ใบความรู้เรื่อง วัจนภาษา และ อวัจนภาษา

สร้างโดย : ว่าที่ร้อยตรีสามารถ อรุณวรรณ
สร้างเมื่อ ศุกร์, 06/08/2010 – 11:04
มีผู้อ่าน 193,138 ครั้ง (24/11/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/71278

ใบความรู้เรื่อง วัจนภาษา และอวัจนภาษา

วัจนภาษา

         วัจนภาษา คือ  ภาษาที่ใช้ถ้อยคำโดยมีการจัดภาษาของออกเป็นระดับ
         ระดับของภาษา  หมายถึง  ความลดหลั่นของถ้อยคำ  และการเรียบเรียงถ้อยคำที่ใช้ตามโอกาส  กาลเทศะ  และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เป็นผู้ส่งสารและผู้รับสาร  แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ

  1. ภาษาระดับปากหรือระดับกันเองใช้กับบุคคลที่สนิทสนมคุ้นเคยกันเป็นพิเศษ เช่น  ระหว่างเพื่อนสนิท ระหว่างบุคคลในครอบครัว สื่อสารกันในเนื้อหาที่รับรู้กันได้เฉพาะคู่สนทนาเท่านั้น  คำที่ใช้อาจไม่สุภาพสำหรับสาธารณชน  อาจใช้คำคะนองหรือคำที่เข้าใจกันเฉพาะกลุ่ม
  2. ภาษาระดับสนทนา ใช้สื่อสารกันระหว่างบุคคลที่มีความสัมพันธ์ยังไม่ถึงขั้นสนิทสนม เช่น การสนทนาในการติดต่อธุรการงาน  แนะนำตัวในสังคม  ภาษาระดับนี้อาจจะนำไปถ่ายทอดในงานเขียนประเภทบันเทิงคดี  เช่น เรื่องสั้น  ผู้ที่ใช้ภาษาระดับนี้ไม่ต้องใช้ความระมัดระวังที่จะให้รับรู้กันเฉพาะคู่สนทนาเท่านั้น
  3. ภาษาระดับกึ่งทางการใช้เพื่อสื่อสารให้เกิดความเข้าใจกันด้วยความรวดเร็ว  เช่น การพูดในที่สาธารณะที่มุ่งให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายและรวดเร็ว  ภาษาที่ใช้ในจดหมายกึ่งทางการ  การพูดทางวิทยุหรือโทรทัศน์ที่ผู้ฟังเป็นบุคคลทั่วไป
  4. ภาษาระดับทางการ เป็นภาษาที่ใช้ในหนังสือราชการ  คำสั่งหรือประกาศเพื่อให้สาธารณชนทราบ  ภาษาที่ใช้ในการเขียนตำราทางวิชาการ  การประชุมที่มีแบบแผน  การอภิปรายหรือปาฐกถาอย่างเป็นทางการ
  5. ภาษาระดับพิธีการ  เป็นภาษาที่ใช้ในโอกาสสำคัญเป็นพิเศษ เช่น  ประกาศสำคัญๆงานพระราชพิธี หรือรัฐพิธี  การชี้แจงเรื่องราวที่มีความสำคัญแก่กิจการบ้านเมือง  เป็นต้น

อวัจนภาษา

         อวัจนภาษา คือ ภาษาที่ไม่ใช้ถ้อยคำ ได้แก่ การแสดงกิริยาท่าทางของมนุษย์ การแสดงสีหน้า สายคา น้ำเสียง  การใช้มือ วัตถุ การใช้สัญญาณต่างๆ  เพื่อนำมาสื่อความหมาย และ ทำความเข้าใจต่อกันจัดแบ่งได้ 7 ประเภท คือ

  1. เทศภาษา  (proxemices)  เป็นอวัจนภาษาที่ใช้เกี่ยวข้องกับสถานที่ หรือช่วงระยะห่างที่บุคคลกำลังสื่อสารกันสถานที่ที่บุคคลสื่อสารกันสามารถแสดงให้เห็นนัยแห่งความสัมพันธ์บางประการของผู้ส่งสารและผู้รับสาร เช่น การชายหญิงคุยกันสองต่อสองในห้องบ่งได้ว่าทั้งคู่มีความสนิทสนมคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี หรือ มีเรื่องที่พูดคุยกันเป็นความลับ  นอกจากนี้ระยะห่างหรือใกล้ในขณะสนทนาก็บ่งบอกได้ว่าพูดคุยกันธรรมดาหรือคุยกันอย่างรู้จักสนิทสนม
  2. เนตรภาษา (oculesics) เป็นอวัจนภาษาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ดวงตา สายตาเพื่อสื่อสารถึงอารมณ์  ความรู้สึกนึกคิด  ทัศนคติ และความต้องการจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร เช่น  การมอง  การจ้อง  เหลือบ  ชำเลือง  หรี่ตา  ถลึงตา ฯลฯ
  3. กาลภาษา  (chonemics)  เป็นอวัจนภาษาที่เกี่ยวข้องกับระยะเวลา หรือช่วงระยะเวลาที่กำลังสื่อสารกันอยู่  ถือว่า  กาล หรือ เวลา  เป็นอวัจนภาษาที่สำคัญอย่างมากในทุกสังคม เพราะแสดงให้เห็นถึงการให้เกียรติ  ให้ความเคารพ  ให้ความสำคัญ  เช่น  การสัมภาษณ์ทั้งยังแสดงให้เห็นลักษณะนิสัยว่ามีความรับผิดชอบหรือไม่  มีบุคลิกภาพอย่างไร  ฯลฯ
  4. อาการภาษา  (kinesics)  เป็นอวัจนภาษาที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายเพื่อสื่อความหมายบางประการ  เช่น   การเคลื่อนไหวศรีษะ  ลำตัว  แขนขา  เช่น ส่ายศรีษะ แสดงว่า ปฏิเสธ โบกมือ แสดงการทักทายหรือการลาก็ได้   อาการภาษาจะถูกกำหนดโดยคนในแต่ละสังคมซึ่งเข้าใจกันได้
  5. สัมผัสภาษา (haptics)  เป็นอวัจนภาษาที่สื่อกับผู้รับสารโดยการใช้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของผู้ส่งสารสัมผัสกับผู้รับสารเพื่อแสดงถึงความรู้สึก  ความปรารถนาและอารมณ์ของผู้ส่งสารที่ต้องการสื่อ   เช่น  การเดินคล้องแขน  จับมือ โอบกอด  ลูบไล้  เช่น  การโอบกอดและหอมแก้มในสังคมตะวันตก หมายถึง การแสดงความรักและห่วงใย  เป็นต้น
  6. ปริภาษา (vocalic / paralanguage)  เป็นอวัจนภาษาที่หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆภาษา  แบ่งเป็น 2 ลักษณะ
    1. ปริภาษาเกี่ยวกับภาษาพูด ได้แก่  น้ำเสียง  ความเร็ว  ความดัง  จังหวะในการพูดเพราะสามารถบ่งบอกถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้พดในขณะนั้นได้
    2. ปริภาษาเกี่ยวกับภาษาเขียน  ได้แก่  การใช้รูปแบบตัวอักษรใหญ่  เล็ก  ตัวหนา  บาง  เอียง  สีของอักษร  การขีดเส้นใต้  การใช้เครื่องหมายวรรคตอนเพื่อเน้นย้ำความสำคัญของข้อความ
  7. วัตถุภาษา (objects)   เป็นอวัจนภาษาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกใช้วัตถุเพื่อนำมาสื่อถึงความหมายบางประการ เช่น  การเลือกใช้เครื่องแต่งกาย  เครื่องประดับ  ข้าวของเครื่องใช้ในการแต่งบ้าน  เช่น  สร้อยทองคำแสดงถึงความร่ำรวย  แต่งกายชุดสีดำ  แสดงว่าเสียใจและไว้อาลัยให้ผู้ตาย  เป็นต้น