โครงการประกวดสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ (Digital Learning Contest) ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2551

ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

1. หลักการและเหตุผล

            ปัจจุบันโลกออนไลน์เช่นอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่เด็กและเยาวชนกำลังมีส่วนร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการเข้าถึงสื่อต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่สื่อบันเทิง สื่อเรื่องเพศ และอบายมุข ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่สร้างสรรค์ ฉาบฉวย และสุ่มเสี่ยง
            เพื่อลดพฤติกรรมและความเสี่ยงดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการระดมสร้างและนำเสนอสื่อสร้างสรรค์บนอินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นทางเลือกที่ชัดเจนแก่เยาวชนในการเข้าถึงและใช้งานให้เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ตามธรรมชาติของกลไกตลาดทำให้การสร้างสื่อสร้างสรรค์เป็นไปได้ยากเพราะตลาดโดยรวมมีความต้องการสื่อสร้างสรรค์น้อยเมื่อเทียบกับสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ จึงต้องมีวิธีในการสร้างและนำเสนอสื่อสร้างสรรค์ที่เหมาะสมกับความเป็นจริง
            นอกจากนั้น การระดมสร้างและเผยแพร่เนื้อหาจะต้องเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของภาคีร่วมงานด้านเนื้อหาสร้างสรรค์บนโลกออนไลน์ ที่จะต้องมีการรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายการทำงานที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งต้องมีการพัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานสร้างสรรค์เนื้อหาด้านบวกให้แก่ภาคีและเยาวชนผ่านกลไก เช่น กองทุนสื่อสร้างสรรค์
            เพื่อตอบปัญหาดังกล่าว แผนงาน ICT เพื่อสุขภาวะออนไลน์และการสนับสนุนภาคีเครือข่ายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีด้านการศึกษา การเรียนรู้ จึงได้ร่วมกันริเริ่มโครงการประกวดสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้าง รวบรวม และนำเสนอสื่อสร้างสรรค์ เช่น บทเรียนช่วยสอน เว็บเพจสื่อการสอน บทความ บันทึก (บล็อก) สารคดีสั้น ในระบบอินเทอร์เน็ต ผ่านเว็บไซต์ของภาคีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เกี่ยวข้องกับสื่อสร้างสรรค์ เช่น sema.go.th, thaigoodview.com, fuse.in.th, learners.in.th, thaiteentv.com, openschool.in.th โดยใช้กลไกการประกวดเป็นเครื่องมือสร้างแรงจูงใจให้เกิดการสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพ

2. วัตถุประสงค์
            2.1 เพื่อสร้าง รวบรวม และเผยแพร่สื่อสร้างสรรค์บนอินเตอร์เน็ตให้ได้ปริมาณและคุณภาพมากจนเยาวชนสามารถใช้ประโยชน์ได้
            2.2 เพื่อกระตุ้น ส่งเสริมให้เยาวชนที่มีศักยภาพในการสร้างผลงานสร้างสรรค์สามารถพัฒนางานและนำเสนอต่อสาธารณะผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ ผ่านระบบแรงจูงใจและการเชื่อมโยงเครือข่ายสังคม
            2.3 เพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มของภาคีร่วมงานด้านข้อมูล ความรู้ และการศึกษา เพื่อการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย
            2.4 เพื่อพัฒนาระบบสนับสนุนการผลิตและเผยแพร่สื่อสร้างสรรค์ในระยะยาว เช่น กองทุนสื่อสร้างสรรค์

3. กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ นักเรียนและครูในสถานศึกษา รวมทั้งเยาวชนทั่วไป และผู้ด้อยโอกาส

4. ผลผลิตของโครงการ
            4.1 สื่อการเรียนการสอนแบบ HTML 540 เรื่อง ซึ่งสามารถใช้งานได้แบบออนไลน์และออฟไลน์ แบ่งเป็น 9 กลุ่มสาระวิชา 4 ช่วงชั้น ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษาศาสนาวัฒนธรรม สุขศึกษาและพละศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ภาษาต่างประเทศ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
            4.2 พื้นที่ออนไลน์สร้างสรรค์บนเว็บ thaigoodview.com
            4.3 สื่อที่บันทึกลงแผ่นซีดีรอมจำนวน 500 ชุด เพื่อมอบให้โรงเรียนห่างไกลและขาดแคลน
            4.4 สื่อออนไลน์หน้าเดียวจากครู 1,000 เรื่อง

5. ขั้นตอนในการดำเนินงาน
          ระยะเวลาของโครงการ วันที่ 1 สิงหาคม 2551 ถึง – 31 มีนาคม 2552
            5.1 ประชุมทีมงานสรุปรูปแบบการประกวด ภายในวันที่ 11 กรกฎาคม 2551
            5.2 จัดทำโปสเตอร์ และวางแผนการประชาสัมพันธ์ เสร็จสิ้นภายใน 29 สิงหาคม 2551
            5.3 เชิญคณะกรรมการตัดสินประจำโครการ ภายในวันที่ 29 สิงหาคม 2551
            5.4 ประชาสัมพันธ์ในสถานศึกษาทั่วประเทศ ภายในวันที่ 15 กันยายน 2551
            5.5 ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ ในเดือนสิงหาคม – กันยายน 2551
            5.6 รับสมัครประเภททีม ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 30 กันยายน 2551 (ขยายเวลาถึง 15 พฤศจิกายน 2551)
            5.7 รับสมัครประเภทบุคล ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 15 พฤศจิกายน 2551
            5.8 ประเภทบุคคลส่งผลงานตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2551 – 31 ธันวาคม 2551
            5.9 ประเภททีมส่งผลงานครั้งแรกเพื่อตรวจสอบความก้าวหน้า ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2551
            5.10 ประเภททีมปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติม และส่งผลงานครั้งสุดท้าย ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2551
            5.11 คณะกรรมการตรวจสอบ และตัดสินผลงาน เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 มกราคม 2552 (เลื่อนเป็น 22 มกราคม 2552)
            5.12 ประกาศผลงานและมอบรางวัล ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2552 (เลื่อนเป็น 30 มกราคม 2552) ณ อุทยานการเรียนรู้ TK Park ชั้น 8 อาคารเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
            5.13 บันทึกลงแผ่นซีดีรอม เพื่อมอบให้โรงเรียนห่างไกลและขาดแคลนสื่อ
            5.14 ส่งรางวัลพร้อมวุฒิบัตร ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552
            5.15 ประเมินโครงการภายในวันที่ 31 มีนาคม 2552

6. รูปแบบผลงานในการส่งประกวด
            – ประเภททีม
            6.1 ส่งผลงานเป็นทีม ทีมละ 4 คน ทุกทีมต้องมีครูเป็นสมาชิกอย่างน้อย 1 ท่าน เพื่อรับรองความถูกต้องของเนื้อหา และจะมีนักเรียนหรือไม่ก็ได้ ถ้ามีต้องมีนักเรียนไม่เกินทีมละ 3 คน สมาชิกในทีมทุกคนต้องอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน ครูและนักเรียนจะเป็นสมาชิกหลายทีมก็ได้
            6.2 แต่ละโรงเรียนจะส่งผลงานกี่ทีมก็ได้
            6.3 สมัครเข้าร่วมประกวด พร้อมเลือกสาระการเรียนรู้ และช่วงชั้นที่ต้องการ
            6.4 แต่ละทีมจะส่งกี่ชิ้นงานก็ได้ โดยต้องมีรายละเอียดแต่ละชิ้นงานดังนี้
                 6.4.1 เนื้อหาไม่น้อยกว่า 1 หน่วยการเรียนรู้ หรือประมาณ 30 เพจ
                 6.4.2 มีสื่อผสมตามความเหมาะสม เช่น ภาพนิ่ง เสียง ภาพเคลื่อนไหว ที่สามารถเรียกดูบนอินเทอร์เน็ตได้ในเวลารวดเร็ว
                 6.4.3 รูปแบบผลงาน ต้องเป็นรูปแบบ HTML ที่เรียกใช้งานผ่าน Browser โดยไม่ต้องใช้ Server (ไม่ให้ใช้เทคโนโลยี Server-side เช่น PHP, ASP, MySQL)
                 6.4.4 Home page (หน้าแรก) ใช้ชื่อไฟล์ index.html หรือ index.htm เท่านั้น
                 6.4.5 ผู้ส่งผลงานเป็นผู้รับผิดชอบด้านลิขสิทธิ์ของข้อมูลทุกชนิดในผลงาน
                 6.4.6 ผู้ส่งผลงานยินยอมให้ผู้อื่นนำผลงานของตนไปใช้เพื่อการศึกษาและค้นคว้าได้ โดยต้องอ้างแหล่งที่มา
            6.5 ทุกผลงานต้องได้รับการตรวจสอบ รับรองความถูกต้องของเนื้อหาจากครูที่เป็นสมาชิกในทีม
            6.6 ผู้ส่งควรศึกษาข้อแนะนำในการทำเว็บไซต์เพื่อการเรียนรู้ที่ดี

            – ประเภทบุคคล
            6.7 จัดทำในรูปแบบสื่อออนไลน์หน้าเดียว จำนวน 1 เรื่อง
            6.8 ผู้จัดทำผลงานต้องเป็นครูเท่านั้น โดยต้องทำการสมัครสมาชิกที่ www.thaigoodview.com ก่อน
            6.9 รูปแบบผลงาน ต้องมีเนื้อหาเสร็จสิ้นภายใน 1 หน้า ความยาวอย่างน้อย 100 บรรทัด พร้อมทั้งรูปภาพประกอบ
            6.10 การสมัคร สมัครได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2551 และสามารถจัดทำได้ทันที
            6.11 ครู 1 คน สามารถสร้างได้ไม่จำกัดเรื่อง
            6.12 ผู้ส่งผลงานเป็นผู้รับผิดชอบด้านลิขสิทธิ์ของข้อมูลทุกชนิดในผลงาน
            6.13 ผู้ส่งผลงานยินยอมให้ผู้อื่นนำผลงานของตนไปใช้เพื่อการศึกษาและค้นคว้าได้ โดยต้องอ้างแหล่งที่มา

7. การส่งผลงานเข้าประกวด
            – ประเภททีม
            7.1  ส่งครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ส่งผลงานและใบสมัครอย่างเป็นทางการเนื้อหา เพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าและดูว่าสามารถออนไลน์ได้ดีเพียงใด โดยมีเนื้อหา10-15 เพจ หากไม่ส่งถือว่าสละสิทธิ์การเข้าร่วมประกวดทันที
            7.2 ส่งครั้งที่ 2 หลังจากปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติม ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ส่งผลงานและหนังสือรับรองความถูกต้องของเนื้อหา การส่งผลงานแต่ละครั้ง ให้บันทึกข้อมูลทั้งหมดลง CD แล้วส่งมาที่
                ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ซ.เจริญกรุง 57 ถ.เจริญกรุง เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120
ระบุชื่อ นามสกุล ชื่อโรงเรียน ที่อยู่โรงเรียน หมายเลขโทรศัพท์โรงเรียน แนบมาพร้อมกับงาน เมื่อส่งผลงานแล้ว ให้ทุกทีมตรวจสอบผลงานของตนเอง ว่ามีจุดบกพร่องอย่างไรเมื่อนำผลงานออนไลน์

            – ประเภทบุคคล
               จัดทำบนเว็บ www.thaigoodview.com ส่งได้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2551 ถึง 31 ธันวาคม 2551
              เมื่อจัดทำสื่อออนไลน์หน้าเดียวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะส่งข้อมูลให้คณะกรรมการตรวจให้แจ้งส่งรายละเอียดผลงานของท่าน ที่นี่ สื่อที่ท่านสร้างจะถูกเปิดเผยต่อสาธารณะชน
            ***หลังจากแจ้งส่งสื่อออนไลน์หน้าเดียวแล้ว การแก้ไขต่าง ๆ จะไม่มีผลต่อการพิจารณาคะแนนของคณะกรรมการตัดสินอีก

8. รางวัลเกียรติยศ
            8.1 ประเภททีม
                 – รางวัลแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
                  (1) โรงเรียนทั่วไป 
                       – ชนะเลิศประเภททีม     
                          สำหรับโรงเรียน ถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 
                          สำหรับผู้จัดทำ ทุนการศึกษา 20,000 บาท(จาก สสส.), IPOD NANO 4 เครื่อง จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม 
                     ข้อกำหนดเพิ่มเติม สำหรับโรงเรียนทั่วไปที่จะได้รับการพิจารณาได้รับรางวัลชนะเลิศประเภททีม นอกจากจะได้คะแนนสูงสุดจากคณะกรรมการตัดสินแล้ว ต้องมีหนังสือรับรองจากผู้อำนวยการโรงเรียนว่า (ส่งมาพร้อมกับส่งผลงานครั้งที่ 2 หลังจากปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติม ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2551)
                       (1.1) โรงเรียนได้ใช้ Software ในการป้องกันภัยจากการใช้อินเตอร์เน็ตในโรงเรียนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
                        (1.2) โรงเรียนต้องนำกิจกรรมในหลักสูตรเสริมทักษะการใช้อินเทอร์เน็ตสร้างสรรค์และปลอดภัย มาใช้กับนักเรียนอย่างน้อย 1 กิจกรรม
                       – รางวัลที่ 2 จำนวน 1 รางวัล ทุนการศึกษา 15,000 บาท
                       – รางวัลที่ 3 จำนวน 1 รางวัล ทุนการศึกษา 10,000 บาท
                       – รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ทุนการศึกษา 3,000 บาท

                  (2) โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร (โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ
            สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทุกสังกัด) และโรงเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
                       – ชนะเลิศประเภททีม     
                          สำหรับโรงเรียน  ถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 
                          สำหรับผู้จัดทำ ทุนการศึกษา 20,000 บาท(จาก สสส.), IPOD NANO 4 เครื่อง จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม 
                       – รางวัลที่ 2 จำนวน 1 รางวัล ทุนการศึกษา 15,000 บาท
                       – รางวัลที่ 3 จำนวน 1 รางวัล ทุนการศึกษา 10,000 บาท
                       – รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ทุนการศึกษา 3,000 บาท

           8.2 ประเภทบุคคล
                       – ชนะเลิศประเภทบุคคล     
                          สำหรับโรงเรียน ถ้วยเกียรติยศจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
                          สำหรับผู้จัดทำ ทุนการศึกษา 5,000 บาท
                       – รางวัลที่ 2 จำนวน 2 รางวัล ทุนการศึกษา 3,000 บาท
                       – รางวัลที่ 3 จำนวน 2 รางวัล ทุนการศึกษา 1,000 บาท

           8.3 รางวัลเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติ
           ทุกชิ้นงานที่ส่งและได้คะแนนการตัดสินจากคณะกรรมการ จะได้รับเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติทุกคน ต่อชิ้นงาน ทั้งประเภททีมและประเภทบุคคล ดังนี้
                        8.3.1 เกียรติบัตรเชิดชูเกียรติ ระดับเหรียญทอง ได้คะแนนตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป
                        8.3.2 เกียรติบัตรเชิดชูเกียรติ ระดับเหรียญเงิน ได้คะแนนตั้งแต่ร้อยละ 70-80
                        8.3.3 เกียรติบัตรเชิดชูเกียรติ ระดับเหรียญทองแดง ได้คะแนนตั้งแต่ร้อยละ 60-70
            8.4 นอกจากนี้ยังมีรางวัลอื่นๆอีกมากมายซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน โดยจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะไป

9. เกณฑ์การตัดสิน
            9.1 ความถูกต้องและครบถ้วนของเนื้อหา ร้อยละ 50
            9.2 รูปแบบการนำเสนอน่าสนใจ ร้อยละ 25
            9.3 ความคิดสร้างสรรค์ ร้อยละ 25

10. คณะกรรมการตัดสิน ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้ง จำนวน 10 ท่าน

11. ผู้สนับสนุน ผู้สนับสนุนหลัก สสส. และ ChangeFusion