วันรักนกเงือก Love Hornbills Day

สร้างโดย : นายพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
สร้างเมื่อ พฤ, 12/02/2015 – 09:58

วันรักนกเงือก
Love Hornbills Day
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี

เครดิตภาพจาก คุณกุลพัฒน์ ศรลัมภ์
http://i901.photobucket.com/albums/ac219/seub2010/2011_02_feb/001.jpg

          นกเงือก ไม่เพียงเป็นสัตว์ที่ถูกเลือกมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักและความซื่อสัตย์ ที่ตลอดชีวิตมันจะมีคู่เพียงครั้งเดียว หากคู่ตัวใดตายไปมันก็จะตรอมใจตายไปด้วยเท่านั้น แต่ด้วยความสวยงามของมันที่เป็นนกที่มีรูปร่างหน้าตาโบราณและมีขนาดใหญ่ ถือกำเนิดขึ้นมาไม่น้อยกว่า 45 ล้านปีและมีพฤติกรรมการเลือกกินผลไม้สุกและนำเมล็ดทิ้งไว้ในพื้นที่ต่างๆ นกเงือกจึงมีบทบาทสำคัญในการระบบนิเวศป่า จากการวิจัยพบว่า นกเงือกกินผลไม้ได้มากกว่า 300 ชนิด โดยเฉพาะผลไม้ที่มีขนาดผลใหญ่กว่า 1.5 เซนติเมตร ที่นกขนาดเล็กไม่สามารถช่วยกระจายเมล็ดได้ นอกจากนี้นกเงือกยังเป็นผู้ล่าสำคัญของระบบนิเวศป่า จึงช่วยควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก อย่างแมลงและหนูได้และด้วยความสัมพันธ์ของนกเงือกกับระบบนิเวศป่าสมบูรณ์ ในแง่มุมต่างๆ ทำให้นกเงือกมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่า ซึ่งในประเทศไทยมีนกเงือกทั้งหมด 13 ชนิด และหลายชนิดอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ และหากนกเงือกมีจำนวนลดลงหรือสูญพันธุ์ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ อาจสูญพันธุ์ตามไปด้วย

          ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2547 มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งดำเนินการศึกษาวิจัยนกเงือกมานานกว่า 20 ปี จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันรักนกเงือก” เพื่อให้สังคมและประชาชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือกที่ใกล้สูญพันธุ์อยู่ทุกขณะ

          ช่วงเทศกาลวันแห่งความรัก หนุ่มสาวต่างตื่นเต้นที่จะหาของขวัญของชำร่วย ดอกไม้หลากหลายรูปแบบมอบให้กับคนที่รัก เพื่อเป็นการแสดงถึงความรักความรู้สึกที่มีให้อีกฝ่าย หลายคนถือเอาวันนี้เป็นวันพิเศษที่จะแสดงความรักความห่วงใยมากกว่าปกติที่เป็นอยู่ แต่ใครจะล่วงรู้ได้ว่าความรักนั้นจะยืนยาวไปได้ยาวนานหรือเพียงแค่ชั่วข้ามคืน 

          ในโลกของธรรมชาติ รักแท้ไม่ต้องรอวันพิเศษ หรือเทศกาลที่เกิดขึ้นปีละครั้ง แต่การแสดงความรักเกิดขึ้นได้ทุกวันทุกเวลา ต่างกันก็เพียงวิธีการของแต่ละสายพันธุ์ 

          นกเงือก เป็นนกขนาดใหญ่ ส่วนมากมักจะมีขนสีดำสลับขาว ทั่วโลกมี 55 ชนิด มีการแพร่กระจายอยู่ในแถบเขตร้อน ของทวีปอัฟริกา และเอเชีย นกเงือกเป็นนกผัวเดียวเมียเดียว มีลักษณะการทำรังที่แปลกจากนกอื่น คือ เมื่อถึงฤดูกาลทำรัง นกคู่ผัวเมียจะพากันหารัง ซึ่งได้แก่ โพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยาง ที่อยู่ในที่ลับตา เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง จะทำความสะอาดแล้วเริ่มปิดปากโพรง ด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น ดิน เปลือกไม้ ตัวเมียจะขังตัวอยู่ภายในเพื่อออกไข่เลี้ยงลูก

          ปัจจุบันนกเงือกในประเทศไทยมีทั้งหมด 13 สายพันธุ์ จากทั้งหมด 50 กว่าสายพันธุ์ที่มีอยู่ทั่วโลก ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก โดยเฉพาะผืนป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ซึ่งรวมแล้วมีนกเงือกประมาณ 3,000 ตัว

อ่านเพิ่มเติม…

รายชื่อนกเงือกที่พบในประเทศไทย

นกกก หรือ นกกะวะ หรือ นกกาฮัง Great Hornbill, Buceros bicornis
นกเงือกหัวแรด Rhinoceros Hornbill, Buceros rhinoceros
นกเงือกหัวหงอก White-crowned Hornbill, Berenicornis comatus
นกชนหิน Helmeted Hornbill, Rhinoplax vigil
นกแก๊ก หรือ นกแกง Oriental Pied Hornbill, Anthracoceros albirostris
นกเงือกดำ Black Hornbill, Anthracoceros malayanus
นกเงือกคอแดง Rufous-necked Hornbill, Aceros nipalensis
นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว Austen’s Brown Hornbill, Anorrhinus austeni
นกเงือกสีน้ำตาล Tickell’s Brown Hornbill, Anorrhinus tickelli
นกเงือกปากดำ Bushy-crested Hornbill Anorrhinus galeritus
นกเงือกปากย่น Wrinkled Hornbill, Aceros corrugatus
นกเงือกกรามช้าง หรือนกกู่กี๋ Wreathed Hornbill, Rhyticeros undulatus
นกเงือกกรามช้างปากเรียบ Plain-pouched Hornbill, Rhyticeros subruficollis

นกเงือกที่พบในป่าตะวันตก

นกเงือกกรามช้างปากเรียบ 
ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name): Aceros subruficollis
ชื่อสามัญ (Common name): Plain-pouched Hornbill (Rhyticeros)
รูปร่างหน้าตานิสัยเหมือนนกกู๋กี๋ หรือ นกเงือกกรามช้าง มีขนาดย่อมกว่า และต่างกันตรงที่ปากด้านข้างเรียบ ถุงใต้คอไม่มีขีดดำทั้งตัวผู้และตัวเมีย เป็นนกเงือกที่ใกล้สูญพันธุ์ พบบริเวณ ผืนป่าตะวันตกติดกับประเทศพม่า (Myanmar) เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

นกเงือกคอแดง 
ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name): Aceros nipalensis
ชื่อสามัญ (Common name): Rufous-necked Hornbill
มีขนาดใกล้เคียงกับนกเงือกปากย่น ตัวผู้มีสีสรรสวยงามแต่ไม่มีโหนก ปากสีเหลืองอ่อน อมเขียว ปากบนมีรอยขีดสีดำ ถุงใต้คอสีแสดทั้งสองเพศ ตัวเมียสีดำปลอด เป็นนกเงือกที่พบอยู่ป่าสูง และอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ พบนกเงือกชนิดนี้ได้ทางตะวันตกและ ตะวันตกเฉียงเหนือ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

นกเงือกสีน้ำตาล (Tickell’s)
ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name): Anorrhinus tickelli
ชื่อสามัญ (Common name): Tickell’s Brown Hornbill
ขนาดเล็กกว่า นกเงือกปากดำ และมีนิสัยคล้ายคลึงกัน แตกต่างจากนกเงือกสีน้ำตาล (Austen’s) ตรงที่คอมีสีน้ำตาลแดง ทำรังแบบมีผู้ช่วยแต่ผู้ช่วยจะเป็นตัวผู้ทั้งหมด และไปกันเป็นฝูง กินอาหารจำพวกแมลง สัตว์เล็ก ๆ และผลไม้ เลี้ยงลูกได้มากที่สุดถึง 3 ตัว เป็นนกที่ อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ พบนกเงือกชนิดนี้ ได้ทางภาคเหนือ ตะวันตกและภาคกลาง เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง, อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นต้น

            นกเงือกมีบทบาทเด่นในการช่วยกระจายพันธุ์ไม้ในป่า เนื่องจากนกเงือกกินผลไม้สุกเป็นอาหารมากกว่า 300 ชนิด ทั้งผลไม้ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และด้วยพฤติกรรมของนกเงือกบินหาอาหารไปทั่ว และกินผลไม้เข้าไปทั้งผลแล้วขย้อนเมล็ดออกมา จึงสามารถนำพาเมล็ดพันธุ์พืชไปทิ้งไว้ยังที่ต่างๆ และเจริญขึ้นเป็นต้นกล้าได้ทั่วป่า นกเงือกจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการแพร่พันธุ์ของพืช ช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในป่า และทำให้เกิดความสมดุลในธรรมชาติ
            ด้วยความที่เป็นสัตว์รักเดียวใจเดียว ใช้ชีวิตคู่แบบ “ผัวเดียวเมียเดียว” จนแก่เฒ่าหรือกว่าจะตายจากกัน และตัวผู้ยังมีลักษณะของหัวหน้าครอบครัวที่ดี คอยหาอาหารให้และคอยดูแลปกป้องลูกนกและแม่นกให้ปลอดภัย นกเงือกจึงได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ของ “รักแท้”

ความรักของนกเงือก รักแท้ในป่าทึบ

            นกเงือก เป็นนกที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนกที่มีความรักเดียวใจเดียว และซื่อสัตย์กับคู่ของมันไปจนตาย เนื่องจากนกเงือกจะจับคู่แบบผัวเดียว – เมียเดียว นกตัวผู้จะเป็นผู้บินไปหานกตัวเมียที่ถูกใจ และเข้าไปเกี๊ยวพาราสีด้วยการนำอาหารหลากหลายชนิดมาให้กับตัวเมีย จนเมื่อนกตัวเมียยอมรับอาหารจึงเป็นการแสดงได้ว่าตัวเมียนั้นได้ยอมตกลงปลงใจเรียบร้อย
            แต่ความรักไม่ได้สร้างกันง่ายๆ นกเงือกทั้งคู่จะต้องเลือกสถานที่ทำรังที่เหมาะสม ซึ่งตัวผู้จะทำหน้าที่หาโพรงที่สัตว์ต่างๆ ได้ทำทิ้งไว้ หรือที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติตามต้นไม้สูง เมื่อตัวเมียพอใจกับรังตัวผู้นำเสนอตัวเมียจึงยอมให้ผสมพันธุ์ แล้วนกทั้งคู่ก็จะช่วยกันหาเศษใบไม้ใบหญ้ามาสร้างรังเพื่อรอต้อนรับลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาดูโลก แล้วหลังจากนั้นก็จะหาเศษดินมาปิดปากรังเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากสัตว์นักล่าต่างๆ รวมทั้งสร้างความอบอุ่นให้กับแม่ลูก
            แม่นกเงือกจะคอยกกไข่และให้ความอบอุ่นกับลูกที่ฟักมาอยู่ภายในรังโดยไม่ได้ออกไปไหน ตัวผู้จึงมีหน้าที่ในการออกหาอาการเพื่อนำมาเลี้ยงชีวิตทั้งลูกน้อยและคู่รัก จนกว่าลูกนกจะโตพอบินได้จึงกะเทาะปากโพรงที่สร้างด้วยเศษดินนั้นออกมา ความรักของนกเงือกจึงเปรียบเสมือนรักแท้ในป่าทึบ เพราะหากวันใดวันหนึ่งที่นกตัวผู้เกิดไม่ออกหาอาหาร หรือตายไป คู่รักของมันที่รออยู่ที่โพรงก็จะยังคงรออยู่อย่างนั้น ไม่มีวันออกไปไหน รอจนหมดเรี่ยวแรงและตายลงไป พร้อมกับลูกนกเคราะห์ร้ายที่ไม่มีโอกาสได้ออกมาพบกับโลกภายนอก
            นอกจากความรัก และความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ของนกเงือกแล้ว นกเงือกยังเป็นสัตว์สำคัญที่เป็นตัวแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่มันอาศัยอยู่ เพราะมันจำเป็นจะต้องสร้างรังในโพรงต้นไม้สูง แข็งแรง ในป่าทึบ และด้วยความหลากหลายของการกินอาหาร นกเงือกจึงเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงดุลยภาพต่างๆ ในสังคมป่าเขตร้อนให้คงอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง นกเงือกอาจมีอายุยืนยาวได้ถึง 30 ปี แต่ละตัวสามารถช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้มากกว่า 100 ต้น/สัปดาห์ หากไม้เหล่านี้สามารถเจริญเป็นไม้ใหญ่ได้เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ หนึ่งชีวิตของนกเงือกจะสามารถปลูกไม้สำคัญของป่าได้ถึง 500,000 ต้น
            ดังนั้นความรักของนกเงือก จึงไม่ใช่เพียงเพื่อขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนให้กับสายพันธุ์ของมันเองเท่านั้น มันกลับเผื่อแผ่ความรักของมันให้กับป่า ให้กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวของมัน ซึ่งมนุษย์เราก็ได้รับประโยชน์จากความรักนั้นในทางอ้อมจากความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

แหล่งที่มา : ความรักของนกเงือก รักแท้ในป่าทึบ อ้างอิงเนื้อหาจาก seub.or.th
แหล่งพบนกเงือกในประเทศไทย อ้างอิงจาก http://kularbly.igetweb.com/

โครงการศึกษาชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือก
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ความสำคัญและความน่าสนใจของนกเงือก

            นกเงือก (Hornbill) เป็นนกที่มีรูปร่างหน้าตาโบราณ ถือกำเนิดมาไม่น้อยกว่า 45 ล้านปี จัดอยู่ในวงศ์ Bucerotidae มีอยู่ด้วยกัน 52 ชนิดในโลก ซึ่งไม่นับรวม Ground Hornbill 2 ชนิดของแอฟริกา พบได้ในป่า และทุ่งหญ้าเขตร้อนของทวีปแอฟริกาและเอเชียเท่านั้น

            ในประเทศไทยมีนกเงือก 13 ชนิด ได้แก่ นกกก (Great Hornbill) นกเงือก กรามช้าง (Wreathed Hornbilll) นก แก๊ก (Oriental Pied Hornbill) นกเงือก สีน้ำตาลคอขาว (White-throated Brown Hornbill) นกเงือกหัวแรด (Rhinoceros Hornbill) นกชนหิน (Helmeted Hornbill) นกเงือกหัวหงอก (White-crowned Hornbill) นกเงือกปากดำ (Black Hornbill) นกเงือกดำ (Black Hornbill) นกเงือกสีน้ำตาล (Brown Hornbill) นกเงือกปากย่น (Wrinkled Hornbill) นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Plain-pouched Hornbill) และนกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill)

            นกเงือกเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ จึงถูกจัดให้เป็น Flagship species Keystone species และUmbrella species ของป่าเขตร้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นกเงือกมีบทบาทเด่นในระบบนิเวศป่าและหลายชนิดอยู่ในสภาวะเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ นกเงือกเป็นตัวช่วยกระจายพันธุ์ไม้ (Seed disperser) ที่มีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากพฤติกรรมการเลือกกินผลไม้สุก และนำพาเมล็ดไปทิ้งในพื้นที่ต่างๆ ที่นกเงือกบินไปหากินในแต่ละวัน จากการวิจัยพบว่านกเงือกกินผลไม้ได้มากกว่า 300 ชนิด 100 สกุล 40 วงศ์ โดยเฉพาะผลไม้ที่มีขนาดผลใหญ่กว่า 1.5 ซม ซึ่งนกขนาดเล็กไม่สามารถช่วยกระจายเมล็ดได้ จึงต้องอาศัยนกเงือกเป็นกำลังสำคัญ นกเงือกจึงช่วยรักษาความหลากหลายของพืช โดยเป็นผู้ล่าที่สำคัญของระบบนิเวศป่า ช่วยควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก เช่น แมลงและหนู เป็นต้น จากความสัมพันธ์ของนกเงือกกับระบบนิเวศป่าสมบูรณ์ในแง่ต่างๆ ทำให้นกเงือกมีความอ่อนไหวต่อพื้นที่ป่าที่เปลี่ยนแปลงไป จึงจัดนกเงือกเป็น Indicator species ของป่าแต่ละแบบได้อีกด้วย หากนกเงือกมีจำนวนลดลงหรือสูญพันธุ์ไป จากพื้นที่ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกหลายชนิดอาจสูญพันธุ์ตามไปด้วย โดยเฉพาะพันธุ์ไม้ที่เป็นอาหารของนกเงือก

ลักษณะเด่นของนกเงือก

            นกเงือกมีลักษณะที่สำคัญ คือ มีปากขนาดใหญ่โค้ง มี โหนก (Casque) ประดับเหนือปาก ยกเว้นนกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill) ที่ไม่มีโหนก ลักษณะของโหนกเป็น โพรงมีเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำอยู่ภายใน แต่โหนกของนกชนหิน (Helmeted Hornbill) นั้นกว่าครึ่งความยาวของโหนกตันดุจ เดียวกับงาช้าง โหนกของนกเงือกมีขนาดและรูปร่างหลากหลาย บ้างก็มีขนาดใหญ่ แบน กว้าง ดัง โหนกของนกกก บ้างก็มีรูป ทรงกระบอก ทอดนอนตามความยาวของจงอยปาก มีปลายงอนดู คล้ายกับนอของแรด ดังโหนกของนกเงือกหัวแรด อันเป็นที่มาของชื่อ Hornbill บางชนิดมีโหนกขนาดเล็ก เป็นลอนดูคล้ายฟันกราม ของช้าง เช่น โหนกของนกเงือกกรามช้าง (Wreathed Hornbill) นกเงือกเป็นนกที่บินเสียงดังมาก โดยเฉพาะนกเงือกขนาดใหญ่ เช่น นกกก นกเงือกกรามช้าง เพราะด้านใต้ปีกของนกเงือกไม่มีขนปกคลุม (Under wing coverts) เมื่อกระพือปีกแต่ละครั้งอากาศจะผ่านช่องว่างโคนขนปีกจึงเกิดเสียงดัง

การทำรัง

            นกเงือกจับคู่แบบ ผัวเดียวเมียเดียว ฤดูทำรังของนกเงือก เริ่มต้นช่วงฤดูแล้ง ราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ระยะนี้นกเงือก จะแยก จากฝูง มาหากินบริเวณโพรงรังเก่าเพื่อปกป้องรังและพื้นที่ทำรัง รังของนกเงือก คือ โพรงไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งพบได้บ่อยในต้นไม้วงศ์ไม้ยาง (Dipterocarpaceae) มากที่สุด ขนาดของ ต้นไม้ที่มีโพรงใหญ่พอที่นก เงือกจะทำรังได้นั้นมีเส้นรอบวงเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3 เมตร ในเมื่อนกเงือกไม่ สามารถเจาะโพรงรังเองได้เหมือนนกหัวขวาน จึงต้องหาโพรงไม้ใน ธรรมชาติที่เหมาะสมแคบๆ เพียงพอที่นกเงือกตัวผู้จะส่งอาหารให้แก่นกเงือกตัวเมียซึ่งจะออกไข่ กกไข่ และเลี้ยงลูกอยู่ภายในโพรงจนกว่าลูกนกจะโตพอที่จะบินได้ จึงกะเทาะวัสดุที่ปิดปากโพรงออกมา

            นกเงือกเป็นนกที่สะอาด ทั้งแม่และลูกนกจะถ่ายมูลผ่านปากโพรง เมื่อพ่อนกป้อนอาหารเสร็จในแต่ละครั้งก็จะดูแลทำความสะอาดบริเวณปากโพรง ส่วนอาหารที่เป็นผลไม้ที่มีเมล็ดขนาดใหญ่ นกเงือกจะสำรอกทิ้งออกมาภายนอกโพรง ศัตรูธรรมชาติที่สำคัญของนกเงือกคือ สัตว์ผู้ล่าขนาดเล็ก อาทิเช่น หมาไม้ ซึ่งจะสามารถไต่ขึ้นไปถึงรังนกเงือกได้

การรวมฝูง

            เมื่อฤดูทำรังสิ้นสุดลงและลูกนกเงือกบินได้เก่งแล้ว ในช่วงฤดูฝน นกเงือกมักจะพากันมารวมฝูงกันหากินรวมกลุ่มขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้างแล้วแต่ชนิดของนกเงือก และรวมฝูงนอนตามหุบเขาลึก อีกทั้งนกรุ่นลูกมีโอกาสจับคู่กับนกเงือกที่มาจากแหล่งอื่น ช่วยให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรมมากขึ้น

ภาระของนกเงือกต่อสังคมป่า

            ด้วยลักษณะการดำรงชีวิตดังกล่าวมาแล้ว และความหลากหลายของการกินอาหาร นกเงือกจึงเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงดุลยภาพต่างๆ ในสังคมป่าเขตร้อนให้คงอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง นกเงือกอาจมีอายุยืนยาวได้ถึง 30 ปี แต่ละตัวสามารถช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้มากกว่า 100 ต้น/สัปดาห์ หากไม้เหล่านี้สามารถเจริญเป็นไม้ใหญ่ได้เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ หนึ่งชีวิตของนกเงือกจะสามารถปลูกไม้สำคัญของป่าได้ถึง 500,000 ต้น ถ้าป่าไหนมีนกเงือกอยู่ถึง 500 ตัว ป่าเหล่านั้นจะไม่เป็นป่าที่สมบูรณ์ได้อย่างไร

โครงการวิจัย & งานอนุรักษ์

            โครงการศึกษาวิจัยและงานอนุรักษ์นกเงือก มีโครงการวิจัยที่สำคัญใน 3 พื้นที่วิจัยหลัก (อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง) โดยมีศาสตราจารย์ ดร. พิไล พูลสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าโครงการ ได้แก่

1) โครงการศึกษาชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือกชนิดที่มีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ (สนับสนุนโดย มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก)
            เป็นโครงการที่ดำเนินการวิจัยและเก็บข้อมูลทางชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือกเป็นระยะเวลายาว ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่ต่อเนื่องในเรื่องการขยายพันธุ์ของนกเงือก ปัจจัยที่มีผลต่อการขยายพันธุ์ การติดตามศึกษาพื้นที่ที่สามารถรองรับการขยายพันธุ์ของนกเงือก การวิจัยพืชอาหารของนกเงือก การศึกษาพื้นที่หากินของนกเงือก การจัดการ/การซ่อมแซมโพรงรัง เป็นต้น

2) โครงการศึกษาชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือกในผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (สนับสนุนโดย บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัดมหาชน และมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก)
            เป็นโครงการที่นำความรู้ด้านชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือกที่ได้จากการศึกษาวิจัยกว่า 28 ปี ในพื้นที่วิจัยหลัก คืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มาใช้เป็นข้อมูลหลักในการศึกษา และติดตามอัตราการขยายพันธุ์ สถานภาพประชากร ถิ่นอาศัยประเมิน ปัจจัยคุกคามประชากรนกเงือกอย่างเข้มข้น และ แนวทางการลดปัจจัยคุกคามที่มีต่ออนาคตของ ความอยู่รอดของนกเงือก รวมทั้งการอนุรักษ์นก เงือกและสัตว์ป่าอื่นๆ และสร้างฐานข้อมูลเพื่อให้ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องสถาบันการศึกษา และ องค์กรเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ อาทิเช่น ในการ วางแผนจัดการพื้นที่มรดกโลก หรือผืนป่าอื่นๆ การ เรียน-การสอน และงานวิจัยต่อยอดในเชิงลึกสำหรับนักศึกษาและนักวิจัย ตลอดจนใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการจัดการกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ได้อย่างมีคุณภาพและอย่างยั่งยืน

3) โครงการศึกษาลักษณะพันธุกรรม ประชากร และสถานภาพถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเงือกในพื้นที่ผืนป่าและหย่อมป่าในประเทศไทย (สนับสนุนโดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก)
            เป็นโครงการวิจัยเชิงบูรณาการระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ประเทศไทย (Wildlife Conservation Society) ที่นำความรู้พื้นฐานด้านชีววิทยา และนิเวศวิทยาของนกเงือกที่ได้ศึกษามากว่า 28 ปี มาขยายผลต่อเนื่องกับความรู้ด้านความสัมพันธ์ของพันธุกรรม (Genetics) และสภาพภูมิทัศน์ (Landscape) โดยเน้นงานบุกเบิกศึกษาโครงสร้างทางพันธุกรรมของประชากรนกเงือกที่สำคัญ ร่วมกับสภาพทางนิเวศถิ่นอาศัยโดยเน้นหลักการที่เกี่ยวข้องกับ Habitat fragmentation และการวิเคราะห์ความยั่งยืนของประชากรนกเงือก (Population viability analysis) เพื่อเป็นแนวทางที่ชัดเจนในการจัดการ และการอนุรักษ์นกเงือกในระยะยาว นอกจากนี้รูปแบบและผลของการทำงานยังสามารถประยุกต์ใช้กับโครงการวิจัยอื่นๆ ตลอดจนใช้เป็นเครื่องมือในการรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

4) โครงการออกแบบและการจัดสร้างโพรงเทียมสำหรับนกเงือก
(โครงการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร และ Swarovski Optik, Austria) 
http://www.coraciiformestag.com/Conservation/Conservation.htm
            เป็นโครงการจัดการเพื่อการอนุรักษ์นกเงือก โดยการออกแบบและจัดสร้างโพรงเทียมสำหรับนกเงือก เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายพันธุ์ ให้แก่นกเงือก เนื่องจากโพรงรังเป็นปัจจัยจำกัด

5) โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี 
http://www.coraciiformestag.com/Conservation/Conservation.htm
            เป็นโครงการอนุรักษ์นกเงือก โดยนำงานวิทยาศาสตร์มาเป็นสื่อกลางในการกระตุ้นให้คนเมืองเข้ามาสัมผัส และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับชุมชนในท้องถิ่น เริ่มโครงการฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2537 โดยได้รับร่วมมือกับชาวบ้านในท้องถิ่น เข้ามาเป็นผู้ช่วยนักวิจัยในการเก็บข้อมูลทางชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือก และเป็นการเฝ้าระวังสถานภาพของประชากรนกเงือกในพื้นที่นั้นๆ ในระยะยาว อีกทั้งยังสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชุมชนในท้องถิ่นอีกด้วย

6) ศูนย์อนุรักษ์นกเงือกเทือกเขาบูโด หมู่บ้านตาเปาะ ตำบลสุวารี อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส 
http://www.coraciiformestag.com/Conservation/Conservation.htm
            เป็นโครงการต่อเนื่องมาจากโครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก โดยได้รับความร่วมมือ/ สนับสนุนกิจกรรมของศูนย์ฯ จากชุมชน ผู้นำชุมชน และหน่วยงานของรัฐในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก อาทิเช่น การบริจาคที่ดินในการก่อสร้างศูนย์ฯ ในปี พ.ศ. 2547 เพื่อใช้เป็นศูนย์ให้ความรู้และความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแก่ชาวบ้าน เยาวชน บุคคลทั่วไป รวมทั้งเป็นแหล่งข้อมูลให้แก่นักท่องเที่ยว โดยใช้นกเงือกเป็นสื่อกลาง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่…
โครงการศึกษาชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือก
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์ 66-2-2015532
โทรสาร 66-2-6445411
Email: scpps@mahidol.ac.th

ที่มาของข้อมูล : http://www.sc.mahidol.ac.th/tha/research/thai_hornbill.htm

ภาพนกเงือก

Rhinoceros hornbill : https://www.nczoo.org
Rufous-headed hornbill : https://www.nczoo.org
Visayan hornbill : https://www.nczoo.org
Visayan hornbill : Male Wreathed Hornbill
Sulu hornbill : Male Wreathed Hornbill

นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Plain-pounched Hornbill, Rhyticeros subruficollis)

            นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Plain-pounched Hornbill, Rhyticeros subruficollis), มีรูปร่างหน้าตานิสัยเหมือนนกกู๋กี๋ หรือ นกเงือกกรามช้าง มีขนาดย่อมกว่าและต่างกันตรงที่ปากด้านข้างเรียบ ถุงใต้คอไม่มีขีดดำทั้งตัวผู้และตัวเมีย เป็นนกเงือกที่ใกล้สูญพันธุ์ พบบริเวณผืนป่าตะวันตกติดกับประเทศพม่า [Myanmar] (เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง)

ที่มา http://www.encyclopediathai.org/nakornthai/book6/hb2.htm

นกชนหิน (Helmeted Hornbill, Rhinoplax vigil)

            นกชนหิน (Helmeted Hornbill, Rhinoplax vigil), เป็นนกเงือกชนิดเดียวที่โหนกตันเหมือนงาช้าง มีสีแดงเข้ม จงอยปากตรงสั้น และเป็นนกเงือชนิดเดียว ที่มีขนหางยาวเป็นกรวยอยู่ 1 คู่ นกชนหินตัวผู้มีคอซึ่งเป็นหนังเปลือยย่นสีแดงเข้ม ส่วนคอตัวเมีมีสีฟ้าซีด ๆ พบนกเงือก ชนิดนี้ได้ทางภาคใต้ เช่น อุทยานแห่งชาติศรีพังงา

ที่มา http://www.encyclopediathai.org/nakornthai/book6/hb3.htm

ภาพยนต์เกี่ยวกับนกเงือก

https://www.youtube.com/watch?v=CT0eWA0uhfU
https://www.youtube.com/watch?v=j_-mvyyrkPg
https://www.youtube.com/watch?v=VTynAXanRt4

ย่อ