อิเหนาตอนศึกกะหมังกุหนิง

สร้างโดย : นางสาวศรีสวาสดิ์ บุนนาคและนางสาววิมลลักษณ์ ทองพยงค์
สร้างเมื่อ อังคาร, 02/11/2010 – 14:23
มีผู้อ่าน 121,090 ครั้ง (25/11/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/82147

อิเหนาตอนศึกกะหมังกุหนิง

            เนื้อหาเรื่องอิเหนา ตอนศึกกระหมังกุหนิงเป็นบทเรียนหนึ่งในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เหมาะสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือผู้สนใจที่อยากศึกษาเกี่ยวกับเรื่องอิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง มีทั้งประวัติ เรื่องย่อ บทละครย่อ ตัวละครที่สำคัญในตอนนี้และคุณค่าทางวรรณคดี

            ถ้ามีสิ่งผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย เชิญชมและติชมได้ค่ะ

ประวัติเรื่องอิเหนา

            เรื่องอิเหนามีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี   มีเรื่องเล่ากันว่าพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศหรือเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลและเจ้าฟ้าหญิงมงกุฎ   ทรงได้นางข้าหลวงมาจากปัตตานี   นางข้าหลวงคนนี้ได้เล่านิทานปันหยีหรือเรื่องอิเหนาของชวาถวายเจ้าหญิง   และต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์   พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนาเป็นบทละครสำหรับใช้แสดงเป็นบทละครรำ ในตอนท้ายของบทพระราชนิพนธ์ได้อ้างอิงเรื่องอิเหนาในสมัยอยุธยาว่า

อันอิเหนาเอามาทำเป็นคำร้อง
 สำหรับงานการฉลองกองกุศล
ครั้งกรุงเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์ 

แต่เรื่องต้นตกหายพลัดพรายไป

พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา

เรื่องย่อ

 แหล่งที่มาภาพ http://writer.dek-d.com/dek-d/writer/viewlongc.php?id=558214&chapter=2.jpg 

       มีกษัตริย์วงศ์เทวัญ 4 องค์ คือ ท้าวกุเรปัน   ท้าวดาหา   ท้าวกาหลังและท้าวสิงหัดส่าหรี   ท้าวกุเรปันมีโอรสซึ่งเก่งกล้าสามารถยิ่งชื่อ อิเหนา   และท้าวดาหามีธิดาซึ่งงามยิ่งนักชื่อ นางบุษบา   กษัตริย์ทั้งสองนครให้โอรสและธิดาตุนาหงัน (หมั้น) กันไว้ตั้งแต่วัยเยาว์ตามประเพณีของกษัตริย์วงศ์เทเทวัญ
       เมื่ออิเหนาอายุได้ 15 ปี อิเหนาต้องไปช่วยปลงศพพระอัยกีที่เมืองหมันหยา ได้พบกับนางจินตะหราธิดาของท้าวหมันหยาก็เกิดหลงรัก
และไม่ยอมกลับเมืองกุเรปันเพื่ออภิเษกกับนางบุษบา   ท้าวกุเรปันจึงมีจดหมายไปเรียกตัวอิเหนากลับ แล้วนัดท้าวดาหาให้เตรียมการวิวาห์   เมื่ออิเหนาทราบเรื่องจึงออกป่าพร้อมบริวารและปลอมตัวเป็นโจรป่าชื่อ มิสาระปันหยี   เพื่อไปเมืองหมันหยา   ระหว่างทางได้สู้กับกษัตริย์หลายเมืองและได้ชัยชนะมา จึงได้โอรสธิดามาเป็นเชลย คือ  นางสการะวาตีและนางมาหยารัศมี ซึ่งอิเหนาได้รับมาเป็นชายา และได้สังคามาระตามาเลี้ยงแบบอนุชา   เมื่อไปถึงเหมืองหมันหยา อิเหนาได้นางจินตะหราเป็นชายา  เมื่อท้าวดาหาทราบเรื่องจึงโกรธเป็นอย่างมาก ประกาศว่าถ้าใครมาขอนางบุษบาก็จะยกให้       
       กล่าวถึงระตูจรกาซึ่งปราถนามีคู่ จึงให้ช่างไปวาดรูปธิดาเมืองต่างๆ ช่างได้วาดรูปนางบุษบา ๒ รูป ปะตาระกาหลาซึ่งเป็นองค์เทวอัยกาต้องการจะสั่งสอนอิเหนาจึงลักรูปนางบุษบาไปจากช่างวาดรูปหนึ่ง เหลือไว้รูปหนึ่ง เมื่อจรกาเห็นรูปนางบุษบาก็หลงรักจึงอ้อนวอนพี่ชายให้มาสู่ขอนางไปอภิเษก ท้าวดาหายอมยกนางบุษบาให้จรกา เมื่อทรงทราบว่าอิเหนาได้ตัดรอนการอภิเษกสมรส ฝ่ายองค์ปะตาระกาหลาได้นำรูปนางบุษบาที่ลักจากช่างวาดนั้นไปทิ้งไว้ที่โคนต้นไทร วิหยาสะกำตามกวางแปลงมาพบรูปนางก็คลั่งไคล้ใหลหลง วอนท้าวกะหมังกุหนิงซึ่งเป็นพระราชบิดาให้ส่งฑูตไปขอนางบุษบา แต่ท้าวดาหาปฏิเสธเพระาได้ยกนางให้จรกาแล้ว ท้าวกะหมังกุหนิงสงสารลูกจึงยกทัพไปตีเมืองดาหาเพื่อชิงตัวนางบุษบา ท้าวกุเรปันเรียกตัวอิเหนาจากเมืองหมันหยามาช่วยท้าวดาหาทำศึกกับท้าวกะหมังกุหนิง อิเหนามีชัยในสงครามครั้งนี้ สังคามาระตาสังหารวิหยาสะกำ ส่วนอิเหนาสังหารท้าวกะหมังกุหนิง เมื่อเสร็จศึก อิเหนาเข้าเฝ้าท้าวดาหา และได้พบนางบุษบาก็หลงรักนางทันที อิเหนาเสียดายที่นางจะต้องอภิเษกกับจรกา จึงหาทางขัดขวางพิธีอภิเษกโดยลักตัวบุษบาไปซ่อนไว้ในถ้ำ ปะตาระกาหลากริ้วที่อิเหนาทำไม่ถูก จึงบันดาลให้เกิดลมหอบพรากนางบุษบาไปจากอิเหนา อิเหนาและนางบุษบาต่างก็ต้องผจญเหตุการณ์ต่างๆอยู่เป็นเวลาหลายปี จึงได้พบกัน

บทละครย่อ

 แหล่งที่มาภาพ http://www.chanpradit.ac.th/~narissara/afbb555.jpg

       เมื่อท้าวกะหมังกุหนิงคิดจะทำสงครามกับกรุงดาหาเพื่อชิงนางบุษบาให้วิหยาสะกำโอรสของพระองค์ ท้าวกะหมังกุหนิงหารือกับระตูปาหยังและท้าวปะหมันผู้เป็นอนุชา อนุชาทั้งสองทัดทานว่าดาหาเป็นเมืองใหญ่ของกษัตริย์วงศ์อสัญแดหวาผู้มีฝีมือเลื่องลือในการสงคราม ส่วนกะหมังกุหนิงเป็นเมืองเล็กๆ คงจะสู้ศึกไม่ได้ แต่ท้าวกะหมังกุหนิงก็ไม่ฟังคำทัดทานเพราะรักลูกมากจนไม่อาจทนเห็นลูกทุกข์ทรมานได้ แม้จะรู้ว่าอาจสู้ศึกไม่ได้ แต่ก็ตัดสินใจทำสงคราม

       เมื่อสงทูตไปทูตไปทูลขอนางบุษบา แต่ได้รับการปฏิเสธจากท้าวดาหา ท้าวกะหมังกุหนิงก็เตรียมจัดทัพยกไปตีเมืองดาหาโดยให้วิหยาสะกำเป็นทัพหน้า พระอนุชาทั้งสองเป็นทัพหลัง ส่วนพระองค์เป็นจอมทัพ ก่อนที่จะยกทัพไปนั้น โหรทำนายว่าดวงชะตาของท้าวกะหมังกุหนิงและวิหยาสะกำนั้นถึงฆาต ถ้ายกทัพไปในวันรุ่งขี้นจะพ่ายแพ้แก่ศัตรู ควรงดเว้นจากการทำศึกไปก่อน 7 วันจึงจะพ้นเคราะห์ แต่ท้าวกะหมังกุหนิงก็ไม่เปลี่ยนพระทัย เพราะเกรงจะถูกครหาว่ากลัวข้าศึกศัตรู ทำให้เป็นที่อับอายแก่ไพร่ฟ้าทั้งหลายได้

       ฝ่ายท้าวดาหาขอความช่วยเหลือไปยังท้าวกุเรปัน ท้าวกาหลังและท้าวสิงหัดส่าหรี ท้าวสิงหัดส่าหรีส่งสุหรานากงผู้เป็นโอรสไปช่วยรบ และท้าวกาหลังให้ตำมะหงงกับดะหมังคุมพลจากเมืองกาหลังมาสมทบกับทัพสุหรานากง ส่วนท้าวกุเรปันส่งราชสารฉบับหนึ่งสั่งให้อิเหนายกทัพไปช่วยท้าวดาหาทำศึก อีกฉบับหนึ่งส่งไปให้ระตูหมันหยาโดยตำหนินางจินตะหราว่าเป็นต้นเหตุให้อิเหนาตัดรอนนางบุษบา ระตูหมันหยารู้สึกผิดจึงเร่งให้อิเหนายกทัพไปเมืองดาหา 

       ในการสู้รบ สังคามาระตาทูลอิเหนาว่าขอเป็นคู่ต่อสู้กับวิหยาสะกำ อิเหนาเห็นว่าเพลงกระบี่ของสังคามาระตายังไม่ชำนายจึงให้สู้ด้วยเพลงทวน สังคามาระตาสังหารวิหยาสะกำได้ ท้าวกะหมังกุหนิงเห็นโอรสถูกสังหารตกจากม้าก็โกรธ ปรี่เข้าไล่ล่าสังคามาระตา อิเหนาจึงเข้าสกัดและต่อสู้กับท้าวกะหมังกุหนิง ทั้งสองมีฝีมือทัดเทียมกัน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะหลายกระบวนเพลง แต่ในที่สุดอิเหนาก็ใช้กริชที่องค์ปะตาระกาหลาประทานให้เมื่อแรกประสูติสังหารท้าวกะหมังกุหนิงได้ ทัพฝ่ายกะหมังกุหนิงก็แตกพ่ายไป ระตูปาหยังและระตูประหมันยอมแพ้และจะขอส่งเครื่องบรรณาการมาถวายตามประเพณี อิเหนาอนุญาตให้นำศพท้าวกะหมังกุหนิงและวิหยาสะกำกลับไปจัดพิธีตามประเพณี ระตูปาหยังและระตูประหมันเสียใจที่ท้าวกะหมังกุหนิงต้องมาตายเพราะความประมาทและเพระรักลูกมากเกินไป 

ตัวละคร

คลิกอ่านข้อมูล

คุณค่าทางวรรณคดี

ด้านเนื้อหา

– แนวคิด  เรื่องอิเหนา  ตอนศึกกะหมังกุหนิง  เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความรักของพ่อที่มีต่อลูก  รักและตามใจทุกอย่าง  แม้นกระทั่วตัวตายก็ยอม
– ฉาก ตอนศึกกะหมังกุหนิงจะปรากฎฉากรบที่ชัดเจน  มีการตั้งค่าย  การใช้อาวุธ  และการต่อสู้ของตัวละครสำคัญ
– ปมขัดแย้ง  ตอนศึกกะหมังกุหนิง  มีหลายข้อแย้ง  แต่ละปมปัญหาเป็นเรื่องที่อาจเกิดได้ในชีวิตจริง  และสมเหตุสมผล  เช่น
          – ปมแรก  คือ  ท้าวกุเรปันให้อิเหนาอภิเษกกับบุษบา  แต่อิเหนาหลงรักจินตะหราไม่ยอมอภิเษกกับบุษบา
          – ปมที่สอง  คือ  ท้าวดาหาขัดเคืองอิเหนา  ยกบุษบาให้จรกา  ทำให้ท้าวกุเรปันและพระญาติทั้งหลายไม่พอพระทัย
          – ปมที่สาม  ท้าวกะหมังกุหนิงมาสู่ขอบุษบาให้วิหยาสะกำ  แต่ท้าวดาหายกให้จรกาไปแล้ว  จึงเกิดศึกชิงนางขึ้น
          – ปมที่สี่  อิเหนาจำเป็นต้องไปช่วยดาหา  จินตะหราคิดว่าอิเหนาจะไปอภิเษกกับบุษบา  จินตะหราขัดแย้งในใจตนเอง  หวั่นใจกับสถานภาพของตนเอง
          ปมที่สามเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด  เมื่อท้าวกะหมังกุหนิงคิดจะทำสงครามกับกรุงดาหาเพื่อชิงนางบุษบามาให้วิหยาสะกำโอรสองพระองค์  ท้าวกะหมังกุหนิงหารือกับระตูปาหยังและท้าวปะหมันผู้เป็นอนุชา  ทั้งสองทัดทานว่าดาหาเป็นเมืองใหญ่ของกษัตริย์วงศ์อสัญแดหวาผู้มีฝีมือเลื่องลือในการสงคราม  ส่วนกะหมังกุหนิงเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ คงจะสู้ศึกไม่ได้  แต่ท้าวกะหมังกุหนิงก็ไม่ฟังคำทัดทานเพราะรักลูกมากจนไม่อาจทนเห็นลูกทุกข์ทรมารได้  แม้จะรู้ว่าอาจสู้ศึกไม่ได้  แต่ก็ตัดสินใจทำสงครามด้วยเหตุผลที่บอกแก่อนุชาทั้งสองว่า

แม้วิหยาสะกำมอดม้วย
พี่ก็คงตายด้วยโอรสา
  ไหนไหนจะตายวายชีวา
ถึงเร็วถึงช้าก็เหมือนกัน
ผิดก็ทำสงครามดูตามที
เคราะห์ดีก็จะได้ดังใฝ่ฝัน
พี่ดังพฤกษาพนาวัน
จะอาสัญเพราะลูกเหมือนกล่าวมา

ด้านสังคม

          ประเพณีและความเชื่อ  แม้บทละครเรื่องอิเหนาจะมีที่มาจากชวา  แต่รัชกาลที่ 2  ทรงดัดแปลงแก้ไขให้เข้ากับธรรมเนียมประเพณีของบ้านเมืองของไทย  เราจึงสามารถหาความรู้เรื่องเหล่านี้จากวรรณคดีเรื่องอิเหนาได้อย่างถูกต้อง  ซึ่งปรากฏอยู่หลายตอน  เช่น  ตอนท้าวดาหาเสด็จออกรับทูตเมืองกะหมังกุหนิง
“เมื่อนั้น
พระองค์ทรงพิภพดาหา
ครั้นสุริย์ฉายบ่ายสามนาฬิกา
ก็โสรจสรงคงคาอ่าองค์
ทรงเครื่องประดับสรรเสร็จ
แล้วเสด็จย่างเยื้องยูรหงส์
ออกยังพระโรงคัลบรรจง
นั่งลงบนบัลลังก์รูจี
ยาสาบังคมบรมนาถ
เบิกทูตถือราชสารศรี
จึงดำรัสตรัสสั่งไปทันที
ให้เสนีนำแขกเมืองมา

          นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องโชคชะตา  การเชื่อเรื่องคำทำนาย  ดังที่ท้าวกะหมังกุหนิงให้โหรมาทำนายก่อนจะยกทัพไปเมืองดาหา  โหรก็ทำนายว่า

บัดนั้น             พระโหราราชครูผู้ใหญ่
รับรสพจนารถภูวไนย     คลี่ตำรับขับไล่ไปมา
เทียบดูดวงชะตาพระทรงยศ     กับโอรสถึงฆาตชันษา
ทั้งชั้นโชคโยคยามยาตรา     พระเคราะห์ขัดฤกษ์พาสารพัน
จึงทูลว่าถ้ายกวันพรุ่งนี้    จะเสียชัยไพรีเป็นแม่นมั่น
งดอยู่อย่าเสด็จสักเจ็ดวัน    ถ้าพ้นนั้นก็เห็นไม่เป็นไร

          แม้ตอนที่อิเหนาจะยกทัพไปช่วยเมืองดาหาก็ต้องดูฤกษ์ยาม  มีการทำพิธีตัดไม้ข่มนามหรือพิธีฟันไม้ข่มนาม  โดยนำเอาต้นไม้ที่มีชื่อร่วมตัวอักษรกับชื่อฝ่ายข้าศึก  มาฟันให้ขาดประหนึ่งว่าได้ฟันข้าศึก  และยังมีพิธีเบิกโขลนทวาร  ซึ่งทำพิธีตามตำราพราหมณ์  โดยทำเป็นประตูสะด้วยใบไม้  สองข้างประตูมีพราหมณ์นั่งประพรมน้ำมนต์ให้ทหารที่เดินลอดประตู  ทั้ง 2 พิธีนี้ทำเพื่อความเป็นสิริมงคล  และสร้างขวัญกำลังใจให้ทหาร  ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

“พอได้ศุภกฤกษ์ก็ลั่นฆ้อง    ประโคมคึกกึกก้องท้องสนาม
ประโรหิตตัดไม้ข่มนาม      ทำตามตำราพิชัยยุทธ์
…………………………………….
ชีพ่อก็เบิกโขลนทวาร     โอมอ่านอาคมคาถา
เสด็จทรงช้างที่นั่งหลังคา    คลาเคลื่อนโยธาทุกหมวดกอง

ด้านความรู้

การใช้อาวุธ

“บ้างเป่าชุดจุดยิงปืนใหญ่               ฉัตรชัยมณฑกนกสับ”
………………………………….
“บัดนั้น                นายทหารกุเรปันไม่หวั่นไหว
ให้ระดมปืนตับรั้งไว้     แล้วไล่โยธีประจัญ
ต่างมีฝีมืออื้ออึง     วางวิ่งเข้าถึงอาวุธสั้น
ดาบสองมือโถมทะลวงฟัน   เหล่ากริชติดพันประจัญรบ
ทหารหอกกลอกลับสัประยุทธิ์    ป้องปัดอาวุธไม่หลีกหลบ
พวกพลพาชีตีกระทบ   รำทวนสวนประจบโถมแทง
บ้างสกัดซัดพุ่งหอกคู่      เกาทัณฑ์ธนูน้าวแผลง
ตะลุมบอนฟอนฟันกันกลางแปลง   ต่อแย้งยุทธยิงชิงชัย
ตายระดับทับกันดังฟอนฟาง   เลือดนองท้องช้างเหลวไหล
กองหลังประดังหมุนขึ้นไป    ตัวนายไล่ไพร่เข้าบุกบัน”

 การตั้งค่าย

“เห็นละหานธารน้ำไหลหลั่ง   ร่มไทรใบบังสุริย์ศรี
จึงดำรัสตรัสสั่งเสนี   ให้ตั้งที่นาคนามตามตำรา”

          ทัพกะหมังกุหนิงเดินทัพมาถึงก่อนจึงเลือกทำเลบริเวณริมน้ำ  ตั้งค่ายแบบ  “นาคนาม”  ส่วนอิเหนาเลือกได้บริเวณเนินทราย  จึงต้องตั้งค่ายแบบ  “ครุฑนาม”

“ครั้นถึงเนินทรายชายทุ่ง    แว่นแคว้านแดนกรุงดาหา
จึงให้หยุดกองทัพตั้งพลับพลา    ที่ต้องนามครุฑาเกรียงไกร”

ด้านวรรณศิลป์

          การใช้คำและโวหาร  เรื่องอิเหนา  ตอนศึกกะหมังกุหนิง  มีการใช้ภาษาที่สละสลวยให้อารมณ์อันลึกซึ้งกินใจ  อีกทั้งมีโวหารเปรียบเทียบให้เห็นภาพพจน์ให้เกิดความรู้สึกสะเทือนอารมณ์  ที่สำคัญยังแฝงด้วยข้อคิดที่มีคุณค่ายิ่งอีกมากมาย  ดังนี้
– การใช้ภาษาสละสลวยงดงาม  มีการเล่นคำ  เล่นสัมผัสพยัญชนะเพื่อให้เกิดความไพเราะ  เช่น  ตอนอิเหนาชมดง

ว่าพลางทางชมคณานก    โผนผกจับไม้อึงมี่
เบญจวรรณจับวัลย์ชาลี    เหมือนวันพี่ไกลสามสุดามา
นางนวลจับนางนวลนอน   เหมือนพี่แนบนวลสมรจินตะหรา
จากพรากจับจากจำนรรจา     เหมือนจากนางสการะวาตี

– การใช้โวหารเปรียบเทียบ  คือ  โวหารอุปมาเป็นการสร้างอารมณ์ให้กับผู้อ่าน  กวีเปรียบได้ชัดเจน  เช่น

กรุงกษัตริย์ขอขึ้นก็นับร้อย      เราเป็นเมืองน้อยกระจิหริด
ดังหิ่งห้อยจะแข่งแสงอาทิตย์       เห็นผิดระบอบบุราณมา

          หรือจากคำคร่ำควรญของจินตะหรา  ที่เปรียบความรักเหมือนสายน้ำไหลที่ไหลไปแล้วจะไม่มีวันย้อนกลับ  ที่มาของสำนวน “ความรักเหมือนสายน้ำไม่มีวันไหลย้อนกลับ”  คำคร่ำครวญของจินตะหราเป็นเพราะเกิดความไม่มั่นใจในฐานะของตนเอง  เกิดความรู้กขึ้นมาว่าตนอาจต้องสูญเสียคนรัก  เพราะข่าวการแย่งบุษบาแสดงว่าบุษบาต้องสวยมาก  อีกทั้งยังเป็นคู่หมั้นของอิเหนามาก่อน  ยิ่งทำให้รู้สึกหวาดหวั่น  ดังคำประพันธ์ทีอ่านแล้วจะเกิดอารมณ์สะเทือนใจ  สงสาร  และเห็นใจว่า 

แล้วว่าอนิจจาความรัก    พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล
ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป    ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา
สตรีใดในพิภพจบแดน   ไม่มีใครได้แค้นเหมือนนอกข้า
ด้วยใฝ่รักให้เกิดพักตรา   จะมีแต่เวทนาเป็นเนืองนิตย์

– ใช้คำบรรยายชัดเจนได้ภาพพจน์  ผู้อ่านนึกภาพตามผู้เขียนบรรยายตามไปยิ่งจะทำให้ได้อรรถรสในการอ่านมากขึ้น  เช่น  ตอนอิเหนาต่อสู้กับท้าวกะหมังกุหนิงด้วยใช้กริชเป็นอาวุธ  จะเห็นลีลาท่าทางและจังหวะที่สอดคล้องกัน  เห็นทีท่าอันฉับไวและสง่างาม

เมื่อนั้น                 ท้าวกะหมังกุหนิงเรืองศรี
ได้ฟังคำชื่นชมยินดี      ครั้งนี้อิเหนาจะวายชนม์
อันเพลงกริชชวามลายู     กูรู้สันทัดไม่ขัดสน
คิดแล้วชักกริชชวามลายู      ร่ายทำทำกลมารยา
กรขวานั้นกุมกริชกราย   พระหัตถ์ซ้ายนั้นถือเช็ดหน้า
เข้าปะทะประกริชด้วยฤทธา      ผัดผันไปมาไม่ครั่นคร้าม
เมื่อนั้น                 ระเด่นมนตรีชาญสมาน
พระกรกรายลายกริชติดตาม    ไม่เข็ดขามคร้ามถอยคอยรับ
หลบหลีกไวว่องป้องกัน    ผัดผันหันออกกลอกกลับ
ปะทะแทงแสร้างทำสำทับ   ย่างกระหยับรุกไล่มิได้ยั้ง
เห็นระตูถอยเท้าก้าวผิด     พระกรายกริชแทงอกตลอดหลัง
ล้มลงดาวดิ้นสิ้นกำลัง    มอดม้วยชีวังปลดปลง

ด้านแนวคิดและคติชีวิต

สะท้อนภาพชีวิตของบรรพบุรุษ

  • การแบ่งชนชั้นวรรณะ  เช่น  การไม่ยอมไปเกลือกกลั้วกับวงศ์ตระกูลอื่นนอกจากวงศ์เทวาด้วยกัน  ทำให้เกิดการแต่งงานระหว่างพี่น้องสายเลือดเดียวกัน
  • ไม่มีสิทธิ์เลือกคู่ครองด้วยตนเอง  ต้องปฏิบัตตามความพอใจของผู้ใหญ่
  • สภาพความเป็นอยู่ร่มเย็นเป็นสุข  มีการละเล่นต่าง ๆ มากมาย
  • มีความเชื่อทางไสยศาสตร์  เช่น  การแก้บน  การใช้เครื่องรางของขลัง  การดูฤกษ์ยามความเข้าใจธรรมชาติมนุษย์
  • ธรรมชาติในเรื่องความรักของคนวัยหนุ่มสาว  มักขาดความยั้งคิด  เอาแต่ใจตนเองเป็นใหญ่  ไม่คำนึงถึงความทุกข์ใจของพ่อแม่
  • ธรรมชาติของอารมณ์โกรธ  มักทำให้วู่วามตัดสินใจผิดพลาดอันจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้