โครงสร้างและส่วนประกอบของโลก
สร้างโดย : นางสาวพรรณนภา กำบัง
สร้างเมื่อ ศุกร์, 12/12/2008 – 13:10
มีผู้อ่าน 167,978 ครั้ง (26/11/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/18901
โครงสร้างและส่วนประกอบของโลก
1. โครงสร้างภายในของโลก
ในทางธรณีวิทยานั้น การจะเรียนรู้เรื่องแร่และหิน จำเป็นต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงองค์ประกอบของโลกในส่วนต่าง ๆ เป็นอย่างดีเสียก่อน ถ้าเราพิจารณาจากภายนอกของโลกถึงด้านใน จะพบว่ามีโครงสร้าง และองค์ประกอบแสดงได้ดังตารางที่ 1.1 ในส่วนของเปลือกโลก เราสามารถศึกษาได้โดยตรงหลายวิธี เช่น การเจาะสำรวจใต้พิภพ การศึกษาจากกระบวนการระเบิดของภูเขาไฟ เป็นต้น
ข้อมูลพื้นฐานที่ได้จากการศึกษาสำรวจโดยตรงนี้ ประการแรกคือ ทำให้ทราบความเปลี่ยนแปลงทางอุณหภูมิตามความลึกของโลก (Geothermal Gradient) ที่มีค่าอยู่ในช่วงประมาณ 20 – 25 องศาเซลเซียส ( °C) ต่อความลึก 100 เมตร หรือประมาณ 20 – 25 °C ต่อ 1 กิโลเมตร และทราบว่าภายใต้ผิวโลกลงไปมีหินหลอมเหลวเกิดขึ้นได้ โดยความรู้จากกระบวนการระเบิดของภูเขาไฟ
ตารางที่ 1.1 โครงสร้างและองค์ประกอบของโลก
ชั้นโครงสร้าง | ส่วนประกอบทางเคมี | สถานะ |
บรรยากาศ (Atmcsphere) | N2 , O2 , H2O , CO2 และ ก๊าซเฉื่อย | ก๊าซ |
ชีวภาพ (Biosphere) | H2O , อินทรียสาร , และ วัสดุโครงสร้างกระดูก | ของแข็งและของเหลว ที่มีสภาพเป็นคอลลอยด์ |
อุทกภาค (Hydrosphers) | น้ำเค็ม น้ำจืด หิมะ และน้ำแข็ง | ของเหลว (บางส่วนเป็นของแข็ง) |
ธรณีภาค (Lithosphere) – เปลือกโลก – เนื้อโลกส่วนบนสุด | แร่ซิลิเกตทั่วไป | ของแข็ง |
ฐานธรณีภาค (Asthenosphere) – เนื้อโลก (mantle) | แร่ซิลิเกต ประเภท โอลิวีน และไพรอกซีน หรือในรูปโครงสร้างอื่นๆที่ความดันสูง | ของแข็ง |
– แก่นโลก (core) | โลหะผสมเหล็ก – นิกเกิล | แก่นโลกชั้นนอกเป็นของเหลวแก่นโลกชั้นในเป็นของแข็ง |
อาศัยเทคโนโลยีการขุดเจาะในปัจจุบัน ที่สามารถเจาะสำรวจได้ลึกสุดในช่วงไม่เกิน 10 กิโลเมตร จากผิวโลก พบว่าองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นหินอัคนี และหินแปร โดยมีหินชั้นประกอบอยู่น้อยมาก สามารถจำแนกตามประเภทและชนิดของหินโดยประมาณ พบเป็นหินอัคนี 95% หินดินดาน 4% หินทราย 0.75% หินปูน 0.25% โดยรวมหินแปรไว้ในหินต้นกำเนิดเหล่านี้แล้ว
ความรู้เหล่านี้ศึกษาได้โดยตรงและเห็นได้จริงบนส่วนเปลือกแข็งของโลก ตามความลึกที่สามารถกระทำได้ แต่ที่ระดับความลึกมากกว่านี้จะเป็นอย่างไรนั้น เราไม่สามารถศึกษาโดยวิธีตรงได้ จึงจำเป็นต้องหาข้อมูลโดยวิธีการศึกษาทางอ้อมได้แก่วิธีทางธรณีฟิสิกส์ ซึ่งอาศัยคลื่นไหวสะเทือน (Seismic Waves) ที่สร้างขึ้น หรือคลื่นที่เกิดจากแผ่นดินไหว (Earthquakes) ที่เกิดตามธรรมชาติตลอดจนวิธีศึกษาหาความรู้จากวัตถุที่มาจากนอกโลกเช่น อุกกาบาต (Meteorites) เป็นต้น
ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาทางด้านธรณีฟิสิกส์เหล่านี้ สามารถนำมาสร้างแบบจำลองทางทฤษฎี แสดงการกระจายลักษณะความเร็วคลื่นตามความลึก ดังภาพที่ 1.4 ซึ่งเดิมที นายบูลเลน (Bullen, 1949) ได้แบ่งชั้นโครงสร้างภายในของโลกตามการเปลี่ยนแปลงความเร็วคลื่น โดยกำหนดอักษรแทนแต่ละชั้นต่างๆ ดังกล่าวเป็นชั้น A B C D E F และ G จากผิวโลกถึงแก่นโลกตามลำดับ แต่ปัจจุบันนิยมใช้คำสื่อความหมายแทน เป็นชั้นเปลือกโลก (Crust) ชั้นเนื้อโลก (Mantle) ชั้นแก่นโลก (Core) เป็นต้น จากแบบจำลองภาพตัดขวางความเร็วตามความลึกดังกล่าว พบว่าที่ความลึก 100 กิโลเมตร ความเร็วคลื่นลดลง
กำหนดชั้นโครงสร้างภายในของโลก (ปรับแปลงจาก Tarbuck and Lutgens, 1993) อย่างเด่นชัด จัดเป็นชั้นผิวขอบบนของชั้นที่มีความเร็วคลื่นไหวสะเทือนต่ำ (Low Velocity Zone) โดยในชั้นเนื้อโลกส่วนบนนี้ยังพบความเบี่ยงเบนความเร็วคลื่นชัดเจนได้อีกที่ระดับ 400 และ 650 หรือ 700 กิโลเมตร ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลจากความแปรเปลี่ยนโครงสร้างของแร่ หรือองค์ประกอบทางเคมี มีความแตกต่างกันอย่างใดอย่างหนึ่ง คลื่นปฐมภูมิ และคลื่นทุติยภูมิมีความเร็วลดลงชัดเจนมากสุดที่ระดับ 2,885 กิโลเมตร (~ 2,900 กิโลเมตร) เป็นผิวสะท้อน/หักเหคลื่นที่ใช้กำหนดชั้นรอยต่อระหว่างแก่นโลกกับเนื้อโลก และพบว่าคลื่นทุติยภูมิไม่สามารถส่งผ่านตัวกลางที่มีสถานะของเหลวของชั้นแก่นโลกชั้นนอกโดยคลื่นปฐมภูมิมีความเร็วลดลง จนกระทั่งเคลื่อนที่เข้าสู่แก่นโลกชั้นใน ความเร็วคลื่นปฐมภูมิจึงเพิ่มขึ้นอีกครั้ง (ภาพที่ 1.4) สามารถสรุปลักษณะของแต่ละชั้นภายในโลกได้ดังนี้
- เปลือกโลก (Crust) นับจากผิวโลกถึงระดับเฉลี่ย 30 – 50 กิโลเมตร บริเวณเปลือกทวีป หรือถึงระดับ 10 – 12 กิโลเมตร ในบริเวณเปลือกrnhoสมุทร มีผิวสัมผัสกั้นความไม่ต่อเนื่องระหว่างชั้นเปลือกโลกกับชั้นเนื้อโลกที่อยู่ข้างล่างเป็นชั้นความไม่ต่อเนื่องที่เรียกว่า “ชั้นความไม่ต่อเนื่องโมโฮโรวิซิก” (Mohorovicic Discontinuity) หรือเรียกโดยย่อว่า ชั้น โมโฮ อยู่ที่ระดับความลึกดังกล่าวข้างต้น โดยเปลี่ยนแปลงไปตามความลึกของเปลือกโลกดังกล่าว
- ชั้นเนื้อโลกส่วนบน (Upper Mantle) อยู่ใต้ชั้นเปลือกโลกลงไปถึงระดับ 400 กิโลเมตร พบว่ามีความแปรปรวนทางความเร็วคลื่นไหวสะเทือนอย่างมาก แสดงความไม่เป็นเนื้อเดียวกันอย่างกว้างขวาง (Regional Heterogeneous) ทั้งทางดิ่งและทางราบ พบบริเวณที่ความเร็วคลื่นไหวสะเทือนต่ำ บางช่วงภายในชั้นนี้ ที่ระดับความลึกในช่วง 100 – 250 กิโลเมตร จากผิวโลก
- ชั้นทรานซิชัน (Transition Zone) อยู่ระหว่างความลึก 400 – 1000 กิโลเมตร สังเกตได้จากกราฟความเร็วที่มีความชันเพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงว่ามีความเร็วสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันพบว่าบริเวณที่มีความเร็วคลื่นสูงสุดชัดเจนที่ระดับความลึก 400 และ 650 กิโลเมตร
- ชั้นเนื้อโลกส่วนล่าง (Lower Mantle) นับจากระดับลึก 1,000 กิโลเมตร ถึง ระดับ 2,900 กิโลเมตร จดจำสังเกตได้จาก ชั้นนี้มีความเร็วคลื่นปานกลาง กราฟความเร็วคลื่นจึงเอียงพอประมาณ และเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แสดงลักษณะเทียบเคียงแล้วค่อนข้างเป็นเนื้อหนึ่งเดียวกัน (Uniform) ยกเว้นที่ระดับ 2,700 และ 2,900 กิโลเมตร อาจพบว่าความเร็วคลื่นลดลงเล็กน้อย บางครั้งเพื่อความสะดวก อาจนับรวมชั้นนี้และชั้นทรานซิชันเข้าด้วยกัน เรียกเป็น “เนื้อโลกระดับลึก” (Deep Mantle) นั่นเอง ชั้นนี้ถูกกั้นออกจากแก่นโลกด้วยผิวสัมผัสกั้นความไม่ต่อเนื่องที่เรียกว่า “ชั้นความไม่ต่อเนื่องกูเท็นเบิร์ก” (Gutenberg Discontinuity)
- ชั้นแก่นโลก (Core) นับจากระดับ 2,900 กิโลเมตร ลงไปเป็นช่วงที่ปรากฏชั้นความไม่ต่อเนื่องของความเร็วคลื่นไหวสะเทือนเด่นชัดมาก ซึ่งที่ระดับ 2,900 กิโลเมตร นี้ คลื่นปฐมภูมิลดความเร็วลงอย่างฉับพลัน แล้วกลับเพิ่มขึ้นใหม่อีกครั้งขณะที่คลื่นทุติยภูมินั้นหายไป แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ “แก่นโลกส่วนนอก” (Outer Core) และ “แก่นโลกส่วนใน” (Inner Core) โดยแยกกันได้ด้วยรอยไม่ต่อเนื่อง “เลอห์มานน์” (Lehmann Discontinuity) และเนื่องจากคลื่นทุติยภูมิไม่สามารถเดินทางผ่านวัตถุที่เป็นของเหลวได้ การที่ไม่ปรากฏคลื่นทุติยภูมิหลังระดับ 2,900 กิโลเมตร นั้น ทำให้เชื่อได้ว่าแก่นโลกส่วนนอกดังกล่าวควรมีสภาพเป็นของเหลว (Liquid Outer Core) นั่นเอง
1.2 ส่วนประกอบทางเคมีของโลก (Chemical Composition)
โดยการประเมินทางอ้อม จากวิธีทางธรณีฟิสิกส์ ทำให้เราทราบโครงสร้างภายในของโลก และค่าความแปรปรวนทางความดันอุณหภูมิ และความหนาแน่นแล้วนั้น ปัญหาเรื่ององค์ประกอบทางเคมีของแต่ละชั้นใต้เปลือกโลกลงไปเป็นอย่างไร ยังคงต้องหาคำตอบกันต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่ได้ข้อมูลจากวิธีการศึกษาทางอ้อมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาโดยทางอ้อมจากวัตถุที่มาจากนอกโลก (Extraterrestial ; E.T.) ได้แก่การประเมินเทียบเคียงจากอุกกาบาต (Meteorites) เป็นต้น
ผลการคำนวณองค์ประกอบทางเคมีรวมของโลก (Bulk Composition) แสดงได้ดังตารางที่ 1.2 ซึ่งจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบรวมของโลกนั้น มีธาตุหลัก ๆ อยู่ 4 ตัว เท่านั้น คือ ธาตุเหล็ก ออกซิเจน ซิลิกอน และแมกนีเซียม ซึ่งมีปริมาณรวมกันแล้วมากถึง 90% ของทั้งหมดโดยประมาณ ส่วนธาตุที่มีปริมาณเกิน 1% ได้แก่ นิกเกิล แคลเซียม อลูมิเนียม และกำมะถัน (ซัลเฟอร์) ที่เหลือมีปริมาณอยู่ระหว่าง 0.1 – 1.0% มีทั้งหมด 7 ธาตุ คือ โซเดียม โพแทสเซียม โครเมียม โคบอลต์ ฟอสฟอรัส แมงกานีส และไทเทเนียม
ตารางที่ 1.2 ผลการคำนวณส่วนประกอบมวลรวมของโลก(จาก Ganapathy and Anders, 1974)
ธาตุ | โลหะ | ทรอยไลต์ | ซิลิเกต | รวม |
เหล็ก | 24.58 | 3.37 | 6.68 | 34.63 |
นิกเกิล | 2.39 | 2.39 | ||
โคบอลต์ | 0.13 | 0.13 | ||
ซัลเฟอร์ | 1.93 | 1.93 | ||
ออกซิเจน | 29.53 | 29.53 | ||
ซิลิกอน | 15.20 | 15.20 | ||
แมกนีเซียม | 12.70 | 12.70 | ||
แคลเซียม | 1.13 | 1.13 | ||
อะลูมิเนียม | 1.09 | 1.09 | ||
โซเดียม | 0.57 | 0.57 | ||
โครเมียม | 0.26 | 0.26 | ||
แมงกานีส | 0.22 | 0.22 | ||
ฟอสฟอรัส | 0.10 | 0.10 | ||
โพแทสเซียม | 0.07 | 0.07 | ||
ไทเทเนียม | 0.05 | 0.05 | ||
รวม | 27.10 | 5.30 | 67.60 | 100.00 |
จึงเห็นได้ว่าโลกของเราประกอบขึ้นด้วยธาตุ 14 – 15 ธาตุ หลักเท่านั้น ที่เหลือเป็นธาตุที่มีปริมาณน้อยมาก คือต่ำกว่า 0.1% ทั้งหมดนี้ เป็นองค์ประกอบของชั้นเนื้อโลกกับชั้นแก่นโลกถึง 99% เนื่องจากมวลของเปลือกโลกน้อยมาก เมื่อเทียบกับเนื้อโลกและแก่นโลกรวมกัน (ตารางที่ 1.3)
องค์ประกอบรวมเหล่านี้ สามารถคำนวณแยก เป็นส่วนๆ ตามโครงสร้างของโลกได้เป็นองค์ประกอบชั้นเนื้อโลก (ตารางที่ 1.4) องค์ประกอบเปลือกโลก (ตารางที่ 1.5) ส่วนแก่นโลกนั้นหาได้โดยเอาองค์ประกอบของเปลือกโลกและเนื้อโลก หักลบออกจากองค์ประกอบรวมนั้นเอง ซึ่งสรุปองค์ประกอบส่วนต่าง ๆ ของโลกได้ดังนี้
1.2.1 องค์ประกอบของแก่นโลก
แนวคิดที่ว่าแก่นโลกเป็นโลหะผสมระหว่าง นิกเกิลกับเหล็ก (Ni – Fe Metallic Alloy) นั้นยังคงเป็นที่ยอมรับกันถึงปัจจุบัน แต่คงไม่ใช่นิกเกิลกับเหล็กบริสุทธิ์ล้วนๆ เนื่องจากแก่นโลก ชั้นนอกมีธรรมชาติเหมือนจะเป็นของไหล (Fluid) เนื่องจากคลื่นทุติยภูมิไม่สามารถเดินทางผ่านได้ ถ้าเป็นนิกเกิลและเหล็กล้วน ๆ ทั้งหมดความหนาแน่นรวมของโลกจะมีค่าสูงมากเกินไป ดังนั้นจึงควรจะมีธาตุเบากว่านี้มาประกอบกันอยู่บ้าง โดยธาตุที่น่าเป็นไปได้มีอยู่ 2 ตัว คือ กำมะถันกับออกซิเจน ซึ่งบางกลุ่มก็เชื่อว่าน่าจะเป็นออกซิเจนมากกว่ากำมะถัน แต่ปัจจุบันเราพบมลทินของกำมะถันในอุกกาบาตได้บ่อยกว่าออกซิเจน โดยพบในอุกกาบาตชนิด ซี – 1 คอนไดรต์ (C1 Chondrite Meteorite) เป็นปริมาณถึงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก ซึ่งปริมาณ 10 เปอร์เซ็นต์กำมะถันดังกล่าวนี้ ถ้ารวมกันกับโลหะผสมนิกเกิล เหล็ก แล้วจะทำให้ค่าความหนาแน่นของแก่นโลก และความหนาแน่นรวมถูกต้องใกล้เคียงพอดี
1.2.2 องค์ประกอบของเนื้อโลก
จากแนวคิดที่ว่าส่วนของแก่นโลกเป็นโลหะผสมนั้น องค์ประกอบของชั้นเนื้อโลก (ตารางที่ 1.4) จึงเชื่อว่า น่าจะต้องเบากว่า จึงควรประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบซิลิเกต (Silicate Composition) เป็นหลัก
จากผลการวิเคราะห์ทางคลื่นไหวสะเทือน เราทราบว่าชั้นเนื้อโลกส่วนบนค่อนข้างจะมีความแปรปรวนทางองค์ประกอบอย่างมาก ไม่เป็นเนื้อหนึ่งเดียวกัน ดังนั้นองค์ประกอบซิลิเกตดังกล่าวของชั้นเนื้อโลกเป็นอย่างไรกันแน่ ต้องอาศัยหลักฐานจากหลาย ๆ ทางเข้ามาอธิบาย
ในธรรมชาติเราพบวัสดุที่เชื่อว่ามีกำเนิดมาจากส่วนลึกใต้เปลือกโลกหลายอย่างเช่น โนดูล์ (Nodules) ของหินอื่น ๆ ในสายแร่คิมเบอร์ไลต์ (Kimberlite pipe) หรือพบหินแปลกปลอม (Xenolith) ในหินบะซอลต์ (Basalt) เป็นต้น หินแปลกปลอมเหล่านี้ มักเป็นหินอัคนีสีเข้มจัด (Ultrabasic rocks) ได้แก่ เพริโดไทต์ (Peridotite) เลอร์โซไลต์ (Lherzolite) ไพรอกซีไนต์ (Pyroxenite) และเอโคลไจต์ (Eclogite) เป็นต้น วัสดุปลอมปนหรือหินเหล่านี้มักประกอบไปด้วยแร่โอลิวีน (Olivine) ไพรอกซีน (Pyroxene) การ์เนต (Garnet) และอาจจะมีแร่นิล (Spinel) แร่แอมฟิโบล (Amphiboles) ประกอบอยู่บางส่วน
ที่สำคัญก็คือแร่ประกอบหินแปลกปลอมเหล่านี้พบว่ามีเสถียรภาพภายใต้อุณหภูมิ ความดัน สูงถึง 1,300 องศาเซลเซียส ที่ความดัน 41 กิโลบาร์ (Kbars) หรือประมาณที่ความลึก 135 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในช่วงของชั้นเนื้อโลกส่วนบนที่ช่วงโซนคลื่นความเร็วต่ำพอดี และแร่เหล่านี้ยังพบว่ามีค่าความหนาแน่นลงตัวเหมาะเจาะกับผลทางธรณีฟิสิกส์ที่กล่าวมาแล้ว คือมีค่าประมาณ 3.33 ถึง 3.40 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการก็คือ ที่ระดับลึก 100 – 150 กิโลเมตร นั้น เราพบช่วงความเร็วต่ำของคลื่นไหวสะเทือน ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการหลอมตัวบางส่วน (Partially Melting) ประมาณ 1 เปอร์เซนต์ จากวัสดุที่มีองค์ประกอบซิลิเกตเข้มข้นกลายเป็นหินหนืด เมื่อรวมตัวกันมากขึ้น อาจจะยกตัวแทรกตัด ชั้นหินเปลือกโลกขึ้นมาเป็นลาวาของหินบะซอลต์ วัสดุที่หลอมตัวไม่หมดหรือหลอมไม่ได้อาจถูกอุ้มขึ้น มาด้วย
ตารางที่ 1.4 ผลคำนวณร้อยละขององค์ประกอบชั้นเนื้อโลก
สารประกอบออกไซด์ | จากอุกกาบาต (Mason,1966) | จากอุกกาบาต (Ring wood, 1966) | แบบจำลอง ไพโรไลต์ (Ring wood, 1966) | จากหินเลอร์โซไลต์ (Hutchison,1974) |
Sio2 | 48.1 | 43.2 | 45.2 | 45.0 |
MgO | 31.1 | 38.1 | 37.5 | 39.0 |
FeO | 12.7 | 9.2 | 8.0c | 8.0 |
Al2O3 | 3.1 | 3.9 | 3.5 | 3.5 |
Ca O | 2.3 | 3.7 | 3.1 | 3.25 |
Na2O | 1.1 | 1.8 | 0.57 | 0.28 |
Cr2O3 | 0.55 | – | 0.43 | 0.41 |
MnO | 0.42 | – | .14 | 0.11 |
P2O5 | 0.34 | – | 0.06 | – |
K2O | 0.12 | – | 0.13 | 0.04 |
TiO2 | 0.12 | – | 0.17 | 0.09 |
NiO | – | – | – | 0.25 |
ส่วนที่ระดับลึก 400 – 900 ถึง 1,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นช่วงชั้นทรานซิชัน พบว่าเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง (Transform Structure Zone) ของออร์โธรอมบิก โอลิวีน ไปเป็นโครงสร้างแบบกลุ่มแร่นิล ชั้นเนื้อโลกส่วนล่าง ระดับต่อจากทรานซิชันไปถึงระดับ 2,900 กิโลเมตร พบว่าองค์ประกอบค่อนข้างเป็นเนื้อหนึ่งเดียวกัน ซึ่งประกอบด้วยธาตุเหล็กในปริมาณที่มากขึ้นกว่าชั้นเนื้อโลกส่วนบน และเป็นของผสมระหว่างแร่ที่มีองค์ประกอบเป็นเหล็ก – แมกนีเซียมซิลิเกต (Mg – Fe) SiO3 กับเหล็ก – แมกนีเซียมออกไซด์ (Mg – Fe)O และยังคงพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของแร่ ตามความลึกเช่นเดียวกับชั้นทรานซิชั่น
1.2.3 องค์ประกอบของเปลือกโลก
เปลือกโลกเป็นส่วนเดียวที่เราศึกษาได้จากวิธีตรง ซึ่งผลการวิเคราะห์หินทั่วโลกพบว่ามีองค์ประกอบทางเคมีของส่วนเปลือกทวีปกับเปลือกสมุทร (ตารางที่ 1.5) เป็นหินซิลิเกตทั่วไป (Normal Silicate Rocks) โดยส่วนเปลือกทวีปมีองค์ประกอบซิลิเกตที่มากด้วยซิลิกอน (Si) กับอลูมิเนียม (Al) ซึ่งเป็นองค์ประกอบแบบหินแกรนิต จึงเรียกเปลือกทวีปนี้ว่า “ไซอัล” (SIAL) หรือ “เปลือกโลกส่วนที่มีองค์ประกอบแบบหินแกรนิต” นั่นเอง
ตารางที่ 1.5 ผลคำนวณร้อยละขององค์ประกอบของชั้นเปลือกโลก
สาร ประกอบออกไซด์ | องค์ ประกอบรวม (Clark and Washington, 1924) | เปลือกสมุทร ** | เปลือกทวีป ** | รวม * | เปลือกสมุทร *** | เปลือกทวีป *** | รวม * | เปลือกทวีป (Taylor 1964) | เปลือกทวีป (Goldschmidt, 1954) |
SiO2 | 59.1 | 46.6 | 59.4 | 55.2 | 49.4 | 59.3 | 57.1 | 60.3 | 59.2 |
TiO2 | 1.0 | 2.9 | 1.2 | 1.6 | 1.4 | 0.7 | 0.9 | 1.0 | 0.8 |
Al2O3 | 15.2 | 15.0 | 15.6 | 15.3 | 15.4 | 15.0 | 15.0 | 15.6 | 15.8 |
Fe2O3 | 3.1 | 3.8 | 2.3 | 2.8 | 2.7 | 2.4 | 2.5 | – | 3.4 |
FeO | 3.7 | 8.0 | 5.0 | 5.8 | 7.6 | 5.6 | 6.0 | 7.2 (เหล็กรวม) | 3.6 |
MnO | 0.1 | 0.2 | 0.1 | 0.2 | 0.3 | 0.1 | 0.2 | 0.1 | 0.1 |
MgO | 3.4 | 7.8 | 4.2 | 5.2 | 7.6 | 4.9 | 5.5 | 3.9 | 3.3 |
CaO | 5.1 | 11.9 | 6.6 | 8.8 | 12.5 | 7.2 | 8.4 | 5.8 | 3.1 |
Na2O | 3.7 | 2.5 | 3.1 | 2.9 | 2.6 | 2.5 | 2.5 | 3.2 | 2.1 |
K2O | 3.1 | 1.0 | 2.3 | 1.9 | 0.3 | 2.1 | 1.7 | 2.5 | 3.4 |
H2O | 1.3 | – | – | – | – | – | – | – | 3.0 |
P2O5 | 0.3 | 0.3 | 0.2 | 0.3 | 0.2 | 0.2 | 0.2 | 0.2 | 0.2 |
* องค์ประกอบทั้งเปลือกโลก (Entire Crust)
** (Poldervaart , 1955)
*** (Ronov and Yaroshevskly , 1976)
จากหินเลอร์โซไลต์ (Hutchison,1974)ส่วนเปลือกสมุทรมีองค์ประกอบซิลิเกตของพวกเหล็กแมกนีเซียม (Mg) กับอลูมิเนียมและซิลิกอน จึงเรียกเปลือกสมุทรว่า “ไซมา” (SIMA) ชั้นเปลือกสมุทรนี้แผ่ตัวต่อเนื่องไปจนถึงชั้นรองรับเปลือกทวีป ซึ่งเดิมทีมักเชื่อกันว่ามีองค์ประกอบอย่างหินบะซอลต์ จึงเรียกว่า “เปลือกโลกมีองค์ประกอบอย่างหินบะซอลต์” (Basaltic Crust) มีความถ่วงจำเพาะ 3.0 แต่ปัจจุบันส่วนที่รองรับเปลือกทวีปนี้เชื่อว่าน่าจะมีองค์ประกอบคล้ายหินเพริโดไทต์ (Peridotitic Composition) ซึ่งมี ความถ่วงจำเพาะ 3.3
จึงสรุปโครงสร้างภายในของโลกได้ดังภาพที่ 1.6 และภาพที่ 1.7 ซึ่งสามารถจำแนกตามคุณสมบัติทางวัสดุได้กว้างๆ 2 ส่วนคือ
- ชั้นธรณีภาค (Lithosphere) คือส่วนที่มีคุณสมบัติเป็นของแข็งมีความแกร่ง (rigid solid) นับรวมเอาส่วนเปลือกโลกถึงบางส่วนของชั้นเนื้อโลกส่วนบน ในระดับจากผิวโลกถึงลึกไม่เกิน 100 กิโลเมตร
- ชั้นฐานธรณีภาค (Asthenosphere) นับจากระดับประมาณ 100 กิโลเมตร ต่อจากชั้นธรณีภาคลงไป มีสมบัติพลาสติกมากขึ้น พร้อมที่จะไหลได้องค์ประกอบหลักของโลก ทั้งสองส่วนนี้ มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการเคลื่อนที่ของมวลเปลือกโลกขนาดใหญ่