โครงการประกวดสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ (Digital Learning Contest) ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553

ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
โครงการประกวดสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 โดยเว็บไซต์ไทยกู๊ดวิวดอทคอม (www.thaigoodview.com)
เฝ้าทูลละอองพระบาท สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

1. หลักการและเหตุผล

        โลกออนไลน์เช่นอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่เด็กและเยาวชนกำลังมีส่วนร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการเข้าถึงสื่อต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่สื่อบันเทิง สื่อเรื่องเพศ และอบายมุข ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่สร้างสรรค์ ฉาบฉวย และสุ่มเสี่ยง เพื่อลดพฤติกรรมและความเสี่ยงดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการระดมสร้างและนำเสนอสื่อสร้างสรรค์บนอินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นทางเลือกที่ชัดเจนแก่เยาวชนในการเข้าถึงและใช้งานให้เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของกลไกตลาดทำให้การสร้างสื่อสร้างสรรค์เป็นไปได้ยาก เพราะตลาดโดยรวมมีความต้องการสื่อสร้างสรรค์น้อยเมื่อเทียบกับความต้องการสื่อเพื่อความบันเทิง จึงต้องมีวิธีในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างและนำเสนอสื่อดีๆ ที่เหมาะสมกับความเป็นจริง
        นอกจากนั้น การระดมสร้างและเผยแพร่เนื้อหาดีๆ จะต้องเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือขององค์กรภาคีที่ร่วมงานด้านเนื้อหาสร้างสรรค์บนโลกออนไลน์ โดยจะต้องมีการรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายการทำงานที่ชัดเจน เข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งต้องมีการพัฒนาระบบสนับสนุนการสร้างเนื้อหาด้านบวกให้แก่ภาคีและเยาวชนผ่านกลไกต่างๆ เช่น กองทุนสื่อสร้างสรรค์ เป็นต้น
        เพื่อตอบปัญหาดังกล่าว แผนงาน ICT เพื่อสุขภาวะออนไลน์และการสนับสนุนภาคีเครือข่ายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีด้านการศึกษา การเรียนรู้ จึงได้ร่วมกันริเริ่มโครงการประกวดสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายที่จะฝึกอบรมวิธีการสร้างสื่อที่ดี สร้าง รวบรวม และเผยแพร่สื่อสร้างสรรค์ เช่น สื่อเว็บเพจ(HTML) สื่อออนไลน์ สื่อเล่านิทานด้วยเสียง บนอินเทอร์เน็ตให้ได้ทั้งปริมาณ และคุณภาพเพียงพอสำหรับเด็ก เยาวชนไทยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ผ่านเว็บไซต์ไทยกู๊ดวิวดอทคอม โดยใช้กลไกการประกวดเป็นเครื่องมือสร้างแรงจูงใจให้เกิดการสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพ

2. วัตถุประสงค์
        2.1 เพื่อสร้าง รวบรวม และเผยแพร่สื่อสร้างสรรค์บนอินเทอร์เน็ตให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ มากจนเยาวชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
        2.2 เพื่อพัฒนาศักยภาพของครูผู้สอนให้สามารถสร้างสื่อด้วยเครื่องมือและเทคนิคที่เหมาะสม
        2.3 เพื่อกระตุ้น ส่งเสริมให้เยาวชนที่มีศักยภาพในการสร้างผลงานสร้างสรรค์สามารถพัฒนางานและนำเสนองานต่อสาธารณะชนผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ โดยผ่านระบบการสร้างแรงจูงใจและการเชื่อมโยงเครือข่ายสังคม
        2.4 เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นภายในครอบครัว ด้วยการทำกิจกรรมร่วมกัน
        2.5 เพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มของภาคีร่วมงานด้านข้อมูล ความรู้ และการศึกษา เพื่อการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายที่ชัดเจนและเข้มแข็ง
        2.6 เพื่อพัฒนาระบบสนับสนุนการผลิตและเผยแพร่สื่อสร้างสรรค์ในระยะยาว เช่น กองทุนสื่อสร้างสรรค์

3. กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ นักเรียนและครูในสถานศึกษา ผู้ปกครอง เยาวชนทั่วไป รวมทั้งผู้ด้อยโอกาส

4. ผลผลิตของโครงการ
       สื่อการเรียนการสอน 9 กลุ่มสาระวิชา ครอบคลุม 4 ช่วงชั้น ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษาศาสนาวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ภาษาต่างประเทศ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

ดัชนีชี้วัดเชิงปริมาณ

  • สื่อเว็บเพจ(HTML)สามารถใช้งานได้แบบออนไลน์และออฟไลน์ 200 เรื่อง
  • สื่อออนไลน์ 200 เรื่อง
  • สื่อเล่านิทานด้วยเสียง 100 เรื่อง
  • สื่อเว็บเพจ(HTML) บันทึกแผ่นดีวีดี เพื่อมอบให้โรงเรียนห่างไกลและขาดแคลน 2,000 ชุด
  • สื่อเล่านิทานด้วยเสียง บันทึกแผ่นดีวีดี เพื่อมอบให้โรงเรียนห่างไกลและขาดแคลน 2,000 ชุด

ดัชนีชี้วัดเชิงคุณภาพ

  • เพิ่มพื้นที่ออนไลน์สร้างสรรค์บนเว็บ thaigoodview.com
  • เพิ่มศักยภาพของครูและเด็กในการสร้างสื่อดิจิทัล
  • เพิ่มคุณภาพของสื่อดิจิทัล
  • พัฒนาเครื่องมือในการสร้างสื่อดิจิทัลกลไกในการสนับสนุนต่างๆ
  • พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในการทำเนื้อหา ข้อมูล ความรู้ การศึกษา ระหว่างองค์กรภาคีต่างๆ

5. ขั้นตอนในการดำเนินงาน
        ระยะเวลาของโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2553 – 30 มิถุนายน 2554
        5.1 ประชุมทีมงานเพื่อสรุปรูปแบบการประกวดสื่อดิจิทัล ภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2553
        5.2 จัดทำโปสเตอร์ และวางแผนการประชาสัมพันธ์ เสร็จสิ้นภายใน 30 ตุลาคม 2553
        5.3 ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ ในเดือนสิงหาคม 2553 – มกราคม 2554
        5.4 ประชาสัมพันธ์ในสถานศึกษาทั่วประเทศ ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553
        5.5 รับสมัครผู้เข้าประกวดทั้ง 3 ประเภท ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – วันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 (ขยายเวลาถึง 31 มกราคม 2554)
        5.6 ส่งใบสมัครและผลงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 30 พฤศจิกายน 2553 (ขยายเวลาถึง 31 มกราคม 2554)
        5.7 ประชุมตัวแทนคณะกรรมการตัดสินผลงาน เพื่อกำหนดเกณฑ์การตัดสิน วันที่ 7 พฤศจิกายน 2553
        5.8 แถลงข่าวโครงการประกวดสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 2 วันที่ … พฤศจิกายน 2553
        5.9 คณะกรรมการตรวจสอบ และตัดสินผลงาน วันที่ 16 – 20 กุมภาพันธ์ 2554 (เลื่อนกำหนดเป็น 3-7 พฤษภาคม 2554)
        5.10 ประกาศผลการตัดสิน ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 (เลื่อนกำหนดเป็น 18 พฤษภาคม 2554)
        5.11 จัดพิธีรับถ้วยรางวัลพระราชทาน และรางวัลอื่น ๆ ต้นเดือนมีนาคม 2554 (อยู่ระหว่างการประสานงาน)
        5.12 ส่งมอบรางวัลพร้อมเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2554 (เลื่อนกำหนด 30 มิถุนายน 2554)
        5.13 ประเมินผลโครงการให้แล้วเสร็จ สรุปผลงาน ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2554 (เลื่อนกำหนด 30 มิถุนายน 2554)
        5.14 บันทึกลงแผ่นดีวีดี เพื่อมอบให้โรงเรียนห่างไกลและขาดแคลนสื่อการเรียนรู้

6. รูปแบบผลงานในการส่งประกวด มี 3 ประเภท
        6.1 โครงการประกวดสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 โดยเว็บไซต์ไทยกู๊ดวิวดอทคอม ไม่สนับสนุนการคัดลอกผลงาน หรือคัดลอกเนื้อหามาโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ได้ใส่ข้อมูลอ้างอิงแหล่งที่มา ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หากตรวจพบถือว่าขาดคุณสมบัติในการแข่งขัน และถือว่าสละสิทธิ์ แม้จะประกาศผลไปแล้ว ทางคณะกรรมการสามารถเรียกคืนรางวัลได้
        6.2 ผู้ส่งผลงานเป็นผู้รับผิดชอบด้านลิขสิทธิ์ของข้อมูลทุกชนิดในผลงาน ต้องอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลทั้งหมดได้ชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมทั้งขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล
        6.3 ขอสงวนสิทธิ์ไม่คืนผลงาน และสามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา หรือเผยแพร่สู่สาธารณะชนได้ทุกรูปแบบ โดยปราศจากข้อผูกมัดใดๆ ทั้งสิ้น ลิขสิทธิ์ของผลงานยังคงเป็นของเจ้าของผลงานที่ผลิตขึ้น การนำไปใช้ต้องถูกอ้างอิงอย่างถูกต้อง ผู้สนับสนุนและผู้ดำเนินงานโครงการไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาสาระ และผลงานดังกล่าว
        6.4 แต่ละโรงเรียนสามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้หลายทีม
        6.5 ครู และนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการทุกคนต้องมีสถานะอยู่ในโรงเรียนที่สมัคร ณ วันที่ประกาศผล วันรับรางวัล และวันจัดกิจกรรมอื่นๆ ภายใต้โครงการ

        – ประเภทสื่อเว็บเพจ(HTML) สมาชิกทีมละ 4 คน ประกอบด้วยครู 1 คน นักเรียน 3 คน แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ
           o ระดับที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
           o ระดับที่ 2 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6
        6.6 นักเรียน ทุกคนในทีมต้องมีสถานะอยู่ในระดับใดระดับหนึ่ง และเป็นสมาชิกได้เพียง 1 ทีมเท่านั้น
        6.7 ครูที่เป็นสมาชิกในทีม เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของเนื้อหา ดังนั้นจึงต้องเป็นครูที่สอนอยู่ในกลุ่มสาระวิชาที่ส่งผลงาน และ/หรือมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหานั้นๆ เป็นอย่างดี และเป็นสมาชิกได้ไม่เกินระดับละ 3 ทีมเท่านั้น
        6.8 ลักษณะของชิ้นงานสื่อเว็บเพจ(HTML)
              6.8.1 มีเนื้อหาไม่น้อยกว่า 1 หน่วยการเรียนรู้ หรือประมาณ 30 เพจ 
              6.8.2 แต่ละเพจต้องมีเนื้อหาที่ให้ความรู้ได้พอสมควร
              6.8.3 ต้องมีแบบทดสอบ หรือแบบฝึกหัด ปรนัยชนิดเลือกตอบอย่างน้อย 1 ชุด ไม่น้อยกว่า 10 ข้อ ที่สามารถประเมินผลได้ทันทีที่ผู้เรียนได้ทำแบบทดสอบ จะประเมินผลทีละข้อ หรือทำทั้งหมดแล้วประเมินผลก็ได้
              6.8.4 มีสื่อผสมตามความเหมาะสม เช่น ภาพนิ่ง เสียง ภาพเคลื่อนไหว ที่สามารถเรียกดูบนอินเทอร์เน็ตได้ในเวลารวดเร็ว
              6.8.5 รูปแบบผลงาน ต้องเป็นรูปแบบ HTML ที่เรียกใช้งานผ่าน Browser โดยไม่ต้องใช้ Server (ไม่ให้ใช้เทคโนโลยี Server-side เช่น PHP, ASP, MySQL) 
              6.8.6 Home page (หน้าแรก) ใช้ชื่อไฟล์ index.html หรือ index.htm เท่านั้น ชื่อไฟล์และโฟลเดอร์ทั้งหมดต้องเป็นภาษาอังกฤษ และ/หรือเลขอารบิค
        6.9 ผู้ส่งควรศึกษาข้อแนะนำในการทำเว็บไซต์เพื่อการเรียนรู้ที่ดี

        – ประเภทสื่อออนไลน์ สมาชิกทีมละ 2 คน ประกอบด้วยครู 1 คน นักเรียน 1 คน แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ
           o ระดับที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
           o ระดับที่ 2 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6   
        6.10 นักเรียนในทีมต้องมีสถานะอยู่ในระดับใดระดับหนึ่ง และเป็นสมาชิกได้เพียง 1 ทีมเท่านั้น
        6.11 ครูที่เป็นสมาชิกในทีม เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของเนื้อหา ดังนั้นจึงต้องเป็นครูที่สอนอยู่ในกลุ่มสาระวิชาที่ส่งผลงาน และ/หรือมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหานั้นๆ เป็นอย่างดี และเป็นสมาชิกได้ไม่เกินระดับละ 3 ทีมเท่านั้น
        6.12 ลักษณะของชิ้นงานสื่อออนไลน์
               6.12.1 มีเนื้อหาไม่น้อยกว่า 1 หน่วยการเรียนรู้ หรือประมาณ 20 เพจ ทุกทีมมีพื้นที่จัดเก็บข้อมูล 20 MB
               6.12.2 จัดทำในรูปแบบสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.thaigoodview.com เท่านั้น 
               6.12.3 แต่ละเพจต้องมีเนื้อหาที่ให้ความรู้ได้พอสมควร
               6.12.4 ส่วนประกอบของข้อมูลแต่ละเพจต้องนำเสนอในความกว้างไม่เกิน 600 พิกเซล
               6.12.5 แต่ละเพจต้องจัดทำด้วยชื่อผู้ใช้งาน(Username) เดียวกันเท่านั้น หลังการประกวดชื่อผู้ใช้งานนี้จะไม่สามารถใช้งานได้อีก
               6.12.6 ทุกเพจต้องสามารถเชื่อมโยงหากันได้เพื่อสะดวกในการเรียนรู้
               6.12.7 มีสื่อผสมตามความเหมาะสม เช่น ภาพนิ่ง เสียง ภาพเคลื่อนไหว ที่สามารถเรียกดูบนอินเทอร์เน็ตได้ในเวลารวดเร็ว

        – ประเภทสื่อเล่านิทานด้วยเสียง
        6.13 สมาชิกทีมละ 3-5 คน ประกอบด้วยนักเรียน 1 คน ไม่จำกัดระดับชั้นการศึกษา สมาชิกทุกคนต้องอยู่ในครอบครัวเดียวกัน จะเกี่ยวพันกันอย่างไรก็ได้ ขอเพียงมีความรักเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องอยู่บ้านเดียวกัน
        6.14 จัดทำไฟล์เสียงจากการเล่านิทานโดยใช้เสียงสมาชิกในทีม สามารถนำเสียงอื่นๆ มาประกอบได้ ระมัดระวังเรื่องไฟล์เสียงที่มีลิขสิทธิ์
        6.15 นิทานที่นำมาเล่าเป็นนิทานที่เคยมีมาก่อน หรือเป็นนิทานที่แต่งขึ้นเองก็ได้ แต่ทุกเรื่องต้องมีคติสอนใจ ซึ่งจะต้องบอกในตอนจบของนิทานว่า นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ….
        6.16 ไฟล์ที่บันทึกต้องเป็นไฟล์ที่มีนามสกุลเป็น wav หรือ mp3 หรือ wma เท่านั้น และต้องมีความยาวทั้งหมดไม่เกิน 5 นาที (ไม่รวมเวลาแนะนำเรื่อง คำกล่าวขอบคุณแหล่งที่มา และผู้สนับสนุน)

7. ขั้นตอนการสมัครเข้าร่วมประกวด การส่งใบสมัคร และผลงาน
        7.1 รับสมัครผู้เข้าประกวดทั้ง 3 ประเภท ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – วันที่ 31 มกราคม 2554
        7.2 สมัครสมาชิกเว็บไซต์ http://www.thaigoodview.com (สำหรับประเภทสื่อออนไลน์ ทุกทีมจะต้องสมัครสมาชิกใหม่ เพื่อใช้ในการประกวดครั้งนี้เท่านั้น และจะได้รับพื้นที่ 20 MB ในการจัดเก็บข้อมูล ชื่อผู้ใช้ที่ใช้ในการประกวดครั้งนี้จะไม่สามารถใช้งานได้อีกหลังจากโครงการเสร็จสิ้นลง)
        7.3 สมัครเข้าร่วมประกวด โดยดาวน์โหลดไฟล์แบบฟอร์มใบสมัครจากเว็บไซต์ สื่อเว็บเพจ(HTML) | สื่อออนไลน์ | สื่อเล่านิทานด้วยเสียง
        7.4 กรอกข้อมูลในไฟล์แบบฟอร์มใบสมัครให้ครบถ้วน ด้วยการพิมพ์เพื่อความชัดเจน
        7.5 เข้าสู่ระบบ (login) และเลือกสมัครเข้าร่วมการประกวด 
              7.5.1 เลือกประเภทการสมัครที่ต้องการ
              7.5.2 เลือกสาระการเรียนรู้ที่ต้องการสร้างสื่อ ในรายการต่อไปนี้ สำหรับสื่อเล่านิทานด้วยเสียงให้เลือกตัวเลือกกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเท่านั้น (ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ภาษาต่างประเทศ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
                7.5.3 เลือกช่วงชั้น เลือกตัวเลือกใดตัวเลือกหนึ่งจากช่วงชั้นที่ 1 ถึง ช่วงชั้นที่ 4 สำหรับสื่อเล่านิทานด้วยเสียงให้เลือกตัวเลือกทุกช่วงชั้นเท่านั้น
                7.5.4 ส่งใบสมัครที่กรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้วออนไลน์ผ่านแบบฟอร์ม เพื่อความสะดวกในการจัดพิมพ์ประกาศนียบัตร ในภายหลัง
        7.6 การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดข้อมูลในส่วนหนึ่งส่วนใดก็ตามในใบสมัครสามารถทำได้ โดยการชี้แจงสาเหตุ ทั้งนี้การพิจารณาอนุมัติขึ้นอยู่กับทางผู้ดูแลโครงการ
        7.7 การส่งผลงาน ขอเป็นการส่งเพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยสั่งพิมพ์ใบสมัคร เพื่อส่งมาเป็นหลักฐานทางไปรษณีย์อีกครั้งหนึ่งพร้อมลายเซ็นรับรอง ส่งได้จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2554
              – ประเภทสื่อเว็บเพจ(HTML) บันทึกข้อมูลผลงานทั้งหมดลงแผ่นซีดี ส่งใบสมัคร(ตัวจริง) พร้อมลายเซ็นรับรอง และซีดีผลงาน
              – ประเภทสื่อออนไลน์ ส่งใบสมัคร(ตัวจริง) พร้อมลายเซ็นรับรอง สำหรับผลงานกรรมการจะตรวจผ่านเว็บไซต์ หลังวันที่ 31 มกราคม 2554 ถ้ามีการแก้ไข ผลงานนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ทันที
      – ประเภทสื่อเล่านิทานด้วยเสียง บันทึกข้อมูลผลงานทั้งหมดลงแผ่นซีดี ส่งใบสมัคร(ตัวจริง) พร้อมลายเซ็นรับรอง เนื้อเรื่องของผลงานจัดพิมพ์ลงในกระดาษขนาด A4 และซีดีผลงาน
              – ส่งมาที่ “ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ซ.เจริญกรุง 57 ถ.เจริญกรุง เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120”
              – ขอแนะนำให้ส่งผลงานล่วงหน้า เพื่อป้องกันความแออัดในการส่งช่วงสัปดาห์สุดท้าย

8. รางวัลเกียรติยศ
        8.1 ถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับทีมที่ชนะเลิศในแต่ละประเภท รวม 5 ถ้วยรางวัล คือ
             8.1.1 ประเภทสื่อเว็บเพจ(HTML) ระดับที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
             8.1.2 ประเภทสื่อเว็บเพจ(HTML) ระดับที่ 2 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6
             8.1.3 ประเภทสื่อออนไลน์ ระดับที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
             8.1.4 ประเภทสื่อออนไลน์ ระดับที่ 2 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6
             8.1.5 ประเภทสื่อเล่านิทานด้วยเสียง
        8.2 รางวัลรองชนะเลิศ โล่รางวัลจากคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา, เลขาธิการ กพฐ., เลขาธิการ สกศ., เลขาธิการ สอศ., ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ผู้อำนวยการ สสวท., กรรมการ กสทช., คณะบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุุม
        8.3 รางวัลอื่นๆ ได้แก่ ทุนการศึกษา และรางวัลอื่นๆ จาก กสทช. และมหาวิทยาลัยศรีปทุม
        8.4 ทุกชิ้นงานที่ส่งและได้คะแนนการตัดสินจากคณะกรรมการ จะได้รับประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติทุกคน ต่อชิ้นงาน ทั้ง 3 ประเภท ดังนี้
              – ประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติ ระดับเหรียญทอง ได้คะแนนตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป
              – ประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติ ระดับเหรียญเงิน ได้คะแนนตั้งแต่ร้อยละ 70-80
              – ประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติ ระดับเหรียญทองแดง ได้คะแนนตั้งแต่ร้อยละ 60-70

9. เกณฑ์การตัดสิน และคณะกรรมการตัดสิน
     เป็นไปตามเกณฑ์ของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้ง จำนวน 27 ท่าน
     ผลการตัดสินของคณะกรรมการ ถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่อนุญาตให้มีการประท้วงใดๆ ทั้งสิ้น

10. งบประมาณ สนับสนุนโดย แผนงาน ICT เพื่อสุขภาวะออนไลน์และการสนับสนุนภาคีเครือข่าย สสส. และผู้ร่วมสนับสนุนอื่น ๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

11. ผู้รับผิดชอบโครงการ นายพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล