา คูเปอรี นักภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน เขียนหนังสือชื่อว่า Cradle of the Shan Race (ถิ่นกำเนิดของชนชาติฉาน)ได้ตรวจสอบภาษาพูดที่ทางจีนสมัยโบราณรวบรวมไว้ พบว่าคำพูดของหมู่ชนที่จีนเรียกว่าคนป่าในสมัยโบราณนั้น แยกออกได้เป็นสองสาขา คือบางคำตรงกับภาษาไทย บางคำตรงกับภาษามอญและญวน เมื่อลองตรวจนับดูก็พบว่าในบรรดาคำ 19 คำ เป็นภาษาไทย 12 คำ เป็นภาษามอญและญวน และมีอยู่มากคำที่ไม่รู้ว่าเป็นภาษาอะไร ด้วยเหตุนี้ศาสตราจารย์ คูเปอรีจึงถือว่า หมู่ชนที่ชาวจีนเรียกว่าคนป่านั้นต้องเป็นพันธุ์ๆ หนึ่ง ซึ่งเขาชื่อว่าเป็นพันธุ์ “มอญไทย” โดยที่พันธุ์มอญได้เคลื่อนลงมาทางใต้ก่อนพันธุ์ไทย และมากลายเป็น มอญ เขมร ญวน ในปัจจุบัน
หลวงวิจิตรวาทการ ได้กล่าวถึงถิ่นกำเนิดของคนไทยไว้ว่า คนไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในดินแดนซึ่งเป็นมณฑลเสฉวน ฮูเป อันฮุย และเกียงซีตอนกลางของประเทศจีนปัจจุบัน ก่อนที่จีนจะอพยพเข้ามา แล้วค่อย ๆ อพยพสู่มณฑลยูนนานและแหลมอินโดจีน
*** หมายเหตุ ถ้าความเห็นนี้เป็นจริง ก็นับว่าชนชาติไทยเคยมีอาณาจักรยิ่งใหญ่ก่อนสมัยสุโขทัยนับร้อยๆ ปีเพราะหลักฐานต่างๆ ระบุว่า ในสมัยที่น่านเจ้าเป็นอิสระอยู่ประมาณ 600 ปีนั้น มีความเจริญก้าวหน้ามาก แบ่งการบริหารราชการออกเป็นส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น อาชีพสำคัญ คือ การปลูกข้าว ประชาชน รู้จักเลี้ยงไหมและทอผ้าใช้เอง อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนักประวัติศาสตร์หลายคนได้มีความเห็นขัดแย้งกับความเชื่อถือเดิม คือส่วนใหญ่ยอมรับว่าพลเมืองน่านเจ้ามีคนไทยปนอยู่ด้วย แต่ถ้วนเหตุที่น่านเจ้าจึงอาจเป็นอาณาจักรของชนชาติอื่นที่มิใช่ไทยก็ได้ เรื่องราวของอาณาจักรน่านเจ้า จึงเป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันอยู่
3. ชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของจีน บริเวณมณฑลยูนนาน กวางสี กวางตุ้ง ตลอดไปจนถึงรัฐอัสสัมของอินเดีย
อาร์ซิบัลด็ รอน คอลูน นักสำรวจชาวอังกฤษ ได้เดินทางไปสำรวจดินแดนต่างๆทางตอนใต้ของจีนและทางตอนเหนือของคาบสมุทรอินโดจีน รวมทั้งรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย และเขียนรายงานการสำรวจที่ปรากฏอยู่ ในหนังสือชื่อ ไครเซ ซึ่งตีพิมพ์ในประเทศอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2428 ได้พบคนเชื้อชาติไทยในบริเวณภาคใต้ของจีนตั้งแต่กวางตุ้งไปจนถึงมัณฑะเลย์ในพม่า และรัฐอัสสัม
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีความเห็นว่า ถิ่นฐานเดิมของไทยอยู่ทาง ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจีน แถบมณฑลกวางตุ้ง กวางสี และยูนนาน ต่อมาถูกรุกรานจึงได้ถอยร่นลงมาทางใต้ กระจัดกระจายกันไปตามถิ่นต่างๆ หลายทิศทางด้วยกัน และลงมาสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ความเห็นนี้เป็นที่ยอมรับกันเป็นส่วนใหญ่ในขณะนั้น ดร. วิลเลียม ดอดด์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน ได้เดินทางไปสำรวจแว่นแคว้นต่างๆ ที่อยู่นอกประเทศไทย ทางภาคเหนือของพม่า ไทย ลาว จนถึงภาคใต้ของจีน ปรากฏว่าขณะนั้นมีชนชาติที่พูดภาษาไทยอยู่ในดินแดนแถบนั้นเป็นจำนวนมาก
วิลเลียม เจ. เก็ตนีย์ นักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับภาษาไทยในเวียดนามตอนเหนือ ลาว และจีนตอนใต้ ได้เสนอความเห็นไว้เมื่อพ.ศ. 2508 ว่า ถิ่นกำเนิดของภาษาไทยมิได้อยู่ทางมณฑลยูนนาน แต่อยู่ที่มณฑลทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีนแถวเส้นเขตแดนระหว่างมณฑลกวางสีของจีนกับ เมืองเดียนเบียนฟูของเวียดนามตอนเหนือ ศาสตราจารย์เก็ดนีย์อาศัยทฤษฎีว่า ภาษาเกิดที่ใดจะมีภาษาท้องถิ่นมากหลายชนิดเกิดขึ้นแถบบริเวณนั้น เพราะอยู่มานานจนแตกต่างกันออกไป พวกจ้วงที่อยู่ในกวางสีห่างกันเพียง ๒๐ กิโลเมตร ยังพูดกันไม่รู้เรื่อง แต่ภาษาถิ่นต่างๆ ของลาว ไทย และพม่า ไม่ค่อยแตกต่างกัน ยังฟังกันรู้เรื่อง ภาษาอังกฤษในเกาะอังกฤษมีภาษาถิ่นมากมาย แต่ในสหรัฐอเมริกาพูดกันเข้าใจทั้งทวีป
วูลแฟรม อีเบอร์ฮาด นักสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ชาวเยอรมันได้กล่าวว่า เผ่าไทยอยู่บริเวณมณฑลกวางตุ้ง ต่อมาชนเผ่าไทยได้อพยพเข้าสู่ยูนานและดินแดนในอ่าวตังเกี๋ย และได้มาสร้างอาณาจักรเทียนหรือแถน ที่ยูนนานซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์ฮั่นของจีน เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ถังเผ่าไทยก็สถาปนาอาณาจักรน่านเจ้าขึ้นที่ยูนนาน
เฟรเดอริค โมต ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีนได้ให้ทัศนะไว้เป็นบทความที่เขียนขึ้นใน พ.ศ. 2507 ว่า หลักฐานประวัติศาสตร์จีนแม้จะไม่ระบุไว้อย่างชัดเจน เกี่ยวกับกำเนิดของชนชาติไทยว่าอยู่บริเวณใด แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจีนใดๆ ที่จะคัดค้านสมมติฐานที่ว่าถิ่นกำเนิดของชนชาติไทย อยู่ในบริเวณตอนใต้ของจีนและบริเวณต่อเนื่องกับเขตแดนของเวียดนาม
เจมส์ อาร์ แชมเบอร์เลน นักภาษาศาสตร์ กล่าวว่า ถิ่นกำเนิดเริ่มแรกของชนชาติไทยนั้นน่าจะอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลเหนือปากแม่น้ำแยงซีตอนล่างเพราะเป็น วิถีชีวิตของกลุ่มคนที่พูดภาษาไทยที่เพราะปลูกข้าวนาลุ่มมาแต่แรก ข้อมูลเกี่ยวกับคำศัพท์ของกล้าข้าว ประเภทต่าง ๆในภาษาไทยสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มคนที่พูดภาษา ไทยอาจเป็นคนกลุ่มแรกที่รู้จักเพาะปลูกข้าวนาลุ่ม
ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช กล่าวว่าคนไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของจีนแถบมณฑลกวางตุ้ง กวางสี ต่อมาประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล ชนเผ่าไทยจึงได้อพยพมาทางตะวันตก ตั้งแต่มณฑลเสฉวน เมืองเชียงตู ลงล่างเรื่อยมาจนเข้าเขตยูนนาน และลงมาทางใต้ผ่านสิบสองจุไทลงสู่ประเทศลาว
จิตร ภูมิศักดิ์ เสนอทัศนะไว้ว่า คนเผ่าไทยอาศัยอยู่กระจัดกระจายในบริเวณทางตอนใต้ของจีน และบริเวณภาคเหนือของไทย ลาว เขมร พม่า และรัฐอัสสัมของอินเดีย
*** หมายเหตุ แนวความเชื่อนี้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีหลักฐานในสาขาวิชาการต่าง ๆ ทั้งทางด้านภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี มานุษยวิทยา และอื่น ๆ มาสนับสนุนเป็นจำนวนมาก
4. ชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันมาตั้งแต่โบราณกาล
จากการขุดค้นทางโบราณคดีในระยะเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมา ได้พบแหล่งอารยธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในประเทศไทยที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ที่บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี และที่บ้านเชียงจังหวัดอุดรธานี ได้มีการพิสูจน์กันว่า โครงกระดูก เครื่องใช้ เครื่องปั้นดินเผาเขียนลายสี มีอายุเก่าแก่ถึง 4,000 – 5,000 ปีมาแล้ว จึงเกิดปัญหาว่ามนุษย์ชาติใด เผ่าใดอาศัยอยู่แถบนั้น และมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับชนชาติไทยในปัจจุบันนี้หรือไม่และอย่างใด ผลของการขุดค้นทางโบราณคดีดังกล่าว ทำให้เกิดแนวความคิดใหม่ว่าชนชาติไทยอาจมีถิ่นกำเนิดอยู่ในดินแดนแถบนี้มาก่อน โดยมิได้อพยพโยกย้ายมาจากที่ใดก็ได้
ดร . พอล เบเนดิคท์ นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ได้เสนอบทความเรื่อง Thai Kadai and Indonesian สรุปได้ว่า ชนชาติไทยน่าจะอยู่ในดินแดนประเทศไทยมาช้านานแล้ว ประมาณ 4000 ปี เพราะจากหลักฐานโครงกระดูกสมัยโบราณ ซึ่งตรงกับกระดูกของคนไทยในปัจจุบัน และภาษาไทยเป็นภาษาของชนชาติทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในตระกูล ออสโตรนีเชียน ซึ่งแยกเป็น ภาษาไทย ชวา-มลายู ทิเบต-พม่า
คอริช เวลส์ เป็นนักวิชาการตะวันตกคนแรกที่เสนอสมมติฐานว่า ถิ่นเดิมของชนชาติไทยอยู่บริเวณประเทศไทยปัจจุบัน โดยอาศัยหลักฐานจากกะโหลกศรีษะ ที่ขุดได้จากตำบลพงตึก จังหวัดกาญจนบุรีที่มีอายุราวต้นคริสต์ศตวรรษ ซึ่งเวลส์เห็นว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับกะโหลกศรีษะของคนไทยปัจจุบัน
นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ได้ทำการศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ยุคหินใหม่ 37 โครง ซึ่งพบบริเวณสองฝั่งแม่น้ำแควน้อยและแควใหญ่ จังหวัดกาญจนบุรี พบว่าโครงกระดูกของมนุษย์หินใหม่เหมือนกับโครงกระดูกของคนไทยปัจจุบันเกือบทุกอย่าง จึงสรุปว่าดินแดนไทยเมื่อครั้งอดีตน่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของบรรพบุรุษของคนไทยปัจจุบันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว
ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโบราณคดี ได้เสนอว่า มีร่องรอยของผู้คนอาศัยอยู่ตั้งแต่ยุคหินเก่าเรื่อยมาจนกระทั่งยุคหินกลาง หินใหม่ ยุคโลหะ และเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ โดยแต่ละยุคได้มีการสืบเนื่องทางวัฒนธรรมสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันด้วย
*** หมายเหตุ แนวความคิดนี้มีนักวิชาการหลายท่านพยายามนำหลักฐานทาง ด้านโบราณคดีและเอกสารมาพิสูจน์ให้เห็นจริงว่าคนไทยน่าจะอยู่บริเวณนี้มาก่อน บางคนถือว่าบ้านเชียงก็เป็นคนไทย แต่ยังไม่มีผู้ใดเคยพิสูจน์ว่าวัฒนธรรมของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงเหมือนกับวัฒนธรรมของคนไทยในปัจจุบันเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร
หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงอ้างความเห็นของกอร์แมนว่า โครงกระดูกคนบ้านเชียงคล้ายกับกระดูกมนุษย์ที่อยู่ตามมหาสมุทรแปซิฟิก อีกประการหนึ่ง จารึกในแหลมทองเป็นอักษรมอญ ภาษามอญมาจนถึงประมาณ พ.ศ.๑๗๓๐ ไม่เคยมีจารึกภาษาไทยเขียนด้วยอักษรใดๆ ก่อนจารึก พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเลย
5. ชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่แถบหมู่เกาะ มาเลเซียและอินโดนีเซียในปัจจุบัน
ไทยพร้อมกับพวกฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียอพยพจากเส้นศูนย์สูตรขึ้นมาถึงประเทศไทย แล้วเลยต่อขึ้นไปถึงจีน
นายแพทย์สมศักดิ์ พันธุ์สมบุญ ได้ทำวิจัยทางด้านพันธุศาสตร์เกี่ยวกับหมู่เลือดลักษณะของจำนวนยีน พบว่าหมู่เลือดของคนไทยคล้ายคลึงกับชาวเกาะชวาที่อยู่ทางใต้มากกว่าคนจีนซึ่งอยู่ทางเหนือ รวมทั้งลักษณะและจำนวนของยีนระหว่างคนไทยกับคนจีนก็ไม่เหมือนกันด้วย
ดร.ถาวร วัชราภัย ได้ทำวิจัยกลุ่มเลือดที่ทันสมัย สรุปได้ว่าไทยดำและผู้ไทยมีลักษณะเลือดใกล้เคียงกับชาวจีน แต่ไม่ใกล้เคียงกับชาวมาเลย์ แต่ชาวมาเลย์มีลักษณะเลือดใกล้เคียงกับชาวเขมร ขากรรไกรและฟันก็ได้ผลเช่นเดียวกัน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้ทำผลงานการวิจัยเรื่องฮีโมโกลบิน อี พบว่า ฮีโมโกลบิน อี มีมากในผู้คนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ไทย ลาว เขมร พม่า มอญ และอื่น ๆ คนจีนเกือบไม่มีอยู่เลย
*** หมายเหตุ แต่ปัจจุบันนี้ได้เลิกใช้ฮีโมโกลบิน อี เป็นเครื่องพิสูจน์ว่ากลุ่มใดมีบรรพบุรุษร่วมกับกลุ่มใด เพราะมีการพิสูจน์ได้ว่าดินแดนที่มีฮีโมโกลบิน อี มาก คือดินแดนที่มีไข้มาลาเรียมาก แนวความคิดนี้ปัจจุบัน ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดและยังไม่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางนัก
ประวัติศาสตร์ไทยก่อนสมัยสุโขทัย
คำว่าไทย เป็นชื่อรวมของชนเผ่ามองโกล ซึ่งแบ่งแยกออกเป็นหลายสาขา เช่น ไทยอาหม ในแคว้นอัสสัม ไทยใหญ่ ไทยน้อย ไทยโท้ ในแคว้นตั้งเกี๋ย อุปนิสัยปกติมักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักสันติ และความเป็นอิสระ
ความเจริญของชนชาติไทยนี้ สันนิษฐานว่า มีอายุไร่เรี่ยกันมากับความเจริญของ ชาวอียิปต์บาบิโลเนีย และอัสสิเรียโบราณ ไทยเป็นชาติที่มีความเจริญมาก่อนจีน และก่อนชาวยุโรป ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพวกอนารยชนอยู่ เป็นระยะเวลา ประมาณ 5,000 – 6,000 ปีมาแล้ว ที่ชนชาติไทยได้เคยมีที่ทำกินเป็นหลักฐาน มีการปกครองเป็นปึกแผ่น และมีระเบียบแบบแผนอยู่ ณ ดินแดนซึ่งเป็นประเทศจีนในปัจจุบัน
เมื่อประมาณ 3,500 ปีก่อนพุทธศักราชชนชาติไทยได้อพยพข้ามเทือกเขาเทียนชาน เดินทางมาจนถึงที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ ณ บริเวณต้นแม่น้ำฮวงโห และแม่น้ำแยงซีเกียง และได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ บริเวณที่แห่งนั้น แล้วละเลิกอาชีพเลี้ยงสัตว์แต่เดิม เปลี่ยนมาเป็นทำการกสิกรรม ความเจริญก็ยิ่งทวีมากขึ้น มีการปกครองเป็นปึกแผ่น และได้ขยายที่ทำกินออกไปทางทิศตะวันออกตามลำดับ ในขณะที่ชนชาติไทยมีความเป็นปึกแผ่นอยู่ ณ ดินแดนและมีความเจริญดังกล่าว ชนชาติจีนยังคงเป็นพวกเลี้ยงสัตว์ ที่เร่ร่อนพเนจรอยู่ตามแถบทะเลสาบแคสเบียน ต่อมาเมื่อ ประมาณกว่าหนึ่งพันปีที่ไทยอพยพเข้ามาอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำเรียบร้อยแล้ว ชนชาติจีนจึงได้อพยพเข้ามาอยู่ในลุ่มน้ำดังกล่าวนี้บ้าง และได้พบว่าชนชาติไทยได้ครอบครอง และมีความเจริญอยู่ก่อนแล้ว ในระหว่างระยะเวลานั้น เราเรียกตัวเองว่าอ้ายลาวหรือพวกมุง ประกอบกันขึ้นเป็นอาณาจักรใหญ่ ถึงสามอาณาจักรด้วยกัน คือ
อาณาจักรลุง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือบริเวณต้นแม่น้ำเหลือง (หวงโห)
อาณาจักรปา ตั้งอยู่ทางใต้ลงมาบริเวณพื้นที่ทางเหนือของมณฑลเสฉวน อาณาจักรปาจัดว่าเป็นอาณาจักรที่สำคัญกว่าอาณาจักรอื่น
อาณาจักรเงี้ยว ตั้งอยู่ทางตอนกลางของลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง
ทั้งสามอาณาจักรนี้ มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ ประชากรก็เพิ่มมากขึ้น จึงได้แผ่ขยายอาณาเขตออกมาทางทิศตะวันออก โดยมีแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นแกนหลัก จากความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ถิ่นที่อยู่ใหม่ มีอิทธิพลทำให้เปลี่ยนแปลงอุปนิสัยเดิม ตั้งแต่ครั้งยังทำการเลี้ยงสัตว์ ที่โหดเหี้ยม และชอบรุกราน มาเป็นชนชาติที่มีใจกว้างขวาง รักสงบพอใจความสันติ อันเป็นอุปนิสัยที่เป็นมรดกตกทอดมาถึงไทยรุ่นหลังต่อมา
เหตุที่ชนชาติจีนเข้ามารู้จักชนชาติไทยเป็นครั้งแรก เมื่อแหล่งทำมาหากินทางแถบทะเลสาบแคสเบียนเกิดอัตคัดขาดแคลน ทำให้ชนชาติจีนต้องอพยพเคลื่อนย้ายมาทางทิศตะวันออก เมื่อประมาณ 2,500 ปี ก่อนพุทธศักราช ชนชาติจีนได้อพยพข้ามเทือกเขาเทียนชาน ที่ราบสูงโกบี จนมาถึงลุ่มแม่น้ำไหว จึงได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ที่นั้น และมีความเจริญขึ้นตามลำดับ ปรากฏมีปฐมกษัตริย์ของจีนชื่อ ฟูฮี ได้มีการสืบวงศ์กษัตริย์กันต่อมา แต่ขณะนั้นจีนกับไทยยังไม่รู้จักกัน ล่วงมาจนถึงสมัยพระเจ้ายู้ จีนกับไทยจึงได้รู้จักกันครั้งแรก โดยมีสาเหตุมาจากที่พระเจ้ายู้ ได้มีรับสั่งให้มีการสำรวจ พระราชอาณาเขตขึ้น ชาวจีนจึงได้มารู้จักชาวไทย ได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรอ้ายลาว จึงยกย่องนับถือถึงกับให้สมญาอาณาจักรอ้ายลาวว่า อาณาจักรไต๋ ซึ่งมีความหมายว่าอาณาจักรใหญ่ สันนิษฐานว่า เป็นสมัยแรกที่จีนกับไทยได้แลกเปลี่ยนสัมพันธไมตรีต่อกัน
อาณาจักรอ้ายลาวถูกรุกราน เมื่อประมาณ 390 ปี ก่อนพุทธศักราช พวกจีนได้ถูกชนชาติตาดรุกราน พวกตาดได้ล่วงเลยเข้ามารุกรานถึงอาณาจักรอ้ายลาวด้วย อาณาจักรลุงซึ่งอยู่ทางเหนือ ต้องประสบภัยสงครามอย่างร้ายแรง ในที่สุดก็ต้องทิ้งถิ่นฐานเดิม อพยพลงมาทางนครปา ซึ่งอยู่ทางใต้ ปล่อยให้พวกตาดเข้าครอบครองนครลุง ซึ่งมีอาณาเขตประชิดติดแดนจีน ฝ่ายอาณาจักรจีนในเวลาต่อมาเกิดการจลาจล พวกราษฎรพากันอพยพหนีภัยสงคราม เข้ามาในนครปาเป็นครั้งแรก เมื่ออพยพมาอยู่กันมากเข้า ก็มาเบียดเบียนชนชาติไทยในการครองชีพ ชนชาติไทยทนการเบียดเบียนไม่ได้ จึงได้อพยพจากนครปามาหาที่ทำกินใหม่ทางใต้ครั้งใหญ่ เมื่อประมาณ 50 ปี ก่อนพุทธศักราช แต่อาณาจักรอ้ายลาวก็ยังคงอยู่จนถึงประมาณ พ.ศ. 175 อาณาจักรจีนเกิดมีแคว้นหนึ่ง คือ แคว้นจิ๋น มีอำนาจขึ้นแล้วใช้แสนยานุภาพเข้ารุกรานอาณาจักรอ้ายลาว นับเป็นครั้งแรกที่ไทยกับจีนได้รบพุ่งกัน ในที่สุดชนชาติไทยก็เสียนครปาให้แก่จีน เมื่อ พ.ศ. 205 ผลของสงครามทำให้ชาวนครปาที่ยังตกค้างอยู่ในถิ่นเดิม อพยพเข้ามาหาพวกเดียวกันที่อาณาจักรเงี้ยว ซึ่งขณะนั้นยังเป็นอิสระอยู่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของจีน แต่ฝ่ายจีนยังคงรุกรานลงทางใต้สู่อาณาจักรเงี้ยวต่อไป ในที่สุดชนชาติไทยก็เสียอาณาจักรเงี้ยวให้แก่ พระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ เมื่อปี พ.ศ. 328
ตั้งแต่ พ.ศ. 400- 621 เมื่ออาณาจักรอ้ายลาวถูกรุกรานจากจีน ทั้งวิธีรุกเงียบ และรุกรานแบบเปิดเผยโดยใช้แสนยานุภาพ จนชนชาติไทยอ้ายลาวสิ้นอิสรภาพ จึงได้อพยพอีกครั้งใหญ่ แยกย้ายกันไปหลายทิศหลายทาง เพื่อหาถิ่นอยู่ใหม่ ได้เข้ามาในแถบลุ่มแม่น้ำสาละวิน ลุ่มแม่น้ำอิรวดี บางพวกก็ไปถึงแคว้นอัสสัม บางพวกไปยังแคว้นตังเกี๋ย เรียกว่าไทยแกว บางพวกเข้าไปอยู่ที่แคว้นฮุนหนำ พวกนี้มีจำนวนค่อนข้างมาก ในที่สุดได้ตั้งอาณาจักรขึ้น เมื่อ พ.ศ. 400 เรียกว่าอาณาจักรเพงาย
ในสมัยพระเจ้าขุนเมือง ได้มีการรบระหว่างไทยกับจีน หลายครั้งผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ สาเหตุที่รบกันเนื่องจากว่า ทางอาณาจักรจีน พระเจ้าวู่ตี่ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และได้จัดสมณทูตให้ไปสืบสวนพระพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดีย แต่การเดินทางของสมณทูตต้องผ่านเข้ามาในอาณาจักรเพงาย พ่อขุนเมืองไม่ไว้ใจจึงขัดขวาง ทำให้กษัตริย์จีนขัดเคืองจึงส่งกองทัพมารบ ผลที่สุดชาวเพงายต้องพ่ายแพ้ เมื่อ พ.ศ. 456
ต่อมาอาณาจักรจีนเกิดการจลาจล ชาวนครเพงายจึงได้โอกาสแข็งเมือง ตั้งตนเป็นอิสระ จนถึง พ.ศ.๖๒๑ ฝ่ายจีนได้รวมกันเป็นปึกแผ่น และมีกำลังเข้มแข็ง ได้ยกกองทัพมารุกรานไทย สาเหตุของสงครามเนื่องจากพระเจ้ามิ่งตี่ กษัตริย์จีนได้วางแผนการขยายอาณาเขต โดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ โดยได้ส่งสมณฑูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังประเทศใกล้เคียง สำหรับนครเพงายนั้น เมื่อพระพุทธศาสนาแผ่ไปถึงพ่อขุนลิวเมา ซึ่งเป็นหัวหน้าก็เลื่อมใส ชาวนครเพงายโดยทั่วไปก็ยอมรับนับถือเป็นศาสนาประจำชาติ ด้วยต่างก็ประจักษ์ในคุณค่าของพระธรรมอันวิเศษยอดเยี่ยม นับว่าสมัยนี้เป็นสมัยสำคัญ ที่พระพุทธศาสนาได้แผ่เข้ามาถึงอาณาจักรไทย คือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 612 เมื่อเป็นเช่นนั้นฝ่ายจีนจึงถือว่าไทยต้องเป็นเมืองขึ้นของจีนด้วย จึงได้ส่งขุนนางเข้ามาควบคุมการปกครองนครเพงาย เมื่อทางไทยไม่ยอมจึงเกิดผิดใจกัน ฝ่ายจีนได้กรีฑาทัพใหญ่เข้าโจมตีนครเพงาย นครเพงายจึงเสียอิสระภาพ เมื่อ พ.ศ. 621
อาณาจักรน่านเจ้า (พ.ศ. 1193 – 1823)หลังจากนครเพงายเสียแก่จีนแล้ว ก็ได้มีการอพยพครั้งใหญ่กันอีกครั้งหนึ่ง ลงมาทางทิศใต้ และทางทิศตะวันตก ส่วนใหญ่มักเข้ามาตั้งอยู่ตามลุ่มแม่น้ำ ในเวลาต่อมาได้เกิดมีเมืองใหญ่ขึ้นถึง ๖ เมือง ทั้ง 6 เมืองต่างเป็นอิสระแก่กัน ประกอบกับในห้วงเวลานั้นกษัตริย์จีนกำลังเสื่อมโทรม แตกแยกออกเป็นสามก๊ก ก๊กของเล่าปี่ อันมีขงเบ้งเป็นผู้นำ ได้เคยยกมาปราบปรามนครอิสระของไทย ซึ่งมีเบ้งเฮกเป็นหัวหน้าได้สำเร็จ ชาวไทยกลุ่มนี้จึงต้องอพยพหนีภัยจากจีน
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 850 พวกตาดได้ยกกำลังเข้ารุกราน อาณาจักรจีนทางตอนเหนือ เมื่อตีได้แล้วก็ตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์ทางเหนือมี ปักกิ่งเป็นเมืองหลวง ส่วนอาณาจักรทางใต้ กษัตริย์เชื้อสายจีนก็ครองอยู่ที่เมืองน่ำกิง ทั้งสองพวกได้รบพุ่งกันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ ทำให้เกิดการจลาจลไปทั่วอาณาจักร ผลแห่งการจลาจลครั้งนั้น ทำให้นครอิสระทั้ง ๖ของไทย คือ ซีล่ง ม่งเส ล่างกง มุ่งซุย เอี้ยแซและเท่งเซี้ยง กลับคืนเป็นเอกราช
นครม่งเสนับว่าเป็นนครสำคัญ เป็นนครที่ใหญ่กว่านครอื่นๆ และตั้งอยู่ต่ำกว่านครอื่นๆ จึงมีฐานะมั่นคงกว่านครอื่นๆ ประกอบกับมีกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ และเข้มแข็ง คือ พระเจ้าสินุโล พระองค์ได้รวบรวมนครรัฐทั้ง 6 เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันรวมเรียกว่า อาณาจักรม่งเส หรือหนองแส จากนั้นพระองค์ได้วางระเบียบการปกครองอาณาจักรอย่างแน่นแฟ้น พระองค์ได้ดำเนินนโยบายผูกมิตรกับจีน เพื่อป้องกันการรุกราน เนื่องจากในระยะนั้นไทยกำลังอยู่ในห้วงเวลาสร้างตัวจนมีอำนาจ เป็นอาณาจักรใหญ่ที่มีอาณาเขตประชิดติดกับจีน ทางฝ่ายจีนเรียกอาณาจักรนี้ว่า อาณาจักรน่านเจ้า แม้ว่าอาณาจักรน่านเจ้าจะสิ้นรัชสมัยพระเจ้าสินุโลไปแล้วก็ตาม พระราชโอรสของพระองค์ซึ่งสืบราชสมบัติ ต่อมาก็ทรงพระปรีชาสามารถ นั่นคือพระเจ้าพีล่อโก๊ะ พระองค์ได้ทำให้อาณาจักรน่านเจ้าเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม อาณาเขตก็กว้างขวางมากขึ้นกว่าเก่า งานชิ้นสำคัญของพระองค์อย่างหนึ่งก็คือ การรวบรวมนครไทยอิสระ 5 นครเข้าด้วยกัน และการเป็นสัมพันธไมตรีกับจีน
ในสมัยนี้อาณาจักรน่านเจ้า ทิศเหนือจดมณฑลฮุนหนำ ทิศใต้จดมณฑลยูนาน ทิศตะวันตกจดธิเบต และพม่า และทิศตะวันออกจดมณฑลกวางไส บรรดาอาณาจักรใกล้เคียงต่างพากันหวั่นเกรง และยอมอ่อนน้อมต่ออาณาจักรน่านเจ้าโดยทั่วหน้ากัน พระเจ้าพีล่อโก๊ะมีอุปนิสัยเป็นนักรบ จึงโปรดการสงคราม ปรากฎว่าครั้งหนึ่ง พระองค์เสด็จเป็นจอมทัพไปช่วยจีนรบกับชาวอาหรับ ที่มณฑลซิน เกียง และพระองค์ได้รับชัยชนะอย่างงดงาม ทางกษัตริย์จีนถึงกับยกย่องให้สมญานามพระองค์ว่า ยูนานอ๋อง พระองค์เป็นกษัตริย์ที่เห็นการณ์ไกล มีนโยบายในการแผ่อาณาเขตที่ฉลาดสุขุมคัมภีรภาพ วิธีการของพระองค์คือ ส่งพระราชโอรสให้แยกย้ายกันไปตั้งบ้านเมืองขึ้นใหม่ทางทิศใต้ และทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ บริเวณ หลวงพระบาง ตังเกี๋ย สิบสองปันนา สิบสองจุไทย (เจ้าไทย) หัวพันทั้งห้าทั้งหก
กาลต่อมาปรากฎว่าโอรสองค์หนึ่งได้ไปสร้างเมืองชื่อว่า โยนกนครขึ้นทางใต้ เมืองต่างๆ ของโอรสเหล่านี้ต่างก็เป็นอิสระแก่กัน เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าพีล่อโก๊ะ (พ.ศ. 1289) พระเจ้าโก๊ะล่อฝง ผู้เป็นราชโอรสได้ครองราชยสืบต่อมา และได้ดำเนินนโยบายเป็นไมตรีกับจีนตลอดมา จนถึง พ.ศ. 1293 จึงมีสาเหตุขัดเคืองใจกันขึ้น มูลเหตุเนื่องจากว่า เจ้าเมืองฮุนหนำได้แสดงความประพฤติดูหมิ่นพระองค์ พระองค์จึงขัดเคืองพระทัย ถึงขั้นยกกองทัพไปตีได้เมืองฮุนหนำ และหัวเมืองใหญ่น้อยอื่นๆ อีก 32 หัวเมือง แม้ว่าทางฝ่ายจีนจะพยายามโจมตีกลับคืนหลายครั้งก็ไม่สำเร็จ ในที่สุดฝ่ายจีนก็เข็ดขยาด และเลิกรบไปเอง ในขณะที่ไทยทำสงครามกับจีน ไทยก็ได้ทำการผูกมิตรกับธิเบต เพื่อหวังกำลังรบ และเป็นการป้องกันอันตรายจากด้านธิเบต
เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าโก๊ะล่อฝง ราชนัดดาคือเจ้าอ้ายเมืองสูง (อีเหมาซุน) ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อมา มีเหตุการณ์ในตอนต้นรัชกาลคือ ไทยกับธิเบตเป็นไมตรีกัน และได้รวมกำลังกันไปตีแคว้น เสฉวนของจีน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ในเวลาต่อมาธิเบต ถูกรุกราน และได้ขอกำลังจากไทยไปช่วยหลายครั้ง จนฝ่ายไทยไม่พอใจ ประจวบกันในเวลาต่อมา ทางจีนได้แต่งฑูตมาขอเป็นไมตรีกับไทย เจ้าอ้ายเมืองสูงจึงคิดที่จะเป็นไมตรีกับจีน เมื่อทางธิเบต ทราบระแคะระคายเข้าก็ไม่พอใจ จึงคิดอุบายหักหลังไทย แต่ฝ่ายไทยไหวทันจึงสวมรอยเข้าโจมตีธิเบตย่อยยับ ตีได้หัวเมืองธิเบต ๑๖ แห่ง ทำให้ธิเบตเข็ดขยาดฝีมือของไทยนับตั้งแต่นั้นมา
ในเวลาต่อมากษัตริย์น่านเจ้าในสมัยหลังอ่อนแอ และไม่มีนิสัยเป็นนักรบ ดังปรากฎในตามบันทึกของฝ่ายจีนว่า ในสมัยที่พระเจ้าฟ้า ขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ. 1420 นั้นได้มีพระราชสาส์นไปถึงอาณาจักรจีน ชวนให้เป็นไมตรีกัน ทางฝ่ายจีนก็ตกลง เพราะยังเกรงในฝีมือ และความเข้มแข็งของไทยอยู่ แต่กระนั้นก็ไม่ละความพยายามที่จะหาโอกาสรุกรานอาณาจักรน่านเจ้า ปรากฎว่าพระเจ้าแผ่นดินจีนได้ส่งราชธิดา หงางฝ่า ให้มาอภิเษกสมรสกับพระเจ้าฟ้า เพื่อหาโอกาสรุกเงียบในเวลาต่อมา โดยได้พยายามผันแปรขนบธรรมเนียมประเพณีในราชสำนัก ให้มีแบบแผนไปทางจีนทีละน้อยๆ ดังนั้นราษฎรน่านเจ้าก็พากันนิยมตาม จนในที่สุด อาณาจักรน่านเจ้าก็มีลักษณะคล้ายกับอาณาจักรจีน แม้ว่าสิ้นสมัยพระเจ้าฟ้า กษัตริย์น่านเจ้าองค์หลังๆ ก็คงปฎิบัติตามรอยเดิม ประชาชนชาวจีนก็เข้ามาปะปนอยู่ด้วยมาก แม้กษัตริย์เองก็มีสายโลหิตจากทางจีนปะปนอยู่ด้วยแทบทุกองค์ จึงก่อให้เกิดความเสื่อม ความอ่อนแอขึ้นภายใน มีการแย่งชิงราชสมบัติกันในบางครั้ง จนในที่สุดเกิดการแตกแยกในอาณาจักรน่านเจ้า ความเสื่อมได้ดำเนินต่อไปตามลำดับ จนถึงปี พ.ศ. 1823 ก็สิ้นสุดลงด้วยการโจมตีของกุบไลข่าน (Kublai Khan) กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรจีน อาณาจักรน่านเจ้าก็ถึงกาลแตกดับลงในครั้งนั้น
ความเจริญของอาณาจักรน่านเจ้า ตามบันทึกของจีนโบราณกล่าวไว้ว่า นอกจากน่านเจ้าจะเป็นอาณาจักรใหญ่ที่มีประชากร หนาแน่นแล้ว ยังมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างสูง ทางด้านการปกครองได้จัดแบ่งออกเป็น 9 กระทรวง คือ กระทรวงว่าการทหาร กระทรวงจัดการสำมะโนครัว กระทรวงราชประเพณี กระทรวงยุติธรรมกระทรวงมหาดไทย กระทรวงโยธา กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงการต่างประเทศ มีเจ้าพนักงานสำหรับสอบคัดเลือกผู้เข้ารับราชการ กองทหารก็จัดเป็น หมู่ หมวด กองร้อย กองพัน มีธงประจำกอง ทหารแต่งกายด้วยเสื้อกางเกงทำด้วยหนังสัตว์ สวมหมวกสีแดงมียอด ถือโล่ห์หนังแรด มีหอก หรือขวานเป็นอาวุธ หากใครมีม้าก็เป็นทหารม้า ทรัพย์สินของรัฐมียุ้งฉางสำหรับเสบียงของหลวง มีโรงม้าหลวง มีการเก็บภาษีอากร มีการแบ่งปันที่นาให้ราษฎรตามส่วน อาชีพทั่วไปของราษฎรคือการเพาะปลูก เมื่อรู้จักปลูกฝ้ายก็มีการทอผ้า นอกจากนั้นก็มีอาชีพขุดทอง
ศาสนา ประจำชาติ ส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน รวมทั้งนับถือศาสนาเดิมที่นับถือบรรพบุรุษ
การศึกษา ชนชาติไทยในสมัยน่านเจ้ามีภาษาใช้ประจำชาติโดยเฉพาะแล้ว แต่เรื่องของตัวหนังสือเรายังไม่สามารถทราบได้ว่ามีใช้หรือยัง
ชนชาติต่างๆ ในแหลมสุวรรณภูมิก่อนที่ไทยจะอพยพมาอยู่
ชนชาติดั้งเดิม และมีความเจริญน้อยที่สุดก็คือ พวก นิโกรอิด (Negroid) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของ พวกเงาะ เช่น เซมัง ซาไก (Sakai) ปัจจุบันชนชาติเหล่านี้มีเหลืออยู่น้อยเต็มที แถวปักษ์ใต้อาจมีเหลืออยู่บ้าง ในเวลาต่อมาชนชาติที่มีอารยธรรมสูงกว่า เช่น ขอม ลาว มอญ ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน
ลาวหรือละว้ามีถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นดินแดนตอนกลางระหว่างขอม และมอญ
ขอม มีถิ่นฐานทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแหลมสุวรรณภูมิ ในบริเวณแม่น้ำโขงตอนใต้ และทะเลสาบเขมร
มอญ มีถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำอิรวดี
ทั้งสามชาตินี้มีความละม้ายคล้ายคลึงกันมาก ตั้งแต่รูปร่าง หน้าตา ภาษา และขนบธรรมเนียมประเพณีสันนิษฐานได้ว่า น่าจะเป็นชนชาติเดียวกันมาแต่เดิม
อาณาจักรละว้า เมื่อประมาณ พ.ศ. 700 ชนชาติละว้าซึ่งเข้าครอบครองถิ่นเจ้าพระยา ได้ตั้งอาณาจักรใหญ่ขึ้นสามอาณาจักรคือ
- อาณาจักรทวาราวดี มีอาณาเขตประมาณตั้งแต่ราชบุรี ถึงพิษณุโลก มีนครปฐมเป็นเมืองหลวง
- อาณาจักรโยนกหรือยาง เป็นอาณาจักรทางเหนือในเขตพื้นที่เชียงราย และเชียงแสน มีเงินยางเป็นเมืองหลวง
- อาณาจักรโคตรบูรณ์ มีอาณาเขตตั้งแต่นครราชสีมาถึงอุดรธานี มีนครพนมเป็นเมืองหลวง
อารยธรรมที่นำมาเผยแพร่ แหลมสุวรรณภูมิได้เป็นศูนย์กลางการค้าของจีน และอินเดียมาเป็นเวลาช้านาน จนกลายเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมผสม ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของบริเวณนี้ เป็นเหตุดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาอาศัย และติดต่อค้าขาย นับตั้งแต่ พ.ศ. 300 เป็นต้นมา ได้มีชาวอินเดียมาอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิเป็นจำนวนมากขึ้นตามลำดับ รวมทั้งพวกที่หนีภัยสงครามทางอินเดียตอนใต้ ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์แห่งแคว้นโกศลได้กรีฑาทัพไปตีแคว้นกลิงคราฎร์ ชาวพื้นเมืองอินเดียตอนใต้ จึงอพยพเข้ามาอยู่ที่พม่า ตลอดถึงพื้นที่ทั่วไปในแหลมมลายู และอินโดจีน อาศัยที่พวกเหล่านี้มีความเจริญอยู่แล้ว จึงได้นำเอาวิชาความรู้และความเจริญต่างๆ มาเผยแพร่ คือ
พระพุทธศาสนา ซึ่งเหมาะสมในทางอบรมจิตใจ ให้ความสว่างกระจ่างในเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ สันนิษฐานว่า พุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่เป็นครั้งแรกโดย พระโสณะ และพระอุตระ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย
ศาสนาพราหมณ์ มีความเหมาะสมในด้านการปกครอง ซึ่งต้องการความศักดิ์สิทธิ์ และเด็ดขาด ศาสนานี้สอนให้เคารพในเทพเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระพรหม และพระนารายณ์
นิติศาสตร์ ได้แก่การปกครอง ได้วางแผนการปกครองหัวเมืองตลอดจนการตั้งมงคลนาม ถวายแก่พระมหากษัตริย์ และตั้งชื่อเมือง
อักษรศาสตร์ พวกอินเดียตอนใต้ได้นำเอาตัวอักษรคฤณฑ์เข้ามาเผยแพร่ ต่อมาภายหลังได้ดัดแปลงเป็นอักษรขอม และอักษรมอญ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทย โดยดัดแปลงจากอักษรขอม เมื่อปี พ.ศ. 1823
ศิลปศาสตร์ ได้แก่ฝีมือในการก่อสร้าง แกะสลัก ก่อพระสถูปเจดีย์ และหล่อพระพุทธรูป
การแผ่อำนาจของขอม และพม่า
ประมาณปี พ.ศ. 601 โกณฑัญญะ ซึ่งเป็นชาวอินเดียได้สมรสกับนางพญาขอม และต่อมาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ครอบครองดินแดนของนางพญาขอม จัดการปกครองบ้านเมืองด้วยความเรียบร้อย ทำนุบำรุงกิจการทหาร ทำให้ขอมเจริญขึ้นตามลำดับ มีอาณาเขตแผ่ขยายออกไปมากขึ้น ในที่สุดก็ได้ยกกำลังไปตีอาณาจักรโคตรบูรณ์ ซึ่งเป็นอาณาจักรที่อยู่ทางเหนือของละว้าไว้ได้ แล้วถือโอกาสเข้าตีอาณาจักรทวาราวดี
ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 1600 กษัตริย์พม่าผู้มีความสามารถองค์หนึ่ง คือ พระเจ้าอโนธรามังช่อ ได้ยกกองทัพมาตีอาณาจักรมอญ เมื่อตีอาณาจักรมอญไว้ในอำนาจได้ แล้วก็ยกทัพล่วงเลยเข้ามาตีอาณาจักรทวาราวดี และมีอำนาจครอบครองตลอดไปทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อำนาจของขอมก็สูญสิ้นไป แต่เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าอโนธรามังช่อ อำนาจของพม่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก็พลอยเสื่อมโทรมดับสูญไปด้วย เพราะกษัตริย์พม่าสมัยหลังเสื่อมความสามารถ และมักแย่งชิงอำนาจซึ่งกัน และกัน เปิดโอกาสให้แว่นแคว้นต่างๆ ที่เคยเป็นเมืองขึ้น ตั้งตัวเป็นอิสระได้อีก ในระหว่างนี้ พวกไทยจากน่านเจ้า ได้อพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิเป็นจำนวนมากขึ้น เมื่อพม่าเสื่อมอำนาจลง คนไทยเหล่านี้ก็เริ่มจัดการปกครองกันเองในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฝ่ายขอมนั้นเมื่อเห็นพม่าทอดทิ้งแดนละว้าเสียแล้ว ก็หวลกลับมาจัดการปกครองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอีกวาระหนึ่ง โดยอ้างสิทธิแห่งการเป็นเจ้าของเดิม อย่างไรก็ตามอำนาจของขอมในเวลานั้นก็ซวดเซลงมากแล้ว แต่เนื่องจากชาวไทยที่อพยพเข้ามาอยู่ยังไม่มีอำนาจเต็มที่ ขอมจึงบังคับให้ชาวไทยส่งส่วยให้ขอม พวกคนไทยที่อยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ ไม่กล้าขัดขืน ยอมส่งส่วยให้แก่ขอมโดยดี จึงทำให้ขอมได้ใจ และเริ่มขยายอำนาจขึ้นไปทางเหนือ ในการนี้เข้าใจว่าบางครั้งอาจต้องใช้กำลังกองทัพเข้าปราบปราม บรรดาเมืองที่ขัดขืนไม่ยอมส่งส่วย ขอมจึงสามารถแผ่อำนาจขึ้นไปจนถึงแคว้นโยนก
ส่วนแคว้นโยนกนั้น ถือตนว่าไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของขอมมาก่อน จึงไม่ยอมส่งส่วยให้ตามที่ขอมบังคับ ขอมจึงใช้กำลังเข้าปราบปรามนครโยนกได้สำเร็จ พระเจ้าพังคราชกษัตริย์ แห่งโยนกลำดับที่ ๔๓ ได้ถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองเวียงสีทอง
แคว้นโยนกเชียงแสน (พ.ศ. 1661- 1731) ดังได้ทราบแล้วว่าโอรสของพระเจ้า พีล่อโก๊ะ องค์หนึ่ง ชื่อพระเจ้าสิงหนวัติ ได้มาสร้างเมืองใหม่ขึ้นทางใต้ ชื่อเมืองโยนกนาคนคร เมืองดังกล่าวนี้อยู่ในเขตละว้า หรือในแคว้นโยนก เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1111 เป็นเมืองที่สง่างามของย่านนั้น ในเวลาต่อมาก็ได้รวบรวมเมืองที่อ่อนน้อมตั้งขึ้นเป็นแคว้น ชื่อโยนกเชียงแสน มีอาณาเขตทางทิศเหนือตลอดสิบสองปันนา ทางใต้จดแคว้นหริภุญชัย มีกษัตริย์สืบเชื้อสายต่อเนื่องกันมา จนถึงสมัยพระเจ้าพังคราชจึงได้เสียทีแก่ขอมดังกล่าวแล้ว
อย่างไรก็ตาม พระเจ้าพังคราชตกอับอยู่ไม่นานนัก ก็กลับเป็นเอกราชอีกครั้งหนึ่ง ด้วยพระปรีชาสามารถของพระโอรสองค์น้อย คือ พระเจ้าพรหม ซึ่งมีอุปนิสัยเป็นนักรบ และมีความกล้าหาญ ได้สร้างสมกำลังผู้คน ฝึกหัดทหารจนชำนิชำนาญ แล้วคิดต่อสู้กับขอม ไม่ยอมส่งส่วยให้ขอม เมื่อขอมยกกองทัพมาปราบปราม ก็ตีกองทัพขอมจนแตกพ่ายกลับไป และยังได้แผ่อาณาเขตเลยเข้ามาในดินแดนขอม ได้ถึงเมืองเชลียง และตลอดถึงล้านนา ล้านช้าง แล้วอัญเชิญพระราชบิดา กลับไปครองโยนกนาคนครเดิม แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองเสียใหม่ว่าชัยบุรี ส่วนพระองค์เองนั้นลงมาสร้างเมืองใหม่ทางใต้ชื่อเมืองชัยปราการ ให้พระเชษฐา คือ เจ้าทุกขิตราช ดำรงตำแหน่งอุปราช นอกจากนั้นก็สร้างเมืองอื่นๆ เช่น เมืองชัยนารายณ์ นครพางคำ ให้เจ้านายองค์อื่นๆ ปกครอง
เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าพังคราช พระเจ้าทุกขิตราช ก็ได้ขึ้นครองเมืองชัยบุรี ส่วนพระเจ้าพรหม และโอรสของพระองค์ก็ได้ครองเมืองชัยปราการต่อมา ในสมัยนั้นขอมกำลังเสื่อมอำนาจ จึงมิได้ยกกำลังมาปราบปราม ฝ่ายไทยนั้น แม้กำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบ แต่ก็คงยังไม่มีกำลังมากพอที่จะแผ่ขยาย อาณาเขตลงมาทางใต้อีกได้ ดังนั้น อาณาเขตของไทย และขอมจึงประชิดกันเฉยอยู่
เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าพรหม กษัตริย์องค์ต่อๆ มาอ่อนแอและหย่อนความสามารถ ซึ่งมิใช่แต่ที่นครชัยปราการเท่านั้น ความเสื่อมได้เป็นไปอย่างทั่วถึงกันยังนครอื่นๆ เช่น ชัยบุรี ชัยนารายณ์ และนครพางคำ ดังนั้นในปี พ.ศ.๑๗๓๑ เมื่อมอญกรีฑาทัพใหญ่มารุกรานอาณาจักรขอมได้ชัยชนะแล้ว ก็ล่วงเลยเข้ามารุกรานอาณาจักรไทยเชียงแสน ขณะนั้นโอรสของพระเจ้าพรหม คือ พระเจ้าชัยศิริ ปกครองเมืองชัยปราการ ไม่สามารถต้านทานศึกมอญได้ จึงจำเป็นต้องเผาเมือง เพื่อมิให้พวกข้าศึกเข้าอาศัย แล้วพากันอพยพลงมาทางใต้ของดินแดนสุวรรณภูมิ จนกระทั่งมาถึงเมืองร้างแห่งหนึ่งในแขวงเมืองกำแพงเพชร ชื่อเมืองแปป ได้อาศัยอยู่ที่เมืองแปปอยู่ห้วงระยะเวลาหนึ่ง เห็นว่าชัยภูมิไม่สู้เหมาะ เพราะอยู่ใกล้ขอม จึงได้อพยพลงมาทางใต้จนถึงเมืองนครปฐมจึงได้พักอาศัยอยู่ ณ ที่นั้น ส่วนกองทัพมอญ หลังจากรุกรานเมืองชัยปราการแล้ว ก็ได้ยกล่วงเลยตลอดไปถึงเมืองอื่นๆ ในแคว้นโยนกเชียงแสน จึงทำให้พระญาติของพระเจ้าชัยศิริ ซึ่งครองเมืองชัยบุรี ต้องอพยพหลบหนีข้าศึกเช่นกัน ปรากฎว่าเมืองชัยบุรีนั้นเกิดน้ำท่วม บรรดาเมืองในแคว้นโยนกต่างก็ถูกทำลายลงหมดแล้ว พวกมอญเห็นว่าหากเข้าไปตั้งอยู่ก็อาจเสียแรง เสียเวลา และทรัพย์สินเงินทองเพื่อที่จะสถาปนาขึ้นมาใหม่ ดังนั้นพวกมอญจึงยกกองทัพกลับ เป็นเหตุให้แว่นแคว้นนี้ว่างเปล่า ขาดผู้ปกครองอยู่ห้วงระยะเวลาหนึ่ง
ในระหว่างที่ฝ่ายไทย กำลังระส่ำระสายอยู่นี้ เป็นโอกาสให้ขอมซึ่งมีราชธานีอุปราชอยู่ที่เมืองละโว้ ถือสิทธิ์เข้าครองแคว้นโยนก แล้วบังคับให้คนไทยที่ตกค้างอยู่นั้นให้ส่งส่วยให้แก่ขอม ความพินาศของแคว้นโยนกครั้งนี้ ทำให้ชาวไทยต้องอพยพแยกย้ายกันลงมาเป็นสองสาย คือ สายของพระเจ้าชัยศิริ อพยพลงมาทางใต้ และได้อาศัยอยู่ชั่วคราวที่เมืองแปปดังกล่าวแล้ว ส่วนสายพวกชัยบุรีได้แยกออกไปทางตะวันออกของสุโขทัย จนมาถึงเมืองนครไทยจึงได้เข้าไปตั้งอยู่ ณ เมืองนั้นด้วยเห็นว่าเป็นเมืองที่มีชัยภูมิเหมาะสม เพราะเป็นเมืองใหญ่ และตั้งอยู่สุดเขตของขอมทางเหนือ ผู้คนในเมืองนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นชาวไทย อย่างไรก็ตามในชั้นแรกที่เข้ามาตั้งอยู่นั้น ก็คงต้องยอมขึ้นอยู่กับขอม ซึ่งขณะนั้นยังมีอำนาจอยู่
ในเวลาต่อมา เมื่อคนไทยอพยพลงมาจากน่านเจ้าเป็นจำนวนมาก ทำให้นครไทยมีกำลังผู้คนมากขึ้น ข้างฝ่ายอาณาจักรลานนา หรือโยนกนั้น เมื่อพระเจ้าชัยศิริทิ้งเมืองลงมาทางใต้ แล้วก็เป็นเหตุให้ดินแดนแถบนั้นว่างผู้ปกครองอยู่ระยะหนึ่ง แต่ในระยะต่อมาชาวไทยที่ค้างการอพยพ อยู่ในเขตนั้นก็ได้รวมตัวกัน ตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นหลายแห่งตั้งเป็นอิสระแก่กัน บรรดาหัวเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นที่นับว่าสำคัญ มีอยู่สามเมืองด้วยกัน คือ นครเงินยาง อยู่ทางเหนือ นครพะเยา อยู่ตอนกลาง และเมืองหริภุญไชย อยู่ลงมาทางใต้ ส่วนเมืองนครไทยนั้นด้วยเหตุที่ว่ามีที่ตั้งอยู่ปลายทางการอพยพ และอาศัยที่มีราชวงศ์เชื้อสายโยนกอพยพมาอยู่ที่เมืองนี้ จึงเป็นที่นิยมของชาวไทยมากกว่าพวกอื่น จึงได้รับยกย่องขึ้นเป็นพ่อเมือง ที่ตั้งของเมืองนครไทยนั้นสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเมืองเดียวกันกับเมืองบางยาง ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ มีเมืองขึ้น และเจ้าเมืองมีฐานะเป็นพ่อขุน
เมื่อบรรดาชาวไทย เกิดความคิดที่จะสลัดแอกของขอมครั้งนี้ บุคคลสำคัญในการนี้ก็คือ พ่อขุนบางกลางท่าว ซึ่งเป็นเจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราดได้ร่วมกำลังกันยกขึ้นไปโจมตีขอม จนได้เมืองสุโขทัยอันเป็นเมืองหน้าด่านของขอมไว้ได้ เมื่อปี พ.ศ. 1800 การมีชัยชนะของฝ่ายไทยในครั้งนั้น นับว่าเป็นนิมิตหมายเบื้องต้น แห่งความเจริญรุ่งเรืองของชนชาติไทย และเป็นลางร้ายแห่งความเสื่อมโทรมของขอม เพราะนับแต่วาระนั้นเป็นต้นมา ขอมก็เสื่อมอำนาจลงทุกที จนในที่สุดก็สิ้นอำนาจไปจากดินแดนละว้า แต่ยังคงมีอำนาจปกครองเหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนใต้อยู่
แหล่งอ้างอิง: http://www.mc41.com/database/thailand.htm